'เรเจป ทายยิป แอร์โดอัน' ประธานาธิบดีตุรกี กับวิกฤตชี้ชะตาตลอด 20 ปีแห่งการครองอำนาจ

'เรเจป ทายยิป แอร์โดอัน' ประธานาธิบดีตุรกี กับวิกฤตชี้ชะตาตลอด 20 ปีแห่งการครองอำนาจ

‘เรเจป ทายยิป แอร์โดอัน’ ประธานาธิบดีตุรกี รั้งตำแหน่งผู้นำประเทศมายาวนาน 20 ปี และกำลังพยายามรักษาอำนาจอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลามวิกฤตที่เกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน ทั้งวิกฤตการเงิน การเมือง และล่าสุดคือแผ่นดินไหว

  • ‘เรเจป ทายยิป แอร์โดอัน’ เกิดในปี 1954 ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตุรกีตั้งแต่ปี 2003-2014 ก่อนจะกลายเป็นประธานาธิบดีคนแรกของประเทศที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงเมื่อปี 2014
  • สมัยเด็ก ‘แอร์โดอัน’ ขายน้ำมะนาวและขนมปังงาเพื่อหารายได้พิเศษ ก่อนจะผันตัวเป็นนักการเมือง เขายังเคยเป็นนักฟุตบอลอาชีพอีกด้วย 

เหตุแผ่นดินไหวที่เขย่าตุรกีและซีเรียเมื่อช่วงเช้ามืดวันที่ 6 กุมภาพันธ์ นับเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่สำหรับมนุษยชาติ ด้วยตัวเลขผู้เสียชีวิตล่าสุดที่ทะลุ 2 หมื่นราย ประชาชนหลายแสนคนต้องกลายเป็นคนไร้บ้านท่ามกลางอากาศหนาวเย็นและชื้นแฉะในฤดูหนาว 

ภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งนี้นับเป็นบททดสอบทางการเมืองที่สำคัญสำหรับรัฐบาลที่นำโดยพรรคความยุติธรรมและการพัฒนา (AKP) ของ ‘เรเจป ทายยิป แอร์โดอัน’ ก่อนหน้าการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ 

แผ่นดินไหวสะเทือนเก้าอี้ ‘เรเจป ทายยิป แอร์โดอัน’

เหตุแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 1999 กำลังเป็นบททดสอบครั้งใหญ่สุดที่จะชี้ชะตาว่า ‘แอร์โดอัน’ จะรักษาอำนาจของเขาต่อเนื่องไปถึง 30 ปีหรือไม่ หลังจากเป็นประธานาธิบดีมาแล้ว 2 สมัย  

ความบกพร่องในการรับมือแผ่นดินไหวของรัฐบาลตุรกี ปรากฏขึ้นตั้งแต่ชั่วโมงแรก ๆ ที่เกิดเหตุ 

อาคารหลายพันแห่งที่พังทลาย เผยให้เห็นถึงความหละหลวมของกฎเกณฑ์การก่อสร้างอาคาร ทั้งเป็นการเย้ยหยันการจัดเก็บ ‘ภาษีแผ่นดินไหว’ (earthquake tax) หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า ‘ภาษีการสื่อสารพิเศษ’ (special communication tax) ที่บังคับใช้หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวปี 1999 ซึ่งคร่าชีวิตประชาชนไป 17,000 คน 
 

ชาวตุรกีที่กำลังทุกข์ระทมพากันตั้งข้อสังเกต ‘ภาษีแผ่นดินไหว’ กำลังถูกยักยอกหรือไม่ และรัฐบาลเพิกเฉยต่อกฎระเบียบการก่อสร้างเพราะมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับบริษัทรับเหมาจริงหรือเปล่า?

ขณะที่สิ่งก่อสร้างได้รับความเสียหายอย่างหนัก ‘แอร์โดอัน’ ยังไม่สามารถระดมกำลังเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างเต็มกำลัง

ผู้รอดชีวิตไม่รู้ว่าจะต้องรออาหารและเสื้อผ้าไปจนถึงเมื่อไร?

