‘ซานนา มาริน’ นายกฯ หญิงอายุน้อยสุดในโลก ผู้นำฟินแลนด์ยุคใหม่ เผชิญความท้าทายรอบด้าน

‘ซานนา มาริน’ นายกฯ หญิงอายุน้อยสุดในโลก ผู้นำฟินแลนด์ยุคใหม่ เผชิญความท้าทายรอบด้าน

‘ซานนา มาริน’ นายกรัฐมนตรีหญิงอายุน้อยที่สุดในโลก ผู้บริหารของประเทศที่ประชาชนมีความสุขที่สุดในโลก 6 ปีติดต่อกัน เธอเรียกตัวเองว่า ‘บุตรสาวแห่งสายรุ้ง’ ยืนหยัดเรื่องสิทธิ มุ่งมั่นขจัดอคติทางเพศ

  • ‘ซานนา มาริน’ นายกรัฐมนตรีหญิงที่อายุน้อยสุดในโลก ผู้นำของฟินแลนด์จากพรรค Social Democratic Party หรือ SDP
  • เธอขึ้นรับตำแหน่งเมื่อปี 2019 ขณะอายุ 34 ปี มีจุดยืนเรื่องสิทธิ และขจัดอคติทางเพศ

นอกจาก ‘ฟินแลนด์’ จะครองแชมป์ ‘ชาติที่ประชาชนมีความสุขที่สุดในโลก’ 6 ปีซ้อน (2017-2022), เป็นประเทศที่ผู้บริหารโรงเรียนทั่วโลกบินไปดูงานด้านการศึกษา, มีระบบ ‘รัฐสวัสดิการ’ ระดับแนวหน้าของโลก, น้ำประปา ‘สะอาดที่สุดในโลก’ และมี ‘ห้องอบซาวน่า’ บริการประชาชนมากที่สุดในโลกแล้ว ‘ฟินแลนด์’ ยังมี ‘ซานนา มาริน’ นายกรัฐมนตรีหญิงอายุน้อยที่สุดในโลกอีกด้วย

เป็นการก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหญิงที่อายุน้อยที่สุดทั้งของ ‘ฟินแลนด์’ และของโลก เมื่อปี ค.ศ. 2019 โดย ‘ซานนา มาริน’ มีสถานะเป็นผู้นำรัฐบาลผสมซึ่งประกอบด้วย 5 พรรค ที่สำคัญก็คือ หัวหน้าพรรคทั้ง 5 เป็นผู้หญิงทั้งหมด

‘ซานนา มาริน’ ฝ่าฟันอุปสรรคขวากหนามนานัปการ ตั้งแต่ก่อนลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งก่อน จนถึงปัจจุบันที่ ‘ฟินแลนด์’ เพิ่งเสร็จสิ้นการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุดเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา แม้พรรคของเธอจะได้รับความนิยมลดลง แต่เธอก็สู้ไม่ถอย

โดยก่อนหน้านี้ ‘ซานนา มาริน’ สามารถนำพาประเทศผ่านวิกฤติ COVID-19 และสงครามยูเครน-รัสเซียที่ระเบิดขึ้นใกล้กับ ‘ฟินแลนด์’ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การผลักดันบ้านเกิดเมืองนอนให้เข้าเป็นสมาชิก NATO เป็นผลสำเร็จ

‘ฟินแลนด์โมเดล’ ขับเน้น ‘ภาวะผู้นำหญิง’

นอกจากข้อมูลพื้น ๆ ที่ยืนยันถึงจำนวนเพศหญิงที่มีมากกว่าเพศชาย (เพศหญิง 2,816,205 คน เพศชาย 2,746,260 คน: ข้อมูล ณ วันที่ 19 พฤษภาคม 2566) ‘ฟินแลนด์’ ยังเป็นชาติที่ส่งเสริมบทบาทการเป็นผู้นำของเพศหญิงแบบเต็มคาราเบล ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดสำคัญที่ทำให้ ‘ฟินแลนด์’ ได้รับการยกย่องว่าเป็นชาติที่มี ‘สังคมเท่าเทียม’ มากที่สุดในโลก

เหตุผลหลักก็คือ รัฐบาลฟินแลนด์ทุกยุคทุกสมัยจะให้ความสำคัญกับนโยบาย ‘ส่งเสริมความเท่าเทียม’ และ ‘ความเป็นธรรมในสังคม’ ‘ฟินแลนด์’ เป็นประเทศแรกของโลกที่ให้สิทธิแก่เพศหญิงในการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกรัฐสภามาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1906 ก่อนหน้าประเทศอื่น ๆ ในโลกตะวันตก ที่เพิ่งจะอนุญาตให้ผู้หญิงทำงานการเมืองในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อปี ค.ศ. 1918 

บทบาททางการเมืองของผู้หญิงฟินแลนด์เริ่มเด่นชัดมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 ไม่ว่าจะเป็น การต่อสู้เพื่อสิทธิการออกเสียงเลือกตั้ง และสิทธิที่จะยืนหยัดเพื่อการเลือกตั้ง

ผลพวงดังกล่าว นำมาสู่การที่ ‘ฟินแลนด์’ ได้มีประธานาธิบดีหญิงคนแรก ‘ทาร์ยา ฮาโลเนน’ ในปี ค.ศ. 2000 ตามมาด้วยนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรก ‘อันเนลลี ยัตเทนมากี’ ในปี ค.ศ.  2003

และแน่นอน ผู้นำหญิงคนที่ 3 ของ ‘ฟินแลนด์’ มีชื่อว่า ‘ซานนา มาริน’ จากพรรค Social Democratic Party หรือ SDP ที่ขึ้นรับตำแหน่งนายกฯ ในปี ค.ศ. 2019 ซึ่งขณะนั้นเธออายุ 34 ปี ‘ซานนา มาริน’ จึงได้ชื่อว่าเป็น ‘นายกรัฐมนตรีหญิงที่อายุน้อยที่สุดในโลก’ อีกตำแหน่งหนึ่ง

ในวัย 34 บนเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ‘ซานนา มาริน’ รายล้อมด้วย ‘ผู้นำหญิงอายุน้อย’ อีก 3 คน คือ ‘คาทรี คุลมูนี’ วัย 32 ปีจากพรรค Centre Party ‘ลี แอนเดอร์สสัน’ วัย 32 ปีจากพรรค Left Alliance และ ‘มาเรีย โอฮิสซาโล’ วัย 34 ปี จากพรรค Green League สมทบด้วย ‘แอนนา-มายา เฮนริคส์สัน’ วัย 55 ปี ผู้นำพรรค Swedish People’s Party of Finland

‘บุตรสาวแห่งสายรุ้ง’ สู่ ‘นายกฯ หญิงอายุน้อยที่สุดในโลก’

หลังเรียนจบระดับอุดมศึกษา ในวัย 20 ‘ซานนา มาริน’ เริ่มสนใจการเมือง และอายุเพียง 22 เธอก็ย่างเท้าก้าวแรกลงบนถนนการเมือง จากการลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาเมืองตัมเปเร่ แม้จะพลาดหวัง ‘สอบตก’ แต่ก็เป็นการสะสมไมล์ และเป็นบทเรียนทางการเมืองที่ดีให้แก่เธอ

‘ซานนา มาริน’ ปิดจุดอ่อน และสร้างสมประสบการณ์ถึง 5 ปี กว่าที่เธอจะชนะเลือกตั้งสมาชิกสภาเมืองตัมเปเร่ในสมัยถัดมา ที่ไม่เพียงคว้าชัยในสนามเลือกตั้ง แต่ไปไกลถึงตำแหน่งประธานสภาท้องถิ่นในวัย 27

จากนั้น เธอก้าวหน้าไปอีกขั้นด้วยการชนะเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฟินแลนด์ในการเลือกตั้งทั่วไปปี ค.ศ. 2015 เป็น ‘ส.ส.สมัยแรก’ และสมใจนึกด้วยการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการขนส่งและคมนาคม

‘ซานนา มาริน’ เกิดเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน ปี ค.ศ. 1986 ที่กรุงเฮลซิงกิ ในครอบครัวชนชั้นกรรมาชีพ พ่อและแม่หย่ากันเมื่อเธอยังเล็ก ‘ซานนา มาริน’ เติบโตในอะพาร์ตเมนต์กับ ‘คุณแม่เลี้ยงเดี่ยว’ ของเธอตามลำพัง หากแต่ในภายหลัง ‘คุณแม่’ เปิดรับความสัมพันธ์กับเพื่อนหญิง ประหนึ่งการแต่งงานใหม่

‘ซานนา มาริน’ จึงเรียกตัวเองว่า ‘บุตรสาวแห่งสายรุ้ง’ จากสัญลักษณ์สีรุ้งที่สื่อถึงการเปิดรับความหลากหลายทางเพศ

แต่แม้จะเป็น ‘บุตรสาวแห่งสายรุ้ง’ ทว่า ‘ซานนา มาริน’ กลับต้องเผชิญปัญหาการ ‘เหยียดเพศ’ เมื่อเธอก้าวสู่วัยผู้ใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสถานะนักการเมือง

เมื่อเธอถูกวิพากษ์วิจารณ์จากปีกอนุรักษ์นิยม จากภาพถ่ายในนิตยสารที่เธอสวมสูทสีดำเว้าถึงช่วงกลางอก ทำให้สตรีฟินแลนด์จำนวนมากพากันออกมาสวมสูทผ่าด้านหน้า และโพสต์ภาพตัวเองพร้อมแฮชแท็ก #imwithsanna เพื่อต่อต้านความคิดของปีกอนุรักษ์นิยม และสนับสนุนการแต่งกายของ ‘ซานนา มาริน’ ว่าไม่ใช่เรื่องผิด

ย้อนกลับไปในวัยเด็ก หลังจากจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ‘ซานนา มาริน’ เข้าศึกษาต่อที่ ‘มหาวิทยาลัยตัมเปเร่’ สาขาวิทยาการบริหารศาสตร์ เธอเป็นสมาชิกคนแรกของครอบครัวที่เรียนจบทั้งมัธยม และระดับปริญญาตรี

การขึ้นมาดำรงตำแหน่ง ‘นายกรัฐมนตรีหญิงที่อายุน้อยที่สุดในโลก’ ของ ‘ซานนา มาริน’ เป็นผลมาจากการลงคะแนนเสียงในพรรคแกนนำรัฐบาลเสียงข้างมาก หลังจากนายกรัฐมนตรี ‘อันต์ตี รินเน’ ได้พ้นจากตำแหน่งไปเพียงไม่กี่วัน จากปัญหาการประท้วงของไปรษณีย์ฟินแลนด์ และสายการบินแห่งชาติ ที่ยืดเยื้อเรื้อรังมาอย่างยาวนาน จนทำให้ ‘อันต์ตี รินเน’ สูญเสียความเชื่อมั่นจากพันธมิตร และลาออกจากตำแหน่งในที่สุด

 

นำ ‘เรือชีวิต’ และ ‘รัฐนาวา’ ฝ่ามรสุม

‘ซานนา มาริน’ สมรสกับ ‘มาร์กุส เรคโกเนน’ นักฟุตบอลอาชีพในลีกฟินแลนด์ ที่เริ่มจากสถานะคนรัก มาสู่คู่รัก และมีบุตรร่วมกัน ทว่า ล่าสุดเธอได้หย่าจากเขา กลายเป็น ‘คุณแม่เลี้ยงเดี่ยว’ เช่นเดียวกับคุณแม่ของเธอ

ไม่เพียงการหย่าร้าง แต่ ‘ซานนา มาริน’ เคยเผชิญมรสุมชีวิตครั้งใหญ่จากกรณีคลิปวิดีโอเต้นรำอย่างสุดเหวี่ยงในงานปาร์ตี้ส่วนตัวแห่งหนึ่ง จนถูกฝ่ายค้านเรียกร้องให้ตรวจหาสารเสพติด และต้องทนรับการวิพากษ์วิจารณ์จากปีกอนุรักษ์นิยมเช่นเดิมว่าพฤติกรรมของเธอไม่เหมาะสมกับตำแหน่งผู้นำประเทศ

‘ซานนา มาริน’ ยินดีเข้ารับการตรวจหาสารเสพติดด้วยความบริสุทธิ์ใจ แต่ก็ยืนกรานว่ามันเป็นเวลาพักผ่อนส่วนตัว เช่นเดียวกับเมื่อครั้งที่เธอปฏิเสธช่างภาพนิตยสารที่พยายามขอให้เธอโพสต์ท่าไขว้ขา และวางมือบนตักอันเป็นท่ามาตรฐานของนางแบบทั่วไป แต่ ‘ซานนา มาริน’ กลับนั่งแยกขาเข้าหากล้อง และวางมือบนต้นขา แทนคำยืนยันของการต่อสู้เพื่อมุ่งหวังขจัดอคติทางเพศให้หมดสิ้นไปจากสังคมฟินแลนด์ให้จงได้

จากมรสุมส่วนตัว มาถึงมรสุมของชาติ คือการเผชิญหน้ากับวิกฤติการณ์ COVID-19 ที่เธอนำ ‘รัฐนาวา’ และประชาชนฟินแลนด์ฝ่าคลื่นลมแรงมาได้เป็นผลสำเร็จ พร้อมกับเผชิญหน้ากับสงครามยูเครน-รัสเซียซึ่งเกิดขึ้นไม่ไกลจากฟินแลนด์บ้านเกิดเมืองนอน

ไม่เพียง ‘ซานนา มาริน’ จะประคองสถานการณ์ประเทศในยามสงครามได้อย่างดีแล้ว เธอยังผลักดันฟินแลนด์ให้เข้าเป็นสมาชิก NATO เพื่อรับมือกับรัสเซียได้เป็นผลสำเร็จ ท่ามกลางแรงสนับสนุนจากประชาคมโลก

อย่างไรก็ดี อีกไม่นานนี้ ‘ซานนา มาริน’ อาจถึงคราวต้องก้าวลงจากตำแหน่งผู้นำประเทศ หลังแพ้การเลือกตั้งใหญ่เมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา แม้ว่าพรรค SDP ของเธอ จะได้ ส.ส.เพิ่ม 3 ที่นั่งจากการเลือกตั้งครั้งก่อน 40 ที่นั่ง (รวมเป็น 43 ที่นั่ง) ก็ตาม

ทว่า พรรคของเธอได้รับคะแนนเสียงเป็นอันดับ 3 หรือเพียง 19.9% เท่านั้นในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดของฟินแลนด์

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าอนาคตทางการเมือง มรสุมส่วนตัว และชีวิตครอบครัวของเธอจะประสบปัญหาอะไรในอนาคตข้างหน้า ทว่า ชื่อของ ‘ซานนา มาริน’ ได้รับการจารึกลงในประวัติศาสตร์การเมืองโลกไปแล้วเป็นที่เรียบร้อย ในฐานะ ‘นายกรัฐมนตรีหญิงที่อายุน้อยที่สุด’ คนแรกของโลก!

 

เรื่อง: จักรกฤษณ์ สิริริน

ภาพ: แฟ้มภาพจาก Getty Images