แคทเธอริน รูธ ไรลี่ ไบรอัน : แม่ของเด็กไร้สัญชาติผู้ก่อตั้ง Bamboo School

แคทเธอริน รูธ ไรลี่ ไบรอัน : แม่ของเด็กไร้สัญชาติผู้ก่อตั้ง Bamboo School

'แคทเธอริน รูธ ไรลี่ ไบรอัน' ก่อตั้ง Bamboo School ดูแลเด็กไร้สัญชาติชายแดนไทย-เมียนมา มากว่า 24 ปี มอบการศึกษาและดูแลสาธารณสุขให้ชุมชน แม้ร่างกายจะเจ็บป่วยแต่จิตใจของเธอยังคงมุ่งมั่น ส่งต่อความปรารถนาดีให้แก่เด็กทุกคนอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย

หลังจากเลิกรากับอดีตสามีที่อาศัยอยู่ด้วยกันในกรุงเทพฯ แคทเธอริน รูธ ไรลี่ ไบรอัน ถูกให้ออกจากงานเพราะองค์กรทางศาสนาที่เธอทำงานเป็นผู้จัดการโรงเรียนสอนภาษาอยู่นั้น มีกฎระเบียบว่าถ้าสามีและภรรยาเลิกรากันพวกเขาจะไม่สามารถทำงานต่อได้ เธอหวังว่าการได้ออกไปใช้ชีวิตอยู่ชนบทคงพอที่จะเยียวยาสภาพจิตใจของเธอ จากกรุงเทพฯ เธอย้ายไปทำงานโรงเรียนที่เปิดสอนให้กับกลุ่มเด็กชาติพันธุ์พื้นเมืองที่ จ.เชียงใหม่

“เด็กๆ บอกกับฉันว่าครอบครัวของพวกเขามาจากบ้องตี้ และอยากกลับไปหาครอบครัว”

เธอเล่าย้อนกลับไปยังช่วงปี 2000 หลังจากเดินทางร่วมกับลูกศิษย์ของเธอมายังต.บ้องตี้ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี

“ฉันมาที่นี่กับเงินที่เหลืออยู่ 169 บาท มันเหมือนการกลับไปทำไร่ทำสวนสมัยยังเด็ก ทุกอย่างยากลำบากไม่มีน้ำประปา ไม่มีถนน ไม่มีไฟฟ้าต้องทำทุกอย่างเอง คนที่นี่ต้องตายเพราะมาลาเรีย”

เหตุการณ์เมื่อ 24 ปีที่แล้วยังอยู่ในความทรงจำ ราวกับว่ามันไม่เคยจางหายไปไหน ในอีก 24 ปีต่อมาที่สถานการณ์ความขัดแย้งในรัฐกะเหรี่ยง ประเทศเมียนมา บริเวณชายแดนต.บ้องตี้ยังคงคุกรุ่น เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2024 แคทเธอรินเล่าว่า มีคนบาดเจ็บจำนวนหนึ่งที่ลี้ภัยสงครามมาจากฝั่งเมียนมา แคทเธอรินและเด็กใน Bamboo School ทำหน้าที่ปฐมพยาบาลและช่วยเหลือคนป่วย

“คนไข้หญิงคนหนึ่งบอกฉันว่ามีอีกหลายคนกำลังเสียชีวิตอยู่ที่ฝั่งเมียนมา คนไข้อีกรายบอกฉันว่ารัฐบาลทหารพม่าอยู่บนถนนอีกฟากหนึ่งของเนินเขา และกองกำลังกะเหรี่ยง KNU กำลังจะหยุดยั้งเส้นทางของพวกเขา เราได้ยินเสียงปืน เสียงระเบิด และเครื่องบินที่บินอยู่รอบตัวเรา”

จากบ้านเกิดในชนบทของประเทศนิวซีแลนด์ ชีวิตพาเธอผจญภัยจนมาลงหลักปักฐานอยู่ที่เขตชายแดนไทย-เมียนมา ชีวิตในวัยเด็กของเธอเคยเป็นตัวแทนทีมขี่ม้าเพื่อไปแข่งที่ญี่ปุ่น จากนั้นครอบครัวส่งเธอไปเรียนต่อที่สวิตเซอร์แลนด์ แคทเธอรินเป็นคนชอบผจญภัยในวัย 19 ปีเธอไปทำงานกับกาชาดเป็นผู้ช่วยภายในรถพยาบาลที่ประเทศอังกฤษ จนได้พบรักกับนักเตะจากทีมแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดที่บาดเจ็บจากการแข่งขันฟุตบอล ความรักระหว่างเธอกับเขาเบ่งบานอยู่ที่นั่น 5 ปี จากนั้นทั้งคู่ตัดสินใจแต่งงานและย้ายกลับมาอยู่ที่นิวซีแลนด์และสามีของเธอมาเสียชีวิตใน 17 ปีต่อมา

จนมาถึงวันนี้แคทเธอรินในวัย 75 ปี กลายเป็นแม่ให้กับกลุ่มเด็กที่อพยพมาจากเมียนมา กลุ่มเด็กกำพร้า และเด็กที่ไม่มีสัญชาติกว่า 690 คนตลอด 24 ปีที่ผ่านมาไม่เพียงแค่เด็กใน Bamboo School เท่านั้น แต่เธอยังได้รับการยอมรับจากชาวบ้านและเจ้าหน้าที่รัฐในต.บ้องตี้ จ.กาญจนบุรี 

แคทเธอริน รูธ ไรลี่ ไบรอัน : แม่ของเด็กไร้สัญชาติผู้ก่อตั้ง Bamboo School

จุดเริ่มต้นของโรงเรียนไม้ไผ่

“ฉันเริ่มจากทำสิ่งเล็กๆ น้อยๆ จนมีคนในหมู่บ้านยกที่ดินให้ฉัน เราเริ่มสร้างโรงเรียนหลังเล็กๆ จาก

ไม้ไผ่ ช่วงแรกที่เด็กมาเรียนเขาพูดภาษาไทยไม่ได้ ดังนั้นเราจึงเริ่มสอนภาษาไทยต่อด้วยภาษาอังกฤษในภายหลัง”

การก่อตั้ง Bamboo School ช่วงแรกไม่ง่ายนัก ครั้งหนึ่งตำรวจเข้ามาในหมู่บ้านและเข้ามาตรวจสอบเด็กนักเรียนของเธอ แคทเธอรินเล่าว่าเด็กคนหนึ่งที่เธอมักเรียกชื่อของเขาว่า Chicken Bone พยายามวิ่งหลบหนีตำรวจ เขาถูกยิงที่ขาและแคทเธอรินก็ไม่สามารถหาตัวเขาพบหลังจากนั้น

“เหตุการณ์นี้ทำให้ฉันรู้ว่านี่คือความจริงที่ต้องเผชิญที่ชายแดน มันมีปัญหาอยู่ทั้งสองฝั่งและการศึกษาคือสิ่งจำเป็นที่เราสามารถสร้างร่วมกันได้”

เธอทำงานร่วมกับตำรวจตระเวนชายแดนจนสร้างเป็นโรงเรียน ตชด.บ้านบ้องตี้ล่างขึ้นมา Chicken Bone กลับมาหาเธออีกครั้ง 3 เดือนให้หลัง โดยปัจจุบันเขาได้ลี้ภัยไปอยู่ที่ประเทศอเมริกา ไม่ต่างจากศิษย์เก่าอีกหลายคนที่ล้วนมีคุณภาพชีวิตที่ดี และประกอบอาชีพที่มั่นคงทั้งการเป็นครูในโรงเรียนนานาชาติ การกลับมาเป็นพยาบาลที่ท้องถิ่น รวมทั้งเรียนจบแพทย์ดั่งเช่น โมแว อภิสุทธิปัญญา ศิษย์เก่า Bamboo School รุ่น 1 เขาเรียนจบแพทย์ที่ Emilio Aguinaldo College School of Medicine ในกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ตอนนี้กลับมาเป็นหุ้นส่วนเปิดคลินิกเวชกรรมอยู่ที่อ.หัวหิน จ.เพชรบุรี

“เราได้ความรู้ภาษาอังกฤษ และแนวคิดในการรู้จักแบ่งปันผู้อื่นจาก Bamboo School จากเด็กที่ไม่มีสัญชาติไม่คิดฝันว่าตัวเองจะได้มาไกลถึงเพียงนี้ ” โมแวกล่าว

แคทเธอรินตระหนักว่าถ้าเธอต้องการที่จะทำคนในพื้นที่ยอมรับเด็กๆ กลุ่มนี้ที่หลายคนอพยพมาจากที่อื่น เธอจำเป็นต้องทำให้ Bamboo School มีส่วนร่วมกับชุมชน สิ่งแรกที่ Bamboo School ทำคือการเอารถกระบะสีเงินคันเก่ามาทำหน้าที่รถพยาบาลรับส่งคนป่วย ก่อนที่ทุกวันนี้แคทเธอรินจะได้รับการบริจาครถฉุกเฉินที่ได้รับมาตรฐานมาใช้งาน แม้กระทั่งการนำไฟฟ้าและน้ำประปาเข้ามาในพื้นที่เธอก็อาศัยคอนเนคชั่นกับองค์กรภายนอกให้เข้ามาช่วยพัฒนา

“ถ้าฉันสนใจแต่ลูกของฉันพวกเขาคงไม่มีโอกาสได้ไปเรียนมัธยม ถ้าเราจะแก้ปัญหาเราต้องคิดให้กว้างออกไปนอกเหนือจากความต้องการของตัวเอง”

อย่างไรก็ดี Bamboo School ในปี 2005 ต้องเผชิญกับปัญหาทางการเงิน จนกระทั่งหน่วยงานจากอเมริกาได้เชิญแคทเธอริน ไปนำเสนองานที่เธอทำที่นอร์ทแคโรไลนา ประเทศสหรัฐอเมริกา เธอกลับมาพร้อมเงินบริจาค $39,000 (ประมาณ 1 ล้านบาท) เธอนำเงินดังกล่าวมาพัฒนาโรงเรียนจนกลุ่มเด็กผู้ลี้ภัยต่างหลั่งไหลเข้ามาอยู่อาศัยกับเธอ ปัจจุบันมีเด็กอยู่ในความดูแลของเธอ 83 คน  ซึ่งแบ่งเป็นเด็กที่มีสัญชาติไทย 12 คน เด็กไร้สัญชาติ 14 คน เด็กสัญชาติเมียนมา 3 คน กลุ่มไม่มีบัตรประจำตัว แต่ได้รับอนุญาตให้เข้าเรียนในโรงเรียนรัฐบาลไทยด้วยหมายเลขทางการศึกษา 52 คน และกลุ่มที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนใดๆ 2 คน

แคทเธอรีนอธิบายต่อว่างานของ Bamboo School ตอนนี้ไม่ใช่การเป็นโรงเรียนอีกต่อไป แต่ฟังก์ชันถูกแบ่งออกเป็น 4 ด้านคือ การศึกษาและสุขอนามัยของเด็กๆ ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมาเธอก็ได้วางรากฐานทำให้ทุกวันนี้เด็กๆ สามารถดูแลซึ่งกันและกันเองได้ ทั้งการทำอาหาร การเดินทางไป-กลับโรงเรียน รวมทั้งเรื่องของความเรียบร้อยภายในที่พักอาศัย และการเข้าศึกษาในโรงเรียนของรัฐบาล

แคทเธอริน รูธ ไรลี่ ไบรอัน : แม่ของเด็กไร้สัญชาติผู้ก่อตั้ง Bamboo School

แคทเธอริน รูธ ไรลี่ ไบรอัน : แม่ของเด็กไร้สัญชาติผู้ก่อตั้ง Bamboo School ต่อมาคือเรื่องของการให้บริการทางสาธารณสุขแก่ชุมชน เช่น การพาคนเจ็บไปส่ง รพ.ในตัวเมืองหรือตัวอำเภอ เพราะทั้งต.บ้องตี้ มีรถฉุกเฉินอยู่เพียงแค่ใน Bamboo School รวมทั้งการแจกมุ้งและอุปกรณ์กันยุง เพราะต.บ้องตี้ยังคงมีการระบาดของมาลาเรีย และโครงการล่าสุดที่แคทเธอรินกำลังเริ่มต้นคือการให้ความรู้เกี่ยวกับการคุมกำเนิด 

ด้านที่ 3 คือการบำรุงรักษาและความยั่งยืน เธอมอบหมายให้เด็กผู้ชายเป็นคนรับหน้าที่ดูแล ทั้งเรื่องการก่อสร้างซ่อมแซม รวมทั้งเธอมีแนวคิดตั้งศูนย์ฝึกอาชีพด้านช่างในสาขาต่างๆ ในพื้นที่ต.บ้องตี้ เพราะมีเด็กใน Bamboo School หลายคนกำลังศึกษาต่อในด้านวิศวกรรมและงานช่าง ที่กำลังจะจบการศึกษาในอนาคตอันใกล้

ด้านสุดท้ายคือสิ่งแคทเธอรินเป็นกังวลมากที่สุด เพราะยังไม่สามารถหาคนมาทำแทนได้ คือเรื่องของการติดต่อสื่อสารกับหน่วยงานภายนอก รวมทั้งการทำเอกสารรายงานส่งกลับให้กับหน่วยงานและกลุ่มคนที่สนับสนุน Bamboo School มาโดยตลอด

“ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดคือใครจะเป็นคนหาทุนจากต่างประเทศ” แคทเธอรินกล่าวถึงในวันหนึ่ง หากไม่มีเธออยู่ที่ Bamboo School “เด็ก ๆ ของฉันยังไม่กล้าพอในการทำงานสื่อสารกับคนภายนอก”

แคทเธอริน รูธ ไรลี่ ไบรอัน : แม่ของเด็กไร้สัญชาติผู้ก่อตั้ง Bamboo School

บ้านหลังสุดท้ายของเด็กที่ถูกลืม

“เมื่อ 12 ปีก่อนมีเด็กชายคนหนึ่งที่แม่ของเขาถูกข่มขืนโดยทหารเมียนมาต่อหน้าของเขา เด็กชายคนนั้นไม่มีโอกาสได้เจอแม่ของตัวเองอีกต่อไป คืนหนึ่งฉันได้ยินเสียงหมาร้องที่ห้องครัว ฉันเดินไปเห็นเด็กคนนั้นปิดตาหมาและเตรียมลากเข้าไปในป่า เขาร้องไห้และบอกว่าหมาพวกนี้ทำร้ายแม่ของเขา”

แคทเธอรินเล่าเรื่องราวของเด็กคนหนึ่งที่เคยอยู่กับเธอ เธอกล่าวว่าในประเทศเมียนมาพวกเขาจะเรียกทหารหรือตำรวจไม่ดีว่าหมา เด็กคนดังกล่าวได้รับผลกระทบทางจิตใจและคิดว่าหมาเหล่านี้คือคนที่ทำร้ายแม่ของเขา แม้แคทเธอรินจะมีความเชี่ยวชาญในการดูแลเด็ก แต่กรณีนี้เธอรู้ดีว่าจำเป็นต้องส่งต่อให้กับนักจิตวิทยาเด็กที่โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา อ.เมือง จ.กาญจนบุรี

“คุณเห็นเด็กหญิงรูปร่างใหญ่ที่ใส่เสื้อสีฟ้าที่ยืนอยู่ตรงนั้นไหม” แคทเธอรินชี้ไปยังเบคก้า ก่อนเล่าเรื่องราวของเธอ “แม่ของเธอมาหาฉันตอนตี 2 และบอกว่าเธอกำลังคลอดลูก เราพาเธอไปรพ.ไทรโยค แต่เธอไม่มีบัตรประชาชนจึงไม่สามารถทำคลอดที่นั่นได้”

เมื่อเป็นเช่นนั้นแคทเธอรินจึงพาเธอไปส่งที่รพ.พหลพลพยุหเสนา เป็นระยะทางกว่า 75 กิโลเมตร และคลอดเบคก้าที่มีน้ำหนักเพียง 900 กรัมออกมา แคทเธอรินให้เงินจำนวนหนึ่งแก่ผู้เป็นแม่ ก่อนขับรถกลับ Bamboo School ในเวลา 8 โมงเช้าด้วยความเหนื่อยล้า ทันใดนั้นเธอได้รับโทรศัพท์จากทางรพ.ว่าแม่ของเด็กได้หนีหายไปแล้ว

แคทเธอริน รูธ ไรลี่ ไบรอัน : แม่ของเด็กไร้สัญชาติผู้ก่อตั้ง Bamboo School

“เบคก้าเติบโตขึ้นมาอย่างสมบูรณ์ เธอชอบทำงานที่ใช้แรง ฉันคิดว่าในอนาคตเธอจะเป็นหนึ่งในผู้นำของที่นี่ได้”

ในวัย 75 ปี แคทเธอรินปฏิเสธไม่ได้ว่าเธอจำเป็นต้องวางแผนหาคนมาดูแล Bamboo School ต่อจากตัวเธอ โมซาเป็นอีกคนหนึ่งที่แคทเธอรินมองว่าเธอสามารถดูแลน้องๆ คนอื่นได้ ตอนนี้เธอกำลังศึกษาปริญญาตรีสาขารัฐศาสตร์ และดูแลน้องๆ ไปพร้อมกันเนื่องจากเธอเลือกเรียนออนไลน์ 

“Bamboo School สำคัญกับเด็กที่นี่มาก ถ้าไม่มีที่นี่เราก็ไม่มีอนาคตคงทำไร่ทำสวน อ่านหนังสือก็ไม่ออก คนที่จะส่งเราเรียนก็ไม่มีถ้าวันหนึ่งแคทเธอรินไม่อยู่” 

โมซาทวนคำถามที่เธอได้รับ เธอนิ่งเงียบไปสักพักก่อนบอกว่า 

“ก็ไม่เคยคิดถึงวันนั้นเหมือนกัน แต่แคทเธอรินก็บอกว่าเรากำลังจะเปิดเป็นมูลนิธิต่อไป”

แคทเธอรินไม่ได้เป็นคนสำคัญสำหรับเด็กๆ ที่ Bamboo School เท่านั้น แต่สำหรับคนในพื้นที่เอง อนันต์ เรืองเชื้อเหมือน กำนันตำบลบ้องตี้ก็ได้บอกเล่าว่า แคทเธอรินเป็นคนสำคัญสำหรับพื้นที่ เธอช่วยเหลือคนเจ็บป่วย และช่วยพัฒนาศักยภาพของเด็กในพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กไร้สัญชาติให้ได้รับการศึกษาและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

“ถ้าเอ่ยชื่อแคทคือทุกคนในบ้องตี้ให้การยอมรับ เราไม่ได้กังวลว่าใน Bamboo School มีเด็กไร้สัญชาติเยอะจะเกิดปัญหาอะไรตามมา เพราะเมื่อพวกเขาเรียนจบไปก็ไปขอสัญชาติกลับมาทำงาน พวกเขามีศักยภาพ และสื่อสารได้หลายภาษาด้วย” กำนันตำบลบ้องตี้กล่าว

แคทเธอรินขึ้นรับรางวัล HER AWARDS UNFPA, THAILAND 2024 ณ องค์การสหประชาชาติ กรุงเทพฯ

วันข้างหน้าของ Bamboo School 

18 ก.ย. 2024 ณ องค์การสหประชาชาติ กรุงเทพฯ แคทเธอรินพร้อมลูกศิษย์ของเธอเดินทางมารับรางวัล HER AWARDS UNFPA, THAILAND 2024 ในฐานะประชากรหญิงผู้สร้างแรงบันดาลใจ เธอดูเหนื่อยล้าเป็นพิเศษกับการเดินทางไกล และการต้องอยู่ท่ามกลางแสงแฟลชและสปอตไลต์ที่ผู้คนต่างจับจ้องมาที่ตัวเธอ 

“ฉันได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะต่อมน้ำเหลืองโตเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว เมื่อฉันอยู่ภายใต้ความกดดันหรือความเหนื่อยล้าร่างกายทั้งตัวจะเจ็บปวดเหมือนมีคนกำลังเอาไม้มาตีฉัน”  

แคทเธอรินกล่าวในช่วงสายของอีกวันที่เธอเพิ่งเดินทางกลับมาจากกรุงเทพฯ นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เธอได้รับรางวัลใหญ่เช่นนี้ ย้อนกลับไปเมื่อปี 2016 เธอได้รับรางวัลผู้สร้างแรงบันดาลใจคนค้นฅน อวอร์ด ครั้งที่ 8 อันนำมาซึ่งการเป็นที่รู้จักมากขึ้นในสังคมไทย รวมทั้งความช่วยเหลือและการเยี่ยมเยียนจากบุคคลภายนอกที่หลั่งไหลเข้ามา  

“เราเปิดให้คนภายนอกได้เข้ามาพบเจอกับเด็กๆ” แคทเธอรินเล่าแนวคิดที่ Bamboo School เปิดรับอาสาสมัครชาวต่างชาติ หรือผู้คนที่อยากบริจาคสิ่งของให้กับ Bamboo School “เพราะไม่อย่างนั้นเด็กๆ จะถูกปกป้องเกินไป เพราะเมื่อพวกเขาโตขึ้นหรือเข้ามหาวิทยาลัย เขาต้องปรับตัวให้ได้กับสภาพแวดล้อมที่นั่น”

แคทเธอริน รูธ ไรลี่ ไบรอัน : แม่ของเด็กไร้สัญชาติผู้ก่อตั้ง Bamboo School

แคทเธอริน รูธ ไรลี่ ไบรอัน : แม่ของเด็กไร้สัญชาติผู้ก่อตั้ง Bamboo School อย่างไรก็ดีแคทเธอรินจะจำกัดปริมาณความถี่สำหรับคนภายนอกที่จะเข้ามา เพื่อให้เด็กๆ มีเวลาส่วนตัวเป็นของตนเอง 

“เด็กที่นี่รู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่ง คุณจะไม่เห็นฉันสั่งให้ทำความสะอาดหรือทำหน้าที่ต่างๆ  พวกเขาจะทำเพราะพวกเขาอยากทำ พี่ใหญ่จะคอยดูแลน้องเล็กให้ได้รับการดูแลอย่างปลอดภัย พวกเขาปกป้องกันและกัน” 

และเมื่อถูกถามว่าเธอได้วางแผน Bamboo School ต่อจากนี้ไว้อย่างไรโดยเฉพาะในวันหนึ่งหากเธอไม่ได้อยู่แล้ว

“ฉันต้องหาคนที่เหมาะสม มีความเข้าใจตรงกันโดยเฉพาะในเรื่องของหัวใจที่พร้อมจะดูแลเด็กเหล่านี้”

แคทเธอรินกล่าว พร้อมบอกว่า  Bamboo School อยู่ระหว่างกระบวนการการจัดตั้งมูลนิธิ รวมทั้งเริ่มมอบหมายงานต่างๆ ให้กับศิษย์เก่าของเธอเป็นผู้ดูแล 

“ฉันมีไอเดียมากมายที่จะต้องทำให้สำเร็จ และต้องอยู่ไปจนถึงอายุ 180 ถึงจะทำทุกอย่างได้หมด” เธอกล่าวพร้อมเสียงหัวเราะ “ดังนั้นฉันต้องถ่ายทอดแนวคิดเหล่านี้ออกไป ให้กับชุมชนหรือให้ลูกๆ ที่โตแล้วไปจัดการกันต่อ”

แม้เธอจะบ่นว่าเหนื่อยมาตลอดทั้งวัน แต่ค่ำคืนนั้นเธอก็ได้นำประสบการณ์การไปรับรางวัลที่กรุงเทพฯ กลับมาบอกเล่าให้กับเด็กๆ ที่ Bamboo School ได้รับฟัง เด็กๆ ดูตื่นเต้นกับภาพที่เธอได้รับรางวัลในห้องประชุมที่โอ่อ่า นาฬิกาบอกเวลาสองทุ่มแคทเธอรินบอกกับเด็กๆ ว่าถึงเวลาเข้านอน แต่ก่อนที่จะแยกย้ายนั้นเป็นธรรมเนียมของ Bamboo School ที่ทุกคนจะต้องบอกฝันดีและโอบกอดซึ่งกันและกัน

แคทเธอริน รูธ ไรลี่ ไบรอัน : แม่ของเด็กไร้สัญชาติผู้ก่อตั้ง Bamboo School

เรื่องและภาพ : ณฐาภพ  สังเกตุ