จาก ‘คอคอดกระ’ ถึง ‘แลนด์บริดจ์’ ยุค เศรษฐา ทวีสิน ความฝันที่ไทยจะเป็นฮับโลจิสติกส์ภูมิภาค

จาก ‘คอคอดกระ’ ถึง ‘แลนด์บริดจ์’ ยุค เศรษฐา ทวีสิน ความฝันที่ไทยจะเป็นฮับโลจิสติกส์ภูมิภาค

ประเทศไทยมีความพยายามจะเชื่อมต่อทะเลอ่าวไทยกับทะเลอันดามันเข้าด้วยกันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ความพยายามนี้กำลังเป็นรูปเป็นร่างขึ้นในชื่อโครงการ ‘แลนด์บริดจ์’

  • แลนด์บริดจ์ถูกวางให้เป็นตัวเปลี่ยนเกมสำคัญ ที่จะทำให้ประเทศไทยกลายเป็น ‘ศูนย์กลางโลจิสติกส์ภูมิภาค’ สร้างงานสร้างเงินให้ประเทศมหาศาล 
  • แนวคิดเชื่อมอ่าวไทยกับทะเลอันดามัน อันที่จริงไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะก่อนหน้านั้นประเทศเรามีโครงการ ‘คอคอดกระ’ ซึ่งเป็นแนวคิดที่มีมาตั้งแต่สมัย ‘สมเด็จพระนารายณ์’ หรือเมื่อกว่า 340 ปีมาแล้ว 
  • ‘ศิริกัญญา ตันสกุล’ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ชี้ว่า มีการศึกษาความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจในการลงทุนโครงการแลนด์บริดจ์มาแล้วหลายครั้ง ปรากฏว่ามีการประเมินความคุ้มค่าของโครงการออกไปสองทางแตกต่างกัน

“การที่เรามีแลนด์บริดจ์ จะย่นระยะเวลาในการขนถ่ายสินค้าไป 6 - 9 วัน การลงทุนครั้งนี้จะเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง รัฐบาลนี้จะเริ่มต้นลงมือโครงการแลนด์บริดจ์ เพื่อสร้างศักยภาพในการแข่งขันของพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคน”

‘เศรษฐา ทวีสิน’ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงอภิมหาโปรเจกต์มูลค่า 1 ล้านล้านบาท ที่มีชื่อเต็มว่า ‘โครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย - อันดามัน (ชุมพร - ระนอง)’ หรือชื่อสั้น ๆ จำง่ายว่า ‘แลนด์บริดจ์’ (LandBridge) 

แลนด์บริดจ์คือการสร้างถนนและระบบโลจิสติกส์ที่เชื่อมสองฝั่งทะเล ได้แก่ อ่าวไทย และทะเลอันดามัน แบบไร้รอยต่อ ประกอบด้วยท่าเรือน้ำลึกสองฝั่ง ฝั่งอ่าวไทยอยู่ในจังหวัดชุมพร ส่วนฝั่งอันดามันอยู่ในจังหวัดระนอง เชื่อมต่อกันด้วยทางหลวงพิเศษและทางรถไฟ เป็นระยะทางประมาณ 90 กิโลเมตร 

หากรัฐบาลของนายกฯ เศรษฐาทำสำเร็จตามที่วาดหวัง โครงการนี้จะช่วยลดเวลาการขนส่งทางเรือระหว่างประเทศที่มีเส้นทางจากจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เวียดนาม ผ่านอ่าวไทยไปอันดามัน เข้าสู่เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรป โดยไม่จำเป็นต้องอ้อมผ่านช่องแคบมะละกา ย่นระยะทางในการขนส่งสินค้า นํ้ามันและก๊าซ ไปได้หลายวัน

แลนด์บริดจ์ถูกวางให้เป็นตัวเปลี่ยนเกมสำคัญ ที่จะทำให้ประเทศไทยกลายเป็น ‘ศูนย์กลางโลจิสติกส์ภูมิภาค’ สร้างงานสร้างเงินให้ประเทศมหาศาล 

ทว่าแนวคิดเชื่อมอ่าวไทยกับทะเลอันดามัน อันที่จริงแล้วก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะก่อนหน้านั้นประเทศเรามีโครงการ ‘ขุดคอคอดกระ’ ซึ่งเป็นแนวคิดที่มีมาตั้งแต่สมัย ‘สมเด็จพระนารายณ์’ หรือเมื่อกว่า 340 ปีมาแล้ว 

