02 ก.ย. 2566 | 15:50 น.
สารภาพตามตรงว่าตอนเห็นคำว่า ‘นอนดึกเพื่อล้างแค้น’ หรือ ‘Revenge Bedtime Procrastination’ เราเองก็แอบงงกับคำนี้เหมือนกัน เพราะไม่เข้าใจว่าการพักผ่อนมันจะไปเกี่ยวกับความแค้นได้ยังไง?
แต่พอได้ศึกษาความหมายของการ ‘นอนดึกเพื่อล้างแค้น’ แล้ว แอบเอามือทาบอกเบา ๆ ประมาณว่า “ตายแล้ว ฉันก็จัดอยู่ในประเภทนอนดึกเพื่อล้างแค้นเหมือนกันเหรอเนี่ย!”
เท่าที่สังเกตจากพฤติกรรมของตัวเองและคนรอบตัว ที่อยู่ในวัยทำงานเหมือนกัน เชื่อว่าหลายคนกำลังประสบปัญหานี้อยู่ แต่ไม่รู้ตัวว่าพฤติกรรมการนอนของตัวเองมันไม่ปกติ แถมยังมีชื่อเรียกที่ดูเป็นคนเจ้าคิดเจ้าแค้นพอสมควร
เพราะในยุคที่คนวัยทำงานจำนวนมาก ถูกบีบคั้นให้ต้องประสบความสำเร็จเช่นเดียวกับเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ในโซเชียล แทบทุกคนพากันทุ่มเทเวลาในช่วงกลางวันเพื่อทำงาน ทำงาน และทำงาน (สโลแกนเดียวกับท่านชัชชาติ) จนเมื่อเงยหน้าจากหน้าจออีกทีก็เย็นย่ำค่ำมืด ไหนจะต้องฝ่ารถติดเพื่อเดินทางกลับบ้าน กว่าจะเปิดประตูเข้าห้องก็ดึกดื่น เลยต้องอาศัยทำกิจกรรมเพื่อผ่อนคลายสติอารมณ์ของตัวเองในช่วงหลังจากนั้น ไม่ว่าจะเป็นการดูหนัง ดูซีรีส์ ฟังเพลง อ่านหนังสือ ส่องโซเชียล คุยกับเพื่อน คุยกับคนรัก ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการเบียดบังเวลานอนของตัวเอง
โดยอ้างความชอบธรรมให้ตัวเองว่า “ก็ทั้งวันฉันยังไม่มีเวลาเป็นของตัวเองเลยนี่ ฉันต้องหาความสุขให้ตัวเองบ้างสิ” ทั้งที่ตัวเองเหนื่อยแสนเหนื่อย ตาแทบจะปิดอยู่รอมร่อ
อ่านถึงตรงนี้ หลายคนน่าจะพอวินิจฉัยตัวเองได้แล้วว่าเข้าข่ายเป็นพวก ‘นอนดึกเพื่อล้างแค้น’ หรือเปล่า (ถ้าไม่เข้าข้างตัวเองจนเกินไป)
และไม่ว่าจะเป็นการนอนดึกเพื่อล้างแค้นหรือจะนอนดึกเพื่ออะไรก็ตาม ระยะยาวย่อมเกิดผลเสียต่อสุขภาพแน่นอน เพราะการนอนหลับ เป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การมี ‘สุขภาพดี’ ควบคู่กับการรับประทานอาหาร และการออกกำลังกาย
ที่สำคัญ การนอนหลับไม่เพียงพอนั้นเป็นอันตรายต่อระบบสรีรวิทยาหลัก ๆ ทั้งหมดของร่างกายมนุษย์ได้สารพัดรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบเผาผลาญ ระบบภูมิคุ้มกัน หรือระบบสืบพันธุ์
การอดนอนกับระบบหัวใจและหลอดเลือด
หลายคนที่คิดว่าตัวเองเป็นคนแข็งแรง จะนอนน้อยแค่ไหนก็ไม่เป็นไร อาจลืมไปว่าเมื่อเราย่างเข้าสู่วัยกลางคน และร่ายกายเริ่มเสื่อมโทรม พร้อมกับที่ความสามารถในการฟื้นฟูสุขภาพเริ่มถดถอย ผลกระทบของการนอนหลับไม่เพียงพอต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดก็ยิ่งรุนแรงขึ้น
ผู้ใหญ่วัย 45 ปีขึ้นไป ซึ่งนอนหลับไม่ถึงคืนละ 6 ชั่วโมง มีแนวโน้มจะประสบภาวะหัวใจวายหรือเป็นโรคหลอดเลือดสมองสูงกว่า 200 เปอร์เซนต์ เมื่อเทียบกับผู้ที่นอนหลับคืนละ 7-8 ชั่วโมง
มีผลการศึกษาที่เน้นให้เห็นเลยว่า การให้ความสำคัญกับการนอนหลับเป็นอันดับ 1 ในช่วงวัยกลางคนนั้นสำคัญแค่ไหน แต่โชคร้ายที่คนวัยนี้ เจอสถานการณ์ครอบครัวและอาชีพการงานกดดันอย่างหนัก จนทำให้ไม่สามารถข่มตาหลับได้คืนละ 7-8 ชั่วโมง
โรคเบาหวานและน้ำหนักขึ้น
ถ้าสังเกตตัวเองดี ๆ คุณจะพบว่า ยิ่งคุณนอนน้อยเท่าไหร่ คุณก็มีแนวโน้มที่จะกินมากขึ้นเท่านั้น แล้วที่เลวร้ายคือร่างกายยังไม่สามารถจัดการกับแคลอรีเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเข้มข้นของน้ำตาลในเลือด เหล่านี้เป็นเหตุผลที่การนอนน้อยต่ำกว่าคืนละ 7-8 ชั่วโมง เพิ่มความเป็นไปได้ที่คุณจะมีน้ำหนักตัวมากขึ้น มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน หรือเป็นโรคอ้วน และส่งผลให้มีแนวโน้มที่จะเป็นเบาหวานประเภท 2 เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก
การอดนอนกับระบบสืบพันธุ์
การทดลองของมหาวิทยาลัยชิคาโกที่เก็บตัวอย่างจากหนุ่มวัย 20 สุขภาพดี แข็งแรง โดยจำกัดให้นอนคืนละ 5 ชั่วโมง เป็นเวลา 1 สัปดาห์ สนับสนุนข้อค้นพบที่ว่า ชายที่มีความผิดปกติด้านการนอนหลับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการกรน จะมีระดับเทสโทสเตอโรนต่ำกว่าอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเทียบกับชายอายุไล่เลี่ยกัน และมีภูมิหลังคล้าย ๆ กัน แต่ไม่มีปัญหาการนอนหลับ
ไม่เพียงผู้ชายเท่านั้นที่มีความสามารถในการสืบพันธุ์ลดลงเพราะอดนอน การนอนหลับคืนละไม่ถึง 6 ชั่วโมง ยังส่งผลให้ฮอร์โมนกระตุ้นการตกไข่ในผู้หญิงลดลง 20 เปอร์เซนต์
การอดนอนกับระบบภูมิคุ้มกัน
การนอนหลับจะช่วยต่อสู้กับการติดเชื้อและความเจ็บป่วย เปรียบเหมือนการระดมอาวุธในคลังแสงภูมิคุ้มกันมาปกป้องคุณ สังเกตดูว่าตอนที่คุณล้มป่วย คุณจะรู้สึกง่วงนอนมากกว่าปกติ นั่นเป็นเพราะระบบภูมิคุ้มกันสั่งให้คุณพักผ่อนเพื่อเสริมกำลังรบ แต่หากคุณนอนน้อยแค่คืนเดียว การฟื้นตัวที่ระบบภูมิคุ้มกันมอบให้คุณเป็นเกราะป้องกันตัว จะถูกกระชากออกจากร่างกายคุณทันที
ถ้าอ่านถึงตรงนี้แล้วคุณยังไม่รู้สึกกังวลเรื่องการนอนน้อย เราอยากเตือนคุณด้วยความห่วงใย เพราะจากการศึกษาวิจัยของ ดร.ไมเคิล เออร์วิน มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลิส ได้เผยให้เห็นว่า การนอนน้อยเพียงระยะสั้น ๆ ส่งผลกระทบต่อเซลล์ภูมิคุ้มกันที่ต่อสู้กับโรคมะเร็งได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึงเพียงใด
การศึกษาในกลุ่มชายหนุ่มสุขภาพดี พบว่าการนอนหลับ 4 ชั่วโมงเพียงคืนเดียว จะกวาดล้างเซลล์เพชฌฆาตที่ไหลเวียนอยู่ในระบบภูมิคุ้มกันไปถึง 70 เปอร์เซนต์ เมื่อเทียบกับการนอนหลับ 8 ชั่วโมงเต็มต่อคืน
เพราะฉะนั้นไม่ว่าคุณจะนอนน้อยเพราะอยู่ในข่าย ‘นอนดึกเพื่อล้างแค้น’ หรือนอนน้อยด้วยเหตุผลใดก็ตาม เราอยากให้คำนึงถึงผลเสียและความเสี่ยงต่อสุขภาพในระยะยาวด้วยแล้วกัน
สำหรับวันนี้ ราตรีสวัสดิ์ค่ะ
ภาพ : Pexels
อ้างอิง :
กรุงเทพธุรกิจ. (2565). ส่องผลเสีย "นอนดึกเพื่อล้างแค้น" เหนื่อยแต่ไม่อยากนอน ควรแก้อย่างไร?
ลลิตา ผลผลา. (2563). Why We Sleep : นอนเปลี่ยนชีวิต