02 มี.ค. 2567 | 10:09 น.
- จาง ซินหยาง อัจฉริยะที่เข้าเรียนปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอกด้วยวัยไม่ถึง 20 ปี แต่เบื้องหลังคือชีวิตที่ไม่มีสิทธิ์เลือกเอง
- หลังจากจบปริญญาเอกด้วยวัยเพียง 24 ปี เขาทำงานเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเพียง 2 ปี ก็ลาออก เพราะมุมมองความสำเร็จของเขาเปลี่ยนไปแล้ว
- เขากลายเป็นอัจฉริยะที่ไม่มีงานประจำ เงินเดือนไม่มั่นคง คอยพึ่งพาพ่อแม่ และพึงพอใจกับชีวิตแบบนี้
พ่อแม่ชาวเอเชียส่วนใหญ่เชื่อว่า ‘การศึกษา’ จะนำพาลูกของพวกเขาไปสู่ความสำเร็จและความมั่นคงในชีวิต ซึ่งเป็นธรรมดาที่พ่อแม่มักคาดหวังให้ลูกประสบความสำเร็จ จึงพยายามเคี่ยวเข็ญ กดดัน หรือพยายามสนับสนุนลูกทุกช่องทาง
แต่ความคาดหวังก็เปรียบเสมือนดาบสองคม หากโชคดีลูกก็สามารถเดินทางไปถึงฝั่งฝัน และประสบความสำเร็จ แต่หากโชคร้ายก็อาจกลายเป็นอาวุธที่กำลังสร้าง ‘บาดแผล’ ให้แก่ลูกไม่รู้จบ
หากลองจินตนาการถึงเส้นทางของ ‘อัจฉริยะ’ คงเป็นชีวิตที่เต็มไปด้วยความสำเร็จทางการงาน การเงิน ชื่อเสียง และการยอมรับจากสังคม แต่สำหรับ ‘จาง ซินหยาง’ ไม่ใช่แบบนั้น
อัจฉริยะ ผู้ไม่มีชีวิตเป็นของตัวเอง
‘จาง ซินหยาง’ (Zhang Xinyang) ชาวจีนวัย 29 ปี ที่เกิดเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 1995 ในเมืองปันจิน ของมณฑลเหลียวหนิง เขาได้รับการแปะป้ายกำกับว่า ‘อัจฉริยะ’ เนื่องจากมีไอคิวที่สูงถึง 140 ส่งผลให้เขาเริ่มเรียนปริญญาตรีตั้งแต่อายุ 10 ปี จากนั้นจึงศึกษาต่อปริญญาโทด้วยวัย 13 ปี และปริญญาเอกในวัย 16 ปี ถือเป็นนักศึกษา ป.ตรี ป.โท และ ป.เอก ที่อายุน้อยที่สุดแห่งแดนมังกร
ย้อนกลับไปในวัยเด็ก ซินหยางเริ่มฉายแววฉลาดตั้งแต่อายุ 2 ขวบครึ่ง เขาเรียนรู้ตัวอักษรจีนมากกว่าหนึ่งพันตัวภายในระยะเวลา 3 เดือน และเข้าเรียนโรงเรียนประถมด้วยวัยเพียง 4 ขวบ เมื่อผู้เป็นพ่อเห็นแววอัจฉริยะในตัวลูก ก็เริ่มเอาความฝันของตัวเองใส่ลงไปในตัวซินหยาง
เนื่องจากพ่อของซินหยางอาจได้เป็นนักศึกษารุ่นแรกในหลักสูตรบริหารธุรกิจ ที่มหาวิทยาลัยเหรินหมิน แต่น่าเสียดายที่เขาขาดทุนทรัพย์ จึงต้องสละความฝันนี้ไป
โชคดีของผู้เป็นพ่อที่ตอนนี้ลูกชายอย่างซินหยางสามารถทำได้ พ่อจึงสอนความรู้มากมายให้แก่เขา ทำให้ซินหยางได้รับการเลื่อนชั้นอย่างรวดเร็ว จนเริ่มเรียนมัธยมตั้งแต่วัย 7 ขวบ
เหมือนจะเป็นเรื่องดีที่เขาก้าวหน้าด้านการศึกษาเกินอายุ แต่อย่าลืมว่าในขณะที่เด็กวัยเดียวกันกับซินหยางได้ใช้ชีวิตสมวัยอย่างการเล่นสนุกไปกับเพื่อน ๆ การมีความรัก ส่วนซินหยางมีเพียงการเรียนเท่านั้น
“พ่อแม่ให้กำเนิดผม ผูกความฝันของพวกเขาไว้กับผม และหวังว่าวันหนึ่งผมจะบรรลุสิ่งที่พวกเขาต้องการในอดีต รวมไปถึงวางแผนชีวิตให้ผม พยายามทำให้ผมคิดว่าสิ่งที่พวกเขาต้องการคือสิ่งที่ผมอยากทำ” ซินหยางให้สัมภาษณ์กับไชนา นิวส์
พ่อแม่ควบคุมชีวิตของซินหยางแม้กระทั่งตอนเขาได้รับทุนเพื่อการศึกษาต่อที่ประเทศเยอรมนีในระดับปริญญาเอก ซึ่งถือเป็นโอกาสที่หลายคนใฝ่ฝันรวมถึงซินหยางเอง เนื่องจากมันสามารถสร้างความก้าวหน้าให้กับเขาได้ในด้านวิชาการ
แต่แทนที่พ่อแม่จะสนับสนุน พวกเขากลับคัดค้านหัวชนฝาพร้อมกับยืนยันว่าให้เรียนที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง เพราะพ่อแม่ซินหยางเชื่อว่ามหาวิทยาลัยปักกิ่งนั้นดีที่สุด เนื่องจากเป็นมหาวิทยาลัยอันดับต้น ๆ ของประเทศจีน
