21 มี.ค. 2566 | 12:27 น.
- ‘กานต์ ชนนิกานต์’ เมีทีมงานสนับสนุนที่พร้อมและเป็นมืออาชีพมาก ตลอดการแข่งขัน กานต์ถือเป็นหนึ่งในตัวเต็งที่แฟน ๆ ให้ความสนใจ ทำผลงานได้อย่างโดดเด่น
- สปอตไลต์ของการประกวดในครั้งนี้ไม่ได้ฉายไปที่กานต์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงประเด็นการพลิกโฉมของเวทีนางสาวไทยในครั้งนี้อีกด้วย
- ปีนี้เป็นปีแรกที่นางสาวไทยคัดเลือกตัวแทนสาวงามจากระดับจังหวัดเพื่อมาประกวดในระดับชาติ ซึ่งรูปแบบการคัดเลือกลักษณะนี้เหมือนกันกับของทางฝั่งมิสแกรนด์ฯ
การประกวดนางสาวไทย (Miss Thailand) ประจำปี 2566 จบลงอย่างงดงามภายใต้คอนเซปต์ ‘สวยสง่า ทรงพลัง และเฉลียวฉลาด’ (Sweet Strong Smart) The Ultimate Precious หรือ ‘ที่สุดแห่งความล้ำค่า’ มงกุฎแห่งเกียรติยศตกเป็นของ ‘กานต์’ หรือ ‘ชนนิกานต์ สุพิทยาพร’ สาวงามผู้ที่ได้กลายเป็นนางสาวไทยคนที่ 54 ในประวัติศาสตร์
บทความนี้จะชวนผู้อ่านทำความรู้จักกับเธอ พูดคุยถึงเหตุผลแห่งความสำเร็จ และวิเคราะห์เวทีนางสาวไทยในบริบทการประกวดนางงามของไทยที่กำลังขับเคี่ยวกันอย่างเข้มข้นอยู่ ณ ขณะนี้
‘กานต์ ชนนิกานต์’ กับภูมิหลังอันสมบูรณ์แบบสู่มงกุฎนางสาวไทย
‘กานต์ ชนนิกานต์’ สาวงามวัย 24 ปี เกิดและเติบโตที่จังหวัดเชียงใหม่ เธอไม่เพียงเป็นนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 6 คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่เธอยังเป็นประธานสโมสรนักศึกษา พิธีกร และเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ อีกมากมายของมหาวิทยาลัย แถมยังมีความสามารถพิเศษอีกหลายด้าน เช่น ทักษะภาษาอังกฤษ รำไทย รำฟ้อน การแสดง
นอกรั้วสถาบันการศึกษา เธอยังหาโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมช่วยเหลือสังคมแบบไม่ขาดสาย เธอได้รับรางวัลมากมาย เช่น เยาวชนดีเด่นสมาคมสภาสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ปี 2560 ธรรมฑูตมาฆบูชา ประเภทเยาวชนดางรุ่งมีศีลธรรมปี 2563 เพชรของสังคมประจำปี 2564 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการที่เธอผลักดันสนับสนุน ‘Underprivileged to precious’ (ด้อยโอกาสสู่ได้โอกาส) โดยแรงบันดาลใจของเธอเกิดจากการทำกิจกรรมร่วมกับเยาวชนผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยินที่โรงเรียนโสตศึกษา ซึ่งหลังจากที่ได้มงกุฎ เธอทำสัญลักษณ์เป็นภาษามือ แสดงความยินดีกับเยาวชนเหล่านั้นว่าเธอและพวกเขาได้ทำสำเร็จแล้ว
กานต์ไม่ใช่หน้าใหม่ในการประกวดนางงาม ก่อนหน้านี้ เธอคว้ารางวัลใหญ่มาแล้วมากมาย เช่น นางสาวเชียงราย ปี 2563 Miss Mobile Thailand 2020 นางสาวเชียงใหม่ 2564 ฯลฯ
