‘ขอม’ คือ ‘เขมรโบราณ’ และส่วนหนึ่งกลายมาเป็น ‘ไท’ (ไทย)

‘ขอม’ คือ ‘เขมรโบราณ’ และส่วนหนึ่งกลายมาเป็น ‘ไท’ (ไทย)

ชวนหาคำตอบว่า ‘ขอม’ คือใคร ทำไมกลับมาเป็นประเด็น? พร้อมทำความเข้าใจถึงการมีวัฒนธรรมร่วมรากจากประวัติศาสตร์ที่สัมพันธ์กัน

KEY

POINTS

  • จารึกสุโขทัยมีคำว่า ‘ขอมสบาดโขลญลำพง’ เป็นผู้ครองกรุงสุโขทัยอยู่ก่อนที่สองพ่อขุนจากเมืองบางยางและเมืองราด คือ ‘พ่อขุนบางกางหาว’ และ ‘พ่อขุนผาเมือง’ จะยกทัพไปขับไล่ได้รับชัยชนะแล้วสถาปนาแคว้นสุโขทัยขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1780  
  • คนไทยที่กลายเป็นเขมรในกัมพูชา กับคนเขมรที่กลายเป็นไทยในสยาม ปัจจุบันมาขัดแย้งกันว่าใครเป็นไทย เป็นเขมร (ของแทร่) และจำนวนไม่น้อยก็เป็นลูกหลานของบรรพชนที่ถูกกวาดต้อนมาจากที่อื่น ไม่ว่าจะเป็นลาว พม่า มลายู หรือที่อพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารอย่างชาวจีน แขก ฝรั่ง ฯลฯ ล้วนแต่ไม่มีใครเป็น ‘ไทยแท้’ เช่นเดียวกัน เขมรปัจจุบันก็เป็นลูกผสม ปนไทย ปนลาว ปนเวียด ปนจีน ปนจาม ฯลฯ กันมาก  จนไม่มี ‘เขมรแท้’ เหมือนกันนั่นแหละ!!!   

ช่วงหลังมานี้การทะเลาะเบาะแว้งระหว่างไทยกับเพื่อนบ้านฝั่งตะวันออกอย่างกัมพูชา มีเรื่องให้ต้องเคลม ๆ ฟ้อง ๆ  กันอยู่เรื่อย ๆ แรกเริ่มเดิมทีจากเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ จำพวกดอกไม้ (ลำดวน) โขน หนัง ละคร เสื้อผ้าหน้าผม ล่าสุดคือกรณีที่มหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่งของภาคอีสานได้ดำเนินการฟ้องร้องผู้จัดการประกวดนางงามที่ประเทศกัมพูชา ข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์นำเอาผลงานของนักศึกษาไปดัดแปลงใช้ในเวทีประกวดดังกล่าว  

กรณีนี้ผู้เขียนได้ให้สัมภาษณ์แก่วอยซ์ทีวีฝ่ายต่างประเทศไปเมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมาว่า ไม่เห็นด้วยที่มหาวิทยาลัยจะลงไปเป็น ‘ผู้เล่น’ หนึ่งในสนามความขัดแย้งนี้ด้วย การทะเลาะขัดแย้งกันระหว่างสองฝ่ายสะท้อนความไม่เข้าใจ ‘วัฒนธรรมร่วมราก’ ที่ประเทศในอุษาคเนย์มีร่วมกัน มหาวิทยาลัยควรทำหน้าที่ของตนคือการให้สติปัญญาแก่สังคม ไม่ใช่ลงไปร่วมเล่นซึ่งจะทำให้ความขัดแย้งบานปลายมากขึ้น  

ถ้าเราเห็นแก่ประโยชน์ของชาติบ้านเมือง ก็ไม่ควรไปทะเลาะกับเพื่อนบ้าน จริงอยู่เขาเคลมมา บางครั้งมันก็เหมือนเด็กทะเลาะกัน ต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแสดงวุฒิภาวะ เรื่องถึงจะยุติ ไม่ใช่ไปตบตีเพื่อหวังเอาชนะคะคานเอาสนุกมันส์อะไรกัน โตแล้วก็ควรรับมือกับปัญหาอย่างคนที่โตแล้ว คือมีสติรู้จักยับยั้งชั่งใจและใช้ปัญญามากกว่าอารมณ์  

อีกกรณีที่สืบเนื่องกัน มิตรสหายหลายท่านต่างบ่นให้ผู้เขียนรับรู้ถึงความน่ารำคาญของคนไทยบางกลุ่ม ที่กำลังผลิตสร้างวาทกรรมความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย - กัมพูชา เพจโซเชียลฯ ต่าง ๆ ล้วนแต่ถูกคุกคามเมื่อนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับวัฒนธรรมร่วมราก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโบราณสถานประเภทปราสาทที่กระจายอยู่ทั่วไปในภูมิภาคอีสาน ภาคตะวันออก ภาคกลาง ภาคตะวันตก และบรรดาศิลปกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ถ้าใช้คำว่า ‘...แบบเขมร’ หรือ ‘...ของเขมร’ เป็นต้องถูกกลุ่มคนดังกล่าวมาก่อกวน หาว่าพวกเขาเหล่านั้นผิด ที่ถูกต้องแบบตนคือบอกว่า ‘...ของขอม’ หรือ ‘...ของอินเดีย’ และ ‘เขมรเป็นแค่ทาสแบกหิน’

ที่บอกว่า ‘...ของขอม’ ก็ด้วยเชื่อมั่นในทฤษฎีเก่าที่ถูกตีตกไปนานแล้วที่ว่า ‘ขอมไม่ใช่เขมร’ และ ‘อินเดียเป็นเจ้า’ ‘เขมรเป็นทาส’ โดยอ้างว่าเขมรปัจจุบันสืบเชื้อสายมาจาก ‘ตาแตงหวาน’ ผู้นำการกบฏตั้งราชวงศ์ใหม่ในประวัติศาสตร์กัมพูชา แต่ตกม้าตายเพราะบรรดาปราสาทศาสนสถานที่ว่ากันนี้ล้วนแล้วแต่เป็นของมีมาก่อนหน้าสมัยปลายพุทธศตวรรษที่ 19      

อันที่จริง ชุมชนวิชาการไทยนั้นเปิดกว้างมากพอที่ใครจะนำเสนออะไรก็ได้ เพียงแต่สิ่งที่เสนอนั้น (1) ต้องไม่เป็นข้อเสนอเก่าที่เคยมีการเสนอกันมาแล้ว พูดง่าย ๆ คือไม่ซ้ำกับคนอื่นที่เคยพูดมาก่อนหน้า (2) ข้อเสนอต้องผ่านกระบวนการศึกษามาอย่างละเอียดรอบด้านมากพอ จึงจะเป็นที่เชื่อถือ ไม่ใช่มาหวังสร้างความเชื่อถือผ่านสื่อสาธารณะอย่างโซเชียลมีเดีย ที่ใคร ใคร่ โพสต์ ก็โพสต์ได้ ไม่เหมือนวารสารวิชาการที่ต้องผ่านกระบวนการกลั่นกรองก่อนตีพิมพ์ (3) ไม่คุกคามคนเห็นต่างจากตน ไม่ใช่พอไม่เห็นด้วย เถียงสู้ไม่ได้ขึ้นมาก็เอาชื่อไปแขวน เพื่อให้บรรดาลูกหาบพากันยกโขยงเอาทัวร์ไปลงโจมตีด่าว่ากันสาดเสียเทเสีย หนักเข้าก็ไปหาว่านักวิชาการเหล่านั้น (ที่เห็นต่างจากตน) เป็นพวกขายชาติ รับเงินเขมร (ไปโน่น)    

สิ่งนี้นอกจากถือเป็นมารยาทที่ปฏิบัติกันในชุมชนวิชาการแล้ว ยังควรต้องถือเป็นมารยาททางสังคมทั่วไป เป็นธรรมเนียมสากลของคนในสังคมประชาธิปไตยด้วย แต่กลุ่มผู้นิยมระบอบเผด็จการในประเทศไทยคงไม่เข้าใจ เพราะระบอบเผด็จการใด ๆ ก็ล้วนแต่ตั้งอยู่ได้ด้วยการใช้ความลวงเป็นเครื่องมือ ในขณะที่มนุษย์ที่เข้มแข็งและสมบูรณ์นั้นคือคนที่กล้าเผชิญหน้ากับ ‘ความจริง’    

ขอม/เขมร ไทยไม่แท้-เขมรเทียม & เรื่องเก่าเล่าใหม่-เหล้าเก่าในขวดใหม่ 

‘ขอม’ นั้นเป็นคำที่ปรากฏในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของไทย ล้านนา ล้านช้าง กล่าวถึงกลุ่มคนที่เคยมีอำนาจปกครองอยู่ในแถบอุษาคเนย์ภาคพื้นทวีป จารึกสุโขทัยมีคำว่า ‘ขอมสบาดโขลญลำพง’ เป็นผู้ครองกรุงสุโขทัยอยู่ก่อนที่สองพ่อขุนจากเมืองบางยางและเมืองราด คือ ‘พ่อขุนบางกางหาว’ (หรือพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ พระราชบิดาของพ่อขุนรามคำแหง) และ ‘พ่อขุนผาเมือง’ จะยกทัพไปขับไล่ได้รับชัยชนะแล้วสถาปนาแคว้นสุโขทัยขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1780  

เอกสารตำนานของล้านนาก็กล่าวถึง ‘พญากลอมดำ’ หรือ ‘ขอมดำ’ หรือ ‘ขอมอุโมงคเสลา’ เคยมีอำนาจปกครองเมืองโยนกอยู่แต่เดิม แล้วถูกพระเจ้าพรหมมหาราชขับไล่ไปเมื่อราวต้นพุทธศตวรรษที่ 18 เมื่อขอมสิ้นอำนาจ กลุ่มชนตระกูลไท - ลาวก็ได้ตั้งตัวเป็นใหญ่ในล้านนาสืบมา นอกจากนี้เอกสารล้านนายังมีคำเรียก ‘ขอม’ หรือ ‘กัมโพช’ ที่หมายถึงพวกเมืองใต้ เรียกสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ผู้ครองอยุธยาว่า ‘พระเจ้ากรุงกัมโพช’ ซึ่งนั่นสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ของลพบุรีและอโยธยา (จะอภิปรายในลำดับถัดไป)  

ล้านช้างก็มีเอกสารวรรณคดีระดับมหากาพย์อย่างเรื่อง ‘ท้าวฮุ่งท้าวเจือง’ รวมถึงเอกสารวรรณคดีฉบับอื่น ๆ ที่ต่างก็เรียกกลุ่มคนที่อยู่บริเวณตอนใต้ของลุ่มแม่น้ำโขงว่า ‘ขอม’ ตั้งแต่บริเวณลาวใต้จำปาสักลงไปจนถึงกัมพูชา รวมถึงบริเวณอีสานใต้ในดินแดนสยาม ‘นางแพงนางเภา’ เจ้านายสตรีผู้ครองเศรษฐปุระ (จำปาสักเก่าที่ปราสาทหินวัดพู) ก็ถูกเรียกจากบันทึกของลาวว่า ‘นางขอม’ บางช่วงเช่นในรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ยังมีร่องรอยหลักฐานถึงความเกี่ยวข้องกับเขมรพระนครอยู่ที่เมืองซายฟอง ในเขตนครหลวงเวียงจันปัจจุบัน  

‘จิตร ภูมิศักดิ์’ ในเล่มผลงานเรื่อง ‘ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว ขอม และลักษณ์ทางสังคมของชื่อชนชาติ’ และอีกเล่มแยกที่บางฉบับพิมพ์ก็พิมพ์รวมไว้คือเรื่อง ‘ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับชนชาติขอม’ ได้แสดงข้อมูลหลักฐานที่ผ่านกระบวนการศึกษามาอย่างน่าเชื่อถือว่า ‘ขอม’ กับ ‘กรอม’ หรือ ‘โกรม’ คือคำเดียวกัน หมายถึงกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน  

ที่นครศรีธรรมราชก็มี ‘บ้านกะโรม’ และ ‘น้ำตกกะโรม’ โดย ‘กะโรม’ คำนี้ก็หมายถึง ใต้, ล่าง เช่นเดียวกับความหมายของ ‘ขอม’ ในที่อื่น (กรณีล้านนาและล้านช้าง) เป็น ‘ใต้’ ในความหมายทางภูมิศาสตร์ ไม่ใช่ ‘ใต้’ อำนาจการปกครอง แต่ทั้งนี้ความทรงจำของชาวนคร (ศรีธรรมราช) ในส่วนนี้สูญหายและถูกสร้างเรื่องเล่าใหม่ขึ้นมาแทนว่า ‘กะโรม’ หมายถึง เสียงดัง ‘โครมคราม’ เป็นเสียงจากน้ำตกที่รัชกาลที่ 6 เคยเสด็จประพาส   

