27 พ.ค. 2567 | 13:30 น.
แรงงานข้ามชาติเข้ามาแย่งงานคนไทย ทำให้คนไทยมีงานน้อยลง
แรงงานข้ามชาติก่ออาชญากรรม ลักทรัพย์ หรือกระทั่งทำร้ายนายจ้าง
คำกล่าวข้างต้น มักจะเป็นอคติที่คนในสังคมมีต่อ ‘แรงงานข้ามชาติ’ โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ชาวเมียนมา ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่ทำงานที่คนไทยไม่นิยมทำ โดยเฉพาะประเภทงานหนัก งานเสี่ยง และงานที่ใกล้ชิดกับสิ่งสกปรก อย่างแรงงานเกษตรที่ทำงานกับสารเคมีในปริมาณสูง แรงงานเรือประมง ไปจนถึงแรงงานในร้านค้าต่าง ๆ
แม้ว่านิยามของพวกเขาจะเป็นแรงงานข้ามชาติ แต่ในอีกด้านหนึ่ง แรงงานเหล่านี้ก็เป็นหนึ่งในกำลังสำคัญที่สร้างมูลค่าและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย ซึ่งองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ประมาณการว่า ผู้ย้ายถิ่นมีส่วนร่วมระหว่างร้อยละ 4.3 ถึง 6.6 ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศไทย ปี พ.ศ. 2560 (United Nations Thematic Working Group on Migration in Thailand, 2019: 141)
ชวนทำความเข้าใจถึงการมีอยู่ของแรงงานข้ามชาติ เมื่อการย้ายถิ่น ผละจากประเทศบ้านเกิด มาสู่การทำงานต่างแดนที่ไม่คุ้นเคย ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่พวกเขายังเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมนี้ไปพร้อมกัน
ตำแหน่งแห่งที่ของแรงงานข้ามชาติ เมื่อประเทศไทยเข้าสู่ ‘สังคมสูงวัย’
ปัจจุบันงานในประเทศไทยส่วนใหญ่ยังคงเป็นงานใช้แรงงาน โดยเฉพาะภาคการเกษตร การก่อสร้าง การประมง ซึ่งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานรุนแรงขึ้นช่วงกลางปี 2564
จากรายงาน สถานการณ์แรงงานข้ามชาติและการข้ามพรมแดนในช่วงการระบาดของโควิด-19 (2564) โดยเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติรายงาน พบว่า ภาคเอกชนในธุรกิจเกษตรกรรม ปศุสัตว์ งานก่อสร้าง งานบริการระดับล่าง เกษตรต่อเนื่อง และอุตสาหกรรมสิ่งทอ มีความต้องการแรงงานข้ามชาติมากถึง 424,703 คน โดยแบ่งเป็นแรงงานเมียนมา จำนวน 256,029 คน แรงงานกัมพูชา จำนวน 130,138 คน และแรงงานลาว จำนวน 38,536 คน
ช่วงเวลาดังกล่าวยังมีแรงงานไทยว่างงานจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่ไม่นิยมประกอบอาชีพเหล่านั้น เนื่องจากการได้รับการศึกษาที่สูงขึ้น ทำให้คนไทยขยับไปสู่การทำงานภาคส่วนต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องใช้ทักษะในการทำงานมากขึ้น ก่อให้เกิดความขาดแคลนแรงงานทักษะต่ำ ส่งผลให้บริษัทต้องปรับตัวตามมา โดยบริษัทขนาดใหญ่หันมาใช้เทคโนโลยีเพื่อทดแทนแรงงาน ขณะที่บริษัทขนาดเล็กมีแนวโน้มต้องพึ่งพาแรงงานข้ามชาติ เพื่อควบคุมต้นทุนการผลิต
ระยะเวลา 30 กว่าปี นับตั้งแต่ปี 2535 ที่ประเทศไทยจัดระบบและขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติ ซึ่งเริ่มจากนายจ้าง 10 จังหวัดชายแดนไทย-เมียนมา ก่อนที่จะขยายขอบเขตการเปิดรับแรงงานข้ามชาติจนถึงปัจจุบัน อย่างในปี 2561 คณะทำงานเฉพาะเรื่องแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการย้ายถิ่นของประเทศไทย ประมาณการแรงงานข้ามชาติที่อยู่และทำงานในประเทศไทยว่า มีจำนวน 4,898,461 คน ขณะที่ส่วนใหญ่เป็นแรงงานทักษะน้อยจากประเทศเมียนมา ลาว กัมพูชา และเวียดนามถึง 3,897,598 คน รวมถึงยังมีแรงงานนอกระบบ 811,437 คน ซึ่งพวกเขามักเข้ามาทำงานในภาคการเกษตร การก่อสร้าง การประมง การแปรรูปสัตว์น้ำ งานบริการ ไปจนถึงงานบ้าน (United Nations Thematic Working Group on Migration in Thailand, 2019: 12-14)
ด้วยเหตุนี้ การมีอยู่ของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยจึงมีส่วนสำคัญต่อผู้ประกอบการ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งมีสัดส่วนราวร้อยละ 90 กว่าของธุรกิจทั้งหมด และประชาชนยังคงสามารถเข้าถึงสินค้าในราคาไม่สูงมากนัก
อีกหนึ่งประการที่น่าจับตามอง นั่นคือการเข้าสู่ ‘สังคมสูงวัย’ ของประเทศไทย เพราะเมื่ออัตราการเกิดของประชากรลดลง กำลังแรงงานของไทยย่อมลดลงในระยะยาว ซึ่งกรมการปกครองคาดการณ์ว่า ปี 2567 ประเทศไทยจะเข้าสู่การเป็นสังคมสูงอายุระดับสุดยอด (super aged society) เต็มรูป คือการมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป เป็น 1 ใน 5 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ จากตัวเลขประชากรทั้งประเทศ 66,057,967 คนในเดือนธันวาคม 2566 มีผู้สูงอายุราว 13 ล้านคน หรือร้อยละ 20.17 ของประชากรรวม (ชุลีพร, 2567)
จากการคาดการณ์ข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่า หากอัตราการเพิ่มขึ้น/ลดลงของจำนวนประชากรยังเป็นเช่นนี้ ประชากรไทยอาจมีประชากรลดลงเหลือเพียงครึ่งหนึ่งเมื่อสิ้นสุดศตวรรษที่ 21 ซึ่งมีแนวโน้มนำไปสู่วิกฤตในด้านต่าง ๆ และหนึ่งในแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าวอาจจะเป็นการดึงดูดให้ผู้ย้ายถิ่นเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย โดยการย้ายถิ่นจะเกิดขึ้นอย่างยั่งยืนเมื่อมีการสร้างความเสมอภาคให้ผู้ย้ายถิ่น ทั้งด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม การศึกษา และการปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติอย่างเป็นธรรมในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่มีความหวัง ความฝัน การต่อสู้ดิ้นรน และทุกข์สุขไม่ต่างกันกับคนไทย
บรรณานุกรม
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ โครงการสร้างสังคม DEE (Diversity, Equity and Empathy): ศึกษาสถานการณ์อคติต่อกลุ่มเปราะบาง และสื่อสารเพื่อสร้างความตระหนักรู้ของสังคม โดยความร่วมมือระหว่าง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนัก 9 และ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์