ชนเผ่าพิริปกูรา : ผู้รอดชีวิตคนสุดท้ายของชนเผ่าในแอมะซอน หลังถูกโลกภายนอกรุกรานนานนับสามทศวรรษ

ชนเผ่าพิริปกูรา : ผู้รอดชีวิตคนสุดท้ายของชนเผ่าในแอมะซอน หลังถูกโลกภายนอกรุกรานนานนับสามทศวรรษ

เป็นเวลากว่า 30 ปีแล้วที่เจ้าหน้าที่เฝ้าติดตามชนเผ่าพิริปกูรา (Piripkura) ชนพื้นเมืองที่กำลังจะหายไปจากผืนป่าแอมะซฮน พวกเขาก็เจอร่องรอยของผู้รอดชีวิตคนสุดท้าย จนนำมาสู่การสร้างสารคดีในชื่อเดียวกัน

“พวกเขาจะตายในไม่ช้า”

แอมะซอนกำลังลุกเป็นไฟ ผืนป่าที่เคยอุดมสมบูรณ์ถูก ‘ความโลภ’ ของมนุษย์เข้าครอบงำ บริษัทเล็กใหญ่ ชาวบ้านที่อยากถือครองที่ดินอย่างถูกกฎหมาย รวมไปถึงกลุ่มคนทำฟาร์มปศุสัตว์ ต่างรวมตัวกันเข้ามาแผ้วถางทำลายป่าโดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย

เพราะกฎหมายที่อยู่ภายใต้ผู้นำอย่าง ‘ฌาอีร์ โบลโซนารู’ (Jair Bolsonaro) ประธานาธิบดีของบราซิลผู้เคยดำรงตำแหน่งในช่วงปี 2019 - 2022 จากพรรคสังคมเสรี (PSL) กำลังเผาทำลายป่าแอมะซอนไปกว่า 1 ล้านตารางกิโลเมตร

ไม่ใช่เฉพาะป่าไม้เท่านั้นที่น่าเป็นห่วง แต่สิ่งมีชีวิตที่อาศัยป่าแอมะซอนเป็นแหล่งพักพิงกำลังตกอยู่ในวิกฤต หนึ่งในนั้นคือ ชนเผ่าพิริปกูรา (Piripkura) ชนเผ่าพื้นเมืองที่ขึ้นชื่อว่ามีประชากรมากที่สุดในแอมะซอน แต่น่าเสียดายที่ปัจจุบันสมาชิกในเผ่าได้ล้มหายตายจาก จนเหลือผู้รอดชีวิตอยู่เพียง 3 คนเท่านั้น โดยมีผู้ชาย 2 และผู้หญิง 1 คนที่หนีออกมาใช้ชีวิตในฟาร์มของชาวบ้านในพื้นที่ในปี 1985 ซึ่งชายทั้งสองยืนยันจะอยู่ในป่า พยายามเลี่ยงการติดต่อจากคนภายนอกมาโดยตลอด

ความชอกช้ำใจที่พวกเขาได้รับมาในอดีตยังคงตามหลอกหลอน เพราะตั้งแต่ผู้นำชนเป่าพิริปกูราเปิดใจรับคนภายนอกเข้ามาในปี 1980 ชีวิตที่เคยสงบสุขของชนเผ่าพื้นเมืองก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

และนี่คือเรื่องราวการค้นพบครั้งสำคัญของโลกที่จะทำให้เห็นว่า ‘ความตาย’ ของแอมะซอนกำลังใกล้เข้ามาเต็มที

ขอหลีกหนีจนกว่าจะหมดลมหายใจ

“เขาเพิ่งมาที่นี่” ฌาอีร์ แคนเดอร์ (Jair Candor) เจ้าหน้าที่สำนักงานกิจการชนเผ่าพื้นเมืองของบราซิล (Fundação Nacional do Índio หรือ FUNAI) บอกด้วยความตื่นเต้น เป็นเวลากว่า 35 ปีเข้าไปแล้วที่เขาเฝ้าตามหาผู้รอดชีวิตจากชนเผ่าพิริปกูรา และนี่คือครั้งแรกที่เจอร่องรอยสิ่งมีชีวิต