คำภาษาเขมรมีอิทธิพลต่อคนหัวเมืองปักษ์ใต้ด้วยอย่างแน่นอน นอกจากร่องรอยศิลปกรรมแบบเขมรที่พบในเขตไชยา ขนอม สิชล นคร แล้ว ‘พัทลุง’ ที่เชื่อว่ามาจาก ‘ตะลุง’ เสาไม้ในเพนียดคล้องช้าง ก็คำเขมร นอกจากนี้เอกสารการกัลปนาของอยุธยาในหัวเมืองนครศรีธรรมราชและพัทลุง ยังมีการเขียนคำประกาศเป็นภาษาเขมรควบคู่กับภาษาไทยอยุธยาด้วย  

ตรงนี้นับเป็นหลักฐานที่บอกโดยไม่ตั้งใจว่านครศรีธรรมราชกับพัทลุงในสมัยอยุธยานั้นยังมีกลุ่มชาติพันธุ์ขะแมร์ (เขมร) อยู่ในพื้นที่มาก ไม่งั้นไม่เห็นจำเป็นจะต้องใช้ภาษาเขมรสำหรับประกาศกฎหมายสำคัญอย่างพระบรมราชูทิศกัลปนาที่ดินแก่วัดและให้ข้าพระโยมสงฆ์แก่คณะสงฆ์เมืองนครศรีธรรมราชและพัทลุง แต่อย่างใด   

ในส่วนของอยุธยา หลักฐานอย่างพระราชพงศาวดารก็บอกอยู่ทนโท่ ในข้อความตอนหนึ่งกล่าวถึงสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 จะทรงให้สมเด็จพระราเมศวรกับสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 ยกทัพไปตีเขมรพระนครนั้น ทรงตรัสว่า “ขอมแปรพักตร์ จะให้ยกไปกระทำ” จากพระราชพงศาวดารอยุธยา ‘ขอม’ ก็คือ ‘เขมร’ ไม่ผิดแน่ แต่ก็ไม่ใช่เขมรเดียวกับเขมรปัจจุบัน จึงเกิดความนิยมใช้ ‘เขมรโบราณ’ กันขึ้นเพื่อสื่อว่าเป็นคนละเขมรกับเขมรในปัจจุบัน  

สงครามใหญ่แต่ละครั้งมักนำมาซึ่งการกวาดต้อนผู้คน  เพราะสิ่งสำคัญสำหรับบ้านเมืองในยุคนั้นไม่ใช่ดินแดน หากแต่คือ ‘กำลังคน’ ฝ่ายชนะก็จะกวาดต้อนเอาครัวเรือนของฝ่ายแพ้กลับไปยังบ้านเมืองของตน เป็นที่มาของชุมชนชาติพันธุ์ เช่น ‘บ้านขอม’ ‘วัดขอม’ ในอยุธยาและภาคกลาง ล้วนแต่มีประวัติเกี่ยวข้องกับการอพยพหรือถูกกวาดต้อนเข้ามาของชาวกัมพูชา มีตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนเรศวร สมเด็จพระนารายณ์ พระเจ้าท้ายสระ พระเจ้าบรมโกศ เป็นต้น  

ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่แค่สยามเป็นฝ่ายไปกวาดต้อนเขามา ฝ่ายกัมพูชาเองเช่นในยุคพระเจ้าละแวก (‘พระยาละแวก’ เป็นคำไทยที่ไม่ตรงความหมาย เพราะเป็นกษัตริย์บ้านเมืองอิสระไม่ใช่ขุนนางของอยุธยา) ก็มีการส่งกองทัพเข้ามากวาดต้อนผู้คนในแถบภาคตะวันออกและภาคกลาง ไปยังกัมพูชา แล้วก็ไม่ปรากฏว่าคนเหล่านี้ (ที่ถูกกวาดต้อนไปในสมัยนั้น) จะได้หวนคืนกลับมาสยาม  

เช่นเดียวกับผู้คนที่ถูกกวาดต้อนมาจากกัมพูชาในสมัยนั้นก็ไม่ได้กลับคืนบ้านเมืองเดิมของตน ต่างก็ตั้งหลักแหล่งทำมาหาเลี้ยงชีพอยู่ในสยามจนกลายเป็นไทยไป เช่นเดียวกัน คนที่ถูกกวาดต้อนจากสยามไปกัมพูชา ก็กลายเป็นต้นตระกูลของชาวกัมพูชา คือกลายเป็นคนเขมรไปภายหลังเหมือนกัน  

กลายเป็นว่า คนไทยที่กลายเป็นเขมรในกัมพูชา กับคนเขมรที่กลายเป็นไทยในสยาม ปัจจุบันมาขัดแย้งกันว่าใครเป็นไทย เป็นเขมร (ของแทร่) และจำนวนไม่น้อยก็เป็นลูกหลานของบรรพชนที่ถูกกวาดต้อนมาจากที่อื่น ไม่ว่าจะเป็นลาว พม่า มลายู หรือที่อพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารอย่างชาวจีน แขก ฝรั่ง ฯลฯ ล้วนแต่ไม่มีใครเป็น ‘ไทยแท้’ เช่นเดียวกัน เขมรปัจจุบันก็เป็นลูกผสม ปนไทย ปนลาว ปนเวียด ปนจีน ปนจาม ฯลฯ กันมาก จนไม่มี ‘เขมรแท้’ เหมือนกันนั่นแหละ!!!          

