20 ปีสึนามิ : ชีวิตที่ต้องอยู่ต่อของ ‘ประยูร จงไกรจักร์’ อาสาสมัครผู้ขอดูแลชาวบ้านจนกว่าจะหมดลม

20 ปีสึนามิ : ชีวิตที่ต้องอยู่ต่อของ ‘ประยูร จงไกรจักร์’ อาสาสมัครผู้ขอดูแลชาวบ้านจนกว่าจะหมดลม

คุยกับ 'ประยูร จงไกรจักร์' อาสาสมัครผู้เผชิญกับความสูญเสียญาตไปท่ามกลางคลื่นสึนามิเมื่อ 20 ปีก่อน จากคนไม่เคยมองว่าคนอื่นมีความสำคัญ ปัจจุบันความคิดเหล่านั้นไม่เหลืออยู่ในใจอีกเลย เพราะความสูญเสียทำให้เขามองเห็น 'คุณค่าชีวิตมนุษย์'

20 ปีก่อนคนไทยรู้จักคำว่า ‘สึนามิ’ เป็นครั้งแรก

และเป็นครั้งแรกเช่นกันที่น้ำทะเลแห้งเหือด จนเห็นปลาดิ้นพล่านอยู่เต็มหาด

ชาวบ้านวิ่งลงไปจับปลาด้วยความไม่รู้ คิดเพียงแค่ว่าวันนี้จะมีของกินติดไม้ติดมือกลับไปให้ครอบครัวได้อิ่มท้อง เวลาเพียง 5-10 นาทีเท่านั้น จากรอยยิ้มก็ถูกแทนที่ด้วยเสียงกรีดร้อง ทุกคนวิ่งหนีเอาชีวิตรอด ทิ้งทุกอย่างไว้ดังเดิม หลังจากนั้นก็ได้ยินแต่เสียงร่ำไห้ระงมไปทั่วทั้งหาด

คลื่นยักษ์สูงไม่ต่ำกว่า 7 เมตรกำลังไล่หลังเข้ามาใกล้มากขึ้นทุกขณะ ไม่มีทางหนี... นอกจากจะวิ่งสุดชีวิตเพื่อกลับขึ้นฝั่งให้ไวที่สุด คงไม่ต้องบรรยายถึงสถานการณ์หลังจากนั้น

บางคนรอดชีวิตได้ราวปาฏิหาริย์ บางคนโทษตัวเองซ้ำไปซ้ำมาว่าเพราะตัวเองไม่อยู่บ้าน เลยช่วยคนในครอบครัวไม่ทัน ขณะที่บางคนสูญเสียญาติจนหมด ถึงจะมีชีวิตรอดก็ไม่ต่างจากตายทั้งเป็น

ไม่ว่าจะเป็นคนที่เผชิญหน้ากับคลื่นยักษ์โดยตรง หรือคนที่บังเอิญออกไปทำธุระต่างที่พอดีในวันนั้น ทุกคนล้วนมีบาดแผลและความทรงจำที่แสนเจ็บปวดไม่ต่างกัน

ถึงจะผ่านมา 20 ปีแล้ว แต่ ‘ลุงเล็ก - ประยูร จงไกรจักร์’ ในวัย 57 ปี ชายผู้ไม่สามารถเรียกว่าตัวเองโชคดีได้อย่างเต็มปาก เพราะเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้เขารู้สึกเจ็บปวดเสมอเมื่อต้องนึกถึง เขาสูญเสียพ่อ แม่ยาย และหลาน สึนามิกลับทำลายตัวตนของเขาจนแหลกสลาย ได้แต่พร่ำโทษตัวเองซ้ำไปซ้ำมาว่า ‘ช่วยใครไม่ได้เลย’

01 - คุณลุง

ระหว่างที่เรากำลังนั่งพักอยู่ สายตาดันไปสะดุดเข้ากับคุณลุงคนหนึ่งกำลังทำงานอย่างขมักเขม้น คุณลุงสวมเสื้อแขนยาวสีส้มสะท้อนแสง ทับด้วยเสื้อกั๊กสีดำอีกชั้นด้านหลังมีตัวอักษรย่อ อปพร. (อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน) พร้อมกับสวมหมวกแก๊ปสีดำไว้ป้องกันแดด ผิวของลุงไหม้แดด ใบหน้ามีรอยเหี่ยวย่นตามกาลเวลา เรามองชายคนนี้ทำงานเพลิน ๆ เห็นเขาเดินไปเดินมาจัดการความเรียบร้อย บ้างก็หยุดทักทายคนเป็นระยะ ไม่รู้ว่าเราสังเกตการทำงานของลุงมานานแค่ไหน รู้ตัวอีกทีก็เดินเข้าไปคุยกับเขาโดยไม่รู้ตัว

