เปิดประวัติ ‘สมณะโพธิรักษ์’ จากผู้แพ้ สู่ ‘สมณะ’ เจ้าสำนักสันติอโศก และผู้ก่อตั้งพรรคพลังธรรม

เปิดประวัติ ‘สมณะโพธิรักษ์’ จากผู้แพ้ สู่ ‘สมณะ’ เจ้าสำนักสันติอโศก และผู้ก่อตั้งพรรคพลังธรรม

วันที่ 11 เมษายน 2024 เพจเฟซบุ๊ก ‘บุญนิยมทีวี’ โพสต์ข้อความแจ้งข่าวระบุว่า เมื่อเวลา 06.40 น. พ่อครูสมณะโพธิรักษ์ เจ้าสำนักสันติอโศกได้มรณภาพด้วยโรคชราในวัย 90 ปี

KEY

POINTS

  • สมณะโพธิรักษ์ ชื่อเดิมคือ มงคล รักพงษ์ เกิดที่ศรีสะเกษ ก่อนจะย้ายมาอยู่กับแม่ที่อุบลราชธานี 
  • ส่วนเหตุผลที่ไม่สามารถใช้คำนำหน้าว่า 'พระ' ได้ เนื่องจากสร้างความไม่พอใจให้แก่พระอุปัชฌาย์ ฝ่ายธรรมยุต จึงได้ส่งคืนใบสุทธิให้ฝ่ายธรรมยุตไป ถือไว้แต่ใบสุทธิ ฝ่ายมหานิกาย เพียงอย่างเดียว
  • ก่อนจะเข้าสู่เส้นทางการเมือง โดยเป็นผู้ก่อตั้งพรรคพลังธรรม และมี พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เป็นหัวหน้าพรรค ทั้งยังได้มีบทบาททางการเมือง โดยนำพาผู้ปฏิบัติธรรม สันติอโศก เข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535

วันที่ 11 เมษายน 2024 เพจเฟซบุ๊ก ‘บุญนิยมทีวี’ โพสต์ข้อความแจ้งข่าวระบุว่า เมื่อเวลา 06.40 น. พ่อครูสมณะโพธิรักษ์ เจ้าสำนักสันติอโศกได้มรณภาพด้วยโรคชราในวัย 90 ปี

ข่าวการจากไปที่ทำให้เหล่าผู้มีใจรักและศรัทธาในตัวของสมณะโพธิรักษ์ หรือชื่อเดิมคือ ‘มงคล รักพงษ์’ ถึงกับหลั่งน้ำตา เพราะนั่นหมายถึงหนึ่งชีวิตที่จากไป หนึ่งชีวิตที่ครั้งหนึ่งเคยถูกพูดถึงในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยมาโดยตลอด

หากย้อนกลับไปยังช่วงการเมืองคุกรุ่น มีข่าวการประท้วงไม่เว้นวันโดยเฉพาะในช่วงปี 2549 จะเห็นได้ว่ามีกลุ่มผู้ชุมนุมที่แต่งกายคล้ายสงฆ์จำนวนมากรวมกลุ่มอยู่ด้วย แม้ว่าใครต่อใครจะบอกว่านี่ไม่ใช่กิจของสงฆ์ แต่สำหรับผู้นำพรรคพลังธรรม กลับมองว่านี่แหละคือกิจที่ถูกที่ควร หากไม่มีธรรมะในการเมือง บ้านเมืองนั้นคงถึงคราวล่มสลาย

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่สมณะโพธิรักษ์นำทัพผู้ปฏิบัติธรรมสันติอโศกเข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง ย้อนกลับไปในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 กลุ่มสันติอโศกเองก็ได้เข้าร่วมแสดงจุดยืนทางการเมืองด้วยเช่นกัน

และนี่คือเรื่องราวของสมณะโพธิรักษ์ เจ้าสำนักสันติอโศก และผู้ก่อตั้งพรรคพลังธรรม นักบวชผู้เชื่อว่าธรรมะและการเมืองเป็นสิ่งที่แยกจากกันไม่ได้