ในปีนี้ กานต์เข้าประกวดนางสาวไทยในฐานะตัวแทนจากจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งถือว่ามีทีมงานสนับสนุนที่พร้อมและเป็นมืออาชีพมาก ตลอดการแข่งขัน กานต์ถือเป็นหนึ่งในตัวเต็งที่แฟน ๆ ให้ความสนใจมาก เธอทำผลงานได้อย่างโดดเด่นในทุก ๆ รอบของการแข่งขัน อาจจะมีสะดุดบ้างในการตอบคำถามรอบ 5 คนสุดท้าย แต่เธอก็สามารถแก้มือได้ในการตอบคำถามรอบ 3 คนสุดท้าย
(คำถาม)
“อดีตประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ‘บารัก โอบามา’ เคยกล่าวไว้ว่า “หากเราให้ผู้หญิงเป็นผู้บริหารประเทศมากกว่านี้ สงครามอาจเกิดขึ้นน้อยลง” ในฐานะที่คุณเป็นผู้หญิงและพลเมืองโลกคนหนึ่ง คุณเห็นด้วยกับคำกล่าวนี้หรือไม่ เพราะเหตุใด”
(คำตอบ)
“กานต์เห็นด้วยค่ะ เพราะจากที่กานต์ได้เป็นนายกสโมสรระหว่างเรียนที่ ม.เชียงใหม่ กานต์ได้พิสูจน์แล้วว่า การที่ได้มีผู้หญิงขึ้นมาเป็นผู้นำ มันไม่ได้ผิดแปลกเลย เราสามารถใช้ความอ่อนโยน การสื่อสารของเราสามารถช่วยให้ปัญหาทุกอย่างจบลงได้ เพียงแค่เราต้อง put the right man on the right job ผู้หญิงก็สามารถทำได้เหมือนกันค่ะ”
ประเด็นที่จับใจผู้ฟังสำหรับคำตอบนี้ คือการตอบคำถามจากประสบการณ์ตรงของตนในฐานะผู้หญิงที่เคยรับบทบาทหน้าที่เป็นผู้นำ จึงทำให้คำตอบดูทรงพลัง น่าเชื่อถือ บวกกับวลีเด็ดภาษาอังกฤษยอดนิยม ทำให้จังหวะและภาพรวมที่ออกมานั้นพอดิบพอดี เรียกเสียงปรบมือจากผู้ชมได้มาก
และหากมองในเชิงทฤษฎี เราอาจมองคำตอบนี้ของกานต์ให้ลึกซึ้งขึ้นได้อีกนิด กล่าวคือ คำตอบของกานต์กำลังจะบอกว่าความอ่อนโยนอันเป็นลักษณะของผู้หญิงไม่ใช่สิ่งที่ควรถูกมองว่าไร้ประโยชน์ แต่ในทางกลับกัน มันกลับทรงประสิทธิภาพมากในบริบทของสภาวะการผู้นำ ซึ่งจะมากหรือน้อย แนวความคิดนี้สอดคล้องกับทฤษฎีสตรีนิยม Ethics of Care (จริยศาสตร์อาทร) ของกลุ่มนักสตรีนิยมสำนักหนึ่งที่พัฒนาแนวคิดนี้ในช่วงกลางถึงปลายศตวรรษที่ 20 ที่เชื่อ (แบบพูดให้ง่ายและสั้นที่สุด) ว่า โลกควรให้คุณค่ากับความอ่อนโยน ความเห็นอกเห็นใจ ความมีไมตรีจิต อันเป็นลักษณะเฉพาะของผู้หญิง เพราะคุณลักษณะเหล่านี้สามารถต้านทานกับกฏและเกณฑ์อันบีบรัดของสังคมปิตาธิปไตย รวมถึงสร้างสมดุลและสันติภาพให้แก่ปัจเจกบุคคลและโลก ทั้งในเชิงอุดมคติและหลักปฏิบัติทางการเมืองและสังคม
จากประวัติแห่งความสมบูรณ์แบบสู่ผลงานบนเวทีที่ดีจนยากจะปฏิเสธ กานต์จึงคว้ามงกุฎนางสาวไทยมาครอบครองได้ และเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมประกวด Miss World หนึ่งในเวทีการประกวดนางงามที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน เราคงต้องร่วมลุ้นกันต่อว่ากานต์จะเป็น The right man on the right job และสร้างประวัติศาสตร์เป็น Miss World คนแรกของประเทศเราได้หรือไม่
อันที่จริง สปอตไลต์ของการประกวดในครั้งนี้ไม่ได้ฉายไปที่กานต์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงประเด็นการพลิกโฉมของเวทีนางสาวไทยในครั้งนี้อีกด้วย
การเปลี่ยนผ่านของ ‘นางสาวไทย’ จากอนุรักษนิยมสู่สากลโลก
เห็นได้อย่างชัดเจนว่าตั้งแต่ลิขสิทธิ์การประกวดนางสาวไทยตกเป็นของ ‘TPN Global’ (ผู้ถือลิขสิทธิ์มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์) รูปแบบของการนำเสนอการประกวดก็เปลี่ยนแปลงไปจากยุคก่อน ๆ มาก โดยคล้ายคลึงกับการประกวดมิสยูนิเวิร์สและมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์
หนึ่งความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดคือเรื่องชุดว่ายน้ำ ซึ่งก่อนหน้านี้กองประกวดฯ เคยระงับไปช่วงระยะหนึ่งเพื่อให้ตอบโจทย์กับ ‘ความเป็นกุลสตรีไทย’ ในอุดมคติ แต่ช่วงหลังมานี้ นางสาวไทยในยุค TPN Global ให้สาว ๆ เดินเฉิดฉายในรอบชุดว่ายน้ำ นำเสนอมุมมองของผู้หญิงและเรือนร่างของผู้หญิงที่สวนทางกับอุดมคติแบบเดิม
อีกเรื่องคือ เนื้อหาของคำถามที่แตกต่างจากยุคก่อนซึ่งพยายามขับเน้นความเป็นหญิงแบบอนุรักษนิยม คำถามอันว่าด้วยความเป็นกุลสตรี คำถามถึงการท่องเที่ยว ความดีงาม กฏเกณฑ์ ฯลฯ ซึ่งไม่ได้ยึดโยงผู้หญิงกับกระแสความเป็นไปของโลก แต่ในยุคนี้ เราได้เห็นผู้เข้าประกวดนางสาวไทยแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการเมือง การผลักดันวัฒนธรรมสู่สากล สังคมผู้สูงวัย เทคโนโลยี การเมือง ความเสมอภาคทางเพศ ฯลฯ ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าชื่นชม แต่หากถามต่อว่าความแหลมคมหรือความฉูดฉาดเทียบชั้นกับมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์และมิสแกรนด์ไทยแลนด์ได้ไหม ก็คงต้องตอบว่ายังไม่อาจเทียบถึง แต่นี่อาจเป็นเรื่องของสไตล์เฉพาะตัวหรือ ‘จริต’ ของเวทีนางสาวไทยที่อาจจะต้องคงความอ่อนหวานแบบ ‘ไทย ๆ’ ไว้อยู่บ้าง
สองความเปลี่ยนแปลงนี้ชี้ให้เห็นถึงการพลิกโฉมของนางสาวไทย และยังเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าบริบทการประกวดในนางงามในเมืองไทยเดินหน้าสู่สากลแล้วอย่างเสมอหน้า ตอกย้ำว่าภาพลักษณ์ของผู้หญิงในศตวรรษนี้ไม่ใช่ผู้หญิงที่จะถูกกักขังให้อยู่แต่ในพื้นที่ครัวเรือน (domestic sphere) หรือเกิดมาเพื่อเป็นเพียงเมียและแม่อีกต่อไป แต่พวกเธอสามารถยืนในพื้นที่สาธารณะ (public sphere) เทียบชั้นกับเพศอื่น ๆ เปลี่ยนความหมายเรือนร่างของตนที่เคยถูกตีตราบาป ให้กลายเป็นพลังทัดทานกับอำนาจนำในสังคมชายเป็นใหญ่
ทั้งหมดนี้ชวนให้เราเห็นภาพแห่งความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในบริบทของเวทีการประกวดนางงามที่ล้วนแล้วแต่จะส่งเสริมพลังของผู้หญิง ผลักดันสตรีสู่ความเป็นสากล แต่แฟน ๆ นางงามทุกคนทราบกันดีอยู่ถึงการขับเคี่ยวกันอย่างเข้มข้นของแต่ละเวทีการประกวด โดยเฉพาะ 2 ยักษ์ใหญ่อย่างค่าย TPN Global และค่ายมิสแกรนด์ฯ
นางสาวไทย (TPN Global) VS มิสแกรนด์ฯ
อย่างที่ได้เกริ่นไว้ก่อนหน้า เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงหลายเรื่องบนเวทีนางสาวไทยที่สอดคล้องกับมิสยูเวิร์สไทยแลนด์เนื่องจากผู้จัดเป็นองค์กรเดียวกัน แต่ก็มีความเปลี่ยนแปลงบางประการที่ส่อนัยสำคัญเสียจนชวนให้เราคิดว่านางสาวไทย (ในนาม TPN Global) กำลังเปิดเกมรุกกับมิสแกรนด์ฯ หลังจากที่แบ่งรับแบ่งสู้อยู่นาน
ประการแรกคือปีนี้เป็นปีแรกที่นางสาวไทยคัดเลือกตัวแทนสาวงามจากระดับจังหวัดเพื่อมาประกวดในระดับชาติ ซึ่งรูปแบบการคัดเลือกลักษณะนี้เหมือนกันกับของทางฝั่งมิสแกรนด์ฯ ซึ่งจะให้พูดว่านางสาวไทย ‘ทำตาม’ มิสแกรนด์ฯ ได้หรือไม่ ก็คงพูดได้ไม่เต็มปาก เพราะในระดับสากล การประกวดนางงามแบบคัดเลือกตัวแทนตามท้องที่เพื่อมาแข่งขันในระดับชาติถือเป็นเรื่องปกติ เพียงแต่ว่าในบริบทของไทย มันได้กลายเป็นภาพจำของมิสแกรนด์ฯ ไปแล้วก็เท่านั้น
อีกเรื่องคือคุณสมบัติ 3S (Sweet Strong Smart) ของนางสาวไทยที่ชวนให้นึกถึงคอนเซปต์ความงามตามแกรมม่าแบบมิสแกรนด์ที่เจ้าของเวทีมักเอ่ยถึงบ่อย ๆ คือ 3B (Body Beauty Brain) …
จริงอยู่ที่คุณสมบัติหลักทั้งสามอาจจะไม่ได้สอดคล้องกันและบอกถึงลักษณะความงามที่แต่ละเวทีตามหาชัดเจน แต่การกำหนดคุณลักษณะสามอย่างเป็นตัวย่อภาษาอังกฤษแบบนี้ก็ชวนให้คิดไม่น้อยว่าเวทีนางสาวไทยมีความพยายามต้องการสื่อสารอะไรหรือไม่
อย่างไรก็ตาม แม้ว่ามีรูปแบบจะคล้ายคลึงกันมากจนน่าสงสัย แต่เราคงต้องยอมรับว่ากระแสสังคมตอนนี้เทไปที่ฝั่งมิสแกรนด์ฯ เสียมาก ไม่ว่าจะเป็นกระแสของผู้ชนะในปีก่อน กระแสของผู้เข้าประกวดในปีนี้ และความพยายามผูกโยงตัวเองกับคำว่าประชาธิปไตย ที่ล่าสุดได้มีเชิญนักการเมืองชื่อดังอย่าง ‘ไพบูลย์ นิติตะวัน’ ‘ไอติม พริษฐ์’ ฯลฯ มาตอบคำถามการเมืองโดยมีเหล่าบรรดานางงามตัวแทนจากจังหวัดต่าง ๆ เป็นผู้ถาม สร้างเสียงฮือฮาได้เป็นอย่างมากในบริบทที่ประเทศไทยกำลังมุ่งหน้าสู่การเลือกตั้ง
กระนั้น ทั้งหมดนี้ก็ยังถือเป็นยกแรกของเกมนางงาม เราคงต้องมองสงครามครั้งนี้ในระยะยาว เพราะหลังจากนี้ไป ยังมีอีกหลายปัจจัยให้จับตามอง ยังมีอีกหลายผู้เล่นทั้งรายเล็กและรายใหญ่ที่พร้อมจะช่วงชิงสปอตไลต์และรอวันประกาศตนเป็นผู้ชนะเหนืออีกฝั่ง
แล้วคุณล่ะ อยู่ฝั่งไหนในสมรภูมินี้?