19 ก.พ. 2562 | 21:34 น.
"ฉันไม่เชื่อในการ 'ควบคุมตัวเอง' ที่หมายถึงการเก็บกดความรักที่ต้องตรงกันทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงว่าเป็นอุดมคติสูงสุด มันอาจเป็นแนวคิดที่เหมาะสมกับชีวิตคนที่ไร้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ตอนนี้ฉันพูดได้อย่างเต็มปากว่า อุดมคติที่จริงแท้ยิ่งกว่า สูงส่งยิ่งกว่าก็คือ การที่ชายและหญิงต่างรักกันอย่างลึกซึ้งในฐานะของคนสองคนที่ต่างได้ประโยชน์จากความรักนั้น แลกเปลี่ยนความต้องการซึ่งกันและกัน ในขณะเดียวกัน ด้วยเจตจำนงที่เป็นอิสระต่อกันของทั้งคู่ การจะมีลูกด้วยกันก็ต้องเกิดขึ้นเมื่อถึงพร้อมทั้งทรัพย์ ความรัก และสุขภาพ หรือกล่าวได้ว่า คู่สมรสที่จะเป็นพ่อแม่ได้ก็ต่อเมื่อพวกเขาสามารถสร้างคนที่จะมีคุณค่าต่อมนุษยชาติได้เท่านั้น" มารี สโตปส์ (Marie Stopes) ยุควิกตอเรีย (1837-1901) เป็นยุคที่อังกฤษมีความก้าวหน้าและรุ่งเรืองในหลายด้าน แต่การปลดปล่อยเสรีภาพในเรื่องเพศ หรือสิทธิของผู้หญิงยังไม่ได้ก้าวหน้าตามไปด้วยมากนัก แต่ มาเรีย สโตปส์ โชคดีที่มีพ่อแม่คอยช่วยผลักดันการศึกษาของลูกสาว ซึ่งกลายมาเป็นผู้ผลักดันสิทธิของผู้หญิง โดยเฉพาะเรื่องการคุมกำเนิด ซึ่งการผลักดันของเธอถือเป็นส่วนสำคัญหนึ่งที่ทำให้คริสตจักรแห่งอังกฤษยอมผ่อนคลายความเข้มงวดในเรื่องนี้ลงได้ มารี สโตปส์ เกิดเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 1880 ที่เอดินบะระ สก็อตแลนด์ ในครอบครัวมีอันจะกิน พ่อของเธอคือสถาปนิกที่สนใจในเรื่องฟอสซิลและเครื่องมือหินของมนุษย์โบราณ ส่วนแม่ของเธอเป็นนักวิชาการวรรณกรรมและผู้ผลักดันสิทธิในการศึกษาของผู้หญิง มาเรียจึงเติบโตมาโดยได้รับอิทธิพลทางความคิดที่หลากหลายของทั้งพ่อและแม่ เธอเรียนจบด้านวิทยาศาสตร์จากยูนิเวอร์ซิตีคอลเลจลอนดอน ในปี 1902 ด้วยเวลาเพียงสองปี และเรียนต่อด้านบรรพพฤกษศาสตร์ (ศึกษาพวกฟอสซิลพืช) ได้ดอกเตอร์จากมหาวิทยาลัยมิวนิกในปี 1904 ปีเดียวกันนั้นเองเธอก็ได้มาเป็นอาจารย์ผู้ช่วยด้านพฤกษศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านฟอสซิลพืช และปัญหาเกี่ยวกับการทำเหมืองถ่านหิน (ถ่านหินก็คือพลังงานฟอสซิลที่แปรสภาพจากซากพืชซากสัตว์) ซึ่งถือเป็นนักวิชาการหญิงคนแรกของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ สโตปส์แต่งงานครั้งแรกกับ เรจินัลด์ เกตส์ (Reginald Gates) นักพฤกษศาสตร์ในปี 1911 แต่การแต่งงานของทั้งคู่ล้มเหลวและเลิกร้างกันไปในปี 1916 ซึ่งเธออ้างว่า ระหว่างการแต่งงานทั้งคู่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์กันเลย และเธอแทบจะไม่รู้เรื่องเพศแม้แต่น้อยในระหว่างนั้น และมันก็กลายเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เธอหันมาให้ความสนใจกับเรื่องเพศ การแต่งงาน และการให้กำเนิด ก่อนออกหนังสือ "Married Love" (รักสมรส) ในปี 1918 หนังสือเล่มนี้คือตำรากามสูตรที่แนะนำการมีเพศสัมพันธ์ให้กับคู่รักเพื่อการแต่งงานที่สุขสม โดยไม่ต้องรับภาระจนเกินควร (การมีลูก) ซึ่งสมัยนั้นการจะหาสำนักพิมพ์ด้านวิชาการมาตีพิมพ์เรื่องแบบนี้ได้ก็ไม่ง่าย จนเธอได้นายทุนจากแมนเชสเตอร์ ฮัมฟรี โร (Humphrey Roe) มาช่วยสนับสนุน (ซึ่งเขาก็กลายมาเป็นสามีคนที่สองของเธอภายในปีเดียวกับที่หนังสือถูกตีพิมพ์) ทันทีที่ออกสู่ตลาด มันก็กลายเป็นหนังสือที่ขายดิบขายดี มีการพิมพ์ใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า ขณะที่สหรัฐฯ สั่งแบนแทบจะทันทีที่หนังสือออกเผยแพร่ และห้ามนำเข้าเป็นเวลาเกือบสองทศวรรษ ซึ่งถึงเวลานั้นหนังสือของเธอก็ขายไปแล้วกว่าครึ่งล้านเล่ม ด้วยความที่หนังสือเล่มนี้สามารถตอบโจทย์บางอย่างให้กับสังคม อย่างน้อยมันก็ทำให้คู่รักเข้าใจเรื่องเซ็กซ์มากขึ้น ทำให้ชีวิตคู่มีความสุขมากขึ้น และด้วยความเชื่อที่ว่าสิ่งที่เธอเสนอแนะจะช่วยลดการมีความสัมพันธ์นอกสมรสได้ บวกกับการใช้ภาษาอย่างแยบยล มีการอ้างอิงพระคัมภีร์เทียบเคียงกับการปรับเปลี่ยนธรรมเนียมที่แปรไปตามสภาพสังคมซึ่งเคยเกิดขึ้นมาก่อนก็ทำให้นักบวชบางคนแสดงท่าทียอมรับได้ ความสำเร็จของหนังสือทำให้เธอได้รับจดหมายส่งมาขอบคุณที่ทำให้ชีวิตคู่ของพวกเขากลับมาซู่ซ่าอีกครั้ง บ้างก็ส่งเข้ามาถามปัญหาชีวิตคู่ หรือวิธีการหลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์ ในฐานะที่เธอเป็นผู้เชี่ยวชาญ (ซึ่งสโตปส์บอกว่า องค์ความรู้ที่ถูกนำมาประมวลเป็นหนังสือเล่มนี้นั้น หลักๆ มาจากการค้นคว้าทางตำรา ขณะเดียวกันก็มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าส่วนหนึ่งอาจจะมาจากประสบการณ์ตรงของเธอกับชู้รักชาวญี่ปุ่น) "เรื่องที่เหลือเชื่อมากๆ เลยก็คือ การที่คนขาดความรู้ทั่วไปในเรื่องเพศ และความลึกลับอันงดงามของชีวิตแต่งงาน ระดับของความไม่รู้บางกรณีเกินกว่าจะคาดคิด คุณรู้หรือไม่ว่า มีอยู่ห้ากรณีที่คู่รักแต่งงานกันมานานหลายปี โดยที่สามีก็ไม่รู้ว่าตัวเองมีหน้าที่ต้องทำอะไร ฝ่ายภรรยาที่ยังเป็นสาวบริสุทธิ์ก็ได้แต่สงสัยว่าทำไมตัวเองถึงไม่มีลูกกับเขาสักที !" สโตปส์เล่าถึงประสบการณ์ในการรับฟังเรื่องราวปัญหาชีวิตคู่ หลังแต่งงานกับ แฮมฟรีย์ โร ได้สามปี (1921) ทั้งคู่ร่วมกันตั้งคลินิกคุมกำเนิดแห่งแรกขึ้นมาในย่านฮอลโลเวย์ ของกรุงลอนดอนเพื่อให้ความรู้กับผู้หญิงเกี่ยวกับวิธีการในการคุมกำเนิด ซึ่งไม่รวมถึงการทำแท้ง เนื่องจากเธอเห็นว่า การป้องกันการปฏิสนธิก็เพียงพอแล้วสำหรับการป้องกันการตั้งครรภ์ อย่างไรก็ดี ความเชื่อเรื่องการคุมกำเนิดของสโตปส์ก็มีจุดด่างพร้อยเพราะเธอไม่ได้เสนอให้การคุมกำเนิดเป็นเรื่องของความสมัครใจเท่านั้น เธอยังเป็นผู้ที่เชื่อในเรื่องการคัดเลือกสายพันธุ์ที่ดีที่สุด และเสนอให้มีการคุมกำเนิดคนที่มีข้อบกพร่องซึ่งมีความหมายค่อนข้างกว้าง คนจนที่ไม่มีเงินมากพอก็อยู่ในข่ายนั้น ความจริงจังในเรื่องการคัดเลือกชาติพันธุ์ของเธอเข้มข้นถึงขนาดประกาศตัดแม่ตัดลูกกับลูกชายที่ไปแต่งงานกับหญิงที่มีปัญหาสายตา ทั้งเธอยังมีมุมมองที่เป็นลบต่อชาวยุโรปใต้โดยมองว่าเป็นชาวที่มีชั้นต่ำกว่าคนยุโรปตอนบนอย่างเธอ ทำให้หลายครั้งเธอถูกโจมตีในเรื่องอุดมคติที่ไปสอดคล้องกับพวกนาซีอย่างเลี่ยงไม่ได้ ที่มา: https://www.britannica.com/biography/Marie-Stopes https://timesmachine.nytimes.com/timesmachine/1958/10/03/110082387.pdf https://ia801600.us.archive.org/9/items/in.ernet.dli.2015.176142/2015.176142.Marie-Stopes-Her-Work-And-Play.pdf https://www.theatlantic.com/technology/archive/2009/12/warning-this-may-be-hazardous-to-your-vision/32379/ http://theconversation.com/married-love-the-1918-book-by-marie-stopes-that-helped-launch-the-birth-control-movement-93108 https://www.theguardian.com/books/booksblog/2018/feb/14/what-can-we-learn-from-marie-stopess-1918-book-married-love https://www.theguardian.com/theguardian/2011/sep/02/marie-stopes-right-birth-control