‘พนิดา เตียวตระกูล’ นักซ่อมความทรงจำ ผู้คืนชีพน้องเน่า คืนพลังชีวิตให้เจ้าของ

‘พนิดา เตียวตระกูล’ นักซ่อมความทรงจำ ผู้คืนชีพน้องเน่า คืนพลังชีวิตให้เจ้าของ

เรื่องราวของ ‘พนิดา เตียวตระกูล’ กับอาชีพนักซ่อมความทรงจำ ที่ต้อง ‘ใส่ใจ’ ในความบอบบางที่ซ่อนอยู่ในผู้คน

  • ‘พนิดา เตียวตระกูล’ หรือ ‘พี่ตุ๊ก’ เปิดร้านรับซ่อมน้องเน่าชื่อ ‘Sewing Thing’ หลังจากที่เธอต้องออกจากบริษัทแบบฟ้าผ่า
  • ความสุขในการทำงานซ่อมความทรงจำของพี่ตุ๊ก คือการได้มอบพลังชีวิตคืนกลับไปให้เจ้าของน้องเน่า
  • หัวใจสำคัญในการทำงานนี้คือการ ‘ไม่ตัดสิน’ และรับฟังอย่างใส่ใจ

เมื่อเราทุกคนต่างมีมุมบอบบางซ่อนอยู่ อาชีพรับซ่อมน้องเน่าจึงไม่ใช่แค่งานเย็บปักถักร้อย แต่ได้ชื่อว่าเป็น ‘นักซ่อมความทรงจำ’

เดิมที ‘พี่ตุ๊ก’ พนิดา เตียวตระกูล เปิดร้าน ‘Sewing Thing’ เพียงเพราะอยากหาอาชีพใหม่ หลังจากต้องอำลางานเก่าด้วยเหตุผลเรื่องการปรับโครงสร้าง แต่ทุกวันนี้สิ่งที่เธอได้รับจากอาชีพซ่อมตุ๊กตา หมอนเน่า ผ้าเน่า กลับมีความหมายต่อชีวิตมากกว่า ‘เงิน’

The People ชวนทุกคนกอดน้องเน่าแนบกาย ระหว่างติดตามเรื่องราวของ ‘นักซ่อมความทรงจำ’ ซึ่งทำให้รู้ว่า การพยายามเก็บรักษาความทรงจำ ไม่ว่าจะในรูปแบบใดก็ตาม ไม่ใช่เรื่องผิดปกติเลยสักนิด

จังหวะชีวิตที่พลิกผัน

ก่อนจะเปิดร้าน Sewing Thing ‘พนิดา เตียวตระกูล’ หรือ ‘พี่ตุ๊ก’ เคยทำงานเป็นพนักงานที่บริษัทชื่อดังแห่งหนึ่ง เธอทำงานนี้ตั้งแต่เรียนจบ และไม่ได้คิดจะเปลี่ยนไปทำงานอื่น กระทั่งช่วงก่อนที่โควิด-19 จะระบาดเพียงนิดเดียว บริษัทของเธอออกประกาศฟ้าผ่า คัดพนักงานบางส่วนออกเพื่อรีไซซ์องค์กร

พี่ตุ๊กโชคร้ายที่เป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกคัดออก

“ตอนนั้นก็งงอยู่ว่าจะยังไง เพราะว่าเราทำงานที่บริษัทนี้มาตั้งแต่เรียนจบ ไม่เคยไปไหนเลย ไม่เคยทำงานแบบเป็นอิสระของตัวเองด้วย”

ในระหว่างที่ท่องโซเชียลฯ เพื่อหาช่องทางทำกินใหม่ ๆ พี่ตุ๊กบังเอิญไปเจอเรื่องราวของคุณป้าชาวญี่ปุ่นที่รับซ่อมตุ๊กตา ‘โดราเอมอน’ สภาพยับเยิน จนหน้าตากลับมาเหมือนของใหม่ เมื่อไปส่องดูที่คอมเมนต์ใต้โพสต์ต้นเรื่อง จึงพบว่ามีคนอีกมากที่ต้องการฟื้นคืนชีพน้องเน่าสุดที่รัก ไม่ว่าจะเป็นตุ๊กตา หรือผ้าเน่า 

จังหวะนั้นพี่ตุ๊กจึงรีบเข้าไปเสนอตัวรับซ่อมตุ๊กตา - หมอนเน่าที่ใต้โพสต์ดังกล่าว เพราะตัวเองพอจะมีทักษะด้านการตัดเย็บอยู่บ้าง จากประสบการณ์วัยเด็กที่ได้ช่วยคุณแม่ซึ่งประกอบอาชีพช่างตัดเย็บเสื้อผ้า 