ชีวิตและวัยเด็กของมงคล รักพงษ์

สมณะโพธิรักษ์ ชื่อเดิม มงคล รักพงษ์ เกิดที่จังหวัดศรีสะเกษ เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2477 ในครอบครัวชนชั้นกลาง พ่อเสียชีวิตตั้งแต่เขายังจำความได้ไม่มากนัก แม่จึงเป็นหญิงเพียงคนเดียวที่คอยดูแลเขาไม่ห่างกาย ก่อนจะตัดสินใจโยกย้ายถิ่นฐานกลับไปยังรกรากเดิมที่จังหวัดอุบลราชธานี เพราะนี่คือบ้านที่แม่จากมา บ้านที่เธอเลือกจะใช้ช่วงเวลาที่เหลือร่วมกับลูกชาย

เพื่อไม่ให้การกลับมาอุบลราชธานีสูญเปล่า เธอจึงเริ่มทำงานค้าขาย และนั่นทำให้ครอบครัวรักพงษ์เริ่มมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่โชคร้ายที่ชะตาฟ้าไม่เป็นใจ แม่ของมงคลถูกคนที่ไว้ใจฉ้อโกงจนล้มป่วย ทำให้ฐานะทางบ้านเริ่มเข้าสู่วิกฤต แม้จะเจ็บป่วยทั้งกายและใจ แต่เธอก็ไม่ลืมที่จะฝากฝังลูกชายคนนี้ให้อยู่ในความดูแลของลุง นายแพทย์ที่เธอไว้ใจมากที่สุดคนหนึ่ง

อาจเป็นเพราะการอยู่ร่วมกับลุงที่มักใช้เวลาไปกับการตรวจตราคนไข้ แถมยังมีหนังสือไว้ให้อ่านอีกกองพะเนิน เด็กชายมงคลจึงมีผลการเรียนดีเยี่ยมไม่ขาดตกบกพร่อง แถมยังเป็นเด็กกตัญญู ระหว่างที่แม่ทำงาน เขายังช่วยแม่ขายของไม่หยุดหย่อน จนทำให้เธอใจชื้นอยู่ไม่น้อย

หลังจากเรียนจบชั้นมัธยมปลายในกรุงเทพฯ มงคลได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเพาะช่าง แผนกวิจิตรศิลป์ พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็น ‘รัก รักพงษ์’ งานแรกที่เขาทำเริ่มขึ้นในปี 2501 ทำหน้าที่เป็นผู้จัดรายการเด็ก, รายการการศึกษา และรายการวิชาการต่าง ๆ ชื่อเสียงของเขาเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นทุกขณะ อาจเพราะสไตล์การพูดคุย และน้ำเสียงที่น่าฟัง ทำให้ผู้ฟังชื่นชอบกันเป็นยกใหญ่

นอกจากเป็นผู้จัดรายการแล้ว เขายังเป็นนักแต่งเพลง เด็กส่งหนังสือพิมพ์ และครูสอนศิลปะตามโรงเรียนต่าง ๆ จากความขยันของเขาทำให้สามารถหาเงินมาได้ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 20,000 บาท

ความศรัทธาในศาสนา

ไม่แน่ใจนักว่าจุดเปลี่ยนที่ทำให้เขาหันมาสนใจศาสนาอย่างจริงจังเริ่มขึ้นในช่วงไหน รู้ตัวอีกทีก็ตัดสินใจหันมาศึกษาพุทธศาสนาอย่างจริงจัง จนเข้าถึงแก่นศาสนา และนั่นทำให้เขาเลือกละทิ้งทางโลกเขาสู่ทางธรรมอย่างเต็มตัว โดยการอุปสมบทที่วัดอโศการาม สมุทรปราการ ในคณะธรรมยุติกนิกาย เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2513 ได้รับฉายาว่าพระโพธิรักขิโต และมีพระราชวรคุณเป็นอุปัชฌาย์

