‘พระเกี้ยว’ คืออะไร? มีความสำคัญอย่างไรต่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย?

‘พระเกี้ยว’ คืออะไร? มีความสำคัญอย่างไรต่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย?

ชวนหาคำตอบ ‘พระเกี้ยว’ คืออะไร? ทำไมเมื่อไม่มีคนมาแบกหามแล้วถึงเกิดเป็นประเด็นดรามาขึ้นมา?

KEY

POINTS

  • ‘พระเกี้ยว’ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความหมายยึดโยงกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอ้างอิงรากกำเนิดโดยสืบย้อนกลับไปยังโรงเรียนมหาดเล็กหลวงในสมัยปลายรัชกาลที่ 5  
  • การให้ความสำคัญแก่การสวมพระมหาพิชัยมงกุฎที่เริ่มต้นในสมัยรัชกาลที่ 4 นี้ ได้นำเอาแบบอย่างจากพิธีการขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์ในโลกตะวันตกที่เรียกว่า ‘Coronation’ เข้ามาประยุกต์ใช้ ทำให้มงกุฎกลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญขึ้นมา  
  • จอมพลสฤษดิ์กับพวกได้รื้อฟื้นประเพณีที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเหตุผลเพื่อใช้อำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จให้แก่ตนเองกับพรรคพวกในกองทัพ 

‘พระเกี้ยว จุฬาฯ’ เป็นดรามาแห่งปีไปได้อย่างไร? 

กลายเป็นดรามาแห่งปีไปแล้ว เมื่อมีภาพข่าวเผยแพร่การแห่พระเกี้ยวของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื่องในการแข่งขันฟุตบอลสานสัมพันธ์จุฬา - ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 1 

การแข่งขันฟุตบอลอาจจบลงไปแล้ว แต่ปีนี้ดรามายังไม่มีทีท่าว่าจะจบลง โดยเฉพาะขบวนแห่พระเกี้ยวที่กลบเรื่องอื่น ๆ ทั้งผลการแข่งขันและการแปรอักษร 

ทั้งนี้ก็เพราะขบวนแห่พระเกี้ยวไม่มีภาพนิสิตหามเสลี่ยงเหมือนเคย เป็นภาพการใช้รถกอล์ฟมาแห่แทน แม้ว่าพระเกี้ยวจะยังคงถูกเทิดทูนไว้ในที่สูงคือหลังคารถ แต่การไม่ใช้คนหาม จุดประเด็นกระตุ้นชาวไทยจำนวนหนึ่ง ให้ต่างออกมาวิพากษ์วิจารณ์ก่นด่า ข้างฝ่ายที่เห็นด้วยกับการไม่ใช้นิสิตหามเสลี่ยง ก็โบ้ยว่าเป็นเสียงบ่นของ ‘คนนอก’ ไม่เคยเป็นศิษย์เก่า บ้างก็ว่าเป็นศิษย์เก่าเมื่อ 20 - 30 ปีที่แล้ว ที่ยึดติดกับประเพณีเดิม ไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลง  

อย่างไรก็ตาม ดังที่อาจารย์ ดร.วันวิชิต บุญโปร่ง ได้แสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊กของท่านว่า “กรณีหลากหลายความเห็นเรื่อง ‘พระเกี้ยว’ ของจุฬาฯ ผมไม่ขอออกความเห็นว่าควรไม่ควร แต่จะตั้งข้อสังเกตต่อบรรดาความคิดเห็นของผู้คนในโลกโซเชียลฯ ว่า มันน่ากังวลหรือน่าขบคิดต่อว่า มันเป็นแบบนี้ได้อย่างไร 

“ประเด็นหลักคือ สังคมไทยนอกจากฝักใฝ่ใน ‘สถาบัน (การศึกษา) นิยม’ แล้ว ยังมีความรู้สึกว่ามีความพยายามจะแสดงความเป็นเจ้าของหวงแหนพื้นที่ด้วยในระดับสูงมาก อย่างเช่น ‘จบจุฬาฯ หรือเปล่ามาให้ความเห็นแบบนี้’ หรือ ไปดูโปรไฟล์แล้ว ‘ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับจุฬาฯ นี่’ ฯลฯ 
 

“นานาทัศนะ คือถ้าใครมาแสดงความเห็นในท่าทีที่เป็นห่วง ก็จะโดนลูกทัวร์มาหาว่าเป็น ‘คนนอก’ บ้าง เดือดร้อนอะไร จนไปถึงขั้นส่องโปรไฟล์ส่วนตัวของคนที่เข้ามาแสดงความเห็นดูแคลนถึงสถาบันการศึกษาที่จบมา เพราะฉะนั้นอย่า ‘เผือก’

“จริง ๆ แล้วผมว่า มหาวิทยาลัยทุกแห่งเป็นสมบัติของชาติและประชาชน ทุกคนมีสิทธิแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี โดยละไว้ซึ่งคำผรุสวาทวาจาทำร้ายจิตใจกัน มันน่ากังวลใจว่า สังคมเราสร้างพื้นที่กีดกัน ‘คนนอก’ และสงวนความคิดเห็นรับฟังเฉพาะ ‘คนใน’

