ถอดบทเรียนการปั้นกระแส K-Wave และทางออกทำไมคนไทยไม่ผ่าน ตม. เกาหลี

ถอดบทเรียนการปั้นกระแส K-Wave และทางออกทำไมคนไทยไม่ผ่าน ตม. เกาหลี

คุยกับ ดร.ไพบูลย์ ปีตะเสน ประธานศูนย์เกาหลีศึกษา สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันที่คนไทยบางส่วนยังถูกปฏิเสธเข้าประเทศ และเกาหลีใต้ในฐานะจุดหมายปลายทางของแรงงานที่อยากเริ่มต้นชีวิตใหม่

  • เกาหลีใต้ขึ้นชื่อเรื่องการส่งออกวัฒนธรรม และประสบความสำเร็จเรื่อง Soft Power
  • มีแรงงานต่างชาติอยู่ในเกาหลีใต้ 2 ล้านกว่าคน แต่ในจำนวนนั้นเป็นคนไทยแล้วกว่า 200,000 คน อีกทั้งส่วนใหญ่เป็นแรงงานผิดกฎหมาย
  • ดร.ไพบูลย์ ปีตะเสน บอกว่า ไม่ใช่แค่คนไทยที่อยากไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ในเกาหลี คนเกาหลีเองก็เข้ามาแสวงหาโอกาสในประเทศไทยเช่นกัน

เกาหลีใต้ คือ ประเทศที่ใช้วัฒนธรรมกอบกู้ประเทศที่กำลังเผชิญความยากจน เป็นประเทศที่ยืนอยู่แถวหน้าของตลาดเอเชีย และกำลังก้าวสู่ตลาดโลก

นั่นจึงเป็นเหตุผลที่นักท่องเที่ยวอยากจะไปเยือนเกาหลีใต้สักครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุผลอะไรก็ตาม เช่น ไปตามไอดอลเกาหลี ไปดูคอนเสิร์ตเกาหลี ตามรอยซีรีส์เกาหลี หรืออยากจะชิมรสอาหารเกาหลีแบบดั้งเดิม 

ข้อมูลจากองค์การการท่องเที่ยวเกาหลี (KTO) เผยข้อมูลว่า 8 เดือนแรกของปี 2023 มีนักท่องเที่ยวไทยเดินทางเข้าเกาหลีแล้วกว่า 250,000 คน แม้ว่าจะยังน้อยกว่าช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่คนไทยเดินทางไปเที่ยวเกาหลีใต้ปีละ 570,000 คน 

ด้วยระบบสวัสดิการที่ดี อิสระ และเป็นประชาธิปไตย ทำให้แรงงานไทยเลือกไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่นี่ และเป็นหนึ่งในฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจเกาหลีใต้  

แต่ข้อมูลที่น่าสนใจ คือ ส่วนใหญ่แรงงานไทยในเกาหลีใต้เป็นแรงงานผิดกฎหมาย หรือที่คนไทยเรียกว่า ‘ผีน้อย’ ที่ลักลอบเข้าเมืองด้วยการอยู่เกินวีซ่า และบางส่วนก็สร้างภาระทางสังคมให้เกาหลีใต้ เช่น การก่ออาชญากรรมที่เราเห็นตามหน้าข่าวรายวัน

ก่อนหน้านี้การเข้าประเทศเกาหลีใต้สำหรับคนไทยดูเหมือนจะง่าย เพราะมีการเปิดฟรีวีซ่าให้ หมายความว่าคนไทยสามารถอยู่เกาหลีโดยไม่ต้องขอวีซ่าได้เป็นเวลา 90 วัน แต่หลังจากมาตรการปิดประเทศ ช่วงแพร่ระบาดโรคโควิด-19 เกาหลีใต้สร้างระบบ K-ETA (Korea Electronic Travel Authorization) ระบบลงทะเบียนเข้าประเทศออนไลน์ และเปิดช่องให้ด่านตรวจคนเข้าเมืองใช้ดุลพินิจของตัวเองพิจารณาคุณสมบัติของผู้ที่ต้องการเข้าประเทศ

ปรากฏว่า คนไทย โดยเฉพาะผู้ต้องการไปท่องเที่ยวถูกปฏิเสธให้เข้าประเทศ นำมาสู่กระแส #แบนเกาหลี ที่ทำให้คนไทยเลือกไปประเทศอื่นแทนเกาหลีใต้ เพราะบางครั้งคนที่ต้องการเข้าประเทศจริง ๆ กลับถูกปฏิเสธ

The People คุยกับ ดร.ไพบูลย์ ปีตะเสน ประธานศูนย์เกาหลีศึกษา สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าด้วยเรื่องการส่งออกวัฒนธรรมของเกาหลีใต้ ปัญหาคนเข้าเมือง และการแลกเปลี่ยนแรงงานคนสองประเทศ

เพราะไม่ใช่แค่แรงงานไทยที่อยู่ในเกาหลีใต้ แต่คนเกาหลีใต้ก็เข้ามาเป็นแรงงานในประเทศไทยเช่นเดียวกัน

เกาหลีสร้างชาติด้วยวัฒนธรรมสู่หมุดหมายของนักท่องเที่ยว

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจุบันกระแสความนิยมของเกาหลีใต้ได้รับความนิยมมากขึ้น

รวมถึงความนิยมของเกาหลีใต้ในประเทศไทย หลาย ๆ คนชอบดูซีรีส์เกาหลีใต้ ชอบนักแสดงและนักร้องเกาหลีใต้ กินอาหารเกาหลีใต้ รวมถึงตั้งเป้าหมายที่จะเดินทางไปเกาหลีใต้สักครั้งในชีวิต

ผลสำรวจแผนท่องเที่ยวระดับโลกประจำปี 2023 ของวีซ่า บริษัทที่ดูแลเรื่องการชำระเงินดิจิทัลระดับโลก (Visa Global Travel Intentions Study 2023) ระหว่างเดือนเมษายน - มิถุนายน 2023 ระบุว่า เกาหลีใต้ติดลิสต์อันดับ 2 จุดหมายปลายทางยอดนิยมของคนไทย รองจากญี่ปุ่น 

เหตุผลที่ทำให้เกาหลีใต้ครองใจผู้คนได้มากขนาดนี้ ดร.ไพบูลย์อธิบายไว้ว่า เกาหลีใต้ให้ความสำคัญกับเรื่องวัฒนธรรม แล้วใช้จุดแข็งนี้มากอบกู้ประเทศที่กำลังซบเซาจากพิษเศรษฐกิจเพื่อสู้กับ 2 ประเทศมหาอำนาจอย่างจีนและญี่ปุ่นที่ขนาบฝั่งเหนือและใต้ของประเทศ

“หลังจากเกาหลีฟื้นจากสงครามในยุค 60s ก็พยายามเน้นอุตสาหกรรมส่งออก แต่เกาหลีก็เผชิญปัญหาเรื่องภาพลักษณ์ของประเทศ เพราะญี่ปุ่นและจีนที่มีภาพลักษณ์และศักยภาพที่แข็งแกร่งกว่า เกาหลีเลยต้องปรับภาพลักษณ์ของประเทศให้มีเสน่ห์มากขึ้น แล้วก็ชวนให้ผู้คนมาซื้อสินค้า

“แล้วด้วยความที่ยุค 90s เป็นฮันรยู 1.0 คือยุคของ K-drama ตอนนั้นละครเกาหลีบังเอิญดังในตลาดเอเชียตะวันออก ตลาดจีน ตลาดญี่ปุ่น อย่าง Winter Sonata (เพลงรักในสายลมหนาว), Autumn in My Heart (รักนี้ชั่วนิรันดร์) หรือแดจังกึม เกาหลีเลยรู้ว่า มันเริ่มส่งออกได้ ฉะนั้นเกาหลีก็เลยเริ่มขยายจากคอนเทนต์พวกละครออกไปสู่เพลง ก็เลยเริ่มที่จะวางคอนเทนต์แนวนี้มากขึ้น

“จนมาถึงยุค 2.0 K-pop เริ่มเป็นที่รู้จัก ทำให้เกาหลีใต้เห็นว่าศิลปินของตัวเองก็โกอินเตอร์ได้ แล้วยุคนั้นบริษัทที่ดัง ๆ ก็เกิดขึ้นมากมาย ทั้ง YG JYP ก็เกิดช่วง 2000 ต้น ๆ พวกบริษัทเอนเตอร์เทนเมนต์ก็ปั้นกันน่าดู รัฐก็ให้การสนับสนุน”

หลังจากนั้นไม่นาน ปี 2008 รัฐบาลเกาหลีใต้จัดตั้ง ‘KOCCA’ (Korea Creative Content Agency องค์กรที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนอุปกรณ์  ซอฟต์แวร์ งบประมาณ การตลาด การส่งออกผลงานสู่ตลาดต่างประเทศ ให้คำปรึกษาเรื่องการสร้างสรรค์ผลงาน และการพัฒนาทักษะให้กับคนทำงานในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ภายใต้เป้าหมายที่อยากทำให้เกาหลีเป็น 1 ใน 5 ประเทศที่ทรงอิทธิพลด้านเนื้อหาของโลก