ปรากฏว่ามีคนติดต่อเข้ามาจริง ๆ 

“คนแรกน่าจะเป็นเด็กผู้ชาย เป็นตุ๊กตาหมี เราก็ถามเขาว่า กล้าให้เราทำเหรอ ก็คุยกันสนุก แล้วเราก็เอามาลองทำ เขาก็แฮปปี้” 

หลังผลงานชิ้นแรกผ่านไปด้วยดี ผลงานชิ้นที่สอง ชิ้นที่สาม ก็ตามมา ยิ่งพอนำผลงานไปลงในโซเชียลมีเดีย พี่ตุ๊กก็เริ่มมีลูกค้ามากขึ้นเรื่อย ๆ 

“(ลูกค้า) มีทุกเพศทุกวัยเลยค่ะ อายุ 40 กว่า ๆ ก็มี ผู้ชายก็เยอะนะคะ ส่วนใหญ่จะให้ซ่อมพวกตุ๊กตาหมี หมอนหนุนที่มันเป็นหลุมของเด็กทารก แล้วก็ผ้าเน่า ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาหวงเขารักจริง ๆ เป็นแนวคุณแม่หรือคุณยายที่เคยซ่อมให้ เสียชีวิตไปแล้ว เขาเลยอยากให้เราช่วยดูแลต่อ” 

ความสุขของนักซ่อมความทรงจำ

เมื่อผลงานเริ่มเป็นไวรัลในโซเชียลมีเดีย พี่ตุ๊กจึงได้รับการยกย่องให้เป็น ‘นักซ่อมความทรงจำ’ ที่มีลูกค้าต่อคิวยาวเหยียด 

พี่ตุ๊กเล่าถึงกระบวนการในการรับงานซ่อมความทรงจำว่า ต้องเริ่มต้นจากการให้ลูกค้าส่งรูปน้องเน่ามาให้ดู ทั้งรูปในอดีตและรูปปัจจุบัน โดยเฉพาะรูปในอดีต (ที่ส่วนใหญ่หากันไม่ค่อยเจอ) ซึ่งจะทำให้พี่ตุ๊กจินตนาการออกว่า น้องเน่าแต่ละตัวเคยมีหน้าตาเป็นอย่างไรมาก่อน 

“จริง ๆ ขั้นตอนที่สนุกสุดคือตอนที่คุยกับลูกค้านั่นแหละ เริ่มแรกเลยพี่จะให้เขาเขียนโน้ตมาอธิบายความเป็นมาของน้องเน่า เขาก็จะเล่าว่าอันนี้ได้มาจากคุณพ่อคุณแม่ที่ซื้อให้ตั้งแต่เด็ก อันนี้เป็นความทรงจำที่คุณย่าคุณยายหรือพี่เลี้ยงเคยซ่อมให้ บางคนตอนมาส่งน้องเน่าก็ไม่ยอมให้พี่สักที ยืนกอดอยู่หน้าบ้านนั่นแหละ” (หัวเราะ)

ระยะเวลาในการซ่อมน้องเน่าแต่ละตัว ขึ้นอยู่กับความยากง่าย บ้างก็เป็นสัปดาห์ บ้างก็เป็นเดือน บางตัวก็ต้องใช้เวลานานกว่าจะหาผ้าที่มีเนื้อใกล้เคียงกับของเดิมมากที่สุด บางตัวแก้แล้วก็ยังไม่ถูกใจลูกค้า ต้องอาศัยแก้ไปคุยไปทีละจุด 

“เราต้องคุยกับเขาละเอียดมากค่ะ ค่อย ๆ ทำไปทีละจุดแล้วส่งภาพให้เขาดูว่าโอเคไหม จุดนี้ผ่านไหม บางทีเขาอาจจะตอบกลับมาว่าอันนี้เบี้ยวไป อันนี้ขอให้เล็กลงหน่อยได้ไหม เลยต้องทำไปคุยไป

“มันเป็นงานที่ใช้พลังงานเยอะพอสมควร บางทีพี่ก็เริ่มต้นไม่ถูกเลย บางทีก็ถอดใจเพราะกลัวว่าจะทำ feeling เขาหายไป”

แต่ถึงแม้ว่างานจะดูมีรายละเอียดมาก และต้องอาศัยความ ‘ใส่ใจ’ เป็นพิเศษ สิ่งที่พี่ตุ๊กได้คืนกลับมานั้นนับว่า ‘คุ้มค่า’ 