ชายคนดังกล่าวไม่ได้อยู่ตามลำพัง เขาอาศัยอยู่กับชายอีกคนหนึ่งที่อายุอ่อนกว่า ทราบภายหลังว่าทั้งคู่เป็นลุงกับหลานชื่อว่า Pakyi และ Tamandua สองผู้รอดชีวิตคนสุดท้ายจากชนเผ่าที่ครั้งหนึ่งเคยรุ่งเรือง แต่ถูกโลกภายนอกรุกรานจนคร่าชีวิตเพื่อนร่วมเผ่าไปราวใบไม้ร่วง จึงไม่แปลกที่พวกเขาจะขอปลีกวิเวก ใช้ชีวิตอย่างสันโดษในผืนป่าอันกว้างใหญ่แห่งนี้แทน

“พวกเขาอยู่กันตามลำพัง ไม่สวมเสื้อผ้า เดินเท้าเปล่า ในมือถือคบเพลิงและมีดพร้า”

อันที่จริงแคนเดอร์เคยเจอชายทั้งสองคนนี้มาก่อนแล้วในปี 1898 ขณะกำลังปีนต้นไม้เก็บน้ำผึ้งป่า และอีกครั้งในปี 2007 หลังจากเปลี่ยนรัฐบาลมาอยู่ภายใต้ผู้นำฝ่ายซ้าย ‘ลูอิส อีนาซียู ลูลา ดา ซิลวา’ (Luiz Inácio Lula da Silva เขากลับมารับตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้งในปี 2023) โดยมีความพยายามที่จะฟื้นฟูผืนป่าแอมะซอนให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง และนโยบายดังกล่าวครอบคลุมที่ดินที่ชายจากชนเผ่าพิริปกูราอาศัยอยู่

การปกป้องผืนป่าขัดผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจเข้าอย่างจัง แถมยังมีความพยายามขยายที่ดิน แจกจ่ายให้ชนพื้นเมืองมีสิทธิมีเสียงในการอาศัยได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายส่งเสริมให้ชาวบราซิลใช้ประโยชน์จากผืนป่าให้ได้มากที่สุด

แม้จะดูเหมือนว่าชีวิตของชนเผ่ากำลังได้รับการปกป้องจากรัฐบาล แต่ท้ายที่สุดแล้ว พวกเขากลับโดนเหล่านายทุนและผู้เสียผลประโยชน์เข้ามาทำร้ายไม่จบไม่สิ้น โดยอ้างว่าการคงอยู่ของชนเผ่ากำลังขัดขวางความเจริญของประเทศ

“ชาวเผ่าเขาไม่ต้องการที่ดินมากมายนักหรอก การที่รัฐบาลทำแบบนี้ก็ไม่ต่างจากการละเมิดสิทธิของพวกเรา

“ผมเชื่อว่าชาวอินเดีย 2 คนนี้ กำลังตกเป็นเหยื่อ ถูกใช้เป็นเครื่องมือของเหล่านักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม” ฟรานซิสโก เปนโซ (Francisco Penço) โฆษกของครอบครัวเปนโซ หนึ่งในกลุ่มนักธุรกิจที่มีเหมืองหินปูนขนาดใหญ่ที่สุดของรัฐมาตูโกรสซู (Mato Grosso) กล่าว

 

ใครมีสิทธิในผืนป่า?

คำถามที่ไหลบ่าเข้ามาไม่จบสิ้นอย่าง “ใครคนไหนกันแน่ที่จะมีสิทธิในป่าแอมะซอน” ไม่มีคำตอบที่แน่ชัด หากมองในมุมนักกฎหมายคงเป็นบุคคลที่มีเอกสารยืนยันสิทธิการครอบครองที่ดิน หากมองในแง่ของนักประวัติศาสตร์คงหนีไม่พ้นการเข้ามาตั้งรกรากของชนเผ่าที่มีมาก่อนแต่งตั้งรัฐบาล

แต่ไม่ว่าในมุมใด ข้อพิพาทเหล่านี้ในผืนป่าแอมะซอนยังคงมีเข้ามาอย่างไม่จบสิ้น สุดท้ายแล้วคนที่มีอำนาจในการตีตรากฎหมาย ย่อมเป็นผู้ชนะ

ตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นมา ชนพื้นเมืองเกือบ 800 คนถูกฆ่า ชนพื้นเมืองกว่า 240 เผ่า ถูกทำลายจนหลงเหลืออยู่เพียงไม่กี่ชนเผ่า และชนเผ่าที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ณ เวลานี้คือ พิริปกูรา

ชนพื้นเมืองพิริปกูราอาศัยอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของรัฐมาตูโกรสซู ครอบคลุมพื้นที่ 600,500 เอเคอร์ หรือประมาณ 1,519,265 ไร่ และเป็นพื้นที่ที่ถูกทำลายมากที่สุดในบรรดาเขตป่าสงวนที่เพิ่งทำการติดต่อขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลบราซิลในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ตามรายงานของ Instituto Socioambiental (ISA) องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่สนับสนุนสิทธิของชนพื้นเมืองและชนพื้นเมืองดั้งเดิม พบว่าตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2020 ถึงกรกฎาคม 2021 พื้นที่ป่ากว่า 5,310 เอเคอร์ (13,434.3 ไร่) ถูกทำลายเพิ่มขึ้นเกือบร้อยเท่าเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา

“พวกเขาเข้ามาตัดต้นไม้เพื่อเปลี่ยนเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ และปลูกพืชผลทางเกษตร ทั้ง ๆ ที่ที่ดินเหล่านั้นถูกสงวนไว้ให้เป็นของชนพื้นเมือง แต่พวกเขาก็ไม่สนใจ ยังคงรุกรานเข้ามาไม่จบสิ้น แถมยังฟ้องขับไล่ผู้บุกรุก (ชนพื้นเมือง) ไม่ต่ำกว่า 10 คน”

 

ความทรงจำที่ถูกเผาทำลาย

ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าทำไม Pakyi และ Tamandua ถึงมีชีวิตรอดอยู่ในแอมะซอนได้นานขนาดนี้ แคนเดอร์เชื่อว่าทั้งคู่มีอายุไม่ต่ำกว่า 50 ปี ส่วนผู้หญิงอีกคนจากชนเผ่าเดียวกัน เธอบอกว่าตั้งแต่คนขาวเข้ามารุกราน ครอบครัวของเธอก็แตกสลาย

ในปี 1940 รัฐบาลได้จัดสรรที่ดินในแอมะซอน พร้อมกับประกาศให้ชาวบราซิลทุกคนเข้ามาช่วยกันกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการทำสวนยาง เพื่อช่วยฝ่ายสัมพันธมิตรในการเอาชนะสงครามโลกครั้งที่ 2 และในช่วงเวลาเดียวกันนี้เองที่มีการสังหารชาวพื้นเมืองมากที่สุดในประวัติศาสตร์บราซิล เนื่องจากการปกครองแบบเผด็จการทหารตั้งแต่ปี 1964 - 1985 พบว่ามีชนพื้นเมืองอย่างน้อย 8,300 ถูกฆ่า

“ฉันจำได้ว่าตอนเราเด็ก ๆ กลุ่มของพวกเรามีคนเหลืออยู่แค่ 10 - 15 คน ฉันเป็นผู้หญิงไม่กี่คนที่รอดชีวิต ตอนนั้นฉันท้องกับคนจากเผ่าอื่น เรามีลูกด้วยกัน 2 คน แต่สามีของฉันเขาป่วยแล้วก็จากไป พอพ่อรู้เรื่องท่านก็มาขอฉันแต่งงาน ฉันได้แต่ตอบกลับไปว่า พ่อต้องบ้าไปแล้วแน่ ๆ”

ตามรายงานของรัฐบาลในปี 2012 เธอเล่าว่าครอบครัวของเธอแตกหัก หลังจาก Pakyi ถลกหนังศีรษะของลูกชายวัย 4 ขวบของเธอทั้งเป็น เพราะกำลังร้องไห้ และอุ้มลูกสาวของเธอไปทิ้งไว้ในป่า เธอไม่เคยพูดกับ Pakyi อีกเลยนับจากวันนั้น แม้จะเป็นคนจากชนเผ่าเดียวกันก็ตาม

