04 เม.ย. 2568 | 16:00 น.
KEY
POINTS
ในโลกที่มักตัดสินผู้คนจากรูปลักษณ์ภายนอก ยากนักที่จะมองเห็นคุณค่าที่แท้จริงของมนุษย์
‘แมรี แอนน์ บีวาน’ (Mary Ann Bevan) เธอเป็นเพียงผู้หญิงคนหนึ่งที่เคยมีหน้าตางดงามและมีชีวิตธรรมดาเฉกเช่นเดียวกับคนอื่น ๆ จนกระทั่งโชคชะตานำพาโรคร้ายที่เปลี่ยนรูปลักษณ์เธอไปตลอดกาล
เธอถูกขนานนามว่าเป็น ‘ผู้หญิงที่อัปลักษณ์ที่สุด’ แต่แท้จริงแล้ว เธอคือแบบอย่างของความรักอันบริสุทธิ์ที่พร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อลูก แม้จะต้องแลกมาด้วยศักดิ์ศรีก็ตาม
ชื่อเดิมคือ ‘แมรี แอนน์ เว็บสเตอร์’ (Mary Ann Webster) เธอเกิดเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 1874 ที่พลาสโตว์ในลอนดอนตะวันออก เธอเติบโตในครอบครัวชนชั้นกรรมาชีพ มีพี่น้องทั้งหมดแปดคน ซึ่งในวัยเยาว์เธอก็มีรูปร่างหน้าตาที่ปกติไม่ต่างจากพี่น้องคนอื่น ๆ แถมหน้าตายังจัดได้ว่าสวยด้วยซ้ำ
แม้จะมีฐานะยากจน แต่เธอก็มีเส้นทางที่สดใส เธอเป็นหญิงสาวหน้าตาสะสวย จิตใจดี และมีความมุ่งมั่นในอาชีพพยาบาล ซึ่งถือเป็นงานที่น่านับถือและจำเป็นอย่างมากในยุคนั้น งานของเธอสะท้อนให้เห็นถึงความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และความทุ่มเทเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น
ในปี 1903 เธอแต่งงานกับ ‘โธมัส บีวาน’ (Thomas Bevan) ชาวไร่จากเมืองเคนต์ ทั้งคู่มีลูกด้วยกันสี่คน เป็นบุตรชายสอง และบุตรหญิงสอง ทั้งคู่ดูเหมือนจะมีทุกสิ่งที่ต้องการ และชีวิตของแมรีก็ดูเหมือนจะเดินบนเส้นทางที่ราบรื่น
กระทั่งปี 1914 เมื่อโธมัสจากไปอย่างกะทันหัน ทิ้งแมรีไว้เพียงลำพังกับลูกน้อยทั้งสี่ และภาระหนักอึ้งที่เธอไม่อาจหลีกเลี่ยง
เคราะห์ซ้ำกรรมซัด หลังจากสามีเสียไม่นาน เธอเริ่มมีร่างกายที่ประหลาด ใบหน้าและร่างกายของผู้หญิงที่เคยไฉไลก็เริ่มเปลี่ยนไป กลายเป็นรูปร่างที่ผิดรูปอย่างเหลือเชื่อ อาการของเธอถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรค ‘อะโครเมกาลี’ (Acromegaly)
โรคกล่องสุ่มหายากนี้เกิดจากความผิดปกติที่ต่อมใต้สมอง จึงผลิตฮอร์โมนเจริญเติบโต (Growth Hormone) ออกมามากผิดปกติ ทำให้ร่างกายเติบโตอย่างกะทันหัน รูปร่างจึงไม่สมส่วน เช่น กระดูกมีขนาดใหญ่ เนื้อเยื่อเจริญเติบโตเกินกว่าปกติ เป็นต้น ส่วนใหญ่จะปรากฏชัดที่แขน ขา และใบหน้า
ในกรณีของเธอร่างกายส่วนที่มีปัญหาที่สุดเป็นส่วนหัวและใบหน้าซึ่งเป็นส่วนที่เห็นได้ชัดเสียด้วย ทำให้เธอมีรูปลักษณ์ที่ผิดเพี้ยนจากคนทั่วไป นอกจากรูปร่างที่เปลี่ยนไป เธอยังต้องทนทุกข์จากความเจ็บปวดทางร่างกายอีกด้วย ทั้งอาการปวดหัว กล้ามเนื้อ และข้อต่อ
แม้ในปัจจุบันสามารถรักษาได้หากตรวจพบได้เร็วพอ อย่างไรก็ตาม ภายใต้ข้อจำกัดของการแพทย์ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 แมรีไม่มีวิธีการรักษาหรือป้องกันโรคนี้ และในไม่ช้าเธอก็พบว่าใบหน้าของเธอเปลี่ยนแปลงไปจนไม่สามารถจดจำได้
เนื่องจากอาการป่วยทำให้มือและเท้าของเธอบวมขึ้น ใบหน้าที่น่ารักของแมรีกลายเป็นรูปประหลาด หน้าผากและขากรรไกรล่างของเธอยื่นออกมา และจมูกโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
รูปลักษณ์ที่ผิดเพี้ยนทำให้เธอถูกสังคมรังเกียจและได้ยินเสียงนินทาจากคนรอบข้างไม่น้อย หนำซ้ำยังโดนบีบบังคับให้เธอต้องออกจากงานพยาบาล
แต่ถึงอย่างนั้น สิ่งที่หนักหนาสำหรับเธอก็คงเป็นการที่ต้องหาเลี้ยงลูกทั้งสี่โดยไม่มีรายได้ที่มั่นคง เธอต้องหันไปทำอาชีพพิเศษเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว แต่การจะหางานและรักษางานไว้เป็นเรื่องที่ยากมากสำหรับรูปลักษณ์แบบนี้
“สิ่งที่เหมาะกับเธอก็มีแค่การประกวดผู้หญิงอัปลักษณ์เท่านั้นแหละ”
เธอจำประโยคนั้นฝังใจ และด้วยความสิ้นหวังแมรีก็ได้เข้าร่วมการประกวด ‘ผู้หญิงที่เป็นคนบ้านนอกที่สุด’ และเอาชนะผู้เข้าแข่งขันกว่า 250 คนได้อย่างสบาย ๆ เป็นศักดิ์ศรีที่แลกกับเงินรางวัลเพียงไม่กี่ปอนด์ พร้อมกับตำแหน่งที่แทบไม่มีใครต้องการ
แต่ตำแหน่ง ‘ผู้หญิงที่น่าเกลียดที่สุด’ กลับกลายเป็นใบเบิกทางสู่เส้นทางอาชีพของแมรี
เธอได้รับความสนใจจากเจ้าของคณะละครเร่ และถูกทาบทามให้เข้าร่วมการแสดงในโชว์มนุษย์ประหลาด ซึ่งในช่วงศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 การนำเสนอมนุษย์ที่มีรูปลักษณ์แปลกตากลายเป็นจุดดึงดูดสำคัญของงานแฟร์และคณะละครสัตว์เร่ทั่วทั้งยุโรปและอเมริกา
แน่นอนว่ามันคงไม่ใช่การตัดสินใจที่ง่ายสำหรับผู้หญิงคนหนึ่งที่รู้สึกอับอายกับรูปลักษณ์ของตัวเอง แต่โอกาสนี้ก็เป็นทางเลือกในการหาเงินเลี้ยงลูกของเธอ ประกอบกับแพทย์ยืนยันว่าภาวะของเธอจะยิ่งแย่ลงไปอีก เธอจึงตัดสินใจใช้มันให้เป็นประโยชน์เพื่อครอบครัวของเธอ
ในปี 1915 แมรีจึงก้าวเข้าสู่อาชีพ ‘มนุษย์ประหลาด’ มืออาชีพ และมีงานประจำในคณะละครเร่เล็ก ๆ ที่ได้แสดงตามงานแฟร์ทั่วหมู่เกาะอังกฤษ
ในปี 1920 ‘คล็อด บาร์ทรัม’ (Claude Bartram) ตัวแทนชาวอังกฤษของคณะละครสัตว์ Barnum & Bailey ได้ลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ว่า
“ต้องการ: ผู้หญิงที่น่าเกลียดที่สุด ไม่น่ารังเกียจ พิการหรือเสียโฉม รับประกันรายได้ดี และผู้สมัครที่ประสบความสำเร็จจะได้รับการจ้างงานในระยะยาว ส่งรูปถ่ายล่าสุดมาให้เราด้วย”
เมื่อบาร์ทรัมเห็นรูปของแมรี เขารู้ทันทีว่าเธอคือคนที่เขาตามหา คล็อดบอกว่า “แมรีมีสิ่งที่ฟังดูย้อนแย้ง นั่นคือใบหน้าของผู้หญิงที่น่าเกลียด แต่ไม่น่ารังเกียจแต่อย่างใด” บาร์ทรัมจึงเสนองานให้เธอในโรงละคร Barnum & Bailey ที่มักจะนำผู้คนที่ผิดปกติมาขึ้นแสดง
แมรีลังเลใจ แต่เมื่อได้รับข้อเสนอค่าจ้าง 10 ปอน์ต่อสัปดาห์ ซึ่งถือว่าเป็นข้อเสนอที่คุ้มค่าในสมัยที่ค่าแรงเฉลี่ยแรงงานฝีมือได้รับไม่ถึง 2 ปอนด์ต่อสัปดาห์ เธอรู้ว่ามันมากพอจะเลี้ยงลูก ๆ ของเธอได้ เธอจึงยอมรับ และยังหารายได้เสริมด้วยการขายโปสการ์ดรูปตัวเอง และด้วยเงินเหล่านี้เธอสามารถส่งลูก ๆ เข้าโรงเรียนประจำได้
หลังจากนั้น ‘แซม กัมเพิร์ตซ์’ (Sam Gumpertz) ผู้มีชื่อเสียงในโลกของไซด์โชว์ (Sideshow) หรือในตอนนั้นคือ ‘งานแสดงตัวประหลาด’ และโรงละครสัตว์ได้เชิญแมรีร่วมงาน ‘ดรีมแลนด์’ (Dreamland) สวนสนุกบนโคนีย์ไอส์แลนด์ในนิวยอร์ก ซึ่งขณะนั้นเป็นหนึ่งในสถานที่จัดแสดงไซด์โชว์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
เธอเริ่มมีชื่อเสียงจนได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘ผู้หญิงที่อัปลักษณ์ที่สุดในโลก’ ชีวิตของเธอเริ่มไม่เป็นส่วนตัว รูปของเธอถูกขึ้นป้ายโฆษณาที่แสดงข้อมูลส่วนสูง น้ำหนักที่มาก และขนาดมือที่ใหญ่ เพื่อดึงดูดผู้คน บางคนมองเธอด้วยสายตาสงสาร แต่ส่วนใหญ่หัวเราะเยาะและล้อเลียน
เธอต้องทนกับสายตาเหยียดหยามของผู้ชมมาหลายปี แต่เธอทนได้ เพราะสิ่งที่เธอทำ ไม่ใช่เพื่อตัวเอง แต่เพื่อลูก ๆ ที่เธอรักสุดหัวใจ
แมรีภูมิใจในบทบาทความเป็นแม่ เธอมักอวดภาพถ่ายของลูก ๆ ต่อหน้าผู้ชม และพูดถึงพวกเขาอย่างภาคภูมิใจ ลูกชายของเธอเข้ารับราชการในกองทัพเรืออังกฤษ เธอมักจะเตือนผู้ชมเสมอว่างานของเธอทำเพื่อพวกเขา
นับเป็นเหมือนเรื่องตลกร้ายที่เมื่อเวลาผ่านไป งานที่ดูอย่างไรก็เป็นการล้อเลียนตัวตนของเธอเองนั้น กลับเป็นงานเดียวที่ทำให้เธอสามารถมีชีวิตใหม่ได้
ตลอดหลายปีที่แสดงที่นิวยอร์ก เธอมีรายได้รวมประมาณเธอสร้างรายได้ถึง 10,000 ปอนด์ ซึ่งเทียบเท่ากับเงินหลายแสนปอนด์ในปัจจุบัน เงินจำนวนนี้ช่วยให้ลูก ๆ ของเธอได้รับอาหาร การศึกษา และการดูแลอย่างดี ทำให้เธอสามารถสร้างชีวิตที่มั่นคงและไม่ลำบากให้แก่ลูก ๆ ของเธอ
แมรียังคงแสดงต่อไปด้วยสุขภาพที่ย่ำแย่มากเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นผลมาจากโรคอะโครเมกาลี ประกอบกับความเหน็ดเหนื่อยจากการแสดงไม่มีหยุดพัก ส่งผลให้เธอเจ็บปวดมากขึ้นและสูญเสียการมองเห็นบางส่วน
แต่ด้วยความรักและความมุ่งมั่นเพื่อลูก ๆ เธอยังคงทำงานต่อไปอย่างไม่ย่อท้อ แม้จะเจ็บปวดเพียงใดก็ตาม เธอสู้เพื่อหาเลี้ยงครอบครัวจนถึงนาทีสุดท้ายที่ไม่อาจแสดงต่อไปได้
ในที่สุดแมรีจากไปเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 1933 หลังวันเกิดเธอเพียงไม่กี่วัน ด้วยวัย 59 ปี ทิ้งไว้เพียงเรื่องราวของหญิงแกร่งผู้ยอมทำทุกอย่างเพื่อลูก ๆ
แม้แมรี แอนน์ บีวานจะถูกจดจำในฐานะ ‘ผู้หญิงที่อัปลักษณ์ที่สุด’ แต่แท้จริงแล้ว เธอคือ ‘แม่ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด’ คนหนึ่ง เธอเสียสละศักดิ์ศรีและความสุขส่วนตัวเพื่อให้ลูก ๆ มีชีวิตที่ดีกว่า
และแม้ว่าปัจจุบัน โลกจะเปิดกว้างมากขึ้น แต่ก็ยังมีคนที่ถูกกีดกันเพียงเพราะรูปลักษณ์อยู่ดี เรื่องราวของแมรีจึงเป็นเครื่องเตือนใจว่า ความงามแท้จริงไม่ได้อยู่ที่รูปลักษณ์ภายนอก แต่คือ ความรัก ความเสียสละ และหัวใจของความเป็นแม่ ซึ่งมีค่ามากกว่าสิ่งใดในโลก
อ้างอิง