“(ลูกค้า) ส่วนมากบอกว่า น้ำตาไหล พี่ก็ได้ความสุข ได้รอยยิ้ม และได้เรียนรู้ว่าทุกคนต่างมีมุมที่บอบบางซ่อนอยู่ บางครั้งเขาอาจจะไม่บอกใคร หรือบอกใครไม่ได้ แล้วเขาก็ไว้ใจเรา 

“บางคนบอกกับพี่ว่า พี่ช่วยดูแลให้ด้วยนะ เพราะมันเป็นสิ่งเดียวที่ผมมีอยู่ในบ้าน เหมือนเขาไม่มีใครหรืออะไรที่จะช่วย heal ใจ หรือทำให้เขารู้สึกดีขึ้น

“เท่าที่เห็นมีเยอะนะ ผู้คนที่เดี๋ยวนี้บอบบาง และต้องการอะไรตรงนี้ เหมือนเขาแค่ได้เจอ ได้เห็น ได้จับ ได้หอม ได้กอด เขาก็ดีขึ้น พี่ก็ชื่นใจไปกับเขา บางคนถามว่าพี่ทำได้ยังไง พี่ก็ดีใจ เหมือนเราได้มอบพลังชีวิตกลับไปให้เขา” 

หัวใจสำคัญในการทำงาน 

“งานชิ้นไหนที่พี่ตุ๊กประทับใจมากที่สุดคะ” เราถาม 

“ประทับใจมากที่สุดจะเป็นตัวที่ไวรัลในทวิตเตอร์ เป็นตุ๊กตาน้องหมูที่เขาเขียนมาบอกว่า คุณย่าที่เป็นคนซ่อมให้เสียชีวิตไปหลายปีแล้ว และไม่มีใครซ่อมให้อีกเลย ตัวนี้พี่ก็ถอดใจเหมือนกัน เพราะคิดไม่ออกว่าจะทำยังไง ช่วงนั้นพี่เพิ่งเริ่มทำด้วย แต่สุดท้ายก็คิดว่า เอาวะ ลองทำดู เพราะตอนที่คุยกับเขา พี่จับความรู้สึกได้ว่า จะไม่มีใครทำให้เขาแล้ว เหมือนพี่เป็นที่พึ่งทางใจที่สุดท้ายของเขา” 

ส่วนอีกตัวที่ทำให้พี่ตุ๊กมีชื่อเสียงในโซเชียลคือตุ๊กตาน้องวัว ที่ลูกค้าเอามาซ่อมให้พี่ชาย ซ่อมเสร็จแล้วลูกค้าก็เอาไปเซอร์ไพรส์พี่ชาย พี่ชายก็ตกใจมากที่พี่ตุ๊กสามารถซ่อมให้ตุ๊กตากลับมาเป็นเหมือนเดิม

“แล้วพี่ชายก็เลยไปถ่ายรูปกับตุ๊กตา ทำท่านอนหงายบนเตียงเหมือนรูปถ่ายตอนเด็ก ๆ ลูกค้าก็เอาไปลงในทวิตเตอร์ ทีนี้ก็ระเบิดมาอีกครั้งหนึ่ง” พี่ตุ๊กเล่าด้วยสีหน้าเปื้อนรอยยิ้ม

นอกจากความใส่ใจในการคืนชีพให้น้องเน่าแต่ละตัว ที่สร้างความดีอกดีใจให้ลูกค้า สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญในการทำงานซ่อมความทรงจำสำหรับพี่ตุ๊กคือการ ‘ไม่ตัดสิน’ ลูกค้า

“ด้วยความที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อน พี่จะรับฟังเขา และจะไม่ไปตัดสินเขาว่า อ้าว! ทำไมโตขนาดนี้ยังเก็บตุ๊กตา ผ้าเน่าไว้ กลิ่นขนาดนี้เก็บไว้ทำไม บางคนเคยโดนถามว่าทำไมไม่ทิ้งไป ทำไมไม่ซื้อใหม่ ซึ่งเขาบอกใครไม่ได้ เพราะมันมีบางสิ่งอยู่ในตุ๊กตา ผ้าเน่า บางสิ่งที่อะไรก็ทดแทนไม่ได้” 

นี่คือเรื่องราวการสร้างอาชีพจากความ ‘ใส่ใจ’ ในความบอบบางที่ซ่อนอยู่ในผู้คนของพี่ตุ๊ก - พนิดา เตียวตระกูล นักซ่อมความทรงจำแห่งร้าน Sewing Thing ที่เราคิดว่าสามารถนำไปปรับใช้ได้กับทุกอาชีพ 

และไม่แน่ว่าอาจทำให้ใครบางคนเกิดแรงบันดาลใจ ในการสร้างอาชีพใหม่ ๆ