บรรดานายทหารที่เกษียณแล้วถึงกับออกมาร้องเรียนให้รัฐบาลช่วยหยุดนำทหารไปฝึก เพื่อให้ทหารได้ออกมาช่วยรับมือภัยพิบัติก่อน

ฝั่ง ‘แอร์โดอัน’ ไม่ยอมนิ่งเฉย เขายอมรับถึงข้อบกพร่องของรัฐบาล แต่ยืนยันว่า “เป็นไปไม่ได้ที่จะดำเนินการทุกอย่างอย่างรวดเร็วสำหรับภัยพิบัติที่หนาหนาสาหัสเช่นนี้” 

บรรดาผู้เชี่ยวชาญมองว่า ‘แอร์โดอัน’ จะสามารถรักษาเก้าอี้ผู้นำในการเลือกตั้งเดือนพฤษภาคมไว้ได้ หากเขาสามารถจัดการกับวิกฤตได้ดี 

และความล้มเหลวในการจัดการวิกฤตก็อาจทำให้เขาประสบชะตากรรมเช่นเดียวกับอดีตนายกรัฐมนตรี ‘บูเลนต์ เอเชวิต’ ที่ไม่สามารถรับมือกับแผ่นดินไหวปี 1999 ได้ จนเปิดทางให้พรรคของ ‘แอร์โดอัน’ เริ่มเข้ามามีบทบาททางการเมือง ก่อนคว้าชัยจากการเลือกตั้งในที่สุด

ด้านฝ่ายค้านตีตราว่า ‘แอร์โดอัน’ นั้น ล้มเหลวในการเตรียมพร้อมสำหรับภัยพิบัติครั้งล่าสุด เพราะใครก็รู้อยู่แล้วว่าตุรกีเป็นประเทศที่มีแนวโน้มจะเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง 
 

วิกฤตการเงินในตุรกี ผลจากความเผด็จการของ ‘แอร์โดอัน’?

ไม่ถึง 1 เดือนก่อนเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.8 ‘แอร์โดอัน’ ประกาศวันเลือกตั้งเป็นวันที่ 14 พฤษภาคม ซึ่งจะเป็นการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีและรัฐสภา เป้าหมายเพื่อพยายามรักษาอำนาจของตัวเองไว้ 

จากการสำรวจความคิดเห็นชี้ว่า นี่จะเป็นการเลือกตั้งที่ดุเดือดสำหรับ ‘แอร์โดอัน’ ซึ่งเป็นผู้นำประเทศมาตั้งแต่ปี 2003 

ช่วงรุ่งสางของวันที่เกิดแผ่นดินไหวใน 10 จังหวัดของตุรกี มีรายงานว่า ‘แอร์โดอัน’ กำลังเตรียมความพร้อมที่จะดับวิกฤตการณ์ต่าง ๆ อยู่ด้วยซ้ำ 

หนึ่งในนั้นคือวิกฤตการเงิน ที่เป็นผลจากแนวทางที่ฉีกตำราเศรษฐศาสตร์ของเขา ซึ่งทำให้ดัชนีราคาผู้บริโภคพุ่งสูงขึ้น 85% เมื่อปี 2022 

ความจริงแล้ว พรรค AKP ของ ‘แอร์โดอัน’ ประกาศในช่วงที่เป็นรัฐบาลครั้งแรกว่า จะเข้ามาแก้ปัญหาเศรษฐกิจ จนหลายคนตั้งความหวังว่าเศรษฐกิจตุรกีจะก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในประเทศกลุ่มชั้นนำของยุโรปเลยทีเดียว

จีดีพีของตุรกียังคงขยายตัวแม้ในช่วงที่โควิด-19 ระบาด 

กระทั่ง ‘แอร์โดอัน’ เพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐมากเป็นประวัติการณ์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น การอุดหนุนด้านพลังงาน การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 2 เท่า และการปรับขึ้นเงินบำนาญ 

อัตราเงินเฟ้อในตุรกีพุ่งขึ้นมาประมาณ 13% เมื่อกลางปี 2021 อีกทั้งยังเกิดการขาดดุลการชำระเงินอย่างหนักจากการที่เศรษฐกิจมีความร้อนแรง

ทว่าไม่มีกุนซือคนไหนกล้าทักท้วง ‘แอร์โดอัน’ ซึ่งเป็นผู้นำที่ค่อนข้างเผด็จการ 

เขาเชื่อฝังหัวด้วยว่า คำแนะนำจากชาติตะวันตกที่จะให้ตุรกีขึ้นดอกเบี้ยเป็นเหมือน ‘ทฤษฎีสมคบคิด’ (conspiracy theory) ของชาติตะวันตก ที่ไม่ต้องการให้เศรษฐกิจตุรกีเจริญก้าวหน้า

‘แอร์โดอัน’ จึงลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจาก 19% เมื่อเดือนกันยายน 2021 เหลือ 14% เมื่อเดือนธันวาคม 2021

นักลงทุนต่างประเทศพากันตื่นตระหนกจนค่าเงินไลร่าร่วงเป็นอย่างมาก ขณะที่ชาวตุรกีเองแห่ไปฝากเงินในต่างประเทศแทน 

