24 เม.ย. 2568 | 15:00 น.
KEY
POINTS
“คุณแฮมมอนด์ หลังจากพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว ผมตัดสินใจไม่รับรองสวนสัตว์ของคุณ”
‘ดร. อลัน แกรนต์’ นักบรรพชีวินวิทยา ที่ ‘จอห์น แฮมมอนด์’ มหาเศรษฐีเจ้าของ ‘Jurassic Park’ และ ‘InGen’ บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพ ว่าจ้างให้มาเซ็นรับรองมาตรฐานสวนสัตว์ไดโนเสาร์ ได้กล่าวปฏิเสธเซ็นชื่อรับรองให้เปิดบริการ Jurassic Park
เพราะ ‘อลัน’ มองว่า การถูก ‘ที-เร็กซ์’ และ ‘แร็พเตอร์’ รุมทำร้ายจนแทบเอาชีวิตไม่รอดนั้น “มากเกินความเป็นสวนสัตว์” ของ Jurassic Park
แปลไทยเป็นไทยก็คือ สิ่งใดที่อยู่ผิดเวลา ผิดสถานที่ อาจไม่ใช่เรื่องปกติที่จะยอมรับ ยิ่งหากสิ่งนั้นสร้างอันตรายถึงชีวิตได้ ก็ยิ่งไม่ควรยอมรับ
จากข่าวคราวที่บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพของสหรัฐฯ Colossal Biosciences ได้เคยประกาศว่า จะฟื้นคืนชีพ ‘แมมมอธ’
แต่สิ่งที่ถูกนำเสนอต่อสาธารณชนก่อน กลับไม่ใช่ ‘แมมมอธ’ แต่เป็น ‘หมาป่า’
โดย Colossal ได้ประกาศผ่านนิตยสาร TIME ฉบับเดือนพฤษภาคม 2025 ว่า ด้วยพันธุวิศวกรรมที่ชํานาญ และ DNA โบราณจากเขี้ยวหมาป่าไดร์วูล์ฟอายุ 13,000 ปี รวมถึงการอ้างอิงโครงสร้างกะโหลกอายุ 72,000 ปีที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้
Colossal ได้ถอดรหัสจีโนมของ ‘หมาป่าไดร์วูล์ฟ’ จากรหัสพันธุกรรมหมาป่าสีเทา และใช้สุนัขบ้านเป็นแม่อุ้มบุญเป็นผลสำเร็จ
และในเเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ได้ให้กำเนิด ‘ลูกหมาป่าไดร์วูล์ฟ’ จำนวน 2 ตัว คือ ‘Romulus’ และ ‘Remus’ ซึ่งตั้งชื่อตามปรัมปราคติของชาวโรมันโบราณ ที่ว่า Romulus และ Remus ที่เป็นผู้สร้างกรุงโรมนั้น คือ ‘ลูกของหมาป่า’
โดยในเดือนมกราคมที่ผ่านมา Colossal ได้ให้กำเนิด ‘Khaleesi’ อีกหนึ่งตัว ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการให้กำเนิดสัตว์โบราณที่สูญพันธุ์ไปแล้วให้กลับฟื้นคืนชีวิต
ที่ผ่านมา Colossal ระดมทุนได้มากถึง 435 ล้านดอลลาร์ นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทในเดือนกันยายน ปี พ.ศ. 2021
ทันทีที่ระดมได้ Colossal ได้ประกาศแผนการฟื้นคืนชีพ ‘แมมมอธ’ ออกมาเป็นครั้งแรก แม้ปัจจุบันจะยังไม่สำเร็จตามแผนก็ตาม แต่แล้วอยู่ ๆ ก็ได้มีการเปิดตัว ‘หมาป่าไดร์วูล์ฟ’ ออกมาก่อน
อย่างไรก็ดี Colossal ได้แถลงแก้เกี้ยวตามมาว่า จะมีเปิดตัว ‘ลูกแมมมอธ’ ตัวแรกจริง ๆ ในปี ค.ศ. 2028
แม้การให้กำเนิด ‘ลูกหมาป่าไดร์วูล์ฟ 3 ตัว’ จะเป็นข่าวที่น่าตื่นเต้น ไม่แพ้ข่าวการเปิดตัว ‘ดอลลี่’ แกะโคลนนิ่งตัวแรกของโลก ซึ่งถือเป็นการโคลนนิ่งสัตว์สำเร็จเป็นตัวแรกของโลก ซึ่งในตอนที่ ‘ดอลลี่’ เปิดตัวนั้น เทคโนโลยีโลกยังไม่ก้าวหน้าเท่าทุกวันนี้
Colossal ก็ทราบดี ว่าถ้าขืน ‘เล่นใหญ่’ เหมือน ‘ดอลลี่’ ข่าวจะเงียบหายไปในเวลาไม่นาน พวกเขาจึง ‘เล่นใหญ่กว่า’ ด้วยการหันกลับไปหยิบเอาสัตว์โบราณ ที่แน่นอนว่า ย่อมมีความน่าตื่นตาตื่นใจกว่า และจะต้องกลายเป็นข่าวที่โด่งดังกว่า ‘ดอลลี่’ อย่างแน่นอนในยุคไวรัลนี้
อย่างไรก็ตาม ต้องบอกว่า ก่อนหน้าที่ Romulus, Remus และ Khaleesi จะลืมตาดูโลก ได้มีความพยายามชุบชีวิตสัตว์สูญพันธุ์ให้กลับมามีชีวิตโลดแล่นบนโลกของเราใบนี้อยู่อย่างต่อเนื่อง
อย่างน้อยก็ในปี ค.ศ. 2003 ที่มีความพยายามคืนชีพ ‘แพะป่าบูคาร์โด’ แม้ว่าในท้ายที่สุด โครงการดังกล่าวจะไม่ประสบความสำเร็จก็ตาม
รวมถึงความพยายามในการปลุกตำนานสัตว์โบราณที่สูญพันธุ์ไปแล้วอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ‘แมมมอธ’ ของ ‘มูลนิธิเพื่อการวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพซูอัมแห่งเกาหลีใต้’ หรือการฟื้นชีวิตให้กับ ‘กบออสเตรเลีย’ ที่มีชื่อว่า ‘กบอุ้มท้อง’ กระทั่งความพยายามในการคืนชีพ ‘นกพิราบแพสเซนเจอร์’ ที่สูญพันธุ์ไปแล้วในอเมริกา
ยังไม่นับความเพ้อฝันนานัปการของบรรดานักวิทยาศาสตร์ ที่ขอมีส่วนร่วมใ
ประวัติศาสตร์การคืนชีวิตให้กับเหล่าสัตว์ชื่อดังที่สูญพันธุ์ไปแล้ว อาทิ นกโดโด้ นกอ็อกใหญ่ เสือแทสเมเนีย โลมาแม่นํ้าแยงซีเกียง นกหัวขวานใหญ่
หรือสัตว์โบราณในยุคน้ำแข็งที่เป็นสหายของ ‘แมมมอธ’ คือ ‘เสือเขี้ยวดาบ’ รวมถึง ‘หมาป่าไดร์วูล์ฟ’ ที่เพิ่งลืมตาดูโลกเมื่อไม่นานมานี้
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนไทยเราหลายคนก็เคยฝันอยากจะเห็น ‘สมัน’ กลับมากระโดดโลดเต้นในป่าบ้านเราอีกสักครั้งเช่นกัน
คำถามมีอยู่ว่า ถ้าเป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ เช่น ความพยายามเพาะเลี้ยงโอริกซ์ที่ใกล้สูญพันธุ์ในอาหรับเพื่อปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติ แต่แล้วกลับถูกตั้งค่าหัวเพราะความหายากของมัน ทำให้โอริกซ์ธรรมชาติ และโอริกซ์ที่ผ่านการเพาะเลี้ยง ถูกไล่ล่าอย่างหนักพร้อม ๆ กันจนเกือบจะสูญพันธุ์จริง ๆ
ยิ่งเป็นสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว ไม่ว่าจะเกิดจากการที่ธรรมชาติได้จัดการคัดสรร หรือเกิดจากน้ำมือของมนุษย์ คำถามถึงความเหมาะสม ทั้งในเรื่องของสถานที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘ห้วงเวลา’ ที่สัตว์เหล่านี้จะกลับฟื้นคืนมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง ในสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนไปอย่างมากมาย มีความคุ้มค่าในแง่ของเม็ดเงินที่ลงทุนไปมากน้อยแค่ไหน
แน่นอนว่า ด้วยวิทยาการในยุคนี้ ที่มีต้นทุนที่ถูกลงมากกว่าในอดีต การโคลนนิ่ง หรือการชุบชีวิตสัตว์โบราณที่สูญพันธุ์ไปแล้วมีความน่าตื่นตาตื่นใจมาก และก็ง่ายมาก
แต่นั่นก็เป็นเพียงความน่าตื่นตาตื่นใจที่เกิดขึ้นในฟาร์มเพาะเลี้ยง หรือในห้องแล็บ เพราะคำถามมีว่า การนำสัตว์ที่ไม่มีอยู่จริงในโลกความเป็นจริง ให้กลับมาแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย เป็นการฝืนธรรมชาติหรือไม่
