24 มี.ค. 2566 | 14:30 น.
- ‘วาดดาว - ชุมาพร แต่งเกลี้ยง’ เริ่มสนใจประเด็นความเท่าเทียมทางเพศตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 จากวันนั้นเธอก็ร่วมเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันประเด็นดังกล่าวอย่างไม่ท้อถอย
- ปัจจุบัน วาดดาว ได้รับความไว้วางใจจากเพื่อนร่วมพรรคสามัญชน ให้ขึ้นเป็น ‘หัวหน้าพรรค’ ทำหน้าที่คืนความเป็นธรรมให้กับสามัญชนทุกคนของประเทศ และสร้างความตระหนัก พร้อมเปิดรอยแผลที่ถูกสังคมกดทับ เนื่องจากมีเพศสภาพไปตรงตามครรลอง และความเจ็บปวดทั้งหมด ออกมาตีแผ่สู่สังคม
‘วาดดาว - ชุมาพร แต่งเกลี้ยง’ นักกิจกรรมเพื่อความหลากหลายทางเพศ ในวันที่ก้าวเข้าสู่หมุดหมายใหม่ในชีวิตหลังจากได้รับการแต่งตั้งเป็น ‘หัวหน้าพรรคสามัญชน’ แม้เธอจะบอกตลอดบทสนทนาว่า เธอไม่ใช่หัวหน้า หากแต่เป็นเพียงคนคนหนึ่งที่พร้อมขึ้นมาทำหน้าที่ดูแลพรรคของประชาชนให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้า และทำตามอุดมการณ์ได้อย่างแข็งแกร่งและมั่นคง
“เราไม่ใช่หัวหน้าพรรคหรอก ไม่ใช่วาดดาว ทันทีที่เราได้รับตำแหน่ง ก็ประกาศกับเพื่อน ๆ ในที่ประชุมเลยว่าเราอยากใช้ Co-leader ในการทำงาน แต่ในนามของความรับผิดรับชอบทางกฎหมายอาจจะเป็นเราที่เป็นหัวหน้าพรรค แต่จริง ๆ เราเป็นหัวหน้าพรรคพวกร่วมกับรองหัวหน้าพรรคอีก 4 คน เราไม่ใช่พรรคที่มีหัวหน้าเพียงคนเดียว”
พบกับ Stories of the Month ซีรีส์ใหม่โดย The People บอกเล่าเรื่องราวที่น่าสนใจในแต่ละเดือน เราจะมีประเด็นพิเศษมาให้ติดตามแบบไม่ซ้ำกันทุกเดือน สำหรับเดือนมีนาคม 2023 มาพร้อมเรื่องราวของ ‘ผู้นำหญิงเก่ง’ ที่นอกจากความเก่งแล้วยังแกร่ง พร้อมนำพาอุดมการณ์ความเชื่อของตนให้ไปถึงฝั่งฝัน
โลกยุคปัจจุบันที่เปิดกว้าง บวกกับความสามารถและศักยภาพที่แสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ จึงไม่น่าแปลกใจที่ ณ ตอนนี้เราจะได้เห็น ‘ผู้หญิง’ จำนวนไม่น้อยก้าวเข้าสู่บทบาทในฐานะ ‘ผู้นำ’ ควบคู่ไปกับการสวมบทบาทอื่น ๆ เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนหรือสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับองค์กร สังคม และประเทศมากขึ้น
ติดตามเรื่องราวของ ‘ผู้นำหญิงแกร่ง’ ของไทย ซึ่งแนวคิดของพวกเธออาจจุดประกายไอเดียหรือสร้างแรงบันดาลใจให้กับใครหลายคน เพื่อนำมาเป็นแนวทางการใช้ชีวิตหรือสร้างความสำเร็จให้กับตัวเอง โดยในเดือนนี้ The People ได้เลือก ‘ผู้นำหญิงเก่ง’ ของไทยมานำเสนอ สัปดาห์ละ 1 คน