โดยมีการดูแลครอบคลุมทั้งหมด 9 อุตสาหกรรม ประกอบด้วย แฟชั่น เว็บตูน เกม แอนิเมชัน ภาพยนตร์ ละคร ละครเวที วงการเพลง และเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ 

ดร.ไพบูลย์บอกว่า KOCCA คือจุดเปลี่ยนสำคัญของเกาหลีใต้ที่ทำให้พวกเขาใช้วัฒนธรรมดั้งเดิมเกาหลีส่งออกสู่สายตาชาวโลก

“จุด Turning Point น่าจะเป็น 2008 ที่เกาหลีตั้ง KOCCA เกาหลีก็เลยเบนเข็มมาทำคอนเทนต์ กำไรค่อนข้างดี แล้วก็เป็นไปตามเป้าหมายว่าในยุค 2000 ประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา ปรากฏว่าภาพลักษณ์เกาหลีดีขึ้นมาก และทำให้เกาหลีส่งออกทุนทางวัฒนธรรมได้”

 

เที่ยวผ่านจอ กลยุทธ์การขายแบบไม่ขาย

“เกาหลีใช้คำว่า Tourism โดยไม่ต้องมาเที่ยวที่เกาหลี” ดร.ไพบูลย์อธิบายวิธีการส่งออกวัฒนธรรมเกาหลี

รายงานผลกระทบทางเศรษฐกิจ (Economic Impact Report: EIR) ของสภาการเดินทางและการท่องเที่ยวโลก (The World Travel & Tourism Council: WTTC) ซึ่งคาดการณ์ว่า การท่องเที่ยวเกาหลีใต้จะทำให้ GDP (ผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ) สูงขึ้นในอัตราเฉลี่ย 4.8% ระหว่างปี 2022 - 2032 อีกทั้งยังคาดการณ์ว่า ปี 2023 การท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ GDP ของเกาหลีใต้สูงขึ้นเกือบ 83.4 ล้านล้านวอน 

แตกต่างจากประเทศไทยที่ค่า GDP พึ่งการท่องเที่ยวเป็นหลัก ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า ก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การท่องเที่ยวไทยเคยสร้างรายได้สูงถึง 3 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 18% ของ GDP ในปี 2019

ดร.ไพบูลย์อธิบายเพิ่มเติมว่า เกาหลีใต้ต้องการให้คนเสพวัฒนธรรมเกาหลีผ่านอุตสาหกรรมบันเทิงมากกว่าเก็บกระเป๋าเดินทางมาเที่ยวในประเทศ  เพราะมองว่าประเทศเล็ก ๆ ของพวกเขาจะต้องแบกรับความเสี่ยงของนักท่องเที่ยวและการคัดกรองคนเข้าเมือง

“สิ่งที่เกาหลีทำก็คือโปรโมตการท่องเที่ยวโดยปราศจากการท่องเที่ยว คือการเสพ Cultural Content ประเทศของตัวเอง ยกตัวอย่างเช่น คุณอยู่เมืองไทย ตอนเช้าดูซีรีส์เกาหลี ตอนสายฟังเพลงเกาหลี กลางวันไปกินข้าวเกาหลี อันนี้มันคือการท่องเที่ยวโดยไม่ต้องเดินทางมา เพราะมันคือการบริโภคสินค้าทางทุนวัฒนธรรมในประเทศเขาเอง แล้วเกาหลีมองว่าโปรโมตการท่องเที่ยวไปก็อาจจะได้ไม่คุ้มเสีย หมายความว่าอาจจะได้คนลักลอบเข้ามาทำงานเป็นผีน้อย (แรงงานเกาหลีใต้ผิดกฎหมาย) เพิ่ม”

 

ผีน้อย แรงงานไทยในแดนโสมขาว

สถิติแรงงานไทยในเกาหลีใต้จากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ข้อมูลล่าสุดวันที่ 31 พฤษภาคม 2566) ระบุว่า มีคนต่างชาติในสาธารณรัฐเกาหลี 2,364,894 คน เป็นคนไทย 203,614 คน แบ่งเป็นพำนักถูกกฎหมาย 50,521 คน ผิดกฎหมาย 153,093 คน และวีซ่าทำงานหมดอายุ 5,639 คน

เหตุผลหลักที่ทำให้คนไทยเลือกไปทำงานในเกาหลีใต้ ผลการศึกษางานวิจัยเรื่อง ‘ปัญหาแรงงานไทยผิดกฎหมายในเกาหลีใต้’ ในปี 2558 โดย ประพันธ์ ดิษยทัต สถาบันการต่างประเทศเทวะวงศ์วโรปการ กระทรวงการต่างประเทศ ก็มีข้อมูลอธิบายเพิ่มเติมว่า หนึ่งในแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้แรงงานไทยไปเกาหลีใต้ คือ ‘ค่าจ้าง’ ที่สูงกว่าประเทศไทย

“ปัจจัยหลักของบ้านเรา ค่าแรงมันก็ไม่พอที่จะดูแลคนในครอบครัวอยู่แล้ว สมมติว่าพี่น้องจากต่างจังหวัดได้เงินค่าแรงขั้นต่ำของบ้านเราสัก 9,000 - 10,000 มันก็ไม่เพียงพอ ขณะที่เกาหลีใต้พวกเขาได้รับค่าจ้าง 50,000 - 60,000 ก็สามารถจะเลี้ยงทั้งครอบครัวได้” ดร.ไพบูลย์อธิบายเพิ่มเติม

นอกจากนี้งานวิจัยข้างต้นของประพันธ์ ดิษยทัต ยังระบุอีกว่า แรงงานไทยจะต้องเตรียมสอบภาษาเกาหลี ข้อกำหนดในการคัดกรองคนเข้าระบบแรงงานถูกกฎหมาย (คนที่สมัครเข้าโครงการ EPS (Emplyment Permit System) ของศูนย์การจ้างงาน กระทรวงแรงงานของเกาหลีใต้ จะต้องอายุไม่เกิน 40 ปี รวมถึงเงื่อนไขจากนายจ้าง) รวมถึงเผชิญกับค่าดำเนินการด้วยเงินที่สูง จึงทำให้เกิดบริษัทนายหน้าทั้งไทยและเกาหลีใต้ที่ประสานงานกับโรงงานหรือธุรกิจเกาหลีใต้ จัดหาแรงงานไทยไปเป็นแรงงานของเกาหลีใต้ด้วยการอบรมในการปลอมตัวเป็นนักท่องเที่ยว ดูแลบุคลิกภาพ การตอบคำถาม เพื่อให้สามารถผ่านด่านการตรวจคนเข้าเมืองได้

เพราะการมีอยู่ของบริษัทนายหน้าเหล่านั้น คือ การการันตีว่าพวกเขาจะเข้าประเทศได้อย่างไร้เงื่อนไข ในสภาวะที่เกาหลีเปิดประเทศ ทุกคนสามารถถือฟรีวีซ่า แค่เก็บกระเป๋าก็เข้ามาในประเทศได้เลย

ดร.ไพบูลย์ให้ความเห็นอีกว่า เกาหลีใต้เองก็เป็นประเทศที่มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี คือ ความหวังที่จะทำให้พวกเขาลืมตาอ้าปากและมีชีวิตที่ดีขึ้น 

“ชีวิตความเป็นอยู่ของคนเกาหลีดีขึ้นมาก ภาพลักษณ์ก็ดีขึ้นเยอะ คนก็เลยมองว่า ไหน ๆ ก็เสพวัฒนธรรมด้วยแล้วก็ได้เงินด้วย ก็ไปประเทศที่มีอะไรดี ๆ เพราะถ้าเทียบกับประเทศตะวันออกกลางก็อาจมีปัญหาความสงบของประเทศ แต่เกาหลีใต้การเมืองค่อนข้างเสถียร ก็เลยคิดว่าเกาหลีในช่วง 7 - 8 ปีที่ผ่านมา เกาหลีเป็นหนึ่งในเป้าของผีน้อยที่จะไปให้ได้

“สมัยก่อนที่จะเปิดลงทะเบียน K-ETA ก็คือซื้อตั๋ววัดดวง มีนายหน้าซ้อมให้ว่าต้องทำอย่างไร เพราะถ้าไม่มีนายหน้า ลักลอบเข้าไป เราก็ไม่มีงานทำ หมายถึงการจะไปทำงานหรือเป็นผีน้อยมันมีการพูดคุยมาก่อนตั้งแต่ที่เมืองไทยแล้ว 

“เช่นต้องมีญาติไปก่อน พอถามว่าจะไปยังไง อ๋อไปกับคนนี้สิ เขามีนายหน้านะ แล้วเขาก็จะปั้นเราแต่งตัว พาไปซื้อตั๋ว ถ้าคุณไม่ผ่านก็เหมือนกับเราซื้อลอตเตอรี่แล้วไม่ถูก แต่ว่าเขาก็จะมีวิธีปั้นให้เราผ่าน”

