น้ำมันรั่วในอ่าวเปอร์เซีย หายนะต่อธรรมชาติครั้งประวัติศาสตร์จากความตั้งใจของมนุษย์

น้ำมันรั่วในอ่าวเปอร์เซีย หายนะต่อธรรมชาติครั้งประวัติศาสตร์จากความตั้งใจของมนุษย์

เหตุการณ์น้ำมันรั่วในอ่าวเปอร์เซีย ถูกมองว่าเป็นหายนะต่อธรรมชาติครั้งใหญ่อันดับต้น ๆ ในประวัติศาสตร์ แต่หายนะครั้งนี้ไม่ได้เกิดจากอุบัติเหตุ ส่วนหนึ่งมาจากความตั้งใจของมนุษย์ ซึ่งเป็นผลพวงมาจากสงคราม

“มันมหาศาล ยากจะอธิบายหากคุณไม่อยู่ตรงนั้น แต่เอาง่าย ๆ ว่าชายฝั่งกลายเป็นสีดำ”

ผู้เชี่ยวชาญทางทะเลรายหนึ่งเป็นพยานให้กับสภาพชายฝั่งหลังเหตุการณ์น้ำมันรั่วครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์โลกซึ่งเกิดขึ้นที่อ่าวเปอร์เซีย (Gulf War oil spill)

และน้ำมันรั่วครั้งนี้ไม่ได้เกิดจากอุบัติเหตุ

มหาสงครามเหนืออ่าวเปอร์เซีย

สงครามอ่าวเปอร์เซียเริ่มต้นมาจากความขัดแย้งระหว่างประเทศอิรักและอิหร่าน ประเทศเพื่อนบ้านสองชาติที่มีเชื้อชาติและศาสนาแตกต่างกัน ชาวอิรักส่วนมากมีเชื้อสายอาหรับ นับถือศาสนาอิสลามนิกายสุหนี่ ส่วนชาวอิหร่านมีเชื้อสายเปอร์เซีย นับถือศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์ ความแตกต่างนี้ทำให้ประเทศทั้งสองมีเรื่องขัดแย้งกันเป็นประจำ แถมพื้นที่แถบนี้ยังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยน้ำมันมูลค่ามหาศาล กลายเป็นอีกหนึ่งกรณีพิพาทเหนือดินแดนแหล่งน้ำมันในจังหวัดคูเซสถานของอิหร่าน ที่อิรักอยากได้มาครอบครอง

ความขัดแย้งขยายเป็นสงคราม เมื่อกองทัพอิรักภายใต้คำสั่งของประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน บุกโจมตีจังหวัดคูเซสถานในวันที่ 22 กันยายน 1980 กองทัพอิหร่านตอบโต้กลับทันที

การปะทะขยายความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ แม้ว่าสหประชาชาติและนานาประเทศที่เป็นกลางจะเข้ามาเจรจาไกล่เกลี่ย แต่สงครามก็ดำเนินไปอย่างยืดเยื้อยาวนานถึง 8 ปี และยุติลงเมื่อรัฐบาลอิรักและอิหร่านยอมรับแผนการสันติภาพของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในวันที่ 20 สิงหาคม 1988

ผลของสงครามทำให้ทั้งสองประเทศสูญเสียชีวิต ทรัพย์สิน และทรัพยากรธรรมชาติไปมาก อุตสาหกรรมน้ำมันของทั้งสองประเทศเสียหายจากการโจมตีทางอากาศ ราคาน้ำมันในตลาดโลกซบเซา เศรษฐกิจของทั้งสองประเทศตกต่ำอย่างหนัก โดยเฉพาะอิรักซึ่งมีหนี้ก้อนโตจากการกู้ยืมกลุ่มประเทศอาหรับเพื่อมาใช้ในสงคราม

พอน้ำมันในตลาดโลกตกต่ำ อิรักกล่าวหาว่าประเทศกลุ่มโอเปกผลิตน้ำมันมากเกินจนเสียราคา และกระทบมาสู่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างคูเวตหนึ่งในประเทศที่ส่งออกน้ำมันมากเกินไปในสายตาอิรัก

โดยอิรักกล่าวหาว่า คูเวตแอบมาสูบน้ำมันในพื้นที่ของอิรัก และขอเจรจาแบ่งดินแดนแหล่งน้ำมัน คูเวตแม้เป็นเพียงประเทศเล็ก ๆ แต่ก็ไม่ยินยอมยกแผ่นดินให้ใคร วันที่ 2 สิงหาคม 1990 อิรักนำโดยประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน ได้ยกพลปิดล้อมคูเวต ส่งผลให้นานาชาติตอบโต้โดยการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกับอิรักทันที สหประชาชาติมีมติให้ใช้ปฏิบัติการทางทหารเพื่อขับไล่กองทัพอิรักออกจากคูเวต

การโจมตีทางอากาศและภาคพื้นดินของกองกำลังนานาชาติเกิดขึ้นวันที่ 16 มกราคม 1991 อิรักตอบโต้โดยการปล่อยน้ำมันลงอ่าวเปอร์เซียเพื่อสร้างอุปสรรคและสกัดกั้นการยกพลขึ้นบกของกองทัพสหรัฐฯ น้ำมันปริมาณมหาศาลมาจากคลังน้ำมันบนเกาะนอกชายฝั่งคูเวต และอีกส่วนจากโรงกลั่นน้ำมันกับเรือบรรทุกน้ำมัน แม้ว่ากองทัพอากาศของสหรัฐอเมริกาพยายามระเบิดท่อส่งน้ำมันเพื่อหยุดการรั่วไหลแต่ก็ไม่สำเร็จ

แม้สงครามจะยุติลงในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 1991 หลังการถอยทัพของอิรักออกจากคูเวต (พร้อมเผาบ่อน้ำมัน 737 แห่งในคูเวต ก่อนอำลา) แต่การรั่วไหลของน้ำมันที่เกิดอย่างตั้งใจนี้กินเวลายาวนานถึงเดือนพฤษภาคม คาดการณ์ว่ามีปริมาณรวมราว 4-6 ล้านบาร์เรล นับว่าเป็นเหตุการณ์น้ำมันรั่วครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลก และสร้างความเสียหายทางธรรมชาติไปยาวนาน

 

ปฏิบัติการเก็บกู้

“พวกเขาใช้เวลา 2 สัปดาห์ในการจัดแจงสิ่งที่สามารถทำได้ภายใน 12 ชั่วโมง” นักการทูตจากชาติตะวันตกผู้ไม่ประสงค์จะเอ่ยนามกล่าวถึงกระบวนการเก็บกู้น้ำมันรั่วของซาอุดิอาระเบีย

หลังน้ำมันถูกปล่อยให้รั่วลงมหาสมุทรอย่างตั้งใจ สร้างความเสียหายตามแนวชายฝั่งคูเวตและซาอุดีอาระเบีย หายนะครั้งนี้นำไปสู่ความร่วมมือระดับนานาชาติเพื่อลดผลกระทบที่มีต่อธรรมชาติ ตามหลักแล้วจะต้องหยุดการรั่วไหลให้เร็วที่สุด แต่ในภาวะสงครามที่แหล่งน้ำมันอยู่ในคูเวตซึ่งอิรักยึดครองอยู่จึงไม่สามารถเข้าไปหยุดการรั่วไหลได้ เงินทุนและอุปกรณ์ที่มีอยู่จำกัดอยู่แล้วถูกนำไปใช้ในสงคราม ค่าประกันภัยการบินที่พุ่งขึ้นจากภาวะสงคราม และปัญหาการประสานงานภายในของซาอุดิอาระเบีย ทำให้การดำเนินการเป็นไปอย่างล่าช้า ในขณะที่น้ำมันยังคงไม่หยุดรั่วไหลออกสู่ธรรมชาติ

หน่วยงานน้ำมันของรัฐบาลซาอุฯ กระตือรือร้นที่จะจัดการปัญหา แต่ขาดประสบการณ์ทางด้านนี้ และไม่เคยรับมือกับวิกฤติขนาดนี้มาก่อน ทำให้การทำงานซ้ำซ้อน รวมถึงความยุ่งยากในการบริหารจัดการของระบบราชการภายในที่สร้างความอึดอัดให้ทีมงานจากต่างประเทศ

ทีมงานจากสหรัฐอเมริกาได้ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในสมัยนั้นมาใช้ในการเก็บกู้น้ำมัน เช่น ทุ่นติดเซ็นเซอร์ทำนายการเคลื่อนที่ของน้ำมัน เครื่องบินตรวจการณ์ที่ติดตั้งกล้องอินฟราเรดและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ออกแบบมาเพื่อทำแผนที่น้ำมัน แบบจำลองคอมพิวเตอร์แสดงการเคลื่อนที่ของน้ำมัน 

หลังการจัดการที่ล่าช้า ในที่สุด เรือติดตั้งอุปกรณ์ช้อนน้ำมัน (Skimmer ship) จากซาอุดิอาระเบียก็ได้เก็บกู้น้ำมันออกจากผิวน้ำได้ราว 1 ล้านบาร์เรล บ่อขนาดใหญ่ถูกสร้างบนทะเลทรายเพื่อเก็บน้ำมันที่กู้ขึ้นมา ความพยายามในการจัดการปัญหามุ่งเน้นไปที่การปกป้องโครงสร้างพื้นฐานริมชายฝั่งของซาอุดิอาระเบีย เช่นโรงไฟฟ้า โรงกลั่นน้ำมัน และโรงงานกรองน้ำทะเลที่จ่ายน้ำจืดให้กับผู้คนหลายล้านคนตามแนวอ่าว ค่าใช้จ่ายในการจัดการกับน้ำมันที่รั่วไหลนี้เป็นปริมาณมากถึง 540 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

มีการทำความสะอาดพื้นที่ปนเปื้อนที่เกิดขึ้นทันทีหลังการรั่วไหล แต่กลับส่งผลเสียให้น้ำมันกระจายสู่พื้นที่ที่ไม่ได้รับผลกระทบ แม้เหตุการณ์น้ำมันรั่วจะผ่านมาแล้วถึง 14 เดือน แนวชายฝั่ง ป่าชายเลน หนองน้ำ ยังคงปนเปื้อนไปด้วยน้ำมัน ทำให้รัฐบาลซาอุดิอาระเบียถูกประณามจากกลุ่มนักสิ่งแวดล้อมถึงความเพิกเฉยในการจัดการกับผลกระทบต่อระบบนิเวศ และการให้ความสำคัญกับการเก็บกู้มากกว่าการทำความสะอาด

 

ธรรมชาติผู้แข็งแกร่ง

ตามธรรมชาติของน้ำมันดิบ อุณหภูมิของน้ำหรืออากาศที่สูงจะทำให้น้ำมันส่วนที่เบากว่าและเป็นพิษมากกว่าระเหยออกไป ส่วนน้ำมันที่หนักกว่าและเป็นพิษน้อยกว่าจะจมลงสู่ตะกอนชายฝั่ง สำหรับอ่าวเปอร์เซียซึ่งมีอากาศร้อนชื้น น้ำมันเบาจึงระเหยได้เร็วกว่าการรั่วไหลที่เกิดขึ้นในเขตหนาว 

บนคราบน้ำมันที่ลอยอยู่ในอ่าวเปอร์เซีย แพสาหร่ายกำลังเติบโตขึ้นพร้อมกับแบคทีเรียที่สามารถใช้น้ำมันดิบเป็นแหล่งพลังงาน แปรสภาพน้ำมันเป็นแอลกอฮอล์ที่จำเป็นต่อแบคทีเรีย และเกิดการย่อยสลายตามธรรมชาติ

เป็นความโชคดีในความโชคร้ายที่น้ำมันในอ่าวเปอร์เซียถูกพัดพาออกสู่ส่วนอื่นของมหาสมุทรน้อยมาก และปัจจัยต่าง ๆ ทั้งอุณหภูมิ การแผ่รังสีเข้มข้นจากดวงอาทิตย์ การไหลของน้ำ แบคทีเรียท้องถิ่น เอื้อให้เกิดการสลายตัวตามธรรมชาติ รวมแล้วถึงครึ่งหนึ่งของปริมาณน้ำมันรั่วทั้งหมดถูกธรรมชาติจัดการ

 

ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

แม้ว่าธรรมชาติได้จัดการน้ำมันครึ่งหนึ่งที่รั่วออกมาอย่างน่าอัศจรรย์ และมนุษย์ก็เก็บกู้น้ำมันขึ้นมาได้อีก 1 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม น้ำมันส่วนที่เหลือปริมาณมากยังคงปนเปื้อนอยู่ในธรรมชาติ น้ำมันที่ถูกพัดเข้าสู่ชายฝั่งสร้างความเสียหายเป็นทางยาว 604 กิโลเมตร ไหลเข้าท่วมที่ลุ่มน้ำเค็ม ป่าชายเลน หนองน้ำริมชายฝั่ง พื้นที่โคลนตม แม้ผ่านมากว่าหนึ่งปีหลังสงคราม ยังคงมีน้ำมันรั่วไหลออกจากตะกอนชายฝั่งที่ปนเปื้อน

น้ำมันปริมาณมหาศาลนี้สร้างผลกระทบทั้งระยะยาวและระยะสั้นต่อระบบนิเวศ ทั้งการเสียชีวิตของสัตว์ในทันทีและการตายจากพิษสะสม และการเปลี่ยนแปลงรูปแบบพฤติกรรมเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมโดยรอบ

หลังการรั่วของน้ำมัน นกน้ำ 30,000 ตัว เสียชีวิตจากคราบน้ำมันที่เกาะบนขน และในปีต่อมา อัตราความสำเร็จในการผสมพันธุ์ของพวกมันลดลงถึง 50% พื้นที่วางไข่ของเต่าทะเลและกุ้งถูกปกคลุมด้วยน้ำมันหนา 15 นิ้ว คราบน้ำมันยังส่งผลกระทบต่อกุ้งปูหอยที่อยู่ตามป่าชายเลน และยังทำลายไข่ปลา พื้นที่ในอ่าวที่ปนเปื้อนถูกปิดกั้น สร้างหายนะครั้งใหญ่ให้อุตสาหกรรมประมงท้องถิ่น

ควันจากการเผาไหม้ที่ลอยอยู่ในบรรยากาศได้ดูดซับรังสีจากดวงอาทิตย์ถึง 80% ส่งผลให้อุณหภูมิพื้นที่ประสบภัยในปีนั้นลดลงเกือบ 10 องศาเซลเซียส อุณหภูมิของน้ำที่ลดลงส่งผลกระทบต่อปลาและกุ้งในทะเลมากยิ่งกว่าการรั่วไหลของน้ำมันเสียอีก

คราบน้ำมันที่ลอยในทะเลเป็นอุปสรรคต่อการสังเคราะห์แสงของพืชน้ำ และสีดำของน้ำมันที่ตกค้างริมชายฝั่งดูดความร้อนทำให้อุณหภูมิหน้าดินสูงขึ้น ส่งผลต่อพืชชายฝั่ง น้ำมันบางส่วนซึมลงดิน ทำลายสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ใต้ดิน

นอกเหนือจากน้ำมันที่ถูกปล่อยทิ้งลงอ่าวอย่างตั้งใจแล้ว การโจมตีบ่อน้ำมันบนดินยังสร้างแอ่งน้ำมันขนาดใหญ่ มลพิษทางอากาศจากการเผาไหม้น้ำมันทำให้เกิดละอองน้ำมันครอบคลุม 10% ของพื้นที่ผิวทั้งหมดของประเทศคูเวต โลหะหนักสะสมอยู่บนพื้นดิน ควันไฟจากการเผาไหม้ได้พาน้ำมันตกลงมาสู่พื้นดินและพื้นน้ำ คาดการณ์ว่าสายฝนที่ปนเปื้อนน้ำมันเหล่านี้นำพาน้ำมันไหลลงสู่อ่าวโดยตรงเกือบสองเท่าของการปล่อยน้ำมัน

หลังผ่านมา 10 ปี นักวิจัยที่ศึกษาผลกระทบทางธรรมชาติจากเหตุน้ำมันรั่วพบว่า น้ำมันฝังตัวในตะกอนชายฝั่งที่ลึกและยากต่อการย่อยสลาย ถึงแม้ป่าชายเลนและแนวโขดหินริมฝั่งฟื้นตัวได้อย่างสมบูรณ์ แต่ที่ลุ่มน้ำเค็มและพื้นที่โคลนตมยังคงมีน้ำมันตกค้างอยู่มาก เพราะขาดปัจจัยที่เอื้อต่อการย่อยสลายตามธรรมชาติของน้ำมัน เช่น แรงคลื่นและออกซิเจนในธรรมชาติ กว่าจะฟื้นตัวโดยสมบูรณ์ได้คงใช้เวลาหลายทศวรรษ

ไม่ว่าเหตุการณ์น้ำมันรั่วจะเกิดจากอุบัติการณ์หรือความตั้งใจ สุดท้ายแล้ว ต้นตอของปัญหาก็มาจากมนุษย์ทั้งสิ้น แต่ผลกระทบส่วนใหญ่นั้นกลับตกเป็นของสิ่งมีชีวิตอื่นในธรรมชาติ ที่ไม่อาจลุกขึ้นมาเรียกร้องความยุติธรรมให้ตัวเองได้

 

เรื่อง: นิธิตา เขมรังสฤษฏ์

ภาพ: แฟ้มภาพจาก Getty Images

อ้างอิง:

CNN

AESG

New York Times

New York Times (2)

baanjomyut.com

EPA

CNN (2)

The Guardian

employees.oneonta.edu

researchgate.net

pure.iiasa.ac.at