เรากล่าวทักทาย แนะนำตัวว่ามาจากไหน ทำไมถึงมาอยู่ที่นี่ได้ คุณลุงมองเราด้วยสายตาประมาณว่า ‘เข้าใจแล้ว’ แต่ยังไม่รู้จุดประสงค์ของเรานัก เราเลยชวนลุงคุยไปเรื่อย ๆ ระหว่างนั้นวิทยุสื่อสารของคุณลุงก็ดังขึ้น จับใจความไม่ได้ว่าปลายสายต้องการอะไร

คุณลุงมองเราครู่หนึ่ง ก่อนจะบอกว่าเดี๋ยวลุงกลับมา

เราพยักหน้าตอบ พร้อมบอกคุณลุงว่าจะนั่งรออยู่ตรงนี้นะ

ผ่านไป 15 นาที เขาก็เดินมาหาเราเป็นสัญญาณว่าพร้อมแล้ว

“ผมชื่อ ประยูร จงไกรจักร์ เป็นหัวหน้าทีมเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติบ้านน้ำเค็ม ทำหน้าที่อาสาสมัคร มาเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 20 ปีแล้ว

“เมื่อก่อนก็เป็นชาวประมงพื้นบ้าน แต่พอมาระยะหลัง ก็ขยับมาทำเรื่องการพัฒนา (เขาเป็นสมาชิกสภาพัฒนาการเมืองภาคพลเมือง) แต่พอมาทำตรงนี้ก็ไม่ค่อยมีเวลาไปทำประมงเหมือนเดิมแล้ว เลยต้องเปลี่ยนอาชีพมาขับรถแท็กซี่รับจ้างให้กับโรงแรม Pullman ที่ตะกั่วป่า

“ใช่ครับ ขับรถให้ Pullman” หลานชายตัวน้อยของเขาตอบ ลุงพยักหน้า

“ส่วนงานอาสา ผมเริ่มตั้งแต่ตอนเกิดสึนามินะ เห็นความสูญเสีย เห็นความลำบากของพี่น้อง มันเป็นเรื่องหนึ่งที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิต จุดเปลี่ยนสำคัญอย่างที่สองคือเราเห็นพี่น้องในชุมชนไม่ประกอบอาชีพกัน เขาไม่ทำอะไรกันเลยหลังจากเกิดสึนามิ เพราะเขากลัว

“กลัวว่าถ้าเริ่มทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันแล้ว ทุกอย่างจะหายไปกับสึนามิอีก

“ผมก็กลัว แต่กลัวว่าชุมชนจะล่มสลายมากกว่า”

ความกลัวทำให้ลุงเล็กเข้ามาทำงานอาสา ชายที่ยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่าไม่เคยมองว่าคนในสังคมมีความสำคัญอย่างไรต่อเขาเลย คิดแค่ว่าทำยังไงให้ครอบครัวมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีก็เพียงพอแล้ว แต่สึนามิทำให้ความคิดของเขาเปลี่ยนไป แทบจะพลิกด้านไปเลย เพราะเขาไม่อยากให้ชุมชนที่เขารู้จักต้องพังทลายลง

“วันก่อนผมยังคุยกับอาจารย์ที่สอนเรื่องจัดการภัยพิบัติอยู่เลยว่าไม่คิดว่าชีวิตนี้จะทำงานเพื่อสังคม” ลุงบอกว่างั้น รู้ตัวอีกทีก็ทำหน้าที่ดูแลความเป็นไปของชาวบ้านมาสองทศวรรษเข้าไปแล้ว

02 - ออกไปก่อน

“ตอนที่เกิดสึนามิทรัพย์สินกับบ้านหายไปหมดเลย แม้แต่พื้นบ้านก็ไม่เหลือ แต่เรื่องชีวิตผมสูญเสียพ่อ แม่ยาย และหลานไปคนหนึ่ง”

