25 เม.ย. 2568 | 16:00 น.
เงิน 20,000 บาท มีค่าแค่ไหนสำหรับคุณ?
คำถามที่อาจไม่มีคำตอบตายตัว เพราะแต่ละคนย่อมมีภาระรับผิดชอบแตกต่างกันไป โดยเฉพาะเหล่าเสาหลักของบ้าน อย่าง ‘เล็ก’ คนขับวินมอเตอร์ไซค์ในวัย 50 ปี และ ‘เชน’ พ่อค้าขายผลไม้รถเข็นในวัย 28 ปี ทั้งคู่ไม่ได้มีจุดเชื่อมโยงกัน ไม่ได้รู้จักเป็นการส่วนตัว เป็นเพียงคนหาเช้ากินค่ำ ต้องดูแลคนในครอบครัวจากรายได้ที่ไม่แน่นอนที่หามาได้แต่ละวัน แต่มีสิ่งหนึ่งที่แน่นอนเสมอมาคือ ‘หนี้’
หาเงินมาก็ต้องรีบจ่ายให้เจ้าหนี้พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 20 ต่อวัน เรียกได้ว่าหามาเท่าไหร่ก็จ่ายไปจนหมด
แม้จะพยายามขอสินเชื่อจากธนาคารแล้วธนาคารเล่า แต่ไม่ว่าจะพยายามแค่ไหน ก็ไม่สามารถกู้ยืมได้สักครั้ง เพราะไม่มีเครดิต ไม่มีหลักประกันว่าพวกเขาจะมีเงินเพียงพอมาจ่ายหนี้ที่กู้ยืมไหว ทำให้ชีวิตของพวกเขายังคงวนเวียนอยู่กับวงจรหนี้ไม่รู้จบ
ด้วยความหวังว่าเงินจำนวน 20,000 บาทจะสามารถเปลี่ยนชีวิตคนไทยได้ไม่มากก็น้อย เพราะหลายคนไม่ว่าจะขยันหรือพยายามหาเงินขนาดไหน ก็ถูกประตูแห่งโอกาสปิดลงตรงหน้า เพียงเพราะไม่มีเครดิต แต่ธนาคารออมสินจะเป็นผู้หยิบยื่นโอกาส ‘สร้างเครดิตแรก เพื่อสร้างโอกาสใหม่ในชีวิต’
และนี่คือเรื่องราวของ 2 นักสู้ ผู้ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา และหวังว่า ‘โอกาส’ จะเปลี่ยนความเป็นอยู่ของครอบครัวให้ดีขึ้นกว่าวันวาน
“ครอบครัวพี่แตกแยก แยกทางกันอยู่กับพ่อของลูกได้ 7 ปีแล้ว ตอนนี้ก็อยู่กับลูกแค่สองคน” เล็ก คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวย้อนความหลัง เธอผันตัวมาขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างหลังจากตัดสินใจเลิกรากับอดีตคนรัก เพื่อมาดูแลลูกสาวตัวน้อยอย่างเต็มตัว
เล็กไม่เคยนึกโทษโชคชะตา เพราะทุกเหตุการณ์ที่ผ่านมาสอนให้เธอกลายเป็นคุณแม่สุดแกร่งอย่างในทุกวันนี้ ลูกคือสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต เธอไม่เหลือใครในชีวิตแล้วนอกจากลูก พ่อแม่ก็จากไปเนิ่นนาน ญาติ ๆ ก็ห่างเหิน อย่าว่าแต่เพื่อนเลย แค่คิดจะออกไปเที่ยวพักผ่อนใช้ชีวิตให้มีความสุขสักวันเธอยังไม่เคยคิด คิดเพียงแค่ว่าจะหาเงินมาใช้จ่ายในแต่ละวันได้อย่างไร