“ป.ล. ผมหวังว่าเรื่องดังกล่าวนี้จะหาทางออกที่เหมาะสมได้ โดยจะไม่มีดรามามารบกวนใจให้วิพากษ์วิจารณ์กันอีก”   

ถึงแม้ผู้เขียนจะมีใบปริญญาจากจุฬาฯ โดยที่ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ เป็นสถาบันสำคัญที่ ‘ปลุกระดม’ และ ‘ล้างสมอง’ ให้ศิษย์ที่ไม่เอาถ่านอย่างผู้เขียนได้ชื่อเป็น ‘นักประวัติศาสตร์’ แต่ก็ต้องขอบอกว่า รู้สึกเห็นด้วยกับอาจารย์ ดร.วันวิชิต ในกรณีนี้เป็นอย่างยิ่ง “มหาวิทยาลัยทุกแห่งเป็นสมบัติของชาติและประชาชน ทุกคนมีสิทธิแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี โดยละไว้ซึ่งคำผรุสวาทวาจาทำร้ายจิตใจกัน” อย่างที่อาจารย์ท่านว่าไว้นั่นแหละ

การจัดแบ่งประเภท ‘คนใน’ กับ ‘คนนอก’ แล้วคิดเหมาเอาเองว่า ต้องเป็น ‘คนใน’ ถึงรู้ลึกรู้ดีทีวีพูล ‘คนนอก’ จะไปรู้เรื่องอะไร เป็นการจัดแบ่งที่ออกจะเชยล้าหลังไปแล้วสำหรับแวดวงสังคมศาสตร์ - มนุษยศาสตร์ ที่สำคัญการจัดแบ่งแบบนี้ยังเป็นการเพิ่มอำนาจให้คนส่วนน้อย (คนใน) มีสิทธิมีเสียงที่ ‘ดัง’ กว่าคนส่วนใหญ่ (คนนอก) สร้างอภิสิทธิ์ให้แก่คนบางกลุ่มไปอีก เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ - ไม่ควรเกิดขึ้นในสังคมประชาธิปไตยหรืออประชาธิปไตยใดห์ ๆ  

ในทางตรงกันข้าม ‘คนนอก’ อาจจะเห็นอะไรได้กว้างกว่า ‘คนใน’ ที่จมอยู่แต่กับเรื่องเฉพาะตรงหน้าก็มีถมไป แต่ไม่ได้หมายความว่าน้ำหนักเสียงมันควรจะเทไปข้างใดข้างหนึ่ง ประเด็นคือจะ ‘คนใน’ หรือ ‘คนนอก’ ก็ล้วนแต่ควรต้องมีสิทธิมีเสียงเท่ากัน สังคมไทยอยู่กับภาวะ ‘ใครเป็นผู้พูด’ (Who) มามากกว่า ‘ใครพูดอะไร’ (What) มาเกินพอแล้ว

‘ศิราภรณ์’ & เครื่องประดับเศียรในประวัติศาสตร์ไทย

เอาละ! ก่อนที่จะออกทะเลไปไกล ขอกลับมาที่เรื่อง ‘พระเกี้ยว’ กันต่อ ก่อนที่เราจะเข้าใจดรามานี้ได้กระจ่าง ต้องเริ่มจากประเด็นพื้นฐานที่ว่า พระเกี้ยวคืออะไร? ทำไมเมื่อไม่มีคนมาแบกหามแล้วถึงเกิดเป็นประเด็นดรามาขึ้นมา?  

คนจำนวนไม่น้อยมีความรับรู้หรือความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับพระเกี้ยวนี้ แม้แต่มิตรสหายชาวจุฬาฯ ของผู้เขียนเอง ร้อยวันพันปีไม่เคยติดต่อมา ครั้นพอโทรฯ มาก็มาถามว่า “จริงหรือที่พระเกี้ยวของจุฬาฯ เป็นของที่พระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงพระราชทานให้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย?” ทำเอาผู้เขียนเองก็ตกตะลึงว่า “เฮ้ย... ไปได้ยินได้ฟังหรืออ่านมาจากไหน?” 

จริงอยู่ว่า ‘พระเกี้ยว’ คือศิราภรณ์ประดับพระเกศาของเจ้านายชั้นพระราชโอรสหรือพระราชธิดา จึงมีคำเรียกอีกอย่างว่า ‘จุลมงกุฎ’ (มงกุฎเล็ก, มงกุฎน้อย, หรือจะว่าเป็น ‘มงกุฎเด็ก’ ก็ไม่ผิดความหมาย) ที่เรียกว่า ‘เกี้ยว’ นั้น ถ้าเป็นคำนาม จะแปลว่า ‘เครื่องประดับศีรษะ’ หรือ ‘เครื่องสวมจุก’ ถ้าเป็นคำกริยา จะแปลว่า ‘ผูกรัดหรือพัน’ เพราะเด็กสมัยก่อนนิยมให้ไว้ผมจุก พระเกี้ยวหรือจุลมงกุฎจึงเป็นของสำคัญเนื่องในพระราชพิธีโกนจุก ปัจจุบันเป็นพระราชพิธีที่ถูกยกเลิกไปนานแล้ว  

