25 เม.ย. 2568 | 17:00 น.
KEY
POINTS
เราทุกคนต่างรู้จัก 12 นักษัตร ใช่ไหม ?? ... ชวด ฉลู ชาล เถาะ ...
แล้วรู้มั้ยว่า ชื่อของ 12 นักษัตร เป็นภาษาอะไร ??
“หลายคนอาจจะเข้าใจว่า ชื่อเรียกของ 12 นักษัตร เป็นภาษาเขมร แต่จริงๆแล้วนี่เป็นอีกภาษาหนึ่งที่ต่างออกไปจากภาษาเขมรอย่างสิ้นเชิงครับ”
ศุรวิษฐ์ ศิริพาณิชย์ศกุนต์ เกิดเมื่อปี 2518 อาศัยอยู่ที่บ้านหนองขวาว ต.หนองขวาว อ.ศิขรภูมิ จ.สุรินทร์ เป็นผู้สืบสายเลือดจากชาติพันธุ์ “กูย”
เขายืนยันว่า ชื่อเรียกของ 12 นักษัตรที่เราคุ้นหูกันมายาวนาน เป็นภาษาดั้งเดิมของชาวกูย
“คำว่า ไก่ ภาษากูย เรียกว่า ระกา ตรงกันเลยครับ ส่วนไก่ในภาษาเขมร เรียกว่า เมือน ... สุนัข ภาษากูยก็ออกเสียงว่า จอ ส่วนภาษาเขมรเรียกสุนัขว่า จะแก ... หรืออีกตัวอย่างหนึ่งคือ ลิง คนกูยเรียกว่า วอก แต่ในภาษาเขมรจะเรียกว่า สะวา ... จะเห็นได้ชัดเลยว่า ชื่อเรียกของปีนักษัตรเป็นภาษากูยโบราณ แต่คนส่วนใหญ่ไปเข้าใจผิดว่าเป็นภาษาเขมร”
“และจากตัวอย่างนี้ เราก็อยากจะยืนยันว่า ภาษากูย แตกต่างจากภาษาเขมรอย่างสิ้นเชิง ดังนั้นชาติพันธุ์กูย ซึ่งอาศัยอยู่ในหลายจังหวัดทางภาคอีสานใต้ของไทยร่วมกับชาติพันธุ์เขมรและลาว จึงเป็นอีกชาติพันธุ์หนึ่งที่มีอัตลักษณ์ของตัวเอง ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของชาวเขมร”
“ถ้าไปดูหลักฐานในประวัติศาสตร์ต่างๆ ก็จะพบว่า กูย เคยเป็นรัฐ ที่มีอาณาจักรเป็นของตัวเอง” ศุรวิษฐ์ กล่าว
“ในกฎหมายตราสามดวงของกรุงศรีอยุธยา เขียนถึงชาวต่างชาติที่เข้ามาค้าขายกับอยุธยา โดยระบุชื่อชาติต่างๆ ไว้อย่างชัดเจน อย่าง ฝรั่งเศส ฮอลันดา ซึ่งในชื่อเหล่านั้นมีคำว่า กูย รวมอยู่ด้วย ... หรือในอีกข้อหนึ่งที่ระบุว่า ห้ามชาวอยุธยายกลูกสาวให้ชาวต่างชาติ ชื่อของชาติที่ถูกระบุไว้ ก็มี กูย เป็นหนึ่งในนั้นเช่นเดียวกัน”
เมื่ออ้างอิงตามหลักฐานเช่นนี้ ศุรวิษฐ์ จึงมั่นใจว่า ชาวกูยที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยทางตอนใต้ของภาคอีสานในปัจจุบัน มีบรรพบุรุษเป็นกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ที่นี่มาตลอดหลายพันปี ไม่ใช่กลุ่มที่อพยพมาจากดินแดนอื่น เขายังบอกอีกว่า เมื่อไม่นานมานี้ เพิ่งจะขุดค้นพบโครงกระดูกมนุษย์ที่มีอายุราว 5,000 ปี ที่ จ.นครราชสีมา และมี DNA เป็นสายพันธุ์เดียวกับชาวกูยในปัจจุบัน