แต่สุดท้ายพระราชวรคุณไม่ต้องการให้นักบวชจากฝ่ายมหานิกายมาศึกษาร่วมกัน พระโพธิรักษ์จึงเข้ารับการแปรญัตติฯ เป็นพระของคณะมหานิกายอีกคณะหนึ่ง โดยมิได้สึกจากคณะธรรมยุต ที่วัดหนองกระทุ่ม นครปฐม แต่การกระทำนี้สร้างความไม่พอใจให้แก่พระอุปัชฌาย์ ฝ่ายธรรมยุต จึงส่งคืนใบสุทธิให้ฝ่ายธรรมยุตไป เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2516 ถือไว้แต่ใบสุทธิ ฝ่ายมหานิกาย เพียงอย่างเดียว

จนกระทั่งวันที่ 6 สิงหาคม 2518 พระโพธิรักษ์และคณะ ได้ประกาศลาออกจากมหาเถรสมาคม และได้รับความคุ้มครอง ตามมาตรา 15 ของรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย เนื่องจากถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นพวกนอกรีต ก่อนจะถูกพิพากษาว่าเป็น ‘ผู้แพ้’ ไม่สามารถเรียกขานตนเองว่า พระ ได้ จึงเรียกตนเองว่า สมณะ แทน แต่ยังคงปฏิบัติอย่างเคร่งครัดเหมือนเดิม ไม่ว่าจะเป็น การฉันอาหาร มังสวิรัติ วันละ 1 มื้อ, ไม่ใช้เงินทอง, นุ่งห่มผ้าย้อมสีกรัก, มีชีวิตอย่างเรียบง่าย, ไม่มีการเรี่ยไร, ไม่รดน้ำมนต์-พรมน้ำมนต์, ไม่ใช้การบูชา ด้วยธูปเทียน, ไม่มีไสยศาสตร์ฯ

ธรรมะกับการเมือง

สมณะโพธิรักษ์ เป็นผู้ก่อตั้งพรรคพลังธรรม โดยมี พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เป็นหัวหน้าพรรค ทั้งยังได้มีบทบาททางการเมือง โดยนำพาผู้ปฏิบัติธรรม สันติอโศก เข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535

รวมถึงการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ต่อต้านรัฐบาล นายทักษิณ ชินวัตร และรัฐบาลนายสมัคร ในปี 2549 และ 2551 รวมถึงการชุมนุมของ กปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประชาธิปไตยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ในปี 2556 - 2557

โดยในการชุมนุมของ กปปส. นั้น สมณะโพธิรักษ์และผู้ปฏิบัติธรรมสันติอโศก ได้ปักหลักชุมนุมที่สวนลุมพินี ตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม 2556 ร่วมกับกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) พร้อมทั้งวิพากษ์การทำงานของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์อย่างหนักหน่วง

“คุณลองคิดดูสิตั้งแต่ทักษิณ สมัคร สมชาย ยิ่งลักษณ์ ทำให้เศรษฐกิจไทยฉิบหายวายป่วงไปเท่าไร นายกฯ ประยุทธ์ต้องมานั่งรับแบกหามเศรษฐกิจที่พวกท่านเหล่านั้นทำฉิบหายมา โควิด-19 ก็ปานนั้น เศรษฐกิจก็ปานนี้ การบริหารบุคคลอะไรต่าง ๆ นานา อยู่ในการเปลี่ยนแปลง อาตมาดูกว้างดูรวมแล้ว โอ้โหฝีมือใช้ได้ ๆ

“เมืองไทยมีนายกฯ 29 คน อาตมาก็เห็นว่าทั้งเหตุการณ์บ้านเมือง เหตุการณ์ของโลก แม้แต่เรื่องโควิด-19 แม้แต่เรื่องเศรษฐกิจของสังคมประเทศ ซึ่งจริง ๆ แล้วนายกฯ ประยุทธ์กอบกู้เศรษฐกิจของประเทศหนักมาก เพราะว่ารัฐบาลทักษิณทำฉิบหายไปหนัก” สมณะโพธิรักษ์เคยกล่าวถึงการทำงานของรัฐบาลในยุคพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2564

