02 ก.พ. 2567 | 16:30 น.
- 'พร้อมบุญ พานิชภักดิ์' เลขาธิการมูลนิธิรักษ์ไทย องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรเพื่อการพัฒนาคนอย่างยั่งยืน
- วัยเด็กของพร้อมบุญต่างจากเด็กไทยคนอื่นอยู่มากโข เขาเกิดและโตที่สหรัฐอเมริกา ทำให้ไม่คุ้นชินกับการอ่านและเขียนภาษาไทยเท่าไหร่นัก
- แต่เพราะเขามองเห็นปัญหาช่องว่างทางสังคมที่มีมาอย่างยาวนาน ชายผู้นี้จึงหันมาทำงานด้านพัฒนาหวังจะเห็นความเท่าเทียมเกิดขึ้นในสังคมนี้อย่างแท้จริง
กาลครั้งหนึ่งมีปลาดาวหลายพันตัว ถูกน้ำซัดลอยเกยตื้นมาเป็นแผงริมชายฝั่ง เด็กน้อยมาเจอจึงค่อยๆจับมันโยนกลับลงทะเลทีละตัวทีละตัว ชายหนุ่มมาเห็นเข้าก็หัวเราะกับการกระทำของเด็กน้อย
“จะไปช่วยทำไมเล่า ปลาดาวเต็มหาด วันนี้ทั้งวันก็ช่วยไม่หมด”
“ฉันคงช่วยได้ไม่ทุกตัว แต่อย่างน้อยเจ้าตัวที่ฉันโยนกลับลงน้ำก็ยังมีโอกาสรอด”
เด็กน้อยตอบกลับไป พลางค่อยๆโยนปลาดาวต่อไปทีละตัวทีละตัว ตะวันใกล้ลับฟ้าแล้ว จวนถึงเวลาที่เด็กน้อยต้องกลับบ้าน ยังคงมีปลาดาวเกลื่อนหาดที่เด็กน้อยไม่อาจช่วยเหลือได้ แต่อย่างน้อยก็ยังมีหลายตัวที่ไม่ต้องจบชีวิตลง
ปัญหาสังคมมีมากจนนับไม่ไหว ผู้ที่มีปัญหาในสังคมก็เช่นกัน ซึ่งบางคนอาจโชคดีมีกลไกรัฐให้ความช่วยเหลือ แต่ไม่ใช่ทุกคน ‘พร้อมบุญ พานิชภักดิ์’ คือชายวัย 70 ปี ที่อุทิศกายและใจเพื่อทำงานกับกลุ่มคนที่อยู่ในช่องว่างทางสังคมนี้
นี่คือเรื่องราวชีวิตบนเส้นทางสายงานพัฒนาจากบทสัมภาษณ์เลขาธิการมูลนิธิรักษ์ไทย องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรเพื่อการพัฒนาคนอย่างยั่งยืน ที่ทุกเรื่องราวในชีวิตของเขาล้วนร้อยเรียงและหล่อหลอมสู่บุคคลผู้นำการสร้างการเปลี่ยนแปลงผู้คนจากภายใน เพื่อส่งเสริมสังคมที่เท่าเทียม
พลเมืองชั้นสอง
หากนิยามของ ‘พลเมืองชั้นสอง’ คือบุคคลที่ไม่ได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมคนอีกกลุ่มของสังคม ชีวิตที่ผ่านมาของพร้อมบุญ พานิชภักดิ์ อาจจัดได้ว่าอยู่ในสถานะเช่นนั้น แม้ประวัติชีวิตที่คนภายนอกได้เห็นจะทำให้เกิดข้อกังขาว่าคนนามสกุลดัง การศึกษาดี จะเป็นพลเมืองชั้นสองไปได้อย่างไร
เมื่อกว่า 70 ปี ที่แล้ว ดร. พร้อม พานิชภักดิ์ ได้เดินทางไปศึกษาต่อด้านคณิตศาสตร์สถิติที่สหรัฐอเมริกา พร้อมกับหม่อมราชวงศ์วิภารดี พานิชภักดิ์ ผู้เป็นภรรยา และได้ให้กำเนิดลูกชาย 4 คนที่นั่น โดยพร้อมบุญเป็นบุตรคนที่ 3 เกิดที่เมืองแคนซัส
“ที่อเมริกา เขาจะเรียกคนที่เกิดที่แคนซัสว่าพวกมิดเวสต์ เวลาบอกใครเขาก็จะหัวเราะ”
ชีวิตครอบครัวคนเอเชียในสหรัฐอเมริกาโดยเฉพาะแถบชนบทอย่างเมืองแคนซัสเมื่อก่อน เลี่ยงไม่ได้ที่จะได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างจากคนท้องที่ แต่ครอบครัวพานิชภักดิ์ก็มีความสุขตามอัตภาพ พ่อเรียนไปทำงานไป แม่เป็นแม่บ้านดูแลลูก ใช้ชีวิตอย่างสมถะในสังคมที่เป็นชนกลุ่มน้อย จน ดร.พร้อม สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก และเดินทางกลับประเทศไทยล่วงหน้าเพื่อหาลู่ทางเตรียมให้ทั้งครอบครัวตามกลับมา
“แล้วแม่กับลูกๆ ค่อยตามมาทีหลัง สมัยนั้นค่าตั๋วเครื่องบินแพงมาก ก็นั่งเรือกลับมา ไม่ใช่เรือโดยสารแต่เป็นเรือขนของ เด็ก 4 คนซนมาก เล่นกันบนเรือตลอด แต่ก็จำได้น้อย เพราะเพิ่งอายุ 4 ขวบเอง”
ดร. พร้อม ต้องการให้ลูกรักษาทักษะทางภาษาอังกฤษไว้ จึงยอมลงทุนให้ลูกทุกคนเข้าเรียนในโรงเรียนนานาชาติ ซึ่งสมัยก่อนยังไม่มีนโยบายรับนักเรียนไทย แต่บุตรชายทั้งสี่มีหนังสือเดินทางของสหรัฐอเมริกาจึงเข้าไปเรียนได้แม้เป็นคนไทย ถึงแม้ว่าค่าเล่าเรียนในโรงเรียนนานาชาติตอนนั้นจะยังไม่ได้สูงลิ่วเหมือนสมัยนี้ แต่การส่งเสียลูกถึงสี่คน ก็ต้องใช้ความพยายามอย่างมากสำหรับผู้เป็นพ่อที่ทำงานราชการ และแม่ที่ทำงานแปลภาษาโดยปราศจากวุฒิปริญญา
เพราะอยู่ในระบบการศึกษานานาชาติมาตลอด ทำให้พี่ชาย 2 คน ของพร้อมบุญไม่สามารถเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยเมืองไทยได้ จึงต้องกลับไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา ด้วยเหตุนี้ พร้อมบุญจึงได้ย้ายเข้ามาสู่ระบบการศึกษาไทยในระดับ มศ.1 ที่โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“ตอนที่เข้าไป ยังจดเลกเชอร์เป็นภาษาไทยไม่ได้ มาเจอวิชาวรรณคดีกับประวัติศาสตร์ก็ลำบากมาก แต่ดีที่ครูเขาสอนภาษาไทยตอนเย็น ก็เลยช่วยได้มาก แต่ก็เป็นความลำบากที่ต้องเปลี่ยนภาษา”
เวลา 5 ปี จาก มศ.1-5 ในโรงเรียนไทย ทำให้พร้อมบุญมีทักษะทางภาษาไทยที่ดีขึ้น จึงเลือกเรียนต่อระดับอุดมศึกษาที่เมืองไทย แต่ภาษาก็ยังคงเป็นอุปสรรคใหญ่ที่ทำให้เขามีตัวเลือกไม่เยอะมาก และได้มาอยู่ในคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา โดยที่ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะต้องเรียนเกี่ยวกับอะไร
“แต่ ณ วันนี้ ก็ดีใจที่เรียนสังคมวิทยา”
ชีวิตในรั้วธรรมศาสตร์ค่อนข้างเป็นอิสระ ตกเย็นก็นัดเจอเพื่อนสังสรรค์ที่ท่าพระจันทร์ตามประสา ช่วงนั้นเป็นช่วงเดียวกับเหตุการณ์ 14 ตุลา ที่เขาได้ไปร่วมเดินขบวนบนท้องถนนด้วย
จากวัยเด็กในครอบครัวคนเอเชียที่สหรัฐอเมริกา เดินทางข้ามน้ำกลับมาเป็นเด็กเอเชียตัวเล็กที่ไม่อาจเล่นกีฬาสู้เด็กผิวขาวตัวใหญ่ในโรงเรียนนานาชาติ เด็กไทยที่ขาดทักษะทางภาษาไทยในโรงเรียนไทย นักศึกษามหาวิทยาลัยที่ภาษายังเป็นข้อจำกัด ไม่ว่าอยู่ที่ไหนพร้อมบุญคือบุคคลที่ต้องอยู่กับอุปสรรคและความแปลกแยกจากคนรอบตัว ที่หากไม่ได้รู้เรื่องราวเชิงลึกในชีวิตของเขา ก็ไม่มีทางทราบ แต่การเป็นคนชายขอบในพื้นที่ของตัวเองนี้ทำให้เขาเข้าใจความรู้สึกของกลุ่มเป้าหมายในงานพัฒนา และมีอิทธิพลต่อเส้นทางในสายงานพัฒนาของเขาต่อไป
“ปัจจุบันก็ยังไม่เก่งภาษาไทย โดยเฉพาะภาษาทางการ เวลาเขาเชิญไปให้ไปพูดอะไรเนี่ยลำบากมาก ภาษาไทยยากมาก ถ้าภาษาอังกฤษอะโอเค แต่ว่าในประเทศไทยทุกคนก็อยากฟังภาษาไทย ผมอ่านออกเสียงผิดบ่อยมาก แต่คนฟังเขาก็สุภาพกันมาก”
เส้นทางงานเพื่อสังคม
ทักษะภาษาอังกฤษเป็นจุดแข็งที่ทำให้พร้อมบุญได้เริ่มงานเขียนโครงการในกองอนามัยครอบครัว กระทรวงสาธารณสุข ควบคู่ไปกับการเรียนต่อปริญญาโทด้านรัฐประศาสนศาสตร์ ซึ่งสมัยนั้นรัฐกำลังริเริ่มการวางแผนครอบครัวโดยได้รับทุนช่วยเหลือจากองค์การสหประชาชาติ
ผ่านไป 4 ปี พร้อมบุญลองเปลี่ยนสายงานไปวิเคราะห์ข้อมูลงานขายในบริษัทเอกชนด้านอุตสาหกรรม แต่ไม่พบความสุขและความหมายในงานที่ทำ จึงกลับเข้ามาอยู่ในงานพัฒนาอีกครั้งใน SEAMEO หรือองค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีภารกิจในการเสริมสร้างความร่วมมือทางด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม ระหว่างประเทศสมาชิก ศาสตราจารย์อดุล วิเชียรเจริญ ซึ่งดำรงตำแหน่งเลขาธิการองค์กรในขณะนั้นเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจ และมอบหลักคิดในการบริหารงานพัฒนาเพื่อให้เกิดผลชัดเจน มีมาตรฐาน และคุณภาพสูง ให้กับเขา
“ต้องหวังผลสัมฤทธิ์ในระยะยาว งานพัฒนาจะต้องมองการณ์ไกล”
หลังทำงานด้านบริหารสำนักงานที่ SEAMEO ได้ 4 ปี คุณพร้อมบุญตัดสินใจเข้าไปหาประสบการณ์ใหม่ที่ Family Planning International Assistance ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนจากสหรัฐอเมริกา เพิ่งมาเปิดสำนักงานภูมิภาคในกรุงเทพฯ เนื้องานเน้นการพัฒนาผู้หญิงและเยาวชนในประเทศกำลังพัฒนา ทำให้เขาได้เดินทางไปหลายประเทศในเอเชียเพื่อศึกษาปัญหาและเขียนโครงการ
“เวลาลงพื้นที่ไปคุยในประเทศที่ผู้ชายเป็นใหญ่ เขาก็บอกว่ามีลูกเยอะดีจะได้มาช่วยงาน พอไปคุยกับผู้หญิง เขากลับไม่ได้อยากมีลูกเยอะ แต่ไม่มีสิทธิ์ในการตัดสินใจ ดังนั้นยาคุมต่าง ๆ ก็เป็นสิ่งที่ช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ที่ประเทศไทยคุมกำเนิดได้สำเร็จ เพราะผู้หญิงมีอำนาจสามารถร่วมตัดสินใจ ดังนั้นเรื่องการวางแผนครอบครัวก็เป็นเรื่องของสิทธิผู้หญิงมาตลอด”
สู่ผู้นำองค์กรเพื่อการพัฒนา
หลังจาก 9 ปี ที่ทำงานด้านสิทธิผู้หญิงให้กับองค์กรระดับภูมิภาค พร้อมบุญย้ายมารับตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายโครงการให้กับ Care International Thailand ซึ่งทำงานพัฒนาด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม ส่งเสริมศักยภาพผู้หญิง เด็กและเยาวชน และงานช่วยเหลือภัยพิบัติ
“ตอนนั้น มีพนักงานเพียง 40 คน ดูแลงานไม่กี่จังหวัด ผมทำงานยังไม่ถึง 6 เดือน เขาก็ลดขนาดลงเรื่อย ๆ พยายามลดพนักงานต่างชาติแล้วให้คนไทยเข้ามาทำ แต่ตอนที่รับเข้ามาเขาก็ไม่ได้บอกเรา”
ความพยายามในการเข้าสู่ประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (NICs) ของประเทศไทยตั้งแต่ราว 30 ปีที่แล้ว ทำให้เศรษฐกิจในประเทศดีขึ้น รายได้ต่อหัวประชากรสูงขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้งบประมาณช่วยเหลือจากแหล่งทุนต่างประเทศลดลงจากดัชนีชี้วัดที่บ่งบอกว่าไทยกำลังก้าวออกจากกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา แต่ขณะเดียวกันปัญหาความเหลื่อมล้ำของกลุ่มคนชายขอบก็ยังคงมีอยู่มาก
Care International คือหนึ่งใน NGOs ระหว่างประเทศ ที่จำเป็นต้องปิดสำนักงานในประเทศไทย แต่พนักงานข้างในลงความเห็นว่ายังคงอยากให้ทำงานพัฒนาต่อโดยบริหารกันเอง จึงทำการเปลี่ยนผ่านจากองค์กรนานาชาติมาเป็นมูลนิธิของไทยเต็มตัวในชื่อ ‘รักษ์ไทย’ ซึ่งมาจาก ‘รักษา’ เพื่อให้สอดคล้องกับ ‘Care’ ภายใต้การนำทางของพร้อมบุญในฐานะเลขาธิการมูลนิธิ
“หลังจากที่เปลี่ยน พนักงานคนไทยทุกคนอยู่ต่อไม่มีใครลาออก แล้วเราก็บริหารแบบคนไทยภายใต้มาตรฐานจาก Care International เราเริ่มเขียนโครงการใหม่เพิ่ม จนปัจจุบันผ่านไป 26 ปี มีพนักงาน 260 คน ทำงานหลายด้านมาก”
ความสำเร็จจากการบริหารโดยคนไทยเพื่อคนไทย ทำให้มูลนิธิรักษ์ไทยได้รับเชิญให้เข้าเป็นสมาชิกของ Care International โดยเป็นหน่วยงานสมาชิกชาติแรกที่สำนักงานใหญ่ยอมให้บริหารโดยคนในประเทศ หลังจากนั้น Care International ก็ได้เปิดมูลนิธิในประเทศอินโดนีเซีย อินเดีย เปรู โดยให้คนท้องที่บริหารเองตามประเทศไทย
คนหน้างานในพื้นที่สีเทา
“หลายงานพัฒนาในประเทศไทยไม่สำเร็จ เพราะมองตรงไปตรงมาเกินไป อยากให้ผู้หญิงมีรายได้ก็ไปอบรมเรื่องจักรเย็บผ้า ไม่ได้มองความซับซ้อนของชีวิต ความเป็นอยู่ และตลาด การพัฒนามันต้องมองที่ความต่อเนื่อง แล้วก็ต้องวิเคราะห์ตลอด การเปลี่ยนพฤติกรรมคนมันมีปัจจัยเยอะมากที่มาเสริม คนออกแบบโครงการต้องเห็นไดนามิก”
ประสบการณ์และประวัติชีวิตที่หลากหลายของคุณพร้อมบุญ กลายเป็นข้อได้เปรียบในการมองประเด็นปัญหาหลายด้าน การเล่นหมากรุกในวัยเด็กกับผู้เป็นพ่อ กลายเป็นทักษะทางการวางแผนกลยุทธ์ในโครงการ และการเป็นพลเมืองชั้นสองในทุกสังคมที่เคยอยู่ คือสิ่งที่ทำให้ชายคนนี้คุณพร้อมบุญเข้าใจกลุ่มคนชายขอบซึ่งอยู่ในบริบทเดียวกันแต่ต่างสถานการณ์
“เราพัฒนาแบบสากล ไม่ใช่งานรับบริจาคเพื่อช่วยสงเคราะห์ ซึ่งในนานาชาติมีมาตรฐานเยอะมากตั้งแต่เขียนโครงการ วิเคราะห์ประเด็นต่างๆ ในเลนส์ของ sustainable, gender, empowerment พยายามหามุมที่มันเป็นแก่นของการพัฒนา แล้วเราก็พัฒนาตรงนั้น มีเจ้าหน้าที่ลงไปหน้างาน เราบอกว่าได้เงินมา 1 ล้านบาท เพื่อพัฒนาอาชีพผู้หญิง 100 คน มันต้องใส่ตัวกรองต่างๆ ว่าเรา empower เขาจริงหรือเปล่า สิ่งที่เขาเพิ่มขึ้นมายังไง แล้วมันมีเรื่องของสิ่งแวดล้อมอีก มันเป็นการมองผ่านหลายเลนส์ และเราก็ต้องมองให้เป็นกลาง”
กลุ่มเป้าหมายในการพัฒนาของมูลนิธิรักษ์ไทย คือกลุ่มคนในพื้นที่สีเทาที่หน่วยงานราชการเอกชนหรือองค์กรทั่วไปเข้าไม่ถึง เช่น กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มแรงงานข้ามชาติ กลุ่มผู้ใช้ยาเสพติด ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่โดนตีตราจากสังคม ซึ่งสังคมยังคงตั้งคำถามถึงเหตุผลที่ต้องลงงบประมาณไปเพื่อช่วยเหลือกลุ่มคนเหล่านี้
“อันที่คนอื่นนึกไม่ถึงคือการแจกเข็มฉีดยา เราก็จะมีชุดเข็ม และไม่ใช่ว่าเรามาตั้งบูทแล้วให้เขามาหาเรา เราต้องมีเจ้าหน้าที่ที่ไปเข้าหา เจ้าหน้าที่ภาคสนามที่คือคนที่เกี่ยวข้องกับผู้ใช้ยา ทั้งคนที่ยังใช้อยู่แต่ควบคุมการใช้ได้และทำงานได้ คนที่เคยใช้ และคนที่ไม่ได้ใช้ยาแต่มีเพื่อนใช้ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มผู้ใช้ยา ตามหลักสากลถ้าเขาใช้เข็มร่วมกัน แล้วกระจาย HIV ต่อไปเรื่อยๆ ค่ารักษาแต่ละคนจะแพงมหาศาลเมื่อเทียบกับการแจกเข็ม คิดถึงสมัยที่มีคำถามว่าทำไมต้องแจกถุงยางอนามัยให้เยาวชน ปัจจุบันเยาวชนทุกคนในสถาบันการศึกษาก็ต้องเข้าถึงถุงยางอนามัยเพื่อลดอันตราย การแจกเข็มก็เช่นเดียวกัน สถิติทั่วโลกบอกว่า 80% ของผู้รับการบำบัดกลับมาใช้ยาใหม่ เพราะพฤติกรรมและสิ่งล่อใจมันยังมี ดังนั้นจึงลดอันตรายด้วยหลักการว่า ถ้ายังไม่สามารถหยุดได้ ก็อย่าให้เกิดอันตรายกับคนอื่นและกับตัวเอง”
“อย่างแรงงานข้ามชาติ เขาไม่ได้อยู่ในกฎหมายไทย กระทรวงสาธารณสุขหรือองค์การบริหารท้องถิ่นก็ไม่ได้มีงบประมาณทำงานกับกลุ่มประชากรเหล่านี้ การตั้งโรงพยาบาลหรือโรงเรียนมันตั้งขึ้นมาตามกรอบว่าไม่ได้มีคนเหล่านี้อยู่”
หนึ่งในความภาคภูมิใจของคุณพร้อมบุญและมูลนิธิรักษ์ไทย คือการตั้งศูนย์เด็กลูกแรงงานข้ามชาติที่สมุทรสาคร ลูกหลานของคนชายขอบผู้เป็นฟันเฟืองสำคัญในภาคอุตสาหกรรมของไทยที่รัฐไทยไม่คุ้มครอง และคนไทยก็อยากช่วยเหลือเด็กไทยด้วยกันมากกว่า ทำให้มีงบประมาณมาถึงเด็กกลุ่มนี้น้อยมาก ภารกิจในตอนแรกคือศูนย์เพื่อช่วยดูแลเด็กในตอนกลางวัน แต่ต่อมาก็เริ่มสอนภาษาไทยเพื่อเตรียมความพร้อมให้เด็กที่พ่อแม่มีเอกสารถูกกฎหมายสามารถเข้าเรียนต่อในสถาบันการศึกษาของไทย แต่หลายคนก็ออกไปไม่ได้เพราะไม่มีกำลังทรัพย์เพียงพอสำหรับค่าจิปาถะในโรงเรียน ศูนย์เด็กยังทำงานร่วมกับ กศน. เพื่อให้เด็กจากศูนย์สามารถสอบเทียบเท่าและมีวุฒิการศึกษาได้โดยไม่ต้องเข้าโรงเรียน เพื่อที่พวกเขาจะได้มีทางเลือกและความมั่นคงในชีวิตมากขึ้น
“ถ้าถามว่าภูมิใจที่สุดในการทำงานเนี่ย คิดว่าทุกครั้งที่ได้ลงพื้นที่แล้วเห็นพวกเขา เขามองเราด้วยสายตาแสดงความขอบคุณ”
อีกประเด็นที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อนในการพัฒนาคือเรื่องเพศ โดยธรรมชาติแล้ว แม้ผู้หญิงผู้ชายมีบทบาทหน้าที่เท่ากัน แต่เวลาพัฒนา ผู้ชายจะลุกขึ้นมามีรายได้มีชีวิตที่ดีขึ้นได้เร็วกว่า หากไม่ใส่เลนส์เรื่องเพศแล้วผู้ชายส่วนใหญ่ก็จะได้ประโยชน์จากงานพัฒนา ในขณะที่ผู้หญิงกลับถูกลืม
“หากตัวชี้วัดก็คือครอบครัวมีรายได้ดีขึ้น แต่ผู้หญิงยังต้องอยู่ในครัว ต้องดูแลเด็ก ดังนั้นงานของ Care International จะวิเคราะห์เรื่องเพศก่อนว่าสถานะของผู้หญิงในครอบครัว ในที่ทำงาน ในชุมชน เป็นอย่างไร และพยายามหาทางให้ผู้หญิงก้าวขึ้นมา เวลาไปทำงานเนี่ยจะเห็นว่าทุกแห่งผู้หญิงจะรู้สึกดีมากที่มีความพยายามให้ผู้หญิงรวมตัวทำกิจกรรมมีรายได้ ทำให้เขามีการเปลี่ยนแปลงจากข้างในอย่างยั่งยืน และผู้หญิงก็จะเป็นตัวอย่างให้กับครอบครัวและชุมชน”
คนที่ทำงานใน NGOs สิ่งสำคัญคือต้องสามารถสร้างสัมพันธ์กับกลุ่มเป้าหมายได้ พนักงานของมูลนิธิรักษ์ไทย 1 ใน 4 ก็มาจากกลุ่มเป้าหมาย เช่น แรงงานข้ามชาติ กลุ่มชาติพันธุ์ ผู้เกี่ยวข้องกับผู้ใช้ยา ซึ่งพวกเขาจะเข้าใจคน เข้าใจงาน และทำงานได้ดี
ก้าวต่อไป
“เราพยายามทำให้องค์กรของรัฐมันเอื้อกับองค์กรพัฒนามากขึ้น พยายามโน้มน้าวให้หน่วยงานของรัฐเห็น ในมุมเดียวกันและแก้ปัญหาร่วมกัน จะเห็นว่าเรายังต้องพยายามหางบประมาณจากต่างประเทศ เพราะรัฐบาลยังมองว่าสิ่งที่เราทำมันผิดกฎหมายอยู่ ถึงแม้เราจะพยายามต่อยอดจากสิ่งที่รัฐบาลไม่สามารถทำได้ แต่ถ้ารัฐบาลไม่เปลี่ยนกลไกแล้ว ปัญหานี้ก็ยังอยู่”
“ที่ต่างประเทศ โดยเฉพาะแถบยุโรป ปัญหายาเสพติดรุนแรงกว่าบ้านเรา แต่รัฐบาลให้เงินภาคเอกชนหรือภาคประชาสังคมทำงานอย่างจริงจัง รัฐบอกว่าไม่ใช่งานที่เขาถนัด ของไทย ภาครัฐก็พยายามทำเองซะเยอะ ไม่ได้มีนโยบายให้ภาคประชาสังคม หรือ NGOs ทำงานด้วยกัน อาจเป็นเอกชนที่ทำการศึกษา แต่ว่ารัฐบาลอยากทำเอง งานรัฐไม่มีการแข่งขันทำให้ราคาแพง หรืออาจมีระยะสั้น มองแต่ output ไม่ได้มอง impact ดังนั้นสิ่งที่ท้าทายคือกลไกที่จะทำให้องค์กรพัฒนาเอกชนยืนอยู่ได้และทำงานอยู่เคียงข้างรัฐ”
ในกลุ่มคนที่รัฐเข้าไม่ถึงหรือไม่ครอบคลุม คือบทบาทของ NGOs อย่างมูลนิธิรักษ์ไทย ที่จะเข้าไปดูแลภายใต้ปณิธานว่าจะไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง แต่การผลักดันให้ภาครัฐหันมามองปัญหาส่วนนี้ พร้อมกับแก้ไขไปด้วยกันกับ NGOs คือต้องทำให้ภาคประชาชนเกิดความตระหนักก่อน รัฐถึงยอมเปลี่ยนแปลง อย่างที่เกิดขึ้นแล้วคือสำนักประกันสังคมแห่งชาติ ซึ่งมีงบประมาณตั้งไว้ให้กับ NGOs ที่สามารถทำงานตามกลุ่มตัวชี้วัดของเขาได้
อีกหนึ่งกระแสสังคมคือการให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมซึ่งปรากฏในพันธกิจของบริษัทเอกชนหลายแห่ง หากองค์กรเหล่านั้นไม่ถนัดในการดำเนินโครงการพัฒนาเพื่อตอบแทนสังคม ก็จะมาหาผู้เชี่ยวชาญอย่างมูลนิธิต่างๆ รวมถึงมูลนิธิรักษ์ไทย จึงกลายเป็นอีกหนึ่งแหล่งทุนเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนา
“เดี๋ยวนี้มันจะมีคำว่า Greenwashing อันนี้มันก็อยู่ที่เรามอง อย่างเช่นการทำงานด้านสิ่งแวดล้อม หลายบริษัทที่ทำก็เป็นบริษัทที่ทำลายสิ่งแวดล้อม แต่เชื่อไหมว่าทุกอย่างในโลกตอนนี้ก็ทำลายสิ่งแวดล้อม ดังนั้น การเอาเงินบางส่วนมาทำเพื่อสิ่งแวดล้อม แต่วิธีการเนี่ยทำยังไง แค่ให้มีภาพสวยงามหรือไปทำงานพัฒนาจริงที่เกิดผลจริงแล้ววัดผลได้ ไม่ใช่ทำฉาบฉวยแบบปลูกต้นไม้แล้วมันตายหมด”
จากมุมมองของพร้อมบุญ ปัญหาสังคมในประเทศไทยก็เปลี่ยนเยอะตั้งแต่ยุคการวางแผนครอบครัว โรคเอดส์ จนแรงงานข้ามชาติที่เมื่อก่อนอยู่ใต้ดิน แต่สมัยนี้ก็มีความเท่าเทียมกว่าแต่ก่อนเยอะ และถึงแม้มีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นหลายอย่าง แต่ความซับซ้อนของปัญหาก็มากขึ้น ดังนั้นจะยังคงมีช่องว่างทางสังคมที่องค์กรพัฒนาต้องเข้าไปมีบทบาท แต่อาชีพนี้ในประเทศไทยปัจจุบันหายากมาก
“ต้องให้คนรุ่นใหม่มีประสบการณ์ในงานพัฒนามากขึ้น รัฐต้องเข้ามาช่วยให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างนักศึกษากับองค์กรพัฒนาให้มีประสบการณ์ร่วมกันมากขึ้น เพราะเราต้องทำให้คนที่ทำงานในสายธุรกิจหรือดิจิทัลมีมุมมองในงานพัฒนา โดยเฉพาะคนที่เกิดในเมืองใหญ่ อยู่ในโลกที่ไม่มีวันได้มองเห็นคนชายขอบ ต้องเข้าใจชีวิตเขา ต้องมีส่วนที่เชื่อมตรงนี้ได้”
เกือบ 50 ปี ในสายงานของการพัฒนา และ 26 ปี ในฐานะผู้นำองค์กรพัฒนาสัญชาติไทยมาตรฐานนานาชาติอย่างมูลนิธิรักษ์ไทย พร้อมบุญ พานิชภักดิ์ ยังคงสนุกกับการได้ลงพื้นที่ทำงานใกล้ชิดกับชุมชน และสร้างการเปลี่ยนแปลงจากภายในเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่มั่นคงและยั่งยืน
“หลายคนก็ถามว่าทำไมไม่ทำงานเมืองนอก หนังสือเดินทางสหรัฐอเมริกาก็มี แต่ผมรู้สึกไม่ได้อยาก มันไม่ใช่ทางของเราที่จะอยู่ในสังคมที่ไม่สามารถทำอะไรได้ อยู่ในประเทศไทย เราเข้าใจบริบท แล้วทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้มากกว่า”
หลังเด็กน้อยเดินคล้อยหลังไปไม่นาน ชายหนุ่มผู้ได้ฟังคำตอบของเด็กน้อยก็เดินกลับมายังชายหาดพร้อมเพื่อนอีกหลายคน พวกเขาช่วยกันจับปลาดาวโยนกลับลงทะเลใต้แสงสุดท้ายของวัน เมื่อชายหาดมืดสนิท ปลาดาวยังคงนอนเกลื่อนหาด แต่ก็มีปลาดาวจำนวนมากกว่าเดิมที่มีชีวิตรอดต่อไปในท้องทะเล
เรื่อง: นิธิตา เฉิน
ภาพ: นิธิตา เฉิน และมูลนิธิรักษ์ไทย