“กูย ไม่ใช่ชาติพันธุ์เดียวกับ เขมร ในปัจจุบัน แต่สืบเชื้อสายมาจากชาติพันธุ์ ขอมในอดีต” ศุรวิษฐ์ อธิบายที่มาของกูยเพิ่มเติม
“มีข้อมูลทางวิชาการที่ระบุว่า ภาษากูย เป็นภาษาตระกูลเดียวกับ มอญ-เขมร แต่เราสืบพบว่า ตัวอักษรที่ใกล้เคียงกับภาษากูยมากที่สุด จะถูกพบเห็นได้ตามปราสาทต่างๆ ที่สร้างขึ้นโดยอาณาจักรขอมในอดีต ซึ่งไม่ใกล้เคียงกับภาษาเขมรแม้แต่น้อย ดังนั้นเราจึงเชื่อว่า ชาวกูย เป็นลูกหลานของชาวขอม”
“แม้แต่คำว่า ขอม ที่สะกดเป็นภาษาไทย ก็มีเสียงใกล้เคียงกับคำในภาษากูยครับ ... ขอม มาจากคำว่า กรอม หรือเพี้ยนมาจาก คอม ซึ่งแปลว่า ชนชั้นที่เรียนเก่ง บัณฑิต หรือ ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในศาสตร์ต่างๆ ทำให้เชื่อได้ว่า ขอม ก็คือชื่อเรียกชนชั้นปกครองของชาวกูย”
ขอม เป็นกลุ่มคนที่มีบันทึกว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์ต่างๆ มากมาย จึงทำให้เป็นอาณาจักที่มีความรุ่งเรืองอย่างมากในอดีต โดยเฉพาะวิชา “คชศาสตร์” หรือ ศาสตร์ในการดูแล “ช้าง” สัตว์บกขนาดใหญ่ที่สุด และมีบทบาทสำคัญในการทำศึกสงคราม ซึ่งวิชานี้ ก็ถูกสืบทอดเป็นมรดกมาถึงชาวกูย
“องค์ความรู้เรื่องคชศาสตร์ของชาวกูย เป็นมรดกที่ตกทอดมานับพันปีแล้ว ช้างคือสัตว์ที่แสดงถึงความรุ่งเรืองในอดีต กลุ่มชนที่สามารถกำกับช้างได้ก็จะเป็นมหาอำนาจ ... ตัวอย่างเช่น เชือกปะกำที่ใช้คล้องช้าง เป็นเชือกที่ทำมาจากหนังควาย 3 ตัว เหนียวแน่นมาก ไม่ขาดง่าย ก็เป็นศาสตร์ที่ตกทอดกันมา”
“ก่อนฝรั่งเศสจะเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พื้นที่นี้ยังไม่มีเส้นแบ่งเขตแดนความเป็นรัฐชาติที่ชัดเจน ชาวขอม หรือ ชาวกูย ก็อยู่กันอย่างกระจายตามพื้นที่ต่างๆ และเมื่อลากเส้นแบ่งเขตแดนเป็นไทย กัมพูชา ลาว เวียดนาม ชาวกูย จึงถูกตัดขาดออกจากกัน กลายเป็นคนกลุ่มน้อยในแต่ละรัฐ และเป็นกลุ่มคนที่ไม่มีรัฐเป็นของตัวเอง”
“แม้แต่ในประเทศไทย เราก็ถูกตั้งชื่อให้ใหม่ว่า “ส่วย” เพราะในช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 3 ถึงต้นรัชกาลที่ 4 กูยในพื้นที่อีสานใต้ ตกเป็นเมืองขึ้นของสยาม ก็ส่งเครื่องบรรณาการเป็นงาช้าง ผ้าไหม ผ้าแพร พืชพรรณธัญญาหารให้ทุกปี ซึ่งก็คือการ ส่งส่วย จึงถูกเรียกว่าส่วยมาตั้งแต่นั้น” ศุรวิษฐ์ สันนิษฐานถึงหลายสาเหตุปัจจัยที่ทำให้ชาติพันธุ์กูยถูกลืมเลือนไป
