‘ดอน ริตชี’ เทวดาแห่งหน้าผาเดอะแก็ป ช่วยชีวิตคนฆ่าตัวตายด้วยคำพูดและการรับฟัง

‘ดอน ริตชี’ เทวดาแห่งหน้าผาเดอะแก็ป ช่วยชีวิตคนฆ่าตัวตายด้วยคำพูดและการรับฟัง

‘ดอน ริตชี’ เทวดาแห่งหน้าผาเดอะแก็ป ช่วยชีวิตคนฆ่าตัวตายด้วยคำพูดและการรับฟัง

KEY

POINTS

  • ‘ดอน ริตชี’ มนุษย์ธรรมดาที่ไม่ได้มีพลังวิเศษ แต่ช่วยชีวิตคนไว้ได้ด้วย ‘รอยยิ้ม’ และ ‘คำพูด’
  • ‘ดอน ริตชี’ และครอบครัวย้ายไปอาศัยอยู่แถวหน้าผาเดอะแก็ป หน้าผาที่คนมักมาจบชีวิตตัวเอง
  • แทนที่จะเพิกเฉยต่อการตัดสินใจของคนเหล่านั้น เขากลับใช้รอยยิ้ม และคำพูดที่แสนเรียบง่ายช่วยชีวิตพวกคนเหล่านั้นเอาไว้ 

จริงอยู่ที่เพลง ‘ยาพิษ’ ของ ‘บอดี้สแลม’ เคยกล่าวเอาไว้ว่า “คำพูดที่ไม่เคยคิด ที่จริงมันคือยาพิษ ทำลายชีวิตของคนงมงาย” 

แต่อีกด้านหนึ่ง คำพูดก็เปรียบดั่ง ‘น้ำทิพย์ชโลมจิตใจ’ ได้เช่นกัน เพราะคำพูดที่ดีสามารถเป็น ‘พลัง’ ให้คนฟังกลับมาต่อสู้ มีความหวัง หรือมีกำลังใจในการทำสิ่งต่าง ๆ 

ถ้าอยากรู้ว่า ‘คำพูด’ มีพลังแค่ไหน เราขอยกตัวอย่างเรื่องราวของชายที่ได้รับการยกย่องให้เป็น ‘เทวดาแห่งหน้าผาเดอะแก็ป’ (The Angel of The Gap) ผู้ใช้คำพูดช่วยชีวิตคนจำนวนมากที่คิดจะมาจบชีวิตตัวเองที่หน้าผา 

เทวดาในร่างคนธรรมดา

‘โดนัลด์ เทย์เลอร์ ริตชี’ (Donald Taylor Ritchie) หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ ‘ดอน ริตชี’ (Don Ritchie) เกิดเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 1926 ที่เขตชานเมืองของซิดนีย์ ในรัฐนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย เขาใช้ชีวิตปกติธรรมดาเหมือนเด็กทั่วไป จนกระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ทำให้หนุ่มน้อยริตชีต้องเดินเข้าสู่กองทัพเรือตั้งแต่อายุเพียง 13 ปี 

หลังจากรอดชีวิตในสมรภูมิรบมาได้ ริตชีเริ่มต้นอาชีพในฐานะพนักงานขายประกัน ก่อนจะมาพบรักกับหญิงสาวชื่อ ‘โมย่า’ (Moya) และตกลงปลงใจแต่งงานสร้างครอบครัวกัน ให้กำเนิดพยานรักเป็นลูกสาวสามคน

ปี 1964 ริตชีและครอบครัวย้ายไปอาศัยอยู่แถวถนน Old South Head ใกล้กับหน้าผาเดอะแก็ป (The Gap) หน้าผายอดนิยมที่นักท่องเที่ยวมักเดินทางมาเยี่ยมชมความงามทางธรรมชาติ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นสถานที่ยอดนิยมที่คนเลือกมาจบชีวิต

‘ดอน ริตชี’ เทวดาแห่งหน้าผาเดอะแก็ป ช่วยชีวิตคนฆ่าตัวตายด้วยคำพูดและการรับฟัง

ชาวออสเตรเลียตัดสินใจปลิดชีพตัวเองที่จุดนี้มาตั้งแต่ปี 1863 หลังจาก ‘แอนน์ แฮร์ริสัน’ (Anne Harrison) ที่มีภาวะซึมเศร้า ตัดสินใจกระโดดจากจุดนี้ลงไปยังท้องน้ำอันหนาวเหน็บ จากนั้นมาก็มีคนมาจบชีวิตที่นี่ประมาณ 50 คนต่อปี

เนื่องจากบ้านของริตชีสามารถมองเห็นคนบนหน้าผาได้อย่างชัดเจน ทุก ๆ เช้าหลังจากตื่นนอน ริตชีจึงเฝ้ามองว่าบนหน้าผามีใครหรือไม่ หากเขาเห็นใครยืนอยู่คนเดียวและมีท่าทีจะจบชีวิตตัวเอง ริตชีจะรีบรุดไปอยู่ใกล้ ๆ พร้อมส่งรอยยิ้มและคำพูดเชิญชวนว่า “ทำไมเราไม่ไปดื่มชาด้วยกันสักถ้วยก่อนล่ะ หรือจะเบียร์ก็ได้นะ”

ผู้ต่อลมหายใจให้เพื่อนมนุษย์ที่กำลังสิ้นหวัง 

เมื่อถามว่าทำไมริตชีต้องช่วยเหลือคนเหล่านั้น เขาตอบอย่างเรียบง่ายว่า “ต่อให้เป็นคนอื่นก็ไม่สามารถนั่งดูเฉย ๆ ได้หรอก คุณต้องพยายามช่วยเขาเหมือนกัน”

สำหรับวิธีช่วยเหลือคนที่คิดจะปลิดชีพตัวเองของริตชีก็ไม่ได้มีอะไรยุ่งยาก เพราะเขาไม่เคยแนะนำ ตัดสิน หรือให้คำปรึกษาอะไรกับคนเหล่านั้นเลย ริตชีเพียงแต่ชวนพวกเขามาดื่มชา หรือเบียร์ จากนั้นก็นั่งเงียบ ๆ ทำตัวราวกับเป็นอากาศธาตุ ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปจนกว่าพวกเขาจะยอมเปิดปากเล่าเรื่องราวของตัวเอง

หลังจากพวกเขาพรั่งพรูทุกอย่าง หน้าที่ของริตชีมีเพียงรับฟังโดยไม่ตัดสินเท่านั้น บางครั้งริตชีและโมย่าก็ชวนพวกเขากินมื้อค่ำ รวมถึงให้ที่พักค้างคืนและทำอาหารเช้าให้พวกเขากิน

บางครั้งริตชีก็เสี่ยงชีวิตปีนรั้วเป็นครั้งคราวเพื่อรั้งพวกเขาไว้ไม่ให้กระโดดลงไป และซื้อเวลาขณะที่โมย่าโทรฯ แจ้งตำรวจ ด้วยพฤติกรรมนี้เองที่ทำให้ครั้งหนึ่งริตชีเกือบต้องสังเวยชีวิตตัวเอง ในเหตุการณ์ที่ผู้หญิงคนหนึ่งพยายามจะกระโดดลงไปพร้อม ๆ กับริตชีที่กำลังยื้อยุดฉุดกระชากเธอไว้ แต่โชคดีที่หญิงสาวคนนั้นทำไม่สำเร็จ ไม่เช่นนั้นริตชีก็คงจากไปพร้อม ๆ กับเธอ

หลังจากเหตุการณ์นั้น ริตชีเรียนรู้ที่จะรักษาระยะห่างที่ปลอดภัยระหว่างเขากับคนที่ตัดสินใจจะฆ่าตัวตาย รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็เข้ามาติดตั้งกล้องวงจรปิด เพิ่มความสูงของรั้วกั้น และติดเบอร์โทรศัพท์ให้ความช่วยเหลือเพิ่มมากขึ้น

ไม่ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร ก็ยังดีกว่าไม่ลงมือทำ

แน่นอนว่ารอยยิ้มและคำพูดของริตชีไม่สามารถช่วยทุกคนไว้ได้ เพราะสาเหตุการฆ่าตัวตายของแต่ละคนนั้นแตกต่างกันออกไป แต่อย่างน้อยสิ่งที่ริตชีทำก็สร้างพลังงานดี ๆ ให้กับบางคนที่ยังอยู่

หนึ่งในนั้นคือ ‘ไดแอน กัดดิน’ (Diane Gaddin) นักเคลื่อนไหวป้องกันการฆ่าตัวตาย ที่สูญเสียลูกสาว ณ หน้าผาแห่งนี้ โชคไม่ดีนักที่ในคืนที่ลูกสาวเธอตัดสินใจปลิดชีพนั้น ริตชีไม่อยู่บ้าน เพราะเธอเชื่อว่าหากริตชีอยู่ ลูกสาวของเธอจะต้องเปลี่ยนใจแน่

“ฉันไม่เชื่อว่าเธออยากตาย แต่ฉันคิดว่าตอนนั้นเธอไม่สามารถรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้ และฉันรู้ว่าคำพูดดี ๆ จะทำให้เธอหันหลังกลับมา”

กัดดินยังกล่าวถึงริตชีว่า “เขาเป็นคนที่ไม่เหมือนใคร เขาเป็นแสงแห่งความหวังและแรงบันดาลใจ ไม่ใช่แค่ในออสเตรเลียเท่านั้น แต่รวมถึงประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกด้วย เพราะมันต้องใช้ความกล้าหาญ ความเด็ดเดี่ยว และการยืนหยัดที่จะยืนอยู่บนขอบหน้าผาเพื่อให้กำลังใจใครสักคนไม่ให้ตัดสินใจก้าวลงไปข้างล่าง เขาเป็นคนอ่อนโยน เขาโน้มน้าวคนเหล่านั้นด้วยการหยิบยื่นความหวังและคำพูดที่อบอุ่นราวกับอ้อมกอด”

รวมถึงเหตุการณ์ของเด็กผู้ชายคนหนึ่งที่ริตชีจำได้ “ผมคุยกับเขาประมาณครึ่งชั่วโมง ถามว่าทําไมคุณไม่มาดื่มชาสักถ้วย หรือเบียร์สักแก้วก็ได้นะ แต่เด็กชายคนนั้นตอบว่า ไม่ และกระโดดลงไป เหลือเพียงหมวกของเขาที่ถูกลมพัดเข้ามาในมือของผม”
.
ไม่กี่ปีต่อมา แม่ของเด็กคนนั้นก็มาหาริตชีพร้อมกับดอกไม้และคำขอบคุณที่พยายามช่วยเหลือลูกชายของเธอ 

ทั้ง ๆ ที่ริตชีต้องเห็นคนเหล่านั้นตัดสินใจกระโดดลงไปต่อหน้าต่อตา แต่เขากลับไม่มีภาพหลอนติดตาแต่อย่างใด เขาจำการปลิดชีพครั้งแรกที่เขาเห็นไม่ได้ด้วยซ้ำ รวมถึงไม่มีฝันร้ายใด ๆ ตามมา เพราะแต่ละครั้งเขาทำดีที่สุดแล้ว

พลังของรอยยิ้มและคำพูด

วันหนึ่งริตชีเห็นผู้หญิงคนหนึ่งกำลังจะฆ่าตัวตาย เขาจึงรีบข้ามถนนไปชวนเธอมาที่บ้านเพื่อพบกับโมย่าและดื่มชา ทั้งคู่รับฟังปัญหาของเธอและให้เธอพักผ่อนที่บ้านเขาหนึ่งคืน รวมถึงทำอาหารเช้าให้เธอกิน จนในที่สุดเธอก็รู้สึกดีขึ้นและขับรถกลับบ้านไป

หลังจากนั้นสองสามเดือนต่อมา หญิงสาวคนนั้นก็กลับมาขอบคุณริตชีและภรรยาพร้อมกับแชมเปญหนึ่งขวด และเธอจะมาเยี่ยมเยียนริตชีประมาณปีละครั้งหรือเขียนจดหมายส่งมาเพื่อยืนยันว่าเธอมีความสุขและสบายดี และไม่ใช่แค่ผู้หญิงคนนี้เท่านั้นที่ทำแบบนี้ เพราะอีกหลายคนที่ริตชีเคยช่วยชีวิตไว้ก็ทำแบบนี้เช่นกัน

สองสามีภรรยาไม่เคยรู้สึกแย่หรือรู้สึกหนักใจเลยที่ย้ายมาอยู่ที่นี่ “ฉันคิดว่า มันวิเศษมากที่เราอาศัยอยู่ที่นี่และเราสามารถช่วยเหลือผู้คนได้” โมย่าพูด และริตชีเองก็เห็นด้วยกับภรรยาสุดที่รัก

ตามรายงานอย่างเป็นทางการระบุว่าริตชีสามารถช่วยเหลือคนที่คิดจะจบชีวิตตัวเองไว้ได้กว่า 160 คน แต่จากการบอกเล่าของภรรยาและลูก ๆ ยืนยันว่าริตชีสามารถช่วยคนไว้ได้กว่า 400 คน

ริตชีช่วยเหลือผู้คนมาตั้งแต่เขาอายุ 35 ปี และทำมาเรื่อย ๆ เป็นเวลากว่า 50 ปี จวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต ริตชีจากไปในปี 2012 และแม้ว่าร่างกายของริตชีจะจากไป แต่สิ่งที่เขาทิ้งไว้ให้กับโลกใบนี้ทำให้เรารู้ว่า ฮีโร่ไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่ยิ่งใหญ่ หรือมีพลังวิเศษ เพราะ ‘คำพูด รอยยิ้ม และการรับฟัง มีพลังมากกว่าที่คุณคิด’

 

เรื่อง : นิภาภรณ์ แพงจำปา (The People Junior)
ภาพ : ภาพ ดอน ริตชี จาก australianoftheyear.org.au ประกบภาพหน้าผา The Gap จาก sydneycitytour.com.au

อ้างอิง:
Don Ritchie: Meet the Australian ‘Angel’ Who Saved 160 at a Suicide Spot - Nspirement

Australian ‘Angel’ Saves Lives at Suicide Spot - CBS News

Donald Ritchie OAM Australia's Local Hero 2011