เธอทิ้งชีวิตในป่าแอมะซอนออกมาเป็นสาวชาวไร่ที่ฟาร์มแห่งหนึ่ง แม้จะหนีมาได้ แต่เธอกลับเจอคนใจร้ายทั้งเฆี่ยนตี ข่มเหง ทารุณกรรมต่าง ๆ นานา สุดท้ายเธอก็หนีอีกครั้ง จนกระทั่งมาพบกับเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานรัฐ ผู้ซึ่งกำลังตามหาชนพื้นเมืองของเธออยู่

เธอเอาชีวิตรอดด้วยการแลกเปลี่ยนข้อมูล บอกที่อยู่ของพวกเขาให้กับคนนอกรู้ แต่เมื่อเจ้าหน้าที่มาถึงสถานที่ที่พวกเขาเคยเรียกว่าบ้านก็ถูกทิ้งร้างไปเสียแล้ว

ในปี 1989 เธอออกเดินทางค้นหา Pakyi และ Tamandua อีกครั้ง และพบพวกเขากำลังปีนต้นไม้หาน้ำผึ้งป่ากันอยู่

“เขาเริ่มตัวสั่น”

“พูดพร่ำไปมาว่าไว้ชีวิตเขาด้วย ๆ”

ทั้งคู่ถูกนำตัวไปดูแลที่ศูนย์พักพิงของรัฐ และใช้เวลาอยู่ที่นั่นไม่ต่ำกว่า 2 สัปดาห์ “การแยกตัวออกมาใช้ชีวิตอย่างสันโดษของพวกเขาถือเป็นวิธีเอาตัวรอดอย่างหนึ่ง เช่นเดียวกับการหนี ฉันเข้าใจว่าที่ผ่านมาพวกเขาพยายามหนีมาโดยตลอด เพราะรู้ว่าหากไม่หนีพวกเขาก็ต้องตาย” ซาราห์ เชนเกอร์ (Sarah Shenker) จาก Survival International องค์กรเพื่อสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง กล่าว

พวกเขาอาจเป็นชนพื้นเมืองไม่กี่คนที่ได้รับการดูแลจากโลกภายนอก ตั้งแต่นำไปตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาล ไปจนถึงเข้ารับการรักษาผ่าตัดใหญ่ หลังแพทย์ตรวจพบลิ่มเลือดในสมองของ Tamandua

“Pakyi และ Tamandua เป็นที่รู้จักของเหล่านักมานุษยวิทยามาไม่ต่ำกว่าสิบปีแล้ว ตอนนี้พวกเขากำลังอยู่บนเที่ยวบินพาณิชย์มุ่งหน้าไปยังเซาท์เปาโล เมืองที่ใหญ่ที่สุดในละตินอเมริกา เพื่อเข้ารับการผ่าตัดสมอง แต่ก็เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น พวกเขาพยายามปัสสาวะในสนามบิน (ที่ไม่ใช่ห้องน้ำ) พออยู่บนเครื่องบิน Pakyi ก็เข้าไปจับหน้าอกผู้หญิงบนเครื่องอีก”

หลังจากใช้เวลาอยู่ในเมืองเซาท์เปาโลเป็นเวลา 45 วันทั้งคู่ก็ได้กลับบ้านที่แอมะซอนอีกครั้ง Pakyi ยังอยู่ที่ศูนย์พักพิง ส่วน Tamandua หายตัวไปอย่างลึกลับ

เรื่องราวของ Pakyi และ Tamandua ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์สารคดี PIRIPKURA และสามารถคว้ารางวัลสารคดียอดเยี่ยมในงานเทศกาล Festival do Rio ประจำปี 2017, รางวัล Human Rights Award ในงาน International Documentary Film Festival Amsterdam ประจำปี 2017, และสารคดีนานาชาติยอดเยี่ยมในงานเทศกาลภาพยนตร์สารคดีนานาชาติ Docville

 

ภาพ : Piripkura /IMDb

 

อ้างอิง :

https://news.mongabay.com/2021/12/they-will-die-fears-for-the-last-piripkura-as-amazon-invasion-ramps-up/

https://www.nytimes.com/2023/08/19/world/americas/brazil-amazon-tribe-piripkura.html

https://cinemalibrestudio.com/PiripkuraMovie/synopsis.html