ส่วนใหญ่งานที่แรงงานไทยเข้าไปเป็นหนึ่งในฟันเฟืองขับเคลื่อนก็จะเป็นธุรกิจขนาดเล็ก หรืออาจเป็นธุรกิจที่อยู่ในต่างจังหวัดที่เจ้าของธุรกิจต้องการแรงงานราคาถูกเพื่อลดต้นทุนการผลิต

ขณะเดียวกัน แรงงานไทยผิดกฎหมาย กว่า 200,000 คนที่กล่าวถึงไว้ข้างต้น ดร.ไพบูลย์บอกว่า ในสายตาคนเกาหลีบางกลุ่มก็มองว่าพวกเขาเป็นภาระและต้นทุนทางสังคม 

“ผมคิดว่าแรงงานถูกกฎหมายไม่มีปัญหานะ เพราะเราไปทำงานในระบบอุตสาหกรรมของเขา ก็จะมีก่อสร้าง เกษตร มีหลาย ๆ อุตสาหกรรม หลาย ๆ เมือง ซึ่งคนแบบนั้นก็จะมีสิทธิตามกฎหมายทุกอย่าง แต่แรงงานที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย คนเหล่านี้จะมีสองประเภท หนึ่ง, คือ อยู่ในบริษัท SME สอง, จะอยู่ในที่ห่างไกล เวลาถูกเอาเปรียบจากนายจ้างหรือเจ็บป่วยก็ลำบาก เพราะมันไม่ได้ถูกกฎหมาย 

“แต่ที่เกาหลีก็มีการถกเถียงเหมือนกันว่า การที่คุณไม่ได้มาภายใต้ระบบที่ถูกต้องตามกฎหมาย คุณจะไม่มีประกัน ไม่มีประกันสังคม เจ็บป่วยก็ไม่มีสิทธิเบิกค่ารักษา ต้องซื้อยาที่ร้านขายยา แต่อีกมุมหนึ่งก็มองในแง่มนุษยธรรมว่า สิทธิการรักษาเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนควรมี แม้ว่าเจ็บป่วย ไม่มีเงินก็ต้องรักษา แต่ถ้ามีค่าใช้จ่ายสูงก็ต้องเข้าระบบประกัน 

“ต่อมาคือเรื่องเก็บภาษีไม่ได้ เพราะเกาหลีเป็นประเทศที่มีค่าแรงสูง มีสวัสดิการที่ดี อันนี้รัฐเอาภาษีมาใช้ แต่รัฐไม่ได้ภาษีจากผีน้อยกลุ่มนี้เลย แล้วสวัสดิการที่ผีน้อยใช้ ผมคิดว่าเป็นต้นทุนทางสังคม เหมือนปรสิตที่เกาะกินระบบ แต่ไม่ทำให้เกิดประโยชน์ แต่ดูดเลือดออกจากระบบ”

ดร.ไพบูลย์ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า สายตาของคนเกาหลีใต้ถือเป็นเรื่องดีที่จะมีคนเข้ามาช่วยขับเคลื่อนธุรกิจให้ก้าวไปข้างหน้า อีกทั้งปัจจุบันเกาหลีใต้ก็พยายามแก้ปัญหาด้วยการพยายามทำให้แรงงานผิดกฎหมายเข้าระบบให้ถูกต้อง เพื่อให้แรงงานมีสิทธิเท่าเทียมกับพลเมืองชาวเกาหลีใต้ อีกทั้งเป็นการรักษาความสัมพันธ์ทางด้านการทูตอีกทางหนึ่ง

“บางบริษัทใช้วิธีการซอกแซก ประการหนึ่งคือไม่อยากถูกตรวจสอบบัญชี และเป็นบริษัทอยู่ไกล เปิดรับสมัครก็ไม่มีคนอยากมา เพราะเป็นงานที่ลำบาก อยู่เขตห่างไกลจากเมือง เพราะฉะนั้นบริษัท SME ที่ไม่ได้จดทะเบียนเข้าระบบ หรือบริษัทที่ไม่อนุญาตให้นำเข้าแรงงานต่างชาติ เช่น บริษัทนวด บริษัทร้านอาหาร พวกเขาไม่มีทางเลือก ก็เลยต้องเลือกจ้างงานผีน้อย

“เหตุผลที่เขาไม่ลงทะเบียน เป็นไปได้ว่า เขาอาจใช้แรงงานเฉพาะฤดูกาล หรือเป็นไปได้ว่า ไม่อยากมีภาระระยะยาว แต่รัฐบาลก็พยายามตรวจจับ เพิ่มค่าปรับ ให้เข้ามาอยู่ในระบบ ทำให้ระเบียบมันเข้มงวดน้อยลง เกาหลีใต้ก็พยายามขยายประเภทอุตสาหกรรมให้คนขอแรงงานตามระบบได้ พยายามจะไม่ให้มีธุรกิจมืด แนวโน้มก็ทำให้ธุรกิจน้อยลง จำนวนผีน้อยก็น่าจะน้อยลง อยากให้คนเหล่านั้นออกมาสู่ที่สว่าง ไม่อยากให้เขาไปทำในที่มืด ๆ แล้วเวลาคุยกัน ตรงนี้มันจะเป็นจุดบอดที่ทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกัน นำมาสู่ปัญหาทางการทูตด้วย”

 

คนในอยากออก คนนอกอยากเข้า

ปี 2019 ข้อมูลจากสถาบันสตรีเกาหลีใต้ ระบุว่าคนรุ่นใหม่ในเกาหลีใต้ 75% บอกว่า บ้านเกิดของพวกเขา คือ ‘นรก’ 

อาจเป็นเพราะชีวิตที่เต็มไปด้วยการแข่งขันและความสมบูรณ์แบบ ทำให้พวกเขารู้สึกเครียด กดดัน และอึดอัด จนต้องการพื้นที่ที่พวกเขาเป็นอิสระและเป็นตัวเอง

ดร.ไพบูลย์ให้ความเห็นในประเด็นนี้ไว้ว่า ตอนนี้คนรุ่นใหม่ในเกาหลีใต้ก็อาจจะยังมีความคิดที่อยากจะย้ายประเทศ เพื่อหาดินแดนที่จะช่วยให้พวกเขาเติบโตและเป็นผู้ใหญ่ในแบบที่พวกเขาอยากเป็น

“คนรุ่นใหม่ที่มีแนวคิดเสรีพยายามจะท้าทายกรอบแนวคิดเดิม แต่ทำไม่ได้ เพราะเกาหลีใต้มีระบบการปกครองแบบเสรีประชาธิปไตยก็จริง มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง แต่ในแง่ของวัฒนธรรม เกาหลียังคงใช้ระบบสังคมแบบขงจื๊อ มีภาพของชายเป็นใหญ่ 

“ในเกาหลีเราจะไม่เห็นภาพยนตร์แนว LGBTQ หรือซีรีส์วายเหมือนประเทศไทย หมายถึงเกิดมาเป็นชายก็ต้องเป็นชาย เป็นหญิงก็เป็นหญิง เปลี่ยนไม่ได้ หรือกลุ่มผู้หญิงที่อยากจะพูดถึงสิทธิสตรี ไม่อยากให้ผู้หญิงเป็นผู้ที่จะต้องรับภาระ ดูแลแม่สามี ต้องมีลูกชายสืบสกุลและต้องหยุดทำงาน เพราะฉะนั้นกลุ่มที่เรียกร้องสิทธิเหล่านี้ก็เติบโตไม่ได้ในเกาหลี”

แล้วหนึ่งในนั้น คือ ประเทศไทย… ประเทศที่คนเกาหลีมองว่าเป็นประเทศใกล้บ้านที่มอบอิสระและมีความมั่นคงทางการเมือง เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ 

“ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอยู่ใกล้เกาหลีใต้ ประเทศที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพ คือ ประเทศไทยกับเวียดนาม ฉะนั้นก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกที่เกาหลีจะมาลงทุนในไทยและเวียดนาม แล้วก็จะมีชาวเกาหลีที่มาแล้วฉันไม่กลับแล้ว เพราะมันมีอิสรเสรี แล้วฉันค่อยกลับไปเยี่ยมพ่อแม่ดีกว่า แต่ฉันเลือกที่จะใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศ”

เราจึงเห็นคนเกาหลีเข้ามาทำงานและตั้งรกรากในประเทศไทย ดร.ไพบูลย์บอกว่า คนเกาหลีจะเป็นเจ้าของกิจการ หรืออาจเป็นพนักงานในบริษัทสัญชาติเกาหลีใต้ที่มีสาขาหรือเป็นบริษัทในเครืออยู่ในไทย

“เกาหลีที่เข้ามาในไทยยุค 90s ถึงประมาณยุค 2000 ส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจท่องเที่ยว เพราะคนเกาหลีจะมีนิสัยอย่างหนึ่ง คือ เวลามาเที่ยวก็อยากไปร้านอาหารเกาหลี ไปชอปปิงร้านของคนเกาหลี พอกระแส K-Culture ฮันรยูมา เกาหลีเริ่มมองเพราะว่าแทนที่จะขายกับคนเกาหลี คนไทยก็ชอบเหมือนกัน แล้วคนไทยก็มีกำลังซื้อ ขายคนไทยได้ เกาหลีก็เร่งเปิดกันใหญ่

“ตอนนี้คนเกาหลีใต้เปลี่ยนจากการรองรับนักท่องเที่ยว มาขายของให้คนไทย ร้านกาแฟเกาหลี ร้านบิงซูเกาหลี ร้านไก่ทอดเกาหลี ร้านอาหารเกาหลี แล้วเขาก็ต้องการคนเกาหลีมาบริหารงานด้วย เพราะฉะนั้นคนเกาหลีก็จะไม่ไปทำงานบริษัทคนไทย แต่ไปทำงานในบริษัทเกาหลีที่อยู่ในเมืองไทย เพราะฉะนั้นก็จะมีทั้งผู้ประกอบการ แล้วก็มาเป็นคนทำงานให้บริษัทเกาหลี จะไม่เหมือนกับคนไทยที่เป็นแรงงาน แต่เกาหลีจะเป็นผู้จัดการโรงงานของชาวเกาหลี ปัจจุบันน่าจะมีคนเกาหลีในไทยประมาณ 20,000 คน”

 

‘วีซ่า’ หลักประกันในการเดินทางและลดคำถามจากด่านตรวจคนเข้าเมือง

ก่อนหน้าที่โรคโควิด-19 จะแพร่ระบาด เกาหลีใต้คือประเทศฟรีวีซ่าสำหรับคนไทยเป็นเวลา 90 วัน แต่หลังจากสถานการณ์แพร่ระบาดรุนแรงขึ้น จนหลาย ๆ ประเทศต้องประกาศล็อกดาวน์และสร้างมาตรการตรวจคนเข้าเมืองที่เข้มงวดมากขึ้น

เกาหลีใต้เองก็สร้างระบบ K-ETA ขึ้นมาเพื่อคัดกรองคนเข้าประเทศ ระบบที่กำหนดคุณสมบัติของนักท่องเที่ยวและผู้คนที่ต้องการเข้าประเทศเกาหลีใต้ และเมื่อ K-ETA ได้รับการอนุมัติ คุณถึงจะมีสิทธิออกเดินทางมายังแดนโสมขาว 

ขอ K-ETA หนึ่งครั้ง มีค่าใช้จ่าย 10,000 วอน ใช้ชีวิตในเกาหลีใต้ได้ไม่เกิน 90 วัน มีอายุ 2 ปี ขอได้เพียง 3 ครั้ง หากไม่ผ่านจะต้องรอนานถึง 6 เดือน เพื่อดำเนินการขอใหม่อีกครั้ง หากจำเป็นต้องเดินทางเข้าเกาหลีใต้ระหว่างนั้น ต้องไปขอวีซ่าที่สถานทูตเท่านั้น 

ทว่าเมื่อดำเนินการตามขั้นตอนและได้รับการอนุมัติแล้ว บางคนเดินทางไปถึงเกาหลีใต้แล้วกลับถูกปฏิเสธเข้าประเทศ นั่นจึงทำให้เกิด #แบนเกาหลี เพื่อสะท้อนปัญหาของการตรวจคนเข้าเมืองเกาหลีใต้ โดยคนในสื่อสังคมออนไลน์ออกมาแบนการเข้าประเทศเกาหลีใต้ แล้วชวนกันไปเที่ยวประเทศเพื่อนบ้านอย่างญี่ปุ่นหรือไต้หวันแทน

ปัญหาที่เกิดขึ้น ดร.ไพบูลย์บอกว่า การขอ K-ETA ผ่านไม่ได้แปลว่าคุณจะสามารถเข้าประเทศได้ทันที เพราะมันเป็นเพียงระบบลงทะเบียนเบื้องต้นก่อนเข้าประเทศ เพราะคนที่จะพิจารณาการเข้าประเทศคือด่านตรวจคนเข้าเมือง

“พอเกิดโควิด-19 เกาหลีประกาศยกเลิกฟรีวีซ่า ไม่ให้คนไทยเดินทางมา คนที่จะไปเที่ยว ไม่เป็นไรหรอก แต่คนที่ไปหาเงิน เป็นผีน้อย ที่อยู่ ๆ จะบินไปเกาหลีได้เลย มันหยุดชะงักไป 2 - 3 ปี ก็เริ่มทำให้คนเหล่านี้เกิดความไม่พอใจ แต่พอปี 2021 เกาหลีใต้ใช้วิธีลงทะเบียนออนไลน์ K-ETA ขออนุญาตก่อน แล้วก็ต้องจ่ายเงินล่วงหน้าเพื่อออกตั๋วเดินทางไป แต่ถูก ตม. ปฏิเสธ