“ดังนั้น กูย คือ ขอม ... กูย ไม่ใช่ ส่วย ... ส่วยเป็นชื่อที่คนนอกเรียกเรา ... และ กูย ไม่ใช่เขมร ... เพียงแต่อารยะธรรมและโบราณต่างๆ ที่สำคัญของอาณาจักรขอมในอดีต ไปอยู่ในเขตแดนของกัมพูชาในปัจจุบัน เช่น นครวัดนครธม จึงทำให้ถูกเหมารวมเป็นเขมรไปทั้งหมดเลย”
ดังนั้น สาเหตุสำคัญที่ทำให้ กูย ยังคงถูกมองผ่านอย่างไม่มีตัวตน ศุรวิษฐ์ วิเคราะห์ว่า เป็นเพราะ “ภาษากูย” กำลังเลือนหายไปอย่างมีนัยสำคัญจากหลายปัจจัย ทั้งการไม่มีอาณาเขตเป็นรัฐชาติของตัวเอง การอยู่กันอย่างกระจัดกระจายในหลายประเทศ ขาดการส่งต่อภาษาเขียนและตัวอักษรมาจากบรรพบุรุษ การถูกล้อเลียนว่าเป็น “คนอื่น” มาตลอดหลายสิบปีทำให้ไม่กล้าใช้ภาษาพูดของตัวเอง รวมถึงการถูกเปลี่ยนแปลงคำเรียกสถานที่ต่างๆ ที่เคยเป็นภาษากูยไปเป็นภาษาอื่น
“ผมยกตัวอย่างที่ อ.ศิขรภูมิ บ้านผมเลย ปราสาทศิขรภูมิ อายุกว่า 1,300 ปี ที่เรารู้จักในปัจจุบัน แต่เดิมไม่ได้ใช้ชื่อ ศิขรภูมิ แต่มีชื่อว่า “ระแงง” ซึ่งเป็นคำดั้งเดิมในภาษากูย ที่แปลว่า ต้นติ้ว หรือ ผักติ้ว ในภาษาไทย ... แต่ถูกกรมศิลปากรมาเปลี่ยนชื่อเป็น ศิขรภูมิ ตามชื่อเดียวกับชื่ออำเภอซึ่งตั้งตามนามสกุลของเจ้าเมืองนี้ในอดีต เมื่อประมาณ 30 กว่าปีที่ผ่านมานี่เอง และไม่ใช่แค่ชื่อปราสาทที่เปลี่ยนไป แม้แต่ชื่อสถานที่อื่นๆ เช่น ชื่อของโรงเรียนในพื้นที่ ก็เปลี่ยนจาก ระแงง ไปเป็น ศิขรภูมิด้วย ... เมื่อเป็นเช่นนี้ ภาษากูย ก็ค่อยๆ เลือนหายไป”
“ปัจจุบันมีหมู่บ้านแห่งหนึ่ง อยู่ใน ต.จารพัต อ.ศิขรภูมิ จ.สุรินทร์ เขียนชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านพม่า” ... คนมาที่นี่ต่างก็สงสัยกันว่า ที่นี่เป็นชุมชนชาวกูย ทำไมชื่อบ้านพม่า หรือว่าเคยมีชาวพม่ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นี่ แต่จริงๆ แล้ว หมู่บ้านนี้มีชื่อเป็นภาษากูย เรียกว่า “ผะมา” ซึ่แปลว่า “ฝนตก” แต่พอมาตั้งชื่อและฟังไม่ชัด ชาวกูยก็อธิบายเป็นภาษาไทยไม่ได้ ก็ถูกตั้งชื่อว่า พม่า”