ลุงเล็กเล่าถึงวันเกิดสึนามิ ก่อนที่เราจะขอให้ช่วยขยายความให้หน่อยว่ามันเกิดอะไรขึ้นบ้าง ลุงเล็กหันไปบอกหลานชายที่นั่งข้างกันว่าให้ลุกออกไปก่อน เป็นสัญญาณที่รับรู้กันว่าลุงพร้อมเล่า แต่ไม่อยากให้หลานต้องรับรู้เรื่องราวสะเทือนใจเช่นนั้น

“วันที่เกิดเหตุมันไม่มีลางอะไรบ่งบอกเราเลย ไม่มีลางสังหรณ์อะไรทั้งนั้น ท้องฟ้าปลอดโปร่ง ทะเลก็คลื่นลมสงบเป็นปกติของเดือนธันวา

“แต่สิ่งที่มันแปลกคือ อยู่ ๆ ก็มีญาติจากที่ภูเก็ตโทรมาบอกพ่อว่ามีน้ำทะเลท่วมสูง แต่คนที่รับโทรศัพท์ ร้อยทั้งร้อยเขาไม่เชื่อหรอก เขาไม่เชื่อว่าคลื่นในทะเลมันจะสูงจนขึ้นมาบนฝั่งได้ยังไง” ลุงหยุดเล่า

“ก็เลย... เลยไม่มีการหนี พออยู่สักครึ่งชั่วโมง ไม่สิ ไม่ถึงครึ่งชั่วโมง หลายคนเริ่มสังเกตเห็นว่าทำไมเรือประมงที่อยู่ในทะเลมันจมหายไปในแนวคลื่นก็มีกำแพงคลื่นสูง บางคนเริ่มวิ่งหนึ แต่บางคนก็มาดูเหตุการณ์ พอคลื่นเข้าฝั่งก็ไม่สามารถหนีได้ทัน

“แล้วคลื่นก็ซัดทุกสิ่งทุกอย่างไปหมด อาคาร บ้านเรือน คร่าชีวิตคนไปมากมาย พอคลื่นเริ่มหายก็หลงเหลือแต่ซากปรักหักพัง ซากศพ แล้วก็คนบาดเจ็บ ส่วนคนที่รอดชีวิตก็กระจัดกระจายอยู่ทั่วไปหมด”

นาทีนั้นเขารีบบึ่งรถกลับมาหาที่บ้านทันที แต่พอถึงหน้าปากซอยคนก็ตะโกนมาว่า ‘อย่าเข้าไป มีคลื่นยักษ์’ เขาทำตัวไม่ถูก แม้ข้างกายจะมีภรรยาและลูก แต่ใจของเขากลับร้อนรนอยากจะทิ้งทุกอย่างแล้ววิ่งกลับไปหาพ่อแม่ให้ไวที่สุด

“ผมทำได้แต่โทรศัพท์ไปหาพี่สาวที่อยู่ที่บ้าน พี่สาวบอกว่า ‘อย่าเข้ามา คนตายหมดแล้ว ไม่ต้องเข้ามา’ มันเจ็บปวด มันทรมานยิ่งกว่าคนที่อยู่ในเหตุการณ์อีก

“ความสูญเสียมันพูดออกมาเป็นคำพูดไม่ได้ ผมยังทำใจไม่ได้ ไม่อยากจะพูดถึงมันอีก”

ข้อมูลจากศูนย์อำนวยการบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ณ วันที่ 11 ต.ค. 2548 ระบุว่า เหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิครั้งนั้น ได้คร่าชีวิตคนไป 5,395 คน แบ่งเป็นคนไทย 2,059 คน ชาวต่างชาติ 2,436 คน และยังไม่ระบุสัญชาติอีก 900 คน

ขณะที่ผู้สูญหายมีจำนวนทั้งสิ้น 2,817 คน เป็นคนไทย 1,921 คน และต่างชาติ 896 คน

ในจำนวนนี้มีผู้สูญหายที่ จ.พังงา มากที่สุด 1,655 คน รองลงมาคือ ภูเก็ต 608 คน กระบี่ 544 คน ระนอง 9 คน และตรัง 1 คน

ประชาชนประสบภัยทั้งสิ้น 58,550 คน

03 - รู้โดยไม่รู้ตัว

พอเหตุการณ์สงบลงล่วงเข้าสู่วันที่ 3 หลายหน่วยงานเริ่มเข้ามาช่วยขนร่างผู้เสียชีวิต ลุงเล็กก็เข้าไปในเวลานั้นเช่นกัน สายตามองหาแต่ร่างญาติของตัวเอง เขาไม่สนใจว่าใครจะเป็นยังไง แม้ว่าบางร่างที่เขาเดินผ่านและเผลอไปจับตัวยังอุ่นอยู่ก็ตาม

