‘คาโรชิ’ การทำงานหนักที่คร่าชีวิตคนทำสื่อในญี่ปุ่น ล้างคติ “ทำงานหนักไม่เคยฆ่าใคร”?

‘คาโรชิ’ การทำงานหนักที่คร่าชีวิตคนทำสื่อในญี่ปุ่น ล้างคติ “ทำงานหนักไม่เคยฆ่าใคร”?

โรค ‘คาโรชิ’ ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงในสังคมไทย หลังการเสียชีวิตของพนักงานช่อง TNN ขณะที่ในญี่ปุ่น ‘คาโรชิ’ ถือเป็นภัยคุกคามคนทำงานสื่อมายาวนาน

  • การเสียชีวิตของพนักงาน TNN ทำให้คนไทย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมสื่อ หันมาสนใจโรค 'คาโรชิ' (Karoshi) ซึ่งในภาษาญี่ปุ่นแปลว่า ‘เสียชีวิตจากการทำงานหนักเกินไป’
  • สถานีโทรทัศน์ NHK สูญเสียนักข่าว 2 คนในช่วง 6 ปี ด้วยสาเหตุจาก ‘คาโรชิ’ 


“งานหนักไม่เคยฆ่าใคร…” 

หลายวันมานี้ หลายคนอดไม่ได้ที่จะโพสต์ข้อความประชดปนขมขื่นข้างต้น หลังทราบข่าวการเสียชีวิตของ ‘ศราวุฒิ ศรีสวัสดิ์’ หรือ ‘เบิร์ด’ เจ้าหน้าที่อาวุโส รับผิดชอบการจัดผังรายการของสถานีข่าว TNN 

การสูญเสียทรัพยากรบุคคลในอุตสาหกรรมสื่อครั้งนี้ ทำให้คนในวงการที่ช่ำชองเรื่องการตั้งคำถามแหลมคม ย้อนกลับมาตั้งคำถามเรียบ ๆ ง่าย ๆ กับตัวเองว่า 

“เรากำลังทำงานหนักเกินไปหรือเปล่า?...”

คำถามคล้าย ๆ กันนี้ เชื่อว่าเกิดขึ้นกับคนในแวดวงสื่อของญี่ปุ่นเช่นกัน

เมื่อปี 2561 อุตสาหกรรมสื่อในญี่ปุ่นถูกจัดให้อยู่ในหมวดอุตสาหกรรมที่ควรมีการศึกษาเพิ่มเติมสำหรับกรณี 'คาโรชิ' (Karoshi) ซึ่งในภาษาญี่ปุ่นแปลว่า ‘เสียชีวิตจากการทำงานหนักเกินไป’

นักข่าวหญิงญี่ปุ่นเสียชีวิตหลังทำงาน 159 ชั่วโมงใน 1 เดือน

หนึ่งในคนข่าวญี่ปุ่นที่สังเวยชีวิตให้โรค ‘คาโรชิ’ คือ ‘มิวะ ซาโดะ’ ที่ถูกพบเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวภายในอพาร์ตเมนต์ในกรุงโตเกียว เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2556 

มือของเธอยังกำโทรศัพท์มือถือแน่น ในขณะที่ร่างไร้ซึ่งลมหายใจ 

‘ซาโดะ’ ซึ่งเป็นนักข่าวของสถานีโทรทัศน์สาธารณะแห่งประเทศญี่ปุ่น NHK มีอายุเพียง 31 ปี เธอเสียชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลว (Congestive Heart Failure)

หมายความว่าหัวใจของเธออ่อนแอมากจนไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้อย่างเพียงพอ 
 

ในช่วงแรก NHK เปิดเผยถึงการเสียชีวิตของ ‘ซาโดะ’ โดยระบุเพียงว่า พ่อแม่ของเธอไม่ต้องการให้ข้อมูลใด เนื่องจากต้องการรักษาความเป็นส่วนตัว 

แต่ต่อมาพ่อแม่ของเธอเกิดเปลี่ยนใจ เพราะพวกเขาต้องการให้การเสียชีวิตของลูกสาวอันเป็นที่รัก เป็นอุทาหรณ์สำหรับมนุษย์บ้างานคนอื่น ๆ 