“ชื่อ ต.จารพัต ก็เช่นกัน ถ้าเราไปค้นหาคำว่า “จารพัต” ในพจนานุกรม ก็จะพบว่าเป็นคำที่ไม่มีความหมายในภาษาไทย และไม่มีความหมายในภาษาอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ด้วย นั่นเป็นเพราะชื่อเดิมของตำบลนี้ คือชื่อเมืองเก่าแก่ดั้งเดิมของชาวกูย โดยออกเสียงเป็นภาษากูยว่า “จารผืด” ... ซึ่งคำว่า “ผืด” แปลว่า ใหญ่ ส่วน “จาร” เป็นชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่ง ดังนั้น จารผืด ก็คือชื่อเมืองหนึ่งในอดีตที่มีต้นจารใหญ่เป็นสัญลักษณ์ ... ดังนั้น จารพัต เป็นชื่อใหม่ที่เขียนขึ้นโดยเพี้ยนมาจากภาษากูย จึงไม่มีความหมายในภาษาไทย”
“สมัยที่ผมเรียนอยู่ชั้น ม.ปลาย (ประมาณปี 2533) ซึ่งเป็นชั้นเรียนที่เราต้องเข้าไปเรียนในเมืองแล้ว ก็ต้องไปอยู่ร่วมในสังคมพหุวัฒนธรรม แต่แม้จะเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมที่มีทั้ง ไทย ลาว เขมร กูย แต่การพูดภาษากูยของเราก็ยังเป็นเหมือนคนกลุ่มน้อยในวัฒนธรรมที่หลากหลายอยู่ดี พอเราพูดภาษากูยกันเองก็จะโดนเพื่อนล้อ ไม่เหมือนคนที่พูดไทย ลาว หรือเขมร มันก็ส่งผลให้พวกเราไม่กล้าพูดภาษากูยเวลาอยู่ในสังคมใหญ่ และมันก็จางหายไปเรื่อยๆ ยิ่งมาในยุคนี้ที่โรงเรียนประถมขนาดเล็กถูกตามชุมชนถูกยุบไปเยอะแล้ว การเข้าไปอยู่ในสังคมพหุวัฒนธรรมของเด็กรุ่นใหม่ ก็ต้องเริ่มตั้งแต่ชั้นประถมเลย เด็กๆ จึงไม่พูดภาษากูยกันเลย”
“ชาวกูย เป็นกลุ่มคนที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมอื่นมาตลอด เราจึงปรับตัวได้ดีครับ ชาวกูยจึงพูดและเข้าใจภาษาอื่นได้ ทั้งภาษาไทย ลาว เขมร หรือแม้แต่ภาษาอังกฤษก็พอได้ ... แต่ในทางตรงกันข้าม คนชาติพันธุ์อื่นที่อยู่ร่วมกับชาวกูย กลับไม่เข้าใจภาษากูยเลย เพราะเราเป็นฝ่ายปรับตัวเข้าหาเขาตลอด”
“ภาษากูยที่หายไป” จึงเป็นความกังวลอย่างมากสำหรับชาวกูยอายุ 50 ปี (เขียนเมื่อ พ.ศ.2567) ที่มีความตั้งใจจะรักษาละส่งต่ออัตลักษณ์ของชาติพันธุ์กูยต่อไปยังคนรุ่นหลัง
ศุรวิษฐ์ สรุปให้เห็นถึงสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยงต่อการหายไปอย่างถาวรของภาษากูย โดยแบ่งชาวกูยในประเทศไทยออกเป็น 3 กลุ่ม ตามสถานะการใช้ภาษาดั้งเดิม
กลุ่มที่ 1 ... รักษาการพูดภาษากูยในชุมชนไว้ได้อย่างเข้มแข็ง ... เป็นกลุ่มที่อยู่ในพื้นที่ชนบท การพัฒนาจากภายนอกยังมาถึงไม่มากนัก
