เรื่องราวของ ‘พัฒนา จึงรุ่งเรืองกิจ’ ผู้ก่อตั้ง ‘ไทยซัมมิทกรุ๊ป’ ความสำเร็จที่เริ่มจากการซ่อมเบาะให้ Yamaha

เรื่องราวของ ‘พัฒนา จึงรุ่งเรืองกิจ’ ผู้ก่อตั้ง ‘ไทยซัมมิทกรุ๊ป’ ความสำเร็จที่เริ่มจากการซ่อมเบาะให้ Yamaha

‘พัฒนา จึงรุ่งเรืองกิจ’ คนจีนที่ช่วยพ่อแม่ขายก๋วยเตี๋ยวตั้งแต่เด็ก กลายเป็นผู้วางรากฐาน ‘ไทยซัมมิทกรุ๊ป’ อาณาจักรรถยนต์ที่เกิดจากความบังเอิญช่วยซ่อมเบาะให้ ‘เจ้าหน้าที่ Yamaha’

หากเอ่ยชื่อตระกูล ‘จึงรุ่งเรืองกิจ’ หลายคนก็น่าจะรู้อยู่แล้วทั้งคนในสายการเมืองและสายธุรกิจ ธุรกิจของตระกูลนี้ก็คือ ‘ไทยซัมมิทกรุ๊ป’ (Thai Summit Group) หนึ่งในผู้นำธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยและเอเชีย ที่ถือว่ายังเป็นธุรกิจที่น่าสนใจ และหลายคนมองว่าเรื่องราวของผู้ก่อตั้ง ‘พัฒนา จึงรุ่งเรืองกิจ’ สร้างแรงบันดาลใจได้

พัฒนา (ชื่อจีนก็คือ ‘ฮั้งฮ้อ แซ่จึง’) เป็นพ่อแท้ ๆ ของ ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ ลูกชายคนโตของตระกูลนี้ โดยมีน้องอีก 4 คน เขา(พัฒนา)เป็นคนจีนที่อาศัยอยู่ในเมืองจีนตั้งแต่เกิด เป็นลูกชายของพ่อ ‘โหลยช้วง แซ่จึง’ กับแม่ ‘บ่วยเชียง แซ่โป่ว’ พ่อแม่ของเขาทำอาชีพค้าขายตั้งแต่อยู่ที่เมืองจีน แต่ได้ตัดสินใจอพยพมาที่ประเทศไทย และเปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยวขึ้น

 

ฝึกสกิลขายของตั้งแต่เด็ก

ด้วยความที่ พัฒนา หรือ ฮั้งฮ้อ เป็นลูกชายของตระกูลจึงเดินทางมาเมืองไทยกับป๊าม้า และมีพี่ชายอีกคนติดสอยห้อยตามมาด้วยกันชื่อว่า ‘สรรเสริญ จุฬางกูร’ เขาลาออกจากโรงเรียนตั้งแต่ ป.4 เพราะที่บ้านยากจนมาก พ่อแม่ต้องการย้ายมาเมืองไทยและขายของทุกอย่างที่ทำได้ในตอนนั้น

ในวันหนึ่งพ่อแม่ของพัฒนาได้เปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยวขึ้นเพราะเห็นโอกาสที่จะสร้างเนื้อสร้างตัวที่ไทยได้มากกว่าเมืองจีน โดยพัฒนาได้ช่วยพ่อแม่ขายก๋วยเตี๋ยวตั้งแต่อายุ 8 - 9 ขวบ

จนเขาได้พบรักกับลูกสาวร้านขายกระเพาะปลาที่ตั้งอยู่ใกล้ ๆ กันที่ย่านบางรัก ก็คือ ‘สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ’ เขาทั้งสองพบรักกันตอนเรียนที่โรงเรียนกรุงเทพพิทยา ใช้เวลาคบหาดูใจกันตั้งแต่อายุได้ 10 ปี และใช้เวลานานหลายปีกว่าที่จะตัดสินใจแต่งงานใช้ชีวิตร่วมกัน

เลือดของนักสู้ชีวิตถูกส่งต่อไปถึงพี่น้องทุกคนของพัฒนา ซึ่งพี่ชายของพัฒนาก็คือ ‘สรรเสริญ’ ได้ร่วมลงทุนกับเพื่อนเปิดร้านซ่อมเบาะชื่อร้านว่า ‘สามอิ้ว’ ตอนนั้นถือว่าในไทยยังมีไม่มากนัก ส่วนใหญ่คนไทยยังใช้การปั่นจักรยานมากกว่า แต่ร้านของสรรเสริญนั้นรับซ่อมเบาะเกือบทุกชนิดก็ว่าได้ ทั้งรถจักรยาน, รถจักรยานยนต์ ที่ซอยทรัพย์ สี่พระยา

แต่แล้วกิจการร้านซ่อมเบาะในช่วงแรก ๆ ไม่เป็นไปอย่างที่คาดหวัง คนไม่นิยมและยังไม่เข้าใจเรื่องการซ่อมแซมเบาะ ทำให้เพื่อนของสรรเสริญขอถอนตัวออกจากการลงทุนร้าน จึงทำให้เหลือแค่ 2 พี่น้อง พัฒนาและสรรเสริญ ที่ต้องช่วยกันประคองธุรกิจนี้ให้อยู่รอดต่อไป

จุดเปลี่ยนชีวิตพัฒนา

ข้อมูลจาก The States Times พูดถึงบทสัมภาษณ์จากผู้เป็นภรรยาของพัฒนา เกี่ยวกับอุปนิสัยส่วนตัวของเขาว่าเป็นคนที่ค่อนข้างขยันมาก ตื่นเช้ามาก็จะไปเฝ้าร้านซ่อมเบาะทุกวัน จนมาวันหนึ่งที่ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนของพัฒนาและร้านนี้เลยก็ว่าได้

มีเจ้าหน้าที่จาก Yamaha เข้ามาสอบถามที่ร้านของพัฒนาและพี่ชาย โดยถือเบาะรถจักรยานยนต์มาด้วย และถามพัฒนาว่า “คุณทำแบบนี้ได้ไหม?” พัฒนาจึงรีบตอบว่า “ทำได้” ทันทีที่ลูกค้าถาม หลังจากนั้นเขาก็พยายามไปตามหาอะไหล่เพื่อซ่อมเบาะ แล้วมาทำซ่อมแซมเองก่อนที่ลูกค้าคนนั้นจะมารับ

ผลปรากฏว่า วิธีการซ่อมเบาะของพัฒนาเป็นที่ถูกอกถูกใจของเจ้าหน้าที่รายนั้น นำมาซึ่งรายได้ที่เกินจะคาดเดาได้ เพราะหลังจากนั้นไม่นานทาง Yamaha ก็ส่งต่องานเบาะมาที่ร้านของสรรเสริญและพัฒนาเรื่อย ๆ เพราะความเชื่อใจ ซึ่งชื่อเสียงของร้านก็เป็นที่ยอมรับมากขึ้น จนมีบริษัทใหญ่ของต่างประเทศรายอื่น เช่น HONDA, Suzuki, และ Kawasaki เข้ามาติดต่อที่ร้านและใช้บริการอยู่เรื่อย ๆ

เมื่องานมาเงินดีขึ้น เขาทั้งคู่ก็ได้คิดเรื่องการขยับขยายร้านและทำธุรกิจนี้อย่างจริงจัง โดยขยายร้านไปที่แถวสาธุประดิษฐ์ มีการสร้างโรงงานและใช้ชื่อร้านว่า ‘ซัมมิท ออโต อินดัสตรี จำกัด’ ซึ่งธุรกิจก็ขยายไลน์สินค้ามาอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่รับซ่อมแซมอย่างเดิม แต่เริ่มขายชิ้นส่วนอะไหล่รถจักรยานยนต์และรถยนต์มากขึ้น

ตอนนั้นพัฒนาคิดว่า “ถ้าเราทำแต่เบาะ เกิดไม่มีงานหรือมีคู่แข่งมากขึ้นกิจการก็คงแย่ เขาเลยของานทำชิ้นส่วนรถจากญี่ปุ่นไปด้วย ซึ่งทำไปทำมากลายเป็นว่าธุรกิจที่เป็นงานผลิตชิ้นส่วนรถโตเร็วมาก” หนึ่งในประโยคที่สมพรให้สัมภาษณ์กับสื่อ