แต่เนื่องจากการขุดคอคอดกระมิอาจเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย จึงนำมาสู่แนวคิดใหม่คือการสร้างแลนด์บริดจ์ ที่ใช้งบน้อยกว่า และไม่ต้องตัดแบ่งแผ่นดินออกจากกัน

การขุดคลองในสมัยอยุธยา 

ประเทศไทยมีการขุดคลองกันมาช้านานแล้ว เพราะคนสมัยก่อนสัญจรกันทางเรือเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการไปมาหาสู่ ติดต่อค้าขาย หรือเพื่อโยกย้ายกำลังพลไปทำสงคราม 

ยกตัวอย่างการขุด ‘คลองมหาชัย’ ที่ขุดขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 หรือ ‘พระเจ้าเสือ’ ซึ่งทรงพระดำริว่าที่คลองโคกขามนั้นคดเคี้ยว คนจะเดินเรือเข้าออกยาก ควรขุดลัดให้ตรง (มีนิทาน ‘พันท้ายนรสิงห์’ เป็นสัญลักษณ์เพื่ออธิบายว่าบริเวณนั้นเป็นคลองคดเคี้ยวมาก) หลังจากนั้นจึงมีพระราชโองการเกณฑ์ไพร่พล 3 หมื่นคนไปขุดลัดคลองโคกขาม ให้ตรงไปทะลุออกแม่น้ำเมืองสาครบุรี (แม่น้ำท่าจีน จังหวัดสมุทรสาคร) 

ย้อนไปไกลขึ้นอีกในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ เมื่อปี พ.ศ. 2220 วิศวกรชาวฝรั่งเศส ‘มงซิเออ เดอ ลา มาร์’ (De La Mar) ได้เข้ามาสำรวจหาเส้นทางการค้าทางทะเลใหม่ ระหว่างอ่าวไทยกับทะเลอันดามัน แล้วเกิดพบว่า สามารถขุดคลองข้ามคอคอดกระสงขลาเชื่อมไปยังทวายได้

รัฐบาลฝรั่งเศสรู้เข้าก็ตาลุกวาว เพราะเห็นถึงช่องทางการค้าที่เหนือกว่าชาวดัตช์และชาวโปรตุเกส ที่ควบคุมช่องแคบมะละกาในขณะนั้น

แต่หลังจากสมเด็จพระนารายณ์สิ้นพระชนม์(สวรรคต) เกิดการเปลี่ยนราชวงศ์จากราชวงศ์ ‘ปราสาททอง’ มาเป็นราชวงศ์ ‘บ้านพลูหลวง’ แผนขุดคอคอดกระก็เป็นอันต้องล้มพับไป เพราะราชวงศ์บ้านพลูหลวงมีนโยบายต่อต้านชาวต่างชาติ

โครงการขุดคอคอดกระในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (รัชกาลที่ 1) เคยมีแนวคิดจะขุดคลองที่บริเวณอำเภอกระบุรี เชื่อมทะเลฝั่งอันดามันกับอ่าวไทย เพื่อประโยชน์ในการเดินเรือไปสู้รบกับพม่า แต่ก็ยังเป็นเพียงแนวคิดเท่านั้น เพราะยังไม่มีการขุดคลองจริงจัง 

มาถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) มีชาวอังกฤษขอพระบรมราชานุญาตขุดคลองบริเวณคอคอดกระในจังหวัดระนองถึงจังหวัดชุมพร แต่สุดท้ายก็ต้องล้มเลิกไปอีก เพราะวิศวกรพบอุปสรรคใหญ่คือ ‘เทือกเขาตะนาวศรี’ ซึ่งหากจะขุดคลองผ่านไปให้ได้ก็ต้องใช้เงินมหาศาล 

ประจวบกับเวลานั้นอังกฤษยึดพื้นที่บริเวณช่องแคบมะละกาได้สำเร็จแล้ว จึงไม่รู้ว่าจะขุดคอคอดกระไปทำไม ส่วนไทยหรือสยามในเวลานั้น เมื่อศัตรูสำคัญอย่างพม่าพ่ายให้กับอังกฤษ ก็ไม่เห็นความจำเป็นที่จะขุดคลองเพื่อส่งทหารไปสู้รบเช่นกัน 

กลายเป็นว่าชาวฝรั่งเศสอาศัยจังหวะนี้ มาขอพระบรมราชานุญาตรัชกาลที่ 4 ขุดคอคอดกระอีกครั้ง แต่พระองค์ทรงปฏิเสธไป ด้วยเกรงว่าหากขุดสำเร็จ สยามอาจต้องสูญเสียแหลมมลายูให้ฝรั่งเศสไป 

เป็นเหตุผลให้ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) และ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ทรงไม่เห็นประโยชน์ของการขุดคลอง เช่นเดียวกับรัชกาลที่ 4

หลวงประดิษฐ์มนูธรรมผู้รื้อฟื้นแผนขุดคอคอดกระ

ล่วงเข้าสู่ปี พ.ศ. 2478 ‘หลวงประดิษฐ์มนูธรรม’ หรือ ‘ปรีดี พนมยงค์’ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้เสนอแผนขุดคอคอดกระขึ้นมาอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อการทหารหรือความมั่นคงของชาติ ทว่าเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 แต่โครงการนี้ก็เป็นอันต้องพับไปอีก เพราะติดขัดเรื่องงบประมาณ 

การขุดคอคอดกระไม่ถูกพูดถึงเป็นประเด็นใหญ่ กระทั่งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศไทยที่ถึงแม้จะไม่ตกอยู่ในสถานะของผู้แพ้สงคราม แต่ก็ต้องชดใช้ค่าปฏิกรรมสงครามให้กับอังกฤษ เพราะในช่วงเริ่มต้นสงคราม รัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ประกาศเข้าร่วมสงครามโดยเป็นพันธมิตรกับรัฐบาลจักรวรรดิญี่ปุ่น 

อังกฤษเจรจากับไทย โดยทำข้อตกลง ห้ามไทยขุดคลองเชื่อมมหาสมุทรอินเดียกับอ่าวไทย หากมิได้รับความยินยอมจากรัฐบาลอังกฤษ เพราะอังกฤษต้องการรักษาผลประโยชน์ในมาลายา และห่วงว่าญี่ปุ่นจะใช้เป็นช่องทางส่งกำลังทหารไปคุกคามอินเดีย ซึ่งอยู่ในอารักขาของอังกฤษเช่นกัน

ต่อมาข้อตกลงนี้ได้ยกเลิกไปในปี พ.ศ. 2497 ทำให้รัฐบาลต่อ ๆ มา ได้พยายามศึกษาเรื่องความเป็นไปได้ในการเชื่อม 2 มหาสมุทรเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลจอมพล ถนอม กิตติขจร, รัฐบาลพลเอก เปรม ติณสูลานนท์, รัฐบาลพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ, รัฐบาลชวน หลีกภัย, รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร, รัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เรื่อยมาจนถึงรัฐบาลเศรษฐา 

ความพยายามในรัฐบาลเศรษฐา 

ในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ‘พลโท หาญ ลีลานนท์’ แม่ทัพภาคที่ 4 มีดำริจะรื้อฟื้นโครงการขุดคอคอดกระขึ้นมาพิจารณาอีกครั้ง ถึงขั้นกล่าวว่า “หากมีการขุดคลองไทยนี้ขึ้นมาได้สำเร็จ เศรษฐกิจไทยก้าวหน้า เราจะเป็นพี่ใหญ่ในอาเซียน คนไทยมีงานทำมากมาย จะมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน รัฐบาลของท่าน (พลเอกประยุทธ์) จะไม่เสียของ แล้ววันนั้นทุกคนจะเรียกติดปากว่า ‘คลองประยุทธ์’ เลยทีเดียว”

จนแล้วจนรอด ‘คลองประยุทธ์’ ก็ไม่เกิดขึ้นจริง แต่ก็เป็นพลเอกประยุทธ์ ที่เห็นชอบให้เปลี่ยนจากการขุดคลองมาเป็นการสร้างแลนด์บริดจ์จากชุมพรถึงระนองแทน และให้โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

ขณะที่นายกฯ เศรษฐา รับหน้าที่สานต่ออย่างแข็งขัน โดยได้เดินสายเชิญชวนให้นักลงทุนต่างประเทศเข้ามาร่วมทุนในโครงการแลนด์บริดจ์ และรับฟังความคิดเห็น คาดว่าจะเริ่มเปิดประมูลโครงการในเดือนเมษายน พ.ศ. 2568 และจะเริ่มเปิดให้บริการในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2573 

ประมาณการว่าในปี 2594 แลนด์บริดจ์จะสามารถรองรับเรือขนส่งสินค้าที่เติบโตและหันมาใช้เส้นทางนี้กว่า 4 แสนลำต่อปี และทำให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ 2.8 แสนตำแหน่ง (ระนอง 1.3 แสนตำแหน่ง และชุมพร 1.5 แสนตำแหน่ง) รวมทั้งช่วยทำให้จีดีพีของประเทศไทยเติบโตเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ประมาณการไว้ 4% ต่อปี เป็น 5.5% ต่อปี 

ความกังวลถึงผลกระทบจากการสร้างแลนด์บริดจ์

แต่เหรียญย่อมมี 2 ด้านเสมอ คนในประเทศบางส่วนก็มีการตั้งคำถามในแง่สิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของประชาชนที่จะเปลี่ยนไป รวมถึงผลกระทบจากการเวนคืนที่ดินใน 2 จังหวัด และความกังวลเรื่องปัญหาน้ำมันรั่วไหล 

ไหนจะความกังวลว่าการขนส่งสินค้าผ่านเส้นทางแลนด์บริดจ์อาจไม่ได้รับความนิยมเพราะมีขั้นตอนยุ่งยาก ต้องยกตู้คอนเทนเนอร์ขึ้นลงหลายครั้ง ครั้งแรกเพื่อนำสินค้ามาขึ้นที่ท่าเรือ ต่อมาก็ต้องยกตู้ขึ้นรถไฟ แล้วก็ยกตู้จากรถไฟไปลงเรืออีกลำ จนเกิดการเปรียบเทียบกับเส้นทางเดิมที่ไม่ต้องเสียเวลาขนตู้สินค้าขึ้น ๆ ลง ๆ 

‘ศิริกัญญา ตันสกุล’ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ยังได้อภิปรายเพื่อชี้ให้เห็นข้อมูลว่า มีการศึกษาความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจในการลงทุนโครงการแลนด์บริดจ์มาแล้วหลายครั้ง เช่น รายงานที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ว่าจ้างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ทำการศึกษา ที่เพิ่งเสร็จไปเมื่อเดือนเมษายน 2565 และมีอีกงานศึกษาในปีงบประมาณ 2566 โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) 

ปรากฏว่าทั้งสองรายงานประเมินความคุ้มค่าของโครงการออกไปสองทางแตกต่างกัน

รายงานของสภาพัฒน์ ระบุว่าโครงการแลนด์บริดจ์ไม่คุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์และไม่เหมาะที่จะลงทุน ส่วนรายงานของ สนข. กลับระบุว่าโครงการแลนด์บริดจ์คุ้มค่ามาก มีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 16.18% คืนทุนภายในระยะเวลา 40 - 49 ปี นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาที่ปรากฏในมติของคณะรัฐมนตรีที่ระบุว่า โครงการแลนด์บริดจ์คุ้มค่ามาก มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจเป็นอัตราการคืนทุนถึง 17.43% ภายในระยะเวลา 24 ปี

หากพิจารณาจากท่าที รัฐบาลภายใต้การนำของ นายกฯ เศรษฐา เลือกเดินหน้าโครงการแลนด์บริดจ์เต็มสูบ ด้วยความหวังว่าอภิมหาโปรเจกต์นี้จะเป็นเครื่องจักรตัวใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศในระยะยาว... เดิมพันครั้งสำคัญของประเทศจะออกมาเป็นอย่างไร คงเป็นเรื่องที่เกินจะคาดเดา

 

อ้างอิง :

https://pridi.or.th/th/content/2022/02/974
https://www.posttoday.com/international-news/633780
https://www.posttoday.com/politics/domestic/701017
https://www.komchadluek.net/news/116617
https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1094598
https://www.thairath.co.th/news/politic/2734304
https://www.thairath.co.th/news/politic/2734265
https://www.khaosod.co.th/politics/news_1755060
https://mgronline.com/business/detail/9660000091080