05 พ.ย. 2566 | 18:30 น.
สิบสองปีก่อน ‘คาเทีย แลตตัฟ’ (Catia Lattouf) เธอคือผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าจะมีชีวิตอยู่อีกแค่สองเดือน แต่ปาฏิหาริย์ก็เกิดขึ้น เมื่อหญิงสุดแกร่งคนนี้เอาชนะมะเร็งร้าย และหันมาอุทิศชีวิตช่วยเหลือเหล่านกฮัมมิ่งเบิร์ดที่บาดเจ็บ
แต่ระหว่างทางแลตตัฟได้สูญเสียชายอันเป็นที่รักไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ สามีของเธอจากไปในปี 2012 ทิ้งให้แลตตัฟจมอยู่กับความเศร้า จนกระทั่ง เธอได้พบกับนกฮัมมิ่งเบิร์ดตัวหนึ่ง กำลังทุกข์ทรมานจากอาการบาดเจ็บที่ดวงตา
“เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในปี 2012 และฉันยังคงกลัวว่ามะเร็งจะกลับมาอีก เพราะมันยังหายไปไม่ถึงสองปีด้วยซ้ำ” คุณยายแลตตัฟในวัย 73 ปี ย้อนถึงความหลังตอนที่เธอเอาชนะโรคมะเร็งได้สำเร็จ แต่เธอยังคงไม่ไว้วางใจ กลัวว่าประตูแห่งความตายจะเปิดออกอีกครั้ง เพราะเธอได้รับคำเตือนจากหมอผู้ดูแลว่า มะเร็งอาจกลับมาได้อีกทุกเมื่อ แลตตัฟจึงต้องทำทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้โรคร้ายก่อตัวขึ้นอีก
ส่วนนกฮัมมิ่งเบิร์ดตัวแรกที่เข้ามาเปลี่ยนชีวิตแลตตัฟในปีเดียวกันนั้น เธอตั้งชื่อว่า ‘กุชชี่’ (Gucci) ตามชื่อกล่องแว่นตาของเธอเอง แม้จะช่วยเจ้าตัวจิ๋วมาได้แล้ว แต่เธอก็กลัวเกินกว่าจะเข้าใกล้กุชชี่ เพราะมันทั้งตัวเล็ก บอบบาง และพร้อมแตกสลายได้ทุกเมื่อ
“ชีวิตฉันเปลี่ยนไปตั้งแต่มีกุชชี่เข้ามา เขาเหมือนของขวัญจากพระเจ้าเลยก็ว่าได้”
กุชชี่ช่วยให้เธอคลายเศร้า ใจที่ไม่กล้ายอมรับว่าสามีจากไปแล้ว ก็เริ่มทำใจได้มากขึ้นทุกที และนั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คุณยายแลตตัฟ หันมาเปิดใจดูแลสิ่งมีชีวิตตัวจิ๋วมากขึ้น
คุณยายแลตตัฟเริ่มศึกษาวิธีการดูแลนกพื้นเมืองในอเมริกา พยายามจำแนกสายพันธุ์ และส่งต่อความรู้ไปยังผู้ที่ติดตามเธอในโลกออนไลน์
ปัจจุบัน คุณยายแลตตัฟเปลี่ยนอะพาร์ทเมนต์ในเม็กซิโกซิตี้ ให้เป็นคลินิกสำหรับนกฮัมมิ่งเบิร์ดที่ได้รับบาดเจ็บ หรือมีอาการป่วย ไปจนถึงรับอนุบาลนกที่ตกจากรัง ตอนนี้มีนกที่อยู่ในความดูแลราว 60 ตัวเห็นจะได้
คลินิกเล็ก ๆ ของคุณยายแลตตัฟกลายเป็นแหล่งความรู้ชั้นดีให้แก่ผู้ที่สนใจศึกษาสายพันธุ์นก ผู้คนจากหลากหลายสารทิศต่างหลั่งไหลเข้ามา ไม่ใช่เฉพาะแค่ในประเทศเม็กซิโกเท่านั้น หากแต่ยังเป็นศูนย์กลางศึกษาให้แก่กลุ่มประเทศละตินอเมริกาอีกด้วย
และยังได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสถาบันการศึกษาชื่อดังอย่าง มหาวิทยาลัย Universidad Nacional Autónoma de México ซึ่งบางครั้งทางมหาวิทยาลัย ก็ส่งนกที่บาดเจ็บมารักษาตัวที่คลินิกของคุณยายแลตตัฟเช่นกัน
“มนุษย์เราชอบสร้างความพึงใจให้กับตัวเอง เราผูกมัดและสร้างความเชื่อมโยงให้นกพวกนั้นเข้ากับเราโดยไม่รู้ตัว ราวกับพยายามสื่อไปถึงมันว่า อย่าลืมเรา(มนุษย์)ล่ะ อย่าลืมตระหนักถึงความเป็นมนุษย์ของเรา”
แต่ในทางกลับกัน นกหลายตัวที่เข้ามารักษาตัวกับคุณยาย กลับเต็มไปด้วยบาดแผลจากการถูกมนุษย์ทำร้าย บางตัวปีกหัก ตาเป็นแผล ขาไม่สามารถเดินได้เหมือนอย่างปกติ นี่คือการกระทำของมนุษย์ทั้งสิ้น และนี่เป็นสิ่งที่ทำให้ใจเธอปวดร้าว
“นกฮัมมิ่งเบิร์ดเป็นนกศักดิ์สิทธิ์ของชาวมายามาโดยตลอด พวกเขาว่าหากมนุษย์คนใด จับนกฮัมมิ่งเบิร์ดมาไว้ในกรง จะต้องถูกสาปไปตลอดชีวิต”
ความพยายามของคุณยายแลตตัฟนับจากนี้ คือ การเปลี่ยนอะพาร์ทเมนต์ให้กลายเป็นมูลนิธิพักฟื้นนกฮัมมิ่งเบิร์ดอย่างเป็นทางการ เพราะเธอไม่แน่ใจนักว่าจะมีชีวิตดูแลนกตัวจิ๋วเหล่านี้ไปอีกนานแค่ไหน ซึ่งเธอก็ได้ดำเนินการไปบางส่วนแล้ว โดยได้รับความช่วยเหลือจาก Hummingbird Terrace และแบรนด์ Mezcal Trascendente เข้ามามอบเงินทุนก่อตั้งมูลนิธิ
เธอตั้งใจทำให้สถานที่แห่งนี้เป็นที่ที่นกทุกตัวมีความสุขและอบอุ่นใจที่สุด เพราะเธอเองก็ไม่รู้เลยว่า นกที่เข้ามาอยู่ในความดูแลจะมีชีวิตอยู่ได้อีกนานแค่ไหน
“ในชีวิตนี้ เราต้องเจอคนอีกเยอะ คนที่เขาต้องการรอยยิ้ม อ้อมกอด เวลาสักหนึ่งนาทีที่จะระบายความทุกข์ใจ ฉะนั้น อย่าปล่อยให้พวกเขารู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า อย่าหันหลังใส่พวกเขาเลย ฉันเชื่อว่าทุกคนคือคนสำคัญ ดังนั้น ฉันก็จะใช้ความรู้สึกเหล่านี้แหละ เข้ามาดูแลนกทุกตัวที่บาดเจ็บ พวกมันจะได้รับการดูแลจากเราอย่างดีที่สุด
“ฉันสัญญาว่าจะปกป้องโลกและมนุษยชาติ มันอาจดูเป็นเรื่องใหญ่เกินจริง แต่การดูแลนกที่มีความสำคัญต่อห่วงโซ่อาหาร ฉันว่ามันก็เข้าใจการปกป้องโลกอยู่เหมือนกันนะ ถึงจะไม่รู้ว่าจะมีชีวิตต่อไปอีกกี่ปี อาจจะ 20 ปี หรือนานกว่านั้น ฉันไม่รู้ แต่ที่รู้คือมรดกที่ฉันสร้างขึ้นมาจะต้องอยู่ต่อไปโดยไม่มีฉัน”
ภาพ: Getty Images
อ้างอิง:
https://www.courthousenews.com/meet-the-woman-behind-mexico-citys-hummingbird-hospital/