‘ผู้นำหญิงเก่ง’ ของไทย : ‘ชุมาพร แต่งเกลี้ยง’ นักกิจกรรมเพื่อความหลากหลายทางเพศ ผู้ก้าวขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคสามัญชน
เส้นทางการเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศในประเทศไทยนั้น อาจยังดูห่างไกลกว่าเราจะเห็น ‘ความเท่าเทียม’ ในประเทศนี้อย่างแท้จริง แม้หลายคนอาจมองว่าสังคมเราเป็นสังคมที่เปิดกว้าง และพร้อมที่จะให้โอกาสกับทุกเพศสภาพ แต่หากเพ่งพิจารณาให้ละเอียดขึ้นอีกนิด จะเห็นได้ว่าโอกาสที่หลายคนบอก กลับมีข้อจำกัดบางอย่าง เพื่อทลายกรอบข้อจำกัดเหล่านี้ออกไป วาดดาว จึงต้องลุกขึ้นมาเป็นหัวขบวนในการนำ ‘สิทธิ’ และ ‘ความเท่าเทียมทางเพศ’ ให้ผลิบานขึ้นในประเทศไทย
วาดดาว เริ่มให้ความสนใจกิจกรรมการเมืองตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 แต่ประสบการณ์ที่ทำให้เธอรับรู้ว่า ‘ผู้หญิง’ ก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า ‘ผู้ชาย’ คือช่วงที่เธอเรียนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้ลงเรียนวิชาว่าด้วยเรื่องเพศ หลังจากวันนั้นโลกความหลากหลายทางเพศของเธอก็เปิดกว้าง และผลักให้เธอมุ่งมั่นมาสู่เส้นทางการเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศมาโดยตลอด
จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไม ชื่อของ วาดดาว - ชุมาพร จะติดโผหนึ่งในนักกิจกรรมเพื่อความหลากหลายทางเพศมาเป็นเวลาไม่ต่ำกว่าทศวรรษ แต่ใช่ว่าจิตใจของผู้นำหญิงเก่งคนนี้จะแกร่งดั่งหินผาตลอดเวลา เธอต้องเสียหยาดเหงื่อและน้ำตามานับไม่ถ้วน เพื่อพิสูจน์ให้คนทั้งประเทศเห็นว่า ความเท่าเทียมทางเพศไม่ใช่เรื่องน่าขำ หากแต่เป็นสิทธิอันพึงมีของทุกคนไม่ว่าพวกเขาจะมีเพศสภาพแบบใดก็ตาม
“เราไม่ได้คิดว่า เฟมินิสต์ (feminist) จะต้องเป็นคนที่นิยามว่าเป็นเฟมินิสต์เท่านั้น แต่เราให้คุณค่าเฟมินิสต์ก็คือทุกคนที่ลุกขึ้นมาทำงานเรื่องความเป็นธรรมทางเพศ บางทีเขาอาจจะเป็นแค่ผู้หญิงคนนึง ที่รู้สึกว่าชีวิตฉันต่อสู้มาทั้งหมดด้วยลำแข้งของเขาเอง เขาไม่จำเป็นต้องเรียนรู้ก็ได้ว่าหลักคิดเฟมินิสต์คืออะไร
“เฟมินิสต์ สำหรับเราคือการที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เรื่องความเป็นธรรมทางเพศ การอยากจะเห็นโลกใหม่ที่มีเรื่องความเท่าเทียมและเป็นธรรมทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นวรรณกรรม ทฤษฎี หรือว่าการเคลื่อนไหวใด ๆ ก็ตาม”
“และมันยังเป็นความท้าทายมาก ๆ ความท้าทายของสังคมด้วยที่ตื่นหรือยังว่าสงครามและอำนาจนิยมล้วนมาจากการครอบงำจากเพศ ๆ เดียว และถ้าตื่นแล้ว ต้อง empower ให้ทุกเพศสามารถลุกขึ้นมาเป็นผู้นำให้ได้ เราเลยคิดว่าเป็นความท้าทายว่าเราเองจะสร้างพื้นที่ให้สังคมพูดเรื่องนี้ต่อได้มากขนาดไหน”
หยาดน้ำตาของหญิงสาว
“มันต้องใช้พลังมากเลยนะ ยกตัวอย่างแบบทั่วไป เด็กคนหนึ่งหรือเราที่จะลุกขึ้นออกมาเคลื่อนไหว บางคนไม่มีเงิน แล้วเราก็รู้สึกว่าแบบ... แทนที่คุณอยู่ที่บ้าน ดูการ์ตูนที่บ้าน แต่ว่าเด็กเหล่านี้ลุกขึ้นมาสู้ แล้วก็ต้องกลับมาใช้ชีวิตเหมือนเดิมอีก กลับมาเยียวยากับความเจ็บปวดอีก แต่สิ่งเหล่านี้แหละทำให้เรายังเห็นความหวังในสังคมนี้”
แต่ไม่ว่าเธอจะทุกข์ทรมาน ต้องเสียหยาดน้ำตาไปอีกกี่ร้อยกี่พันหยด จากการออกมาต่อสู้เรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ สุดท้ายแล้วหญิงแกร่งคนนี้ยังคงมองเห็นแสงแห่งความหวัง... หวังว่าสักวัน ‘ความเท่าเทียมทางเพศ’ จะงอกงามในสังคมไทยได้ในสักวันหนึ่ง
“เราคิดว่าความเหนื่อยล้าเหนื่อยอ่อนมันคือเรื่องปกติ บางครั้งมันแทบที่จะไม่สามารถหายใจได้เลย แต่ว่าความเหนื่อยเหล่านั้นมันคนละเรื่องกันกับการที่เราหมดหวัง ความเหนื่อยจากสภาวะความหมดหวังมันเป็นความเหนื่อยที่ฟื้นฟูไม่ได้ แต่ความเหนื่อยสำหรับการต่อสู้ ความเหนื่อยของการทำงาน ความเหนื่อยของความสุขที่เรามีชีวิต มีความหวัง เราคิดว่ามันปั๊มได้ตลอดเวลา
“แต่ไม่มีครั้งไหนเลยที่รู้สึกว่าแบบหยุดยอมแพ้ ขอลี้ภัย ไม่ทำแล้ว ในหลาย ๆ วัน หลาย ๆ ช่วงเวลาที่ลุกขึ้นมา ก็พยายามดีไซน์ข้อมูลใหม่ ๆ ในการทำงาน ดีไซน์พื้นที่ใหม่ ๆ ในการทำงาน หาหนทางในการได้ทรัพยากรในการทำงาน เราคิดว่า 10 ปีที่ผ่านมาเราวนอยู่กับเรื่องนี้อย่างมีความภาคภูมิใจ”
นอกจากการขับเคลื่อนประเด็นทางเพศ วาดดาว ได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าพรรคสามัญชน พรรคที่ก่อกำเนิดขึ้นมาจากการรวมตัวของเหล่านักสู้ ผู้มองเห็นความไม่ยุติธรรมที่ปรากฎชัดในหมู่ประชาชนคนธรรมดา ‘สามัญชน’ จึงเป็นเหมือนตัวแทนคนส่วนใหญ่ของประเทศที่พร้อมรับฟัง และผลักดันให้เสียงเหล่านี้ ส่งไปถึงคนที่ยืนอยู่บนยอดพีระมิด
“เราเป็น 99% ที่จะทวงคืนที่ดินของสามัญชน จนกระทั่งเราตาย เราเป็น 99% ที่จะทำให้สวัสดิการแห่งรัฐกลายเป็นรัฐสวัสดิการ เป็น 99% ที่จะต่อกรกับอำนาจทหารที่เปลี่ยนรัฐเผด็จการเป็นรัฐสวัสดิการ เป็น 99% ที่จะตระหนักเรื่องของความเป็นธรรมทางเพศ และความหลากหลายทางเพศ”