08 ธ.ค. 2566 | 19:13 น.
- เด็กสาวที่ออกเดินทางจากบ้านเกิดไปยังลอนดอน เพื่อตามความฝันของการเป็นนักแสดง
- ผู้ที่ลงมือทำอาหารอินเดีย เพื่อหลีกเลี่ยงอาหารอังกฤษและคลายความคิดถึงบ้าน
- ออดิชันรายการทำอาหารของ BBC ทำให้ทั้งอังกฤษและสหรัฐอเมริการู้จักอาหารอินเดีย
‘อินเดีย’ เป็นประเทศที่รุ่มรวยไปด้วยวัฒนธรรมอาหาร โดยมีจุดเด่นที่การใช้ ‘เครื่องเทศ’ ซึ่งมีประวัติยาวนานกว่า 7,000 ปี
อาหารอินเดียที่ไม่ได้มีดีแค่รสชาติ แต่ยังมีสรรพคุณเป็นยา เริ่มแพร่หลายไปสู่ประเทศเจ้าอาณานิคมอย่าง ‘อังกฤษ’ โดยมีการเปิดร้านอาหารอินเดียในอังกฤษครั้งแรกเมื่อราวศตวรรษที่ 19 เน้นขายให้กับลูกเรือและนักเรียนเอเชีย
ในช่วงทศวรรษ 1950 - 1960 ร้านอาหารอินเดียในอังกฤษเพิ่มมากขึ้นเป็นทวีคูณ ตามจำนวนคนงานชาวอินเดียที่มาทำงานในอังกฤษ กระทั่งปี 1970 ร้านอาหารอินเดียในอังกฤษก็ได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะมีการปรับรสชาติอาหารให้ถูกปากลูกค้าผิวขาว
พอมาถึงปี 1982 จึงเริ่มมีร้านอาหารอินเดียที่ขึ้นชื่อในอังกฤษ หนึ่งในนั้นคือร้าน ‘going for a curry’ แต่มีข้อสังเกตว่าร้านอาหารอินเดียที่ได้รับความนิยมในอังกฤษ มักไม่ใช่อาหารอินเดียแท้ ๆ หรือมีรสชาติดั้งเดิมตามต้นฉบับ
ปีเดียวกันนี้เอง ‘มธูร แจฟฟรีย์’ (Madhur Jaffrey) ได้เพิ่มกระแสความนิยมอาหารอินเดียในอังกฤษ ผ่านรายการทำอาหารของสถานีโทรทัศน์บีบีซี
นับเป็นครั้งแรกที่มีรายการทำอาหารอินเดียเผยแพร่สู่สายตาชาวอังกฤษผ่านทางโทรทัศน์ ในช่วงเวลาที่อังกฤษมีรายการทำอาหารสัญชาติอื่นเพียง 2 - 3 รายการเท่านั้น
หากจะกล่าวว่า แจฟฟรีย์เป็นผู้บุกเบิกการทำอาหารอินเดียผ่านทางโทรทัศน์ จึงไม่ใช่เรื่องเกินจริงนัก
ระหว่างเผยแพร่วัฒนธรรมอาหารของบ้านเกิด เธอได้ให้คำแนะนำผู้ชมอย่างละเอียด ตั้งแต่การคัดสรรวัตถุดิบ มองหาอุปกรณ์ และสอนทำอาหารทีละขั้นตอน สร้างแรงบันดาลใจให้ชาวอินเดียและชาวต่างชาติหันมาสนใจการทำอาหารอินเดียมากขึ้น
‘มีร่า โสดา’ สตรีเชื้อสายอินเดียที่ทำงานเป็นคอลัมนิสต์ด้านอาหารของหนังสือพิมพ์ ‘เดอะ การ์เดียน’ เล่าว่า ตอนที่พ่อแม่ของเธอย้ายมาที่อังกฤษเมื่อปี 1970 เพื่อนบ้านขอให้พวกเขาปิดหน้าต่างระหว่างทำอาหาร (เพราะกลิ่นรบกวน) แต่การที่แจฟฟรีย์ทำอาหารอินเดียออกโทรทัศน์อย่างมีเกียรติ เสมือนได้คืนความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมอาหารให้แก่ชาวอินเดียอีกครั้ง
เด็กอินเดียผู้หลงรักการแสดง
แจฟฟรีย์เกิดเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม ปี 1933 ที่เมืองเดลี ประเทศอินเดีย เธอเป็นลูกคนที่ 5 จากบรรดาพี่น้อง 6 คน ด้วยความที่เติบโตมากับพี่และน้องชายที่อายุไล่เลี่ยกัน เธอจึงมักแต่งตัวเหมือนเด็กผู้ชาย และชอบเล่นคริกเกต (กีฬาที่ใช้ไม้ตีกับลูกบอลเป็นที่นิยมมากในอินเดีย) ปีนเขา และตกปลา
อายุเพียง 3 ขวบ เธอก็ได้ไปดูหนังกับพ่อ ซึ่งทำให้เธอชื่นชอบประวัติศาสตร์ของหนังและจำได้ว่าหลงรัก ‘ไทโรน เพาเวอร์’ กับ ‘ลอเรนซ์ โอลิวีเอร์’ จากหนังเรื่อง ‘Pride and Prejudice’ และมีไอดอลด้านการแสดงอย่าง ‘มาร์ลอน แบรนโด’
เมื่ออายุ 5 ขวบ เธอได้รับบทบาทเป็น ‘หนู’ ในละครโรงเรียนเรื่อง ‘The Pied Piper of Hamelin’ ซึ่งทำให้เธอหลงรักการแสดงมาก กระทั่งได้รับทุนไปเรียนด้านการแสดงที่กรุงลอนดอน ขณะมีอายุ 19 ปี
แม้จะมุ่งมั่นทำตามความฝัน แต่ความฝันนี้กลับไม่เป็นที่ถูกใจของผู้เป็นพ่อเท่าใดนัก พ่อของเธอมักพูดอยู่เสมอว่า “การแสดงเป็นเพียงงานอดิเรก” แม้ในวันที่เธอได้รับรางวัลด้านการแสดงจากประธานาธิบดี ‘ซากีร์ ฮุสเซน’ ของอินเดีย พ่อก็ยังมองว่า “การแสดงไม่ใช่อาชีพ”
ถึงกระนั้น พ่อก็ยินดีที่จะปล่อยให้เธอทำตามความฝัน และเธอเองก็มุ่งมั่นทุ่มเทให้กับอาชีพนักแสดงอย่างเต็มที่
โลดแล่นในวงการบันเทิง
ระหว่างที่แจฟฟรีย์เรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยมิรันดา เฮาส์ ในเมืองเดลี เธอได้เข้าร่วมกิจกรรมการแสดงของมหาวิทยาลัยอยู่เสมอ และได้เป็นดีเจเปิดเพลงตะวันตกในรายการ ‘All India Radio’ (AIR) รายการวิทยุกระจายเสียงสาธารณะของอินเดียที่ก่อตั้งโดยรัฐบาล
แจฟฟรีย์ยังมีโอกาสโลดแล่นในวงการหนังอินเดียประมาณ 5 ปี มีผลงานเด่น ๆ เช่น Shatranj Ke Khilari (The Chess Players) แล้วจึงเดินทางไปศึกษาต่อด้านการแสดงที่อังกฤษ จากนั้นจึงเดินทางไปสหรัฐอเมริกา
เธอเคยเล่าในรายการ ‘One on One’ ว่า “ฉันเดินทางไปสหรัฐอเมริกาเพราะไอดอลของฉัน มาร์ลอน แบรนโด ฉันเรียนการแสดงเพิ่มมากขึ้น ทำทุกอย่างที่เขาทำ เพราะอยากเก่งให้ได้เหมือนเขา”
การไปสหรัฐฯ ครั้งนั้นทำให้เธอได้พบกับ ‘อิสมาอิล เมอร์แชนท์’ และ ‘เจมส์ ไอวอรี’ ชาวอินเดียกับเพื่อนชาวอเมริกันผู้ก่อตั้ง ‘เมอร์แชนท์ ไอวอรี โปรดักชัน’ ค่ายหนังดังในสหรัฐฯ ซึ่งทั้งคู่ได้เชิญชวนให้แจฟฟรีย์มาเล่นหนังหลายเรื่อง เช่น The Wild Party, Autobiography of a Princess, Shakespear Wallah และ Cotton Mary
แต่การเป็นคนอินเดียในฮอลลีวูดไม่ใช่เรื่องง่าย แจฟฟรีย์ไม่ค่อยถูกเลือกให้รับบทนำ และมักได้เล่นแต่บทเดิม ๆ
เธอให้สัมภาษณ์กับ ‘เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์’ ว่า “ฉันรู้สึกว่านี่คือการเหยียดเชื้อชาติ ดูสิว่าฉันได้บทอะไรบ้าง ตอนยังสาว ฉันรับบทสาวตะวันออกกลาง พอเริ่มมีอายุ ฉันก็รับบทแม่ผู้ก่อการร้าย นักวิทยาศาสตร์ หมอ และเป็นหมออยู่อย่างนั้นช่วงหนึ่ง ฉันไม่ได้รับบทบาทที่ฉันสามารถทำอะไรก็ได้ แต่ฉันได้เป็นแค่นักแสดง”
แต่ถึงจะไม่ปลื้มกับบทบาทเดิม ๆ เธอก็ปล่อยพลังการแสดงเต็มที่จนสามารถคว้ารางวัล Silver Bear สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมในเทศกาลหนังเบอร์ลินปี 1965 ไปครองได้สำเร็จ จากผลงานในหนังเรื่อง Shakespear Wallah
แรงผลักดันจากรสชาติที่ไม่คุ้นเคย
ช่วงเวลาที่แจฟฟรีย์เรียนการแสดงในลอนดอน เธอไม่คุ้นชินกับรสชาติอาหารอังกฤษเลย อีกทั้งในยุคนั้นร้านอาหารอินเดียในลอนดอนมีเพียง 2 - 3 ร้านเท่านั้น และรสชาติก็แตกต่างจากที่เธอเคยกินอย่างสิ้นเชิง เธอจึงเขียนจดหมายไปหาแม่ ให้แม่ช่วยสอนวิธีทำอาหารอินเดียให้
เมนูอาหารที่แจฟฟรีย์ขอแม่ เป็นเมนูที่ประกอบด้วยเนื้อ กะหล่ำดอก และมันฝรั่ง ที่นำมาคลุกเคล้าด้วยเครื่องเทศอินเดียอย่างยี่หร่า กระวาน พริกไทยดำ ขิง และฮิงค์ ที่ช่วยให้อาหารมีรสชาติเผ็ดร้อน ออกมาเป็นเมนูคล้าย ๆ กับสเต๊กที่มีเครื่องเคียงคือผักทอด
แม้ในช่วงแรกวัตถุดิบสดดั้งเดิมของอินเดียนั้นจะหายาก แต่เธอก็พลิกแพลงหาวัตถุดิบที่พอทดแทนกันได้ เช่น ใช้ใบโหระพาแทนใบหอมแขก (curry patta) อย่างน้อยก็พอเว้นวรรคอาหารอังกฤษ และคลายความคิดถึงบ้านให้เธอได้
นักแสดงผู้ถ่ายทอดวัฒนธรรมอาหารอินเดียในอังกฤษ
จากนั้นแจฟฟรีย์ก็เข้าสู่วงการการทำอาหารอย่างเป็นทางการ หลังผ่านการออดิชันบทบาทพิธีกรรายการอาหารของบีบีซี ซึ่งเธอได้โชว์ฝีมือทำอาหารจนมัดใจทีมงานอยู่หมัด
หนึ่งในเมนูของแจฟฟรีย์ที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์อาหารอินเดียในอังกฤษคือ ‘Chicken with Cilantro’ เมนูอาหารหน้าตาคล้ายไก่ตุ๋นสมุนไพร ซึ่งเป็นรสชาติที่ผสมผสานระหว่างเนื้อไก่กับเครื่องเทศ พร้อมความสดชื่นจากผักชีและเลมอน
วันรุ่งขึ้นหลังจากรายการออนแอร์ แจฟฟรีย์ได้ยินมาว่า เมนูนี้ถึงกับทำให้ผักชีหมดเมืองแมนเชสเตอร์เลยทีเดียว
นอกจากเผยแพร่วัฒนธรรมอินเดียผ่านหน้าจอแล้ว แจฟรีย์ยังเขียนหนังสือสอนทำอาหารอินเดียกว่า 30 เล่ม
“ฉันได้รับบทเป็นแค่คนอินเดีย ทำงานปีเว้นปี บางครั้งก็ดี บางครั้งก็แย่ และฉันมีลูกเล็กที่ต้องเลี้ยง ฉันจึงต้องทำอะไรสักอย่าง นั่นคือการเขียนหนังสือ”
หนังสือเล่มแรกของเธอมีชื่อว่า ‘An Invitation to Indian Cooking’ (1973) เป็นการเล่าเรื่องอาหารที่เธอเคยลิ้มรสระหว่างเติบโต
เธอเข้าใจดีกว่าใครว่า จุดเริ่มต้นของการไม่มีพื้นฐานการทำอาหารนั้นยากเย็นเพียงใด ช่วงแรกแจฟฟรีย์เองก็ไม่รู้แม้กระทั่งวิธีการชงชา การหุงข้าว เธอจึงฝึกทำอาหารซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนออกมาดี ดังนั้นแจฟฟรีย์จึงถ่ายทอดวิธีการทำอาหารอย่างละเอียดประหนึ่งกำลังจับมือของผู้ชมและผู้อ่านทำ
“หลายคนคิดว่าการเขียนสูตรอาหารสั้น ๆ นั้นดีที่สุด และผู้คนก็ให้ความสนใจสูตรอาหารสั้น ๆ แต่นั่นทำให้พวกเขาไม่สามารถทำอาหารได้”
อาหารที่เป็นมากกว่าอาหาร
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าช่วงเวลาของการทำอาหาร หรือกินอาหารเป็นช่วงเวลาส่วนใหญ่ที่เราใช้ร่วมกันในครอบครัว และได้กลายเป็นความทรงจำ วัฒนธรรมที่ฝังรากลึกอยู่ในตัวเรา
“อาหารคือสิ่งที่ยึดเหนี่ยวครอบครัวเอาไว้ด้วยกันในหลาย ๆ ด้าน” แจฟฟรีย์ให้สัมภาษณ์สำนักข่าว CBC
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมนูบางเมนู ทำให้เราหวนคิดถึงเรื่องราวในอดีต ไม่ว่าจะเป็นความทรงจำวัยเด็กหรือความทรงจำเกี่ยวกับครอบครัว อาหารนำพาเราให้กลับไปยังอดีต กลับไปยังบ้านที่เราโบยบินจากมา นี่คือสาเหตุที่อาหารช่วยคลายความคิดถึงและเป็นความทรงจำอันมีค่าแก่เธอ
“ตอนเด็ก ๆ เราพี่น้องจะปีนต้นมะม่วงด้วยกัน เราจะเก็บลูกมะม่วง จากนั้นก็ปอกเปลือก แล้วเอาเกลือ พริกไทย เม็ดยี่หร่าป่น พริกป่น กินมะม่วงพร้อมกับเครื่องเทศทั้งหมดที่เรามี นั่นเป็นความทรงจำที่ยอดเยี่ยม”
นักแสดง เชฟ นักเขียน ที่ไม่เคยหมดไฟ
ในวัย 90 ปี แจฟฟรีย์ไม่มีทีท่าที่จะหมดไฟ เธอยังคงทำอาหาร และยังคงออกหนังสือ ‘An Invitation to Indian Cooking: 50th Anniversary Edition’ เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2023
แจฟฟรีย์สร้างแรงบันดาลใจและคุณประโยชน์มากมายให้กับโลกใบนี้ จนได้รับรางวัล ‘Lifetime Achievement Award’ จาก ‘UK Guild of Food Writers’ ในปี 2019 รวมถึงรางวัล ‘Padma Bhushan’ ซึ่งเป็นหนึ่งในอิสริยาภรณ์ขั้นสูงที่รัฐบาลรัฐอินเดียมอบให้ผู้มีผลงานดีเด่นหรือทำคุณประโยชน์อย่างสูงแก่สาธารณะในปี 2022 และรางวัล ‘James Beard Lifetime Achievement Award’ ปี 2023
เธอพูดถึงรางวัลที่ได้รับว่า “มันเป็นจุดสุดยอดสำหรับอาชีพของฉัน และฉันดีใจมาก”
ทั้งหมดนี้มีจุดเริ่มต้นจากการวิ่งตามความฝัน และการพร้อมรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดฝัน ดังที่เธอไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าตัวเองจะโด่งดังจากการเป็นเชฟโทรทัศน์ และนักเขียนด้านอาหาร
“เราต้องรู้ว่าตัวเองต้องการอะไร และมุ่งไปในทางที่เราต้องการ โดยปล่อยให้สิ่งต่าง ๆ เป็นไปอย่างที่ควรจะเป็น แต่สิ่งที่เราต้องการนั้นต้องไม่ทำร้ายใคร”
เรื่อง : นิภาภรณ์ แพงจำปา (The People Junior)
ภาพ : Getty Images
อ้างอิง:
Madhur Jaffrey becomes the first South Asian to win the James Beard Lifetime Achievement Award | Food-wine News - The Indian Express
One on One - Madhur Jaffrey - Nov 14 - Part 1 - YouTube
One on One - Madhur Jaffrey - Nov 14 - Part 2 - YouTube
Madhur Jaffrey’s Undefinable Roles - The New York Times
First South Asian To Win the James Beard Lifetime Award: Who Is Madhur Jaffrey? (thequint.com)
A brief history of curry in the UK (buttfoods.co.uk)
At 90, Madhur Jaffrey relishes her role as a groundbreaking food writer - The Washington Post
Lemony Chicken by Madhur Jaffrey - Madhur Jaffrey's Indian Cookery - BBC Food - YouTube
85 years gold: Why Madhur Jaffrey would rather spice up her career than slow down | CBC Radio
Madhur Jaffrey just wants you to cook Indian food, not perfect, just your way : NPR
Madhur Jaffrey - Madhur Jaffrey Cookbooks- Madhur Jaffrey's Indian Cuisines (indobase.com)
Madhur Jaffrey on seeing — or not seeing — anyone like you on TV ...and on what you should cook for your date | CBC Life