“พี่เลือกขับวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เพราะว่ามีอิสระ เลี้ยงลูกได้ ดูลูกได้ตลอดเวลา อย่างเมื่อก่อนก็เคยขายของกับคุณพ่อของลูกสาว แต่ตอนนี้เราแยกย้ายกันมานานแล้ว” เธอเล่าถึงอดีตคนรัก ส่วนเหตุผลที่เลือกอาชีพนี้ไม่มีอะไรมากนัก ในหัวของเธอคิดถึงแต่เพียงลูกสาวคนเดียวเท่านั้น
“พี่เน้นเลี้ยงลูกอย่างเดียวเลย กว่าจะเลือกงานแต่ละครั้ง พี่ยกให้ลูกมาเป็นอันดับแรก”
ช่วงเริ่มทำงานใหม่ ๆ เล็กยอมรับว่ารายได้ค่อนข้างดี นอกจากจะหาเงินมาดูแลลูกได้แล้ว ยังมีเวลาว่างออกไปใช้ชีวิตได้อีก แต่หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เข้ามาถล่มประเทศไทย รายได้หดหาย แถมข้าวของยังแพงทุกอย่าง ชีวิตหาทางออกไม่เจอจนต้องพึ่งหนี้นอกระบบในที่สุด
“มีคนแนะนำว่าให้ลองกู้หนี้นอกระบบดูไหม เราก็กล้า ๆ กลัว ๆ กลัวมาก เพราะเห็นข่าวเยอะเวลาเขามาทวงหนี้แล้วทำร้ายร่างกายกัน แต่ด้วยความที่หนี้นอกระบบเข้าถึงง่ายและเราจำเป็นต้องใช้จริง ๆ ชีวิตพี่ก็ไม่มีทางเลือกมากนัก ต้องลองเสี่ยงกันดู” เธอนิ่งเงียบ พยายามกลืนก้อนความเจ็บปวดลงข้างใน
“แต่ไม่ใช่ว่าพี่ไม่พยายามกู้สินเชื่อในระบบนะ พี่เข้าไปธนาคารแล้ว ระหว่างรอเขาพิจารณาเขาก็บอกว่าคุณสมบัติพี่ไม่ได้ เราก็ไม่รู้หรอกว่าเงื่อนไขอะไรที่เขาใช้พิจารณา เลยต้องลงเอยอยู่กับหนี้นอกระบบแบบนี้ ทำงานหาเงินใช้หนี้ไปวัน ๆ
“บางวันหาเงินได้ไม่พอ จ่ายหนี้เขาหมด เหลือเงินติดตัวอยู่แค่ 10 บาท ลูกก็บอกเราว่า ‘แม่วันนี้หนูกินมาม่าก็ได้’ น้ำตามันไหลข้างใน ทำไมเรามาถึงจุดนี้ได้นะ ถ้าพี่ท้อแล้วลูกจะอยู่ยังไง ลูกไม่พอกินแล้วใครจะดูแลเขาถ้าไม่ใช่เรา”
ต้องสู้ คือคำที่ผุดขึ้นมาในหัวของเล็กตลอดเวลา ตั้งแต่ลืมตาตื่นยันเข้านอน
สู้เท่านั้นถึงจะทำให้ลูกสาวคนเดียวของเธอมีชีวิตรอดในโลกใบนี้ แม้จะเหนื่อยบ้างบางวัน แต่เมื่อคิดถึงหน้าลูก คิดถึงวันที่ลูกบอกว่าจะกินแค่มาม่าก็ทำให้ใจเธอแหลกสลาย เธอไม่อยากให้คืนวันเหล่านั้นย้อนกลับมาอีก
“ถ้าลูกไม่พอกิน มันเจ็บข้างในนะ เจ็บทุกครั้งที่คิด มันเป็นความรู้สึกผิดที่เราหาให้ลูกได้ไม่พอ แต่เราไม่เคยอยากให้ลูกออกหางานทำเลย เราอยากให้ลูกตั้งใจเรียน เพราะการศึกษาจะทำให้ลูกมีชีวิตที่ดีกว่า ไม่ต้องออกมาดิ้นรนเหมือนแม่”
