สตาร์บัคส์ ฟ้อง สตาร์บัง เคสตัวอย่างปมลิขสิทธิ์ - เครื่องหมายการค้า และผลต่อผู้ประกอบการ

สตาร์บัคส์ ฟ้อง สตาร์บัง เคสตัวอย่างปมลิขสิทธิ์ - เครื่องหมายการค้า และผลต่อผู้ประกอบการ

‘สตาร์บัคส์’ เคยฟ้อง ‘สตาร์บัง’ ร้านกาแฟรถเข็นริมถนนพระอาทิตย์ ให้ยุติการใช้โลโก้ซึ่งเป็นเครื่องหมายการค้าจนนำไปสู่ประเด็นที่หลายคนพูดถึงในปี 2556

  • พ.ศ. 2556 ‘สตาร์บัคส์’ ร้านกาแฟระดับโลกฟ้อง ‘สตาร์บัง’ ร้านกาแฟรถเข็นที่ใช้ชื่อและโลโก้ซึ่งหลายคนรู้สึกว่านึกถึงสตาร์บัคส์ ข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์เครื่องหมายการค้า
  • ‘ลิขสิทธิ์’ เป็นเรื่องสำคัญที่ธุรกิจทั่วโลกให้ความสำคัญ ทั้งแง่รักษาผลประโยชน์ ทรัพย์สินทางปัญญา และในแง่การตลาด
  • กรณีศึกษา ‘สตาร์บัคส์’ ฟ้อง ‘สตาร์บัง’ เป็นเรื่องที่สังคมให้ความสนใจและบอกเราว่า ทุกคนต่างมีเหตุผลเป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะอยู่วงการไหนก็ตาม 

ถ้าพูดถึงร้านกาแฟระดับโลกที่ได้รับความนิยมในหลายประเทศ รวมถึงในไทยเองด้วย คงหนีไม่พ้น ‘สตาร์บัคส์’ 

เมื่อพูดถึงสตาร์บัคส์ สิ่งที่นึกถึงย่อมต้องเป็นเรื่องกาแฟ และธุรกิจ แต่นอกเหนือจากเครื่องดื่มแล้ว เหตุการณ์หนึ่งเกี่ยวกับสตาร์บัคส์ที่เคยได้รับความสนใจคือ คดีเมื่อปี 2556 ซึ่งสตาร์บัคส์ยื่นคำร้องต่อศาล ฟ้องร้าน ‘สตาร์บัง’ ร้านกาแฟรถเข็นย่านถนนพระอาทิตย์จากปมเรื่อง ‘ลิขสิทธิ์’

ส่วนหนึ่งแล้ว ด้วยโลโก้ของสตาร์บัง ที่ดูจะก้ำกึ่งในมุมมองของแบรนด์ดัง สตาร์บัคส์เริ่มจากส่งจดหมายเตือนไปยังสตาร์บังที่ขายอยู่ริมถนนในประเทศไทยจนกลายเป็นดราม่าที่สังคมพูดถึงกันมากในช่วงเวลานั้น

เราชวนย้อนดูกรณีศึกษาระหว่างสตาร์บัคส์และสตาร์บังผ่านการฟ้องร้องเรื่องลิขสิทธิ์ได้ในบทความนี้

‘สตาร์บัง’ ร้านกาแฟรถเข็นที่ชวนให้นึกถึงสตาร์บัคส์?

ดำรงค์ มัสแหละ และ ดำรัส  มัสแหละ คือชื่อจริงของสองพี่น้องเจ้าของร้านกาแฟ ‘สตาร์บัง’

ร้านนี้มีจุดเด่น คือเมนูกาแฟที่ใช้กาแฟจากจังหวัดกระบี่ ราคาไม่แพง เพียงแก้วละ 30 บาท ขายอยู่ริมถนนพระอาทิตย์ สตาร์บังจึงเป็นร้านยอดฮิตของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในตอนนั้น

นอกจากเรื่องสินค้าที่เข้าถึงง่ายแล้ว โลโก้ยังสะดุดตา เพราะถ้ามองผ่าน ๆ หลายคนอาจนึกถึงภาพสตาร์บัคส์ ร้านกาแฟเจ้าดังจากสหรัฐอเมริกาขึ้นมาในหัว ทั้งการคุมโทนสีด้วยสีเขียว ดำ ขาว รวมถึงตัวอักษรรอบ ๆ เปลี่ยนจาก STARBUCKS COFFEE เป็น STARBUNG COFFEE ในวงกลมยังมีรูปชายสวมผ้าคลุมหัวกำลังทำกาแฟ และมืออีกข้างชูนิ้ว 2 นิ้ว

โลโก้เจ้าปัญหา สู่การฟ้องร้องของสตาร์บัคส์

สตาร์บัคส์ยกเหตุผลว่า ตนเองเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าและบริการคำว่า STARBUCK และ STARBUCKS รวมถึงรูปนางเงือกในวงกลมพื้นสีเขียว 

แบรนด์ดังยังบอกว่า แบรนด์ได้จดทะเบียนการค้าไว้ทั่วโลก รวมถึงไทย และใช้เครื่องหมายการค้าจนคนทั่วไปรู้จักดี จึงเป็นเหตุผลให้สตาร์บัคส์เลือกส่งคำเตือนถึงร้านสตาร์บังให้เปลี่ยนโลโก้ในวันที่ 18 กันยายน 2555 ก่อนจะเกิดคดีฟ้องร้องในปีต่อมา

ตามรายงานข่าวของเว็บไซต์ผู้จัดการ ระบุว่า หลังจากนั้น ร้านสตาร์บังเปลี่ยนโลโก้เป็นสีน้ำเงิน เพิ่มรูปดาวเข้าไป แต่ในปีต่อมา สตาร์บัคส์ยังคงเดินหน้าฟ้องร้อง เนื่องจากมองว่าร้านสตาร์บังตั้งใจผลิตโลโก้ที่มีความคล้ายคลึงกันเพื่อให้ประชาชนเข้าใจผิดว่า สตาร์บังเป็นส่วนหนึ่งของสตาร์บัคส์

สตาร์บัคส์จึงยื่นคำร้องต่อศาล ให้ร้านสตาร์บังยุติการใช้โลโก้ เนื่องจากมองว่าเป็นการเลียนแบบ ซึ่งถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าและบริการของสตาร์บัคส์ ทั้งยังให้ร้านสตาร์บังชำระเงินจำนวน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้ชดใช้ค่าเสียหายเดือนละ 30,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะยุติการละเมิด และให้ร้านสตาร์บังชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้กับสตาร์บัคส์

ณ เวลานั้น ดำรงค์ ออกมาให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวเอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ว่า หลังจากมีจดหมายเตือนจากทนาย ทางร้านได้ปรับโลโก้แล้ว และยืนยันว่า โลโก้ที่ทางร้านใช้นั้นอิงตามหลักศาสนาอิสลามที่คนนับถือ ไม่ว่าจะเป็นสีเขียว รูปดาวกับเดือน หรือเครื่องหมายฮาลาลที่ปรากฏ ส่วนชื่อบังก็มาจากภาษามลายู พร้อมย้ำว่าตนเองไม่ได้ลอกเลียนแบบแต่อย่างใด

 

ข้อถกเถียงระหว่างลิขสิทธิ์ และ คนที่เห็นใจร้านกาแฟรถเข็น

ถ้าดูรายละเอียดตามกฎหมายที่เกี่ยวกับการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา มาตรา 109 ระบุว่า บุคคลใดเลียนแบบเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายการบริการ เครื่องหมายรับรอง หรือเครื่องหมายร่วมของบุคคลอื่น ที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง หรือเครื่องหมายร่วมของบุคคลอื่นนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ขณะเดียวกัน ฝั่งกระแสสังคมในตอนนั้น เสียงแตก แบ่งออกเป็นสองฝ่าย ฝั่งหนึ่งมองว่า การกระทำของร้านสตาร์บังผิดจริงที่โลโก้ของร้านคล้ายกับสตาร์บัคส์ แต่อีกฝั่งก็มีความเห็นว่า ร้านสตาร์บังเป็นเพียงร้านเล็ก ยอดขายก็น้อยกว่าอยู่แล้ว ทำไมสตาร์บัคส์ถึงต้องมาฟ้องร้องด้วย

ดำรงค์ เจ้าของร้านสตาร์บังเคยให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า จำนวนเงิน 300,000 บาทที่เขาต้องชดใช้ค่าเสียหายคงหาไม่ได้ เพราะมีลูก 6 คน ใช้วันกินวัน ขายได้แก้วละ 20 - 30 บาท ปีหนึ่งยังไม่เท่ากับวันเดียวของสตาร์บัคส์เลย

และในท้ายที่สุด คดีจบลงด้วยการไกล่เกลี่ยและประนีประนอมยอมความ สตาร์บังจึงเปลี่ยนชื่อร้านจากสตาร์บังเป็น ‘น้ำตาบัง’ เปลี่ยนรายละเอียดในโลโก้จากชายหนุ่มอินเดียชู 2 นิ้วเป็นโลโก้รูปบังยืนร้องไห้แทน ก่อนที่เขาจะตัดสินใจเปลี่ยนชื่อกลับมาเป็น ‘O.K. STAR BUNG’

 

O.K. STAR BUNG ร้านกาแฟรถเข็นในวันที่คาเฟ่เต็มกรุง

เรื่องล่วงเลยมาหลายปี ตอนนี้ (2566) ร้าน O.K. STAR BUNG ยังคงความดั้งเดิมด้วยสถานะเป็นร้านกาแฟรถเข็นที่เข้าถึงง่าย

ร้านมีคันหนึ่งขายอยู่ที่ถนนพระอาทิตย์ ส่วนอีกคันอยู่ที่ถนนข้าวสาร แต่สิ่งที่เป็นความท้าทาย คือ ร้านคาเฟ่และความชื่นชอบในรสกาแฟของคนที่เปลี่ยนไป

ชลธิชา แสงวิมาน แฟนของบังเล่าให้ The People ฟังว่า แม้จะผ่านมา 10 ปี ร้านยังคงราคากาแฟแก้วละ 30 บาท ในด้านหนึ่ง คดีฟ้องร้องในวันนั้นทำให้คนรู้จักร้านมากขึ้น แต่ความสนใจลดลงหลังจากโควิด-19

“เด็กรุ่นใหม่เขาไม่ได้มาสนใจกาแฟโบราณ เขาชอบกินกาแฟสด หลังโควิด-19 ยอดตกลงมาก อีกอย่างคือเราก็ไม่สบาย ไม่ได้แต่งร้าน มันก็เหมือนเดิม พอร้านกาแฟเยอะขึ้น ยอดตกลง มันก็ท้อ แต่เราก็ยังพออยู่ได้ เพราะลูก ๆ โตหมดแล้ว”

ถึงวันนี้ยอดขายจะไม่ได้ดีเหมือนก่อน แต่จากน้ำเสียงของชลธิชาที่เล่าความรู้สึกผ่านเสียงโทรศัพท์ก็รับรู้ได้ว่า สภาพของเธอในวันนี้แตกต่างจากในอดีตช่วงที่ตกเป็นข่าวแล้ว

บทเรียนของการฟ้องร้องระหว่างสตาร์บัคส์และสตาร์บังบอกเราว่า เหรียญมีสองด้านเสมอ ไม่ว่าจะอยู่ในวงการไหน 

 

เรื่อง : ณัฐธนีย์ ลิ้มวัฒนาพันธ์

ภาพ : (ซ้าย) โลโก้ สตาร์บัคส์ แฟ้มภาพจาก Getty Images ประกอบกับโลโก้ O.K. STAR BUNG (โลโก้ของร้านหลังจากผ่านช่วงกระบวนการทางคดีมาแล้ว)

อ้างอิง :

voicetv

mgronline (1)

mgronline (2)

tpa

ipthailand

facebook (1)

facebook (2)