ตุรกียังประสบปัญหาปริมาณสำรองเงินตราระหว่างประเทศลดลงอย่างมาก คล้ายกับวิกฤตต้มยำกุ้งในบ้านเราด้วย

‘แอร์โดอัน’ รอดพ้นจากการพยายามก่อรัฐประหารในปี 2016 

เดือนกรกฎาคม 2016 มีการก่อรัฐประหารในตุรกี ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคน ข้าราชการประมาณ 1.5 แสนคนถูกไล่ออก และอีกกว่า 5 หมื่นคนถูกควบคุมตัว มีทั้งทหาร นักข่าว ทนายความ ตำรวจ นักวิชาการ และนักการเมืองชาวเคิร์ด 

ผู้ที่ต่อต้าน ‘แอร์โดอัน’ มองว่านี่เป็นแผนที่ผู้นำประเทศใช้เพื่อยึดครองอำนาจต่อไป ส่วนผู้ที่เข้าข้างรัฐบาลมองว่านี่เป็นแผนโค่นล้ม ‘แอร์โดอัน’ ที่เป็นความร่วมมือระหว่างผู้นำศาสนาที่ชื่อ ‘เฟตูลาห์ กูเลน’ (Fethullah Gulen) กับ CIA เพราะไม่พอใจที่เขาโอนเอียงเข้าข้างรัสเซีย 

ทหารฝ่ายกบฏเข้าประชิดหวังจับตัว ‘แอร์โดอัน' ในขณะที่เขาไปพักผ่อนที่บ้านพักตากอากาศริมชายฝั่ง แต่เขาถูกนำตัวขึ้นเครื่องบินอย่างปลอดภัย 

ในช่วงย่ำรุ่งวันที่ 16 กรกฎาคม เขาเอาชนะฝ่ายรัฐประหารได้สำเร็จท่ามกลางเสียงโห่ร้องของกองเชียร์ แต่มีพลเรือนเกือบ 300 คนถูกสังหารในระหว่างเข้าขัดขวางการรุกคืบของผู้ก่อรัฐประหาร 

รัฐบาลตุรกีเดินหน้ากวาดล้างประเทศครั้งใหญ่ โดย ‘แอร์โดอัน’ ออกมากล่าวหาว่า ‘กูเลน’ เป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์นี้ เพราะต้องการสร้าง ‘โครงสร้างคู่ขนาน’ ขึ้นมาในระบบยุติธรรมและกองทัพของประเทศเพื่อโค่นล้มรัฐบาล 

แต่ ‘กูเลน’ ปฏิเสธข้อกล่าวหา

การปราบปรามผู้วิจารณ์สร้างความตื่นตระหนกในต่างประเทศ ส่งผลให้เกิดความสัมพันธ์ที่เย็นชากับสหภาพสยุโรป 

การเสนอตัวเข้าร่วมสหภาพยุโรปของตุรกีจึงไม่มีความคืบหน้านานหลายปี 

บทบาท ‘แอร์โดอัน’ ในวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน 

หลังรัสเซียเปิดฉากบุกยูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 สวีเดนกับฟินแลนด์แสดงตัวขอเข้าเป็นสมาชิก ‘NATO’ หรือ ‘องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ’ 

อย่างไรก็ตาม มีเงื่อนไขว่าทั้ง 30 ประเทศสมาชิก NATO จะต้องเห็นชอบในการอนุญาตให้ทั้งสองชาติเข้าเป็นสมาชิก 

ทว่าตุรกีขวางสุดตัว โดยยืนยันว่าสวีเดนกับฟินแลนด์ต้องส่งตัวพลเมืองตุรกี 150 คน ซึ่งทางการตุรกีมองว่าเป็น ‘ผู้ก่อการร้าย’ กลับมาก่อน 

มีการกล่าวหากันว่า คนเหล่านี้เป็นคนที่รัฐบาลตุรกีอ้างว่าเข้าร่วมการพยายามก่อรัฐประหารเมื่อปี 2016

เรื่องนี้กำลังจะมีความคืบหน้าในการเจรจารอบต่อไป ที่มีกำหนดจัดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์นี้ 

แต่โชคร้ายที่เมื่อเดือนมกราคม นักเคลื่อนไหวได้ออกมาประท้วงแขวนหุ่น ‘แอร์โดอัน’ ในสวีเดน ซึ่งทำให้ ‘แอร์โดอัน’ ตัดสินใจยกเลิกการเจรจาที่จะมีขึ้นดังกล่าว 

‘แอร์โดอัน’ จากเด็กขายน้ำมะนาวสู่ผู้พลิกโฉมตุรกี 

จากพื้นเพอันต่ำต้อย ‘แอร์โดอัน’ ได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งอันยิ่งใหญ่ทางการเมือง โดยเป็นผู้นำตุรกีมายาวนานถึง 20 ปี และได้พลิกโฉมประเทศของเขามากกว่าผู้นำคนใด ๆ นับตั้งแต่ ‘มุสตาฟา เคมาล อตาเติรก์’ ผู้ก่อตั้งสาธารณรัฐตุรกีสมัยใหม่และประธานาธิบดีคนแรกของตุรกี 

‘แอร์โดอัน’ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนแรกของตุรกีตั้งแต่ปี 2003 จากนั้นจึงได้รับเลือกตั้งโดยตรงให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีตั้งแต่ปี 2014

‘แอร์โดอัน’ ลืมตาดูโลกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 1954 เขาเป็นลูกชายของเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการทางทะเล ที่ทำงานบนชายฝั่งทะเลดำของตุรกี 

เมื่ออายุได้ 13 ปี พ่อของเขาตัดสินใจย้ายไปยังอิสตันบูล ด้วยหวังว่าจะให้ลูก ๆ ทั้ง 5 คนได้รับการเลี้ยงดูที่ดีขึ้น 

สมัยเด็ก ‘แอร์โดอัน’ ขายน้ำมะนาวและขนมปังงาเพื่อหารายได้พิเศษ เขาเข้าเรียนในโรงเรียนอิสลาม ก่อนจะคว้าปริญญาด้านการจัดการจากมหาวิทยาลัย Marmara ในอิสตันบูล และเข้าสู่เส้นทางนักฟุตบอลอาชีพ

ช่วงทศวรรษ 1970 และ 1980 ‘แอร์โดอัน’ เริ่มมีบทบาทในแวดวงศาสนาอิสลามด้วยการเข้าร่วมพรรคสวัสดิการอิสลามของ ‘เนกเมตติน เออร์บาคาน’ อดีตนายกรัฐมนตรีตุรกี ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านเครื่องกลและวิชาการ

เมื่อพรรคได้รับความนิยมในช่วงทศวรรษ 1990 ‘แอร์โดอัน’ ได้รับเลือกให้เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งชิงตำแหน่งนายกเทศมนตรีอิสตันบูลในปี 1994 และได้บริหารเมืองนี้ต่อไปอีก 4 ปี 

แต่การทำหน้าที่ของเขาได้สิ้นสุดลงเมื่อถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานยุยงให้เกิดความเกลียดชังทางเชื้อชาติ จากการอ่านบทกวีแนวชาตินิยมที่มีข้อความว่า

“มัสยิดคือค่ายทหารของเรา หลังคาทรงกลมคือหมวกกะโล่ของเรา หอคอยสุเหร่าคือดาบปลายปืนและทหารที่ซื่อสัตย์ของเรา” 

หลังจากติดคุก 4 เดือน เขาก็กลับมาเล่นการเมืองอีก แต่พรรคของเขาถูกแบนเนื่องจากละเมิดหลักการที่เข้มงวดของตุรกี 

เดือนสิงหาคม 2001 เขาก่อตั้งพรรคใหม่ที่มีรากฐานมาจากศาสนาอิสลาม 

พรรค AKP ของเขาได้รับเสียงข้างมากในการเลือกตั้งรัฐสภา และในปีถัดมา ‘แอร์โดอัน’ ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี เขายังคงนั่งเก้าอี้ประธานพรรค AKP จนถึงปัจจุบัน 

ตั้งแต่ปี 2003 ที่ดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศทั้งนายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดี เขาได้รับการยกย่องจากนานาชาติในฐานะนักปฏิรูป ที่ทำให้ชนชั้นกลางในประเทศขยายตัว และประชาชนหลายล้านคนหลุดพ้นจากความยากจน 

ทั้งหมดเป็นผลจากการที่ ‘แอร์โดอัน’ ให้ความสำคัญกับโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดยักษ์เพื่อพัฒนาตุรกีให้ทันสมัย 

แต่นักวิชาการเตือนว่าเขากำลังกลายเป็นเผด็จการมากขึ้นเรื่อย ๆ 

ปี 2013 ผู้ประท้วงพากันออกมาตามท้องถนน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะแผนของรัฐบาลภายใต้การนำของ ‘แอร์โดอัน’ ที่ต้องการจะเปลี่ยนสวนสาธารณะอันเป็นที่รักใจกลางเมืองอิสตันบูล อีกเหตุผลคือการท้าทายต่อการปกครองแบบเผด็จการ

