28 พ.ย. 2562 | 23:35 น.
"ตอนที่เหลือข้าวโพดอยู่กำสุดท้าย แม่ผมตัดสินใจเอาไปบดเป็นแป้งทำเป็นเค้กไปขาย เพราะหวังว่าจะมีเงินเลี้ยงครอบครัวให้รอดไปจนถึงฤดูเพาะปลูกปีหน้า ที่ตอนนั้นราคาข้าวโพดน่าจะถูกลงกว่านี้ แต่โชคร้ายที่ไม่เป็นเช่นนั้น ข้าวโพดไม่ต่ำลงแถมยังแพงขึ้นเรื่อย ๆ” แม้พื้นที่ส่วนใหญ่ของสาธารณรัฐมาลาวี ที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปแอฟริกา จะมีลักษณะเป็นทุ่งหญ้าที่มีภูมิอากาศแบบเขตร้อนชื้นทุ่งหญ้า แต่ในปี 2001 ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีส่วนทำให้ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล จนเกิดสภาวะการขาดแคลนอาหารอย่างกว้างขวางขึ้นในมาลาวี เพราะประชาชนกว่า 80% เป็นเกษตรกรที่เพาะปลูกโดยการพึ่งพาน้ำฝนจากธรรมชาติ ส่วนใหญ่จะปลูกข้าวโพด ถั่วเหลือง มันหวาน ถ้าเหลือจากการใช้บริโภคเองจะนำไปขายเพื่อหาเงินมาซื้อวัตถุดิบในการเพาะปลูกครั้งต่อไป พอฝนไม่ตก ผลผลิตที่ควรจะงอกงามมาเป็นอาหารเลี้ยงปากท้องของคนเกือบ 20 ล้านคนก็แห้งตายไปพร้อมกับผืนดินที่แตกระแหง แถมราคาข้าวโพดที่นำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างแทนซาเนีย ก็มีราคาสูงขึ้นเรื่อย ๆ จากต้นทุนการขนส่งทางไกล และการโกงราคาจากพ่อค้าคนกลาง ครอบครัวของ วิลเลียม คัมแควมบ้า (William Kamkwamba) ที่อาศัยอยู่ในเมืองคาซังกู ก็เป็นหนึ่งในคนกว่า 20 ล้านคน ที่ต้องอดอยากเพราะเหตุการณ์ในครั้งนั้น “ตอนนั้นผมจ้องมองพ่อ พร้อมพืชผลแห้งกรอบบนผืนดินแห้งผาก ผมตัดสินใจว่าในอนาคตจะต้องไม่เป็นอย่างนั้น ผมไม่อยากทำไร่ทำสวน ไม่ใช่เพราะเกลียดการทำการปลูกผักนะ แต่หลายคนในประเทศนี้มาเป็นเกษตรกรเพราะความจำยอมที่บีบบังคับให้ทำได้แค่จับจอบไถ พรวนดิน หว่านเมล็ดพืช รอฟ้าฝน แล้วก็เก็บเกี่ยว เพื่อหาเงินมาจุนเจือครอบครัว ผมอยากออกจากวงจรนั้น ซึ่งสิ่งที่ช่วยได้คือการศึกษา”