และในปีเดียวกัน ภาวิณีย์ เจริญยิ่ง จากมติชนสุดสัปดาห์ได้สัมภาษณ์พิเศษสมณะโพธิรักษ์ ไว้ในบทความ 86 ปี สมณะโพธิรักษ์ ตั้งเป้าหมายอายุยืนยาว 151 ปี ส่องการเมือง ‘ไทย - อเมริกา’ ถึงความคิดเห็นทางการเมือง โดยได้ถามคำถามหนึ่งที่น่าสนใจว่า คิดเห็นอย่างไรกับบ้านเมืองในปัจจุบัน

ซึ่งคำตอบก็เป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า บ้านเมืองในยุคนี้สมัยนี้อยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก เนื่องจากมีความเป็นประชาธิปไตยสูง

“อยู่ในเกณฑ์ดีมากเลย อาตมาให้เกณฑ์เรื่องประชาธิปไตยบ้านเราเป็นเบอร์หนึ่งของโลก แต่คนฟังไม่ขึ้นว่าอาตมาใช้อะไรตัดสิน ไม่ได้พูดพล่อย ๆ ใช้โครงสร้างที่มีของพระพุทธเจ้าเป็นการตัดสิน พระพุทธเจ้าเป็นสุดยอดนักประชาธิปไตย ไม่มีการเห็นแก่ตัว

“หลายคนคงสงสัยว่าทำไมชาวอโศกต้องไปยุ่งการเมือง ประเด็นนี้คนก็มีความเข้าใจแตกต่างกันไป อาตมายืนยันว่า ธรรมะกับการเมืองต้องเข้าไปอยู่ด้วยกัน คนที่เป็นนักธรรมะหรือนักการเมืองไม่มีธรรมะนี่ประเทศชาติซวยเลย ถ้าขจัดธรรมะออกจากการเมือง ออกจากนักการเมือง เป็นความซวยที่สุด ไม่ว่าจะเป็นธรรมะของศาสนาไหน จะต้องมีธรรมะ... ไม่เช่นนั้นการเมืองบรรลัยถ้าไม่มีธรรมะ”

พร้อมทั้งทิ้งท้ายว่าบ้านเมืองในช่วงเวลานี้ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง ทุกอย่างกำลังไปได้ด้วยดี

ก่อนที่ข่าวการมรณภาพของสมณะโพธิรักษ์จะถูกประกาศขึ้นในช่วงเช้าวันนี้ (11 เม.ย. 67) สุขภาพของท่านร่วงโรยตามช่วงวัยมาเป็นเวลานาน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ เจ้าสำนักสันติอโศก ป่วยหนักถึงขั้นเข้าโรงพยาบาลวารินชำราบ ด้วยอาการปอดอักเสบ และกลับสำนักสันติอโศกในเวลาต่อมา กระทั่งจากโลกนี้ไปอย่างสงบในเวลา 06.40 น.

 

เรื่อง : วันวิสาข์ โปทอง

ภาพ : Nation Story

 

อ้างอิง :

  • ‘สมณะโพธิรักษ์’ ผู้ก่อตั้ง ‘สันติอโศก - พรรคพลังธรรม’ มรณภาพในวัย 90 ปี. https://www.nationtv.tv/politic/378942460
  • สิ้นแล้ว สมณะโพธิรักษ์ เจ้าสำนักสันติอโศก ผู้นำกองทัพธรรม ต้านระบอบทักษิณ.  https://www.matichon.co.th/heading-news/news_4520558
  • ‘สมณะโพธิรักษ์’ มรณภาพ ด้วยโรคชรา อายุ 90 ปี. https://www.thaipbs.or.th/news/content/338948
  • 86 ปี สมณะโพธิรักษ์ ตั้งเป้าหมายอายุยืนยาว 151 ปี ส่องการเมือง ‘ไทย - อเมริกา’ / รายงานพิเศษ. https://www.matichonweekly.com/column/article_398549