ซากุรางิ ฮานามิจิ: ปรัชญาชัยชนะแห่ง Slam Dunk “พื้นฐานคือสิ่งสำคัญ”

ซากุรางิ ฮานามิจิ: ปรัชญาชัยชนะแห่ง Slam Dunk “พื้นฐานคือสิ่งสำคัญ”

ปรัชญาชัยชนะแห่ง Slam Dunk “พื้นฐานคือสิ่งสำคัญ”

เวลาเรานึกถึงภาพแห่งชัยชนะในการแข่งขันกีฬา แบบในภาพยนตร์หรือในมังงะ (หนังสือการ์ตูน) ก็ตาม เราจะนึกถึงชอตเด็ด ๆ ที่ทำให้เราจดจำ ถ้าเป็นฟุตบอลต้องยิงประตูแบบไดรฟ์ชูตหล่อ ๆ ถ้าเป็นเบสบอสต้องโฮมรันสวย ๆ แต่ใน Slam Dunk ชัยชนะในตอนจบที่โรงเรียนรองบ่อนอย่างโชโฮคุกำราบทีมไร้พ่ายระดับประเทศอย่าง เทคโนฯ ซังโน กลับกลายเป็นลูกชูตสองคะแนนระยะกลางธรรมดา ที่ผู้เล่นหน้าใหม่ผู้ซึ่งฝึกฝนบาสเก็ตบอลเพียงไม่กี่เดือนอย่าง ซากุรางิ ฮานามิจิ ชูตเข้าไปในวินาทีสุดท้าย ฉากนี้กลายเป็นซีนที่คนรักการ์ตูนกีฬาจำได้ติดตา Slam Dunk เล่มที่ 31 ซึ่งเป็นเล่มจบ ได้ปล่อยให้การเล่าเรื่องขั้นเทพของผู้เขียนมังงะเรื่องนี้อย่างอาจารย์ Takehiko Inoue บรรยายการแข่งขันในช่วงท้ายเกมในการแข่งขันบาสเก็ตบอลทั่วประเทศระดับมัธยมฯ ปลายของญี่ปุ่น เทคโนฯ ซังโน พบกับ โชโฮคุ ให้เหลือเพียงแต่ภาพเคลื่อนไหว ที่มีอักษรบรรยายประกอบน้อยมาก แต่มันทำให้เห็นสีหน้าเหน็ดเหนื่อย เหงื่อเม็ดโต และความทุ่มเทของทีมโชโฮคุที่จะโค่นบัลลังก์แชมป์ให้จงได้ ฉากนี้เป็นฉากที่มีความหมายมากมายหลายประเด็น เพราะคนเขียนได้ปูเรื่องราวพัฒนาการของซากุรางิตั้งแต่เล่มแรก ผ่านการฝึกฝนต่าง ๆ นานา จนยิงลูกลงห่วงได้อย่างสวยงามดังที่กล่าวมา แม้ว่าวินนิ่งชอตของ Slam Dunk จะไม่ใช่ลูกดังก์สวย ๆ หรือทริกการเล่นแปลกพิสดารอะไร แต่ทำไมลูกชูตพื้นฐานธรรมดา ๆ จึงสำคัญมากและกลายเป็นที่จดจำ เรื่องนี้คงจะเกี่ยวโยงกับพัฒนาการเล่นบาสเก็ตบอลของ...ซากุรางิ ฮานามิจิ   ชอบบาสฯ ไหมคะ? “ชอบบาสฯ ไหมคะ?” นี่คือประโยคเปลี่ยนชีวิตของ ซากุรางิ ฮานามิจิ นักเรียนมัธยมฯ ปลายชั้นปีที่ 1 หนุ่มจอมบู๊หัวย้อมแดงผู้สร้างสถิติถูกสาวสลัดรักไป 50 คน จนมาเจอสาวสวยรุ่นเดียวกันอย่าง อาคางิ ฮารุโกะ ถามประโยคดังกล่าวขึ้นมาในการเจอกันครั้งแรก ในช่วงแรกในการเล่นบาสเก็ตบอลของซากุรางิ จึงทำให้เกิดคำถามที่เขาต้องพิสูจน์ตัวเองว่า ชอบเล่นบาสเก็ตบอลจริงหรือตามสาวมาเล่นกีฬากันแน่ (ฮารุโกะเป็นน้องสาวของ อาคางิ ทาเคโนริ กัปตันทีมบาสเก็ตบอลของโชโฮคุ) จนสุดท้าย ในช่วงท้ายเล่ม 30 ต่อถึงต้นเล่ม 31 ซึ่งเป็นเล่มจบของ Slam Dunk คนเขียนไม่ได้ทิ้งปมคำถามนี้ที่ฮารุโกะเคยถามซากุรางิไปเปล่า ๆ แต่ย้อนเอาคำถามนี้กลับมาเล่นอีกครั้งในตอนที่ซากุรางิกำลังนอนเจ็บปวดที่หลังเพราะอาการบาดเจ็บจากการกระโดดไปปัดบอลตอนช่วงสำคัญของเกมที่พบกับซังโน ความเจ็บปวดตอนนั้นทำให้ในหัวของซากุรางิมีภาพความทรงจำย้อนหลังที่เต็มไปด้วยความกังวลว่าทักษะการเล่นบาสฯ ที่เพิ่มขึ้นในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมาของเขา จะกลายเป็นเพียงความฝันแค่ตื่นหนึ่งเท่านั้น หลังจากสติกลับมาแจ่มใสในตอนที่ภาพย้อนกลับไปสู่คำถามที่ฮารุโกะเคยถามซากุรางิในเล่มแรกว่า “ชอบบาสฯ ไหมคะ?” ซากุรางิ ยืนขึ้นมาจับไหล่ฮารุโกะ ตอบว่า “ชอบที่สุดเลย คราวนี้ไม่ได้โกหกนะครับ”   “พื้นฐานคือสิ่งสำคัญ” ก่อนที่ซากุรางิจะค้นพบตัวเองว่ารักในการเล่นบาสเก็ตบอล แม้ว่าแรกสุด ชายหนุ่มผู้สูงถึง 188 เซนติเมตรและมีพลังกระโดดอันล้นเหลือ จะเคยดังก์ใส่กัปตันทีมบาสฯ อย่างอาคางิมาแล้ว แต่ด้วยความที่เขาไม่มีพื้นฐานด้านนี้เลย ซากุรางิจึงต้องเริ่มฝึกพื้นฐานการเล่นบาสเก็ตบอลทั้งหมด แทนที่เราจะได้เห็นการเล่นบาสเก็ตบอลพลิกแพลงสนุก ๆ จากตัวละครตัวเอกของเรื่อง แต่เรากลับเห็นเพียงการฝึกฝนขั้นพื้นฐานตามปรัชญาของอาจารย์อันไซ โค้ชของทีมที่เคยย้ำเสมอว่า “พื้นฐานคือสิ่งสำคัญ” ซากุรางิจึงค่อย ๆ เริ่มซ้อมบาสฯ จากพื้นฐานง่าย ๆ ไล่มาตั้งแต่การเลี้ยง การส่ง การเลย์อัพ การกระโดดแย่งบอลหรือรีบาวด์ การหลอกชูตแล้วเลี้ยงต่อ การยิงลูกโทษ การชูตใต้แป้น และการชูตบาสฯ ในระยะกลาง ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการค่อย ๆ ฝึกฝนด้วยการปรับตามสถานการณ์ที่เจอ บางครั้งซากุรางิต้องลงสนามแบบผู้เล่นที่ขาดประสบการณ์ แล้วไปเจอสถานการณ์อย่างต้องชูตลูกโทษซึ่งเขาไม่เคยฝึกมาก่อน ก็ต้องไป “ด้น” เอาหน้างาน หรืออย่างนัดที่เจอทีมแชมป์เก่าประจำจังหวัดอย่าง ไคนัน เจอทีมตรงข้ามแก้ทางเพราะอ่านออกว่าซากุรางิชูตระยะใกล้ใต้แป้นไม่เป็น หลังจากนั้นนั้นเขาต้องเข้าหลักสูตรเร่งรัดฝึกชูตใต้แป้นก่อนที่จะแข่งขันในนัดต่อไป ในเวลา 4 เดือนที่เล่นบาสฯ แม้ว่าจะงอแงบ้าง แต่ซากุรางิก็มุซ้อมบาสฯ อย่างหนัก