ซินหยางจึงจำใจเรียนอยู่ที่ปักกิ่ง โดยมีเงื่อนไขแกมบังคับว่า พ่อกับแม่จะต้องซื้ออะพาร์ตเมนต์ที่ปักกิ่งให้ ไม่เช่นนั้นเขาจะลาออกจากมหาวิทยาลัย อีกทั้งซินหยางคำนวณมาแล้วว่าราคาที่อยู่อาศัยในปักกิ่งกับเงินออมของครอบครัว ณ เวลานั้นเพียงพอที่จะซื้อที่อยู่อาศัย ซึ่งตอนนั้นราคาอยู่ที่ประมาณ 9 ล้านกว่าบาท พร้อมทั้งยังบอกอีกว่า
“เพราะพ่อกับแม่อยากให้ผมอยู่ที่ปักกิ่ง พวกเขาจึงควรรับผิดชอบโดยการหาสภาพแวดล้อมที่ดีให้ผมอยู่”
พ่อแม่ตกลงรับข้อเสนอของซินหยาง และบอกเขาว่าซื้อให้เรียบร้อยแล้ว แต่เบื้องหลังคือพวกเขาเพียงแค่เช่าอะพาร์ตเมนต์แล้วหลอกลวงซินหยาง
อัจฉริยะที่ต้องการอยู่เฉย ๆ
อย่างไรก็ตาม ซินหยางสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกในปี 2019 จากนั้นก็กลายเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยในเขตปกครองตนเองทางตะวันตกเฉียงเหนือของหนิงเซี่ยหุย และลาออกในอีก 2 ปีต่อมา บางคนกล่าวว่า การมุ่งเน้นไปที่การเรียนเพียงอย่างเดียว อาจทำให้ซินหยางไม่รู้จักการใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่น หรือขาดปฏิสัมพันธ์กับผู้คนจนทำให้เขาไม่อยากทำงาน
อีกเหตุผลที่เขาลาออกอาจเป็นเพราะมุมมองความสำเร็จของซินหยางได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วตั้งแต่ตอนเป็นนักศึกษาปริญญาเอก เขาค้นพบว่ากุญแจสู่ความสุขตลอดชีวิตคือ การนั่งเล่นและไม่ทำอะไรเลย
ปัจจุบันเขาเช่าอาศัยอยู่ในแฟลตแถวเซี่ยงไฮ้ ไม่มีงานประจำ มีเงินเพียงไม่กี่พันหยวนในบัญชีธนาคาร และยังคงพึ่งพาเงินจากพ่อแม่ประมาณเดือนละ 50,000 บาท
“เนื่องจากพวกเขาเป็นหนี้ผม อะพาร์ตเมนต์ที่พวกเขาไม่ยอมซื้อนั้นมันควรเป็นของผม ซึ่งตอนนี้มันมีมูลค่ากว่า 50 ล้านบาท”
แม้ว่าในตอนนี้ชีวิตของซินหยาง จะดูไม่ใช่ปลายทางความสำเร็จของคนที่ได้ชื่อว่าอัจฉริยะเท่าใดนัก แต่สำหรับซินหยางแล้ว เขาพอใจกับชีวิตปัจจุบันของเขามาก เขาเล่าว่า
“ผมสามารถใช้ชีวิตทั้งชีวิตได้โดยไม่ต้องทำงาน แค่พึ่งพาพ่อแม่ หรือคนอื่น ๆ ในครอบครัว”
นอกจากนี้ เมื่อถูกถามว่าเขาเป็นเด็กอัจฉริยะหรือไม่ ซินหยางตอบว่า “ผมไม่คิดอย่างนั้น” ขณะเดียวกันบางครั้งพ่อแม่ของซินหยางก็รู้สึกเสียใจที่ผลักดันให้ลูกเป็นอัจฉริยะ แต่คิดได้ตอนนี้ก็สายไปแล้วสำหรับช่วงเวลาที่ซินหยางได้เสียไปจากการถูกควบคุมของพ่อแม่
พอเรื่องราวของซินหยางเผยแพร่ออกไป ความคิดเห็นของชาวเน็ตจีนก็แตกออกเป็นสองฝั่ง บางคนวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเย่อหยิ่ง และขาดความเคารพต่อพ่อแม่ของซินหยาง ในขณะที่บางคนอ้างถึงกรณีของซินหยางว่าเป็นบทเรียนให้กับผู้ปกครองที่ผลักดันลูก ๆ มากเกิน แทนที่พวกเขาควรจะได้ใช้ชีวิตในวัยเด็กอย่างเต็มที่
อย่างไรก็ตาม หากย้อนเวลากลับไปแล้วซินหยางไม่ได้ฉายแววอัจฉริยะออกมา หรือมีสิทธิ์กำหนดชีวิตตัวเองไปศึกษาต่อที่เยอรมนี ชีวิตของเขาจะเปลี่ยนไปหรือไม่ คงไม่มีใครรู้ เพราะวันนี้เขากลายเป็นเด็กที่สูญเสียชีวิตวัยเด็กเพื่อสานฝันให้พ่อ และกลายเป็นเหยื่อของความคาดหวังไปแล้ว
.
ภาพ : youtube
.
อ้างอิง
.
China’s youngest prodigy stumbles along the way(2) - Headlines, stories and photos from ecns.cn