ซูซาน เบนเน็ตต์: นักพากย์ผู้อยู่เบื้องหลัง ‘Siri’ เสียงของหุ่นยนต์ที่มีคนจริง ๆ คอยตอบคำถาม

ซูซาน เบนเน็ตต์: นักพากย์ผู้อยู่เบื้องหลัง ‘Siri’ เสียงของหุ่นยนต์ที่มีคนจริง ๆ คอยตอบคำถาม

‘ซูซาน เบนเน็ตต์’ (Susan Bennett) หญิงสาวผู้อ้างว่าเธอคือต้นฉบับเสียง Siri เวอร์ชันออริจินอล แม้ว่า Apple จะไม่เคยออกมายอมรับว่าใช้เสียงของเธอในฟีเจอร์ดังกล่าวก็ตาม

//หมายเหตุกองบรรณาธิการ: Apple ไม่เคยออกมายอมรับว่า ‘ซูซาน เบนเน็ตต์’ (Susan Bennett) คือต้นฉบับเสียงของ Siri บทความนี้จึงเป็นการเรียบเรียงขึ้นจากบทสัมภาษณ์และเว็บไซต์ข่าวต่างประเทศเป็นหลัก//

 

“หวัดดี! Siri”

คำกล่าวทักทาย Siri ซอฟท์แวร์ผู้ช่วยอัจฉริยะที่อยู่คู่ iPhone มาตั้งแต่ปี 2011 (ยุค iPhone 4S) สามารถรับคำสั่งและเข้าใจภาษามนุษย์ได้อย่างแจ่มแจ้ง แม้บางครั้งจะต้องกล่าวย้ำซ้ำ ๆ เพื่อให้ผู้ช่วยอย่างเธอเข้าใจความต้องการของเราให้ชัดขึ้นอีกนิดก็ตาม แต่รวม ๆ แล้ว Siri ก็เป็นปรากฎการณ์ที่น่าตื่นตาตื่นใจไม่น้อย เพราะเธอสามารถช่วยเราไขปริศนาที่ค้างคาใจได้ง่าย ๆ เพียงแค่เอ่ยปากถาม

แต่คำถามที่น่าสนใจคือ แล้วใครกันเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเสียง Siri? แม้จะไม่ได้รับการยืนยันข้อมูลอย่างแน่ชัดว่า ‘เธอ-คือ-ใคร’ เพราะกว่า ‘ซูซาน เบนเน็ตต์’ คนที่อ้างว่าเป็นเจ้าของเสียงตัวจริงจะออกมายืนยัน เวลาก็ผ่านไปราวหกปีเห็นจะได้ (เธอเริ่มอัดเสียงในปี 2005) เพราะไม่เคยรู้มาก่อนว่า เสียงของเธอจะกลายเป็นต้นแบบของ Siri ผู้ช่วยคู่ใจของเหล่าสาวก Apple จนกระทั่งเพื่อนนักพากย์บังเอิญเล่นฟีเจอร์ดังกล่าวเข้า แล้วรู้สึกคุ้นหูว่านี่คือเสียงของ เบนเน็ตต์ จึงต่อสายตรงไปหาเธอทันที

และนั่นคือจุดเริ่มต้นของ ‘ซูซาน เบนเน็ตต์’ หญิงสาวผู้อยู่เบื้องหลัง ‘Siri’ เสียงหุ่นยนต์อัจฉริยะที่คอยตอบคำถามและปลดเปลื้องความเหงาของมนุษยชาติ

หญิงสาวที่เป็นต้นฉบับเสียง Siri

ก่อนที่ ‘ซูซาน เบนเน็ตต์’ (Susan Bennett) จะเข้าสู่วงการนักพากย์ นักลงเสียงอย่างเต็มตัว ชีวิตวัยเด็กของเธอก็คุ้นเคยกับ ‘เสียง’ มาตั้งแต่ไหนแต่ไร เบนเน็ตต์ในวัย 4 ขวบ ชอบเล่นดนตรีเป็นกิจวัตร เธอตกหลุมรักเสียง ไม่ว่าเสียงเหล่านั้นจะมีแหล่งกำเนิดมาจากอะไร