โดยเฉพาะช่วงที่ฝึกซ้อมชูตระยะกลางสองหมื่นลูกเพื่อเตรียมแข่งขันระดับประเทศ เห็นได้อย่างชัดเจนในตอนนั้นว่า จากคนที่มีประสบการณ์บาสฯ เท่ากับ 0 ในวันที่มีพื้นฐานที่จำเป็นในการเล่นบาสฯ ครบแล้ว เขาก็กลายเป็นกำลังหลักของทีมในที่สุด พัฒนาการของตัวละครที่เก่งขึ้นเรื่อย ๆ คือแกนกลางหลักของเรื่องเล่าในขนบของการ์ตูนผู้ชายญี่ปุ่น (โชเน็นมังงะ) การเติบโตของซากุรางิ และผู้เล่นคนอื่น ๆ ในทีม ค่อย ๆ เปลี่ยนทีมบาสฯ โนเนม อย่าง โชโฮคุ ให้กลายเป็นทีมที่มีเสน่ห์ที่น่าจับตา และกลายเป็นหนึ่งในตัวแทนของจังหวัดไปแข่งระดับประเทศ นอกจากซากุรางิที่พัฒนาตัวเองด้วยการฝึกพื้นฐานแล้ว Slam Dunk ทำให้เราเห็นว่า ผู้เล่นตัวหลักของโชโฮคุ ก็พัฒนาการเล่นขึ้นมาอีกระดับเช่นกัน อย่าง อาคางิก็กลายเป็นเซ็นเตอร์ที่แข็งแกร่ง, มิสึอิ ฮิซาชิ ก็กลายเป็นมือชูตสามแต้มที่คอยพลิกเกมให้ทีม หรือ มิยางิ เรียวตะ ตัวจ่ายบอลของทีมที่นอกจากจะเร็วแล้ว ยังพัฒนาการอ่านเกมของตนให้เด็ดขาดยิ่งขึ้น แต่มือหนึ่งของทีม ที่เป็นนักบาสเก็ตบอลคนสำคัญ นั่นคือ รุคาว่า คาเอเดะ นี่คือตัวละครที่ช่วยผลักดันให้ซากุรางิไปข้างหน้าอีกทาง   “จะออกก็ออกมาเด้ ไอ้โง่เอ๊ย” Slam Dunk ได้สร้างตัวละครหลักคนละขั้วออกมาได้อย่างน่าสนใจ ในขณะที่ซากุรางิค่อย ๆ เติบโตในการเล่นบาสฯ แบบนับ 1 2 3 4 ที่ต้องฝึกฝนพื้นฐานตั้งแต่เริ่มแรก แต่ รุคาว่า คาเอเดะ กลับเปิดตัวด้วยการเป็นนักบาสฯ มือดีที่กลายเป็นมือหนึ่งของทีมตั้งแต่เริ่มแรก การเล่นบาสฯ ของเขาเต็มไปด้วยการเล่นที่พลิกแพลง สวยงาม เขากลายเป็นตัวหลัก เป็นมือหนึ่งของทีมที่ได้โชว์ซีนเด็ด ๆ หลายครั้ง อย่างเช่นการโชว์เดี่ยวพลิกเกมในนัดที่พบกับยอดทีมอย่างไคนัน หรือการดวลกับเซ็นโด มือหนึ่งของทีมชั้นนำระดับจังหวัดอย่างเรียวนันที่เต็มไปด้วยความหวือหวา ต่างจากซากุรางิที่ไม่ประสีประสากับการเล่นบาสฯ เท่าไหร่นัก จึงเน้นใช้ความสามารถทางกายคือการกระโดด บวกกับเทคนิคพื้นฐานที่ฝึกฝนมาเป็นหลัก ทั้งพล็อตเรื่องยังปูให้ฮารุโกะหลงรักรุคาว่าอีก จึงไม่น่าแปลกใจว่าในสายตาของซากุรางิ รุคาว่าคือศัตรูทั้งนอกและในสนาม แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือ ในฐานะนักบาสเก็ตบอล ดูเหมือนในตอนแรกเริ่มนั้น รุคาว่าไม่ค่อยยอมรับในตัวของซากุรางิเท่าไหร่นัก