สองสามีภรรยากำลังช่วยกันเข็นรถขายผลไม้อย่างขมักเขม้น บ้างก็จอดแวะทักทายผู้คน ถึงอากาศจะร้อนระอุเพียงใดก็ไม่อาจบดบังความสดใสของพวกเขาได้ อันที่จริงชีวิตของพวกเขาไม่ได้สวยงามเหมือนกับรอยยิ้มบนใบหน้ามากนัก ทั้งสองเป็นพ่อแม่มือใหม่ เพิ่งมีลูกอายุขวบกว่า ๆ ออกมาทำงานทีก็ต้องกระเตงลูกมาด้วย ‘เชน’ ในฐานะพ่อและหัวหน้าครอบครัวได้แต่ก้มหน้ายอมรับความเจ็บปวดไว้ในใจ
“ถ้าไม่มีลูก ผมคงไม่มีแรงทำงาน” เขาเล่าถึงแรงใจที่ทำให้ยังออกมาขายผลไม้
“เมื่อก่อนเคยทำงานแพ็คกุ้งอยู่ในโรงงานที่ระยอง ทำไปทำมาเงินมันไม่พอใช้ เราได้วันละ 300 บาท แต่ต้องเอามากินมาใช้ในครอบครัว สุดท้ายก็ตัดสินใจเข้ากรุงเทพฯ มาขายผลไม้เหมือนพ่อแม่”
จะเรียกว่าความโชคดีก็ได้ เมื่อแม่ทิ้งมรดกรถเข็นผลไม้ไว้ให้ ส่วนผู้เป็นพ่อแยกทางออกไปใช้ชีวิตของตัวเองนานแล้ว ภาพความทรงจำที่เหลือ จึงมีแค่แม่เท่านั้นที่อยู่กับเขาในทุกช่วงเวลา
“เราไม่เคยคิดเลยว่าจะมาขายของเหมือนพ่อแม่ ไม่อยากทำ คิดภาพตัวเองไม่ออก
“แต่มันต้องทำ ชีวิตเราต้องไปต่อ ช่วงแรกที่ขาย ภาวนาในใจอย่างเดียวเลยว่า ‘อย่ามาซื้อ’ ไม่อยากขาย มือไม้นี่สั่นไปหมดเลยนะตอนช่วงที่ขายใหม่ ๆ
“อีกอย่างรถเข็นที่เราได้มาจากแม่ก็ไม่ได้ดีมากนะ มันเก่าหมดแล้วล่ะ ตู้กระจกก็แตก สภาพดูไม่ได้ แต่เราก็เอามาใช้ขายของอยู่ดี เพราะนี่เป็นทางเลือกสุดท้ายของชีวิตแล้ว หากไม่ทำก็ไม่รู้จะหาเงินจากไหน”
เชนยังบอกอีกว่า ตั้งแต่เริ่มชีวิตการทำงานและต้องมาเป็นหัวหน้าครอบครัว เขาคิดเสียใจเพียงอย่างเดียวเลยว่า เขาน่าจะตั้งใจเรียนให้ดีกว่านี้ หากย้อนเวลากลับไปแก้ไขในอดีตได้ คงมีเรื่องนี้เป็นตราบาปเดียวในใจ
“เราน่าจะเชื่อฟังพ่อแม่ น่าจะตั้งใจเรียนกว่านี้จะได้ไม่จบแค่ ป.6 น่าจะใช้ชีวิตให้ดี ไม่ออกไปเกเรตามเพื่อน ไม่อย่างนั้นชีวิตคงสบายไปแล้ว”
คำว่า ‘น่าจะ’ ปรากฏอยู่เต็มบทสนทนา เพราะคำคำนี้ทำให้ชีวิตเขาลุ่ม ๆ ดอน ๆ มาโดยตลอด และทำให้ครอบครัวต้องทนอยู่กับความลำบาก ไม่ว่าจะหันไปทางไหนก็ดูไร้หนทาง แม่ที่เขาเคารพรักก็ไม่มีเงินมากพอจะส่งเสียลูกชายแถมตัวเธอเองยังติดหนี้รายวัน