ขอบเขตอำนาจของอาณาจักร ‘เขมรพระนคร’ ในอดีต

ทั้งนี้จะเข้าใจความหมายของ ‘ขอม’ หรือ ‘เขมร’ ได้ต้องเข้าใจขอบเขตอำนาจของอาณาจักรเขมรพระนครในอดีตก่อนด้วย ซึ่งต้องยกเลิกแผนที่รัฐชาติตามที่เราถูกถ่ายทอดซึมซับผ่านแบบเรียนประวัติศาสตร์กันมา เพราะขอบเขตของอาณาจักรโบราณในอดีตไม่เท่ากับแผนที่รัฐชาติในปัจจุบัน แผนที่รัฐชาติในปัจจุบันเป็นผลงานจากการเข้ามาของลัทธิอาณานิคมตะวันตกในภายหลังเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 19 (ปลายพุทธศตวรรษที่ 24 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 25 ตามศักราชแบบไทย) ซึ่งคือสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา  

ก่อนหน้านั้นร่นขึ้นไปจนถึงช่วงก่อนอยุธยา พรมแดนของแต่ละอาณาจักร มีลักษณะยืดหดเปลี่ยนแปลงไปตามบุญบารมีของผู้นำแต่ละยุคสมัย เช่น บางสมัยขยายอำนาจไปได้มาก บางสมัยมีอำนาจน้อย พรมแดนเมืองขึ้นต่าง ๆ ก็มีน้อย บางช่วงเช่นในรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 กัมพูชามีอำนาจปกครองสยาม หรืออย่างในรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) อยุธยาก็มีอำนาจปกครองกัมพูชาอยู่ช่วงหนึ่ง ทั้งนี้เมื่อสิ้นพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 สยามก็พยายามตั้งตัวเป็นอิสระ เช่นเดียวกับเมื่อเจ้าสามพระยาตั้งพระราชโอรสครองนครธมในฐานะเมืองประเทศราชลูกหลวง ก็ถูกเขมรอีกกลุ่มยกมาชิงเมืองคืนไปได้แล้วย้ายศูนย์กลางไปยังกรุงพนมเปญและละแวกในเวลาต่อมา  

ก่อนหน้าสมัยเจ้าสามพระยา หัวเมืองอีสานใต้ขึ้นกับเขมรพระนคร ผู้ครองหัวเมืองในแถบนี้เป็นเครือญาติกับผู้ครองเมืองพระนครของกัมพูชา พูดง่าย ๆ คืออีสานใต้เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรกัมพูชานั่นแหละขอรับ แต่ไม่ใช่ว่าอีสานใต้เป็นหัวเมืองรอบนอก บางช่วงเป็นศูนย์กลางเลยก็มีเช่นในสมัยแรกของราชวงศ์มหินธรปุระ เมืองพิมาย (ในเขต จ.นครราชสีมาปัจจุบัน) ได้รับการสถาปนาเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรกัมพูชา ราชวงศ์นี้แหละอยู่เบื้องหลังการสร้างปราสาทกระจายอยู่ทั่วไปในภาคอีสาน    

แม้เมื่อย้ายเมืองหลวงกลับไปที่เมืองพระนคร (จ.เสียมเรียบ ในประเทศกัมพูชาปัจจุบัน) ทายาทผู้สืบสายมาจากราชวงศ์มหินธรปุระยังเป็นพระมหากษัตริย์องค์สำคัญระดับ ‘มหาราช’ ของกัมพูชา 2 พระองค์ คือ พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ผู้สร้างปราสาทนครวัดในราวกลางพุทธศตวรรษที่ 17 และพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ผู้สร้างเมืองนครธมเป็นศูนย์กลางแทนที่นครวัด ทั้งสองพระองค์ล้วนแต่มีพื้นเพไปจากแถบลุ่มแม่น้ำมูล - เขาพนมดงเร็ก หรือ ‘ที่ราบสูงโคราช’ และรูปแบบศิลปกรรมประเภทปราสาทที่สร้างในรัชกาลทั้งสองต่างก็นำเอาแบบแผนการสร้างสรรค์ที่พัฒนาขึ้นในเขตที่ราบสูงโคราชลงไปเป็นต้นแบบแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ที่ลุ่มทะเลสาบเขมร (โตนเลสาบ)           

เพราะความสำคัญของเมืองพิมายที่มีต่ออาณาจักรกัมพูชานี้เอง ทำให้พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ต้องสร้าง ‘ราชมรรคา’ หรือ ‘ถนนหลวง’ (Royal road) เชื่อมระหว่างพิมายกับกรุงยโสธรปุระ (เมืองพระนคร) ผ่านช่องเขาในเขตบุรีรัมย์ลงไปยังที่ราบลุ่มทะเลสาบเขมร โดยตลอดเส้นทางได้มีการสร้างอโรคยาศาลและ ‘บ้านมีไฟ’ สำหรับเป็นที่พำนักแก่เหล่ากองเกวียนคาราวาน ช้าง ม้า และผู้คนในการเดินทางสัญจรไปมาระหว่างที่ราบสูงโคราชกับทะเลสาบเขมร   

‘จารึกปราสาทพระขรรค์’ ยังได้กล่าวถึงการส่ง ‘พระชัยพุทธมหานาถ’ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปสลักพระบรมฉายาลักษณ์พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มาพระราชทานให้แก่หัวเมืองต่าง ๆ ในจำนวนนี้มี 6 เมือง ที่เป็นเมืองในเขตภาคกลาง - ภาคตะวันตกของสยาม เมืองทั้ง 6 นี้มีรายนามและข้อสันนิษฐานถึงอาณาเขตที่ตั้งดังนี้ 

(1) ‘ลโวทยปุระ’ (ละโว้หรือลพบุรี มีพระปรางค์สามยอดเป็นศูนย์กลาง) 

(2) ‘สุวรรณปุระ’ (สุพรรณภูมิหรือสุพรรณบุรี บางท่านว่าอยู่ที่บ้านไร่รถ บ้างก็ว่าอยู่ที่สามชุก บ้างก็ว่าอยู่ที่ อ.เมืองสุพรรณบุรีเอง แต่จะอยู่ที่ใดก็ตาม ‘สุวรรณปุระ’ ในที่นี้คือสุพรรณบุรีแน่) 

(3) ‘ศัมพูกปัฏฏะนะ’ (เมืองโบราณที่สระโกสินารายณ์ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี พบร่องรอยอารยธรรมเขมรมาก) 

(4) ‘ชัยราชปุระ’ (ราชบุรีที่บริเวณวัดมหาธาตุวรวิหาร เดิมเป็นอโรคยาศาลสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แต่ถูกปรับแปลงเป็นวัดมหาธาตุในคติพุทธแบบอยุธยา) 

(5) ‘ศรีชัยสิงหปุระ’ (ปราสาทเมืองสิงห์ จ.กาญจนบุรี บางท่านเช่น จิตร ภูมิศักดิ์ เชื่อว่าอยู่ที่สิงห์บุรี) 

(6) ‘ศรีชัยวัชรปุระ’ (พริบพรีหรือเพชรบุรีที่ปราสาทวัดกำแพงแลง อ.เมือง จ.เพชรบุรี)  