กลุ่มที่ 2 ... ชาวกูยที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับพหุวัฒนธรรมที่เข้ามาในพื้นที่พร้อมการพัฒนาต่างๆ ... กลุ่มนี้เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด ส่วนใหญ่ปรับตัวไปใช้ภาษาไทย ลาว เขมร ตามวัฒนธรรมใหม่ที่เข้ามาเพื่อให้อยู่รอดในสังคมที่เปลี่ยนไป เป็นกลุ่มที่สำรวจพบว่า พ่อแม่พูดภาษากูยกับลูกหลานน้อยลงไปจนถึงไม่พูดเลย เด็กๆ ในกลุ่มนี้บางส่วนอาจยังฟังภาษากูยได้ แต่ไม่สามารถสื่อสารโต้ตอบได้
กลุ่มที่ 3 ... เคยอยู่ในสถานะเป็นกลุ่มที่ 2 มาก่อน แต่ถูกกลไกทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองการปกครองเข้ามาเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง เปลี่ยนชื่อหมู่บ้าน สถานที่ต่างๆจากภาษากูยไปเป็นภาษาอื่นจนหมดสิ้น
“แต่เดิมเลยชาวกูยยังมีค่านิยมจะแต่งงานเฉพาะกับคนในเผ่ากันเอง แต่ย้อนไปประมาณ 3 รุ่นที่ผ่านมา คือประมาณร้อยกว่าปีก่อน ตั้งแต่รุ่นปู่ย่าของผม ก็เริ่มเปลี่ยนไปยอมรับการแต่งงานกับคนเผ่าอื่น เมื่อมีคนเผ่าอื่นเข้ามา กลายเป็นว่า ชาวกูยปรับตัวไปใช้ภาษาของเขามากกว่าที่จะสื่อสารด้วยภาษาของตัวเอง”
“ถ้าเป็นที่บ้านผม (ศิขรภูมิ) คนรุ่นผมคือ อายุ 40-50 ปี ถ้าคุยกันเอง ก็ยังพอสื่อสารภาษากูยกันได้ แต่ถ้าเป็นรุ่นที่อายุ 30-40 ปี เขาจะไม่พูดกูยกันแล้วแต่ยังฟังได้ ... ส่วนเด็กรุ่นใหม่ พูดแต่ภาษาไทยกับภาษาลาว ไม่เข้าใจภาษากูยเลย”
“ฟื้นฟูภาษากูยให้กลับคืนมาอีกครั้ง” จึงเป็นภารกิจสำคัญที่ ศุรวิษฐ์ ประกาศอย่างเข้มแข็งว่า จำเป็นต้องทำอย่างเร่งด่วน และมั่นใจว่ามีหนทางที่สามารถทำได้
“ที่ผ่านมาเราเคยพยายามสอดแทรกโดยการประสานกับโรงเรียนตะเคียนกูยวิทยา อ.สำโรงทาบ จ.สุรินทร์ ให้เปิดสอนวิชาภาษากูยกับให้กับเด็กชาติพันธุ์กูยมาแล้วทั้งในระดับประถมและมัธยม ซึ่งแรกๆ ก็ได้รับความสนใจค่อนข้างดี แต่ความสนใจจะเรียนก็ลดน้อยลงไปเรื่อยๆ ในเวลาต่อมา เพราะเป็นวิชาที่ไม่ได้ถูกนำวัดผลการเรียน ไม่มีเกรด เด็กๆ ก็ต้องไปให้ความสำคัญกับวิชาอื่นที่มีผลต่อการเรียนต่อของเขามากกว่า”
เมื่อความพยายามครั้งแรกในการเปิดเรียนภาษากูยไม่ประสบความสำเร็จ ในปี พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา ศุรวิษฐ์ ซึ่งเป็นกรรมการบริหารชมรมชาวกูยและสมาคมชาติพันธุ์กูย จึงตั้งเป็น “คณะจัดทำพจนานุกรมกูย-บรู นานาชาติ ฟื้นฟูภาษาแม่” โดยรวบรวมนักวิชาการชาวกูย นักภาษาศาสตร์ และปราชญ์ชาวบ้าน จากทั้ง 4 ประเทศที่มีชาวกูยตั้งถิ่นฐานอยู่ คือ ไทย กัมพูชา ลาว และเวียดนาม มาร่วมกันจัดทำพจนานุกรมภาษากูย โดยเทียบกับภาษาต่างๆ ในแต่ละชาติ