เชนเลยหันไปพึ่งสินเชื่อในระบบ แบกความหวังเอาไว้เต็มกระบุง ก่อนทุกอย่างจะพังทลาย เมื่อธนาคารแจ้งข่าวร้ายแก่เขาว่าไม่สามารถให้สินเชื่อได้ เพราะคุณสมบัติไม่ตรง ไม่ผ่านเงื่อนไข
“เราพยายามไปกู้เงินในระบบอยู่ตลอด ไปอยู่หลายธนาคาร แต่ก็ยังถูกปฏิเสธอยู่ดี เขาบอกว่าไม่ได้ เงื่อนไขไม่ตรง ผมก็ไม่เข้าใจ เงื่อนไขของเขา คือยังไง ต้องมีบ้าน มีเงินในบัญชีเยอะ ๆ เหรอ
“ถ้ามีเงินในบัญชีเยอะจะไปขอกู้ทำไม ผมเดือดร้อนเลยไปกู้ ถ้าไม่เดือดร้อนคงไม่ไปหรอก” ความในใจของเชนพรั่งพรูออกมาไม่ขาดสาย เขาไม่เข้าใจว่าทำไมความพยายามของเขาถึงสูญเปล่า ในเมื่อทำตามข้อกำหนดของธนาคารทุกอย่าง
เมื่อไร้ที่พึ่ง ทางออกเดียวที่คิดได้คือ การกู้เงินนอกระบบ
“พอเราหาเงินมาไม่พอใช้ ก็ต้องหันไปพึ่งหนี้นอกระบบ แต่มันเหนื่อยมาก ขายของเท่าไหร่ก็ไม่พอ หามาได้ก็ต้องเอาไปให้เขาหมด
“สิ่งเดียวที่ผมจะสอนลูก คืออย่าเป็นหนี้นอกระบบ” เขาฝืนยิ้มออกมา
“เมื่อก่อนตอนยังไม่มีลูกเราไม่เคยสนใจเลยว่าจะขายของได้เท่าไหร่ ไม่เคยเครียดเลย พอมีลูกขึ้นมา เราในฐานะหัวหน้าครอบครัวก็ต้องหาเงินเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว ต้องได้มากกว่าเดิม ไหนจะค่านม ค่าแพมเพิส ทุกอย่างเป็นค่าใช้จ่ายไปหมด
“ยอดขายผลไม้ช่วงนี้ก็ตกอีก ชีวิตมันเลยวนลูปอยู่กับหนี้นอกระบบอยู่แบบนี้” ปัญหาที่เชนเจอกำลังทำให้เขาท้อกับการใช้ชีวิต ความเหน็ดเหนื่อยถาโถมเข้ามาไม่เว้นวัน ยิ่งมีหนี้นอกระบบที่เข้ามาก็ยิ่งทำให้เหนื่อยจนคิดอยากหนีไปให้ไกลจากชีวิตแบบนี้
“เคยคิดอยากหนีอยู่เหมือนกันนะ” เขาสารภาพ
“แต่พอมาคิดอีกทีถ้าหนีไปแล้วผมจะไปอยู่ไหน ทำมาหากินอะไร ต้องไปเริ่มใหม่อีกรอบเหรอ การศึกษาก็ไม่มี จบแค่วุฒิ ป.6 ถ้าหนีไปแล้วไปไม่ถูกที่ก็ขายของไม่ได้อีก ผมก็เลยทนอยู่ดีกว่า ทยอยจ่ายหนี้รายวันไปเรื่อย ๆ ดีกว่า”
แม้จะชีวิตของทั้งสองจะหนักหนาเพียงใด แต่ใช่ว่าประตูแห่งโอกาสจะมีเพียงบานเดียวเสมอไป เมื่อธนาคารออมสินเปิดตัว ‘สินเชื่อสร้างเครดิต สร้างโอกาส’ ให้สินเชื่อสูงสุดไม่เกินคนละ 20,000 บาท เรียกได้ว่าเป็นโครงการที่ทำให้ทั้ง ‘เล็ก’ และ ‘เชน’ เห็นแสงสว่างแห่งความหวังอยู่รำไร แม้จะยังไม่แน่ใจนักว่าเขาจะได้รับโอกาสเหมือนอย่างคนอื่นหรือเปล่า แต่เพียงเท่านี้ก็ทำให้เห็นแล้วว่า ยังมีธนาคารที่มองเห็นความทุกข์ยากของพวกเขาอยู่