นอกจากนี้แถบอีสานใต้ มีกลุ่มชาติพันธุ์กูยเป็นใหญ่ (อย่าเรียกว่า ‘ส่วย’ เพราะเป็นคำดูถูกเขา) ก็เป็นเครือญาติและวัฒนธรรมร่วมกับเขมรพระนคร เมื่อเกิดปัญหากรณีเขาพระวิหาร ได้มีความพยายามจากนักวิชาการโบราณคดีและประวัติศาสตร์ศิลปะ ที่จะเคลมว่าเขาพระวิหารเป็นผลงานของคนกูย ไม่ใช่เขมร แต่ต่อให้ ‘ขอมดำ’ ในจารึกที่พบในย่านจะหมายถึงคนกูย ก็ไม่ได้หมายความว่าปราสาทที่เป็นของคนกูย จะต้องเป็นของไทยไปด้วย เป็นของคนกูยก็คือเป็นของคนกูย ถึงคนกูยจะอยู่ภายใต้ปกครองของไทยในปัจจุบัน ก็ไม่ใช่ประเด็น   

จะเห็นได้ว่า อาณาจักรเขมรพระนครในอดีต มีขอบเขตครอบคลุมมาถึงภาคกลางของสยาม ตะวันตกสุดอยู่ที่ปราสาทเมืองสิงห์ เมืองครุฑ เมืองกลอนโด ในเขต จ.กาญจนบุรี ตะวันออกเฉียงเหนือขึ้นมาจนถึงพิมายต่อถึงเพชรบูรณ์ในลุ่มแม่น้ำป่าสัก ทิศเหนือขึ้นไปจนถึงเมืองซายฟองในเขตเวียงจัน สุโขทัยและล้านนาต่างก็เคยได้รับอิทธิพลขอม/เขมร จนมีผู้ปกครองเดิมเป็นกลุ่มวัฒนธรรมเขมรโบราณ ภาคตะวันออกจรดลุ่มแม่น้ำบางปะกงและเทือกเขาจันทบุรี ยิ่งเต็มไปด้วยแหล่งวัฒนธรรมที่สะท้อนอิทธิพลบทบาทของเขมรโบราณ บางส่วนของภาคใต้ก็ด้วย ก่อนที่จะเข้ามาขึ้นกับกรุงศรีอยุธยา และหลังจากวัฒนธรรมลังกาเสื่อมถอยลง ก็มีวัฒนธรรมเขมรคั่นกลางอยู่ในช่วงเวลาสั้น ๆ 

นอกจากนี้ยังพบในงานประวัติศาสตร์กัมพูชา อ้างว่าเมืองไซ่ง่อนของเวียดนามใต้นั้น เดิมเป็นเมือง ‘ขะแมร์กรอม’ หรือ ‘เขมรน้ำ’ แต่ภายหลังถูกราชวงศ์เหงียนที่ขยายอำนาจลงใต้มายึดเอาไป เป็นเรื่องปกติธรรมดามากที่รัฐใหญ่ในอดีต เมื่อผ่านกาลเวลามาจวบจนปัจจุบัน ก็จะมีช่วงเวลาที่รุ่งเรืองและเสื่อมถอย ช่วงรุ่งเรืองอาณาจักรอาจแผ่กว้างใหญ่ไพศาล ช่วงเสื่อมถอยก็อาจกลายเป็นรัฐขนาดเล็กที่ถูกครอบงำจากรัฐใหญ่ข้างเคียง ในกรณีของกัมพูชา รัฐใหญ่ที่มีอิทธิพลภายหลังจากสิ้นยุคเขมรพระนครไปแล้วก็คือ ‘สยาม’ กับ ‘เวียดนาม’   

‘ศิลปะลพบุรี’ (ที่ถูกสร้างขึ้น) บทเรียนจาก ‘ความเบียวประวัติศาสตร์’ เมื่อไม่นานมานี้

ทฤษฎี ‘ขอมไม่ใช่เขมร’ ปัจจุบันถ้าว่าตามภาษาของชาวเน็ตก็จะตรงกับสิ่งที่เรียกว่า ‘เบียวประวัติศาสตร์’ ซึ่งที่จริงความเบียวประวัติศาสตร์นี้มีอยู่ตลอด เพราะประวัติศาสตร์เป็นวิชาประหลาดอยู่ตรงที่คนเรียนมาโดยตรง มีชีวิตอยู่กับมันมามาก มักไม่กล้าบอกว่าตนเองเป็นผู้เชี่ยวชาญ ที่เคลมว่าเชี่ยวชาญนั้นมักจะไม่ใช่คนที่ผ่านการฝึกปรือวิทยายุทธ์มาในชุมชนวิชาการประวัติศาสตร์ และพวกมือสมัครเล่นก็มักสร้างอะไรมาป่วนวิชาการแขนงนี้ให้ได้ปวดตับปวดไตกันอยู่เป็นประจำ  

อย่างไรก็ตาม ความเบียวประวัติศาสตร์แต่ละช่วงสมัยก็สะท้อนอะไรได้หลายอย่างอยู่เหมือนกัน และก็ไม่ใช่ว่ามีแต่เฉพาะพวกมือสมัครเล่นเท่านั้นที่เบียวกันได้ นักวิชาการอาชีพก็เบียวได้เหมือนกัน ตัวอย่างความเบียวประวัติศาสตร์ในอดีตก่อนหน้านี้ไม่นาน ก็เช่นกรณีที่นักวิชาการโบราณคดีและประวัติศาสตร์ศิลปะพากันมโน ‘ศิลปะลพบุรี’ กันขึ้นมา สำหรับใช้เรียกบรรดาศิลปกรรมที่พบในดินแดนประเทศไทยแต่มีรูปแบบเหมือนกับของกัมพูชา ทั้งนี้โดยอ้างว่าหากบอกว่าของเหล่านั้นเป็น ‘ศิลปะเขมร’ แล้วจะเป็นเหตุให้ฝรั่งเศสที่เป็นเจ้าอาณานิคมอินโดจีนได้มาเคลมเอาไปได้  

ปัจจุบันความเบียวข้อนี้ (ศิลปะลพบุรี) ได้ถูกตั้งคำถามไปมาก พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติก็เลี่ยงไปใช้คำว่า ‘ศิลปะเขมรในดินแดนประเทศไทย’ แทนที่จะใช้คำว่า ‘ศิลปะเขมร’ แบบตรง ๆ โต้ง ๆ เหมือนอย่างเช่นที่มี ศิลปะมอญ ศิลปะพม่า ศิลปะชวา ศิลปะจีน ฯลฯ หลายที่ก็ใช้ ‘ศิลปะเขมร’ ตรง ๆ ไปเลยก็มี แต่ส่วนใหญ่เป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน ไม่ก็ของเอกชน แต่ส่วนใหญ่ก็ยังคงพบ ‘ศิลปะลพบุรี’ อยู่ดังเดิม เมื่อต้นปีที่แล้ว (2566) ผู้เขียนมีโอกาสได้เดินทางไปบรรยายให้แก่มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ และได้แวะเวียนเยี่ยมชมปราสาทหินต่าง ๆ ตามเส้นทาง ก็ยังพบคำอธิบายในป้ายแนะนำของหน่วยงานที่ดูแลโบราณสถานว่า ‘ศิลปะลพบุรี’

ปัญหาของ ‘ศิลปะลพบุรี’ เกี่ยวพันถึงสถานะบทบาทและอิทธิพลของเมืองลพบุรีว่ามีมากน้อยเพียงใด ทำไมถึงสร้างทำอะไรที่เหมือนกับของกัมพูชา และทำไมถึงเชื่อกันไปได้ว่า ถ้าเป็นของลพบุรีแล้วจะเท่ากับเป็นของไทยไปด้วยโดยอัตโนมัติ ในเมื่อพรมแดนรัฐชาติเป็นสิ่งที่เกิดมีใหม่ภายหลัง ที่สำคัญคือความไม่สอดคล้องกับหลักฐานลายลักษณ์อักษรประเภทจารึก ซึ่งอธิบายได้ว่าทำไมลพบุรีจึงทำของเหมือนกัมพูชา     

ตัวอย่างเช่น ‘จารึกศาลสูง (ศาลพระกาฬ)’ กล่าวว่า ในเรือน พ.ศ. 1545 พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ยกทัพมาตีเมืองลวปุระ (ลพบุรี) ชนชั้นนำของเมืองพระนครจึงเป็นผู้ครองเมืองลพบุรีตั้งแต่นั้นมา ภาพระเบียงประวัติศาสตร์ที่ปราสาทนครวัด นอกจากมีภาพสลัก ‘นี่เสียมกุก’ ยังมีภาพสลักกองทัพของละโว้ ซึ่งนั่นหมายความว่าลพบุรีก็ยังอยู่ภายใต้อำนาจของเขมรพระนครในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ในกลางพุทธศตวรรษที่ 17 นั้นด้วย กระทั่งต้องเกณฑ์กองทัพไปช่วยเขมรพระนครรบกับจามปา  

นอกจากนี้ ‘จารึกปราสาทพิมานอากาศ’ ยังกล่าวถึงการส่ง ‘นฤปตินทรวรมัน’ มาเป็น ‘ละโวทเยศ’ (ผู้เป็นใหญ่ในกรุงละโว้) ครองเมืองลพบุรี ซึ่ง ‘นฤปตินทรวรมัน’ ผู้นี้คือพระราชโอรสของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เป็นพระราชโอรสองค์โตเมื่อ ‘เจ้าชายศรีนทรกุมาร’ สิ้นพระชนม์ไปในศึกปราบ ‘กบฏภรตาหู’ (ตามความในจารึกปราสาทบันทายฉมาร์) นั่นคือลพบุรีในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มีฐานะเป็นเมืองลูกหลวงของอาณาจักรเขมรพระนครสืบมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ 18  

‘ขอม’ เป็น ‘ไท’ (vs) ‘ไท’ เป็น ‘ขอม’ & เขมรกับไทย ใช่อื่นไกล !!! 

กษัตริย์ผู้สถาปนากรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 1893 เป็นใคร มาจากไหนแน่ เราอาจไม่ทราบแน่ชัด แต่เป็นไปได้อย่างมากว่าจะทรงสืบเชื้อสายมาจาก ‘นฤปตินทรวรมัน’ ผู้ครองลพบุรี ดังจะเห็นได้จากความสำคัญของเมืองลพบุรีในรัชกาลดังกล่าวนี้ การที่ทรงส่งพระราชโอรสองค์โตไปครองลพบุรี ก็เป็นหลักฐานที่บอกโดยนัย (ไม่ได้ตั้งใจบอก) ถึงความสำคัญของลพบุรีในฐานะบ้านเมืองเดิมก่อนจะมาสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองหลวง  

แน่นอนว่าในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของเกาะเมืองอยุธยามีเมืองเก่าที่เรียกว่า ‘อโยธยา’ ตั้งอยู่ก่อนหน้า พ.ศ. 1893 แล้ว แต่การที่ต้องสถาปนาเมืองใหม่ ก็เป็นเหตุผลในเรื่องการยกสถานะขึ้นเป็นศูนย์กลางแทนที่ศูนย์กลางเก่า นอกเหนือจากประเด็นเรื่องของการชำระเคราะห์เมืองจากการถูกโรคห่าระบาดทำลายอย่างหนัก  

ประเด็นคือมีการเคลื่อนย้ายมูลนายจากลพบุรีลงมาอโยธยา และยึดอโยธยาไปจากกลุ่มเก่าที่อยู่มาแต่เดิม ดังจะเห็นได้จากสัญลักษณ์เรื่องเล่าที่ว่าในคราวสถาปนากรุงนั้น สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ต้องให้คนจับฤาษีไปโยนลงในบ่อน้ำ บริเวณเกาะหนองโสน (บึงพระรามในอยุธยา) เป็นชุมชนของคนนับถือพราหมณ์มาแต่เก่าก่อนแน่ นอกจากกำจัดฤาษีที่เห็นต่างแล้ว ยังต้องสถาปนาเมืองใหม่ในฐานะ ‘เมืองของพระราม’ และเฉลิมพระนามพระองค์เป็น ‘พระรามอวตาร’ (รามาธิบดี) เพื่อความชอบธรรมอีกด้วย    

นอกจากนี้ยังมีเรื่องใน ‘พงศาวดารเหนือ’ ที่สอดคล้องกับใน ‘พงศาวดารเขมร’ เกี่ยวกับการที่พระบรมจักรพรรดิ กษัตริย์รุ่นพระราชบิดาของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ได้ไปมีส่วนพัวพันกับการแย่งชิงราชสมบัติของเมืองพระนคร โดยเป็นอีกพระองค์ที่แสดงตัวเป็นผู้มีสิทธิธรรมในราชสมบัติมากยิ่งกว่ากลุ่มที่ครองอำนาจอยู่ที่กัมพูชาเวลานั้น  