ในปี 2520 พัฒนาตัดสินใจแยกตัวออกจากธุรกิจของพี่ชาย และได้ซื้อที่ดินเปล่าแถว ๆ บางนา-ตราด แน่นอนว่าเขากำลังคิดทำธุรกิจที่เริ่มต้นขึ้นมาจากตัวเขาเอง ซึ่งเขาเอาความถนัดและประสบการณ์จากร้านของสรรเสริญมาเปิดร้านขายอะไหล่ต่าง ๆ เกี่ยวกับรถจักรยานยนต์และรถยนต์ และใช้ชื่อร้านว่า ‘ไทยซัมมิท’ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ซึ่งพัฒนาและสมพรได้สร้างธุรกิจนี้มาด้วยกัน ช่วยกันตามหน้าที่ที่ถนัด โดยตอนนั้นพัฒนานั่งเป็นประธานบริษัท และสมพรก็เป็นเลขาฯ เพราะเธอเข้าใจในวิธีการจัดการทุก ๆ เรื่องของบริษัท ทั้งนี้ทั้งสองมีลูกด้วยกันทั้งหมด 5 คน ก็คือ ธนาธร, ชนาพรรณ, รุจิรพรรณ, สกุลธร และบดินทร์ธร

ทั้งนี้ พัฒนาและสมพรต่างก็พร่ำสอนให้ลูก ๆ เรียนรู้ที่จะลำบากมาก่อน เข้าใจและรู้ว่าพ่อกับแม่ผ่านอะไรมาด้วยกันบ้าง อย่าง ‘ธนาธร’ ในฐานะที่เป็นพี่ชายคนโต ช่วง ป.3 ก็เคยเข้าไปช่วยงานที่บ้านตั้งแต่ตอนนั้น โดยทุก ๆ ปิดเทอมพ่อจะให้ทำงานนับเหล็ก และให้ค่าแรงวันละ 30 บาท หรือแม้แต่ตอนที่เขาต้องไปใช้ชีวิต ล้างถ้วยล้างชามอยู่ที่สหรัฐอเมริกาตอนช่วงวัยรุ่นแถมยังต้องเรียนให้ดีด้วย

ในปี 2545 พัฒนาเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง ซึ่งใจความในหนังสือที่ระลึกในพิธีพระราชทานดินบรรจุศพ พัฒนา จึงรุ่งเรืองกิจ สมพรได้ให้พันธสัญญาไว้หนักแน่นว่า “จิตใจอันแน่วแน่ของฉันได้พูดกับเขาว่า ป่าป๊าไม่ต้องเป็นห่วงอะไร สิ่งต่าง ๆ ที่ป่าป๊าสร้างไว้และอุดมการณ์ของพ่อ ม้าจะสานต่อและรักษาไว้ให้ได้”

นอกจากนี้ สมพรยังให้สัมภาษณ์นานมาแล้วว่า สูตรการทำธุรกิจของพัฒนาแม้ว่าไม่มีสูตรที่ตายตัว แต่เขาก็ยึดถือเรื่องสำคัญอยู่ 3 อย่างก็คือ ‘ระบบดี - คนดี - สังคมดี’ และใช้วิธีการบริหารธุรกิจแบบครอบครัวคนจีนที่ค่อนข้างเก็บตัว โฟกัสที่การทำงานและออกงานสังคมน้อย

ปัจจุบัน สมพรยังนั่งเป็นประธานกรรมการบริหารของไทยซัมมิทกรุ๊ป แต่ก็มีลูก ๆ คนรุ่นใหม่ที่เข้ามาช่วยงานธุรกิจครอบครัวไปด้วย ชีวิตของพัฒนาในฐานะผู้ริเริ่มความคิดการทำให้ธุรกิจซ่อมเบาะให้เป็นมากกว่านั้น

จนวันนี้เติบโตกลายเป็นอาณาจักรไทยซัมมิทที่มีธุรกิจในเครือเกือบ 50 บริษัท จากจุดเล็ก ๆ ที่กอบโกยสร้างด้วยสองมือเล็ก ๆ จนวันนี้พัฒนาได้วางรากฐานธุรกิจให้เป็นผู้นำในระดับเอเชียได้ ถือเป็นเรื่องราวดี ๆ ที่สร้างแรงบันดาลใจน่าประทับใจทีเดียว

 

ภาพ : Dr.Chatkaew H. / YouTube

อ้างอิง :

Thaisummit

Forbes

Thestatestimes

Longtunman

Facebook

Youtube