‘พระเกี้ยว’ เป็นของพระราชโอรสพระราชธิดา จึงมีหลายอัน สำหรับแต่ละพระองค์ แต่ ‘พระเกี้ยว’ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นสถานศึกษา กลับมีความหมายยึดโยงกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นั่นก็คือเพราะว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอ้างอิงรากกำเนิดโดยสืบย้อนกลับไปยังโรงเรียนมหาดเล็กหลวงในสมัยปลายรัชกาลที่ 5  

รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระนามว่า ‘เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์’ หรือ ‘พระจุลจอมเกล้า’ หมายถึง ‘พระจอมเกล้าน้อย’ คู่กับ ‘พระจอมเกล้าใหญ่’ คือรัชกาลที่ 4 พระราชบิดาของพระองค์ ส่วน ‘จุฬาลงกรณ์’ นั้น แปลว่า ‘เครื่องประดับศีรษะ’ ซึ่งเป็นความหมายที่รัชกาลที่ 4 ทรงยกย่องพระราชโอรสองค์โตของพระองค์ไว้อย่างสูง เพราะอยู่ในฐานะหน่อพุทธางกูรผู้มีสิทธิสืบราชสมบัติ 

นอกจากนี้ ‘พระเกี้ยว’ หรือ ‘จุลมงกุฎ’ ยังถูกใช้เป็นสัญลักษณ์แทนรัชกาลที่ 5 เป็นการเฉพาะมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ เพราะรัชกาลที่ 4 ทรงมีพระนามเดิมว่า ‘เจ้าฟ้ามงกุฎ’ ด้วย    

เดิมแม้สังคมไทยมีธรรมเนียมการสวมมงกุฎแก่เจ้านายในระดับชั้นต่าง ๆ จนถึงชั้นพระมหากษัตริย์ สำหรับเป็นเครื่องบอกสถานภาพบุคคล แต่ทว่ามงกุฎระดับสูงสุดที่เรียกว่า ‘พระมหาพิชัยมงกุฎ’ ก็เพิ่งจะมีความสำคัญเนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของรัชกาลที่ 4 ก่อนหน้านั้นร่นขึ้นไปจนถึงสมัยอยุธยา สิ่งสำคัญอันเป็นแกนหลักของพระราชพิธีบรมราชาภิเษกไม่ใช่พระมหาพิชัยมงกุฎ หากแต่เป็น ‘พระขรรค์ชัยศรี’

การให้ความสำคัญแก่การสวมพระมหาพิชัยมงกุฎที่เริ่มต้นในสมัยรัชกาลที่ 4 นี้ ได้นำเอาแบบอย่างจากพิธีการขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์ในโลกตะวันตกที่เรียกว่า ‘Coronation’ เข้ามาประยุกต์ใช้ ทำให้มงกุฎกลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญขึ้นมา  

แต่แม้จะเป็นประเพณีใหม่ ก็ไม่ได้หมายความว่ามงกุฎไม่ใช่ของสำคัญ ตรงข้าม พระมหาพิชัยมงกุฎถือเป็นของสำคัญอย่างหนึ่งในเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ เป็นของที่ผู้อื่นนอกจากพระมหากษัตริย์แล้วจะมีไว้ในครอบครองไม่ได้เป็นอันขาด จุลมงกุฎหรือพระเกี้ยวของเจ้านายชั้นพระราชโอรสพระราชธิดาก็อยู่ในเกณฑ์ที่ว่าผู้อื่น (ที่ไม่ใช่พระราชโอรสพระราชธิดา) มีครอบครองไม่ได้ด้วย  

ดังนั้นจึงไม่มีประเพณีที่จะทรงพระราชทานให้แก่ผู้อื่น ยกเว้นแต่ถวายเป็นพุทธบูชา คือมอบให้แด่สิ่งอันเป็นตัวแทนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เช่น พระบรมธาตุ หรือรอยพระพุทธบาท ดังที่มีการพบเครื่องศิราภรณ์ทำจากทองคำ ในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ อยุธยา เป็นของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) ถวายแด่พระบรมธาตุ หรืออย่างที่มีตำนานเรื่องเล่าว่าสมเด็จพระเอกาทศรถ เสด็จประพาสไปนมัสการรอยพระพุทธบาทเขาฮังรุ้ง มีพระราชศรัทธาจนถึงกับถอดเครื่องศิราภรณ์ถวายแด่พระพุทธบาทดังกล่าว หรืออย่างเรื่องที่พระนั่งเกล้าฯ รัชกาลที่ 3 ถวายพระมหาพิชัยมงกุฎให้ไปประดับยอดพระปรางค์วัดอรุณ ก็ล้วนเป็นการทำตามธรรมเนียมคือถวายเป็นพุทธบูชา  

ไม่ปรากฏการยกพระเกี้ยวหรือศิราภรณ์ใด ๆ ให้แก่ผู้อื่นที่นอกไปกว่าการถวายเป็นพุทธบูชา ก็แหงสิครับ ขืนยกให้ ก็หมายถึงยกราชสมบัติให้คนผู้นั้นด้วย ใครจะยอม ไม่มีใครหาทำ แม้สมัยรัชกาลที่ 5 จะได้ชื่อว่าเป็นยุคเริ่มการปฏิรูปเพื่อความทันสมัย (Modernization) งานวิชาการประวัติศาสตร์และรัฐศาสตร์หลายต่อหลายชิ้นเคลมกันแบบนั้น  