“ที่บอกว่าทำใจไม่ได้ไม่ใช่แค่เรื่องญาติของเรา แต่ในขณะนั้นเราไม่สนใจคนอื่นที่ไม่ใช่ญาติเลย เราเห็นเขาบาดเจ็บ เห็นเขาขอความช่วยเหลือ แต่เราไม่คิดจะช่วยเลย เพราะเขาไม่ใช่ญาติ

“นี่คือความรู้สึกพลาด ทำไมเราไม่คิดจะช่วยอะไรเขา พอมูลนิธิต่าง ๆ เริ่มเข้ามาเก็บศพในวันที่ 3 เราก็เข้าไปกับเขา บางศพร่างยังอุ่นอยู่เลย เราก็เลยคิดว่า ถ้าคนเหล่านั้นได้รับการช่วยเหลือตั้งแต่ตอนแรกก็อาจจะรอดก็ได้”

มันเป็นความรู้สึกผิดหรือเปล่าที่ทำให้ลุงยังทำงานอาสาสมัคร - เราถาม

“ไม่ใช่ความรู้สึกผิด” ลุงตอบ

“ตอนนั้นเราคิดแค่อย่างเดียวว่าเราต้องดิ้นรนขวนขวายเพื่อที่จะค้นหาญาติพี่น้องของตัวเองให้เจอเพียงอย่างเดียว แต่เราไม่ได้มีความรู้สึกว่าคนอื่นที่ไม่ใช่ญาติเขาก็เป็นคน เขาก็มีค่าของชีวิตไม่ต่างจากญาติของเรา”

ความคิดเรื่องค่าชีวิตวิ่งวนอยู่ในใจลุงมาโดยตลอด คุณค่าความเป็นคน คือสิ่งที่ลุงเล็กให้ความสำคัญมานับตั้งแต่เกิดเหตุสึนามิ

จากคนไม่เคยสนใจบ้านเมือง ไม่สนใจว่าคนอื่นจะเดือดร้อน คิดเพียงแค่ว่าครอบครัวต้องอยู่รอด เขาทิ้งความคิดนั้นทั้งหมดไป เปลี่ยนเป็นลุงเล็กที่ไม่เคยปฏิเสธคำขอร้องจากเพื่อนร่วมโลกแม้แต่ครั้งเดียว

“สิ่งที่ตระหนักได้อย่างแรกเลยคือ การสูญเสียญาติพี่น้องเราไม่สามารถนำกลับมาได้เลย แต่ถ้าเรามีช่องทางรักษาชีวิตเขาไว้ได้ก่อนเกิดเหตุ เราคิดว่ามันจะเกิดประโยชน์มากกว่า

“การฝึกเป็นจิตอาสาสมัครเริ่มตั้งแต่เราอยู่ที่ศูนย์พักพิงชั่วคราว เราถูกฝึกโดยไม่รู้ตัว ก็คือการจัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราวเขาจะมีอาจารย์มาให้ความรู้ ตอนนั้นเราไม่รู้จักเลยว่า NGO คือใคร แต่เขาก็มาสอนมาบอกว่าเราลองทำนู่นทำนี่ด้วยตัวเองดู

“ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหาร การรับเงินบริจาค ทุกอย่างเขาให้ความรู้กับเราหมดเลย แต่มันก็มีปัญหาเรื่องทะเลาะเบาะแว้งในศูนย์เหมือนกัน

“ในศูนย์พักพิงชั่วคราวมีครอบครัวอยู่รวมกันเป็นพันครอบครัว แล้วเวลามีคนใจดีมาบริจาคของ เขาจะใช้วิธีให้คนเข้าแถมแล้วก็ให้ของบริจาคเป็นบ้านไป พอเข้าแถวแล้วของไม่พอก็จะเกิดการทะเลาะกันเป็นประจำ”

ลุงเล็กบอกว่านี่คือปัจจัยภายนอกที่เข้ามากระตุ้นให้เกิดความขัดแย้งภายในศูนย์พักพิง ซึ่งเขาเข้าใจดีว่าหลายคนที่มาร่วมบริจาคมาด้วยความหวังดี แต่บางครั้งมันก็เป็นอุปสรรคในการทำงานช่วยเหลือเหมือนกัน

ส่วนแผนการรับมือหากเกิดภัยพิบัติ ลุงเล็กอธิบายให้ฟังว่าเมื่อสิบปีก่อนจะมีการซ้อมอพยพปีละสองครั้ง แต่ช่วงสิบปีให้หลังก็เริ่มซ้อมกันแค่ปีละครั้ง พอสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เข้ามาก็กลายเป็นว่าไม่ได้ซ้อมอพยพอีกเลย

“แต่เรามีจุดปลอดภัยในแผนที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนน ที่อื่นจะเป็นยังไงไม่รู้ แต่ที่นี่ผมว่าเราพยายามปลูกฝังในเด็กรุ่นใหม่ทุกรุ่นแม้แต่ในสถานศึกษาเราก็มีการใส่ไว้ในหลักสูตรร่วมกับโรงเรียน มีการซ้อมอพยพร่วมกับชุมชนด้วยเช่นกัน เพื่อให้สิ่งเหล่านี้ซึมซับเป็นความรู้ ความเข้าใจ และเป็นบทเรียนให้คนรุ่นใหม่เรียนรู้แล้วเขาสามารถเอาตัวรอดหากเกิดสถานการณ์เช่นนั้นอีก”

บ้านน้ำเค็มจะไม่มีวันลืมเหตุการณ์วันนั้น - เขาเชื่อ

แต่ใช่ว่าทุกคนจะจมอยู่ที่เดิม คนที่ยังมีลมหายใจก็ใช้ชีวิตของตัวเองอย่างเต็มที่ เพียงแค่ไม่ลืม...

“เราไม่ได้ลืม พยายามค้นหาแนวทางและวิธีการเพื่อให้คนในชุมชนสามารถใช้ชีวิตต่อไปได้ แม้จะอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ให้เขาเข้าใจว่าการอยู่ในพื้นที่เสี่ยงให้ปลอดภัยสามารถทำได้

“เรามักได้ยินนักข่าวถามว่าทำไมไม่ย้าย ทำไมไม่หนี หลายคนจะบอกว่าเขาอยู่ตรงนี้มาตลอดชีวิต เขาขออยู่ตรงนี้ต่อไป ซึ่งตรงนี้ผมว่าเป็นสิ่งที่ยังถือว่าเป็นความผิดพลาดของเราที่ยังไม่ได้ทำให้เขาเชื่อว่ามันสามารถเกิดเหตุภัยพิบัติขึ้นได้จริงนะ

“ส่วนสำคัญที่ผมคิดว่าตอนนี้สถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงของโลกและความรุนแรงของภัยพิบัติมีจำนวนมากขึ้นในทุกประเทศทั่วโลก ผมคิดว่ารัฐควรต้องปรับวิธีการทำงาน ต้องทำยังไงให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องสร้างความตระหนักให้ชาวบ้านรับรู้ ทำให้เขาเชื่อให้ได้ด้วย”

ลุงเล็กย้ำว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดไม่ใช่ของบริจาค แต่เป็นการร่วมออกแบบจัดทำแผน เตรียมความพร้อมรับมือ และทำให้ชุมชนเข้าใจว่าหากเกิดเหตุภัยพิบัติต้องปฏิบัติตัวอย่างไร

“พอเริ่มทำงานอาสา เราเห็นว่าชุมชนของเรามีความเป็นอยู่ดีขึ้น มีความสุขมากขึ้น จากเมื่อก่อนนอนไม่หลับ กลัวจะเกิดสึนามิขึ้นมาอีก แต่ตอนนี้พอเราเห็นที่อื่นเดือดร้อน แล้วเราเข้าไปช่วยได้เราก็ยังคิดว่ามันมีโอกาสที่จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้คนอื่นได้เสมอ มันยังมีโอกาส

“กลายเป็นว่าความทุกข์ของคนอื่นที่มีอยู่ กลายเป็นความทุกข์ของเราด้วย เราอยากทำทุกอย่างให้เขาคลายทุกข์ คิดว่าถ้ายังมีคนทุกข์ร้อนอยู่งานของผมไม่มีวันสิ้นสุด ก็จะขอทำจนวินาทีสุดท้าย จนกว่าจะหมดลม”

 

เรื่องและภาพ : วันวิสาข์ โปทอง