ความหลงใหลในเสียงเริ่มก่อตัวสูงขึ้นเรื่อย ๆ จากต้องอาศัยเครื่องดนตรีเป็นตัวกลางในการสร้างเสียง เธอเลือกทางเดินชีวิตใหม่ ขอผละออกมาเป็นคนที่เป็นต้นกำเนิดของเสียงแทน ผ่านการร้องเพลง และลงเสียง jingles ที่ออกอากาศเป็นโฆษณาทางวิทยุและโทรทัศน์

นี่คือเรื่องราวที่เกิดขึ้นในช่วงกลางทศวรรษ 1970 ยุคที่คอมพิวเตอร์เริ่มปรากฏบนท้องถนน และเป็นยุคที่ผู้คนกำลังตื่นกลัวกับเหล่าเครื่องจักรนามว่า ATM พวกเขาไม่ไว้ใจ และไม่เคยเข้าใจเลยว่า การกดเงินจากตู้หุ่นยนต์กระป๋องจะดีกว่าการเดินไปหา ‘คน’ จริง ๆ ที่นั่งอยู่หน้าเคาท์เตอร์อย่างไร

เพื่อลดภาพความน่ากลัวและเรียกความน่าเชื่อถือจากประชาชน บริษัท McDonald & Little เลยว่าจ้าง เบนเน็ตต์ มาเป็นผู้ให้เสียงกับตู้ ATM จนทำให้คนกล้าที่จะใช้บริการกด ถอน ฝาก เงินจากตู้เพิ่มขึ้น และในอีกสิบปีให้หลัง เสียงของเธอถูกนำมาใช้งานในระบบนำทาง GPS และ Interactive Voice Response (IVR)

“ฉันเคยลงเสียงจิงเกิลในฆษณา ทำงานสตูดิโออีกสองสามแห่งในแอตแลนตา แต่มีอยู่วันหนึ่ง ตอนนั้นฉันกำลังอัดเสียงโฆษณาอยู่ จู่ ๆ เจ้าของสตูดิโอเขาก็เดินมาบอกว่า ‘ซูซาน เสียงของเธอไม่มีติดสำเสียงเลย มานี่ เธอมาลงเสียงอันนี้ดีกว่า’

“แน่นอนว่ามันผ่านไปได้ด้วยดี และนั่นคือจุดเริ่มต้นทั้งหมด”

เบนเน็ตต์ เริ่มลงเสียงด้วยการคำแปลก ๆ โดยไม่รู้ว่า Malitia oi hallucinate, buckry ockra ooze. Cathexis fefatelly sexual ease stump คำเหล่านี้จะช่วยให้งานเธอสำเร็จได้อย่างไร

“ฉันต้องอ่านประโยคแปลก ๆ อย่างเช่น ‘cow hoist in the tug hut today’ อ่านชื่อที่อยู่และถนน เพื่อให้ทางบริษัท ScanSoft (Nuance ในปัจจุบัน) เอาไปคำที่ไม่ปะติดปะต่อเหล่านี้ไปผสมเป็นเสียงในภาษาอังกฤษได้ครบทุกมิติมากขึ้น

“วัน ๆ นึงฉันใช้เวลาลงเสียงจากที่บ้าน 4 ชั่วโมงต่อวัน และต้องทำงานติดต่อกัน 5 วันต่อสัปดาห์ตลอดเดือนกรกฎาคม ซึ่งฉันยอมรับตามตรงว่าแรก ๆ มันก็สนุกดีอยู่หรอก แต่พอนานวันเข้าฉันเหนื่อยกับมันมากเลย”

 

กว่าจะรู้เวลาก็ผ่านไป 6 ปี

ส่วนจุดเริ่มต้นที่ทำให้ เบนเน็ตต์ กลายเป็นต้นฉบับเสียง Siri เกิดขึ้นในเดือนมิถุนายนปี 2005 หลังจากเธอเซ็นต์สัญญาอัดเสียงกับบริษัท ScanSofe ตอนนั้นเธอแค่ทำหน้าที่ลงเสียง เพราะบริษัทเห็นว่าเสียงของเธอเข้ากับโปรเจ็กต์ใหม่ที่กำลังทำอยู่

หลังจากทำตามเงื่อนไขบริษัทครบถ้วน เธอก็ไม่ได้ตามต่อว่าเสียงของเธอจะถูกนำไปใช้ที่ไหน จนกระทั่ง เดือนตุลาคมปีเดียวกัน บริษัท ScanSoft ถูก Nuance ซื้อกิจการ เสียงของเธอจึงไปปรากฏอยู่ใน Siri เพราะนี่คือบริษัทที่อยู่เบื้องหลังการปลุกปั้นซอฟท์แวร์ตัวนี้ขึ้นมาอีกที

“ฉันได้รับโทรศัทพ์จากเพื่อนในอีกหกปีต่อมา มันเป็นสายที่แปลกมาก เขาทักฉันคำแรกว่า เฮ้! เบนเน็ตต์ เรากำลังลองไอโฟนรุ่นใหม่อยู่ (iPhone 4s) นี่มันเสียงของเธอไม่ใช่เหรอ

“บอกตามตรงว่าฉันไม่เข้าใจว่าเขาพูดถึงอะไร แต่หลังจากวางสาย ฉันก็เข้าไปเปิดเว็บไซต์ของ Apple เพื่อฟังเสียง Siri แล้วก็รู้ทันทีว่านี่คือเสียงของฉันแน่ ๆ”

ตามรายงานของ CNN ระบุว่า พวกเขาได้สอบถามไปยังผู้เชี่ยวชาญด้านการพิสูจน์อัตลักษณ์ทางเสียงที่มีประสบการณ์ไม่ต่ำกว่า 30 ปี เพื่อให้เปรียบเทียบเสียงของเบนเน็ตต์และ Siri พบว่าทั้งสองเสียงมีความเหมือนกัน 100%

หลังจากนั้น เบนเน็ตต์ ก็ใช้เวลาพิสูจน์ตัวเองว่าเธอคือเจ้าของเสียงต้นฉบับ Siri มาโดยตลอด แม้ว่าทาง Apple จะไม่เคยออกมายอมรับว่า เธอคือเจ้าของเสียงตัวจริงก็ตาม

และเธอ ก็ไม่เคยได้รับเงินค่าตอบแทน ที่เป็นเจ้าของเสียงตัวจริงจาก Apple แม้แต่บาทเดียว เนื่องจากเธอทำงานให้กับบริษัท ScanSoft ก่อนจะถูก Nuance ซื้อกิจการไปในภายหลัง

“แน่นอนว่าฉันปลื้มใจมาก แต่ก็กังวลเหมือนกันว่าทุกคนจะจำฉันในฐานะ Siri ไม่ใช่นักพากย์เสียง ฉันรักอาชีพนี้ และไม่ต้องการให้ภาพลักษณ์ของฉันถูกบดบังด้วย Siri”

ภายหลัง Apple ได้เปิดตัวเสียง Siri ในเวอร์ชันภาษาและสำเนียงที่แตกต่างกัน ซึ่งนักลงเสียงทุกคนล้วนออกมาพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า พวกเขาไม่รู้มาก่อนว่าจะถูกนำไปใช้ใน Siri

“การที่ Apple ไม่จ่ายเงินให้เรา ก็หมายความว่าบริษัทไม่มีข้อตกลงเรื่องการไม่เปิดเผยข้อมูล เราก็เลยคิดกันว่าไหน ๆ ก็ไหน ๆ แล้ว เรามาเปิดเผยตัวตนกันไปเลยดีกว่า จากนั้นฉันก็เริ่มโปรโมทตัวเองในฐานะ เบนเน็ตต์ หญิงสาวผู้อยู่เบื้องหลังเสียงต้นฉบับ Siri ซึ่งฉันสนุกนะที่ได้เป็น Siri มันมอบโอกาสในการทำงานให้ฉันเยอะมาก”

แต่ถ้าหากไปหยิบไอโฟนขึ้นมา ‘หวัดดี Siri’ ตอนนี้ เสียงที่ตอบกลับมา ไม่ใช่ของเบนเน็ตต์อีกแล้ว เพราะ Apple เลิกใช้เสียงของเธอตั้งแต่ปี 2013 สุดท้ายแล้วเธอจะเป็นเจ้าของเสียงตัวจริงหรือไม่นั้น ยังไม่มีคำตอบแน่ชัด แต่หากฟังจากผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์เสียง อย่างน้อยก็ช่วยให้โล่งใจได้หนึ่งเปราะว่า เธอ ‘อาจจะ’ เป็นตัวจริงเสียงจริง

 

ภาพ: Susan Bennett / Facebook และ Getty Images

 

อ้างอิง: