มิตรภาพแสนงดงามระหว่างสตรีอิสราเอล กับบุรุษปาเลสติเนียน สันติใน ‘บ้านคนละหลังเดียวกัน’

มิตรภาพแสนงดงามระหว่างสตรีอิสราเอล กับบุรุษปาเลสติเนียน สันติใน ‘บ้านคนละหลังเดียวกัน’

ประวัติศาสตร์และความทรงจำใน ‘บ้านคนละหลังเดียวกัน’ ระหว่าง ดาเลีย สตรีอิสราเอล กับ บาเชียร์ บุรุษปาเลสติเนียน ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์

  • ดาเลีย คือสตรีชาวอิสราเอล ที่เป็นเพื่อนกับ บาเชียร์ บุรุษชาวปาเลสติเนียนที่เคลื่อนไหวเพื่อปาเลสไตน์
  • เรื่องราวของทั้งคู่ในหนังสือ The Lemon Tree: An Arab, a Jew, and the Heart of the Middle East ของ แซนดี โทแลน คือภาพสะท้อนผลกระทบจากความขัดแย้งที่ซับซ้อนระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ ซึ่งส่งผลต่อผู้คนจำนวนมาก

หลังสงคราม 6 วัน (Six-Day War) สิ้นสุดลง ดาเลีย เอชเคนนาชี (Dalia Eshkenazi) เปิดประตูบ้านแสนงามของครอบครัวในเมืองอัล-รามลาของอิสราเอล ต้อนรับชายชาวปาเลสติเนียนแปลกหน้า 3 คน พวกเขาเดินทางข้ามเขตยึดครองมาจากกาซา หนึ่งในสามอ้างว่า บ้านหลังนี้สร้างด้วยน้ำพักน้ำแรงของบิดา รวมถึงต้นมะนาวในลานหลังบ้านก็ถูกปลูกด้วยมือของชายปาเลสติเนียนผู้สร้างบ้านหลังนี้ วัยเยาว์ของเขาหยั่งรากที่นี่

แต่ไม่ - เขาไม่ได้ต้องการยึดครองสิ่งใด เพียงหวนกลับมาเยี่ยมชม ไม่ต่างจากผู้ชมไม่มีสิทธิ์สัมผัสข้าวของภายในพิพิธภัณฑ์

ดาเลีย ลังเลชั่วครู่ ซึ่งควรลังเล โดยเฉพาะในตอนนั้นคือเดือนกรกฎาคม 1967 ไม่กี่สัปดาห์หลังสงคราม 6 วัน อิสราเอลเพิ่งยึดครองกาซา เวสต์แบงค์ เยรูซาเลมตะวันออก ที่ราบสูงโกลัน และคาบสมุทรซีนาย

บาเชียร์ อัล-ไครี (Bashir al-Khairy) หนุ่มปาเลสติเนียนผู้อ้างว่าเกิดและเติบโตในบ้านหลังนี้เป็นทนายความหนุ่มวัย 26 ที่คิดถึงบ้าน แต่ตอนนี้มันได้กลายเป็นบ้านของครอบครัวชาวยิวในประเทศอิสราเอลมา 19 ปีแล้ว

ตอนที่ดาเลีย อายุ 21 ปี เปิดประตูบานใหญ่หนาหนักออกต้อนรับชายปาเลสติเนียน คือชั่วขณะแสนงามในประวัติศาสตร์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ หลังจากนั้นมิตรภาพระหว่างคนทั้งสองถูกถักถอขึ้นมาด้วยข้อถกเถียงทางประวัติศาสตร์และการอ้างความชอบธรรมในการดำรงอยู่ในบ้านของตน ตราบทั้งสองเข้าสู่วัยชรา

ท่ามกลางสงครามตอบโต้ไปมาไม่รู้สิ้นระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ มิตรภาพของคนทั้งสองก็เป็นประหนึ่งพื้นที่แห่งสันติภาพที่ทำให้มีความหวังว่าสักวันหนึ่งสันติภาพจะเกิดบนดินแดนแห่งนั้น

นี่คือเรื่องราวแสนงามบนความโหดร้ายของสงครามระหว่าง บาเชียร์ อัล-ไครี กับ ดาเลีย เอชเคนนาชี

ความทรงจำร่วมในประวัติศาสตร์คนละฉบับ

ดาเลียเกิดในครอบครัวชาวยิวประเทศบัลแกเรียเมื่อปี 1947 หนึ่งปีก่อนที่ เดวิด เบน-กูเรียน (David Ben-Gurion) ประกาศอิสรภาพของอิสราเอล

“นี่คือสิทธิ์ที่มีความชัดเจนในตัวเองของประชาชนยิว ที่ต้องการเป็นชาติชาติหนึ่ง เช่นเดียวกับประชาชาติทั้งหลาย ภายในรัฐเป็นเอกราชของตนเอง” คือถ้อยแถลงเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 1948 ของ เบน-กูเรียน

แต่อิสรภาพของชาวอิสราเอลคือการบุกรุกหากมองมาจากสายตาของชาวปาเลสติเนียน ผู้ถูกบังคับให้พลัดถิ่นฐานไร้บ้านไร้รัฐทันทีที่ชาวยิวได้ ‘หวนคืนสู่บ้าน’ ตามความเชื่อของพวกเขา

ย้อนกลับไปในปี ค.ศ. 1897 กลุ่มไซออนิสม์ (Zionism) ถูกก่อตั้งขึ้นโดยกลุ่มชาวยิวปัญญาชนและพ่อค้าที่ทำมาหากินจนร่ำรวยจากทั่วทุกมุมโลก พวกเขาต้องการนำชาวยิวกลับมาตั้งถิ่นฐานสร้างชาติขึ้นมาใหม่ กลุ่มไซออนิสม์ยึดมั่นในพระคัมภีร์ที่ว่า “พระเจ้าได้ประทานดินแดนแห่งนี้ให้กับชาวยิว” แต่ในขณะนั้น ผืนแผ่นดินแห่งนี้เป็นที่อยู่อาศัยของชาวปาเลสไตน์ใต้อาณัติของอังกฤษ

จากการคิดค้นดินระเบิดของ ดร. คาอิม ไวช์มันน์ นักเคมีชาวยิวสมาชิกกลุ่มไซออนิสม์ ทำให้อังกฤษมีอิทธิพลเหนือดินแดนตะวันออกกลาง อังกฤษจึงตอบแทน ดร.คาอิม ด้วยการมอบดินแดนปาเลสไตน์ให้เป็นที่พักพิงของชาวยิว โดยลอร์ด อาร์เธอร์ เจมส์ บัลโฟร์ (Lord. Arthur James Balfour) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของอังกฤษในขณะนั้นเป็นผู้ลงนามใน ‘สนธิสัญญาบัลโฟร์’ เมื่อปี 1917

ในช่วงเวลานั้น มีการซื้อที่ดินในเขตชุมชน มาร์จ บิน อเมอร์ (Marj Bin Amer) ทางตอนเหนือของปาเลสไตน์แล้วบังคับให้เกษตรกรท้องถิ่น 60,000 รายย้ายออกไปเพื่อรองรับชาวยิวที่เดินทางมาจากยุโรปและเยเมน

การย้ายถิ่นของชาวยิวจากยุโรปตะวันออกและยุโรปกลางเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1922 ถึง 1947 เนื่องจากชาวยิวหนีการประหัตประหารและการทำลายล้างชุมชนชาวยิวในช่วงก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง

ขบวนการไซออนิสม์เริ่มลักลอบนำชาวยิวลงเรือมาขึ้นฝั่งที่ท่าเรือไฮฟาบนชายฝั่งทะเลเมดิเตอเรเนียนทางตอนเหนือของปาเลสไตน์ ทำให้ช่วงเวลานั้น ประชากรชาวยิวในปาเลสไตน์เพิ่มขึ้นจาก 84,000 เป็น 352,000 คน จำนวนชาวยิวที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้ความรู้สึกชาตินิยมในหมู่ชาวปาเลสติเนียนเพิ่มสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว พวกเขาประกาศว่าหากใครขายที่ดินแก่ชาวยิวจะถูกตราหน้าว่าเป็นพวกทรยศ

ค.ศ. 1947 สมัชชาสหประชาชาติลงมติแบ่งดินแดนปาเลสไตน์ให้กับชาวยิว โดยแบ่งเอาดินแดนบางส่วนของซีเรียและอียิปต์ไปด้วย มติดังกล่าวไม่ได้ขอความเห็นชอบจากชาวปาเลสไตน์ การแบ่งดินแดนในครั้งนั้นทำให้ปาเลสไตน์ถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งเป็นที่อาศัยของชาวยิว อีกส่วนหนึ่งเป็นที่อาศัยของชาวอาหรับ

ค.ศ. 1948 มีการจัดตั้งรัฐอิสราเอลขึ้นอย่างเป็นทางการบนแผ่นดินปาเลสไตน์ สร้างความไม่พอใจให้ชาวปาเลสติเนียนและชนชาติอาหรับในประเทศรอบข้าง สันนิบาตอาหรับ (Arab League) จัดตั้งกองกำลังบุกโจมตีอิสราเอล เกิดเป็นสงครามเป็นเวลา 8 เดือน ลงเอยด้วยความพ่ายแพ้ของชาติอาหรับ

อิสราเอลเรียกสงครามในครั้งนั้นว่า ‘สงครามอิสรภาพ’ แต่ปาเลสไตน์เรียกสงครามในครั้งนั้นว่า ‘นัคบา’ หรือ ‘เหตุการณ์หายนะ’

นั่นคือปีที่เด็กชายบาเชียร์และครอบครัวถูกบังคับให้หนีภัยสงครามจากบ้านหินสีขาวที่บิดาเป็นผู้ลงแรงสร้าง พวกเขาทิ้งโต๊ะ เก้าอี้ เหยือกกาแฟ ต้นไม้ และความทรงจำเอาไว้ในบ้านหลังนั้น ช่วงเวลาไม่กี่เดือนนั้น ผู้ลี้ภัยสองแสนคนหลั่งไหลมายังเขตกาซา ส่งผลให้ประชากรเพิ่มขึ้นกว่าสามเท่าตัว ผู้ลี้ภัยในกาซารอดชีวิตมาได้ด้วยอาหารช่วยเหลือจาก UNRWA ด้วยพลังงานรายละ 1,600 แคลอรีต่อวัน

เด็กๆ ในครอบครัวพลัดถิ่นนำเศษไม้มาดัดแปลงเป็นปืนของเล่น พวกเขาพากันเล่น ‘อาหรับกับยิว’ ก่อสงครามในจินตนาการที่กำลังหยั่งรากบนเนื้อดินของความจริง

ฟากฝั่งของเด็กหญิงดาเลีย ครอบครัวของเธอและชาวยิวบัลแกเรียน โรมาเนียน และโปลอีกนับหมื่นอพยพย้ายถิ่นเข้ามาในดินแดนปาเลสไตน์ในปี 1948 ซึ่งทำให้พวกเขามีชะตากรรมต่างไปจากชาวยิวที่จบชีวิตลงในเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

เธอย้ายเข้ามาอยู่ในบ้านหลังนี้ตอนอายุ 1 ขวบ บ้านหลังนี้กำลังจะบ่มเพาะความทรงจำแด่เธอ ความทรงจำซึ่งจะสร้างตัวตนของเธอขึ้นมาเป็นหญิงชาวอิสราเอลผู้ซาบซึ้งในความระกำลำบากของการระเหเร่ร่อนของบรรพบุรุษชาวยิว ความทรงจำบาดแผลของชาวยิวรุ่นก่อนหน้าทำให้ดาเลียมีความรู้สึกที่แสนละเอียดอ่อนต่อการกระทำความรุนแรงต่อชาติพันธุ์ที่ต่างไปจากตน

ที่โรงเรียนสอนเด็กๆ อิสราเอลว่า ในช่วงสงครามประกาศเอกราชของอิสราเอลในปี 1948 ชาวอาหรับที่เคยอาศัยในบ้านหินแสนงามทั้งหลายหนีภัยไปเช่นคนขลาด แต่เมื่อโตขึ้นเธอเริ่มตั้งคำถามถึงความเป็นเหตุเป็นผลกับสิ่งที่ได้เรียนมา

“ฉันเข้าใจการโหยหากลับบ้านของคุณ” ดาเลียกล่าวกับบาเชียร์ 4 เดือนหลังจากเธอเปิดบ้านต้อนรับเขาในฐานะคนแปลกหน้า คราวนี้เธอข้ามพรมแดนไปยังบ้านของเขาในหมู่ชนของปาเลสไตน์

“เพราะว่าเรามีประสบการณ์ระหกระเหินของตัวเอง” ดาเลีย หมายถึงหมู่ชนชาวยิวที่ต้องเร่ร่อนมาอย่างยาวนาน แต่บาเชียร์ ไม่เห็นด้วย ไม่มีทางที่เขาจะเห็นด้วยกับเธอ

 

ความทรงจำคนละชุดในบ้านหลังเดียวกัน

หลังสงครามระหว่างอิสราเอลกับสันนิบาตอาหรับในปี 1948 เกิดวิกฤตคลองสุเอซระหว่างชาติอาหรับและอิสราเอล ตามมาด้วยสงคราม 6 วันในปี 1967 หลังสงครามในครั้งนั้น อิสราเอลยึดครองพื้นที่ 22 เปอร์เซ็นต์ที่เหลืออยู่ของปาเลสไตน์ รวมถึงดินแดนของชาติอาหรับอื่น ๆ อิสราเอลควบคุมประชากรปาเลสไตน์ด้วยระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมซึ่งบริหารโดยผู้พิพากษาของกองกำลังผู้ยึดครอง คนกลุ่มแรกที่อ่อนไหวต่อการยึดครองนี้คือทนายความชาวปาเลสติเนียน พวกเขาบอยคอตไม่เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการยุติธรรมนี้

“ตราบเท่าที่มีธงอิสราเอลตั้งอยู่ข้างหลังผู้พิพากษาในห้องพิจารณา ผมจะไม่ว่าความคดีไหนให้ลูกความของผม”

บาเชียร์ ยืนยัน หลังจากนั้นเขาถูกควบคุมตัวเป็นเวลา 100 วัน ทนายหนุ่มถูกทหารนำตัวไปสอบสวนที่กองบัญชาการทหารด้วยข้อสงสัยว่า เขาคือแกนนำการบอยคอตในครั้งนี้

เดือนมกราคม 1968 บาเชียร์ ถูกทางการปล่อยตัวออกมาหลังถูกคุมตัว 100 วันโดยไม่มีการตั้งข้อกล่าวหา ซึ่งเป็นสิ่งที่เด็กหนุ่มปาเลสติเนียนมักประสบพบเจอในกระบวนการยุติธรรม ดาเลียเดินทางไปเยี่ยมบ้านของบาเชียร์ ซึ่งในเวลานั้นอยู่ภายใต้การยึดครองของอิสราเอล เพื่อพบกับเพื่อนแปลกหน้าที่เคาะประตูบ้านของเธอเมื่อ 4 เดือนก่อน

ดาเลีย ถาม “ทำไมคุณจึงถูกจำคุก”

บาเชียร์ ตอบ “เพราะผมรักประเทศของผม”

บทสนทนาของทั้งคู่ถูกร้อยเรียงอยู่ในหนังสือ The Lemon Tree: An Arab, a Jew, and the Heart of the Middle East ของ แซนดี โทแลน ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2006 ก่อนจะตีพิมพ์ฉบับภาษาไทยในปี 2015 แปลโดย ไพรัช แสนสวัสดิ์ จัดพิมพ์โดย WAY OF BOOK

“คุณจะรู้สึกอย่างไรหากต้องละทิ้งบ้านเรือน สิ่งของทรัพย์สมบัติ จิตวิญญาณ รวมทั้งหมดทั้งสิ้นของคุณไว้ในที่แห่งเดียว คุณจะไม่ต่อสู้ด้วยทุกสิ่งทุกอย่างที่คุณมีอยู่เพื่อให้ได้มันคืนมาเลยหรือ?” บาเชียร์ ถามคู่สนทนา

ความทรงจำที่ทั้งคู่มีต่อเหตุการณ์ในปี 1948 นั้นต่างกัน เรื่องเล่าขานในหมู่ชาวปาเลสติเนียนหนีไม่พ้นความโหดร้ายของทหารอิสราเอล ทหารอิสราเอลกระแทกพานท้ายปืนเข้าใส่บ้านเรือนชาวปาเลสติเนียน การบังคับไล่ตะเพิดให้ชาวอาหรับออกจากอัล-รามลา และลิดดา เป็นสิ่งที่สร้างความคับแค้นในใจหมู่ชนปาเลสไตน์ ขณะที่ความทรงจำของดาเลียนั้นต่างออกไป

บาเชียร์ พยายามโน้มน้าวให้ดาเลีย มองเห็นความเจ็บปวดของชาวปาเลสติเนียนจากการรุกรานของอิสราเอลผ่านผลมะนาวเหี่ยว ๆ ที่เขาเก็บไว้

 

“โอ้ พระเจ้า” ดาเลีย อุทานเมื่อเห็นผลมะนาวที่เธอเด็ดมันจากต้นในลานหลังบ้านมอบให้น้องชายของบาเชียร์ ไว้เป็นที่ระลึกเมื่อ 4 เดือนก่อน มันคือมะนาวในสวนหลังบ้านของเธอลูกหนึ่ง แต่สำหรับบาเชียร์ มะนาวลูกนี้ “คือดินแดนและประวัติศาสตร์ เป็นหน้าต่างให้เราเปิดออกเพื่อเพ่งมองไปยังประวัติศาสตร์ของเรา”

บาเชียร์ เล่าให้ดาเลีย ฟังว่า คืนหนึ่งเขาเห็นบิดาประคองผลมะนาวในมือพลางเดินไปเดินมาในบ้านกลางดึก นั่นคือความหมายที่บ้านมีต่อคนคนหนึ่ง มีต่อครอบครัวครอบครัวหนึ่ง เพราะสำหรับผู้จากบ้าน เขาได้ทิ้งความทรงจำและตัวตนบางส่วนเอาไว้ในนั้น

“เรามองเห็นตนเองในตัวตนของคุณด้วย บาเชียร์” ดาเลีย เอ่ยขึ้นมาบ้าง “เราสามารถจดจำได้ถึงประวัติศาสตร์ของเราเองในฐานะคนพลัดถิ่นไปหลายพันปี ฉันเข้าใจการโหยหาการกลับบ้านของคุณ เพราะเรามีประสบการณ์ระหกระเหินของเราเอง”

เธอพยายามทำความเข้าใจการพลัดถิ่นของชาวปาเลสติเนียนผ่านการพลัดถิ่นของชาวยิว

“หมู่ชนของฉันถูกฆ่าฟัน สังหารหมู่ จับยัดใส่เตารมเเก๊ส อิสราเอลคือที่ปลอดภัยแห่งเดียวสำหรับเรา นี่คือที่ซึ่งยิวสามารถรู้สึกได้ในที่สุดว่า การเป็นยิวไม่ใช่สิ่งน่าอับอาย” ดาเลียกล่าว

“คุณบอกว่าทั้งโลกทำแบบนั้น ดาเลีย ไม่จริงเลย” บาเชียร์ แย้ง

“พวกนาซีฆ่ายิวและเราชิงชังพวกนั้น แต่ทำไมเราจึงต้องรับเคราะห์กับสิ่งที่พวกนั้นทำลงไป กลุ่มชนของเราต้อนรับชาวยิวในยุคจักรวรรดิออตโตมัน พวกนั้นมาหาเราเพราะต้องการหลีกหนีให้พ้นจากยุโรป แล้วเราต้อนรับเขาด้วยทุกสิ่งที่เรามี มาตอนนี้ เนื่องจากคุณต้องการอยู่ในที่ปลอดภัย คนอื่นเลยต้องอยู่ในความเจ็บปวด...”

“สองพันปีมาแล้วที่เราภาวนาวันละสามเวลา ขอให้ได้กลับมายังแผ่นดินนี้ เราพยายามอยู่อาศัยในที่อื่น แต่ตระหนักดีว่าเราไม่เป็นที่พึงปรารถนาในที่เหล่านั้น นี่คือการกลับบ้านของเรา” ดาเลีย กล่าวสิ่งที่อยู่ในใจ มันคือบาดแผลของประวัติศาสตร์หมู่ชนยิว

“เอาล่ะ บาเชียร์” ดาเลีย เอ่ยเหมือนจะสรุปรวบความ แต่ดูเหมือนมันจะอยู่ในก้นมหาสมุทรลึกเกินหยั่ง “ฉันอยู่อาศัยในบ้านของคุณ บ้านที่ว่านี้ก็เป็นบ้านของฉันด้วย เป็นบ้านหลังเดียวที่ฉันรู้จัก แล้วฉันควรจะทำอย่างไร”

เป็นคำถามที่อาจจะตอบได้ง่ายดาย แต่ก็ยากเข็ญในเวลาเดียวกัน

 

สันติภาพในภาพถ่าย

เด็ก ๆ ในครอบครัวพลัดถิ่นต่างเติบโตเป็นคนหนุ่ม พวกเขาทิ้งปืนไม้ที่เคยเล่น ‘อาหรับกับยิว’ เข้าร่วมกับขบวนการปลดปล่อยปาเลสไตน์เพื่อทวงคืนความยุติธรรมให้หมู่ชนของตน

ปี 1969 เกิดเหตุวางระเบิดในกรุงเยรูซาเล็ม ข่าวรายงานว่า การวางระเบิดในครั้งนี้เป็นฝีมือของ ‘แนวร่วมประชาชนเพื่อการปลดปล่อยปาเลสไตน์’ (Popular Front for the Liberation of Palestine - PFLP) บาเชียร์ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมในเหตุวางระเบิด รายงานข่าวระบุว่า เขาเป็นสมาชิกองค์กรนอกกฎหมายนี่้

ทนายความหนุ่มถูกดำเนินคดีในศาลทหาร เขาถูกซ้อมทรมานระหว่างสืบสวน การปฏิบัติต่อผู้ต้องหาคดีความมั่งคงของอิสราเอลถูกรายงานในบันทึกความทรงจำของทนายความสิทธิมนุษยชนชาวอิสราเอลนาม เฟลิเซีย แลงเกอร์ (Felicia Langer) เธอเป็นที่รู้จักจากการปกป้องนักโทษการเมืองปาเลสไตน์ในเขตเวสต์แบงก์และฉนวนกาซา เธอเขียนหนังสือหลายเล่มที่เผยว่า มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยการซ้อมทรมานผู้ต้องหา       

นี่คือสิ่งที่บาเชียร์ ต้องเผชิญ ตราบจนเข้าสู่วัยชรา ในตอนนั้น เขายืนยันความบริสุทธิ์ของตนเอง แต่การพิจารณาคดีในศาลทหารปี 1972 ตัดสินจำคุก 15 ปี ในข้อหามีส่วนร่วมกับการวางระเบิดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 1969 ที่ตลาดซูเปอร์ซอลในเขตเยรูซาเล็มตะวันตก รวมทั้งการเป็นสมาชิกองค์กรนอกกฎหมายอย่าง ‘แนวร่วมประชาชนเพื่อการปลดปล่อยปาเลสไตน์’ หรือ ‘พีเอฟแอลพี’

เช่นเดียวกับหมู่ชนชาวยิวในอิสราเอล ดาเลีย เกลียดชังกลุ่มก่อความรุนแรง เมื่อทราบข่าวว่าบาเชียร์ ถูกตัดสินจำคุก 15 ปีด้วยข้อหาดังกล่าว เธอรู้สึกเหมือนสูญเสียเพื่อนไปตลอดกาล

ในปี ค.ศ. 1972 การก่อการร้ายซึ่งเป็นที่จดจำมากที่สุดครั้งหนึ่งคือการจับนักกีฬาชาวอิสราเอลจำนวน 11 คนเป็นตัวประกัน เรียกร้องให้รัฐบาลอิสราเอลปล่อยตัวนักโทษการเมืองชาวปาเลสไตน์ 234 คน และอีก 2 คนที่ถูกคุมขังอยู่ที่เยอรมันในระหว่างการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกโดยกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า ‘ขบวนการกันยาทมิฬ’ (Black September)                        

ในปี 1978 มีภาพถ่ายใบหนึ่งที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ในภาพใบนั้นเมนาเฮม เบกิน (Menachem Begin) นายกรัฐมนตรีอิสราเอลในเวลานั้น กำลังจับมือกับ อันวาร์ ซาดัต (Anwar Sadat) ประธานาธิบดีอียิปต์ ตรงกลางบุคคลทั้งสองคือรอยยิ้มบนใบหน้าชายชื่อจิมมี คาร์เตอร์ (Jimmy Carter) ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

ภาพนี้เป็นที่รู้จักกันใน ‘ข้อตกลงสันติภาพที่แคมป์เดวิด’ หลังจากที่ทั้งสองฝ่ายบรรลุข้อตกลงสันติภาพร่วมกันแล้ว จึงมีการลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพในวันที่ 26 มีนาคม 1979 สาระสำคัญของข้อตกลงคืออิสราเอลยินยอมถอนกำลังออกจากแหลมไซนายของอียิปต์และให้สิทธิปกครองตนเองแก่ปาเลสไตน์ในเขตยึดครองของอิสราเอล

เมนาเฮม เบกิน และ อันวาร์ ซาดัต ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 1978 แต่ต่อมา อัลวา ซาดัส ถูกลอบสังหารในปี 1981 ประธานาธิบดีซาดัตสร้างความโกรธเกรี้ยวให้กับกลุ่มเคลื่อนไหวทางอิสลามหลังเขาไปลงนามข้อตกลงความสงบกับอิสราเอล ทั้งยังจับกุมผู้วิจารณ์เขานับร้อยๆ คน

สันติภาพถูกแช่แข็งหยุดเอาไว้ในภาพถ่ายปี 1978 ความพยายามรวบรวมกำลังพลเพื่อปลดปล่อยปาเลสไตน์จากการยึดครองมีมาตลอด องค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ (PLO : Palestine Liberation Organization) ขึ้นมาเป็นองค์กรนำ โดยมี ยัสเซอร์ อาราฟัต (Yasser Arafat) เป็นผู้นำ

บาเชียร์ ได้รับการปล่อยตัวออกมาจากเรือนจำในปี 1984 เขากล่าวในหนังสือ The Lemon Tree: An Arab, a Jew, and the Heart of the Middle East ว่า ได้เล่าให้เพื่อนร่วมคุกฟังถึงเรื่องที่เขากลับไปเยี่ยมบ้านของตนเองในอัล-รามลา และยังกล่าวถึงดาเลียให้เพื่อนร่วมคุกฟังว่า “เธอมีจิตใจเปิดกว้าง เธอมีอะไรต่างกันมากเมื่อเทียบกับคนอิสราเอลที่ผมเคยพบเจอ ผมได้แต่หวัง ว่าเธอไม่ได้เป็นเพียงแสงเทียนโดดเดี่ยวในห้องมืด”

ปีถัดมา บิดาของดาเลีย เสียชีวิต บ้านหลังงามที่มีต้นมะนาวในลานหลังบ้านตกเป็นของเธอ แต่เรื่องนี้รบกวนจิตใจไม่น้อย บ้านหลังนี้คือบ้านวัยเด็กของเธอ แต่ก็เป็นบ้านที่เก็บวัยเยาว์ของบาเชียร์ เอาไว้ด้วย ความทรงจำทั้งหมดในชีวิตของเธอติดตรึงในบ้านหลังนี้ เช่นเดียวกับความทรงจำของบาเชียร์ที่หยั่งรากลึกในกำแพงหินทุกก้อน ต่างคนต่างมีความทรงจำคนละชุดบนรากฐานประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกัน ภายในบ้านหลังเดียวกัน!

ดาเลีย ต้องการชำระสะสางและแสวงหาความจริงด้วยการเจรจา จึงเดินทางไปพบบาเชียร์ มาถึงตอนนี้ บาเชียร์อายุ 43 ปี ดาเลียอายุ 38 ปี

“คุณมีความเห็นกับเรื่องนี้อย่างไร เราจะทำอย่างไรกันดี” ดาเลียถาม

“บ้านนี้คือถิ่นฐานของผม ผมสูญเสียวัยเยาว์ไปที่นั่น ผมอยากให้บ้านกลายมาเป็นแหล่งเอื้อประโยชน์ด้านการใช้ชีวิตแก่เด็กอาหรับในอัล-รามลา ผมอยากให้เด็กๆ มาสนุกสนานกันที่นั่น ผมอยากให้พวกเด็กได้มีช่วงเวลาของความอ่อนเยาว์อย่างที่ผมไม่เคยมี สิ่งใดที่ผมสูญเสียไปตรงนั้น ผมอยากให้พวกเด็กๆ ได้รับจากผม”

บ้านหินสีขาวหลังงามนี้จึงกลายเป็น Open House in Ramle เป็น ‘พื้นที่กลาง’ ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1991 เพื่อส่งเสริมสันติภาพและการอยู่ร่วมกันระหว่างชาวอาหรับและชาวยิวในเมืองที่มีความหลากหลาย ซึ่งมีประชากร 75,000 คน ในเมืองแห่งนี้มีชาวอาหรับอาศัยอยู่ในสัดส่วน 22 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ อัล-รามลา กลายเป็นพื้นที่ตัวอย่างถึงสันติภาพของประเทศ

บ้านหลังนี้มีเป้าหมายในการเปิดโอกาสทางการศึกษาและสังคมแก่เด็กอาหรับและครอบครัวของพวกเขาผ่านศูนย์การพัฒนาเพื่อเด็กอาหรับ และเป็นสถานที่พบปะและความร่วมมือระหว่างชาวยิวและชาวอาหรับในพื้นที่รามเล-ล็อด ผ่านศูนย์กลางเพื่อการอยู่ร่วมกันของชาวยิว-อาหรับ

สองปีหลังจากก่อตั้ง Open House in Ramle เกิดการลงนามในข้อตกลงสันติภาพออสโล ฉบับที่ 1 ในปี ค.ศ.1993 เป็นการประกาศว่าโลกยอมรับให้มีดินแดนปกครองตนเองที่ชื่อปาเลสไตน์ใน ‘เขตเวสต์แบงก์' และ ‘ฉนวนกาซา’ ภายใต้การปกครองแบบ ‘Self-Determination Right’ หรือ ‘สิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง’

จากข้อตกลงสันติภาพดังกล่าวทำให้นายยัสเซอร์ อาราฟัต ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี ค.ศ.1994 ร่วมกับ พลเอกยิตซัค ราบิน (Yitzhak Rabin) และนายชิมอน เปเรส (Shimon Peres) นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอิสราเอลในสมัยนั้น

แสงเทียนถูกจุดขึ้นอีกครั้ง แต่ก็ถูกเป่าดับด้วยกระสุนปืน ยิตซัค ราบิน ถูกสอบสังหารโดยนักศึกษาชาวยิวขวาจัด ซึ่งต่อต้านข้อตกลงสันติภาพออสโลกับปาเลสไตน์

 

จดหมายเปิดผนึกถึงผู้ต้องเนรเทศ

ในปี 1988 เป็นอีกครั้งที่บาเชียร์ ถูกคุมขังในเรือนจำที่เมืองนาบลัส ทหารเข้าจับกุมบาเชียร์ และนักกิจกรรมชาวปาเลสติเนียนอีก 3 คน นี่คือหนึ่งในหลายความพยายามของอิสราเอลในการกวาดล้างผู้นำการก่อความไม่สงบในฉนวนกาซาและเวสต์แบงค์

บาเชียร์และนักกิจกรรมอีก 3 คนถูกเนรเทศไปเลบานอน ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ อิสราเอลถูกนานาชาติวิจารณ์อย่างกว้างขวางถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ยึดครอง

ชาวอิสราเอลมีความคิดเห็นแตกต่างกันออกไปเกี่ยวกับการเนรเทศและการยึดครองภาคใต้ของเลบานอน และการปฏิบัติต่อปาเลสติเนียนระหว่างเหตุการณ์อินติฟาดา

หนังสือพิมพ์ เยรูซาเล็มโพสต์ ฉบับวันที่ 14 มกราคม 1988 ตีพิมพ์จดหมายของสตรีอิสราเอลคนหนึ่ง ดาเลียตั้งชื่อบทความชิ้นนั้นของเธอว่า ‘จดหมายถึงคนถูกเนรเทศ’

“บาเชียร์ที่รัก เรารู้จักกันมา 20 ปีแล้ว ในสภาพการณ์ที่ผิดแปลกไม่คาดฝัน นับจากนั้นมา เราได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตกันและกัน ตอนนี้ฉันได้ข่าวว่าคุณกำลังจะถูกเนรเทศ เนื่องจากขณะนี้คุณอยู่ภายใต้การควบคุม และนี่อาจเป็นโอกาสสุดท้ายที่ฉันติดต่อคุณได้”

เธอเขียนเล่าเรื่องราวมิตรภาพที่ก่อตัวข้ามเส้นพรมแดนของการยึดครอง ประวัติศาสตร์คนละชุด ความทรงจำคนละเรื่องที่ก่อตัวในบ้านหลังเดียวกัน บนดินแดนเดียวกัน จุดยืนทางการเมืองที่ต่างกัน แต่ท่าทีในจดหมายของเธอแสดงถึงการยอมรับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น

“เราถูกบอกสอนให้เชื่อว่า ในปี 1948 ประชาชนอาหรับแห่งรามลาและล็อดได้แตกหนีไปก่อนกองทัพอิสราเอลมาถึง ทิ้งทุกสิ่งอย่างไว้ในการหนีเอาตัวรอดแบบรีบเร่งและขลาดกลัว ความเชื่อนี้ก่อความมั่นใจแก่เรา สิ่งนี้มุ่งหมายปิดกั้นเราจากความรู้สึกผิดและสำนึกต่อบาป”

เธอยอมรับข้อเท็จจริงว่า “บ้านไม่ได้เป็นเพียงของฉันเท่านั้น ต้นมะนาวที่ออกผลมามากต่อมากและก่อความยินดีเหลือล้นให้แก่เรานั้น ยังยืนชีวิตอยู่ในหัวใจของผู้อื่นด้วย บ้านหลังกว้างใหญ่ เพดานสูง หน้าต่างกว้าง ลานบ้านกว้างหลังนี้ไม่ได้เป็นเพียง ‘บ้านอาหรับ’ หลังหนึ่ง แต่ยังเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมอันพึงปรารถนา บัดนี้บ้านมีโฉมหน้าสองด้านอยู่ภายใน ผนังบ้านกระตุ้นให้ระลึกถึงความทรงจำและหยาดน้ำตาของคนอื่นด้วย”

ดาเลีย กล่าวถึงจุดยืนของบาเชียร์ เพื่อแสดงจุดยืนของตนเอง และขยับขยายข้อวิจารณ์ไปยังการโจมตีกันไปมาระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์

“หากคุณสามารถถอนตัวเองออกจากการกระทำก่อการร้ายในอดีตได้ ความมุ่งมั่นของคุณที่มีต่อหมู่ชนของคุณเอง จะมีพลังทางศีลธรรมเพิ่มขึ้นในสายตาของฉัน

ฉันเข้าใจดีว่า ‘ก่อการร้าย’ เป็นคำที่มีความหมายเกี่ยวข้องกับทัศนคติเชิงอัตวิสัย ผู้นำทางการเมืองของอิสราเอลหลายคนเคยเป็นผู้ก่อการร้ายในอดีตและยังไม่เคยรู้สึกสำนึกผิด ฉันรู้ว่าเราพิจารณาว่าอะไรเป็นการก่อการร้ายโดยฝ่ายของเราเอง กลุ่มชนของคุณพิจารณาว่า ‘การดิ้นรนต่อสู้ด้วยอาวุธ’ เชิงวีรกรรมนั้น ตามความหมายที่ขึ้นอยู่กับการนำไปใช้ เราอาจถือว่าเป็นสิทธิป้องกันตนเอง เมื่อทิ้งระเบิดทางอากาศใส่เป้าหมายปาเลสติเนียนแล้วไปโดนพลเรือนเข้าบ้าง ทางคุณตีความว่าเป็นการก่อการร้ายทางอากาศโดยเทคโนโลยีล้ำยุค แต่ละฝ่ายช่ำชองที่จะหาเหตุผลให้แก่จุดยืนตนเอง แล้วเราจะต้องติดวนอยู่ในวงจรชั่วร้ายนี้ไปอีกนานสักเท่าใด”

เธอประนามการเนรเทศนักกิจกรรมทั้ง 4 คนของปาเลสไตน์ว่า เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและรังแต่จะทำให้ทุกอย่างเลวร้ายลงไปกว่าเดิม

“นี่คือสงครามที่จะไม่มีผู้ชนะ และหมู่ชนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะไม่ได้รับการปลดปล่อยแต่เพียงข้างเดียวหรอก มีแต่จะทำการไม่สำเร็จทั้งคู่

“ความทรงจำวัยเด็กของคุณและฉันเกี่ยวกระหวัดกันอยู่ในเชิงโศกสลด หากเราไม่สามารถแสวงหาหนทางใดเพื่อแปลงเปลี่ยนวิปโยคนี้ให้เป็นพรสวรรค์ร่วมกันได้แล้ว การเอาแต่คร่ำครวญถึงอดีตก็จะเป็นการทำลายอนาคตของเรา และเราพรากเอาความหฤหรรษ์วัยเยาว์ไปเสียจากคนรุ่นถัดมาแล้วผลักดันให้พวกเขากลายเป็นผู้สละชีพในหนทางอันชั่วร้าย ฉันภาวนาขอให้คุณร่วมมือและขอความช่วยเหลือจากพระเจ้า ลูกหลานของเรายินดีปรีดาในความงามและความสมบูรณ์ของดินแดนศักดิ์สิทธิ์นี้”

เธอลงท้ายจดหมายว่า อัลเลาะห์ มา’อัค ขอพระเจ้าสถิตย์กับท่าน”

ต้องรอเวลา 1 ปี บาเชียร์ จึงได้อ่านจดหมายฉบับนี้ เขาอ่านมันซ้ำแล้วซ้ำเล่า ก่อนจะลงมือเขียนจดหมายถึงดาเลีย

 

แสงเทียนใน Open House in Ramle

“ดาเลียที่รัก” คือคำขึ้นต้นในจดหมายที่บาเชียร์เขียนถึงดาเลีย ในปี 1989 ตอนนั้นบาเชียร์ อายุ 47 ดาเลียอายุ 42 ก่อนจะเล่าย้อนเรื่องราวที่เขาสูญเสียนิ้วมือทั้ง 4 ไปจากการที่เขาได้รับของเล่นชิ้นหนึ่งที่ข้างในซ่อนกับระเบิดไว้ เขาจึงชิงชังมโนทัศน์ของไซออนิสม์ และตระหนักดีว่าเธอเกลียดชังการลุกฮือขึ้นสู้ในนามอินติฟาดา แต่เธอและเขาต่างเชื่อมั่นในศักยภาพในการโอบรับนกปีกหักและบาดแผลของผู้อื่นเข้าไว้ในตน หมู่ชนของเธอโหยหามาตุภูมินับแต่โบราณกาล หมู่ชนของเขาปรารถนาแรงกล้าในการคืนกลับถิ่น แต่บ้านของเขาคือมาตุภูมิของเธอ

“ดาเลีย ผมได้พยายามกลับคืนสู่ปาเลสไตน์ด้วยเรือกลับคืนถิ่น (อัล-ออดา)” บาเชียร์ หมายถึงเหตุการณ์ที่เขาและผู้ต้องเนรเทศรวมถึงนักข่าวจะนั่งเรือเฟอร์รีที่ตั้งชื่อว่า ‘อัล-ออดา’ จากท่าเรือลิมัสโซลในไซปรัสไปยังท่าเรือไฮฟาในอิสราเอล เพื่อเป็นการเรียกร้องความสนใจนานาชาติ แต่สำหรับบาเชียร์ นี่คือการประกาศสิทธิการกลับคืนสู่ถิ่นฐานของปาเลสติเนียน แต่ยังไม่ทันที่ผู้โดยสารจะลงเรือเพื่อออกเดินทาง เรือก็ถูกระเบิดเสียก่อน

“ผมไม่ได้ถือจรวดหรือลูกระเบิด ผมถือประวัติศาสตร์และความรักต่อมาตุภูมิของผมติดตัว แล้วผลเป็นอย่างไรล่ะ ดาเลีย? เรือถูกจมลงเสียก่อนออกเดินทาง จมลงขณะเทียบท่าเรือในไซปรัส พวกนั้นมาจมมันเสียเพื่อไม่ให้เรากลับคืนถิ่น แล้วทำไมเราไม่ได้รับสิทธิ์ให้กลับคืนถิ่น? ทำไมเราจึงถูกขัดขวางไม่ให้มีสิทธิ์ตัดสินอนาคตของตนเองและสร้างรัฐของเราเอง? ทำไมผมจึงถูกเนรเทศจากมาตุภูมิของผมเอง?”

บาเชียร์ ปิดท้ายจดหมายด้วยพลังเชื่อมั่นอันแรงกล้าในการสร้างสันติภาพและความยุติธรรมให้หมู่ชนปาเลสติเนียน

“ผมรู้ว่าคุณอ่อนไหว ผมรู้ว่าคุณเจ็บปวด ผมไม่ต้องการให้คุณเจ็บปวด ทั้งหมดที่ผมต้องการคือ คุณกับผมดิ้นรนต่อสู้ด้วยกันกับผู้คนที่รักสันติภาพและอิสรภาพทั้งหมด เพื่อการสถาปนารัฐของประชาชนอันเป็นประชาธิปไตย และต่อสู้ฟันฝ่าด้วยกันเพื่อการก่อตั้งสถานดูแลเด็กดาเลียขึ้นให้สำเร็จ และต่อสู้กับผม เพื่อให้ผมกลับคืนสู่แม่ผู้ชรา ภรรยา และลูก ๆ ของผม กลับคืนสู่มาตุภูมิของผม ต่อสู้ร่วมกับผมเพื่อนำร่างกายกลับเข้ารวมกับอุ้งมือของผม อุ้งมือที่ได้หลอมรวมเข้ากับเนื้อผืนแผ่นดินแห่งปาเลสไตน์แล้ว”

สองปีหลังจากจดหมายฉบับนี้ Open House in Ramle ก็เปิดประตูต้อนรับเด็ก ๆ อาหรับ และผู้คนทั้งอิสราเอลและปาเลสไตน์ แม้ว่าภายนอกบ้านหลังนี้ สงครามยังคงดำเนินต่อมาจนวันที่บาเชียร์มีอายุ 80 ปี และดาเลียอายุ 75 ปี

ปัจจุบัน (2023) บาเชียร์ในวัย 80 ยังคงถูกคุมขังโดยไม่มีข้อกล่าวหา กองกำลังยึดครองบุกบ้านของเขาเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2021 หลังจากขยายระยะเวลาการควบคุมตัวออกไปหลายครั้ง เขาก็ถูกคำสั่งให้ควบคุมตัวโดยจำคุก ไม่มีข้อกล่าวหา และการพิจารณาคดีก็ดำเนินแบบลับ

เขาใช้ชีวิตในวัยชราภายใต้การจองจำ แต่วัยเยาว์ของเขายังคงเป็นอิสระในบ้านที่เปิดรับเด็ก ๆ ชาวอาหรับบนผืนแผ่นดินอิสราเอล แสงเทียนจะไม่ส่องแสงเดียวดายในห้องอีกต่อไป แม้ว่าสงครามที่โหดร้ายที่สุดกำลังเกิดขึ้นต่อหน้าเราทั้งโลก แต่ตอนนี้ เราต้องการนักฝันเอื้อมมือมาป้องแสงเทียนไม่ให้ดับ

 

เรื่อง: วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์

เอกสารประกอบการเขียน:

แซนดี โทแลน. ไพรัช แสนสวัสดิ์ แปล. The Lemon Tree: An Arab, a Jew, and the Heart of the Middle East. WAY OF BOOK, 2558.

The Open House in Ramle

Freedom for Bashir al-Khairy! Palestinian lawyer jailed without charge or trial faces extension of unjust detention. Website. Samidoun. Published 21 APR 2022. 

ไพรัช แสนสวัสดิ์. ‘เข้าใจ 'ความขัดแย้งที่ยากเข็ญที่สุดในโลก' ทำไมปัญหาอิสราเอล-ปาเลสไตน์ จึงแก้ไม่ได้เสียที’. Website. WAY. Published 14 MAY 2021.