ผู้ต่อต้านมองว่า ‘แอร์โดอัน’ กำลังทำตัวเหมือนสุลต่านจากจักรวรรดิออตโตมันมากกว่าประชาธิปไตย

‘แอร์โดอัน’ เคยคบหากับ ‘กูเลน’ ซึ่งการเคลื่อนไหวทางสังคมและวัฒนธรรมของ ‘กูเลน’ ได้ช่วยให้ ‘แอร์โดอัน’ ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง 3 สมัยติดต่อกัน 

หลังปกครองประเทศเป็นเวลา 10 ปี พรรคของ ‘แอร์โดอัน’ ยังได้ยกเลิกการห้ามสตรีสวมผ้าคลุมศีรษะในสถานที่สาธารณะ ซึ่งเริ่มบังคับใช้หลังการรัฐประหารปี 1980 

นักวิจารณ์มองว่าเขากำลังหักเสาหลักแห่งแนวทางรัฐฆราวาสของ ‘มุสตาฟา เคมาล อตาเติร์ก’ 

แต่ ‘แอร์โดอัน’ ปฏิเสธเรื่องนี้เสมอว่า โดยระบุว่าเขาไม่ต้องการยัดเยียดค่านิยมของอิสลาม และเขาสนับสนุนสิทธิของชาวเติร์กในการแสดงออกทางศาสนาอย่างเปิดเผยมากขึ้น

เดือนกรกฎาคม 2020 เขาเป็นผู้ควบคุมการเปลี่ยนโบสถ์ ฮาเกียโซเฟีย (Hagia Sophia) ให้เป็นมัสยิด ซึ่งสร้างความโกรธแค้นให้กับชาวคริสต์จำนวนมาก 
ฮาเกียโซเฟียสร้างเมื่อ 1,500 ปีที่แล้วในฐานะอาสนวิหาร ก่อนจะถูกเปลี่ยนเป็นมัสยิดโดยชาวเติร์กออตโตมัน แต่ท้ายที่สุดมันได้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของรัฐฆราวาสใหม่ 

เมื่อถูกขวางไม่ให้ลงสมัครชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในปี 2014 เขาต่อสู้เพื่อให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และก่อนหน้านี้ตำแหน่งประธานาธิบดีในตุรกีก็มีไว้เพียงประกอบพิธีทางการ 

ในช่วงต้นของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เขาเผชิญแรงสั่นสะเทือนถึง 2 ครั้ง พรรคของเขาสูญเสียเสียงข้างมากในรัฐสภาเป็นเวลาหลายเดือนในปี 2015 

อีกหลายเดือนต่อมา ในปี 2016 ตุรกีได้ประสบกับความพยายามในการก่อรัฐประหารครั้งร้ายแรงเป็นครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษตามที่กล่าวไว้ข้างต้น 

แต่แสงแวววับจากพระราชวังอัคซาราย (Ak Saray) ขนาด 1,000 ห้อง ในกรุงอังการา ทำให้ตำแหน่งประธานบดีของ ‘แอร์โดอัน’ ดูปลอดภัยกว่าที่เคย 

เขาชนะการเลือกตั้งอย่างฉิวเฉียดเมื่อปี 2017 ทำให้เขาได้รับอำนาจมหาศาลจากการเป็นประธานาธิบดี ซึ่งรวมถึงสิทธิในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐ และการเข้าแทรกแซงระบบกฎหมาย 

1 ปีต่อมา เขาได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาดจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบแรก 

ฐานเสียงหลักของเขาอยู่ในเมืองเล็ก ๆ ของชาวอนาโตเลีย และพื้นที่ชนบทที่แนวคิดอนุรักษ์นิยมยังฝังรากลึก 

แต่ในปี 2019 พรรคของเขาพ่ายแพ้ใน 3 เมืองใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นอิสตันบูล กรุงอังการา และอิซมีร์ 

การสูญเสียตำหน่งนายกเทศมนตรีอิสตันบูลให้กับ ‘เอ็กเร็ม อิมาโมกลู’ จากพรรคฝ่ายค้านหลักอย่าง Republican People's Party (CHP) อย่างฉิวเฉียด สร้างความสะเทือนใจให้กับ ‘แอร์โดอัน’ ที่เคยเป็นนายกเทศมนตรีของเมืองนี้ในยุค 1990 และเขาไม่เคยยอมรับผลการเลือกตั้งนี้เลย

 

อ้างอิง:

bbc

mei.edu

bangkokbiznews