ก่อนหน้านั้น เจ้าหน้าที่แรงงานในโตเกียวให้ข้อมูลว่า ‘ซาโดะ’ ทำงานล่วงเวลาเกิน 159 ชั่วโมง 37 นาทีในเดือนที่เธอเสียชีวิต ส่วนเดือนก่อนหน้านั้น เธอทำงานล่วงเวลา 146 ชั่วโมง 57 นาที

แต่พ่อของ ‘ซาโดะ’ ไปค้นข้อมูลจากโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์ที่เธอใช้ทำงาน แล้วพบว่า จริง ๆ แล้ว ในเดือนที่ลูกสาวของเขาเสียชีวิต ชั่วโมงการทำงานล่วงเวลาของเธอยาวนานถึง 209 ชั่วโมง

หมายความว่าเธอทำงานล่วงเวลาเกือบวันละ 7 ชั่วโมง ไม่เว้นแม้แต่วันหยุดสุดสัปดาห์ 

เจ้าหน้าที่แรงงานให้สัมภาษณ์สื่อว่า “ซาโดะอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่เธอไม่สามารถมีวันหยุดที่เพียงพอได้ เนื่องจากความรับผิดชอบที่ทำให้เธอต้องนอนดึกมาก จึงอาจสรุปว่าเธออยู่ในสภาวะที่เหนื่อยล้าสะสมและอดนอนเรื้อรัง”

4 ปีหลังการจากไปของ ‘ซาโดะ’ จึงมีการรับรองอย่างเป็นทางการว่า สาเหตุการเสียชีวิตของเธอเกิดจาก ‘คาโรชิ’ 

NHK เป็นที่ทำงานแรกของ ‘ซาโดะ’ หลังจากที่เธอเรียนจบด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัย ‘ฮิโตะสึบะชิ’ ในโตเกียวเมื่อปี 2548 เธอเริ่มทำงานที่สำนักงานในจังหวัดคาโกชิม่า ก่อนจะย้ายมายังสำนักงานโตเกียวเมื่อปี 2553

แม่ของ ‘ซาโดะ’ บอกว่า เธอเป็นน้องเล็กสุดในทีมงาน 5 คน ที่มักประสบปัญหาการทำงานเป็นทีม เธอแทบไม่หยุดงานเลยแม้กระทั่งวันหยุด และทำงานจนถึงเที่ยงคืนเกือบทุกวัน 
 

ชื่อ ‘มิวะ’ ของเธอมีความหมายว่า ‘ความสงบสุขในอนาคต’ เธอเป็นพี่คนโตในบรรดาพี่น้อง 3 คน แม่ของเธอเล่าว่า คู่หมั้นของ ‘ซาโดะ’ ได้สวมแหวนแต่งงานให้กับเธอก่อนที่จะมีการเผาร่าง 

“เธอเป็นสมบัติล้ำค่าของฉัน เป็นความหวัง และเป็นกำลังใจที่ยิ่งใหญ่ที่สุด หลังจากที่เธอเสียชีวิต ชีวิตของฉันก็พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ และฉันไม่สามารถยิ้มและมีความสุขจากก้นบึ้งหัวใจได้อีกต่อไป” แม่ผู้สูญเสียกล่าว 

บรรดาผู้เกี่ยวข้องในญี่ปุ่นต่างพากันกังวลว่า จำนวนแม่ที่สูญเสียลูกที่จากไปเพราะโรค ‘คาโรชิ’ จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงหลายปีข้างหน้า หากไร้ซึ่งการปฏิรูปที่จริงจัง 

NHK เสียนักข่าวคนที่สองเพราะ ‘คาโรชิ’

ภายหลังการเสียชีวิตของ ‘ซาโดะ’ ต้นสังกัดได้พยายามปฏิรูปการทำงานเพื่อป้องกันการสูญเสีย เช่น การกำหนดให้พนักงานต้องได้รับอนุญาตจากผู้จัดการ ก่อนที่จะทำงานหลังเวลา 22.00 น. หรือทำงานในช่วงวันหยุด รวมถึงการให้คำปรึกษาแก่พนักงานที่ทำงานล่วงเวลามากเกินไป 

แต่ท้ายที่สุด มาตรการเหล่านี้ก็ไม่เป็นผล 

เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2565 NHK แถลงข่าวเศร้าอีกครั้งว่า พนักงานชายวัย 40 ปีรายหนึ่ง เสียชีวิตจาก ‘คาโรชิ’ เมื่อเดือนตุลาคม 2562 

หรือ 6 ปีหลังการเสียชีวิตของ ‘ซาโดะ’

ที่น่าสังเกตคือ เขาเป็นหัวหน้าทีมข่าวที่รายงานข่าวรัฐบาลในโตเกียว เช่นเดียวกับ ‘ซาโดะ’ 

'ฮานาโกะ ยาซูโฮ' ผู้อำนวยการอาวุโสของ NHK ยอมรับระหว่างการแถลงข่าวว่า "มาตรการต่าง ๆ ที่เราได้พยายามนำมาใช้นั้น เห็นได้ชัดว่าไม่เพียงพอ"

สำนักงานตรวจสอบมาตรฐานแรงงานเขตชิบูย่าในโตเกียว รับรองว่าการเสียชีวิตของนักข่าวชายคนดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการทำงาน 

เจ้าหน้าที่ NHK ให้รายละเอียดว่า ช่วง 5 เดือนก่อนที่เขาจะเสียชีวิต เขาทำงานล่วงเวลาทะลุเกณฑ์ที่กำหนดซึ่งอยู่ที่ 100 ชั่วโมงต่อเดือน หรือ 80 ชั่วโมงโดยเฉลี่ยในช่วง 2-6 เดือน 

สมาชิกในครอบครัวพบเขาเสียชีวิตภายในบ้าน 

ในเดือนก่อนที่เขาจะเสียชีวิต ชายผู้นี้ทำงานล่วงเวลาประมาณ 74 ชั่วโมง แต่ค่าเฉลี่ยการทำงานล่วงเวลาของเขาในช่วง 5 เดือนอยู่ที่ 92 ชั่วโมง 

‘โทชิโอะ โฮริเบะ’ เจ้าหน้าที่ NHK เล่าว่า นักข่าวคนนี้ยุ่งอยู่กับการรายงานข่าวการเตรียมพร้อมสำหรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่โตเกียว การเลือกตั้งสภาสูง และความเสียหายจากพายุไต้ฝุ่นที่เกิดขึ้นในโตเกียว 

ในปี 2556 ซึ่งเป็นปีที่ ‘ซาโดะ’ เสียชีวิต NHK ยังไม่ประกาศการเสียชีวิตของเธอ กระทั่งอีก 4 ปีต่อมา และปีเดียวกันนี้ NHK ได้เพิ่มจำนวนนักข่าวที่รายงานข่าวรัฐบาลในโตเกียว ควบคู่กับการบังคับใช้กฎเกี่ยวกับการทำงานล่วงเวลา และการปรึกษาแพทย์ 

ตามกฎดังกล่าว นักข่าวชายคนนี้จะต้องไปพบแพทย์ แต่เขาก็ไม่เคยไป

ไม่ได้มีแค่เขาเท่านั้นที่ต้องไปพบแพทย์ เพราะ 4% ของคนที่ทำงานกับ NHK เขตชิบูย่า ถูกสั่งให้ไปพบแพทย์เนื่องจากชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขนี้ยังต่ำเกินไป ถึงขั้นที่สำนักงานมาตรฐานแรงงานเรียกร้องให้ NHK รีบปรับปรุงสถานการณ์

ครอบครัวของนักข่าวชายออกแถลงการณ์ผ่านทนายความ เรียกร้องให้ NHK ปรับปรุงวัฒนธรรมองค์กรเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยขึ้นอีก 

'มาโมรุ' พ่อของ 'ซาโดะ' พูดถึงเหตุการณ์นี้ว่า "ดูเหมือนว่า NHK จะไม่ได้บทเรียนอะไรเลยจากการเสียชีวิตของลูกสาวผม" 

'ฮิโรชิ คาวาฮิโตะ' ทนายความที่เชี่ยวชาญในคดี 'คาโรชิ' กล่าวว่า “แม้อายุของนักข่าวทั้งสองจะต่างกัน แต่สถานการณ์ของพวกเขาก็มีความคล้ายคลึงกัน" 

ทั้งคู่ต่างมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมากกับการรายงานข่าวเลือกตั้ง ก่อนที่พวกเขาจะเสียชีวิต 

"สิ่งเดียวกันนี้เกิดขึ้นเพราะขาดการวิเคราะห์เชิงโครงสร้าง" ทนายความกล่าว

เหยื่อ ‘คาโรชิ’ มักอยู่ในสายสื่อ

การทำงานหักโหมมากเกิน เป็นปัญหาใหญ่สำหรับผู้ที่ทำงานด้านการออกอากาศโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ โฆษณา และหน่วยงานอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมสื่อ มานานแล้ว 

เมื่อปี 2558 พนักงานใหม่อย่าง 'มัตซูริ ทากาฮาชิ' อายุ 24 ปี ตัดสินใจปลิดชีวิตตัวเอง หลังจากไม่สามารถรับมือกับชั่วโมงการทำงานอันแสนทรหดที่บริษัทโฆษณายักษ์ใหญ่ 'เดนท์สุ อิงค์'

ผู้เสียชีวิตจาก ‘คาโรชิ’ รายแรกเมื่อปี 2512 ก็เป็นคนในวงการสื่อ เขาเป็นพนักงานที่ไม่เปิดเผยชื่ออายุ 29 ปี ของบริษัทหนังสือพิมพ์แห่งหนึ่งในญี่ปุ่น เสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดสมอง 

ตามรายงานของ International Journal of Health Services เมื่อปี 2540 ระบุว่าผู้เสียชีวิตรายนี้มีอาการป่วยและมีภาระงานเพิ่มขึ้น ก่อนที่เขาจะเสียชีวิต 

จึงไม่แปลกที่เมื่อปี 2561 อุตสาหกรรมสื่อถูกจัดให้อยู่ในหมวดอุตสาหกรรมที่ควรมีการศึกษาเพิ่มเติมสำหรับกรณี 'คาโรชิ' 

ปีเดียวกัน กระทรวงแรงงานญี่ปุ่นสำรวจคนทำงานในอุตสาหกรรมสื่อ 4,280 คน พบว่า 54.3% ของผู้ตอบแบบสอบถามตอบ 'ใช่' หรือ 'ค่อนข้างใช่' กับคำถามที่ว่า พวกเขาทำงานเป็นเวลานานหรือไม่ ?

ญี่ปุ่นพยายามเข้าสู่ยุคทำงาน 4 วัน 

บริษัทต่าง ๆ ในญี่ปุ่นจะพยายามคิดหาวิธีป้องกันไม่ให้ ‘คาโรชิ’ พรากพนักงานไปจากองค์กร 

แต่ก็ไม่มีอะไรทำให้แรงงานในญี่ปุ่นเข้าใจคำว่า ‘ยืดหยุ่น’ ได้อย่างถ่องแท้ กระทั่งเกิดการระบาดของโควิด-19

เจ้าโรคทางเดินหายใจตัวร้ายบีบให้บริษัทในญี่ปุ่นที่เคร่งครัดเรื่องการทำงาน ปรับมาใช้ชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่นและสามารถทำงานได้จากระยะไกลมากขึ้น 

ตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งเป็นปีที่ทั่วโลกเผชิญการระบาดอย่างหนัก จะเห็นได้ว่าหลายธุรกิจเริ่มเสนอทางเลือกที่ยืดหยุ่นและส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตพนักงานในทางอ้อม

‘นิกเคอิ’ รายงานว่า ปี 2563 บริษัทในญี่ปุ่นประมาณ 8% เสนอให้มีวันหยุดมากกว่า 2 วันต่อสัปดาห์ 

ปีเดียวกันนั้นเอง 'ไมโครซอฟต์ ญี่ปุ่น" ทดสอบการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ แม้ว่าชั่วโมงการทำงานโดยรวมจะลดลง แต่ค่าจ้างพนักงานยังคงเท่าเดิม หลังการทดสอบพบว่ากำลังผลิตของพนักงานเพิ่มขึ้นเกือบ 40%

ด้าน ‘พานาโซนิก’ ออกมาประกาศเมื่อเดือนมกราคม 2564 ว่า บริษัทเสนอทางเลือกให้พนักงานทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ เพื่อส่งเสริมสมดุลชีวิตการทำงานที่ดีต่อสุขภาพ คาดว่าการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ของ ‘พานาโซนิก’ จะเริ่มได้เร็วที่สุดในเดือนเมษายน 2566

ต่อมาในเดือนเดือนมิถุนายน 2564 รัฐบาลญี่ปุ่นแนะนำให้บริษัทต่าง ๆ อนุญาตให้พนักงานเลือกทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ได้

นอกจากนี้ยังมีบริษัทหลายแห่งในญี่ปุ่นที่แสดงความกระตือรือร้นเรื่องการทำงาน 4 วัน เช่น บริษัทยา ชิโอโนกิ แอนด์ โค (Shionogi & Co. Ltd) และบริษัทผู้พัฒนาระบบอย่าง Encourage Technologies ซึ่งได้เสนอทางเลือกนี้ในเดือนเมษายน 2565 

ทำไมคนญี่ปุ่นต้องทำงานล่วงเวลา ?

กฎหมายญี่ปุ่นกำหนดให้พนักงานทำงานเพียง 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ขณะที่หลักเกณฑ์ของรัฐบาลกำหนดให้พนักงานควรทำงานล่วงเวลาเพียง 45 ชั่วโมงต่อเดือน แต่คำแนะนำเหล่านี้ก็ไม่มีผลผูกมัด

หลักเกณฑ์เหล่านี้ดูเหมือนจะไม่ได้รับความสนใจ พนักงานจำนวนมากรู้สึกว่าจำเป็นต้องทำงานล่วงเวลาเพื่อพิสูจน์คุณค่าของตัวเอง

“หลายบริษัทและหัวหน้างาน จะประเมินประสิทธิภาพการทำงานแบบเห็นหน้ากัน”

‘โยโกะ อิชิคุระ’ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ มหาวิทยาลัยฮิโตะสึบะชิ ในโตเกียว แสดงความเห็นอีกว่า “พวกเขาไม่รู้วิธีประเมินผลงานนอกเหนือจากการเจอหน้า”

“เราเคยทำผลสำรวจพบว่า บางคนถึงกับมองว่าคนที่ทำงานเป็นเวลานานเป็นคนดีหรือมีความสามารถ”

'เจฟฟ์ คิงส์ตัน' ศาสตราจารย์ด้านเอเชียศึกษา มหาวิทยาลัยเทมเพิล วิทยาเขตโตเกียว กล่าวว่า "วัฒนธรรมการทำงานแบบซามูไร หมายความว่าพนักงานต้องทุ่มเทอย่างเต็มที่และเต็มใจสละเวลาและสุขภาพของตัวเองเพื่อนายจ้าง"

"ก่อนหน้านี้มีความรู้สึกว่า บริษัทต่าง ๆ เปรียบตัวเองเป็นพ่อที่จะดูแลพนักงานเหมือนลูก แต่การรับรู้นี้เปลี่ยนไปอย่างมากในช่วงหลายสิบปีมานี้ และค่านิยมที่เคยสนับสนุนการแสวงประโยชน์นี้ได้เปลี่ยนไปให้ความสำคัญกับครอบครัวและเวลาส่วนตัวแทน"

"คนทำงานบางคนไม่แม้แต่จะบันทึกชั่วโมงการทำงานล่วงเวลา เพราะกลัวว่าจะได้รับการประเมินที่ไม่ดี หมายความว่า พวกเขาต้องทำงานฟรี”

 

อ้างอิง

mainichi.jp

theguardian

asahi

cnbc

businessinsider