และการที่สัตว์โบราณต้องกลับมามีชีวิตร่วมกับสัตว์ในปัจจุบัน หรือสัตว์ในอนาคตที่จะเกิดขึ้นใหม่ ความสมดุลที่ธรรมชาติได้ปรับสภาพเอาไว้ และสัตว์ต่าง ๆ ที่มีชีวิตอยู่ได้ปรับตัวเพื่ออยู่รอดในสภาพแวดล้อมปัจจุบัน เป็นคำถามตัวโต ๆ ที่โลกกำลังให้ความสนใจไม่แพ้ข่าวฮือฮาจากห้องปฏิบัติการ
ยังไม่ต้องจินตนาการไปไกลถึงการชุบชีวิต ‘แมมมอธ’ ให้กลับมาเดินเล่นในทุ่งหญ้ากว้างใหญ่แห่งไซบีเรีย เอาแค่ ‘ปลาหมอคางดำ’ ปลาสัญชาติแอฟริกาที่กำลังอาละวาดอยู่ในน่านน้ำไทย ก็ยากเกินไปที่จะบริหารจัดการ ให้ปลาท้องถิ่น และวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่น ให้อยู่ร่วมกับ ‘ปลาหมอคางดำ’ ได้อย่างสันติสุข
ขนาด ‘ปลาหมอคางดำ’ ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีชีวิตอยู่ร่วมโลกของเราในยุคปัจจุบัน เพียงแต่ถือกำเนิดคนละทวีป ยังสร้างปัญหาในระดับข้ามทวีปได้ นับประสาอะไรกับสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่อยู่คนละกาลเวลาอย่าง ‘แมมมอธ’
เราจะมั่นใจได้อย่างไร ว่าการฟื้นคืนชีพของ ‘แมมมอธ’ จะสร้างประโยชน์ มากกว่าโทษให้แก่มวลมนุษยชาติ ยังไม่ต้องพูดถึงการถอยหลังไปไกลอย่างการนำไดโนเสาร์กลับมาเหมือนภาพยนตร์เรื่อง Jurassic Park
และยังไม่ต้องไปไกลถึงการโคลนนิ่งมนุษย์ ที่หากมีคนคิดอุตริโคลนนิ่งคนขึ้นมาจริง ๆ คำถามทางจริยธรรมจะตามมาอีกมากมายไม่รู้จบ
สมมุติว่ามีการโคลนนิ่งนักฟุตบอลที่ชื่อเปเล่เป็นผลสำเร็จ แต่ก็ไม่ใช่ว่าเปเล่เวอร์ชันโคลนนิ่งจะสามารถนำทีมชาติบราซิลคว้าแชมป์โลกสมัยที่ 6 ได้ เพราะระบบการเล่นฟุตบอลสมัยใหม่เปลี่ยนไปจากยุคเปเล่มากมายแล้ว
ดังนั้น การชุบชีวิตสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วให้ฟื้นชีพกลับคืนมาสู่ธรรมชาติในยุคปัจจุบัน จึงต้องเผชิญกับคำถามมากมาย เป็น ‘เหรียญสองด้าน’ ที่มีทั้งความชื่นชมในความสามารถของนักวิทยาศาสตร์ และเป็นคำถามตัวโต ๆ ถึงความเหมาะสม และประโยชน์ที่มวลมนุษยชาติจะได้รับอย่างแท้จริง
ถ้าไม่ใช่เพียงผลประโยชน์ของบริษัทเทคโนโลยีที่ลงทุน ก็อาจจะมีประโยชน์ทางด้านชีววิทยา ที่ก็จะต้องถูกตั้งคำถามต่อไปอีกไม่รู้จบถึงความคุ้มค่า เมื่อเทียบกับต้นทุนที่โลกต้องเสียไปให้กับโครงการชุบชีวิตต่าง ๆ
ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว ก็คงไม่ต่างจากที่ ดร. อลัน แกรนต์ ได้กล่าวกับมิสเตอร์แฮมมอนด์ ว่า “คุณแฮมมอนด์ หลังจากพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว ผมตัดสินใจไม่รับรองสวนสัตว์ของคุณ”
เพราะอลันมองว่า การถูก ที-เร็กซ์ และ แร็พเตอร์ รุมทำร้ายจนแทบเอาชีวิตไม่รอดใน Jurassic Park นั้น “มันมากเกินความเป็นสวนสัตว์”
เป็น ‘ความจำเป็นที่ล้นเกิน’ ที่เกิดจากบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพ InGen ของ ‘จอห์น แฮมมอนด์’ มหาเศรษฐีเจ้าของJurassic Park ที่ได้ว่าจ้าง อลัน ให้มาเซ็นรับรองมาตรฐานสวนสัตว์ไดโนเสาร์ Jurassic Park
เพราะหากสิ่งใดที่อยู่ผิดเวลา ผิดสถานที่ อาจไม่ใช่เรื่องปกติที่จะยอมรับ ยิ่งหากสิ่งนั้นสร้างอันตรายถึงชีวิตได้ ก็ยิ่งไม่ควรยอมรับ
เฉกเช่นที่ ดร. อลัน แกรนต์ ได้กล่าวเอาไว้นั่นเอง
เรื่อง: ดร.จักรกฤษณ์ สิริริน