‘จักรรินทร์ อยู่พิทักษ์’ เจ้าสัวแห่งบางกะม่า ผู้เปิด ‘เซ็นท่าน’ และ ‘ชราลาน’ เยียวยาจิตใจ

‘จักรรินทร์ อยู่พิทักษ์’ เจ้าสัวแห่งบางกะม่า ผู้เปิด ‘เซ็นท่าน’ และ ‘ชราลาน’ เยียวยาจิตใจ

ปุย’ จักรรินทร์ อยู่พิทักษ์ เจ้าสัวแห่งบางกะม่า ผู้เปิดร้านชำ ‘เซ็นท่าน’ และลานกางเต็นท์ ‘ชราลาน’ เยียวยาหัวใจตัวเอง

‘Coming Home’ โปรเจกต์ของ ‘The People’ ที่เกิดจากความเชื่อที่ว่า ‘Everyone has their own inspiring place’ ปักหมุดแรกกันที่จังหวัด ‘ราชบุรี’ ด้วยเรื่องราวของชายหนุ่มที่ไม่ได้มีนามสกุลดัง ไม่ได้เป็นเจ้าของห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ 

แต่เรายกให้เขาเป็น ‘เจ้าสัว’

ความร่ำรวยของเขาไม่ได้หมายถึงทรัพย์สินเงินทอง หากแต่เป็นความร่ำรวยในเสียงหัวเราะและอารมณ์ขัน สร้างความสุขให้คนในพื้นที่และนักท่องเที่ยว ที่เดินทางไปเยือน ‘บางกะม่า’ หมู่บ้านกลางหุบเขาในอำเภอบ้านคา จังหวัดราชบุรี

เหนือสิ่งอื่นใดร้านชำ ‘เซ็นท่าน’ และลานกางเต็นท์ ‘ชราลาน’ ที่มาพร้อมเรื่องเล่าชวนขำกลิ้ง ยังช่วยเพิ่มความเบิกบานใจให้เจ้าสัวผู้นี้ จนไม่คิดอยากย้ายกลับเข้าเมือง แม้เส้นทางและดินฟ้าอากาศในบางกะม่าจะเป็นอุปสรรคสำคัญในการทำมาหากิน 

เชิญติดตามเรื่องราวของ ‘ปุย’ จักรรินทร์ อยู่พิทักษ์ เจ้าสัวเซ็นท่านแห่งบางกะม่า – ลานกางเต็นท์ชราลาน ในรูปแบบบทความได้เลย

The People: ช่วยแนะนำตัวหน่อยค่ะ 

ปุย จักรินทร์: สวัสดีครับ ผมชื่อ ‘จักรินทร์’ นามสกุล ‘อยู่พิทักษ์’ วันเกิดบอกไปเลยนะ วันที่ 27 ตุลาคม ปี 2518 ออกมาพร้อมกับตอนมีแดดมั้ง มันเลยดำนิด ๆ ตอนนี้อายุ 48 แล้ว 48 แล้วเหรอเนี่ย ผมเข้าใจว่าตัวเองแค่ 18 เองนะ 

The People: ตอนนี้ทำกิจการอะไรอยู่คะ

ปุย จักรินทร์: กิจการตอนนี้ก็มีทำลานกางเต็นท์ และขายของ นี่เรียกกิจการได้ปะ? แล้วก็ปลูกพืชหมุนเวียนตามฤดูกาล แต่ปลูกได้แค่ฤดูฝน เพราะที่บางกะม่า ปัญหาใหญ่คือเรื่องน้ำ น้ำก็ต้องประหยัด เลยปลูกได้แค่ฤดูฝน แค่นั้น 

‘จักรรินทร์ อยู่พิทักษ์’ เจ้าสัวแห่งบางกะม่า ผู้เปิด ‘เซ็นท่าน’ และ ‘ชราลาน’ เยียวยาจิตใจ

The People: พี่เป็นคนบางกะม่ามาตลอดชีวิตเลยหรือเปล่า

ปุย จักรินทร์: ตั้งแต่เกิดผมเป็นคนโพธาราม ผมขึ้นมาเที่ยวบางกะม่าเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ตอนนั้นมีประเพณข้าวห่อ มีแข่งฟุตบอล ผมชอบเล่นบอลเลยขึ้นมาเตะบอลกับเขา ตอนแรกกะว่าคงจะตกรอบเร็ว แต่ดันฟลุกเข้ารอบ หลังจากนั้นก็เล่นกีตาร์ร้องเพลงลั่นเลย ก็มีสาวแอบมอง เลยติดต่อกันเรื่อยมา ฝ่ายหญิงเขาปลูกขิงขาย ด้วยความที่เรารู้จักคนเยอะ เราก็ช่วยติดต่อแม่ค้าให้ เขาก็เซฟเบอร์เราไว้ แต่เซฟชื่อว่าริน ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับพี่สะใภ้เขา 

มีวันหนึ่งผมนั่งจีบสาวอยู่ที่โพธาราม ปรากฏว่าเขาโทรมาถามว่าเมื่อไหร่จะขึ้นไปที่ไร่ คือเขาโทรผิด ผมก็จีบเขาเลย หลังจากนั้นผมก็ขึ้นมาอยู่ที่บางกะม่า 

‘จักรรินทร์ อยู่พิทักษ์’ เจ้าสัวแห่งบางกะม่า ผู้เปิด ‘เซ็นท่าน’ และ ‘ชราลาน’ เยียวยาจิตใจ

 

The People: การเป็นเขยบางกะม่าแตกต่างจากการเป็นหนุ่มโพธารามยังไงบ้าง 

ปุย จักรินทร์: แรก ๆ เราก็ยังมีความสุข แต่พอผ่านไปสักพักรายได้เริ่มไม่มี เราก็เริ่มเกิดความเครียดนิด ๆ บวกกับตอนนั้นสัญญาณโทรศัพท์ก็ไม่มี จะติดต่อหาพ่อแม่ก็ลำบาก เพื่อนก็ไม่มี ตอนนั้นผมเหมือนเป็นไบโพลาร์ เครียดอยู่บ่อย ๆ เหมือนความสุขเราหายไป 

อีกอย่างคือเราพยายามจะมีลูกกัน ก็ตั้งใจทำจนติด เราก็ดีใจนะ หมอนัดไปเจอวันจันทร์ แต่เราเสียลูกวันศุกร์ หลังจากนั้นก็พยายามทำใหม่ ก็ติด ๆ หลุด ๆ ผมเลยคิดว่าไม่มีแล้ว ปล่อยไปตามธรรมชาติ 

ตอนนั้นผมคิดว่าต้องหันมาทำอะไรสักอย่าง เพราะความเครียดสะสมเริ่มทำให้ผมขึ้นง่าย เวลานักท่องเที่ยวขี่รถมาดัง ๆ ผมจะขึ้นเลยนะ หงุดหงิดอะ เราก็เลยหันมาทำลานกางเต็นท์กับร้านเซ็นท่าน 

The People: ช่วยเล่าที่มาของชื่อ ‘เซ็นท่าน’ ให้ฟังหน่อย 

ปุย จักรินทร์: ที่ผ่านมาของเซ็นท่านคือการเซ็นของชาวบ้าน เดิมทีเรามีร้านอยู่แล้ว แต่แม่เป็นคนขาย ตอนนั้นยังไม่มีชื่อร้าน ผมก็เข้าไร่ ตัดหญ้า เตรียมเพาะปลูก จนเริ่มมีนักท่องเที่ยวมา ทีนี้แม่ก็เริ่มทอนเงินไม่ค่อยถูก เพราะแม่อายุเยอะแล้ว คุยกับนักท่องเที่ยวก็ไม่ค่อยได้ เมียผมเลยเปลี่ยนมาเป็นคนขายแทน 

ปรากฏว่าเมียผมเป็นคนใจก็ปล่อยให้ลูกค้าเซ็นไปเรื่อย แต่ก็สมควรให้เซ็น เพราะว่าชาวบ้านอยู่กันแบบไม่มีรายได้ ลูกค้าก็เซ็นจนติดเยอะ เวลาลูกค้าขี่รถผ่าน เขาก็เกรงใจ ทำเป็นหันไปมองทางอื่น ไม่หันมามองทางนี้ เพราะกลัวเราจะทวง 

ผมคิดว่าความจริงเข้ามาคุยกันก็ได้ เข้ามาคุยกันดีกว่า มาเซ็นเถอะ ไม่เป็นไรหรอก มาพูดคุยกัน มันไม่ได้เยอะมากมายตอนนั้นน่ะ แต่เราก็ไม่กล้าทวง เลยเขียนป้ายว่า ‘เซ็นเถอะท่าน’ มาเซ็นเถอะ มาคุยกันดีกว่าหายไป แต่พอผ่านไปครึ่งเดือน บัญชีจาก 4 พันกว่าบาท เพิ่มไปเป็น 8 พัน

โห ตอนนั้นเราวูบวาบไปหมดเลย เซ็นเถอะท่านไม่ไหวแล้ว เลยต้องตัดคำว่า ‘เถอะ’ ออก เหลือแค่ ‘เซ็นท่าน’ 

‘จักรรินทร์ อยู่พิทักษ์’ เจ้าสัวแห่งบางกะม่า ผู้เปิด ‘เซ็นท่าน’ และ ‘ชราลาน’ เยียวยาจิตใจ

ตอนเช้าพระมาบิณฑบาต ท่านก็หันมามองเพราะชอบใจ นักท่องเที่ยวขับรถผ่านก็ถอยหลัง แล้วก็ยิ้ม แต่เมียเราอายบอกว่าอย่าติดเลย ส่วนเราไม่อายหรอก ติดแม่งเลย ไม่อายใคร สุดท้ายนักท่องเที่ยวชอบ ถ่ายรูปไปเรื่อย เริ่มมีสติ๊กเกอร์มาแปะ ทีนี้ชาวบ้านก็เริ่มมาคุย เริ่มมาทยอยใช้หนี้ จากที่ไม่ค่อยกล้ามาคุยเพราะผมเหมือนเป็นไบโพลาร์ เขาก็เริ่มเห็น่าวผมมีมุมผ่อนคลาย ตอนนั้นก็เหลือหนี้ประมาณ 2 พันกว่าบาท แต่ ณ ปัจจุบันก็น่าจะขึ้นไปเหมือนเดิม (หัวเราะ) 

ก็กลับสู่สภาพเดิม มันไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง มันเปลี่ยนไม่ได้หรอก เขาจะเอาเงินจากที่ไหนล่ะ แล้ววิถีชีวิตอย่างนี้ มันเป็นวัฏจักรอะ วิถีของเขา ไม่มีอาชีพอะไร อย่างที่น้องขึ้นมา มันก็เงียบ เห็นไหม ทาง พม. ก็พยายามช่วยส่งเสริมให้ปลูกอะไรต่ออะไร แต่มันก็ล้มหมด ต้นไม้ก็ขึ้นไม่ได้เพราะไม่มีน้ำ เขาเลยมาส่งเสริมให้ทำลานกางเต็นท์  

เมียมีพี่น้อง 5 คน ในจำนวนนี้ 4 คนทำลานหมดเลยนะ ผมก็บอกเมียว่าเรามาทำลานกันดีกว่า แต่จะใช้ชื่ออะไรดี ผมก็คิดไปถึงพ่อตาที่ปีนี้ก็อายุ 80 ปีเข้าไปแล้ว แต่แกยังแข็งแรง ยังถอนหญ้า ถากหญ้าได้อยู่ เลยได้ชื่อ ‘ชราลาน’ เป็นลานของคนแก่
อีกอย่างคือพ่อตาไม่ชอบวัยรุ่นแบบเฮฮา ก็ตั้งชื่อนี้แล้วกันเพราะมันเหมือนเป็นการเลือกแขกด้วย วัยรุ่นไม่มาแน่ถ้าเป็นชื่อนี้ 

นักท่องเที่ยวบางคนก็บอกให้เปลี่ยนชื่อ ผมก็บอกว่าขอบคุณมากเลยที่บอก แต่จุดประสงค์ในการทำชราลานคือเราไม่ได้เน้นให้คนเข้าไปกันเต็มมากมาย เราเน้นให้มาแล้วมีความสุขกันทั้งสองฝ่าย ไม่ได้เน้น่วาต้องทำจนมีเงินเยอะ ผมเลยมั่นใจว่าต้องใช้ชื่อชราลานนี่แหละ เพิ่งจะครบรอบ 1 ปีไปเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2566

‘จักรรินทร์ อยู่พิทักษ์’ เจ้าสัวแห่งบางกะม่า ผู้เปิด ‘เซ็นท่าน’ และ ‘ชราลาน’ เยียวยาจิตใจ

The People: หลังเกิดเซ็นท่านกับชราลาน อาการไบโพลาร์ดีขึ้นบ้างไหมคะ

ปุย จักรินทร์: ดีขึ้น เพราะได้พูดคุยกับคนอื่น วิถีชีวิตเหมือนตอนเราอยู่ที่บ้าน มีเพื่อน มีรายได้ ถ้าอยู่คนเดียวมันจะเครียด ไม่รู้จะไปคุยกับใคร แล้วพอไม่มีลูก ผมก็ทดแทนด้วยการเลี้ยงสัตว์ มีทั้งไก่ ทั้งหมูป่า ทุกตัวมีชื่อหมด

‘จักรรินทร์ อยู่พิทักษ์’ เจ้าสัวแห่งบางกะม่า ผู้เปิด ‘เซ็นท่าน’ และ ‘ชราลาน’ เยียวยาจิตใจ

The People: การได้เจอนักท่องเที่ยว ทำให้พี่รู้สึกยังไงบ้าง 

ปุย จักรินทร์: นักท่องเที่ยวดีครับ เขาเอาเงินมาให้เรา มาซื้อของเรา มาสร้างสีสัน อย่างน้อย ๆ มันก็ไม่เงียบ ทำให้มีความคึกครื้น มีชีวิตชีวา แต่ถ้ามันเงียบนั่นคือไม่มีเงินขึ้นมา

นักท่องเที่ยวหลายคนบอกว่า ทางนี้คือมีเสน่ห์ ก็ใช่ มันก็มีเสน่ห์ แต่ว่าเราก็ไม่มีจะกินเท่าไหร่ ผมเคยให้เมียทำกับข้าวขาย แต่นักท่องเที่ยวขึ้นมาไม่ได้ รถล้มบ้างก็มี พอเป็นอย่างนี้หลายครั้ง เลยคิดว่าทางนี่ก็สำคัญนะ ที่จะทำให้เขาขึ้นมาใช้เงินกับเรา บางคนพยายามจะมาแล้วล้ม แขนขาถลอกหมด สุดท้ายเราก็เลยเลิกขาย เพราะถ้าเราขายต่อไป มันก็อย่างเงียบอะ รถไม่ได้ขึ้นได้ทุกคัน ได้เฉพาะแค่โฟร์วีล แล้วเราจะอยู่ยังไงอะ มันเป็นอย่างนี้ 

เหมือนเซ็นท่าน เราก็ไม่รู้ว่าจะขยายหรือว่าจะยุบ ยังไม่รู้เลย เพราะน้ำแข็งเราก็ต้องซื้อ ไฟฟ้าก็ไม่มี น้ำแข็งซื้อมาถึงละ 60 – 80 บาท เราต้องขายขนมให้ได้ 100 บาท ถึงจะได้กำไร แล้วขนมอะ กำไรชิ้นละแค่บาทเดียว 

ถ้าพูดถึงเรื่องถนนหนทางนะ ไม่ต้องอะไรมาก แค่ทำยังไงก็ได้ให้คนขึ้นมาซื้อของเรา ซื้อของชาวบ้าน ซื้ออะไรต่ออะไรต่าง ๆ ให้มันคือคึกครื้น ให้เงินมันขึ้นมา ในเมื่อเราลงไปหาเงินลำบาก ก็ให้เงินมาหาเรา แต่บางทีเงินไม่มา ชาวบ้านก็ต้องออกไปหาเงิน แล้วทีนี้เราจะขายของให้ใครล่ะ ขายให้แค่นักท่องเที่ยว ที่มาเฉพาะเสาร์-อาทิตย์ อยู่ได้เหรอ เนี่ยแหละ ช่วงนั้นผมถึงหงุดหงิด ขึ้นมาใหม่ ๆ แล้วไม่มีรายได้ แต่นี่เราชินแล้ว 

The People: ชิน?

ปุย จักรินทร์: ครับ ชินแล้ว ไม่มีรายได้เพิ่ม ไม่มีกลยุทธ์อะไรด้วยนะ เราอย่างเดียวคือคำว่า ชิน

The People: ท้อบ้างไหมคะ

ปุย จักรินทร์: ก็มีนะ ท้ออะ เพราะว่ามันไม่มีรายได้ขึ้นมา ยิ่งชาวบ้านถ้าเราไม่ให้เขาเซ็น เราก็คิดนะ แล้วเขาจะกินจะใช้อะไรยังไง ผมก็เลยคิดไปถึงวิธีแก้ คือหมู่บ้านบางกะม่ามีแค่ 40 หลังคาเรือน คนไม่ถึง 70 คนด้วยซ้ำ แล้ววัยรุ่นก็ต้องออกไปหางานแล้ว บางคนบอกว่าถ้าทางมันดี แล้วชาวบ้านจะขายที่ ไม่ใช่ ต่อให้ทางไม่ดี ชาวบ้านก็ต้องขายที่ ไม่งั้นเขาจะเอาเงินมาจากไหน คุณลองทำทางให้ดี ไม่ต้องกลัวเขาขายที่หรอก เดี๋ยวเขามีเงิน เขาก็พัฒนาปรับปรุง ไม่มีใครเขาอยากจะทิ้งที่ตัวเองหรอก 

นี่ผมกำลังพูดถึงทางนะ ทางที่ นักท่องเที่ยวบางคนบอกว่ามีเสน่ห์ แลกกันไหม พี่มาอยู่ลานผม เดี๋ยวผมไปอยู่บ้านพี่ นี่ผมพูดเรื่องจริงนะ เขาว่าผมกวนตีนไปเลยนะ จริง ๆ ผมให้เลย ผมไม่มีลูก ผมตัวคนเดียว มาอยู่ด้วยกันเลย ถ้าคุณว่าเป็นเสน่ห์อะ คุณมาด้วยกันเลย กินกับผมเลย มาอยู่เลย คุณจะอยู่ได้ไหม 

The People: คือเที่ยวกับอยู่จริง ๆ ใช้ชีวิตจริง ๆ มันไม่เหมือนกัน 

ปุย จักรินทร์: ไม่เหมือนกัน คุณว่าเป็นเสน่ห์ คุณลองมาอยู่ ทุกคนก็มันก็หวังความเจริญกันทั้งนั้น หวังชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ได้เจริญอะไรมากก็ได้ เอาแค่ทำยังไงก็ได้ให้มีเงินขึ้นมา ไม่งั้นเดี๋ยวชาวบ้านไม่มีเงิน เราก็ต้องไปหยิบยืมคนข้างนอก พอเริ่มเป็นหนี้เยอะ เขาก็ต้องขายที่ 

อย่างทำลานเนี่ย เสาร์-อาทิตย์มีนักท่องเที่ยวสัก 10 คนถือว่าเยอะแล้ว เดือนหนึ่งจะได้สักเท่าไหร่ มันก็อยู่ลำบากอยู่ดีแหละ ลานคืออาชีพเสริมเท่านั้น 
อาชีพหลักของพวกเราจริง ๆ ก็ต้องรอหน้าฝนอย่างเดียว ปลูกข้าวไร่ ปลูกฟักทอง ปลูกพริกกะเหรี่ยง ปลูกอะโวคาโด้ ตีผึ้ง 

The People: ฟังอย่างนี้แล้ว เราอยากเปิดพื้นที่ให้พี่ปุยพูดถึงโปรโมชันของร้านเซ็นท่านบ้าง 

ปุย จักรินทร์: โปรโมชั่นของเซ็นท่านคือ ถ้าซื้อของครบ 100 บาท เราจะแถมเพลงให้ 1 เพลง ไม่อะ หลายเพลงเลย

The People: เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นการเล่นกีตาร์เป็นของแถมของพี่หน่อย 

เมื่อปีที่แล้ว ตอนเริ่มทำร้านเซ็นท่าน มีนักท่องเที่ยวปั่นจักรยานมา 35 คน ไปพักที่แจ่มจริง ลานสเตย์ เขามาสั่งเบียร์ ผมก็ขึ้นไปส่ง ไปเจอคนเล่นกีตาร์ ผมก็อยากจะเล่นบ้าง ไปยืนมองเขาเล่น เขาก็ชวนให้ผมเล่น ผมบอกว่าผมเล่นกีตาร์มือซ้ายนะ จับเหมือนคนพิการอะ ผมอาย เขาบอกไม่ต้องอายหรอก กีตาร์มือมันจับได้สองอย่าง จับแบบกลับสายกับไม่กลับสาย

ผมบอกว่าไม่ได้เล่นทั้งสองอย่าง ผมเล่นอีกอย่าง เขาบอก ไม่มีหรอก ผมก็เลยลองเล่นให้เขาดู เขาเลยเห็นว่ามันแปลก ก็เลยถ่ายรูปลงโซเชียลมีเดีย คนก็เลยรู้จักผม ทีนี้เพื่อนผมก็เลยส่งกีตาร์มาให้เล่น ชีวิตเริ่มมีความผ่อนคลาย ก็เลยออกไอเดียว่าซื้อของครบ 100 บาท จะมีเพลงให้ฟัง เป็นการกระตุ้นการขาย บางคนเขาก็พยายามซื้อให้ครบ 100 บาท ผมก็จะเล่นให้เขาฟัง 

‘จักรรินทร์ อยู่พิทักษ์’ เจ้าสัวแห่งบางกะม่า ผู้เปิด ‘เซ็นท่าน’ และ ‘ชราลาน’ เยียวยาจิตใจ

The People: พี่สู้ขนาดนี้ สมมติวันหนึ่งร้านเซ็นท่านไปต่อไม่ได้ แล้วต้องเลิกทำ พี่จะเสียใจไหม

ปุย จักรินทร์: เราจะสู้จนกว่าชาวบ้านจะพักกันไปข้างนึง 

The People: ทำไมต้องสู้ขนาดนั้น 

ปุย จักรินทร์: เพระว่าอย่างน้อย ๆ เสาร์-อาทิตย์ นักท่องเที่ยวขึ้นมา เขายังได้มีร้าน ให้เขาได้เป็นที่พึ่ง ถึงบางสัปดาห์จะมีนักท่องเที่ยวไม่ถึง 5 คน ก็เถอะ คิดดูว่าถ้าเราเลิกไปเนี่ย เขาจะไปกินที่ไหนล่ะ 

The People: พี่ไม่อยากกลับไปทำงานที่กรุงเทพฯ หรือในเมืองเหรอ

ปุย จักรินทร์: ถ้าไป น่าจะมีเพิ่ม 

The People: อะไรเพิ่มคะ? 

ปุย จักรินทร์: เมีย (หัวเราะ) เคยมีคนมาชวนให้ไปเล่นกีตาร์ในเมือง แต่นั่นหมายความว่าผมต้องมีเมียเพิ่ม ผมเลยปฏิเสธไป อยู่นี่ดีกว่า อย่างนั้นมันไม่นานหรอก แต่เนี่ยยั่งยืนกว่า เขาจะดูแลเราทุกวัน 

The People: ที่บางกะม่ามันดียังไง 

ปุย จักรินทร์: อย่างแรกเลยนะ คืออากาศ ความสงบ ธรรมชาติ ความไม่วุ่นวาย แต่ข้อเสียก็คือเรื่องรายได้ 

The People: ความรักล่ะ ช่วยอะไรบ้าง

ปุย จักรินทร์: ความรักทำให้หน้าเราอ่อน นักท่องเที่ยวไม่เคยทายอายุผมถูกนะ เขาจะทายประมาณ 38 - 42 แต่ผมอะ 48 ปีแล้ว 

‘จักรรินทร์ อยู่พิทักษ์’ เจ้าสัวแห่งบางกะม่า ผู้เปิด ‘เซ็นท่าน’ และ ‘ชราลาน’ เยียวยาจิตใจ

The People: ต้องแลกกัน ระหว่างที่นี่กับในเมือง

ปุย จักรินทร์: ต้องแลกครับ แต่ผมแลกที่จะอยู่แบบนี้ดีกว่า เพราะว่าความสุขมันทำให้เราน่าจะมีชีวิตได้ยืนยาวกว่า ความที่เราต้องหาเงิน อาจจะเกิดความเครียด หน้าเราอาจจะ คนเจอ อาจจะเรียกลุง

เรื่อง: พาฝัน ศรีเริงหล้า

ภาพ: ดำรงค์ฤทธิ์ สถิตดำรงธรรม