แต่ข้อมูลหลักฐานหลายอย่างก็พบว่า ชนชั้นนำสยามสมัยนั้นยังคงอินกับขนบเดิมอยู่มาก ภาวะแบบทำอะไร ‘ครึ่ง ๆ กลาง ๆ’ บางครั้งโมเดิร์น บางครั้งถอยกลับไปใช้จารีตเดิม เป็นสิ่งที่พบได้ทั่วไป เรื่องนี้นักประวัติศาสตร์ที่ค้นเอกสารต่างก็เห็นและรับรู้กันมามาก สิ่งที่ทรงพระราชทานให้แก่เหล่านักเรียนโรงเรียนมหาดเล็กหลวงนั้นคือ ‘ตราสัญลักษณ์’ เพราะการทำของรูปลักษณ์เดียวกับเครื่องสูงอันเกี่ยวเนื่องกับพระบรมวงศานุวงศ์ ตามกฎหมายและธรรมเนียมจะต้องได้รับพระบรมราชานุญาต        

‘พระเกี้ยว’ คือมรดกจากยุคข้าราชการพลเรือน ต้องเป็น ‘มหาดเล็ก’ มาก่อน

ถามว่า แล้วจำเพาะทำไมนักเรียนมหาดเล็กหลวงนั้นจะต้องมาใช้ตราสัญลักษณ์ของเจ้านายชั้นพระราชโอรส โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นตราสัญลักษณ์เดิมที่สื่อถึงองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นการเฉพาะแบบนั้น?  

ตอบ : ก็เพราะว่ามหาดเล็กเขามีธรรมเนียมที่ต้องใช้ตราสัญลักษณ์ของเจ้านายที่สังกัดอยู่ เพื่อจำแนกแยกแยะกันออกว่าเป็นมหาดเล็กของวังหลวง ของวังหน้า หรือในสังกัดเจ้านายพระองค์ใด อีกอย่างก็มีธรรมเนียมที่ข้าราชการหัวเมืองจะต้องเป็นนักเรียนมหาดเล็ก จะได้ใกล้ชิดสนิทสนมกับเจ้านาย และรู้ขนบธรรมเนียมของราชสำนักส่วนกลางเป็นอย่างดี    

ดังนั้น เมื่อสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 มีพระดำริจะตั้งโรงเรียนสำหรับฝึกหัดข้าราชการ ที่เมื่อจบแล้วจะต้องถูกส่งไปปฏิบัติหน้าที่ตามหัวเมืองมณฑลต่าง ๆ ก็เห็นควรให้นักเรียนเหล่านี้ควรต้องเป็น ‘มหาดเล็กหลวง’ ที่ขึ้นกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยตรง  

เมื่อรัชกาลที่ 5 ทรงเห็นพ้องด้วยกับสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพในเรื่องนี้ ก็ได้ทรงพระราชทานอนุญาตให้เหล่านักเรียนโรงเรียนมหาดเล็กหลวงที่ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2442 นี้ ได้ใช้ตราสัญลักษณ์จุลมงกุฎหรือพระเกี้ยวของพระองค์ด้วย    

ตรงนี้จะเห็นได้ว่าเป็นการหวนกลับไปใช้ธรรมเนียมเก่า ตามที่ปรากฏในกฎมณเฑียรบาลฉบับปรับปรุงมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ที่จะมีตัวบทกำหนดให้ขุนนางที่จะออกไปรับราชการหัวเมือง เป็นชั้นปลัดยกกระบัตร หรือชั้นเจ้าเมือง จะต้องผ่านการเล่าเรียนและฝึกอบรมจากราชสำนักโดยต้องเป็นมหาดเล็กมาก่อน ตัวอย่างก็ไม่ใช่อื่นไกล สมเด็จพระเจ้าตากสิน ก่อนที่จะไปเป็นเจ้าเมืองตาก ก็เคยเป็นมหาดเล็กในสังกัดกรมขุนอนุรักษ์มนตรี (สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์) มาก่อน หรืออย่างปลัดยกกระบัตรทองด้วง (รัชกาลที่ 1) แขวงเมืองราชบุรี ก็เคยเป็นมหาดเล็กสังกัดกรมขุนพรพินิต (สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร/ขุนหลวงหาวัด) มาก่อน       

ต่อมาเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2453 ได้มีการปรับปรุงโรงเรียนมหาดเล็กหลวงให้เป็น ‘โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว’ พระนามรัชกาลที่ 5 ก็ติดมากับสถาบันการศึกษาแห่งนี้จนถึงการยกระดับให้เป็นสถานศึกษาระดับชั้นอุดมศึกษาในสมัยรัชกาลที่ 6 ก็ได้ทรงพระราชทานนามว่า ‘จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย’ เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2459 เพื่อให้เป็นพระบรมราชานุสาวรีย์เฉลิมพระเกียรติแห่งสมเด็จพระบรมชนกาธิราช (รัชกาลที่ 5) โดยในช่วงแรกเริ่มได้มีการจัดหลักสูตรการศึกษาแบ่งเป็น 4 คณะ ได้แก่ คณะรัฐประศาสนศาสตร์, คณะแพทยศาสตร์, คณะวิศวกรรมศาสตร์, คณะอักษรศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ เป็นต้น  