สิ่งหนึ่งที่เป็นเหมือนกับสัญลักษณ์ของความรู้สึกนี้ นั่นก็คือ รุคาว่าแทบไม่เคยส่งบอล (แบบตั้งใจส่งจริง ๆ) ให้กับซากุรางิเลย หลังจากที่ทีมโชโฮคุโชคร้าย จับสลากผังการแข่งขันพบกับทีมแชมป์เก่าระดับประเทศอย่างเทคโนฯ ซังโน ในรอบสอง เกิดอะไรหลายอย่างในการแข่งขันครั้งนั้นมากมาย ระดับที่แข่งนัดเดียว แต่เล่ายาวตั้งแต่ Slam Dunk เล่มที่ 25 จนถึงเล่มจบ 31 สิ่งสำคัญหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือ การเล่นของซากุรางิแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าในการแข่งขันนัดนี้ เขาคือผู้เล่นคนสำคัญของทีม ในขณะที่ฟอร์มการเล่นของโชโฮคุในนัดนั้นดีขึ้นเรื่อย ๆ จากการผลักดันของซากุรางิ แต่ช่วงท้ายเกม ซากุรางิเกิดเจ็บหลังอย่างรุนแรงจากการกระโดดไปปัดลูก ในขณะที่ทีมยังลังเลว่าจะให้ซากุรางิกลับสู้สนามไหม เพราะการบาดเจ็บครั้งนี้มันเกี่ยวพันกับชีวิตการเป็นนักกีฬาของเขา “จะออกก็ออกมาเด้ ไอ้โง่เอ๊ย” เสียงยั่วยุของรุคาว่าเพื่อให้ซากุรางิกลับเข้ามาในสนาม มันเหมือนเป็นสัญญาณเริ่มต้นว่าเขายอมรับซากุรางิเป็น “บาสเก็ตแมน” เต็มตัวแล้ว (พัฒนาการนี้รวมไปถึงตัวรุคาว่าเอง ที่ถนัดการเล่นแบบฉายเดี่ยว เขาก็ค่อย ๆ เรียนรู้ว่าการเล่นบาสฯ รูปแบบการบุกไม่ใช่เพียงการดวลกันตัวต่อตัว แต่การจ่ายบอลเพื่อให้คนอื่นช่วยกันเล่นคือสิ่งสำคัญ และสามารถยกระดับการเล่นของตนเองได้เช่นกัน) ยิ่งเข้าช่วงวินาทีสุดท้ายของเกมที่ซากุรางิชูตระยะกลางตัดสินเกม (ซึ่งเขาทำได้เพราะการซ้อมชูตสองหมื่นลูก) อย่างที่เคยเล่าไปในช่วงต้น ก่อนหน้าที่จะมาถึงลูกชูตนี้ รุคาว่าพยายามจะชูตด้วยตัวเองแล้ว แต่เหลือบไปเห็นซากุรางิที่ยืนว่างเตรียมจะยิง ซีนนั้นเหมือนกับว่ารุคาว่าสลัดอีโก้ของตัวเองแล้วตั้งใจส่งบอลให้กับซากุรางิชูต ฉากที่เพื่อนร่วมทีมส่งบอลให้กับเพื่อนร่วมทีมอีกคนเพื่อชูตง่าย ๆ ระยะกลาง ดูเผิน ๆ มันเหมือนกับซีนธรรมดา ๆ ซีนหนึ่งในเกมกีฬา แต่ Slam Dunk กลับทำให้ฉากนี้ทรงพลังและมีความหมาย ผ่านการปูที่พูดถึงปมขัดแย้งของสองคนนี้ แม้ว่าลูกเล่นพลิกแพลงทำให้เกมกีฬามันดูสวยงาม แต่ดูเหมือน Slam Dunk กำลังจะบอกเราว่า การฝึกฝนที่หนักหน่วงด้วยเรื่องพื้นฐานนั่นหละ ที่จะช่วยขัดหินเนื้อดีให้กลายเป็นเพชรเม็ดงามได้เช่นกัน