“พจนานุกรมภาษากูย จะเปิดตัววันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2568 ครับ จะมีทั้ง กูย-ไทย กูย-กัมพูชา กูย-ลาว กูย-เวียดนาม และ กูย-อังกฤษ ซึ่งเรารวบรวมมาได้ประมาณ 2,000 คำ”
“พจนานุกรมนี้ เป็นหนึ่งในแผนระยะยาวที่เราจะฟื้นฟูเพื่อสร้างตัวตนของชาติพันธุ์กูยให้กลับมาแข็งแรงขึ้นครับ เพราะนอกจากเรื่องภาษาที่เราจะใช้พจนานุกรมเป็นฐานข้อมูลหลักแล้ว เรายังรวบรวมนักวิชาการมาทำเนื้อหาเกี่ยวกับประวติศาสตร์ความเป็นมาของกูย และภูมิปัญญาองค์ความรู้ต่างๆ ที่ได้รับสืบทอดมาด้วย โดยจะประสานเพื่อจัดทำเป็นหลักสูตรเข้าสู่ระบบโรงเรียนอีกครั้ง โดยจะให้เปิดสอนในการศึกษาภาคบังคับตั้งแต่ประถมศึกษาปีที่ 1 ไปถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6”
“ความหวังที่สำคัญของเรา ซึ่งจะทำให้ความพยายามครั้งนี้แตกต่างไปจากครั้งก่อน ก็คือ การผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งหากกฎหมายนี้ผ่านการพิจารณาของสภาและมีผลบังคับใช้ ก็จะเปิดกรอบให้โรงเรียนในแต่ละท้องถิ่นสามารถเปิดการเรียนการสอนวิชาภาษาถิ่นของชาติพันธุ์ตัวเองได้ทั่วประเทศ และยังสามารถเปิดรับครูชาติพันธุ์ต่างๆ มาสอนในวิชานี้ได้อีกด้วย ... ก็จะทำให้เด็กๆ ได้เรียนภาษาถิ่นของชาติพันธุ์ตัวเองอย่างจริงจัง รวมทั้งเด็กๆ ชาวกูยด้วย ซึ่งเราก็ได้ทำพจนานุกรมภาษากูย มาเตรียมพร้อมไว้แล้ว”
ในมุมมองของชาวกูยในวัย 50 ปี อย่าง ศุรวิษฐ์ ที่พยายามจะขับเคลื่อนกิจกรรมมากมายเพื่อรักษาและส่งต่อความเป็น “กูย” ไปยังคนรุ่นต่อไป เขามองว่า การฟื้นฟูภาษากูย จะเป็นประตูบานใหญ่ที่สามารถเชื่อมต่อในการฟื้นทั้งประวัติศาสตร์ องค์ความรู้โบราณ ภูมิปัญญา วิถี ประเพณี วัฒนธรรมของชาติพันธุ์กูยให้กลับคืนมา เพราะเขาเชื่อว่า “กูย” เป็นกลุ่มคนที่มีตัวตน ไม่ควรจะถูกมองข้ามไปเช่นนี้
“ที่ผ่านมา รัฐไม่เคยให้โอกาสพวกเราได้มีตัวตนในฐานะชาวกูย เราก็ต้องพยายามให้โอกาสตัวเอง เราต้องการให้โลกรู้ว่า กูย ก็คือ กูย ... ไม่ใช่ เขมร ไม่ใช่ ส่วย”
“คำว่า กูย ในภาษาของเรา แปลว่า คน เหมือนในหลายๆ ชาติพันธุ์ที่ใช้คำที่เรียกตัวเองโดยมีความหมายว่า คน ... ดังนั้นเราจึงต้องการให้คนอื่นรู้จักเราในฐานะ คนชาวกูย”
เรื่อง : สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา