29 เม.ย. 2568 | 17:00 น.
KEY
POINTS
ว่ากันว่า “พวกเขา (ถูกผลัก) ลงมาจากหลังคาโลก” จากที่ราบสูงในทิเบตด้วยแรงกดดันและการถูกรีดไถพืชผลจากชาวจีน
“ชาวลาหู่” นับเป็นหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย แต่อันที่จริงพวกเขาเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2418 หรือประมาณช่วงเดียวกับการเกิดสุริยปราคาเต็มดวงครั้งแรกในสมัยรัตนโกสินทร์ และการยกทัพไปปราบกลุ่มฮ่อที่ จ.หนองคายครั้งแรก
แม้ตำนานชาวลาหู่จะยังไม่ชัดเจน แต่เรื่องราวชีวิตจริงของลาหู่ที่มีบันทึกไว้ กลับมีความน่าสนใจราวกับเป็นนิยายแฟนตาซีเหนือจินตนาการ
ข้อมูลจากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ระบุว่า “ลาหู่” เป็นชาติพันธุ์ที่มีถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่บนที่ราบสูงทิเบต จนกระทั่งประมาณกว่า 2,000 ปีก่อน จึงได้อพยพถิ่นฐานลงมาตั้งรกรากอยู่ในมณฑลยูนนาน ประเทศจีน แถบแม่น้ำสาละวินกับแม่น้ำโขง และเมื่อมีประชากรเพิ่มมากขึ้นจึงตั้งตัวเป็นรัฐอิสระ ชื่อว่า “เปอเจ - นาเจ” ทำให้ทางการจีนต้องยกกำลังเข้ามาราบปรามหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ เพราะมีที่ตั้งอยู่ในชัยภูมิที่ดีและมีความเชี่ยวชาญในการใช้ “หน้าไม้” เป็นอาวุธที่สามารถรบได้ในระยะไกลซึ่งถือว่าเป็นอาวุธที่ล้ำหน้าในสมัยนั้น
ทางจีนจึงต้องใช้กลอุบายด้วยการส่งคนมาเล่นดนตรีผ่านเครื่องดนตรีที่เรียกว่า “จิ๊งหน่อง” มาขับกล่อมให้ผู้หญิงและเด็กในเผ่าฟังจนเพลิดเพลินระหว่างที่ผู้ชายไปล่าสัตว์และทำไร่ โดยขอแลกกับอุปกรณ์ในการทำหน้าไม้ ก่อนที่จีนจะยกทัพเข้ามาตีอีกครั้งจนลาหู่พ่ายแพ้ ชาวลาหู่จึงต้องโซซัดโซเซไปตีเมืองเล็กๆ และอพยพหนีทหารจีนไปด้วย จนไปอยู่ในในดินแดนที่แห้งแล้ง มีลักษณะเป็นภูเขาหิน และพบว่าแม้แต่ “ลิงก็ยังต้องอดหารจนตาย” (เชื่อกันว่าเป็นมองโกเลียในปัจจุบัน) ในเวลาต่อมาชาวลาหู่อพยพจนไปเจอกับกินแดนใกล้กับทะเลสาบที่มีสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ คือพบ “กวางที่มีรากไทรยาว 11 วา 1 ศอกพันอยู่” จึงตั้งถิ่นฐานขึ้นใหม่ที่นั่น ก่อนจะแตกกลุ่มกันเองจนต้องระหกระเหินไปสร้างเมืองใหม่และถูกจีนตีแตกพ่ายอีก จนในที่สุดก็ลงมาถึงดินแดนเมียนมา และมีบางกลุ่มอพยพมาถึงดินแดนที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบัน
จากจุดแรกบนดินแดนหลังคาโลกในที่ราบสูงธิเบต เมื่อถูกขับไล่ให้ถอยร่นลงมาเรื่อยๆ ชาวลาหู่ จึงเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทย แผ่นดินที่เงียบสงบและอุดมสมบูรณ์ เหมาะต่อการเพาะปลูกข้าว, ข้าวโพด, มะเขือ, ผักชี, ต้นหอม หรือแม้แต่ฝิ่น
ชาวลาหู่นับว่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ใหญ่ในประเทศไทย มีชาวลาหู่อาศัยอยู่หลากหลายกลุ่ม อาทิ ลาหู่นะ (ดำ), ลาหู่ญี (แดง), ลาหู่ชี (เหลือง), ลาหู่ขาว, ลาหู่เฌเล ฯลฯ มีประชากรรวมทั้งสิ้นประมาณ 116,000 คน (ข้อมูลปี 2566) รวมกลุ่มกันอยู่ในหมู่บ้านชาวลาหู่ทั้งหมด 452 หมู่บ้าน กว่า 23,000 หลังคาเรือน โดยมีถิ่นฐานหลักอยู่ในบริเวณภาคเหนือของประเทศไทย คือ เชียงราย, เชียงใหม่, ตาก, แม่ฮ่องสอน, กำแพงเพชร, ลำปาง, น่าน และเพชรบูรณ์
อย่างไรก็ดี ยังมีชาวลาหู่อาศัยอยู่ในประเทศจีนอีกมากกว่า 2 แสนคน และมีอีกราว 2 แสนคนอาศัยอยู่ในเมียนมา อีกราว 2 หมื่นคนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศลาว และอยู่ในเวียดนามอีกเกือบ 1 หมื่นคน หมายความว่า มีชาติพันธุ์ ลาหู่อาศัยอยู่ภูมิภาคในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปัจจุบันอย่างน้อย 5 แสนคน
ถึงแม้จะมีหลายกลุ่ม แต่ชาวลาหู่ก็มีภาษาและวัฒนธรรมประเพณีที่ค่อนข้างใกล้เคียงกัน โดยว่ากันว่า เทคนิคที่ง่ายที่สุดในการแยกความแตกต่างของชาวลาหู่แต่ละเผ่าคือ สีเครื่องแต่งกาย เช่น ชาวลาหู่นะ มักจะสวมเสื้อผ้าที่มีสีดำเป็นหลัก
อีกทักษะที่น่าชื่นชมของชาวลาหู่ คือ “ลาหู่ เป็นเหมือนฟองน้ำ” เพราะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่สามารถรักษาความเชื่อดั้งเดิมเอาไว้ได้ ไปพร้อมๆ กับการเปิดรับเอาศาสนาใหม่เข้ามาประยุกต์ใช้ร่วมกันได้อย่างไม่มีเคอะเขิน มีตัวอย่างที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านของ อนุพงษ์ สิริพงษ์วานิช ชาวลาหู่นะ ในหมู่บ้านห้วยคอกหมู ต.แม่นาวาง อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่นับถือศาสนาคริสต์ แต่ยังคงรักษาประเพณีดั้งเดิมของบรรพบุรุษไว้อย่างครบถ้วน
“ผมเป็นชาวลาหู่นะ”
ตั้งแต่กลับคืนสู่ถิ่นกำเนิด อนุพงษ์ได้พบเห็นความเปลี่ยนแปลงมากมายในชนเผ่าของตัวเอง หนึ่งในนั้นคือ “ประเพณีกินข้าวใหม่” หรือ “จ่าสือจา” ประเพณีดั้งเดิมของชาวลาหู่ ซึ่งเป็นประเพณีที่มีความสำคัญที่สุดในหมู่ประเพณีทั้งหมดของลาหู่ เพราะถือเป็นการขอพรจากสิ่งศักสิทธิ์ให้ปกปักรักษาคนในชุมชน และถือเป็นศิริมงคลที่ล้ำค่าแก่ชีวิต
เดิมที ประเพณีกินข้าวใหม่จะจัดขึ้นในระดับครอบครัว กล่าวคือ บ้านไหนข้าวใหม่ออกรวงก่อนก็เริ่มพิธีก่อนด้วยการชักชวนญาติผู้ใหญ่ที่เคารพมากินข้าวหรือนำข้าวปลาอาหารไปมอบให้ที่บ้าน รวมไปถึงการนำข้าวใหม่ที่เพิ่งเก็บเกี่ยวได้ไปทำพิธีเซ่นไหว้ต่อสิ่งศักสิทธิ์และบรรพบุรุษ
แต่ประเพณีกินข้าวใหม่ในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม กลายเป็นประเพณีที่ถูกจัดขึ้นอย่างเป็นระบบมากขี้น มีระยะเวลาการจัดงานที่แน่นอนในช่วงเดือน สิงหาคม - กันยายน ของทุกปี และขยายกลายเป็นงานระดับชุมชน ทำให้กว่าจะจัดงานขึ้นแต่ละครั้งก็จะต้องผ่านการทำความตกลงร่วมกันของหลายฝ่าย ทั้งชาวลาหู่ในแต่ละหมู่บ้าน, ผู้เฒ่าผู้แก่ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่มักส่งตัวแทนมาร่วมงานอย่างสม่ำเสมอ โดยในปัจจุบันแต่ละครอบครัวจะเตรียมของกินหลายอย่าง ทั้งข้าวสาร ข้าวโพด รวมทั้งพืชผักอื่นๆ เพื่อใส่ตะกร้าไปแลกเปลี่ยนกับเพื่อนบ้าน และล้อมวงกินข้าวพร้อมกัน ก่อนเชิญเทวดาและบรรพบุรุษมาร่วมกินข้าวด้วยกัน เพื่อเป็นการขอบคุณและอวยพรให้ทุกครอบครัวมีความเจริญรุ่งเรือง
“สาเหตุที่เริ่มมีการปรับปรุงประณีกินข้าวใหม่มี 2 สาเหตุ เหตุผลแรกคือ การเดินทางไปมาหาสู่กันทำได้ง่ายขึ้น อีกเหตุผลหนึ่งคือ หากจัดงานขึ้นเฉพาะในครอบครัวตัวเอง ก็อาจไม่สามารถเชิญผู้นำอย่าง พ่อหลวง, กำนัน ,นายกฯในท้องถิ่น หรือผู้หลักผู้ใหญ่ที่มีตำแหน่งทางปกครองในชุมชนมาร่วมงานได้ ในระยะหลังจึงปรับให้กลายเป็นกิจกรรมระดับชุมชน” อนุพงษ์เล่า
แต่เมื่อประเพณีดั้งเดิมที่จัดขึ้นตามความเชื่อโบราณ ถูกปรับเปลี่ยนรูปแบบยกระดับไปเป็นงานประจำปีของชุมชน ก็มีชาวลาหู่บางส่วนตั้งข้อสังเกตว่า ประเพณีกินข้าวใหม่กำลังกลายเป็นกิจกรรมสังสรรค์มากกว่ากิจกรรมทางจิตวิญญาณ เพราะงานกินข้าวใหม่มักถูกพ่วงไปการกับจัดกิจกรรมอื่นๆ ไปด้วย เช่น การแข่งกีฬาระหว่างหมู่บ้าน หรือการกินดื่มสังสรรค์ ซึ่งแต่เดิมถือเป็นข้อห้ามของชนเผ่าลาหู่ เพราะเชื่อกันว่า ของมึนเมาจะทำให้สิ่งศักสิทธิ์ไม่มาประทับที่หมู่บ้าน และทำให้ผู้นำจิตวิญญาณของหมู่บ้าน ที่เรียกว่า “โตโบ” อาจเจ็บไข้ได้ป่วย
“แต่มันก็ห้ามกันไม่ได้ เราเลยตกลงกันว่าถ้าใครดื่มก็ไม่ต้องเข้าไปในโบสถ์นะ” อนุพงษ์เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงต่อ
“แต่ชุมชนยังมีข้อตกลงร่วมกันอยู่ว่า ร้านค้าในหมู่บ้านห้ามขายเหล้าเบียร์ ถ้าอยากกินคุณก็ซื้อมากินเองไม่มีใครว่า แต่ร้านในชุมชนห้ามขาย ซึ่งทุกคนก็ยังปฏิบัติตามข้อตกลงนี้ด้วยดี”
“ส่าจ๊อย” เป็นอาหารขึ้นชื่อของชาวลาหู่ ถือเป็นวัฒนธรรมที่แทบจะไม่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย โดยคำว่า ส่า แปลว่า เนื้อสัตว์ ส่วน จ๊อย แปลว่า การห่อ
ส่าจ๊อย เป็นหนึ่งในเมนูขึ้นชื่อที่จะถูกเสิร์ฟขึ้นโต๊ะอาหารเพื่อต้นรับแขกในงานกินข้าวใหม่ในประเพณีดั้งเดิมของชาวลาหู่ โดยกระบวนการทำจะเริ่มจากการขูดเอาเปลือกจากมะขามป้อมที่มีสรรพคุณในการช่วยย่อยอาหารและทำให้ไม่ท้องเสีย ไปผสมกับเครื่องปรุงพื้นบ้านอย่าง พริก ,ขิง ,เกลือ ก่อนจะนำไปนึ่ง แต่บางครอบครัวก็นิยมปั้นเป็นก้อนกลมแล้วนำไปต้ม
“สมมติว่าในเทศกาลกินข้าวใหม่ มี 10 คนในหมู่บ้านชวนไปกินข้าวที่บ้าน มันก็ต้องกินอาหารเยอะมากใช่ไหม เปลือกมะขามป้อมตัวนี้เลยเป็นสมุนไพรที่จะช่วยย่อยและไม่ทำให้ท้องเสีย” อนุพงษ์ อธิบายให้เห็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของชนเผ่าลาหู่ที่ซ่อนอยู่ในวัฒนธรรมอาหาร
ถึงแม้จะอยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงและกระแสกลืนกินจากวัฒนธรรมภายนอกไม่ต่างจากชาติพันธุ์อื่นๆทั่วโลก แต่ชาวลาหู่ ถือเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่รักษาประเพณีความเชื่อดั้งเดิมของตัวเองไว้ได้อย่างเข้มแข็ง เพราะสามารถรักษาความเชื่อดั้งเดิมของชุมชนไว้ได้อย่างเหนียวแน่น หลักฐานที่สำคัญ คือ การที่ชาวลาหู่ทุกช่วงวัยยังคงพร้อมใจกันที่จะกลับมาร่วมงานประเพณีกินข้าวใหม่ที่ชุมชนจัดขี้นในทุกปีๆ
แม้ในเรื่องเล่าถึง “ลาหู่” ของอนุพงษ์ ดูเหมือนพวกเขาจะยังสามารถรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมไว้ได้อย่างเข้มแข็ง แต่หากถอดความหมายที่ซ่อนอยู่ระหว่างบรรทัดออกมาก ก็จะเข้าใจได้ว่า เขามีความกังวลว่าความเปลี่ยนแปลงบางอย่าง จะพรากวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาจนหายไปในอนาคตอันใกล้
“ผมกลัวว่า ในช่วงหลังจากนี้ไป พวกเราชาวลาหู่อาจจะอธิบายตัวตนของตัวเองไม่ได้ เพราะความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่ถาโถมเข้ามา อาจทำให้เรามีความสนใจองค์ความรู้ภูมิปัญญาดั้งเดิมน้อยลง เช่น เมื่อเกิดคำถามจากคนรุ่นใหม่ว่าทำไมต้องห้ามดื่มสังสรรค์ในงานกินข้าวใหม่ คนในรุ่นที่โตกว่ากลับไม่สามารถให้คำตอบที่ดีได้”
“ผมคิดว่า พวกเราเหมือนแข็งแรงนะ แต่ว่าพอไปดูเนื้อข้างในจริงๆ ถึงจะยังมีกิจกรรมประเพณีอยู่จริง แต่เรากลับไม่สามารถอธิบายได้อย่างลึกซึ้งเหมือนเดิม”
“สภาพเศรษฐกิจที่ไม่ดีนัก ก็เป็นปัญหาใหญ่ ที่บังคับให้พวกเราไม่สามารถสืบทอดองค์ความรู้ดั้งเดิมในด้านการทำเกษตรได้ โดยเฉพาะภูมิปัญญาการทำเกษตรแบบไร่หมุนเวียน ซึ่งดูแลรักษาป่าเป็นอย่างดี ก็ถูกท้าทายด้วยค่าใช้จ่ายต่างๆที่สูงขึ้นอย่าง ค่าไฟ หรือค่าเล่าเรียนลูก มันก็เลยมีปัจจัยที่ทําให้ชาวบ้านตั้งคำถามว่า การใช้ชีวิตแบบดั้งเดิม จะช่วยให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดีได้หรือไม่” อนุพงษ์ แสดงความกังวล
เรื่อง : สุทธิพัฒน์ กนิษฐกุล
อ้างอิง: