อังคณา นีละไพจิตร : 20 แห่งการรอความเป็นธรรมประจักษ์ สู่ ‘ตัวแทน’ ประชาชนในฐานะ สว.

อังคณา นีละไพจิตร : 20 แห่งการรอความเป็นธรรมประจักษ์ สู่ ‘ตัวแทน’ ประชาชนในฐานะ สว.

อังคณา นีละไพจิตร สตรีผู้เฝ้ารอความเป็นธรรมประจักษ์มาตลอดเวลา 20 ปี ในวันที่ตัดสินใจขยับบทบาทมาเป็น‘ตัวแทน’ ประชาชนในฐานะ สว.

เป็นเวลา 20 ปีแล้วที่ ‘บ้าน’ ของครอบครัวนีละไพจิตร ถูกเปลวไฟแห่งความขัดแย้ง พราก ‘ทนายสมชาย นีละไพจิตร’ ทนายความผู้มุ่งเน้นช่วยเหลือลูกความไร้กำลังทรัพย์ และพ่อผู้เป็นทุกสิ่งทุกอย่างของครอบครัวไปในวันที่ 12 มีนาคม 2547 เขาหายไปอย่างไร้ร่องรอย หายไปโดยไม่มีแม้แต่คำบอกลา หายไปทั้ง ๆ ที่กระเป๋าเดินทาง ตั๋วเครื่องบิน ซึ่งกำลังจะเดินทางไปนราธิวาส หลังจากล่ารายชื่อยกเลิกกฎอัยการศึก เพื่อส่งเสียงไปยัง ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ณ ขณะนั้น ให้รับทราบว่าสถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอย่างไร และเขาหวังว่าเสียงที่เขาหามาได้ จะช่วยให้รัฐบาลมองเห็นความจริงบางอย่าง

แต่ทุกสิ่งทุกอย่างที่ทนายสมชายทำมาทั้งหมดก็สูญเปล่า เพราะชายคนนี้ไม่เคยได้ออกเดินทาง เขาถูกอำนาจบางอย่างฉุดรั้งเอาไว้ จนจำใจต้องทิ้งไว้เพียงข้าวของแสดงว่าครั้งหนึ่ง เขามีอุดมการณ์อันแรงกล้าที่จะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์มากเพียงใด

จากบ้านที่เคยเต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ แม้บางครั้งจะมีเสียงทะเลาะของสองสามี-ภรรยา แทรกมาเป็นระยะ เพราะการเข้าไปช่วยเหลือลูกความด้อยโอกาสบ่อย ๆ ทำให้ครอบครัวประสบชะตากรรมที่ยากลำบากไม่น้อย แต่เพราะความรัก และความเข้าใจตลอดระยะเวลาที่ร่วมชีวิตคู่กันมา ‘อังคณา’ จึงไม่เคยห้ามปรามสามี ในทางกลับกันเธอกลับทำหน้าที่ดูแลทุกอย่างภายในบ้านได้อย่างเรียบร้อย ชนิดที่ว่าทนายสมชายไม่ต้องห่วงกังวลว่า บ้านหลังนี้จะแหลกสลาย

ในวาระที่ ‘อังคณา นีละไพจิตร’ ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา ภาคประชาสังคม และได้รับตำแหน่งมาอย่างน่าภาคภูมิ The People ชวนทำความรู้จัก สว. อังคณา สตรีผู้ทวงถามหาความยุติธรรมให้แก่ทนายสมชาย นีละไพจิตร ผู้เป็นคู่ชีวิตมาโดยตลอด 20 ปี มาจนถึงวันที่เธอตัดสินใจขยับบทบาท รับหน้าที่เป็นตัวแทนของปวงชนคนไทย ผู้ไม่ยอมให้ผลประโยชน์อื่นใดอยู่เหนือ ‘เสียง’ หรือความต้องการของประชาชน

อังคณา นีละไพจิตร : 20 แห่งการรอความเป็นธรรมประจักษ์ สู่ ‘ตัวแทน’ ประชาชนในฐานะ สว.

6 ตุลา ของนักศึกษาพยาบาล

The People : อยากทราบภูมิหลังความเป็นมาวัยเด็กของคุณอังคณาเป็นอย่างไร พอจะนึกภาพออกไหม

อังคณา : ก็เกิดในครอบครัวใหญ่นะคะ ก็จะมีพ่อแม่อยู่กับตายาย แล้วก็จะมีตาชวดยายชวดด้วย บ้านก็คือเกิดหลังกระทรวงมหาดไทยนะคะ เป็นบ้านเดิม แล้วก็เป็นที่ดินทรัพย์สินฯ ซึ่งตอนหลังก็ครอบครัวก็ย้ายออกนะคะ จำได้ตอนเล็ก ๆ เนี่ยเราอยู่ในบ้านที่ก็จะมีตาชวดยายชวด ซึ่งเป็นคนพุทธนะคะ แต่ว่าเราอยู่บ้านเดียวกัน แล้วก็เราก็จะแบบ คือตัวเองเป็นคนที่เติบโตมาในสังคมที่หลากหลายนะคะ แต่ว่าเราก็อยู่ด้วยกันได้ ก็กินข้าวด้วยกัน กินข้าวหม้อเดียวกัน แล้วก็เวลาเรียนหนังสือเนี่ยพอตอนโตเข้าโรงเรียนนะคะ ก็มาเรียนแถวฝั่งธนฯ โรงเรียนฝรั่งนะคะ 

ก็ตอนหลังพ่อก็เลยต้องย้ายบ้าน เพราะว่าอยู่ตรงนั้นก็จะค่อนข้างเดินทางไปโรงเรียนลำบาก ประกอบกับว่าพ่อคือพ่อเนี่ยเป็นคนทำงานรับจ้างนะคะ แม่ก็เป็นช่างเย็บผ้า แต่ว่าแม่เป็นคนเรียนหนังสือเก่ง แล้วก็สมัยนู้นแม่เนี่ยก็เรียนโรงเรียนฝรั่งเหมือนกัน โรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ ก็นั่งรถรางเจริญกรุงบางรักข้างหลังบ้านไปโรงเรียน แต่ว่าแม่เป็นผู้หญิงที่แบบว่าอยู่ในครอบครัวที่มีพี่น้องผู้ชายเยอะ แล้วก็ตายายก็ไม่ได้สนับสนุนให้เรียนหนังสือสูง ๆ แต่แม่ก็มีความฝัน ความตั้งใจในตัวเองนะคะ อยากเรียนพยาบาล แต่ว่าก็สุดท้ายก็ต้องออกมามีครอบครัว แล้วก็รับจ้างเย็บผ้า

ไปเรียนเย็บผ้า แล้วก็ประกอบอาชีพช่างเย็บผ้า ตัวเองก็โตมาในครอบครัวแบบนี้ แล้วก็พอมาเรียนหนังสือเรามาอยู่ฝั่งธนฯ นะคะ ก็เลย พ่อกับแม่ก็เลยย้ายมาเช่าบ้านอยู่ที่ฝั่งธนฯ แม่ก็เปิดร้านเย็บผ้าเล็ก ๆ ค่ะ ก็จะอยู่ในละแวกที่อยู่ทุกวันนี้ค่ะ ก็เพราะว่าจะใกล้โรงเรียน โรงเรียนก็จะอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ก็เป็นคนที่ไม่ได้เปลี่ยนโรงเรียนเลย เรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนจบมัธยมปลายค่ะ ก็เรียนโรงเรียนเดิม แล้วก็พอหลังจากที่จบมัธยมแล้วเนี่ย อุดมศึกษาเนี่ยก็เข้ามหาวิทยาลัย ก็เรียนที่คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลก็ใกล้ ๆ อีก ศิริราช ชีวิตก็เลยวนเวียนอยู่กับฝั่งธนฯ ค่ะ

 

The People : ทำไมถึงมีความฝันอยากจะเป็นพยาบาล

อังคณา : แม่อยากเป็นเพราะว่าคือตาเนี่ยเป็นหมอแผนโบราณ เป็นหมอตาและแม่ก็ คือพูดตรง ๆ ว่าเด็กผู้หญิงสมัยแม่เนี่ยก็คงอะไร ๆ ก็คงอยากเป็นพยาบาลเป็นอาชีพที่ใฝ่ฝันค่ะ แล้วแม่เรียนหนังสือเก่ง เก่งมากเลย สมัยก่อนก็จะมีแบบได้ pass ชั้นนะคะ คือถ้าเรียนได้เกรดดีเนี่ยก็ไม่ต้องเรียนชั้นต่อไป คือขึ้นไปเรียนอีกชั้นหนึ่ง แม่ก็จะจบ ม.3 มัธยม 3 ตอนนั้นนะคะ คะแนนดี แต่ว่าก็เสียดายว่าก็แม่ไม่ได้เรียนต่อค่ะ

 

The People : มองเห็นตัวเองในอนาคตไหมว่าคุณอังคณาอยากจะเติบโตไปใช้ชีวิตในสังคมรูปแบบไหน หรือว่าเป็นพยาบาลตามที่เราฝันได้แล้ว เราก็ใช้ชีวิตในฐานะอาชีพนี้ต่อไป

อังคณา : คือผู้หญิงสมัยนั้นเนี่ยน่าจะเป็นผู้หญิงที่ โดยเฉพาะแม่ที่เติบโตมาในครอบครัวที่แบบ คือพูดตรง ๆ ว่าผู้ชายเป็นใหญ่ เพราะว่าพี่น้องเป็นผู้ชายเยอะมากเลย 10 กว่าคน มีผู้หญิงแค่ 3 คนเอง แม่ก็น่าจะโตมาในลักษณะที่ว่าแม่จะไม่กล้าที่จะขัดขืนหรืออะไร แต่แม่ก็มีความไม่พอใจในบางเรื่อง แต่ว่าก็จะใช้วิธีการขัดขืนด้วยแบบอื่นอะไรประมาณแบบนี้ในผู้หญิงสมัยนั้นนะคะ ก็สิ่งหนึ่งที่เราเห็นก็คือแม่ก็พยายามที่จะอยู่ แล้วก็คือเติบโตนะคะในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ แม่ก็จะเปิด คือเราโตมาในขณะเป็นช่วงวิทยุทรานซิสเตอร์นะคะ แม่เปิดฟังข่าวตลอดเลยทั้งวันเลย เราก็เคยถาม แม่ก็บอกว่า เออ เวลาฟังข่าวเนี่ยจะรู้เลยว่าตอนนี้กี่โมงแล้ว พอข่าวนี้มาแสดงว่ากี่โมงแล้ว

 

The People : เคยคิดไหมว่านอกจากจะเป็นพยาบาลแล้ว คุณอยากจะทำงานอาสาหรืองานด้านอื่น ๆ เพื่อช่วยเหลือสังคมมากกว่านี้

อังคณา : คือพอมีครอบครัวเนี่ยก็ต้องบอกเลยว่าความที่เราโตมาในครอบครัวที่แบบว่าคือถ้าพูดถึงพ่อแม่ พ่อแม่แล้วก็ลูก ๆ แบบ 3 คนค่ะ เราไม่ได้มีเงินทองมากถึงขนาดที่ว่าพ่อหรือแม่จะไปทำงานที่อื่นอะไรได้ หมายถึงว่าถ้าเป็นงานช่วยเหลือการกุศลเล็ก ๆ น้อย ๆ อันนี้เป็นปกตินะคะ แต่ว่ากรณีที่ต้องทุ่มเทมากกว่านั้นน่ะ คือเรามองว่าพ่อกับแม่ไม่ได้มีศักยภาพตรงนั้นเลย เพราะว่าคือจำได้ สิ่งหนึ่งที่จำได้แม่นก็คือตอนเด็ก ๆ เนี่ยเราย้ายบ้านบ่อยมาก เราย้ายไปเช่าบ้านตรงนู้นตรงนี้ทีก็อยู่ในละแวกนี้ค่ะ ละแวกที่อยู่ใกล้โรงเรียน แต่เราจะย้ายบ้านบ่อยมาก เนื่องจากพ่อแม่ไม่ได้มีเงินที่จะซื้อบ้านเป็นของตัวเอง ทั้งที่สมัย 40-50 ปีก่อนก็ไม่ได้ราคาแพง แต่ว่าก็คือไม่มีก็คือไม่มี ก็เคยมีเพื่อน ๆ พ่อก็ถามว่าทำไมต้องให้ลูกเรียนโรงเรียนฝรั่ง ทั้ง ๆ ที่ค่าเรียนมันก็แพง

คือเราก็ไม่รู้ว่าพ่อตอบว่าอะไร แต่ว่าพอตอนโตเราก็ต้องคำถามแบบนี้ แล้วพ่อก็เล่าให้ฟังว่า เออ สมัยนั้นเนี่ยมันไม่ได้มีโรงเรียนของเด็กผู้หญิงให้เราเลือกเยอะมากนัก มันจะมีไม่กี่แห่ง แม่เองก็โตมาในโรงเรียนคอนแวนต์ โรงเรียนผู้หญิง เราเองก็โตมาแบบนั้น แล้วก็คือพ่อกับแม่เนี่ยก็จะมีความคิดใหญ่ ก็คือถ้าหากว่าลูก ๆ อยู่ในโรงเรียนที่ไว้ใจได้ ก็จะแบ่งเบาทางครอบครัวไม่ต้องไปตามว่า เออ ลูกจะเรียนไม่เรียนหรืออะไรประมาณนี้ค่ะ ก็เป็นแบบนั้นค่ะ แต่ว่าด้วยความย้ายบ้านบ่อยเนี่ย เราเองเราก็แบบคือมันรู้สึกว่าชีวิตมันไม่ค่อยมั่นคงเลย บางทีแบบเราใกล้สอบแล้วเนี่ยเขาจะต่อสัญญาให้เราไหม เราจะเช่าอยู่ต่อได้ไหม อันนี้ก็คือความรู้สึกที่เรารู้สึกว่ามันไม่ค่อยมั่นคงค่ะ คือเราเพิ่งจะมีบ้านเป็นของตัวเอง เมื่อปี 38 เองค่ะ

อังคณา นีละไพจิตร : 20 แห่งการรอความเป็นธรรมประจักษ์ สู่ ‘ตัวแทน’ ประชาชนในฐานะ สว.

The People : เรายืนยันแล้วก็พยายามทำในสิ่งที่เราเชื่อ ความเชื่อตอนนั้นมันเป็นความเชื่อในด้านไหน เชื่อเรื่องอะไร 

อังคณา : เราก็ค่อนข้างโตมาในแบบคือครอบครัวที่แบบว่าถึงแม้เราจะไม่ได้มีเงินทองมากมาย แต่ว่าเป็นครอบครัวที่น่าจะบอกได้ว่าใฝ่รู้ แล้วเวลาที่ คือเวลาที่คิดถึงพ่อตอนที่เราเด็ก ๆ มันจะจำได้เลยว่าเวลาตื่นมากลางดึกจะเห็นพ่อแบบว่าคือจุดตะเกียงนั่งอ่านหนังสือในมุ้ง พ่อจะเรียนหนังสือไปด้วย อ่านทุกอย่าง แล้วก็ตอนเด็ก ๆ ค่ะความที่คือบ้านเกิดอยู่กระทรวง แถวกระทรวงมหาดไทย พ่อจะเป็นคนที่จูงมือเดินไปที่สนามหลวง สนามหลวงสมัยนั้นจะมีแผนหนังสือเก่า ตอนนี้เขาย้ายไปจตุจักร คือจะเป็นร้านขายหนังสือประจำ ซึ่งซื้อมาตั้งแต่สมัยพ่อแม่ จนกระทั่งวันนี้เป็นรุ่นหลานขายค่ะ แล้วหนังสือเล่มแรกที่พ่อแนะนำให้อ่าน ก็คือหนังสือ TIMES กับ Newsweek  เป็นหนังสือภาษาอังกฤษ

แล้วพ่อก็ซื้อ dictionary ให้เล่มนึง แล้วเราก็จะเป็นคนที่คือเปิด dict (ionary) ตั้งแต่เด็กค่ะ แล้วก็อ่าน แล้วก็ที่บ้านจะมีวิทยุเครื่องนึง อันโน้นน่ะค่ะ (ชี้ไปที่ด้านหลังผู้สัมภาษณ์) อันนั้นจะเป็นวิทยุที่เปิดรับฟังได้ทั่วโลกเลย เช้า ๆ พ่อจะเปิดข่าว BBC BBC ภาคภาษาไทยนะคะ เราก็จะโตมากับตลอดค่ะ แล้วก็คือวิทยุเครื่องนี้จำได้เลยว่าตอนเหตุการณ์พฤษภา 35 ค่ะ ตอนนั้นน่ะเป็นช่วงที่มีความรุนแรงแล้วก็มีรัฐประหาร ช่วงนั้นน่ะสื่อมวลชนในประเทศไทยเนี่ยถูกยุติบทบาทหมดเลย แล้วเราไม่สามารถที่จะรับรู้ข้อมูลข่าวสารได้เลย ถึงแม้ว่าบ้านเราจะอยู่ใกล้ราชดำเนินแค่นี้เอง แต่วิทยุ เราฟังเหตุการณ์จากวิทยุเครื่องนี้ค่ะ วิทยุถ่ายทอดจาก BBC ภาคภาษาไทยจากลอนดอน แล้วทำให้รู้ว่า เอ้ย มันเกิดเหตุอะไรขึ้นค่ะ 

ซึ่งอันนี้เป็นอะไรที่เวลาเรามองวิทยุเครื่องนี้ เราจะนึกถึงสมัยเด็ก ๆ ที่เช้ามาเราจะต้องฟังข่าว ข่าวของประเทศไทยจาก BBC ภาคภาษาไทยที่ลอนดอน เพราะว่าคือช่วงนั้นเป็นช่วงที่ประเทศไทยยังไม่ได้มีอะไร มีเปิดกว้างในเรื่องของเสรีภาพนะคะในการแสดงความคิดเห็นหรือว่าค่ะ คือตัวเองเติบโตมาในช่วงการปฏิวัติรัฐประหารตลอด จอมพลสฤษดิ์ (สฤษดิ์ ธนะรัชต์)  เราโตมาในช่วงนั้นตลอด แล้วเราก็มีการเขาเรียกว่ายิงเป้า โอ้โห แบบฆ่ากัน แต่ว่าในขณะเดียวกันเนี่ย สิ่งแวดล้อมข้างนอกเป็นแบบนี้ แต่ว่าสิ่งแวดล้อมในบ้านเนี่ย เราโตมากับความรู้ที่เราได้จากที่อื่น ซึ่งอันนี้ก็ถือว่า เออ มันเป็น พอนึกย้อนไปค่ะ เราก็จะรู้สึกว่า เออ มันเป็นคุณูปการที่ทำให้เราแบบ เป็นพื้นฐานที่ดีเลยนะคะ 

 

The People : ตอนที่เราไม่สามารถฟังข่าวจากสื่อไทยได้ ตอนนั้นรู้สึกยังไงบ้าง เสรีภาพสื่อทำไมมันถึงถูกจำกัดขนาดนี้ ทำไมเราคนไทยถึงต้องรับฟังข่าวจากสื่อต่างชาติ 

อังคณา : คืออันนี้แหละ คือสิ่งที่เราตั้งคำถามกับตัวเองมาตลอด แล้วก็ความที่ว่าตอนช่วงตุลา 19 ตอนนั้นเพิ่งจะเรียนปี 1 ที่เรียนพยาบาลที่ศิริราชค่ะ ตอนนั้นเป็นช่วงที่เราเรียน เพิ่งเข้ามหาวิทยาลัย แล้วเราก็จะแบบความที่ศิริราชกับธรรมศาสตร์ใกล้กัน แล้วถ้าถามว่า เออ ส่วนตัวอยากเรียนพยาบาลไหม ไม่อยากเลย เราก็แค่เป็นคนที่อยากทำความฝันของแม่ให้เป็นจริง เราก็รู้สึก เออ แม่กระตือรือร้นมากเลยในการที่อยากให้ลูกสาวคนโตเรียนพยาบาล แต่มันมีอยู่คำนึงที่แม่พูด ก็คือถ้าเราเรียนพยาบาลเนี่ย เราอาจจะไปทำงานอย่างอื่นก็ได้ แต่ถ้าเราเรียนอย่างอื่น เราคงกลับมาเป็นพยาบาลไม่ได้ แล้วก็ช่วงที่เราเรียนเนี่ย พอดีตอนที่เข้าไปตอน 6 ตุลาเนี่ย คือตอนนั้นเราก็แบบปีหนึ่งนะคะ 

แต่เราก็มีเพื่อนที่ธรรมศาสตร์ก็ข้ามไปข้ามมา แล้วก็ตอนนั้นก็ทำกิจกรรมด้วย พวกพี่ ๆ หลายคนที่ศิริราช พี่นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ตอนนั้นพี่นิรันดร์ก็เป็นแพทย์เพิ่งจบ พี่นิรันดร์ก็เข้าป่า คือหลาย ๆ คนเข้าป่าค่ะ เราก็แบบก็ช่วยสนับสนุนช่วย อันนี้ก็จะเป็นสิ่งที่เราอยู่กับเหตุการณ์ แล้วก็อย่างหนึ่งที่คือก่อนที่จะพูดถึงเรื่องสื่อ ก็อยากจะบอกว่าการเป็นพยาบาลมันดีอย่างนึง คือเวลาเราเข้าไปเรียนแล้วเราตระหนักเลยว่าเวลาที่เราเคยทำงานออกค่าย เคยไปสอนหนังสือในสลัม แต่เรารู้สึกเวลาเรามาเรียนพยาบาลเนี่ย เราไม่ต้องออกไปหาใครเลย แต่คนเหล่านั้นเข้ามา แล้วเวลาที่เรา คือคนที่ผ่านชีวิตที่ทำงานในลักษณะที่ว่าตั้งแต่เป็นนักเรียนพยาบาลที่ผ่านชีวิตตั้งแต่เช็ดเท้าให้คนไข้ 

ทำความสะอาดร่างกายในสิ่งที่บางทีญาติเองยังไม่อยากทำเลย คนที่ผ่านอะไรตรงนั้นมาแล้วเนี่ย มันทำให้เกิดความตระหนักว่าคนมันต้องเท่ากันค่ะ แล้วเราก็ คือคิดว่าพื้นฐานตรงนี้มันส่งผลอย่างมากนะคะกับการที่เป็นตัวตนของตัวเองในทุกวันนี้ค่ะ แล้วคือไอ้ความคิดในเรื่องของความไม่เป็นธรรม เรื่องความเสรีภาพในการแสดงความเห็นกับบทบาทของสื่อเนี่ย ตั้งแต่ช่วงตุลาแล้วว่า เออ ไอ้สิ่งที่ออกมาเนี่ยมันบิดเบือนหมดเลย คือตัวเองสะสมหนังสือเยอะนะคะ สะสมหนังสือก่อน 6 ตุลา หนังสือแนวคิด กลายเป็นแบบเราก็ต้องเอาไปซ่อน เพราะว่านักศึกษาหลายคนถูกค้นบ้านค่ะ เราเองอยู่ในหอพัก เราก็เห็นคนที่ว่ายน้ำเข้ามา หอพักพยาบาลตอนช่วง 6 ตุลา มีหลายคน แบบเราฟังเสียงปืนแทบทั้งคืน บางคนร้องไห้ 

พอเรียนปี 4 พอไปฝึกงานที่โรงพยาบาลบ้านสมเด็จเจ้าพระยาก็เป็นหลักสูตรที่ต้องไปฝึกงาน 3 เดือนอย่างนี้ พอไปปุ๊บเรากลับไปเจอร่องรอยของความสูญเสียช่วง 6 ตุลาอย่างนี้ ไปเจอสื่อมวลชนที่มีปัญหาทางจิตใจ จนเขาไม่สามารถที่จะมีความสัมพันธ์กับสังคมเดิมที่เขาอยู่ได้ คือไปเจอคน สื่อมวลชนคนหนึ่งที่แบบว่าขึ้นไปอยู่บนต้นไม้ และเขาก็เรียกเรา เขาจะเรียกคุณนักเรียนนะคะ คุณนักเรียนขึ้นมาเร็วมันกำลังยิง โอ้โห พอเราเจอมันจะรู้สึกเลยว่าไอ้ผลกระทบของความรุนแรงเนี่ย มันไม่ใช่ลักษณะ Event ที่เกิดขึ้นและจบ แต่มันเป็นอะไรที่มันสร้างผลกระทบยาวนาน แล้วมันก็เป็นครั้งแรกเลยที่เรารู้ความหมายของคำว่า Heartbreaking หรือใจสลายว่า มันเป็นยังไง 

เรารู้เลยว่า เวลาคนที่ผ่านเหตุการณ์ที่ร้ายแรงมาก่อนเนี่ย ทำไมหลายคนจึงไม่สามารถกลับสู่สังคมได้ ซึ่งในฐานะส่วนตัวเนี่ยเรามองว่า โห คนที่ทำก่อเหตุการณ์แบบนี้โหดเหี้ยม แล้วก็คือไร้มนุษยธรรมมากเลย หลาย ๆ คนอาจจะมองว่า เอ้ย คนพวกนี้มันอ่อนแอหนิ มันไม่สามารถที่จะ deal กับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้

แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่เลย เราทุกคนก็คือมนุษย์ที่อ่อนแอทุกคนแหละ เพียงแต่บางคนเนี่ยปกปิดความอ่อนแอของตัวเองโดยการใช้กำลังที่เหนือกว่า แต่บางคนเนี่ยใช้ความอ่อนแอของตัวเองในการที่จะปกป้องคนอื่น แม้ตัวเขาเองก็จะเปราะบาง

คือหลาย ๆ เรื่องที่เราเรียนรู้ค่ะ แล้วก็ตรงนี้พอจนพฤษภา 35 เนี่ย คือตัวเองก็จะเข้าไปฟังตลอดเลยนะคะ ตอนนั้นมีลูกแล้ว ลูกเล็ก ๆ ก็พาลูกไปด้วยแบบนี้ค่ะ

แล้วหลังจากที่มีเหตุการณ์ความรุนแรงเนี่ย ปรากฏว่าวิทยุมีช่องเดียว โทรทัศน์มีช่องเดียว ทุกอย่างเป็นแบบว่ามาจากรัฐอย่างเดียวหมด มันเหมือนกับว่ารัฐอยากให้เรารู้อะไร แต่ว่ามันจะมีบางช่วงค่ะที่เขาเคอร์ฟิว เขาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินห้ามออกนอกบ้าน ซื้ออาหารยังลำบากเลย ก็จะได้วิทยุเครื่องนี้ที่จะแบบฟังข่าวทุกเช้า ไม่ใช่ไม่เฉพาะตอนเช้า แต่ว่ามีทั้งวันเลย พูดถึงก็เป็นข่าวภาคภาษาไทยที่เกี่ยวกับประเทศไทยก็ฟังได้ทั้งวัน ซึ่งเรามันทำให้เรารู้ว่า เอ้ย ตอนนี้มันมีคนเสียชีวิตข้างนอก มันมีการใช้ความรุนแรงค่ะ 

 

The People : คุณอังคณาบอกว่าเราก็ให้การช่วยเหลือบ้างกับคนที่เข้าไปอยู่ในนั้น เป็นความช่วยเหลือรูปแบบไหน 

อังคณา : คือตอนนี้มันหมดอายุความแล้ว เมื่อก่อนก็จะแบบส่งยาอะไรเข้าไปแบบนี้ พวกยาแก้ปวดมอร์ฟีนเพราะที่นั่นไม่มีห้องผ่าตัดน่ะค่ะเวลาบาดเจ็บก็จะใช้มอร์ฟีน เราก็แบบก็ส่งความช่วยเหลือก็จะมีคนที่ลงมานะคะมาเอาก็คนเหล่านั้นก็คือรุ่นพี่ ๆ ค่ะ

 

The People : การที่เรามีคนรู้จักที่ต้องหนี ต้องทิ้งชีวิต มันทำให้เรารู้สึกยังไงบ้าง ชีวิตเราไม่ปลอดภัยหรือเปล่า 

อังคณา : คือมันไม่ได้รู้สึกว่าเราไม่ปลอดภัย แต่มันรู้สึกเหมือนกับว่า เฮ้ย มันไม่เป็นธรรม คนเราก็แค่อาจจะคิดต่าง ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์เนี่ย คือทุกคนรู้เลยว่า เฮ้ย ทำไมบ้านเมืองมันต้องเป็นแบบนี้ บ้านเมืองมันต้องอยู่กับจอมพลตระกูลนี้ ผลัดกันขึ้น ซึ่งเราไปไหนไม่ได้เลยเหรอ สินค้าก็ผูกขาดมากเลยค่ะ แล้วคนไม่ได้เท่ากัน คนไม่ได้ว่าจะรวยทุกคน คนยากคนจนคนธรรมดา คนธรรมดา ๆ  แล้วเขาจะมีชีวิตที่ดีได้ไง ตรงนี้มันรู้สึกว่ามันเป็นความรู้สึกของความที่ไม่เท่าเทียมมากกว่าค่ะ 

 

The People : หนังสือประมาณไหน แนวคิดประมาณไหน หรือว่ามีอุดมการณ์ความเชื่อแบบไหนที่เลือกที่จะเก็บมาไว้ในคลังหนังสือของเรา 

อังคณา : ที่จริงเป็นคนที่ซื้อหนังสือเยอะนะคะ แล้วก็ลูก ๆ ทุกคนเองตอนนี้โต ๆ แล้วก็ชอบอ่านหนังสือค่ะ แล้วก็ถ้าถามว่าสะสมแบบไหน คือสมัยก่อนเนี่ยค่ะรุ่น 14 ตุลามันจะมีหนังสือเกี่ยวกับแนวคิด แนวคิดเช่นว่าพรรคคอมมิวนิสต์ พรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย ซึ่งเราก็รู้สึกว่ามันไม่ผิด คนเรามัน ทำไมมันถึงจะเรียนรู้ทฤษฎีอะไรต่าง ๆ ไม่ได้ เราก็รู้สึกว่าคือชอบอ่านน่ะค่ะ แล้วก็ชอบเก็บ แล้ววันหนึ่งเราก็รู้สึกว่า เออ มีการไปค้นบ้านคนหลายคน หลายคนต้องเผาหนังสือทิ้ง รู้สึกแบบ เออ ในฐานะของคนที่รักหนังสือ เราก็แบบก็เสียดายแทนน่ะค่ะ หนังสือรุ่นนั้นน่ะจะบอกอย่างก็คือใช้กระดาษไม่ค่อยดีนะคะสมัยก่อนนู้นกระดาษ กระดาษปอนด์ที่เป็นสีคล้ำ ๆ พอนาน ๆ มันกรอบค่ะ

 

The People : หนังสือสมัยก่อนก็เก็บไว้เยอะเหมือนกัน มันกรอบ 

อังคณา : ใช่ ไม่กล้าเปิด บางเล่มไม่กล้าเปิดเลยค่ะ เพราะมันกรอบ เปิดไปก็จะแตก 

 

The People : เหมือนคนก็จะบอกว่าคอมมิวนิสต์เป็นความชั่วร้าย มีความคิดต่อเรื่องนี้ยังไงบ้าง 

อังคณา : คือถ้าคนที่สำหรับคนทั่วไป ถ้าพูดถึงคนทั่วไปที่ไม่เคย คือฟังอย่างเดียว ฟังจากใครสักคนที่ให้ข้อมูล ก็อาจจะคล้อยตาม แต่ว่าถ้าสำหรับคนที่รู้จักหน้าตา คนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์น่ะ มันคนละแบบเลย อย่างเราก็รู้ไงว่า เออ พวกที่เข้าป่าหน้าตาเป็นยังไง คนพวกนี้เป็น คนพวกนี้ใช้ชีวิตแบบไหนอะไรประมาณแบบนี้ คือถ้าเป็น คือโอกาสของคนในการที่จะรับรู้ต่างกันมากเลย แล้วก็สื่อเองก็ถูกจำกัดเสรีภาพนะคะ ตอนนั้นมีสื่อใหญ่สยามรัฐอยู่ริมถนนราชดำเนิน สื่อหลายสื่อก็ต้องปิดตัวลงค่ะ หรือว่าเซ็นเซอร์ตัวเอง เปลี่ยนวิธีไปเลย แล้วช่วงนั้นมันไม่มีเรื่องออนไลน์ มันไม่มีเลยนะคะ ช่วง 35 เนี่ยเป็นช่วงที่เริ่มมีโทรศัพท์มือถือ แต่ก็เป็นแบบ โห เครื่องใหญ่ ๆ เป็นแกลลอน เหมือนแกลลอนนม เครื่องใหญ่ก็ไม่แพร่หลายด้วย แต่ว่ามันก็จะมีพกพาเล็ก ๆ ที่ส่ง SMS หรืออะไรได้ค่ะ

อังคณา นีละไพจิตร : 20 แห่งการรอความเป็นธรรมประจักษ์ สู่ ‘ตัวแทน’ ประชาชนในฐานะ สว.

ความรักที่ยังหลงเหลืออยู่ในความทรงจำ

The People : ความรู้สึกแรกที่คุณอังคณาเห็นทนายสมชายที่จะกลายเป็นว่าที่คุณพ่อของลูกเรารู้สึกยังไง เจอกันที่ไหน 

อังคณา : คือตอนนั้นเราเป็นนักเรียนพยาบาลนะคะ เราก็ไปช่วยงานค่ายอาสา แล้วก็พอดีคือคุณสมชายเนี่ยเขาเป็นทนายแล้วแหละ แล้วก็คือเขาก็เป็นผู้อำนวยการค่ายค่ะ แล้วเราก็คือสิ่งที่เรารู้สึกว่า เออ คนนี้ สิ่งที่เรามองผู้ชายคนนี้ก็คือเขาล้างห้องน้ำ แล้วแบบห้องน้ำโรงเรียน คือค่ายมาจัดที่โรงเรียน แล้วเขาล้างห้องน้ำได้ เราก็รู้สึกว่า เราเติบโตมาในครอบครัวที่ผู้หญิงผู้ชายเท่ากันค่ะ ทีนี้เพราะเรามาเจอแบบนี้ เราก็รู้สึกว่ามันเป็นเหตุผลหนึ่งที่เรามองคน แต่เราก็ไม่ได้คิดอะไรเกินเลย บุหรี่เขาไม่สูบบุหรี่ เพราะเราไม่ชอบคนสูบบุหรี่ เพราะจะเป็นพวกแพ้อากาศค่ะ แล้วก็ที่สำคัญคือเห็นเขาล้างห้องน้ำถือไม้ถูพื้น ถือกระป๋อง เราก็รู้สึกว่าในขณะที่เขามีรถขับ เพราะเขาเป็นทนายแล้ว เราก็รู้สึกว่า เออ มันก็แปลกที่เราเองก็ไม่ค่อยเจอคนแบบนี้ ที่สำคัญเป็นห้องน้ำสาธารณะค่ะ 

 

The People : เป็นความประทับใจ 

อังคณา : ใช่ มันก็แปลกดี คือเราไม่ใช่แบบว่า เฮ้ย ต้องเอาอะไรมาให้เราหรือ แต่เรารู้สึกว่า เอ้ย คนนี้แปลก น่าสนใจ เออ ล้างห้องน้ำสาธารณะได้นี่ก็แบบอื้อหือค่ะ  

 

The People : ใช้เวลาทำความรู้จักจนถึงวันที่ตัดสินใจคบหากันนานไหม 

อังคณา : ไม่นานเลยค่ะ 2-3 เดือนเอง ๆ เราก็รู้สึกว่าคือสิ่งหนึ่งที่มันเป็นความเชื่ออยู่อย่างนึงเราก็คือ

เราเชื่อว่าจะไม่มีวันจะรู้จักใครสักคนดีพอหรอก จนกว่าเราจะอยู่กับเขา แต่เราบอกไม่ได้เลยว่าจริง ๆ แล้วเราจะอยู่กับใครได้นานแค่ไหน เพียงแต่เราดูในหลักการกว้าง ๆ ว่าเราน่าจะอยู่กับเขาได้ค่ะ

แล้วเป็นคนที่มีเพื่อนผู้ชายเยอะ เราก็รู้สึกว่า เออ มันอาจจะเป็นใครก็ได้มั้งที่แบบถ้าขอแต่งงานกับเรา แล้วก็ไม่ได้เป็นคนที่เลวร้ายเกินไป แล้วก็ที่สำคัญก็คือน่าจะคุยกันรู้เรื่อง อ่านหนังสือแนวเดียวกันได้ประมาณแบบนี้ค่ะ อย่างน้อยก็ไม่ต้องมาทะเลาะกันด้วยเรื่องไม่เป็นเรื่องค่ะ 

 

The People : หลังจากตัดสินใจแต่งงานกัน การที่ใช้ชีวิตคู่เป็นยังไงบ้างช่วงนั้น 

อังคณา : มันยากนะคะ มันยาก แล้วเรารู้สึกว่า พอแต่งงานจริง ๆ แล้วเรารู้สึกว่ามันยากกว่าที่คิดน่ะ มันยากเพราะว่าในขณะที่เขาทุ่มเทให้กับสังคม ช่วยเหลือคนอื่นอะไรมาก ๆ  เราก็รู้สึกว่า เออ ในขณะที่เรามีลูก เราก็รู้สึกว่า เฮ้ย มันยากกับการที่เราต้องดูแลตัวเองและดูแลลูก เหมือนเราเป็นหลักในครอบครัว แล้วคือพอดีช่วงนั้นน่ะค่ะช่วงสัก 30 กว่าปีก่อน เมืองไทยเนี่ยไม่ค่อยมีทนายที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนหรอก คนที่เป็นที่รู้จักก็พี่ทองใบ ทองเปาด์ ก็คือเขาก็ทำงานด้วยกันแหละ เราก็รู้สึกว่าคือเราไม่ได้รู้สึกอะไร ใจคือเข้มแข็งหรือใจแข็งเกินไปที่เราจะไปบอกว่า เฮ้ย พอแล้ว เราคงทำแบบนั้นไม่ได้ ในขณะที่เราก็แบบ คือเราก็เปราะบางนะคะ เราก็มีช่วงที่เปราะบาง เช่นแบบเจ็บท้องจะไปคลอดลูก 

แล้วเขาบอกเดี๋ยวไปหาลูกความก่อน เราก็แบบ เฮ้ย อะไร มีแบบนี้ด้วย เออ คือตอนนั้นเพิ่งจะลงเวรน่ะค่ะ ลงเวรที่ศิริราชแล้วเราก็กลับบ้าน รู้สึกมันไม่ไหวก็นอน ตื่นขึ้นมา เฮ้ย มันเจ็บท้องค่ะ ก็บอกเขา เพราะอยู่กัน 2 คน ก็บอกว่า เออ พาไปโรงพยาบาลหน่อย เขาก็กำลังแต่งตัว เขาบอก เออ เนี่ยพอดีมีนัดลูกความไว้ โทษที เดี๋ยวไปหาลูกความก่อน แล้วเราก็แบบ เฮ้ย นี่เจ็บท้อง เออ แต่เราก็ไม่ได้มีเรี่ยวแรงจะไปต่อล้อต่อเถียงค่ะ แต่ถามว่าเข้าใจไหม ไม่เข้าใจนะคะ แล้วเราก็รู้สึกว่า เฮ้ย มันไม่ได้นะ แต่สุดท้ายก็นั่งแท็กซี่ไปเอง แล้วก็เป็นอะไรที่แบบว่า พอไปถึงก็คลอดเลยอะไรประมาณแบบนี้ ก็คือคืนนั้นก็ไม่ได้เจอเขาแหละ เพราะว่าเราอยู่ห้องคลอดแล้วกว่าจะออกมาก็คือก็ดึกแล้ว ข้าวก็ไม่ได้กิน เพื่อนก็แบบเอาน้ำหวานเอาอะไรมาให้ทานประมาณนั้น 

 

The People : น้อยใจบ้างไหม

อังคณา : ไม่น้อยใจค่ะ แต่ว่ารู้สึก เฮ้ย มันไม่แฟร์ อันนี้เราก็รู้สึก เฮ้ย มันสำคัญ มันไม่ใช่จะไม่สำคัญ แล้วเวลาที่เราจะเอ่ยปากขอความช่วยเหลือจากใครเนี่ย มันก็ต้องสำคัญ ไม่งั้นปกติเรื่องเล็กเรื่องน้อยเราก็ไม่ขอความช่วยเหลือหรอกค่ะ 

 

The People : การที่เราต้องมีความเข้มแข็งระดับหนึ่งในการที่จะอยู่เคียงข้างเขา จากที่คุณอังคณาเล่าว่าไม่ค่อยมีทนายที่ทำด้านสิทธิมนุษยชน พอเราได้อยู่กับเขา แล้วเขามีการแบ่งจัดสรรเวลายังไงบ้าง ในการออกไปทำงานแล้วก็ใช้ชีวิตกับครอบครัว 

อังคณา : คือเขาทุ่มเทกับงานแทบจะ 100% เลยนะคะ แล้วก็คือเวลาที่เรา ก็มีบางครั้งที่เรารู้สึกเปราะบางแล้วก็เรียกร้อง เขาเคยพูดมาคำนึงว่าเขาไม่เคยไปทำอะไรเลยเสียหาย ก็ไม่เคยไปทำอะไรไม่ดี เราเองก็แบบ เฮ้ย เราก็ไม่ได้ทำอะไรไม่ดีเราก็ แต่ว่ามันมีจุดนึงที่ต้องถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนนะคะ แล้วก็จริง ๆ มันก็เป็นข้อตกลงแหละในการที่จะอยู่ด้วยกัน ก็คือเราจะไม่แทรกแซงกัน เขาก็จะไม่มีสิทธิ์มาแทรกแซงความเป็นส่วนตัวอะไรของเราเหมือนกันค่ะ แล้วก็เราก็จะไม่แทรกแซง 

แล้วก็ถ้าถามว่ามีเวลาให้ครอบครัวไหม ก็ต้องบอกเลยว่าเวลาที่อยู่บ้านก็คือเขาก็อยู่บ้าน แต่ถ้ามีใครโทรฯ มาเดือดร้อนก็ไปเลยอะไรประมาณแบบนี้นะคะ ขนาดลูก ๆ เนี่ยก็ยังพูดเหมือนกับว่า เออ เวลาพ่ออยู่ก็เหมือนไม่อยู่ ไม่อยู่ก็เหมือนอยู่ คือเวลาไม่อยู่เนี่ยโทรศัพท์มา โอ้โห โทรศัพท์บ่อยมาก จนบางทีเราแบบ เฮ้ย แบบว่าเราไม่ได้มีเวลาจะมารับ วงลงขึ้นวิ่งลงรับโทรศัพท์บ้านอะไรที่มันตั้งอยู่ข้างล่าง แต่เวลาอยู่เนี่ยก็อยู่ที่โต๊ะนี้ แล้วก็มีพิมพ์ดีดต๊อกแต๊ก แล้วก็อยู่ตรงนี้ทั้งวัน ใครอย่ามาคุย บางทีกำลังเขียนฎีกา ลูก ๆ ก็ยังเคยใช้คำว่าอยู่ก็เหมือนไม่อยู่ ไม่อยู่ก็เหมือนอยู่

อังคณา นีละไพจิตร : 20 แห่งการรอความเป็นธรรมประจักษ์ สู่ ‘ตัวแทน’ ประชาชนในฐานะ สว.

The People : ถ้าให้ย้อนไปนึกถึงความทรงจำที่มีความสุขที่สุดจะนึกถึงความทรงจำไหน นึกถึงเหตุการณ์อะไร 

อังคณา : คือมันก็มีหลาย ๆ เรื่องนะคะ ซึ่งถือว่า เออ มันก็เป็น คือมันไม่มีเหตุการณ์หรอกที่แบบว่า เฮ้ย พาเราไปเที่ยวไปอะไร อันนี้ไม่ต้องพูดถึงนะคะ แต่ว่ามันมีหลายเรื่องที่ถือว่ามันเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตเรามากกว่า จุดเปลี่ยนที่ทำให้เราแบบเป็นคนไม่คาดหวัง แล้วก็เป็นคนที่หันมาพึ่งพาตัวเองมากขึ้น บางทีอย่างเรื่องเล็กน้อย เช่น ที่บ้านเมื่อก่อนถูกตัดไฟบ่อยมากเลย เพราะว่าการไฟฟ้าเนี่ยแบบว่า เออ พอ เขาจะหักบัญชีใช่ไหมคะ แล้วเขาก็พูดมาตลอดว่าเขาจะเป็นคนจ่ายเอง 

เราไม่ต้องยุ่ง เดี๋ยวเขาจ่ายของเขาเอง ค่าไฟก็หักบัญชีเขา ทีนี้แบบเงินมันไม่มีไง แล้วเราก็แบบ เฮ้ย การไฟฟ้าสมัยนู้นน่ะค่ะก็แบบพอขาด พอเงินไม่มีปุ๊บตัดไฟ แล้วพอตัดไฟแบบ เฮ้ย แล้วหุงข้าวไง หุงข้าวไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้เลย นึ่งขวดนมให้ลูกก็ไม่ได้ ตอนหลังก็เลย เราก็จัดการ เพราะถ้าชีวิตเรามัวแต่มาอยู่กับอะไรที่เราไม่รู้ เราวางแผนไม่ได้เลย แล้วเราจะอยู่ยังไงค่ะ เราก็เลยเอาใหม่ โดยการที่แบบเราก็จะมีสมุดบัญชีเยอะหลายเล่มเลยนะคะ เป็นค่ากับข้าว มีสมุดที่เป็นเงินออม มีสมุดที่มีบัตร ATM เอาไว้ฉุกเฉิน แล้วก็มีเป็นค่าเทอมลูก แล้วก็มีอีกอันเป็นค่าน้ำค่าไฟค่าโทรศัพท์ แล้วเราก็เนี่ยอันแรกที่ต้องมีก็คือค่าน้ำค่าไฟ อันที่ 2 คือค่าเทอมลูก มีบัญชีที่เป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัวด้วยนะคะ ที่เป็นส่วนตัวจริง ๆ เล

แล้วเราก็แบบจะน้อยจะมากไม่เป็นไร แต่ว่ามีค่าไฟ มีค่าเล่าเรียนลูก แล้วเราก็รู้สึกว่าคือไม่หวังพึ่งดีกว่า บางทีการไม่หวังพึ่งเนี่ยมันทำให้เรารู้สึกเราแข็งแรงขึ้น แต่นี่บางทีก็ไม่ค่อยดีสำหรับผู้ชายนะคะ เพราะบางทีเนี่ยเขา คือการที่บางทีเนี่ยผู้หญิงบางคนที่รู้สึกว่าตัวเองพึ่งพาตัวเองได้เนี่ย มันจะรู้สึกว่า เฮ้ย มีคุณอยู่หรือไม่อยู่มันก็ไม่ได้มีประโยชน์กับฉัน แล้วหลายคนที่ก็สุดท้ายก็อาจจะยุติความสัมพันธ์อะไรประมาณแบบนี้ คือตรงนี้ก็ไม่ได้ดีเสมอไป แต่ว่าโดยส่วนตัวเรารู้สึกว่า เออ มัน คือมันก็ทำให้เราแข็งแรงขึ้น เราจัดการกับปัญหาได้มากขึ้น เราดูแลลูก ๆ ได้เต็มที่มากขึ้น 

ถามว่าเขาอยู่บ้านเขาก็จะไม่ได้มีความไม่มีเวลาที่จะมาใส่ใจเรื่องการเรียนลูก เหมือนอย่างที่ตอนที่ลูกสาวคนโต เขาหายไปตอนที่ลูกสาวคนที่ 2 กำลังใกล้จะจบนะคะ ตอนที่ลูกสาวคนโตเรียนจบเนี่ย คือเขามาถามเราบอกว่าเพื่อนเขาบอกว่าลูกได้เกียรตินิยมอันดับ 1 จริงเหรอ เรียนยังไงเรียนกฎหมายได้เกียรตินิยมอันดับ 1 เพราะตัวเขาเนี่ยเรียนกฎหมายเรียน 4 ปีกว่าจะจบ ลง 4 ครั้งกว่าจะจบ คือเขาไม่เคยมาขอดูว่าลูกได้เกรดเท่าไหร่ ถ้าเพียงแต่ผ่านก็ดีใจแค่นั้นเอง เพราะว่าเขาเองก็เรียนหนังสือมาแบบผ่านก็ดีแล้วอะไรประมาณแบบนี้ คือถามว่าในรายละเอียดรู้ไหม ไม่รู้เลย เพราะงั้นทุกอย่างเราก็จะจัดการหมดค่ะ 

 

The People : เหมือนเป็นชีวิตคู่ที่ต้องปรับกันตลอด 

อังคณา : คือจริง ๆ มันก็คือเคยคุยกันนะคะว่าเราจะไม่ปรับ คือมันไม่ใช่จะให้เราไปทำเพื่อที่ให้เขาพอใจ เราก็คงทำไม่ได้หรอกค่ะ เราไม่สามารถฝืนได้หรอก เพราะเราก็จะมีพื้นเพชีวิตพื้นฐานวิธีคิดของเราแบบนี้ เขาเองเขาก็เติบโตมาอีกแบบนึง เราเรียนโรงเรียนฝรั่ง เขาเรียนโรงเรียนวัด คือเราก็ไม่ใช่ครอบครัวร่ำรวยนะคะ เป็นครอบครัวที่ก็พ่อทำงานรับจ้าง แม่เป็นช่างเย็บผ้า ของเขาทำนา เขาเป็นครอบครัวของคนทำนา แล้วไม่มีบ้านอยู่แต่เขามีที่ดินแต่เป็นที่นาอะไรประมาณนี้ 

คือชีวิตมันต่างกันมากเลย แต่บางทีเขาก็มองว่า เราเป็นเด็กที่เกิดในกรุง คือจริง ๆ แล้วหนองจอกก็คือกรุงเทพฯ แหละ แต่ว่าสมัยนั้นความที่ไปมามันไม่ค่อยสะดวก มันก็กลายเป็นชานเมือง กลายเป็นสิ่งที่คนทั่วไปเรียกว่าบ้านนอกอะไรประมาณแบบนี้ค่ะ คือก็ต้องยอมรับว่ามันต่างกัน เพราะฉะนั้นเราจึงเราก็เลยบอกเลยว่าเราก็ไม่ปรับ แต่ว่าไอ้สิ่งที่เรารู้สึกปรับเนี่ย มันเป็นความรู้สึกที่ว่า เออ มันจะทำให้เราอยู่กับสถานการณ์แบบนี้ได้ คือเคารพตัวเองได้ ไม่เสียเวลาไปทะเลาะกันค่ะ 

อังคณา นีละไพจิตร : 20 แห่งการรอความเป็นธรรมประจักษ์ สู่ ‘ตัวแทน’ ประชาชนในฐานะ สว.

The People : มีเหตุผลอะไรไหมที่เราก็สามารถดูพึ่งพาตัวเองได้ แต่เราก็ยังตัดสินใจที่จะใช้ชีวิตคู่กับเขา 

อังคณา : คือจริง ๆ มันคือความเป็นครอบครัว มันคือความเป็นครอบครัว มันคือการที่เรามีลูก ๆ แล้วเราก็รู้สึกว่าความเป็นครอบครัวมันก็ยังดี แล้วเราก็ไม่ได้รู้สึกว่า เออ ถ้าเราไป ถ้าเราออกไปอยู่คนเดียว หรือออกไปอยู่กับลูกมันจะทำให้ชีวิตเราดีกว่า เราก็ไม่ได้คิดแบบนั้น บางทีเขาก็เคยพูดว่า เออ ทน ๆ เขาเถอะ ไม่นานเขาก็ไม่อยู่แล้วมั้ง ตายแล้วอะไรประมาณนี้ บางทีลูก ๆ ก็จะเป็นคนแซว อย่างบางทีลูกก็จะแบบ อ้าว วันนี้กลับบ้านเหรอ นึกว่าลืมไปแล้ว บางทีลูกก็จะแบบ เอ้ย พ่อไปรวยมาจากไหน ซื้อขนมมาเต็ม ปกติแบบเงินไม่ค่อยมี

อังคณา นีละไพจิตร : 20 แห่งการรอความเป็นธรรมประจักษ์ สู่ ‘ตัวแทน’ ประชาชนในฐานะ สว.

ประเทศที่ฝันใฝ่ ก่อนใจจะแหลกสลาย

The People : คุณอังคณาก็อยู่เคียงข้างเขามาโดยตลอด เคยฝันไหมว่าประเทศไทยมันจะเปลี่ยนเป็นสังคมที่มีความยุติธรรมมากขึ้นในการที่เราเห็นเขาทำงานทุ่มเททุกอย่าง 

อังคณา : คือพูดตรง ๆ เลยนะคะว่าสมัยพี่ใบ พี่ทองใบ ทองเปาด์ หรือสมชาย นีละไพจิตรเนี่ย คนกลุ่มนี้ไม่เคยเรียกตัวเองว่าเป็นทนายสิทธิมนุษยชนหรอก คนกลุ่มนี้ถือว่าการ เขาเป็นทนายช่วยเหลือชาวบ้าน เขาแทบจะไม่รู้จักคำว่าสิทธิมนุษยชน แต่ว่าประเทศไทยมันเปลี่ยนหลังจากช่วง 35 แล้วก็รัฐบาลคุณอนันต์ (อานันท์ ปันยารชุน) ก็ถือว่าน่าจะเป็นคนที่บุกเบิกในเรื่องสิทธิมนุษยชน คือให้ รัฐบาลให้สัตยาบันกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองสิทธิทางการเมือง รัฐธรรมนูญ 40 เนี่ย ซึ่งพูดถึงเรื่องของสิทธิในกระบวนการยุติธรรมอะไรไว้เยอะมากค่ะ แล้วมันก็เป็นการรับรองสิทธิ์ และหลังจากนั้นมันพัฒนาการมาเรื่อยอะไรต่อค่ะ  

ซึ่งเมื่อก่อนแบบไม่มี มันดีไหม มันดี แต่ว่ามันไม่ใช่คนไทยทุกคนที่จะรู้นะคะ แต่ตัวเองเนี่ย คือเราจำได้เลย สมัยนั้นที่รณรงค์ใช้ธงเขียว โหย ชาวบ้านพกรัฐธรรมนูญเลย ถือรัฐธรรมนูเวลาที่จะไปติดต่อกับรัฐ นี่ไง ๆ เป็นสิทธิ์ของเขา แล้วเรารู้สึกว่า เออ มันเป็นยุคที่เปลี่ยนน่ะ มันเกิดความรุนแรงแล้วมันเปลี่ยน มันเปลี่ยนโดยการที่มันมีมันเป็นเหมือนการปฏิรูปนะคะ ที่ทำให้คนตระหนักถึงเรื่องของสิทธิความเป็นส่วนตัว เรื่องของเขาเองมีสิทธิอะไรในฐานะของพลเมืองอะไรประมาณแบบนี้ค่ะ แต่ไม่ได้หมายความว่าคดีละเมิดสิทธิมนุษยชนจะลดน้อยลง ไม่ใช่ 

 

The People : แนวโน้มเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนโดยรัฐเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง 

อังคณา : คือก็ยังมีอยู่ต่อเนื่องนะคะ พูดตรง ๆ เลยว่ายังมันมีอยู่ต่อเนื่อง มันก็น้อยลง พูดถึงเรื่องอุ้มหายเนี่ยมันน้อยลงมากเลยนะคะ แล้วก็ถ้าไม่นับรวมจาก 9 คนที่เป็นผู้ลี้ภัยที่หายไปเนี่ยในช่วง 5-6 ปีก่อนเนี่ยในช่วงหลังรัฐประหารเนี่ย ก็ต้องถือว่ามีคดีบิลลี่ (พอละจี รักจงเจริญ) เมื่อปี 57 น่าจะเป็นคดีสุดท้าย และหลังจากนั้นก็จะมีเรื่องของนักกิจกรรมการเมืองที่หายไปในช่วงหลังรัฐประหาร ถือว่ามันน้อยลงนะคะ โดยเฉพาะเรื่องอุ้มหายค่ะ 

 

The People :คุณอังคณาและลูก ๆ บอกว่าพ่ออยู่ก็เหมือนไม่อยู่อันนี้เป็นการพูดเล่น แล้วเคยคิดไหมว่าอาจจะมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นจริง ๆ 

อังคณา : ก็เคยนะคะ เพราะว่าตอนที่เขาทำงาน เขาว่าความเนี่ย คือตอนก่อนที่เขาทำงานกับพี่ทองใบมาก ๆ  พี่ทองใบก็จะบอกว่าคุณไปทำงานแถวทางเกี่ยวกับภาคใต้แล้วกัน เพราะว่าคุณสมชายน่าจะเข้าใจวัฒนธรรมประเพณีมากกว่า แล้วก็คือเราก็เรียนรู้ว่าคือเขาก็จะพูดว่า เออ คนนั้นถูกอุ้ม คนนี้ถูกอุ้ม ที่จริงน่ะค่ะเวลาที่เราพูดถึงเรื่องของคอมมิวนิสต์เนี่ย คือคนที่เกิดในช่วงนั้นและเติบโตในช่วงนั้นเนี่ย เราจะนึกถึงเรื่องของการปราบปรามพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย นึกถึงกรณีพัทลุง แล้วก็นึกถึงว่าตรงนั้นแหละ คือที่มาของคำว่าถีบลงเขา เผาลงถังแดง แล้วเป็นอะไรที่ชาวบ้านเนี่ยคือไม่รู้จะทำไง คือชาวบ้านไม่รู้จะทำอะไรจริง ๆ แจ้งความไม่ได้ กลัว 

สิ่งที่ชาวบ้านทำได้ก็คือสร้างอนุสาวรีย์ถังแดง เป็นรูปถังแดงขึ้นมา แล้วก็เพื่อที่จะมันก็เหมือนการประจานรัฐว่า เออ มันมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น ถึงแม้ชาวบ้านจะทำอะไรไม่ได้ แต่ก็ทำให้สังคมและคนรุ่นหลังเนี่ยรู้ว่าครั้งหนึ่งมันเคยมีเหตุการณ์แบบนี้นะคะ ในกรณีทางใต้ก็เหมือนกัน คือทนายเนี่ย คุณสมชายเขาจะพูดให้ฟังเรื่อยนะคะว่าคนนั้นถูกอุ้ม คนนี้ถูกอุ้ม เราก็แบบ คือเราก็ถามว่า อ้าว แล้วทำไมครอบครัวเขาไม่ออกมาทำอะไร เขาก็จะบอกว่าเขากลัว ถูกอุ้มไปคนก็กลัวไปทั้งตำบล เราก็รับทราบมาตลอด แล้วก็คือใจเราก็รู้สึกว่า เฮ้ย ไม่แฟร์ เพราะแบบว่าบางทีครอบครัวไม่กล้าพูด แล้วใครจะพูดแทนคุณล่ะ ทนายเองพูดก็ไม่ใช่ว่าทนายจะปลอดภัยค่ะ ก็ถูกคุกคามอะไรมาเรื่อย ๆ ค่ะ 

 

The People : เหตุการณ์ช่วงที่ถูกคุกคามหรือว่าก่อนที่ทนายสมชายจะหายตัวไป ช่วงนั้นคุณทนายมีท่าทีอะไรผิดปกติไหม 

อังคณา : คือดูว่าเขาเป็นคน คือดูว่าช่วงนั้นเขามีปัญหานะคะ แล้วก็เป็นคนตกใจง่าย บางทีแบบมีบางคืนที่แบบว่าคือเราเป็นคนที่แบบนอนดึกนะคะ แล้วก็มีบางคืนที่มีคนมายืนคุยหน้าบ้าน คือบ้านเราแบบนี้ มีใครมายืนเราก็ได้ยินแล้ว มีใครมาคุยอย่างนี้เราก็รู้แล้ว ก็ลงมา แล้วก็มาเปิดประตูแล้วก็ถามว่ามีอะไรให้ช่วยไหม ก็แบบว่าตี 1 ตี 2 มายืนคุยทำไม แล้วคือรถเราก็จอดระหว่างรถกับประตูบ้าน ซึ่งมันจะมีช่องทางเล็ก ๆ นะคะ คนเดินได้ แล้วที่ตั้งกว้างทำไมไม่ไปคุย ทำไมต้องมาคุยเฉพาะอีช่องตรงนี้หน้าบ้านเราค่ะ ก็เปิดประตูถาม 

เขาก็บอกว่า อ๋อ ไม่มีอะไรผมโทรศัพท์คุยกับเพื่อน เราก็ปิดประตูไป แล้วก็พอหันมาปรากฏ อ้าว คุณสมชายเขาลงมานั่งรอ แล้วเขาก็ดูเขาเหงื่อแตก ดูเขากลัว ดูเขาตกใจอะไรมา ก็พยายามถามเขาตลอดว่ามีอะไร เขาไม่พูดเลย ไม่พูดเขาไม่เล่าเลย แล้วตอนนั้นจำได้ว่า คือเขารับโทรศัพท์บ่อยมาก แล้วเราก็รู้สึกว่า เฮ้ย เขามีท่าทีแปลก แต่ว่าถามเขาเยอะมากเลยนะคะ ถามตลอด แล้วเขาก็ไม่พูด คือความคิดผู้หญิงกับผู้ชายมันไม่เหมือนกัน ในขณะที่เขาคิดว่าเขาไม่บอกเรา เพราะเขากลัวว่าเราจะกังวล 

แต่ในขณะที่เรารู้สึกว่า เฮ้ย มันไม่แฟร์ มันไม่แฟร์เลย เพราะเราเป็นคนที่อยู่ในบ้าน เราต้องเผชิญกับอะไรต่อมิอะไรตั้งเยอะแยะ เออ เรายังต้องดูแลครอบครัว แล้วการที่ไม่บอก มัน คือมันไม่แฟร์เลย เราไม่รู้จะตั้งรับยังไง ถ้ามันมีปัญหามีอะไรเกิดขึ้นค่ะ คือช่วงนั้นก็คือไม่รู้จะพูดยังไง แล้วเขาก็เขาไม่พูดเลย เขาใช้วิธีนิ่งเงียบ เวลาที่เขามีปัญหาเขาจะเงียบ แล้วเขาจะไม่บอก แล้วเราก็พูดแบบนี้อยู่ตลอดว่า เออ มันไม่แฟร์ มันไม่แฟร์ เพราะคนอยู่ด้วยกันแบบนี้ เออ มันไม่แฟร์เลยที่คนที่อยู่ด้วยกันจะไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วถ้ามีอะไรเกิดขึ้น เราจะตั้งรับไงล่ะ อันนี้เป็นความรู้สึกแบบตอนนั้นนะคะ ถามว่าโกรธไหม โกรธ 

 

The People : เคยมีความคิดไหมว่าชีวิตเราชีวิตของครอบครัวเราอาจจะไม่ปลอดภัยด้วย 

อังคณา : คือคิดค่ะ คิดมาตลอดเลย แล้วก็คือบางทีน่ะลูกรับโทรศัพท์ แล้วก็มีคนพูดอะไรแปลก ๆ แบบนี้ เราก็รู้สึก เฮ้ย มันไม่แฟร์กับเรา มันไม่แฟร์กับเด็ก ๆ  เวลาจะไปทำอะไรเนี่ย เราไม่เคยห้าม แล้วเราก็รู้สึกว่า เออ ถ้าเขาทำในสิ่งที่เขาเชื่อมั่นว่าถูก เราไม่เคยห้ามเลย แต่ว่าในขณะเดียวกันเนี่ย มันก็จะต้องเป็นธรรมกับคนที่อยู่ข้างหลัง ถึงแม้จะไม่ได้อยู่ข้างหลังจะพูดถึงอยู่ข้าง ๆ กันอะไรก็แล้วแต่ แต่เราก็ยังมีเด็กมีอะไรที่อยู่ด้วยกัน แล้วเราก็คือถ้าให้พูดอีกวันนี้รู้สึกยังไง ก็ยังรู้สึกว่ามันไม่แฟร์ แล้วถ้าหากจะพูดสื่อสารไปถึงคนอื่นได้ ก็คงพูดไม่ต่างกัน ก็คือการที่ เวลาที่เราอยู่เป็นครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวเดี่ยวครอบครัวแยกหรืออะไรก็แล้วแต่เนี่ย คนที่อยู่ด้วยกันเนี่ยเป็นคนที่ต้องรับผลกระทบมากที่สุด การเลี่ยงไม่บอกเล่าปัญหาเนี่ย อาจจะเป็นความคิดที่ว่าเพื่อปกป้องคนในครอบครัว แต่จริง ๆ มันไม่ได้ปกป้องหรอก มันอาจจะซ้ำเติมด้วยซ้ำไป เพราะว่าการไม่รู้เนี่ยมันทำให้เราไม่รู้เลยเราจะตั้งรับมันยังไงค่ะ 

อังคณา นีละไพจิตร : 20 แห่งการรอความเป็นธรรมประจักษ์ สู่ ‘ตัวแทน’ ประชาชนในฐานะ สว.

The People : วินาทีแรกที่รู้ว่าทนายสมชายไม่อยู่แล้ว แล้วเขาจะไม่มีวันกลับมา เป็นยังไงบ้างตอนนั้น 

อังคณา : คือวินาทีแรกเนี่ยคือเรา คือเขาหายไปวันที่ 12 มีนาคม 47 นะคะ ตอน 2 ทุ่มครึ่งติดต่อเขาไม่ได้ เขาโทรศัพท์มาหาลูก ลูกก็ไม่รับ ก็แบบทำไมพ่อไม่กลับบ้าน ก็อย่างที่บอกนะคะเวลาที่ไม่กลับก็จะโทรฯ มาบ่อย กินข้าวหรือยังอะไรต่อ แล้วลูกก็รู้สึก เออ ทำไมพ่อไม่กลับบ้าน ลูกก็แบบก็ไม่รับโทรศัพท์ แล้วปกติเขาเคยโทรฯ มา เขาก็ไม่โทรฯ เราก็คิดว่าเขาอาจจะแบบไปนอนบ้านเพื่อนไหม เพราะบางครั้งเขาก็มีนะคะ ที่แบบว่า บางทีแบบงานเยอะ ๆ อะไรไม่ไหว ไปนอนบ้านเพื่อน หรือบางทีคุยจนดึกค่ะ แต่ก็ไม่เคยมีที่จะติดต่อไม่ได้ หรือไม่เคยมีที่จะไม่บอก ก็เริ่มรู้สึกผิดปกติ ก็แต่เราก็รู้วันรุ่งขึ้นตอนเช้าเขาจะมีประชุมกับเพื่อนเขา 

เช้าวันเสาร์เนี่ย เราก็ติดต่อเขาไม่ได้ โทรศัพท์ถูกปิดไปแล้วตั้งแต่ประมาณ 2 ทุ่มครึ่งนะคะ แล้วก็ แต่เราก็ยังคิดว่าเขาน่าจะอยู่กับเพื่อน เพราะว่าเขานัดประชุมกับเพื่อนหลายคน ถ้าหากว่ามีอะไรเกิดขึ้นเพื่อนน่าจะบอกเรา ปรากฏไม่มีใครบอกเลย แต่เราก็ติดต่อเขาไม่ได้อีก แต่เราก็ยังคิดว่าเขาน่าจะทำงาน จนกระทั่งวันอาทิตย์เนี่ย เขาจะต้องเดินทางไปต่างจังหวัดไปนราธิวาสค่ะ เพราะว่าคุณทักษิณ (ทักษิณ ชินวัตร) จะไปที่นราธิวาส แล้วเขามีว่าความพอดี ช่วงนั้นเขาล่ารายชื่อยกเลิกกฎอัยการศึก แล้วเขาก็มีแผนว่าเขาจะไปยื่นรายชื่อกับคุณทักษิณ เราก็แบบกระเป๋าเดินทางเขาตั้งอยู่ ตั้งอยู่ที่บ้าน ตั๋วเครื่องบินอยู่ในกระเป๋า แล้วเขาไม่กลับมา 

อังคณา นีละไพจิตร : 20 แห่งการรอความเป็นธรรมประจักษ์ สู่ ‘ตัวแทน’ ประชาชนในฐานะ สว.

อันนั้นแหละคือสิ่ง คือที่เรารู้แล้วว่ามันต้องมีเหตุร้าย แล้วคนที่บอกเราคนแรกก็คือเพื่อนเขา คือในช่วงตอนกลางวันเนี่ย ลูก ๆ บอก เออ เห็นเพื่อนพ่อมายืน ๆ แถวบ้าน คือมาดูว่ารถอยู่ไหมนะคะ เราทราบภายหลังว่ามาดูว่ารถอยู่ไหม แต่ไม่บอกเรา แล้วก็จนกระทั่งแบบได้เวลาที่เขาเดินทางแล้วเขาไม่ได้เดินทาง เพื่อนเขาถึงได้มาบอกว่า เออ เขาหายไป น่าจะถูกอุ้ม

คือเรารู้สึก โห ทำอะไรกันเนี่ย ทำอะไรกันแบบแล้ว ทำอะไรกันโดยที่เราไม่รู้เลยเหรอ แล้วครอบครัวมันอยู่ตรงไหนในสมการของการทำงานเพื่อคุ้มครองคนอื่น จริง ๆ แล้วครอบครัวมันอยู่ด้วยไหมหรือว่ามันไม่มีเลย 

เวลาที่คุณจะทำงานเพื่อช่วยเหลือคนอื่นเนี่ย หรือว่าคุณไม่ได้มีครอบครัวที่อยู่ในการงาน หรือว่าในการที่จะวางแผนทำอะไร แล้วรู้สึกว่าเพื่อนก็ไม่แฟร์ แทนที่จะบอกเราตั้งแต่แรก ตั้งแต่วันเสาร์ว่า เขาไม่ได้มาประชุม ก็ไม่เลย มาบอกเราทีหลัง มาแถวหน้าบ้านมาดูว่ารถอยู่ไหม ซึ่งก็ตรงกับที่ลูก ๆ พูด พอฟังเสร็จ เราก็กำลังกินข้าวกับลูกค่ะ ก็แบบก็ขับรถไปที่สถานีตำรวจบางยี่เรือใกล้ ๆ บ้านค่ะ ก็ไปแจ้งความ ไปแจ้งความว่า เออ สามีแบบหายไป ตำรวจก็แบบ โอ้โห อะไรแบบบอกเราบอกว่าไม่ได้จะต้องรอครบ 48 ชั่วโมง  

นี่ก็บอก งั้นช่วยเช็กให้หน่อยได้เปล่ารถทะเบียนนี้ รถเนี่ยยี่ห้อนี้ ทะเบียนนี้ประสบอุบัติเหตุที่ไหนหรือเปล่า คือเราแบบ ยังคิดในแง่แบบน่าจะมีอุบัติเหตุค่ะ ตำรวจก็บอก เช็กแล้วกรุงเทพฯ ปริมณฑล ไม่มี ไม่มีอุบัติเหตุ ไม่มีใครพบเห็นรถคันนี้ เราก็เริ่มรู้สึก มันผิดปกติ แล้วพอดีช่วงนั้นพี่สัก กอแสงเรือเป็นนายกสภาทนายความนะคะ พวกหมอนิรันดร์ ก็เป็น ส.ว. อยู่ วันรุ่งขึ้นเขาก็เลยถามคุณทักษิณในสภาค่ะ สื่อทุกสื่อในตอนนั้นหนังสือพิมพ์ยังเป็นกระดาษ ตอนนี้ก็เป็นแต่ว่ายังน้อย สมัยก่อนนั้นน่ะเช้ามาพอเดินผ่านเนี่ย โห พาดหัวทุกเล่มเลยว่าอุ้มทนายโจร แล้วก็มีข่าวต้นชั่วโมงตลอดเรื่องอุ้มทนายโจรค่ะ 

 

The People : เหตุผลอะไรทำไมช่วงนั้นเขาถึงตีตราว่าเป็น ‘ทนายโจร’ 

อังคณา : ก็ไปว่าความให้พวกที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นโจรมั้งคะ คดีเจไอ คดีอั้งยี่ซ่องโจร คือสมัยนั้นมันไม่เหมือนสมัยนี้นะคะ สมัยนี้ทนายความที่ทำงานสิทธิมนุษยชนที่ว่าความคดีอั้งยี่ซ่องโจรหรือ ไม่ได้ถูกตีตราแบบนั้น แต่ว่าเราผ่านช่วงชีวิตนั้นมา แล้วเราก็รู้สึกว่าสื่อเองก็ไม่ค่อยเป็นธรรม ใช้คำพูดบางอย่าง คือพูดตรง ๆ ว่าสื่อสมัยเกือบ 20 ปีที่แล้ว ก็ไม่ได้เหมือนแบบนี้ ก็ไม่ได้คิดจะเคารพสิทธิของใครค่ะ มันก็ แต่มันก็เป็นวิวัฒนาการมานะคะ คือช่วงนั้นน่ะสิ่งหนึ่งที่มันท้าทายมากก็คือมันเหมือนเราอยู่คนเดียว ตอนนั้นเหมือนเราอยู่คนเดียวเลย แล้วก็คือญาติพี่น้องเนี่ย ก็หายไปเลย ญาติพี่น้องของคุณสมชายหายไปเลย คือเขาก็ตั้งคำถามกับเราว่า เอ้ย เราแน่ใจเหรอเราจะมีเรื่องกับตำรวจ เพื่อนทนายความที่ทำงานด้วยกันมาก็แบบบางคนไปประเทศเพื่อนบ้าน เออ 

แล้วเราก็แบบ เอ้ย เกิดอะไรขึ้น มันเกิดอะไรขึ้น สุดท้ายแล้วอยู่คนเดียว แล้วเราก็ แต่ว่าเราก็ดีว่ามีครอบครัวเราที่สนับสนุนนะคะ มีเพื่อนบ้าน เพื่อนบ้านก็จะเป็นมิตรมากเลยนะคะ ช่วงนั้นก็มีคนเข้ามาที่บ้านเยอะ เพื่อนบ้านบางทีก็ทำแกงมาให้เป็นหม้อเลย ก็ถือว่าเป็น แต่ว่ามันเป็นช่วงที่ตัวเองรู้สึกว่าคือลำบากใจมากเลยนะคะ เพราะว่าคือเรารู้ว่าทุกคนรักทุกคนเป็นห่วงทนาย แต่บางทีเนี่ยมันกลายเป็นว่าเราต้องรับแขกทั้งวัน เราต้องดูคน คนรู้จักบ้าง ไม่รู้จักบ้าง เออ เข้ามานั่งร้องไห้บ้างอะไรบ้าง สื่อก็มาเต็มเลยไม่รู้สื่อจริงสื่อไม่จริง แล้วความรู้สึกช่วงนั้นก็คือที่มันขัดแย้งในใจก็คือในช่วงนี้มันเป็น มันควรเป็นช่วงที่เราต้องอยู่กับลูกให้มากที่สุด เราควรต้องคุยกับลูกเปล่าว่ามันเกิดอะไรขึ้นน่ะ มันไม่ใช่ว่าให้ลูกไปคอยฟังแต่ว่าข่าวต้นชั่วโมงจะออกว่าอะไร แล้วเรารู้สึกแบบ โห มันทุกข์ทรมานมากเลยนะคะ แต่คือสิ่งที่เราทำคือพยายามให้ชีวิตปกติ เช้ามาขับรถไปส่งลูกที่โรงเรียน แต่ความไม่ปกติก็คือทำไมเราต้องมานั่งรับแขก ทำไมเราต้องมานั่งรับกระเช้าจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือ จะยกกระเช้ามาทำไม ก็ไปหาสิว่าอยู่ที่ไหนใช่ไหมคะ แล้วทำไมเราต้องมาตอบคำถามที่เราตอบไม่ได้กับคนเยอะแยะไปหมด แล้วถามคำถามก็คืออยู่ไหน สมชายอยู่ไหน เชื่อว่าอยู่หรือตาย จะไปรู้ได้ยังไง เราจะไปรู้ได้ยังไง เราก็คืออยู่ตรงนี้ เออ  อันนั้นน่ะเป็นช่วงที่เรารู้สึกว่า เฮ้ย มันไม่เป็นธรรมค่ะ หลังจากที่ชีวิตเป็นอย่างนี้สักระยะหนึ่งนะคะ สัก 2-3 อาทิตย์น่ะ ก็เลยคิดว่าไม่เอาแล้วจะปรับชีวิตตัวเองใหม่แล้ว ไม่รับแขกนะคะปิดประตูเลย คือตัวเองไม่มีโทรศัพท์มือถือ เวลาใครจะสัมภาษณ์ไม่มีคือไม่ต้องมา 

เพราะว่าเราไม่มีโทรศัพท์ เพราะส่วนตัวเนี่ยเรารู้สึกว่า เออ คือการมีโทรศัพท์มันเหมือนกับว่าเราต้องมารับตลอดน่ะ แล้วเราก็แบบ เออ บางทีเราก็ไม่ได้อยาก เพราะส่วนใหญ่คนที่โทรฯ มาคือธุระชาวบ้านไม่ใช่ธุระเราค่ะ บางทีเราก็แบบ เออ มันเสียเวลา ช่วงนั้นไม่มีโทรศัพท์มือถือนะคะ ก็ปรับหลายอย่าง จากคนที่มีชีวิตความเป็นส่วนตัวสูง ต้องมาเจอคนเยอะ ๆ  ฉะนั้นก็ปรับเยอะนะคะ ลูกก็เอาโทรศัพท์มาให้ใช้ เพราะว่าเราก็ต้องแลกเปลี่ยน จะยกกระเช้ายกอะไรมา ไม่ต้องนะคะ ไปหาตัวทนายเถอะอะไรประมาณแบบนี้ค่ะ

แล้วก็คิดว่าเราต้องอยู่กับลูกแล้ว แล้วก็อธิบายให้เข้าใจ เออ ว่ามันเกิดอะไรขึ้น และต่อไปเราจะอยู่แบบไหนนะคะ เพราะว่าคือมัน trauma  เดินผ่านร้านหนังสือพิมพ์เนี่ย พาดหัวข่าวอุ้มทนายโจรน่ะ นะคะ ลูกบางคนโต ๆ ไปเรียนมหา’ลัย มี ตอนนั้นมันจะมีข่าวอยู่ที่รถประจำทางนะคะ รถโดยสารสาธารณะ ก็จะมีวิทยุเปิดข่าวทุกชั่วโมง เพราะฉะนั้นเราต้องฟังไอ้สิ่งแบบนี้ ฟังแล้วฟังอีกโดยที่ลูกก็ไม่รู้ว่ามันคืออะไร ลูกไปโรงเรียนลูกก็ถูกเพื่อน ๆ ถาม ถูกครูถาม มันเป็นอะไรที่เราตอบไม่ได้เลย ช่วงนั้นก็เลยคิดว่าเราไม่เอาแล้ว อย่ามายุ่งกับเรา ใครจะคิดว่าเราเป็นแบบเย่อหยิ่งจองหองก็ไม่เป็นไร แต่ว่าเราควรจะอยู่กับลูกเรามากกว่า ก็ใช้เวลาปีหนึ่งค่ะที่อยู่กับลูก อยู่กับลูกโดยที่แบบยังไม่ทำอะไรเลย แม้แต่จะถามว่าในเรื่องเกี่ยวกับคดีเนี่ยทำไหม ก็ทำนะคะ คือคุณทักษิณก็แน่ สามารถที่จะออกหมายจับภายในเดือนนึง 

ออกหมายจับตำรวจ 4 คน แล้วต่อมาก็ออกหมายจับอีกคนหนึ่ง ก็ถือว่าเวลาจะทำจริง ๆ ก็ทำได้ มันอยู่ที่ว่ามีเจตจำนงทางการเมืองจะทำหรือไม่ทำ ถึงแม้จะไปยกฟ้องทีหลัง แต่มันก็เห็นจุดโหว่ของสำนวน ของกระบวนการยุติธรรมเยอะค่ะ แต่ว่าจะใช้เวลาส่วนใหญ่กับครอบครัวมากกว่าค่ะ แล้วก็พอครบปีเนี่ย ก็คุยกับลูก ๆ  คือสิ่งที่เราต้องทุ่มเทให้กับลูก เพราะว่าคือเด็กเนี่ยมักจะคิด คือเขาจินตนาการ คือครอบครัวคนหายเนี่ยเป็นแบบนี้ทุกคนแหละค่ะ ก็จินตนาการไปว่าพ่อคงถูกเอาตัวไป พ่อคงถูกทรมาน พ่อคงคิดถึงเรา เออ แล้วความรู้สึกแบบนี้มันแบบ คือมันบั่นทอนจิตใจค่ะ คือเราเห็นลูกบางคนตัวร้องไห้อยู่ในตามมุมของบ้าน มันเป็นอะไรที่เรารู้สึกเราแย่มากค่ะ 

เราก็รู้สึกว่า เฮ้ย ทำไมเราถึงต้องมานั่งเปิดประตูบ้านต้อนรับใครก็ไม่รู้ ที่เราไม่รู้จัก มานั่งร้องไห้ จะร้องทำไม เราเองก็แย่อยู่แล้วอะไรประมาณแบบนี้ ก็เลยแบบเราเลือกที่จะไม่ คือไม่ให้ความสำคัญกับคนข้างนอกมากกว่าคนในบ้าน เพราะเรารู้สึกว่าเด็ก ๆ ต้องมีชีวิตอยู่ต่อ แล้วมันเป็นอะไรที่หนักมาก

ไม่เคยคิดว่าชีวิตจะเจออะไรที่เป็นแบบนี้ โห อันนี้เป็นเรื่องที่ไม่เคยคิด ไม่เคยคาดหวังเลยนะคะว่าจะเจอ จะเจ็บป่วยตาย จะถูกฆาตกรรม มันก็ยังมีศพ นี่มันเป็นอะไรที่เราแบบเราไม่รู้เลย

ชีวิตไม่เคยคิดเลยว่า โอ้ เราจะเจออะไรที่มันหนัก ก็อยู่กับลูกค่ะ แล้วก็สิ่งหนึ่งที่พูดกับลูกตลอดก็คือ คือเราเชื่อในพระเจ้านะคะ แล้วก็จะบอกกับลูกว่าคือเราเชื่อว่าพ่อเนี่ยอยู่กับพระเจ้า แล้ววันหนึ่งถ้า คือถ้าพระองค์ไม่ให้เรารู้ เราก็ไม่รู้หรอก ยังไงก็ไม่มีใครจะช่วยเราได้ 

แต่ถ้าวันหนึ่งพระองค์จะให้เรารู้ความจริง ไม่ว่าใครหน้าไหนก็ปิดบังไม่ได้ แต่เราก็คือคุยกับลูกว่าเราต้องหยุดอยู่ตรงนี้แหละ แล้วเราก็ อะไรที่เราไม่รู้ เราจะไม่คาดเดา เราจะไม่จินตนาการว่ามันจะต้องเป็นยังไง แต่เราเชื่อว่าพระเจ้ารู้ แล้ววันหนึ่งเราก็ยังมั่นใจนะคะว่าเราจะได้รับความเป็นธรรม แล้วเราก็ คือเราก็หยุด แต่ว่าก็จะถามลูกว่าแล้วเอาไงต่อ แล้วจะเอาไงต่อ คือช่วงนั้นน่ะคุณทักษิณเองก็คือเคยถามว่า เออ อยากช่วยเหลือ อยากให้ทุนการศึกษา คุณทักษิณก็เคยชมว่า เออ ลูกสาวคนที่อยู่คณะเดียวกับคุณอุ๊งอิ๊ง (แพทองธาร ชินวัตร) คุณทักษิณก็ยังบอกเคยพูดว่าลูกคุณอังคณาเรียนเก่ง เราก็บอกก็เป็นลูกคนจน ถ้าหากว่าไม่เรียนดี ไม่ได้ทุนการศึกษา เราก็ไม่รู้จะส่งลูกยังไง 

เพราะเคยบอกลูกค่ะว่า โห นี่ถ้าไปเรียนมหา’ลัยเอกชนน่ะ แม่ไม่มีปัญญาเลย ขายให้หมดบ้านก็ไม่พอส่งค่ะ เทอมนึงตั้งหลายหมื่น แล้วลูก ๆ ก็ติด ๆ เรียนหนังสือแบบชั้นเรียนติด ๆ กัน อันนี้ก็ต้องบอกเลยว่าเราไม่มีความสามารถ แล้วเวลาที่เราเลี้ยงลูกน่ะ คือไม่เคยมีอะไรปิดบังลูกเลยนะคะโดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ มีก็คือบอกว่ามี ไม่มีก็บอกเลยว่าไม่มี มีแค่ไหนก็ต้องบอก เพราะงั้นทุกคนก็จะรู้ก็เติบโตมากับการที่จะรู้ทุกเรื่อง รู้เท่า ๆ กับที่แม่รู้อะไรประมาณแบบนี้ค่ะ แล้วก็พอครบปีเนี่ยก็ถามลูกใหม่ว่า เออ เราเอาไงดี ก็มีคนไปเสนอว่าจะให้ทุนการศึกษา ลูกจะได้ไปเรียนเมืองนอก  

มีคนที่เคยมาที่บ้าน แล้วเขาบอกว่าระวังตัวด้วยนะ มีญาติพี่น้องที่มาโทรศัพท์มา หรือมาเอง แล้วก็บอกว่ามีผู้ใหญ่เขาเตือนมาให้ระวัง แต่พอถามกลับว่าแล้วผู้ใหญ่คนนั้นเป็นใครล่ะ ให้ระวังอะไร ก็ไม่พูด แล้วเราก็รู้สึกว่าไอ้คำพูดแบบนี้ มันคุกคาม แล้วพอเรากำลังจะลืมก็มาอีกแล้ว มาพูดแบบนี้อีกแล้วไม่พูดเลยดีไหม เออ ไม่ต้องมาเตือนเลยดีกว่า แล้วมีขนาดว่ามาที่บ้าน แล้วก็มา คือตอนนั้นก็แบบไม่ได้เปิดประตูนะคะ ก็แง้ม ๆ เฉย ๆ ปรากฏว่าถามว่า เออ คุณมีอะไรป้องกันตัวไหม เปิดมา โอ้โห มีปืนแบบนี้ เราก็แบบ เฮ้ย แบบคือเราก็แบบว่าก็คุยดี แล้วก็พอปิดประตูเสร็จก็นึก โห นี่ถ้าเกิดว่ามันหยิบปืนมายิงเรา เราก็ตายไปแล้วเปล่าค่ะ ก็แบบหลังจากนั้นก็คุยกับลูกจริงจังว่าเอาไงดี 

เพราะว่าถ้าหากว่าคือถ้าเรายังยืนยัน หรือว่าเรายังแบบพยายามที่จะเรียกร้องความเป็นธรรมให้พ่อกันอยู่ ชีวิตมันคงต้องเผชิญกับเรื่องแบบนี้ไม่สิ้นสุด แต่ถ้าหากลูก ๆ เลือกที่จะรับความช่วยเหลือจากใคร ลูกก็อาจจะมีชีวิตอีกแบบนึง ได้ไปเรียนต่อต่างประเทศ มีชีวิตที่เป็นอีกแบบหนึ่ง แล้วในที่สุดเนี่ย คือลูก ๆ 5 คนก็ตัดสินใจกันว่าคือพ่อเนี่ยช่วยคนอื่นมาใช้ชีวิตน่ะ แล้ววันหนึ่งเมื่อมันเกิดเหตุการณ์แบบนี้กับพ่อ ถ้าแม้คนในครอบครัวไม่ช่วยแล้วใครจะทำ ตั้งแต่นั้นมาก็เป็นจุดเปลี่ยนให้เราแบบเราก็เดินไปข้างหน้าต่อ เป็นสิ่งหนึ่งที่เคยพูดกับลูกแล้วยึดถือมาจนวันนี้นะคะ จนวันนี้ก็คือถ้าเมื่อไหร่ที่ลูกรู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว แล้วอยากให้หยุด เราจะหยุดเลย แล้วเราจะไม่ลังเลเลย และพร้อมที่จะหยุดนะคะ 

 

The People : ถ้าจากที่เคย ๆ เห็นมาครอบครัวผู้ถูกกระทำจะไม่กล้าออกมาต่อสู้คดี อันนี้เป็นการตัดสินใจร่วมของทั้งครอบครัวนีละไพจิตรเลยใช่ไหมว่าเราจะทำทุกอย่างเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมต่อไป 

อังคณา : คือเวลาที่เผชิญปัญหา มันต้องเผชิญด้วยกัน มันไม่ใช่ตัวเราคนเดียว เพราะเราเองก็เรียนรู้ว่าเวลาคุณสมชายไปทำอะไรต่อมิอะไร อิเรานี่แหละที่จะต้องแบบเจอกับอะไรเยอะมากเลย แล้วไม่ใช่ว่าเราทำแบบเดียวกันน่ะ แล้วลูกเราจะอยู่แบบไหน เรารู้สึกว่ามันไม่แฟร์กับคนที่อยู่กับเราค่ะ อันนี้เป็นสิ่งที่ยึดถือ แล้วก็บอกว่าอันนี้อยู่ที่ลูกเลย ลูกต้องคือให้ คือทุกคนมีอิสระค่ะ แล้วทุกคนก็พูดตรงกันเลยว่าคือถ้าหากว่าพ่อทำเพื่อคนอื่นมาตั้งเยอะแล้วคนในครอบครัวไม่ทำให้พ่อ แล้วใครทำ เพราะวันนั้นอย่างที่บอกค่ะ ญาติพี่น้องก็หายไปเลย เพื่อนสนิทก็ไปประเทศเพื่อนบ้านบ้างอะไรบ้าง ทุกคนไม่กล้าพูดเลยแบบนี้ เพราะทุกคนกลัวจะถูกอุ้มบ้างค่ะ เราก็เลยรู้สึกว่า เออ เราค่อนข้างโดดเดี่ยว แล้วมันก็ไปช่วงที่เปราะบางมากที่สุด

 

The People : การถูกตีตราว่าเป็นครอบครัวของผู้ที่ถูกบังคับสูญหาย เรารู้สึกยังไงบ้าง 

อังคณา : คือที่มันแย่สุดก็คือคำว่าทนายโจร เราก็เรียนรู้ว่าคนที่ถูกอุ้มหายเนี่ย คนอื่นเขาไม่ต่างจากเราหรอก เช่น คนนี้เกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย เกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติด คือคนที่ถูกอุ้มเนี่ยกลายเป็นคนไม่ดีหมดเลย พี่ทนง โพธิ์อ่านก็เหมือนกันเกี่ยวข้องกับนู่นนี่นั่น แล้วเราก็รู้สึกว่าจริง ๆ แล้วมันทำร้ายจิตใจเรามากเลยค่ะ แล้ว แต่สิ่งที่พูดกับลูก ก็คือสื่อเนี่ยหรือสังคมเนี่ย คือเขาไม่รู้จักเราหรอก แล้วเขาก็ไม่รู้จักพ่อด้วย แต่คนที่จะบอกกับสังคมได้ว่าพ่อคือใคร พ่อเป็นอย่างไรเนี่ยก็คือลูก ๆ นั่นแหละ เพราะฉะนั้นต่อจากนี้ไปเนี่ย การกระทำทุกอย่างของเราจะทำให้สังคมรู้ว่าแล้วพ่อคือใคร ก็คือจะบอกลูกแบบนี้ แล้วเราก็พยายามที่จะมีชีวิตที่ดีนะคะ พยายามที่จะมีชีวิตที่ดีเพื่อที่จะบอกกับสังคมว่าเราไม่ได้ผิด เราไม่เคยเปลี่ยนชื่อเปลี่ยนนามสกุลนะคะอย่างนี้ ในขณะเดียวกับพี่คนที่ถูกกล่าวหาตำรวจที่ถูกกล่าวหาหลายคนเปลี่ยนชื่อเปลี่ยนนามสกุล เราไม่เคยหลบใคร 

เมื่อก่อนตัวเองไม่ได้ใช้นามสกุลนีละไพจิตรนะคะ ใช้นามสกุลส่วนตัว แต่ว่าพอคุณสมชายหายไปเนี่ย เวลาลูก ๆ ไปโรงเรียนหรือว่าไปติดต่อหรือว่าไปสมัครเรียน คนจะชอบถามเพราะมันคนละนามสกุลน่ะ ก็คือ เอ๊ะ แม่ไม่ได้จดทะเบียนเหรอ แม่รับรองบุตรรับรองยังไง เราก็เลยไปเปลี่ยนนามสกุลค่ะ เพราะว่าจดทะเบียนสมรส เพราะตอนที่แต่งงานเราเป็นข้าราชการ จดทะเบียนสมรสจะไม่ค่อยเห็นความสำคัญของการต้องเปลี่ยนนามสกุล หลังจากนั้นคือก็เปลี่ยน เปลี่ยนมาใช้นามสกุลพ่อ เพื่อที่ลูกจะได้ไม่ต้องอธิบายใครยุ่งยากว่า เออ ทำไมแม่ใช้อีกนามสกุลหนึ่งอะไรประมาณแบบนี้ค่ะ คือรู้สึกตอนนั้นคือ โห กฎหมายไทยมันวุ่นวายกับชีวิตผู้หญิง มันจะมาอะไรกับเรานักหนา ลูกคือลูกของแม่ เพราะว่าไม่ว่าจะยังไงลูกคือลูกของแม่น่ะ 

 

The People : จะมีประโยคนึงที่คุณอังคณาเน้นย้ำมาบ่อย ๆ ว่า “ปัญหาจะหายไปถ้าคนถูกทำให้หายไป” อยากจะให้ช่วยอธิบายประโยคนี้หน่อย 

อังคณา : คือช่วงนั้นน่ะมันมีข่าวการอุ้มหายมากเลยนะคะ โดยเฉพาะภาคใต้ แล้วก็ก่อนหน้านั้นก็คือที่พัทลุง แล้วคน แล้วคิดว่าเจ้าหน้าที่บางคนเนี่ย หรือส่วนมากก็ได้ ที่คิดว่าถ้าหากว่าทำไอ้พวกนี้มันหายไปเนี่ย เรื่องมันจะยุติแล้ว ทนายเนี่ยว่าความกี่คดีชนะหมดเลย ตำรวจแบบ โอ้โห แบบจับใครต่อใครมา ซึ่งคือตอนที่อยู่ด้วยกันน่ะคุณสมชายก็ยังบอกเลยว่าเวลาตำรวจฟ้องเนี่ยฟ้องเป็นแพทเทิร์นเดียวกันเลย เหมือนกันเป๊ะเลย ไม่ได้ต้องใช้ทักษะมากเลย เพราะฟ้องเหมือนกัน ซักความก็ซักเหมือนกัน แต่มีอย่างนึงนะคะเวลาที่เขาเจอลูกความเนี่ย สิ่งหนึ่งที่เขาทำประจำก็คือเขาจะถามว่าทำ คุณทำจริงหรือเปล่า 

ถ้าทำจริงคุณรับสารภาพนะ จากหนักมันจะเป็นเบา แต่ถ้าไม่จริงถ้าไม่ได้ทำอย่ารับนะ ยืนยันเขาเชื่อมั่นว่าศาลจะให้ความยุติธรรม แล้วคดีมันยกฟ้องหมดเลยนะคะ เขาเองเคยบอกเขาไม่ได้เก่ง แต่ตำรวจฟ้องสำนวนเดียวกันหมดเลย ฟ้องกี่ทีก็ฟ้องเหมือนกัน ซักกี่ทีก็ซักเหมือนกัน แล้วสุดท้ายก็หลุดเหมือนกัน ศาลชั้นต้นอาจจะโดนลงอาจจะลง แต่พอสุดท้ายถึงศาลฎีกาคดียกฟ้องหมด ตรงนี้อาจจะทำให้ตำรวจบางคนรู้สึกไม่พอใจ แล้วก็เห็นว่าถ้าไม่มีทนาย คนเหล่านี้ก็คงต้องรับโทษอะไรประมาณแบบนี้ค่ะ ก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เขาถูกอุ้มค่ะ ตอนนั้นก็เคยมีคนพูดถึงเขา เพื่อนที่เป็นนักการเมือง 

ก็เคยมาเล่าที่หลังว่าเนี่ยก็เคยเตือนสมชายเวลาไปไหนเนี่ย เออ ให้มีคนไปด้วย เราก็ถามตัวเราเองว่า เฮ้ย เราไม่ได้อยู่ในสถานะแบบเขา เขามีรถ เขามีคนขับรถ เขามีบริวารน่ะ นี่เราไม่มีใคร ขับรถก็ขับรถเอง เวลาไม่สบายก็เมียขับให้อะไรประมาณแบบนี้ เราไม่ได้อยู่ในสถานะแบบนั้น เราไม่ได้มีผู้ติดตาม ไม่มีผู้ช่วยทนาย ไม่มีอะไรเลย แต่เราก็มีใจ แล้วเราก็ยังเชื่อว่าสิ่งที่ทำจะเป็นประโยชน์ต่อคนอื่นอะไรประมาณนี้ แล้วเราก็ คืออันนี้มันทำให้เราตระหนักเลยนะคะว่าความที่เจ้าหน้าที่คิดแบบนี้ว่าเอาคนนึงไปแล้วเนี่ย ถ้าหายไปแล้วเนี่ยปัญหาทุกอย่างยุติ และที่สำคัญที่สุดก็คือการทำให้คนหายไปเนี่ย ทำให้เจ้าหน้าที่ที่ทำไม่ต้องรับผิดชอบ เพราะกฎหมายมันมีช่องโหว่ค่ะ 

กฎหมายมันมีฐานความผิดต่อเสรีภาพนะคะ มันมีคนเห็นว่ามีคนกลุ่มนึงผลักทนายสมชายขึ้นรถ ศาลเองก็เขียนในคำพิพากษาศาลฎีกาเลยว่าข้อเท็จเป็นอันยุติว่ามีคนกลุ่มนึงผลักนายสมชาย นีละไพจิตรขึ้นรถ แล้วหลังจากนั้นไม่รู้ไปไหน ศพก็ไม่มีนะคะ เรามีความผิดฐานฆาตกรรม เรามีความผิดฐานกักขังหน่วงเหนี่ยว ความผิดต่อเสรีภาพ แต่อีตรงกลางที่หายไปเนี่ย เราไม่มีความผิดฐานลักพาตัวหรือฐานทำให้เขาสูญหาย เพราะฉะนั้นเนี่ยเจ้าหน้าที่รัฐเนี่ยจะทำให้คนหายไปกี่คนเนี่ย พอทำลายหลักฐานหมดแล้วทุกอย่างคือจบ ไม่ต้องรับผิดเลย ไม่ต้องรับโทษอะไรทั้งสิ้น เขาเลย คนกลุ่มนึงจึงเลือกที่จะใช้วิธีการแบบนี้ โดยที่ไม่รู้ว่ามันจะเกิดผลกระทบมากมายแค่ไหนค่ะ 

อังคณา นีละไพจิตร : 20 แห่งการรอความเป็นธรรมประจักษ์ สู่ ‘ตัวแทน’ ประชาชนในฐานะ สว.

The People : กระบวนการที่คุณอังคณาผลักดัน พ.ร.บ. อุ้มหาย อยากทราบว่าใช้กระบวนการยังไงบ้าง รวบรวมข้อมูลประมาณไหน ใช้เวลานานไหม กว่า พ.ร.บ. นี้จะออกมาเป็นรูปเป็นร่าง 

อังคณา : คือต้องบอกเลยว่าเรามาจากติดลบด้วยนะคะ ตอนที่สมชายหาย มันไม่มีอะไรเลย เราไม่รู้เลยว่าคดีอื่นเขาทำกันยังไง เขาจะเริ่มยังไงค่ะ เราไปแจ้งความตำรวจก็ไม่รับแจ้งด้วยซ้ำ เพราะบอกยังไม่ครบ 48 ชั่วโมง ตอนนั้นเราก็แบบ เฮ้ย แล้วเขาก็ทำกันยังไง คือไม่ได้มีอะไรที่เป็นอะไรที่ตั้งต้นและให้เราเดินตามต่อได้ค่ะ อันนี้ก็ถือว่า โห มันเป็นความท้าทายและความยากมากเลย แต่ว่าช่วงนั้นก็ดีว่าเราได้ไป คือไปศาลทุกนัดเลยนะคะตอนพิจารณาคดีสมชาย แล้วก็มีโอกาสได้รู้จักกับคนทำงานสิทธิมนุษยชนในระหว่างประเทศด้วย แล้วเราก็ได้เรียนรู้ว่า เออ มันมีกลไก ถ้ากลไกในประเทศมันไม่มี มันจะมีกลไกระหว่างประเทศ 

คือในขณะที่ช่วงชีวิตช่วงนั้นเป็นอะไรที่ยากมากกับการที่ต้องเผชิญหน้ากับตำรวจ 5 คน มันเป็นอะไรที่ คือมัน trauma กับการที่เราเห็น โอ้โห แบบนั่งกันแบบว่ายิ้ม เออ มากองเชียร์กันแบบเฮฮาแบบนี้ เป็นอะไรที่ trauma มาก ๆ เลยนะคะ แต่ว่าในขณะเดียวกันเราได้เรียนรู้ แล้วพอคำพิพากษาออกมาเนี่ย คือเราขอเป็นโจทก์ร่วมด้วย เป็นโจทก์ร่วมเพื่อที่ว่าเราจะได้ส่งเอกสารได้ เพราะว่าก็รู้สึกว่าอัยการ คืออัยการเนี่ยนะคะจะเปลี่ยนเรื่อยเลย แล้วบางครั้งเนี่ยอัยการคนใหม่มายังไม่ได้ทำสำนวนเลย เราก็แบบ หืม ตำรวจที่ตอนทำคดีบอกว่า โอ๊ย มีหลักฐานแน่นหนาเลย เอารถไปตรวจบอกว่ามีหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ พอขึ้นศาลไม่มีอะไรเลย มีลายนิ้วมือของสมชายติดอยู่ที่พวงมาลัย มีลายนิ้วมือของตำรวจที่ขับรถสมชายกลับมาคืนที่บ้าน แต่ไอ้ตรงกลางมันไม่มีอะไรเลย 

มีเส้นผมที่บอกว่าเป็นผมของลูกที่หล่นอยู่ เป็นผมของทนาย เป็นผมของนักศึกษาฝึกงาน แต่ไม่มีผมของคนที่ทำผิดเลย มันหายไปไหน แล้วมาพูดได้ไงว่า เออ มีหลักฐานเยอะ เพราะมันไปเปิดในศาล แล้วมันเปิดข้อเท็จจริงหมดค่ะ รู้เลยว่า สุดท้ายมันไม่มีอะไรเลย มันไม่มีอะไรที่จะเอาผิดเลย พยานเองเนี่ยก็กลัวนะคะ ประจักษ์พยานเบิกความไปร้องไห้ไป เป็นเด็กผู้หญิง ทำงานโรงงานอยู่แถวนั้น มีคำหนึ่งที่เขาพูดน่ะคือเขาบอกว่าตอนที่ถูกอุ้ม ถนนใหญ่ 2 ทุ่มครึ่งรถติดมาก ทำไมต้องมาถามหนูคนเดียว มันกลายเป็นว่าตำรวจก็ไปติดป้ายเต็มเลยนะคะ ขอเบาะแส และเด็กผู้หญิงคนนี้เป็นคนที่เดินไปหาตำรวจ แล้วบอกว่าหนูเห็น แล้วพอ เขาก็ถูกสอบสวนเยอะนะคะ ทั้งจากตำรวจท้องที่ ทั้งจาก DSI แต่สุดท้ายเขาพูดว่าทำไมต้องมาถามหนูคนเดียว ทั้ง ๆ ที่คนเห็นเยอะ 

แล้วเวลาเบิกความเนี่ย เบิกความไปร้องไห้ไปตาแดง ๆ เลย ไม่กล้าหันไปมองตำรวจ 5 คน คือตอนนั้นเรารู้สึกว่า เอ้ย คน ๆ นึงหายไปแล้วมันต้องมีคนอื่นที่มารับผลกระทบเยอะมากเลย แล้วเราก็รู้สึกได้ว่าตำรวจไม่ได้ตั้งใจทำคดีนี้ คือทำให้หลักฐานหลาย ๆ อย่างหายไป สุดท้ายที่ศาลมีคำพิพากษา ก็คือมีการ เป็นศาลบอกว่าข้อเท็จจริงเป็นอันยุติว่ามีการผลักทนายสมชายขึ้นรถ แต่ศาลก็ไม่ได้บอกว่าแล้วคนเหล่านั้นต้องรับผิดชอบอะไรนะคะ ถึงแม้ศาลชั้นต้นจะลงโทษจำเลยที่ 1 ศาลก็ลงโทษได้เพียงแค่ความผิดที่มีโทษแค่ 3 ปีเอง เพราะไม่ใช่ความผิดฐานฆาตกรรม ดังนั้นเนี่ยพอหลังจากฟังคำพิพากษาศาลเนี่ยนะคะ ประการแรกเลยที่เราเรียนรู้ก็คือศาลฎีกาก็ไม่อนุญาตให้เราเป็นโจทก์ โจทก์ร่วมในคดีนะคะ 

ทีนี้ถ้าเราเป็นโจทก์ร่วมไม่ได้เนี่ย สมมุติคดีทั่ว ๆ ไปถ้าอัยการไม่ฟ้อง อัยการบอกไม่มีหลักฐานพอเนี่ย คดีบิลลี่เนี่ยถ้าอัยการไม่ฟ้อง เมียเขาฟ้องไม่ได้นะคะ เพราะศาลฎีกามีคำพิพากษาฎีกาคดีสมชายถึงที่สุดแล้วว่าคนที่จะมาฟ้องได้เนี่ย ต้องเป็นคนที่ตายแล้ว หรือบาดเจ็บสาหัส เพราะงั้นคดีสมชายเนี่ยศาลบอกว่าญาติพิสูจน์ไม่ได้ว่าสมชายเจ็บสาหัสหรือเสียชีวิต เพราะงั้นคนที่จะฟ้องคือสมชายต้องมาฟ้องศาลเอง ปัญหาของคดีอุ้มหายคือคดีอุ้มหายไม่มีผู้เสียหาย เพราะผู้เสียหายหายไปแล้วนะคะ อันนี้คือสิ่งสำคัญ และอันที่ 2 ก็คือศาลบอกว่าไม่มีหลักฐานว่าถึงแม้จะมีคนเอาขึ้นรถไป แต่เขาไม่ได้เสียชีวิตน่ะ แล้วมันก็พิสูจน์ไม่ได้ว่าเขาไปไหน เพราะฉะนั้นมันก็คือช่องมันมีช่องโหว่ของกฎหมายว่าแล้วถ้าไม่เจอศพล่ะ เราจะทำไง ญาติจะเข้าถึงความยุติธรรมได้ยังไง 

อันนี้เป็นความท้าทายมากเลย แล้วมันถือว่ามันเป็นมันทำให้เจ้าหน้าที่บางคนที่รู้กฎหมาย รู้ว่าอุ้มไปแล้วแล้วทำให้หายไปเนี่ย ยังไงญาติก็ฟ้องอะไรไม่ได้ ยังไงก็เอาผิดไม่ได้ แล้วลองสังเกตนะคะ ถ้าเกิด ปัจเจกกับปัจเจก ผัวฆ่าเมียเอาไปฝังศพ เอาไปฝัง เอาซีเมนต์โบก โห ตำรวจเก่งมากเลย หาเจอ แต่ถ้าเป็นเจ้าหน้าที่ทำล่ะ ความยากของมันคือเมื่อเจ้าหน้าที่ทำแล้วจะทำไง ตรงนั้นมันก็เป็นจุด ๆ หนึ่งที่เราคือเริ่มใหม่เลย เริ่มใหม่จากการที่ดูว่า เออ ต่างประเทศเขาทำยังไง แล้วเขาพยายามชี้ให้เห็นว่ามันมีช่วงโหว่ของกฎหมายค่ะ แล้วจนกระทั่งว่าจำได้ว่าเมื่อประมาณปี 54 นะคะ ปีนั้นน่ะเป็นปีแรกที่ประเทศไทยเนี่ยเข้าไปสู่การทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่สหประชาชาตินะคะ ปีนั้นน่ะคือเราก็อยู่ที่ Geneva ด้วย 

ปีนั้นเป็นปีที่ผู้แทนไทยเนี่ยได้เป็นประธานสภาคณะรัฐมนตรีสิทธิมนุษยชนสหประชาชาตินะคะ ได้ประกาศเลยว่าประเทศไทยจะลงนามอนุสัญญาการบังคับสูญหาย แล้วช่วงนั้นน่าจะเป็นช่วงตุลานะคะ แล้วก็พอกลับมาเนี่ย กระทรวงยุติธรรมก็ดำเนินเรื่องในการที่จะไปลงนามอนุสัญญานะคะ คือแสดงเจตจำนงว่าประเทศไทยจะให้มีกฎหมาย แล้วก็จะให้สัตยาบัน แล้วทางกระทรวงการยุติธรรมก็เชิญไปนั่งแถลงข่าวด้วยกันด้วยกับคณะรัฐมนตรียุติธรรมว่าประเทศไทยจะให้สัตยาบัน ถามว่ากว่ามันจะมา อันนั้นตั้งแต่ปี 55 นะคะ 12 มกราที่ประเทศไทยไปลงนาม 55 มาถึง 65 โห ใช้เวลาเดินทางเยอะนะคะ 10 ปี มันไม่ใช่ว่าแบบได้มาง่าย ๆ นะนี่พูดตรง ๆ เลยว่ารัฐไม่เคยจริงใจเลยในการที่จะผ่านกฎหมายแบบนี้ เพราะเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐโดยตรงนะคะ ถ้าคนอื่นอุ้มเนี่ยไม่เข้าข่ายตาม พ.ร.บ. นี้นะคะ 

พอปี 57 มีรัฐประหาร กระทรวงยุติธรรมก็เสนอ ครม. นะคะในเรื่องการให้สัตยาบัน แล้วก็เรื่องของการที่มีกฎหมายนะคะ ครม. ก็มีมติให้สัตยาบันนะคะ พอผ่านไปที่สนช.  สนช.ก็บอกว่ายังไม่ให้สัตยาบัน ต้องรอมีกฎหมายก่อน พอมีกฎหมายก่อน สนช. ก็บอกว่าไม่ต้องไปมีกฎหมาย พ.ร.บ. ใหม่หรอก ไม่ต้องทำให้เป็นพระราชบัญญัติฉบับใหม่ แต่ว่าแค่แก้กฎหมายบางมาตราเอง เราก็บอกมันจะไปแก้ได้ไงนะคะ เพราะว่าขนาดเรื่องทรมานที่ให้สัตยาบันไปแล้วตั้งแต่ปี 40 ตั้งแต่ปี 50 ก็ยังไม่มีกฎหมายเลย เราก็ยืนยันว่ามันแก้บางมาตราไม่ได้นะคะ ทางกระทรวงยุติธรรมก็มารับฟังความคิดเห็นนะคะตั้งแต่ปี 59  แล้วประมาณปีน่าจะ 61 หรือค่ะ ก็ยื่นเข้าไปก่อนที่ สนช. จะหมดวาระนะคะ ประเทศไทยเลือกตั้ง 62  ก่อนที่จะหมดวาระเนี่ย ก็ยื่นร่างเข้าไป 

ปรากฏว่าร่างนี้อยู่ในวาระเพื่อพิจารณาลำดับต้นมาตลอดเลยแต่มันไม่ถูกหยิบขึ้นมาพิจารณา ถามว่าร่างแรกที่กระทรวงยุติธรรมเสนอไปดีไหม ไม่ดีเลย แต่ว่าคือตอนนั้นน่ะ คือคนพิจารณาคือ สนช.  ตั้งกันมากรรมาธิการก็จะมีแต่พรรคพวกตัวเองแหละ ตำรวจเป็นกรรมาธิการ แต่ไม่ได้เปิดโอกาสให้คนนอกเข้าไปค่ะ แล้วถามว่าคือเป็นคนที่ติดตามตลอด มันแขวนอยู่ตรงนั้นแหละ มันแขวนอยู่กระทั่งวันสุดท้ายที่ สนช. ประชุมค่ะ ก็เข้าไปดู พ.ร.บ. นี้ก็ยังแขวนอยู่ ยังอยู่ แต่สุดท้ายก็คือไม่ได้พิจารณา แล้วมันก็ตกไปเฉยเลย พอหลังเลือกตั้งเนี่ยนะคะ ก็เราก็คุยกับกระทรวงยุติธรรม กระทรวงยุติธรรมก็เอามาปัดฝุ่นใหม่ ตอนนั้นสภา วุฒิสภาก็บอกว่าต้องมาดำเนินการใหม่นะคะ เข้าไปในสภาผู้แทนราษฎรก็บอกต้องมาดำเนินการใหม่ 

เพราะรัฐธรรมนูญ 60 มันเขียนเลยว่าต้องมาเริ่มต้นนับหนึ่ง คือรับฟังความเห็นใหม่นะคะ แล้วตอนรับฟังความเห็นเนี่ย คือตัวเองก็ไปให้ความเห็น แต่ถามว่ามันถูกผนวกเข้าไปไหม ไม่เลยนะคะ ร่างที่เข้าไปเนี่ยก็เป็นร่างที่มีจุดอ่อนเยอะนะคะ แต่ว่าพอได้รับเลือกเข้าเป็นกรรมาธิการวิสามัญเนี่ย คือเราก็แบบ คือสิ่งหนึ่งที่เราเรียนรู้ก็คือตั้งแต่ปลัดกระทรวงยุติธรรมมาเลยนะคะ ทุกคนต่อต้านความเห็นอะไรเราหมดเลย แล้วแขวนทุกมาตราเลย คือไม่เห็นด้วยเลย เขาจะพยายามจะยึดร่างเดิมนะคะ ไม่ยอมที่จะเปลี่ยนตามที่กรรมาธิการเสียงข้างมาก แม้แต่ตอนที่นำเสนอที่สภานะคะ กระทรวงยุติธรรมก็ค้านแบบนี้ แต่ว่าก็โชคดีนะคะถือว่าโชคดีเพราะว่าก่อนที่ มันมีมาตราสำคัญ ๆ ที่เรายอมไม่ได้จริง ๆ ก็คือก็ได้ไปพบรองวิษณุ (วิษณุ เครืองาม) ซึ่งอธิบายให้ฟังว่าถ้าหากว่ามันไม่มีมาตราแบบนี้ 

มันจะทำให้คนกลุ่มหนึ่งตกอยู่ภายนอกการคุ้มครองของกฎหมาย และกฎหมายจะทำอะไร ช่วยเขาไม่ได้เลย มันก็จะไม่สามารถยุติการทรมาน หรือการทำให้คนหายไปได้เลยค่ะ ก็ต้องขอบคุณนะคะที่คุณวิษณุเข้าใจ แล้วก็เป็นสัญญาณในทางบวก แล้วตอนที่เข้าไปสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรเนี่ยคือถือว่าคือตัวเองเนี่ยเคยมีประสบการณ์ในการร่วมร่าง พ.ร.บ. หลายฉบับนะคะ ความเท่าเทียมระหว่างเพศด้วย วันนั้นน่ะเป็นวันที่เรารู้สึกว่า สภาผู้แทนเนี่ยรับรองโดยไม่มีเสียงค้านแม้แต่เสียงเดียว จะมีเสียงค้านก็แต่ทางฝ่ายกฤษฎีกากับกระทรวงยุติธรรม แต่ว่าสภาผู้แทนราษฎรเนี่ยเข้าใจ คือก็อธิบายนะคะ แต่ละมาตรา แล้วสุดท้ายเนี่ยคือรับรองร่างของกรรมาธิการทั้งฉบับโดยไม่มีค้านสักเสียงเดียว ไม่มีแก้ไขด้วย 

ถามว่าร่างทั้งหมดพอใจไหมคือพอใจร่างที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎร แต่พอเข้าไปวุฒิสภาเนี่ย โอ้โห ก็มาตัดอะไรอีก เช่น ตัดเรื่องของการห้ามนิรโทษกรรม เพราะวุฒิสภาให้เหตุผลว่าถึงแม้จะเขียนไว้ว่าห้ามนิรโทษกรรม แต่ถ้าเกิดปฏิวัติเขาก็สามารถที่จะออกกฎหมายนิรโทษกรรม คือส่วนเราเนี่ย เราก็เห็นว่า กฎหมายฉบับนี้มันเป็นกฎหมายอนุวัตินะ มันเป็นกฎหมายที่จะพัฒนาการด้านสิทธิมนุษยชน แล้วเรา กฎหมายใหม่ต้องกล้าที่จะเขียนแบบนี้ ทำไมเราจะต้องไปเปิดช่องให้ว่าเดี๋ยวถึงเวลาเขาก็ปฏิวัติแล้วเขานิรโทษกรรม เราต้องในทางตรงข้าม เราต้องคิดว่าต่อไปมันต้องไม่มีรัฐประหารสิ แล้วต้องเขียนเผื่อไว้เลยกฎหมายลูกห้ามนิรโทษกรรม หรือเรื่องของการกำหนดอายุความค่ะ ซึ่งการบังคับสูญหายเนี่ยตามกฎหมายระหว่างประเทศคือต้องไม่มีอายุความ ไม่ คือหายไป 100 ปีแล้วก็ตามเนี่ย 

ก็ถือว่ายังหายอยู่ ถ้าหากว่าเรายัง ญาติยังไม่ทราบที่อยู่และชะตากรรม ต้องถือว่าไม่มีอายุความ แต่ว่าวุฒิสภาก็ไปแก้เป็น 20 ปี แต่ 20 ปีเริ่มนับจากเมื่อทราบที่อยู่และชะตากรรม ทีนี้ 20 ปีเนี่ยมันเร็วนะคะมันเร็ว สมมุติว่าเจอ วันนี้เจอสิ่งที่เหลืออยู่ แล้วถ้าภายใน 20 ปีเนี่ย ภายใน Generation นึง ตำรวจคนที่ทำคดีอายุ 20 อีก 20 ปี เขาอายุ 40  ก็ถือว่าถ้าหากเขาไม่พยายามที่จะรื้อฟื้น หรือหาตัวคนผิด แล้วเราจะเจอไหม ถ้าดูในต่างประเทศนะคะ คดีเนี่ยบางทีผ่านไปหลายปี จนคนที่ทำผิดเนี่ยบางคนตั้ง 80-90 ไปแล้ว หลายคนตายไปแล้ว จึงจะสามารถรื้อฟื้นคดีได้ คืนความยุติธรรมให้ญาติได้ คืนสิ่งที่เหลืออยู่ให้กับครอบครัวได้ บางทีมันต้องใช้เวลานาน ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่เรายังถือว่าเราต้องทำงานต่อนะคะ แล้วก็หวังว่าสภาผู้แทนราษฎรเนี่ยจะนำมาปรับปรุงค่ะ 

อังคณา นีละไพจิตร : 20 แห่งการรอความเป็นธรรมประจักษ์ สู่ ‘ตัวแทน’ ประชาชนในฐานะ สว.

The People : อะไรที่ทำให้คุณอังคณายังต่อสู้ ไม่วางมือ ทั้ง ๆ ที่มันผ่านมานานมาก ๆ แล้ว แล้วก็ยังคงอยู่ในกระบวนการของภารกิจนี้ต่อไป 

อังคณา : คืออันที่จริงเนี่ย ถ้าพูดถึงความมุ่งมั่นเดิมนะคะ ก็เคย แต่ก่อนเคยคิดนะว่า เออ ถ้าลูก ๆ โตแล้ว คืออยากจะพอแล้ว อยากจะมาอยู่ที่ไหนสักแห่งอ่านหนังสือหรือทำอะไรที่เราอยากทำนะคะ เดินทาง หรืออะไรประมาณแบบนี้ แต่บางทีชีวิตคนมันเลือกไม่ได้นะคะ บางคนก็ เคยมีคนบอกว่าเหมือนกับชีวิตเราถูกเลือกให้อยู่แบบนี้ ให้ทำแบบนี้ ให้ทำภารกิจบางอย่าง ปัญหาคือเราอยู่กับสถานการณ์แบบนี้ได้ไหมนะคะ เราทนกับได้ไหม เราอยู่กับ เราต้องเผชิญกับชีวิตที่มัน นอกจากไม่แน่นอนแล้วบางครั้งมันก็ยังมีความหวาดกลัว แต่ว่ามันเหมือนกับว่าเราอยู่ตรงนี้มา แล้วเราก็ยังรู้สึกว่าเรายังอยู่กับมันได้อยู่ค่ะ แต่สิ่งหนึ่งที่ คือจะบอกเลยว่าการที่ตัวเองมาเป็นนู่นเป็นนี่นะคะ มาเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือมาเป็นผู้เชี่ยวชาญสหประชาชาติ มันไม่ได้เป็นความทะเยอทะยานของตัวเอง

แต่มันเหมือนกับว่าชีวิตมันเหมือนกับมันเดินไปตามทางที่มันเหมือนกับถูกเลือกมา ถูกกำหนดมา ตอนที่เป็นกรรมการสิทธิเนี่ย อาจารย์เสน่ห์ จามริกเนี่ยแหละก็เป็นคนที่แทบจะจูงมือไปเขียนใบสมัครเลยค่ะ แล้วก็คือตอนที่มาสมัครเป็นผู้เชี่ยวชาญสหประชาชาติเนี่ย เราก็สมัครเหมือนคนทั่วไป ไม่รู้จักใครกระทรวงการต่างประเทศหรือประเทศไทย รัฐบาลไทยไม่เคยสนับสนุนเลยนะคะ ไม่เคยช่วยเหลือ ไม่เคยอะไรเลย เราก็เขียนใบสมัครเหมือนคนทั่ว ๆ ไปค่ะ แล้วก็เราก็ได้ทำภารกิจ ซึ่งมันไม่ใช่ในประเทศแล้ว แต่มันกลายเป็นระดับทั่วโลก ถามว่าเรารู้สึกยังไง คือมันรู้สึกว่าจากการที่เราเริ่มต้นจากเราไม่มีอะไรนะคะ 

โห ไปยื่นหนังสือใครที บางทีเขาหลบ เขาไม่มาพบ มาอยู่แต่บอกไม่อยู่ บางครั้งต้องไปรอดักตรงทางเดินต้อง ผ่านรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมมา 70 คนแล้ว นายกไม่รู้กี่คนแล้ว จากการที่เรา ไม่มีใครเคยเห็นเรา แล้วก็เหมือนกับเราไม่มีตัวตน แต่รู้สึกว่าในสิ่งที่ชีวิตที่มันเปลี่ยนไปเนี่ย มันทำให้เสียงของเราดังขึ้นนะคะ ดังขึ้น พูดแล้วคนได้ยินมากขึ้น แล้วไม่ใช่เฉพาะคนในประเทศด้วย แต่เป็นคนระดับโลก ก็ถือว่ามันเป็น อย่างน้อยมันก็เป็นความภูมิใจนะคะ แล้วก็เป็นความรู้สึกที่อยากขอบคุณหลาย ๆ คนที่อยู่ด้วยกัน ไม่ทิ้งกัน มันทำให้เราสามารถพูดถึงคนอื่น ๆ ได้หนักขึ้น เสียงเราดังขึ้นอะไรตรงนี้ค่ะ ก็ค่ะ ก็ถือว่าแต่ก็ต้องยอมรับว่ามันเป็นภาระที่หนักนะคะ มันไม่ได้สบายเลยค่ะ 

 

The People : ถ้าสมมุติว่าคุณอังคณาจะเขียนจดหมายถึงทนายสมชาย อยากจะเขียนอะไรถึงเขาบ้าง 

อังคณา : ก็อยากจะบอกเขาว่าเราก็อยู่ได้ เราอยู่ได้ เรามีชีวิตอย่างถ่อมตัวมาโดยตลอด แล้วทั้งครอบครัวเราเนี่ยใช้ชีวิตอย่างถ่อมตัว ไม่เย่อหยิ่ง ไม่ได้จองหอง แล้วเราสามารถที่จะพาครอบครัวดำเนินชีวิตได้ปกติ ลูก ๆ สามารถที่จะทำอะไรในสิ่งที่เขามุ่งมั่นตั้งใจได้ เป็นในสิ่งที่เขาคาดหวังหรือใฝ่ฝันได้ ซึ่งตรงนี้ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่เรารู้สึกภาคภูมิใจนะคะ แล้วเราก็สามารถที่จะใช้สิ่งที่มันเกิดขึ้นกับตัวเรา ไม่ว่าใครจะเรียกว่ามันเป็นโศกนาฏกรรมหรือเป็นอะไรก็แล้วแต่เนี่ย เราสามารถที่จะเปลี่ยนมันเป็นกลไกในการที่จะคุ้มครองคนอื่นได้นะคะ ในขณะที่เกือบ 20 ปีที่ผ่านมา เรามีชีวิตอยู่กับความคลุมเครือไม่รู้ชะตากรรมว่าคนครอบครัวในครอบครัวเราอยู่หรือตาย 

ไม่รู้จุดสิ้นสุดว่าอยู่ที่ไหนอย่างนี้ แต่อย่างน้อยที่สุดเนี่ย เราก็รักษาจิตใจของพวกเรานะคะ คือลูก ๆ ทุกคนเนี่ยเรียนสายสังคมหมดเลย แล้วลูก ๆ ทุกคนเนี่ยคือเรียนหนังสือในทางที่ไม่ได้จะสร้างเงินเลยสักคน แต่สิ่งที่มันเป็นความภาคภูมิใจก็คือการที่เราจะมีชีวิตอยู่ มีชีวิตที่ดี ทำเพื่อคนอื่นได้ แล้วก็เป็นเหมือนอย่างที่พ่ออยากให้เป็นค่ะ คืออันนี้คือจุดมุ่งมั่นที่เรา ที่พ่อเขาเคยคุยกับลูก ๆ นะคะว่าไม่ต้องร่ำรวย แต่ให้มีชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี ช่วยเหลือคนอื่นได้ คือเราได้ทำทุกอย่างที่เราวาดหวังเอาไว้นะคะ เพราะว่าไม่ใช่พ่อคนเดียว แต่ว่าทุกคนในครอบครัวมีความมุ่งมั่นตั้งอกตั้งใจด้วยกัน สิ่งหนึ่งที่ต้องขอบคุณก็คือการหายไปของสมชายเนี่ยมันทำให้เกิดแรงกระเพื่อมใหญ่มากเลย 

และแรงกระเพื่อมนั้นน่ะ มันเหมือนกับก้อนอิฐที่ตกไปในน้ำ แล้วมันแผ่ออกไปเต็มเลย แล้วมันไม่ใช่เกิดขึ้นเฉพาะในครอบครัว แต่มันสะเทือนไปถึงทั่วโลก มันทำให้ทั่วโลก รู้จักชื่อ สมชาย นีละไพจิตร ไม่ได้รู้จักในฐานะที่เขาถูกอุ้มหาย แต่รู้จักในฐานะงานที่เขาทำเพื่อปกป้องคนอื่น และทุกคนเนี่ยนะคะมีส่วนในการร่วมผลักดันที่จะสร้างกลไกให้เกิดความคุ้มครองนะคะ ต้องขอบคุณครอบครัวด้วยนะคะ ต้องขอบคุณครอบครัวที่อยู่เคียงข้างกันตลอด และไม่เคยมีสักครั้งที่ลูกจะบอกว่าพอเถอะพอแล้ว ก็อันนี้คือสิ่งที่ต้องขอบคุณ แล้วสิ่งสุดท้ายที่ต้องขอบคุณคือสังคมที่รู้สึกว่าเป็นเป็นกัลยาณมิตรที่ดีค่ะ ทุกวันนี้เวลาขึ้นรถสาธารณะรถไฟฟ้า ก็ยังมีคนมาทักทายขอถ่ายรูป 

คือมันรู้สึกว่าคือเราอยู่ไม่ได้เลยถ้าเราอยู่คนเดียว แต่เรารู้สึกว่า เราไม่ได้อยู่คนเดียวเลย เรามีคนทั้งสังคมที่ช่วยเรา เราเคยขึ้นรถเมล์ แล้วคนขับรถเมล์จำได้ เขาเคยไม่เก็บค่ารถเมล์ด้วย แล้วเราก็รู้สึกว่าคือบางทีความช่วยเหลือของคนเล็กคนน้อย โอ้โห มันมีค่ามากเลยนะคะ คือก็เป็นสิ่งที่เราอยากจะขอบคุณนะคะ แล้วเราก็คงใช้ชีวิตต่อไปอย่างถ่อมตัว เรียบง่าย แล้วก็พยายามที่จะดำเนินชีวิตแบบนี้ต่อไป แล้วเราก็หวังว่าสิ่งที่มันเกิดขึ้นกับเราเนี่ย มันจะไม่เป็นแค่เรื่องราวของทนายคนนึงที่หายตัวไป มันจะไม่เป็นแค่เรื่องที่ว่าความรู้สึกสมเพชต่อครอบครัวต่อชะตากรรม แต่มันจะเป็นเรื่องของการให้เกียรติกับเหยื่อและผู้เสียหาย ซึ่งเราก็คาดหวังว่าคนอื่น ๆ ก็จะได้รับเกียรตินี้ได้รับการปกป้องจากสังคมค่ะ 

อังคณา นีละไพจิตร : 20 แห่งการรอความเป็นธรรมประจักษ์ สู่ ‘ตัวแทน’ ประชาชนในฐานะ สว.

เรื่อง : วันวิสาข์ โปทอง

ภาพ : ดำรงค์ฤทธิ์ สถิตดำรงธรรม