“เขาเลยรู้สึกเหมือนถูกหลอกให้ลงทะเบียน แล้วมาเอาเงินเขาทำไม 300 บาท จ่ายเงิน 10,000 วอน เพื่อลงทะเบียน มันเลยเกิดความคาดหวังมากกว่า แต่ต้องอธิบายก่อนว่า K-ETA ไม่ได้แปลว่าได้เข้า K-ETA คือการ submit เอกสารเบื้องต้น แล้วหลังจากนั้น การอนุมัติให้เข้าหรือไม่ให้เข้ามันอยู่ที่ ตม. อีกทีหนึ่ง มันคนละประเด็น ผ่านแล้วไม่ได้แปลว่าได้เข้า เราอาจจะถูกปฏิเสธหน้างานก็ได้”

หากต้องการไปเที่ยวด้วยความสบายใจ และลดคำถามของด่านตรวจคนเข้าเมือง การไปขอวีซ่า ดร.ไพบูลย์แนะนำว่า ให้เดินทางไปขอวีซ่าที่สถานทูตแทน 

“ถ้าจะไปเที่ยว ก็ไปขอวีซ่าที่สถานทูตใช้เวลาสัก 1 - 2 สัปดาห์ อาจจะซับซ้อนกว่า เอกสารอาจจะเยอะกว่า แต่มีโอกาสที่จะไม่ถูกปฏิเสธสูงกว่า แม้ว่า ตม. จะสังกัดกระทรวงยุติธรรมก็ตาม แต่เขาก็มีฐานข้อมูลแชร์กัน แล้วสถานทูตก็ผ่านการคัดกรองมาขั้นหนึ่งแล้วว่า คุณมาด้วยวัตถุประสงค์ตามที่ระบุไว้จริง ๆ แล้วก็คุณกลับแน่นอน คุณมีตัวตนแน่นอน คุณมีคนรับรองในเกาหลีแน่นอน เขาก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไม่ให้เข้า”

ดร.ไพบูลย์อธิบายเพิ่มเติมว่า การไปขอวีซ่าที่สถานทูตก็ถือเป็นการช่วยลดขั้นตอนในการคัดกรองคนเข้าประเทศ ไม่ผลักภาระให้กับด่านตรวจคนเข้าเมือง และคาดว่าสิ่งที่เกาหลีใต้ต้องการ คือ ‘เวลา’ ที่จะทำให้พวกเขาพิจารณาคุณสมบัติและประวัติการเดินทางของนักท่องเที่ยวได้ถี่ถ้วนขึ้น

“K-ETA ขอแค่บัตรประชาชน แล้วส่วนใหญ่ให้เรากรอกข้อมูลเอง และต้องอนุมัติภายใน 72 ชั่วโมง เป็นช่วงเวลาที่สั้นมาก เหมือนเวลาที่เข้าด่านตรวจคนเข้าเมือง ตอนเข้าห้องเย็นมีเวลาแค่ 5 นาทีที่เขาจะใช้ดุลพินิจว่าจะปล่อยหรือไม่ปล่อย

“แล้วเครื่องบินลำหนึ่ง 200 - 300 คน โอกาสที่จะหลุด มันถึงหลุดเป็นแสน เพราะฉะนั้นถามว่า เกาหลีต้องการอะไร เขาต้องการเวลาในการสกรีนที่สถานทูตดีกว่า อันนั้นชัดเจนกว่า ถ้าไม่พอใจ เรียกให้เอาเอกสารมาเพิ่มได้ แล้วปฏิเสธที่สถานทูต ตม. เกาหลีก็ไม่ถูกด่าด้วย เพราะเป็นสถานทูตในประเทศ แล้วเขาไม่อนุมัติเอง”

ในสายตานักท่องเที่ยว การเดินทางคือการพักผ่อน พวกเขาเองก็คาดหวังที่จะได้รับความสะดวกสบาย และหวังให้การเดินทางครั้งนั้นมอบประสบการณ์ใหม่ในชีวิต

เพราะอุปสรรคเพียงเล็กน้อย อาจส่งผลต่อความรู้สึกและแผนตลอดทริปนั้นไปเลย

เราก็หวังว่า  #แบนเกาหลี จะเป็นแฮชแท็กที่ทำให้คนทั้งสองประเทศได้เรียนรู้และหาทางออกร่วมกันในอนาคต
 

เรื่อง : ณัฐธนีย์ ลิ้มวัฒนาพันธ์

ภาพ :
 

อ้างอิง :

VISA

breakingtravelnews

KOCCA Directory Book 

Bank Of Thailand

HANKYOREH

traveloka