ถ้ามองย้อนกลับไปที่ ‘นฤปตินทรวรมัน’ ที่ลพบุรี ก็สมเหตุสมผล ที่เชื้อสายกษัตริย์ละโว้ - อโยธยา จะสามารถอ้างสิทธิธรรมเหนือราชบัลลังก์ของเขมรพระนครได้ ในขณะที่กษัตริย์ผู้ครองเขมรพระนครเวลานั้นได้อำนาจมาจากการรัฐประหารยึดอำนาจโดยแม่ทัพซึ่งได้ราชธิดาของอดีตกษัตริย์เป็นพระชายา เรื่องนี้ ‘โจว ต้ากวน’ (Zhou Daguan) ก็เล่าไว้ในบันทึกของตนเมื่อคราวมาเยือนนครธมเมื่อ พ.ศ. 1839 (54 ปีก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยา)   

ในส่วนนี้ยังมีความเบียวประวัติศาสตร์เกิดขึ้นแยกย่อยเฉพาะออกไปอีกว่า กษัตริย์ผู้ที่พระราชธิดาขโมยพระขรรค์ชัยศรีไปให้เพื่อแสดงสิทธิเหนือราชบัลลังก์นี้คือ ‘พ่อขุนผาเมือง’ ผู้ซึ่งเข้ายึดกรุงสุโขทัยได้ก่อนพ่อขุนบางกางหาว แต่กลับมอบราชสมบัติให้พ่อขุนบางกางหาว (อะไรจะรักเพื่อนมากขนาดนั้น) แล้วก็หายไปอย่างไร้ร่องรอย แต่พวกเบียวเขามีทฤษฎีว่านั่นเป็นเพราะพ่อขุนผาเมืองมีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่าสุโขทัย นั่นคือการเป็นกษัตริย์กัมพูชา  

การสืบสายมาจากโอรสองค์โตของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่มาครองลพบุรี ก็เป็นเหตุผลให้ชาวล้านนาและล้านช้างเรียกพวกเมืองใต้อโยธยาว่า ‘ขอม’ และออกพระนามสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ว่า ‘พระเจ้ากรุงกัมโพช’ เช่นเดียวกับที่เคยเรียกชาวเมืองลพบุรีว่า ‘ขอม’ มาแต่เดิม 

อย่างไรก็ตามชนชั้นนำละโว้ - อโยธยา รุ่นสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ได้ทำสิ่งใหม่ต่างไปจากรุ่นพระราชบิดาของพระองค์ เพราะเป็นรุ่นที่เห็นแล้วว่าราชบัลลังก์เมืองพระนครตกเป็นของฝ่ายผู้ยึดอำนาจที่ไม่ชอบธรรมมาได้ระยะหนึ่งแล้ว จนกษัตริย์วงศ์นี้เริ่มมีอำนาจมั่นคงมาได้ระยะหนึ่งแล้ว สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 จึงไม่คิดจะชิงราชสมบัติเมืองพระนคร หากแต่ ‘คิดใหม่ ทำใหม่’ โดยการสถาปนาศูนย์กลางแห่งใหม่ขึ้นที่อโยธยา  

ด้วยเหตุนี้รุ่นสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 จึงไม่ใช่รุ่นที่จะบอกตนเป็น ‘ขอม’ อีกต่อไป หันมาตั้งตัวเป็น ‘ไท’ และเนื่องจาก ‘ไท’ ที่แปลว่า ‘อิสระ’ ตรงข้ามกับ ‘ทาส’ นี้ เข้ากันได้กับอีกสองกลุ่มที่เป็นอริกันคือกลุ่มวัฒนธรรมไท - ลาว และมอญ ก็จึงเกิดการกลืนกลายและปรับตัวมาสู่ความเป็น ‘คนไทย’ และเรียกบ้านเมืองตนว่า ‘เมืองไทย’ ในเวลาต่อมา    

อย่างไรก็ตาม แม้จะพยายามสลัด ‘ความเป็นขอม’ ก็ไม่อาจสลัดได้หมดสิ้น ยังพบอิทธิพลทางวัฒนธรรมสืบต่อมาอีกหลายชั่วอายุ ไม่ว่าจะเป็นอิทธิพลทางด้านภาษา ราชาศัพท์ พิธีกรรม รูปแบบพักตร์ของพระพุทธรูป ความนิยมในการสร้างเจดีย์ทรงปรางค์ซึ่งดัดแปลงมาจากปราสาทเขมร เรื่อยไปจนถึงเรื่องเสื้อผ้าหน้าผม (โจงกระเบน - มหาดไทย)    

Make love not war (เถอะนะ ทั้งไทยและกัมพูชา)

การที่เขมรไม่เรียกตนเองว่า ‘ขอม’ คำนี้เป็นคำที่ผู้อื่นเรียก เป็นคนละประเด็นกับที่ว่า ขอมจะใช่หรือไม่ใช่เขมร เพราะอย่างที่บอกพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาใช้คำว่า ‘ขอมแปรพักตร์’ นั้นหมายถึงเขมรพระนครที่กัมพูชา ‘ขอม’ เป็นคำที่ไทยเรียกเขมร   

ชาวจีนก็ไม่เรียกตัวเองว่า ‘เจ๊ก’ คนอินเดีย คนมุสลิม ก็ไม่เรียกตัวเองว่า ‘แขก’ คนเวียดนามก็ไม่เรียกตัวเองว่า ‘ญวน’ ชาวตะวันตกหรือยุโรปก็ไม่เรียกตัวเองว่า ‘ฝรั่ง’ คนไทยเรียกเขาทั้งนั้น ซึ่งนั่นไม่ได้หมายความว่า เจ๊กไม่ได้หมายถึงคนจีน แขกไม่ได้หมายถึงคนอินเดียกับคนมุสลิม ญวนไม่ได้หมายถึงเวียดนาม ฝรั่งไม่ได้หมายถึงชาวยุโรป แต่อย่างใด  

‘ขอม’ เป็นคำเรียกรวม ๆ ไม่จำแนกภายในว่าเป็นเขมรที่ทะเลสาบเขมร เขมรในอีสานใต้ เขมรในลาวใต้ เขมรในสยาม หรือเขมรในที่อื่นใด เช่นเดียวกับที่ใช้คำว่า ‘เจ๊ก’ เรียกหมดไม่ว่าจะเป็นจีนแต้จิ๋ว ฮกเกี้ยน ไหหลำ แคะหรือฮักกา กวานตงหรือกวางตุ้ง คำว่า ‘ฝรั่ง’ ก็ไม่ได้จำแนกว่าเป็นอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน สเปน โปรตุเกส ดัตช์ รัสเซีย อเมริกัน เป็นต้น  

‘สยาม’ เองก็พัฒนามาสู่การเป็นคำสื่อความหมายโดยรวม หมายถึงหลายชนชาติที่อยู่ในดินแดนขวานทองนี้ ‘ขอม’ ก็จัดอยู่ใน ‘ชาวสยาม’ ด้วย แต่ทั้งนี้เป็นคนละประเด็นกับที่มีผู้เสนอว่า ‘ขอมคือสยาม’ เพราะสยามไม่ใช่คำเฉพาะที่หมายถึงชนชาติใดชนชาติหนึ่ง สยามมีนัยมาจากการเป็นชื่อดินแดนมากกว่าชนชาติ  

จากเรื่องภาษา กลายมาเป็นความขัดแย้งระหว่างชนชาติ เมื่อเกิดระบบรัฐที่สร้างพรมแดนแบบปัจจุบัน และยังเป็นรัฐที่ยึดมั่นถือมั่นเรื่อง ‘ชาติ’ อีกต่างหาก แทนที่จะเป็นญาติพี่น้องกับเพื่อนบ้าน และการมีวัฒนธรรมร่วมรากจากประวัติศาสตร์ที่สัมพันธ์กัน ก็กลายเป็นความขัดแย้งและทะเลาะเคลมกันอย่างน่าเสียดาย  

ความรักชาติบ้านเมือง รักพวกพ้องหมู่คณะนั้นก็ดีอยู่หรอก แต่ก็ควรรักอย่างคนที่โตเป็นผู้ใหญ่มีวุฒิภาวะแล้ว ไม่ควรทำให้เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่กระทบความสัมพันธ์กับโลกภายนอก เพราะถึงอย่างไรโลกยุคถัดไปเขามีแต่จะต้องร่วมมือกันเพื่อความอยู่รอดปลอดภัยด้วยกันทั้งสองฝ่าย หมดยุคที่จะยกกันไปราวีให้แตกหักกันไปข้างหนึ่ง  

ถึงแม้ประชาคมอาเซียนจะกลายเป็นฝุ่นไปแล้ว แต่ประเทศไทยและคนไทยจะได้ประโยชน์มากกว่าเมื่อเพื่อนบ้านรักชอบเรา การสร้างความเกลียดชังซึ่งกันและกันไม่เป็นผลดีต่อฝ่ายใดเลยทั้งในระยะสั้นและระยะยาว        

 

เรื่อง : กำพล จำปาพันธ์
ภาพ : Getty Images

อ้างอิง :
     กำพล จำปาพันธ์ และโมโมทาโร่. Downtown Ayutthaya ต่างชาติต่างภาษา และโลกาภิวัตน์แรกในสยาม-อุษาคเนย์. กรุงเทพฯ: มติชน, 2566. 
     กำพล จำปาพันธ์ และโมโมทาโร่. “เขมรอยุธยา ญาติใกล้ชิดที่ถูกบิดเบือน” ศิลปวัฒนธรรม https://www.silpa-mag.com/history/article_100399 (เผยแพร่เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567). 
     กำพล จำปาพันธ์. “กัมโพช: ละโว้-อโยธยาในเอกสารล้านนา” วารสารมนุษยศาสตร์สาร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. ปีที่ 15 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2557), หน้า 74-82. 
     กำพล จำปาพันธ์. “จันทบุรี: เมืองท่าชายฝั่งทะเลตะวันออกบนเส้นทางอารยธรรมเขมรกับสยามประเทศไทย” วารสารกระแสวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยสยาม. ปีที่ 18 ฉบับที่ 33 (มกราคม-มิถุนายน 2560), หน้า 96-107. 
     กำพล จำปาพันธ์. “ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์และสังคมวัฒนธรรมของเมืองลพบุรี ก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยา” มติชนอะเคเดมี https://www.matichonacademy.com/tour-story (เผยแพร่เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2565). 
     กำพล จำปาพันธ์. “ร่องรอยอารยธรรมข้ามพรมแดนของรัฐชาติ ในเขตพื้นที่จังหวัดสระแก้ว ประเทศไทย และจังหวัดบันเตียเมียนเจย ประเทศกัมพูชา” วารสารเทคโนโลยีสุรนารี. ปีที่ 21 ฉบับที่ 11 (มิถุนายน 2560), หน้า 131-154. 
     กำพล จำปาพันธ์. “ร่องรอยอารยธรรมเขมรโบราณและสยามอโยธยาในเขตจังหวัดสระแก้ว” วารสารวิชาการการท่องเที่ยวไทยนานาชาติ. ปีที่ 12 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2559), หน้า 12-36. 
     กำพล จำปาพันธ์. “วิจารณ์หนังสือ: “Ancient Khmer Sites in Eastern Thailand” by Asger Mollerup” วารสารไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. ปีที่ 13 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2559), หน้า 233-243. 
     กำพล จำปาพันธ์. “สงครามระหว่างอโยธยากับนครธม (พุทธศตวรรษที่ 19-20) จากเอกสารประวัติศาสตร์ไทย กัมพูชา และชาติตะวันตก” วารสารสังคมลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยขอนแก่น. ปีที่ 13 ฉบับที่ 1 (มกราคม-เมษายน 2560), หน้า 99-123. 
     จิตร ภูมิศักดิ์. ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ ฉบับสมบูรณ์ เพิ่มเติมข้อเท็จจริงว่าด้วยชนชาติขอม. กรุงเทพฯ: ศยาม, 2544. 
     โจว ต้ากวน. บันทึกว่าด้วยขนบธรรมเนียมประเพณีของเจินละ. แปลโดย เฉลิม ยงบุญเกิด, กรุงเทพฯ: มติชน, 2543. 

    แชนด์เลอร์, เดวิด. ประวัติศาสตร์กัมพูชา. แปลโดย พรรณงาม เง่าธรรมสาร และคณะ, กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2546. 
รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง และศานติ ภักดีคำ. ศิลปะเขมร. กรุงเทพฯ: มติชน, 2557.