‘ท่านเวาะห์’ พระเลี้ยงช้างหนึ่งเดียวในประเทศไทย ผู้นำแห่งสันติสุขชายแดนใต้

‘ท่านเวาะห์’ พระเลี้ยงช้างหนึ่งเดียวในประเทศไทย ผู้นำแห่งสันติสุขชายแดนใต้

'ท่านเวาะห์' พระเลี้ยงช้างหนึ่งเดียวของไทย ผู้นำสันติชายแดนใต้ สะพานใจพุทธ-มุสลิม ใช้ธรรมะและวัฒนธรรมเชื่อมใจคนในพื้นที่อย่างเท่าเทียม

KEY

POINTS

  • ท่านเวาะห์ เป็นพระสงฆ์ผู้เชื่อมความสัมพันธ์ไทยพุทธ-มุสลิมในชายแดนใต้ ด้วยแนวคิดสันติและใกล้ชิดชุมชน
  • เลี้ยงช้างแมะเดาะห์ ใช้ช้างร่วมงานบุญ วัฒนธรรมท้องถิ่น และรักษาภูมิปัญญาโบราณ
  • แนวคิดท่าน เน้นแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ สร้างความสามัคคีด้วยศีลธรรมและการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่

ในวัดเทพนิมิตกลางอำเภอปานาเระ จังหวัดปัตตานี มีพระรูปหนึ่งที่โด่งดังในฐานะผู้เลี้ยงช้างเพียงหนึ่งเดียวในประเทศไทย เขาคือ 'ท่านเวาะห์' หรือ 'พระเรวัตร ถิรสัทโธ' ผู้เป็นที่รักและเคารพของชาวบ้านทุกศาสนา ชาวพุทธเรียกท่านว่า 'พระเวาะห์' ส่วนชาวมุสลิมมักเรียกท่านว่า 'โต๊ะเวาะห์' ท่านเลี้ยงดูช้างชื่อ “แมะเดาะห” เปรียบเสมือนลูกที่ท่านรักดั่งหัวใจ ท่านมักขี่ช้างไปยังที่ต่างๆ พร้อมทั้งไปร่วมกิจกรรมชุมชนอย่างอบอุ่นและเป็นกันเอง

ตามประวัติเดิม ท่านเวาะห์ หรือ พระเรวัตร ถิรสัทโธ มีพื้นเพจาก อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เกิดในครอบครัวที่มีบรรพบุรุษมุสลิมและพุทธ จบการศึกษาจากวิทยาลัยเกษตรกรรมป่าไผ่ จ.นราธิวาส ก่อนเลือกเข้าสู่เส้นทางสายธรรม โดยเข้าอุปสมบทเมื่อปี 2525 จากนั้นศึกษาธรรมอยู่หลายวัด จนได้ธุดงค์ไปทั่วประเทศเพื่อฝึกจิตใจและสั่งสมประสบการณ์ สุดท้ายท่านได้กลับมาปักหลักในชายแดนใต้ กลายเป็นที่ยึดเหนี่ยวของชาวบ้านในวัดเทพนิมิตตั้งแต่ปี 2561

แทบทุกงานที่ท่านเวาะห์ทำหน้าที่ดูแลและร่วมกิจกรรมทั้งของชาวพุทธและชาวมุสลิมอย่างเต็มใจ ไม่ว่าจะเป็นงานบุญ งานแต่งงาน งานศพ หรือแม้แต่งานมัสยิด ท่านไปร่วมงานด้วยเสมอ เป็นพระผู้เชื่อมความสัมพันธ์ของสองศาสนาอยู่ตลอดเวลา เพื่อแสดงถึงการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ในวันสำคัญของชาวมุสลิม เช่น วันฮารีรายอ ท่านยังมอบเงินให้เด็กๆ แสดงถึงความเอื้อเฟื้อและการแบ่งปัน ทุก ๆ ปี

‘ท่านเวาะห์’ พระเลี้ยงช้างหนึ่งเดียวในประเทศไทย ผู้นำแห่งสันติสุขชายแดนใต้

ท่านเวาะห์เชื่อมั่นว่าทุกศาสนามีจุดมุ่งหมายร่วมกันคือการช่วยให้ทุกคนพ้นจากความทุกข์ ชาวบ้านทั้งไทยพุทธและมุสลิมจึงเคารพนับถือท่านอย่างลึกซึ้ง  ท่านเป็นทั้งพระและผู้นำชุมชนที่สานสัมพันธ์สองศาสนา ทำให้ชายแดนใต้ยังคงความสงบสุขและรักใคร่กลมเกลียว 

จากในอดีตวัดเทพนิมิตรเคยเป็นวัดเก่าแก่ แต่มาช่วงที่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงทำให้พระเจ้าอาวาสท่านก่อนต้องย้ายออกไป วัดจึงเกือบจะกลายเป็นวัดร้าง  เมื่อครั้งท่านเวาะห์ย้ายมาประจำที่นี่ ก็เกิดการพัฒนาจนสถานการณ์ดีขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะบุคลิกความเป็นกันเอง และการที่ท่านเลี้ยงช้าง โดยใช้ออกงานบุญ งานสำคัญวัฒนธรรมท้องถิ่นอยู่ตลอดมาจนทำให้เกิดความอบอุ่นกับชาวบ้าน เกิดความรักใคร่กลมเกลียว ทำให้สถานการณ์กลับมาดีเหมือนเดิม

ชาวบ้านเรียกและท่านได้ฉายา อีกชื่อหนึ่ง ว่า ‘โต๊ะกาเป๊าะ’ หรือ ‘ท่านเวาะห์อาจารย์ขุนขวาน’ ซึ่งมาจากเมื่อครั้งเป็นฆราวาสที่ชอบพกขวานขนาดเล็ก หรือ ที่ชาวปักษ์ใต้เรียกกันว่า ‘ลูกขวาน’ ติดตัวไปไหนมาไหนตลอดเวลา ท่านเวาะห์เป็นชื่อทางสงฆ์ที่ชาวพุทธเรียกทางหนึ่ง ส่วนโต๊ะเป็นคำเรียกของคนมุสลิมในพื้นที่ ซึ่งมีความหมายว่า ครู ในขณะที่คำว่า กาเป๊าะ แปลว่า ขวาน ดังนั้นจึงกลายเป็นชื่อที่เขาเรียกเรากันติดปากในหมู่คนพุทธและคนมลายูในชายแดนใต้ว่า ‘ท่านเวาะโต๊ะกาเป๊าะ’ นั่นเอง

‘ท่านเวาะห์’ พระเลี้ยงช้างหนึ่งเดียวในประเทศไทย ผู้นำแห่งสันติสุขชายแดนใต้

เมื่อมีงานบุญทั้งของพุทธและอิสลามจะพบเห็น ‘ท่านเวาะห์’ ทุกงาน เพราะท่านคิดอยู่เสมอว่า ศาสนาใดก็มีเป้าประสงค์เดียวกัน นั่นคือ การช่วยให้ทุกคนพ้นจากบ่วงแห่งความทุกข์ จนทุกวันนี้ชาวบ้านทั้งไทยพุทธและมุสลิม 

ท่านเวาะห์พูดถึงปัญหาสังคม เน้นย้ำว่า ปัจจุบันเราแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุ การแก้ปัญหาที่เริ่มจากใหญ่ มีอะไรบ้างที่ดี ถ้าเริ่มจากเล็ก ๆ ใหญ่ข้างหน้าถึงจะดี ทุกวันนี้ความสามัคคีค่อย ๆ เรียวเล็กลง เพราะเราไม่แก้ที่ต้นเหตุ นอกจากนี้ควรปลูกฝังให้เด็กมีศาสนา มีคุณธรรม รวมถึงแก้ปัญหาการศึกษาให้ชาวบ้าน ปัญหาชายแดนภาคใต้ ต้องแก้ในระดับราก ต้องแก้โดยคนในพื้นที่ หลักใหญ่ๆ อยู่ที่ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนา ซึ่งรู้จักคนในหมู่บ้าน มีความรู้ มีความคิดที่จะแก้ไขได้ แต่ที่ผ่านมา ไม่มีโอกาส จึงวุ่นวาย หวาดระแวงไปทั่ว ที่สำคัญการแก้ปัญหา ต้องแก้ให้ตรงประเด็น เริ่มจากต้นเหตุ โดยให้คนในพื้นที่มีส่วนร่วม ถ้ามีโอกาสก็ช่วยกันออกความเห็น ช่วยกันชี้แนะ เพราะทุกคนทุกศาสนามีสิทธิเท่าเทียมกัน

ปัจจุบัน นอกจากจะเป็นที่ปรึกษาคนในชุมชนแล้ว เป็นที่พึ่งพาชาวบ้านทั้งพุทธและมุสลิมด้วยวิธีทางสายกลางอย่างเท่าเทียมกันแล้ว ยังเป็นที่ปรึกษาเจ้าหน้าที่ระดับสูง เพื่อให้ความเห็นและแนะนำการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ จะมีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ มาเคารพ ขอพร ขอคำแนะนำ ปรึกษาอยู่เป็นประจำ 

การให้คำปรึกษาของท่าน จะพูดแบบอย่างเรียบๆ แบบธรรมชาติ ตรงไปตรงมา ให้ความรู้จากธรรมะ ท่านมักจะสอนว่า เพราะธรรมะ คือธรรมชาติ โดยมองว่าที่ผ่านมามักจะให้ยึดหลักการแก้ปัญหาแบบใช้อำนาจ ให้มีความยำเกรง ไม่ตรงกับสภาพของชาวบ้านในพื้นที่ ที่อยู่แบบเรียบง่าย แบบธรรมชาติ การแก้ปัญหาภาคใต้ต้องใช้แบบพระคุณ ไม่ใช่พระเดช และปัญหาของสังคมไม่ได้เกิดจากชาวบ้าน แต่เกิดจากผู้มีอำนาจและความโลภของคน และขาดคุณธรรมทางศาสนา ทั้ง 2 พวก ก็เหมือนกัน

เป็นที่รับรู้กันในวงกว้างอีกด้านหนึ่งที่โดดเด่นของท่าน นั่นคือ การทำหน้าที่เป็น 'หมอช้าง' พระเลี้ยงช้าง ซึ่งท่านเล่าว่า เป็นวิชาที่ได้รับการถ่ายทอดมาจาก 'ทวด' เนื่องจาก ในอดีตใน  3 จังหวัดชายแดนใต้ มีช้างป่าและช้างเผือกจำนวนมาก ทั้งใช้งานและเป็นพาหนะเดินทางในป่า ดังนั้นจำเป็นต้องมีกระบวนการอันเป็นศาสตร์ที่มีการถ่ายทอดมาจากบรรพชน ซึ่งวันนี้ในพื้นที่เหลือ มีเพียงท่านเวาะห์เท่านั้นที่สามารถประกอบพิธีเต็มรูปแบบ ตามสูตรโบราณ มีการแห่ช้างในพิธีงานบุญ งานใหญ่ จะมีกองแห่ คณะคนเลี้ยงช้างอย่างครบถ้วน คณะการละเล่นวัฒนธรรมทีองถิ่น โนราแขก สิลัตต่างๆ โดยเฉพาะช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อน ในพื้นที่จะมีพิธีเข้าสุนัตหมู่ มาโซะยาวี

ท่านเล่าว่า งานมาโซะยาวี สุนัตหมู่ ที่นี้นิยมจัดกันเป็นงานใหญ่  ใครจะเอางานใหญ่แบบไหนบอกมา ลูกศิทย์มี ทั้ง 3 จังหวัดเลย เคยจัดงานใหญ่แห่ช้าง 16 เชือก เด็กเข้าร่วมพิธี 70 คน คนมาน่วมงานกันเป็นหมื่นๆเป็นแสน พวกเขาชอบกัน

“การที่มีพระสงฆ์เข้าร่วมงานบุญเหล่านี้ ผู้รู้ทางด้านศาสนาอิสลามในพื้นที่ บอกว่าไม่ผิดหลักศาสนาแต่อย่างใด เพราะเป็นการร่วมงานวัฒนธรรมประเพณี ไม่ได้เข้าร่วมพิธีทางศาสนา อีกทั้งถือเป็นภาพลักษณ์ที่ดีที่ทำให้สังคมภายนอกได้เข้าใจ ในอีกมิติหนึ่งของพี่น้องชาวจังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้จะมีความต่างในเรื่องศาสนาและความเชื่อ แต่ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข โดยยึดหลัก แม้แตกต่าง แต่ไม่แตกแยก เราทำดีก็จะได้ผลบุญ ทำดีจะกลัวอะไร ทุกคนทำดีก็จะได้ผลดีกลับมา แล้วใครล่ะที่ได้กรรมดี ผลดี มันก็ได้กับตัวเขาเอง ชาวบ้านทุกคนนั่นแหละ ลูกเอ้ย"  ท่านเวาะกล่าวทิ้งท้าย

วันนั้นเราได้ เดินมองเห็นท่าน ทำกิจวัตรประจำวัน นำช้างโปรดที่เลี้ยงอยู่ ชื่อแมะเดะ มา ให้อาหาร และทักทายกับคณะของเราด้วย ความสนุกสนาน เมื่อมีงานบุญบางครั้งท่านก็จะขี้นหลังช้างตัวนี้ไปช่วยงานชาวบ้านด้วย สร้างความสุขและรอยยิ้มความสนุกสนานให้เด็กๆ และชุมชนที่ได้พบเห็น