"ถ้าการเมืองดี ผมก็คงไม่ต้องบวชเรียนตั้งแต่แรก" สามเณรผู้เข้าร่วมการชุมนุม 14 ตุลา 63

"ถ้าการเมืองดี ผมก็คงไม่ต้องบวชเรียนตั้งแต่แรก" สามเณรผู้เข้าร่วมการชุมนุม 14 ตุลา 63

"ถ้าการเมืองดี ผมก็คงไม่ต้องบวชเรียนตั้งแต่แรก" สามเณรผู้เข้าร่วมการชุมนุม 14 ตุลา 63

“ถ้าการเมืองดี ผมก็คงไม่ต้องบวชเรียนตั้งแต่แรก”

อาจดูไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ที่เราจะได้เห็นพระภิกษุสงฆ์เข้ามามีส่วนร่วมในการชุมนุมเพื่อประชาธิปไตยในครั้งนี้ เพราะในขบวนการเคลื่อนไหวที่ผ่านมา ก็เคยบุคคลจากฟากฝั่งของศาสนาพุทธเข้ามามีส่วนร่วม ไม่ว่าจะในฐานะมิ่งขวัญกำลังใจ ในฐานะนักเคลื่อนไหว หรือแม้แต่ก้าวขึ้นไปเป็นแกนนำเสียเอง (?) “ที่จริงผมคิดว่าเราไม่สามารถแยกศาสนาออกจากการเมืองได้ โดยเฉพาะในบริบทของประเทศไทย” The People ได้มีโอกาสพูดคุยกับสามเณรรูปหนึ่ง ซึ่งมาเข้าร่วมการชุมนุมเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563 “เณรโฟล์ค” คือชื่อที่เณรยินดีบอกกับเรา โดยเณรเล่าว่า หลังบวชเรียนมาตลอด 8 ปี จนเรียกได้ว่ามีความคุ้นเคยกับวิถีชีวิตที่ผูกพันกับพุทธศาสนา น่าแปลกที่แม้หลายคนจะบอกว่า ‘ศาสนาไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง’ ที่จริงสองสิ่งนี้กลับเกี่ยวเนื่องกันมาตลอด และก็มีที่ท่าว่าจะแยกจากกันได้ยาก “ประเทศไทย คนนับถือศาสนาพุทธเยอะถูกไหมครับ ไม่ว่าจะภิกษุ สามเณร หรือภิกษุณี ในฐานะกลุ่มคนที่ส่งต่อคำสอน ก็นับเป็นบุคคลสำคัญสำหรับผู้ที่นับถือศาสนานี้ทั้งนั้น ทีนี้ ทำไมผมถึงมองว่าการเรียกร้องประชาธิปไตยสำคัญ ก็เพราะเราเป็นกลุ่มที่มีอำนาจในการส่งต่อความเชื่อไปสู่ประชาชน แต่อำนาจตรงนี้มันดันไปเกี่ยวข้องกับสถาบันทางการเมือง เพราะในระบบการปกครองของสงฆ์ เรามีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประมุข ซึ่งตำแหน่งนี้ถูกแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ หมายความว่าเราอยู่ใต้การปกครองของสถาบันพระมหากษัตริย์อีกที แบบนี้เห็นภาพไหมครับ ว่าทำไมเราถึงข้องเกี่ยวกับการเมือง” "ถ้าการเมืองดี ผมก็คงไม่ต้องบวชเรียนตั้งแต่แรก" สามเณรผู้เข้าร่วมการชุมนุม 14 ตุลา 63 เณรโฟล์ค อธิบายให้เราฟังว่า บทบาทของพุทธศาสนาที่ผ่านมา มักอยู่ในจุดที่สนับสนุนสถาบันพระมหากษัตริย์ การปกครองในรูปแบบนี้ เริ่มมีมาตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2505 หลังจากที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี (ช่วงรัฐบาลปฏิวัติ) จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้มีคำสั่งยกเลิก พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 ซึ่งเป็นพ.ร.บ.คณะสงฆ์ฉบับประชาธิปไตย (มีอำนาจสูงสุดอยู่ที่ สมเด็จพระสังฆราช แต่มีการแบ่งส่วนในคณะสังฆมนตรี โดยมีสังฆสภา พระธรรมธร พระวินัยธร รวมถึงเจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล และเจ้าอาวาส คอยดูแลเผยแพร่พระพุทธศาสนา ตั้งแต่ส่วนกลางไปถึงส่วนภูมิภาค) และเปลี่ยนเป็นพ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ซึ่งอำนาจเบ็ดเสร็จถูกดึงกลับมาอยู่ในมือของสมเด็จพระสังฆราชเพียงผู้เดียว หลังจากคณะสงฆ์ไทย ถูกปกครองด้วยพ.ร.บ.ฉบับนี้ตลอดมา พุทธศาสนาก็เริ่มถูกใช้เป็นเครื่องมือในการแผ่ขยายและกระจายอำนาจมากขึ้น เณรโฟล์ค ในฐานะที่เคยเป็นเด็กต่างจังหวัด เล่าว่า พุทธศาสนาในต่างจังหวัด มีอิทธิพลต่อสำนึกของผู้คนเป็นอย่างมาก ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งท้องถิ่น หากเป็นเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียง มีผู้นับถือศรัทธาจำนวนมาก ก็มักจะมีนักการเมืองคอยเข้าหา หากมีการตกลงผลประโยชน์ มีการสร้างโบสถ์ สร้างวัดอย่างเอิกเกริกให้ในเวลาต่อมา เหล่าลูกศิษย์ลูกหาก็อาจจะถูกโน้มน้าวให้เลือกนักการเมืองคนดังกล่าวในภายหลัง เณรโฟล์ค บอกว่า เณรเองก็ไม่ได้มีปัญหากับการที่พระสงฆ์ข้องเกี่ยวกับการเมือง เพียงแต่หากพระภิกษุสงฆ์จะข้องเกี่ยวโดยอ้างพุทธศาสนา อย่างน้อยก็ควรจะแสดงออกมาหน้าฉาก แทนที่จะปิดบังจากประชาชน ชาวบ้านจะได้รู้ว่าพระรูปไหนเป็นกลางไม่เป็นกลาง หรือสนับสนุนฝ่ายใด ทั้งนี้ สิ่งที่สำคัญคือแวดวงศาสนาควรจะมีความเป็นประชาธิปไตยเสียก่อน สาเหตุที่มาเข้าร่วมการชุมนุมครั้งนี้ เณรบอกว่า อยากเห็นความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน เพื่อที่เด็กรุ่นหลังทุกคนจะได้มีโอกาสได้รับการศึกษา ไม่ต้องมาบวชเรียนเพราะฐานะยากจนเช่นเดียวกับเณร "ทุกวันนี้สถานะของผมอาจจะดูไม่เดือดร้อน แต่ผมขอข้าวโยมกินทุกวัน ผมก็อยากเห็นเขาอยู่สบายไม่อดอยาก จริง ๆ ทางเลือกของผมมันมี 2 ทาง จะไม่สนใจ ลอกคราบเป็นชนชั้นกลางต่อไปก็ได้ แต่เพราะผมเป็นลูกคนจน พ่อแม่ทำนาทำไร่ ผมเลยคิดว่าควรเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาสังคม จะได้ไม่มีใครต้องทิ้งโอกาส เพราะไม่มีเงินเหมือนผมอีก" เณรโฟล์ค บวชเรียนตั้งแต่อายุ 12 เพราะทางบ้านไม่สามารถส่งเสียให้เรียนได้ไหว ตอนนั้นหากอยากจะเรียนหนังสือต่อไป ก็มีแต่ต้องบวช เณรโฟล์คบอกว่า ไม่อยากเห็นเด็ก ๆ รุ่นหลังต้องไร้ทางเลือกแบบนี้อีก หากเขาอยากจะศึกษาพระธรรม ก็ให้มันเป็นความสมัครใจของเขาเอง ไม่ใช่เพราะไม่มีทางเลือก การจะได้มาซึ่งสิ่งเหล่านี้ ประเทศเราต้องมีการเมืองที่ดี มีการเลือกตั้ง และกติกาที่เป็นธรรม การออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองเช่นนี้ ย่อมมีแรงเสียดทานจากคนในวงการเดียวกันอยู่บ้าง แต่ถึงอย่างนั้น ก็ยังมีภิกษุสามเณรที่มีความคิดเหมือนกันเข้าใจและคอยสนับสนุน เณรออกความเห็นว่า การบอกว่าสถานะของพระเณรไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองทางโลก เป็นเรื่องไม่จริงอีกต่อไปแล้ว เพราะแม้ตัวพระสงฆ์จะไม่มีสิทธิ์เลือกตั้งตามกฎหมาย แต่ในฐานะชายไทย ตัวเณรเองก็กลับยังต้องไปเกณฑ์ทหารอยู่ "ถ้าการเมืองดี ผมก็คงไม่ต้องบวชเรียนตั้งแต่แรก" สามเณรผู้เข้าร่วมการชุมนุม 14 ตุลา 63 “กลุ่มอนุรักษ์นิยมก็พยายามบอกว่า พระเณรยุ่งกับการเมืองไม่ได้มันเป็นเรื่องไม่เหมาะสม แต่ในวงการของสงฆ์เองก็ยังมีการวิ่งเต้นเรื่องตำแหน่งกันอยู่ แบบนี้ไม่การเมืองตรงไหน อีกอย่างพอมีอำนาจรัฐมากระทำต่อพระสงฆ์ อย่างเช่น การที่เรายังต้องไปเกณฑ์ทหาร ทั้งที่ไม่มีสิทธิ์เลือกตั้ง มันก็ขัดแย้งกับสิ่งที่เขาพร่ำบอกกันว่าพระเรานั้นไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง” เณรโฟล์คบอกว่า ถ้าการเมืองดี บทบาทของพุทธศาสนาจะดีกว่านี้มาก อย่างน้อยเหล่าญาติโยมที่ต้องหาเช้ากินค่ำ ก็จะได้มีเวลาอ่านหนังสือ หรือแสวงหาความเป็นตัวเอง พุทธศาสนาอาจจะเป็นคำตอบหนึ่งที่เขาจะเลือก หรือเขาเองจะหันไปศึกษาศาสนาอื่นเพื่อหาคำตอบของชีวิตตัวเอง เณรบอกว่าชีวิตแบบนี้ ย่อมยังดีกว่าการที่ต้องมาพะวงเรื่องปากท้อง จมจ่อมกับความทุกข์ว่าทำไมชีวิตเราถึงอับโชค แม้เณรจะบอกว่า "ถ้าการเมืองดี ผมก็คงไม่ต้องบวชเรียนตั้งแต่แรก" แต่หลังจากบวชเรียนมาจนถึงตอนนี้ การได้ศึกษาปรัชญาและคำสอนดี ๆ ก็ทำให้เณรได้รู้เห็นแง่มุมที่ตนไม่เคยนึกถึงมาก่อน ส่วนในอนาคตอันไม่แน่นอน ไม่ว่าจะบวชเป็นพระต่อหรือจะสึกออกมาใช้ชีวิตในฐานะคนทั่วไป เณรก็ยังหวังว่าจะได้เห็นสังคมไทยก้าวหน้ากว่านี้ และหากนี่จะเป็นโอกาสที่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลง เณรก็ไม่ลังเลที่จะก้าวเข้ามามีส่วนร่วมกับมัน       ภาพ : กิตติธัช ศรีพิชิต