จากประวัติความเป็นมาข้างต้นนี้ทำให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ชื่อเป็น ‘มหาวิทยาลัยเจ้า’ (ม.เจ้า) ไปโดยปริยาย ยิ่งเป็นสถานศึกษาที่เจ้านายเชื้อพระองค์ที่ไม่ได้ไปศึกษาต่อต่างประเทศได้เข้ามาศึกษาเล่าเรียน หรือเป็นสถานศึกษาที่มีเจ้านายเชื้อพระวงศ์ที่จบการศึกษาจากต่างประเทศมาเป็นอาจารย์ผู้สอนเองโดยตรง ก็ทำให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยติดภาพลักษณ์ ม.เจ้า เรื่อยมา  

ที่สำคัญกว่านั้น ยิ่งเมื่อเกิดอีกมหาวิทยาลัยขึ้นหลังอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 โดย ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ และคณะราษฎร ได้ก่อตั้ง ‘มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง’ ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2477 ด้วยความที่ มธก. ยุคแรก ๆ ยังจัดการเรียนการสอนแบบตลาดวิชา เปิดโอกาสให้ครอบครัวที่มีรายได้น้อยมีโอกาสส่งบุตรหลานเข้ามาเล่าเรียนกันมาก มธก. ก็เลยติดภาพลักษณ์เป็น ‘มหาวิทยาลัยของราษฎร’ หรือ ‘ม.ไพร่’ ตรงข้ามกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่เป็น ‘ม.เจ้า’ ไปโดยปริยาย 

การจัดการแข่งขันฟุตบอลระหว่าง มธก. กับจุฬาฯ ก็เพื่อสลายค่านิยมความแตกต่างทางภาพลักษณ์และอุดมการณ์ของทั้งสองมหาวิทยาลัยนี้ แต่ปัจจุบันมันกลายเป็นตรงกันข้าม ฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ - ธรรมศาสตร์ ถือกำเนิดมาจากยุคที่ประเทศยังมีมหาวิทยาลัยเพียง 2 แห่ง แต่ปัจจุบันนี้ประเทศไทยมีมหาวิทยาลัยทั้งในกรุงเทพฯ และภูมิภาค ทั้งประเภท ม.ราชภัฏ ม.ราชมงคล ม.รัฐ ม.เอกชน รวมกันแล้วไม่รู้กี่สิบ ม. แต่ มธ. กับจุฬาฯ กลับยังยึดมั่นถือมั่นในประเพณีที่เพิ่งสร้างอย่างกับประเทศยังมีแค่ 2 ม. ดังเดิม 

หลายคนจึงมีความคิดเห็นต่อฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ - มธ. ไปในทางลบ ถึงขั้นบอกเลิกเสียได้ก็ดี (ก็มี) ไม่เชื่อก็ลองถามใครที่ไม่ได้เป็นศิษย์เก่าของทั้งสอง ม. และไม่อินกับฟุตบอลประเพณีฯ นี้ ดูเอาเองเถิดนะขอรับ!   

กล่าวเช่นนี้อย่าเพิ่งหาว่าผู้เขียนเป็นพวกชังชาติชังสถาบัน (จุฬาฯ) ที่ตัวเองได้มีโอกาสร่ำเรียนมาจนจบได้ใบปริญญากับเขามาซะล่ะ!!!  ก็รักมั่นผูกพันกับทั้งสองสถาบันนี้พอ ๆ กับทุกท่านนั่นแหละ เพียงแต่บางเรื่องก็ต้องว่ากล่าวติติงกันตามสภาพ ไม่ใช่จะมาอวยยศอวยชัยกันไปซะหมด 

‘พระเกี้ยว’ ของจริง ยังอยู่ที่พระบรมมหาราชวัง

เมื่อไม่มีธรรมเนียมที่จะทรงพระราชทานพระเกี้ยวหรือมงกุฎใด ๆ ให้ผู้อื่น ยกเว้นถวายเป็นพุทธบูชา และสิ่งที่รัชกาลที่ 5 ทรงพระราชทานนั้นคือ ‘ตราสัญลักษณ์’ คำถามต่อมาก็คือ แล้ว ‘พระเกี้ยว’ ที่จุฬาฯ เอามาแห่หามอวดชาวบ้านประชาชนในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ - มธ. นั้น ท่านได้แต่ใดมา?  

ข้อมูลตามเว็บไซต์ทางการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (www.chula.ac.th) ได้ระบุข้อมูลว่า พระเกี้ยวของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปกติจัดเก็บรักษาไว้ที่หอประวัติจุฬาฯ ตึกจักรพงษ์ นั้นเป็นของจำลอง ที่เพิ่งได้รับพระราชทานจากในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อคราวพิธีพระราชทานปริญญาบัตรประจำปีการศึกษา 2531 ในวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2532 ส่วนพระเกี้ยวองค์จริงนั้นอยู่ที่พระคลังมหาสมบัติในพระบรมมหาราชวังดังเดิม 

อย่างไรก็ตาม ‘ชัยชาญ ปรางค์ประทานพร’ ผู้เชี่ยวชาญประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ยืนกรานอย่างหนักแน่นแก่ผู้เขียนว่า พระเกี้ยวของจุฬาฯ นั้นมีหลายอัน อันสำคัญนั้นมี 2 อัน อันหนึ่งอยู่ที่ห้องทำงานของอธิการบดี อีกอันอยู่ที่หอประวัติจุฬาฯ และจากภาพถ่ายเก่าของขบวนแห่ในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ - มธ. จะเห็นได้ว่ามีภาพการอัญเชิญพระเกี้ยวมาตั้งแต่ทศวรรษ 2500 แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่พลเอกประภาส จารุเสถียร เป็นอธิการบดี บางปีมีภาพผู้หามเสลี่ยงแต่งกายในชุดหูกระต่ายแบบผู้ประกอบพระราชพิธี  

ก็เลยถึงบางอ้อกันว่า การหามเสลี่ยงแห่พระเกี้ยวเป็นประเพณีประดิษฐ์ในสมัยเมื่อทศวรรษ 2500 มานี้เอง ทั้งนี้เป็นผลงานเกี่ยวข้องกับ ‘ถนอม - ประภาส - ณรงค์’ ที่สืบอำนาจมาจาก ‘จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์’ และการรัฐประหารโค่น ‘จอมพล ป. พิบูลสงคราม’ เมื่อครั้งปีกึ่งพุทธกาล 2500   

รัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2500 เป็นการปิดฉากผู้นำจากคณะราษฎรอย่างเป็นทางการ พร้อมกับการเฟื่องฟูรุ่งเรืองขึ้นแบบเท่าทวีคูณของกลุ่มอุดมการณ์แบบอนุรักษนิยม ยิ่งเมื่อจอมพลสฤษดิ์ทำรัฐประหารตนเองยึดอำนาจซ้ำเมื่อ พ.ศ. 2501 ก็จัดการบริหารราชการแผ่นดินแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จ โดยสร้างความชอบธรรมจากการอ้างภัยคุกคามต่อชาติและสถาบัน  

การณ์นี้จอมพลสฤษดิ์กับพวกได้รื้อฟื้นประเพณีที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเหตุผลเพื่อใช้อำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จให้แก่ตนเองกับพรรคพวกในกองทัพ ก็จัดหนักจัดเต็มไปตามแต่ที่ผู้มีอำนาจสมัยนั้นจะเห็นสมควรและหมกมุ่น (เอาการ) คนรุ่นที่ไม่พอใจกับการที่ตนไม่ได้เห็นนิสิตจุฬาฯ หามเสลี่ยง น่าสังเกตว่าโดยมากก็เป็นคนที่เติบโตทันได้เห็นคนรุ่นโน้นเขาทำเป็นเยี่ยงอย่างให้มาทั้งนั้น  

เป็นธรรมดาของมนุษย์เราที่มักจะมีภาพจำต่อสิ่งที่เคยเห็นในวัยเด็กของตนนั้นเป็นเรื่องสวยงาม มีคุณค่าน่ารักษาให้คงอยู่สืบไป เขาเรียกว่า ‘ภาวะความโหยหาอดีต’ (Nostalgia) 

บางอ้ออีกข้อหนึ่ง (จากประเด็นข้างต้น) ก็คือ พระเกี้ยวที่จุฬาฯ มีอยู่และเอามาแห่หามอวดชาวบ้านประชาชน ทั้งหมดทั้งมวลนั้นล้วนเป็น ‘ของจำลอง’!!!  

แต่ทว่า (ช้าก่อน!!!) การเป็นของจำลองไม่ได้หมายความว่าไม่สำคัญ ตรงข้ามเพราะเป็นของจำลองนั่นแหละ สามัญชนคนธรรมดาอย่างนิสิตจุฬาฯ จึงสามารถแตะต้องหรือเป็นผู้อัญเชิญเอามาแห่หามกันได้ เพราะถ้าเป็นของจริงแล้วไซร้ นั่นเป็นของสูง ไม่ควรเอามาทำแบบนี้ตั้งแต่แรกแล้วละ (ไม่ว่าจะคนหาม ช้างแห่ รถแห่ หรือเรือเหาะใด ๆ ก็ไม่ควรทั้งนั้นแหละ) 

อุปมาของการมีของจำลองแบบนี้ ก็เหมือนที่มีพระพุทธรูปจำลอง พระพุทธบาทจำลอง ก็เพื่อให้ผู้คนสามารถปิดทองได้ ลูบแป้งขอหวยขอเบอร์ได้ แล้วแต่ญาติโยมจะประพฤติปฏิบัติกันไปตามแต่ศรัทธาของตน เพียงแต่ไม่ทำสิ่งลามกอุจาดตาแก่ผู้อื่น หรือกระทำการลบหลู่ดูหมิ่น ก็เป็นอันใช้ได้แล้ว ส่วนองค์จริงก็เก็บรักษาไว้ให้คงอยู่คู่บ้านคู่เมืองได้ตราบนานเท่านานสืบไป

การให้มีองค์จำลองสำหรับของแบบนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญและเป็นความชาญฉลาดอย่างยิ่งในการรักษาของจริงให้คงอยู่ แต่คนที่ไม่รู้หรือเชื่ออะไรมาผิด ๆ ก็เข้าใจว่าของจำลองเป็นของจริง และ ‘สัญลักษณ์แทน’ ก็เกิดกลายไปเป็น ‘ของจริงแท้’ โดยตัวมันเองไป คนเราก็แบบนี้ ถ้าฉลาดและรอบรู้ทุกเรื่องจริงก็คงไม่ใช่มนุษย์แล้วละนะ...      

‘พระเกี้ยว’ ในระยะหลัง ไม่ใช่ของมีเฉพาะจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

เมื่อมีการจัดตั้ง ‘โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย’ ขึ้น ตามแผนการศึกษาแห่งชาติฉบับ พ.ศ. 2479 (แต่ตั้งโรงเรียนนี้จริงเมื่อ พ.ศ. 2481 สมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ก็ได้ใช้ตราพระเกี้ยวอีกประเภทหนึ่งสำหรับติดอกเสื้อนักเรียน เรียกว่า ‘พระเกี้ยวน้อย’ คู่กับ ‘พระเกี้ยวใหญ่’ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยกำหนดให้นักเรียนชายติดตราพระเกี้ยวน้อยสีทอง นักเรียนหญิงติดตราพระเกี้ยวน้อยสีเงิน  

ความสำคัญในทางสัญลักษณ์ของตราพระเกี้ยวที่ใช้ในหมู่ชาวจุฬาฯ ทำให้เกิดความนิยมนำเอาไปใช้ตามสถาบันอื่น ๆ ในภายหลังด้วย ทั้งนี้โดยอ้างอิงธรรมเนียมเดิมที่พระเกี้ยวเป็นตราสำหรับพระราชโอรสและพระราชธิดา ซึ่งมีหลายพระองค์ จึงสามารถประยุกต์เป็นตราพระเกี้ยวอื่น ๆ สื่อถึงเจ้านายพระองค์อื่นตามมา  

ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ นอกจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว จึงมีสถาบันการศึกษาอื่น ๆ อีกที่ได้รับพระบรมราชานุญาตให้ใช้ตราพระเกี้ยวเป็นสัญลักษณ์ เป็นมหาวิทยาลัย 3 แห่ง ดังนี้:  

(1) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย 

(2) มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (สัญลักษณ์จุลมงกุฎเหนือตัวอักษร ‘จภ’ หมายถึง พระนามของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี) 

(3) มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ (สัญลักษณ์จุลมงกุฎเหนือตัวอักษร ‘กว’ หมายถึง พระนามของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์) 

และเป็นสถาบันการศึกษาประเภทโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาอีกกว่า 25 แห่ง ดังนี้:  

(1) โรงเรียนหอวัง และโรงเรียนในเครือ (ยกเว้น โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ หอวัง นนทบุรี ที่ใช้ตราพระปรมาภิไธยย่อ สก) 

(2) โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และโรงเรียนในเครือ (โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาภาค) และ (โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา สุวินทวงศ์ ซึ่งถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นสาขาของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา) 

(3) โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ และโรงเรียนในเครือ (ยกเว้น โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ เตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ที่ใช้ตราพระปรมาภิไธยย่อ สก) 

(4) โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า และโรงเรียนในเครือ (ยกเว้น โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ เตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า ที่ใช้ตราพระปรมาภิไธยย่อ สก) 

(5) โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) และโรงเรียนในเครือ (ยกเว้น โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ บดินทรเดชา ที่ใช้ตราพระปรมาภิไธยย่อ สก) 

(6) โรงเรียนเบญจมราชาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และโรงเรียนในเครือ (ยกเว้น โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ เบญจมราชาลัย ที่ใช้ตราพระปรมาภิไธยย่อ สก) 

(7) โรงเรียนเบญจมราชานุสรณ์ (เป็นโรงเรียนในเครือเบญจมราชาลัย เมื่อก่อนชื่อ โรงเรียนเบญจมราชาลัย 2 แต่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้พระเกี้ยว เป็นเครื่องหมายประจำโรงเรียนของตนเอง เป็นการเฉพาะ เมื่อปี พ.ศ. 2522 และเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนเบญจมราชานุสรณ์) และโรงเรียนในเครือ (โรงเรียนเบญจมานุสรณ์ จ.จันทบุรี) 

(8) โรงเรียนเบญจมราชูทิศ จ.จันทบุรี 

(9) โรงเรียนเบญจมราชูทิศ จ.ปัตตานี 

(10) โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ จ.ฉะเชิงเทรา 

(11) โรงเรียนเบญจมเทพอุทิศ จ.เพชรบุรี 

(12) โรงเรียนบรมราชินีนาถราชวิทยาลัย

(13) โรงเรียนมหาวชิราลงกรณราชวิทยาลัย 

(14) โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และโรงเรียนในเครือ

(15) โรงเรียนทวีธาภิเศก และโรงเรียนในเครือ (โรงเรียนประถมทวีธาภิเศก)

(16) โรงเรียนทวีธาภิเศก 2 

(17) โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย (แต่ในปัจจุบันได้อัญเชิญตรานี้เป็นตราเข็มกรรมการนักเรียน)

(18) โรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร

(19) โรงเรียนราชวิทยาลัย (หรือโรงเรียน ภ.ป.ร. ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์) ในปัจจุบัน

(20) โรงเรียนวัดบวรนิเวศ

(21) โรงเรียนรัตนโกสินทร์สมโภชบวรนิเวศศาลายา ในพระสังฆราชูปถัมภ์ นครปฐม

(22) โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

(23) โรงเรียนสาธิต ฝค.ตอ. / วศ.ปทุมวัน / มศว ปทุมวัน (ตราพระเกี้ยวธรรมจักร พ.ศ. 2497 - 2517)

(24) โรงเรียนบาลีเตรียมอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

(25) โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย 

อย่างไรก็ตาม ประเพณีการแห่ตราพระเกี้ยวของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื่องในฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ - ธรรมศาสตร์ ทำให้ผู้คนยังคงติดภาพลักษณ์พระเกี้ยวในฐานะตราสัญลักษณ์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแต่เพียงแห่งเดียว  

อย่างที่หลายท่านได้สะท้อนไว้แล้วว่า ประเพณีไม่ใช่สิ่งที่จะต้องมายึดติดตายตัวว่าต้องทำแบบเดียวตลอด ประเพณีสามารถปรับปรุงแก้ไขได้ตามความเหมาะสมกับยุคสมัย แน่นอนว่าการแห่พระเกี้ยวในครั้งนี้อาจดูไม่สวยงามอลังการ สังคมไทยไม่ชอบอะไรที่ราบเรียบแบบนั้น แต่ก็ต้องบอกว่ามาถูกทางแล้ว เพราะในอดีตก็ไม่มีประเพณีนี้ด้วยซ้ำ มีก็ไม่ใช่จะใช้คนหามตลอด อย่างภาพถ่ายเก่าเมื่อ พ.ศ. 2527 ก็จะเห็นว่ามีการใช้ช้างอัญเชิญพระเกี้ยวแทน     

มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งล้วนมีของที่น่าภาคภูมิใจในแบบของตนเอง ไม่จำเป็นต้องเป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่ย้อนหลังกลับไปถึงรัชกาลพระพุทธเจ้าหลวงก็ได้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีประวัติศาสตร์ที่น่าภาคภูมิใจมากมาย ที่น่าหดหู่ใจ (อย่างแท้จริง) ก็คือการที่ ‘พวกเรา’ ในปัจจุบัน ไม่รู้จักบอกเล่าเรื่องราวอันน่าภาคภูมิใจเหล่านั้นได้มากกว่าที่เป็นมาและเป็นอยู่ ในเมื่อเราไม่ได้เป็น ‘มหาดเล็กหลวง’ มากันนับร้อยกว่าปีแล้ว อนาคตต่อไปข้างหน้าต่างหากที่ควรกำหนดเส้นทางของเรา ไม่ใช่อดีตอันเก่าแก่โบราณ     

 

เรื่อง : กำพล จำปาพันธ์ 
ภาพ : เพจเฟซบุ๊ก Chula BAKA

อ้างอิง :
     กำพล จำปาพันธ์ และนนทพร อยู่มั่งมี. เอกสารประกอบการเสวนาทางวิชาการเรื่อง “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก: พัฒนาการความสืบเนื่องและความเปลี่ยนแปลงจากสมัยอยุธยาสู่รัตนโกสินทร์” จัดโดย อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา กรมศิลปากร ร่วมกับ การท่องเที่ยวและกีฬา จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 
     กำพล จำปาพันธ์. “อนุสรณ์สถานกับความทรงจำ: นร.สห. 2488 เสรีไทยสายนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 38 ฉบับที่ 5 (มีนาคม 2560), หน้า 138-149. 
     จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. “ประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของประเทศไทย” https://www.chula.ac.th/about/overview/history/ (เสิร์ชเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2567). 
     จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. “พระเกี้ยว สัญลักษณ์ที่ชาวจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยภูมิใจ” https://www.chula.ac.th/about/symbols/phra-kieo (เสิร์ชเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2567). 
     จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. “ร้อยเรื่องราวจากรั้วจามจุรี (3) โรงเรียนมหาดเล็กกับการกำเนิดของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” http://www.cu100.chula.ac.th/story/352/ (เสิร์ชเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2567). 
     ชัยชาญ ปรางค์ประทานพร. นิสิตนิทัศน์: ประวัติจุฬาฯ ฉบับนิสิต. กรุงเทพฯ: สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2559. 
     สารานุกรมเสรี (Wikipedia). “พระเกี้ยว”  https://th.wikipedia.org/wiki/พระเกี้ยว (เสิร์ชเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2567).