เมื่อพิจารณาจากคุณสมบัติผู้กู้ พบว่าพวกเขาเองก็ตรงตามเงื่อนไขอย่างพอเหมาะพอดี ทั้งเป็นผู้ที่ไม่มีประวัติเครดิตทางการเงิน ไม่เคยใช้บริการสินเชื่อกับสถาบันการเงินอย่างน้อย 2 ปี เป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ มีสัญชาติไทย มีที่อยู่เป็นหลักเป็นแหล่ง และสามารถติดต่อได้ไม่ขาดหายไปไหน แถมยังมีความพิเศษตรงที่ไม่ต้องมีหลักประกัน หรือคนค้ำทำให้ง่ายต่อการเข้าถึงอีกด้วย
ทั้งหมดนี้ทำให้ชีวิตที่เคยหมดไฟ กลับมาลุกโชนอีกครั้ง พวกเขายังมีหวังในการเปลี่ยนชีวิตครอบครัวให้ก้าวข้ามความหม่นเศร้าในช่วงเวลานี้ไปได้
“ถ้าเราได้สินเชื่อก้อนนี้ เงิน 20,000 บาท พี่จะเอาไปใช้หนี้นอกระบบให้หมด ไม่ต้องกดดันในการหารายได้ประจำวัน หลังจากนั้น พี่จะเอาไปบำรุงรักษารถ เหลือเล็กน้อยเก็บไว้เป็นทุนสํารอง”
“อีกอย่างถ้าเขาให้กู้เรื่อย ๆ ก็จะสามารถช่วยระดับรากหญ้าที่เขาขัดสนอย่างเราได้อีกเยอะ ถ้ามีโครงการประมาณนี้อีก จะหมื่นนึง หรือสองหมื่น มันก็ช่วยต่อชีวิตครอบครัวเราได้แล้ว”
ส่วนเชนเขาเองก็มีความคิดไม่ต่างจากเล็ก เขาบอกอย่างกระตือรือร้นว่า สิ่งแรกที่จะนำเงินตรงนี้ไปใช้คือการปิดหนี้ทั้งหมด เป็นการรีสตาร์ทเส้นทางชีวิตใหม่อีกครั้ง
“ผมมีความฝัน” เขาเผลอยิ้มออกมา
“ผมฝันว่าอยากมีกิจการเป็นของตัวเอง อยากจ้างคนขายผลไม้ เปิดเป็นร้านรถเข็นแบบที่เราทำอยู่นี่แหละ แต่เป็นชื่อของผมนะ ผมจะเตรียมของให้เขาออกไปขายตอนเช้า พอตกเย็นก็นับยอดว่าขายได้เท่าไหร่ ก็แบ่งเปอร์เซ็นต์ให้เขาไป
“ถ้าธนาคารให้ผมกู้นะ ผมว่าชีวิตคงจะเปลี่ยน คงมีทุนไปสานต่อความฝันของตัวเอง สู้ได้อีกสักยกนึง”
ทั้งหมดนี้คือภาพสะท้อนของผู้คนที่ไม่เคยหยุดพยายาม แม้หนทางชีวิตจะเต็มไปด้วยความลำบาก แต่เพียงมีแสงสว่างเล็ก ๆ จากปลายอุโมงค์ ก็เพียงพอจะทำให้พวกเขาลุกขึ้นมาสู้ต่ออีกครั้ง
เพราะในโลกที่ความหวังมักแลกมาด้วยเครดิตที่ไม่มีอยู่จริงสำหรับคนบางกลุ่ม ‘สินเชื่อสร้างเครดิต สร้างโอกาส’ คือคำตอบของการมองเห็นคุณค่าของความพยายาม ไม่ใช่เพียงตัวเลขในบัญชี
20,000 บาท อาจไม่มากในสายตาใครบางคน
แต่มันคือจุดเริ่มต้นของอนาคตใหม่ สำหรับคนอีกมากมายบนโลกใบนี้