ตามรอย ‘ครูบาศรีวิชัย’ พระที่ผู้คนเชื่อว่ามาสร้างความเจริญ..กับกรณีขัดแย้งในคณะสงฆ์

ตามรอย ‘ครูบาศรีวิชัย’ พระที่ผู้คนเชื่อว่ามาสร้างความเจริญ..กับกรณีขัดแย้งในคณะสงฆ์

‘ครูบาศรีวิชัย’ คือพระภิกษุสงฆ์ที่ถูกกล่าวขานและได้รับความศรัทธาจากพุทธศาสนิกชนในภาคเหนือของไทย ผู้คนเชื่อว่าท่านคือผู้มาสร้างความเจริญรุ่งเรือง แต่เรื่องราวในชีวิตท่านยังพัวพันกับความขัดแย้งในคณะสงฆ์

  • ‘ครูบาศรีวิชัย’ ได้รับความเคารพและศรัทธาอย่างมากจากจริยวัตรที่เคร่งครัด และจากการเดินทางไปบูรณปฏิสังขรณ์ศาสนสถานต่าง ๆ
  • พระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. 121 ส่งผลให้สถาบันสงฆ์ล้านนาถูกปรับโครงสร้าง ทำให้ครูบาศรีวิชัยได้รับผลกระทบตามมา ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งในคณะสงฆ์

ในดินแดนภาคเหนือของไทยพระภิกษุสงฆ์ที่ถูกกล่าวขานและได้รับความศรัทธาจากพุทธศาสนิกชนมากที่สุดรูปหนึ่งคือ ‘ครูบาศรีวิชัย’ ผู้คนจำนวนมากมีความเชื่อว่าท่านคือ ‘เจ้าตนบุญแห่งล้านนา’ เป็นผู้ที่มาสร้างความเจริญรุ่งเรือง และสืบทอดพระพุทธศาสนาให้คงอยู่ตราบนานเท่านาน

คติความเชื่อเรื่อง ‘ตนบุญ’ หรือ ‘ผู้มีบุญ’ นั้นเป็นคติความเชื่อที่ถูกนำมาใช้ตลอดในประวัติศาสตร์ล้านนาและอีสาน แนวคิดดังกล่าวนำมาใช้ในรูปแบบต่าง ๆ ตั้งแต่การใช้อ้างความชอบธรรมของสถาบันกษัตริย์ล้านนาจนกระทั่งสามัญชน ที่ใช้คำว่า ‘ตนบุญ’ เพื่อทำการช่วยเหลือชาวบ้านยามทุกข์เข็ญเมื่อเผชิญกับสภาวะความไม่สงบของบ้านเมือง แนวคิด ‘ตนบุญ’ กับปรากฎการณ์ ‘ผู้มีบุญ’ ในสังคมไทยนั้นมักจะวางอยู่บนพื้นฐานอันเดียวกัน

ความคิดเรื่อง ‘ตนบุญ’ จะมีความสัมพันธ์กับคำทำนายในพุทธศาสนาเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องศาสนา 5,000 ปี ซึ่งจะปรากฏตามตำนานวัด ตำนานเมืองของล้านนาเกือบทุกฉบับ ในภาวะยุคเข็ญก็จะปรากฏ ‘ตนบุญ’ มาช่วยปราบยุคเข็ญ ช่วยเหลือประชาชนมักจะเรียกในชื่อต่างกัน เช่น ตนบุญเจ้า ตนวิเศษ เจ้าตนบุญใหญ่องค์ประเสริฐ หรือ พระยาธรรมมิกราช(พญาธรรม) เป็นต้น

ส่วนความหมาย ‘ครูบา’ นั้น สังคมล้านนาในอดีตสถาบันสงฆ์ถือว่ามีบทบาทอย่างสูง พระสงฆ์จะเป็นผู้ประกอบพิธีกรรมในพระพุทธศาสนาและตามคติความเชื่อของชาวบ้านควบคู่กันไป อีกทั้งพระสงฆ์ยังอยู่ในฐานะให้คำปรึกษาแก่ชาวบ้านประชาชนเป็นแกนนำทางจิตใจของสังคม 

ดังนั้น พระสงฆ์กับชาวบ้านจึงมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน นอกจากนั้นพระสงฆ์ยังเป็นผู้นำทางความคิด ความเชื่อ และพิธีกรรม จนท้ายที่สุดกลายเป็นผู้จัดวางจารีตประเพณีและวัฒนธรรมของชุมชนในสังคมล้านนา

พบว่าในอดีตชาวบ้านมักจะยกย่องศรัทธาและเรียกพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบและมีพรรษาที่สูงวัยว่า ‘ครูบา’ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับทางการปกครองสงฆ์แต่ประการใด 

ส่วนพระสงฆ์ที่มีระดับพรรษาไม่เกิน 5 พรรษาเรียกว่า ‘ตุ๊หนาน’ ทำหน้าที่อบรมสั่งสอนให้หัดอ่านเขียนอักษรธรรมล้านนา และพระสงฆ์ที่มีพรรษามากกว่า 5 พรรษาขึ้นไปเรียกว่า ‘ตุ๊บาลก๋า’ มีหน้าที่อบรมสั่งสอนในวิชาที่ยากขึ้นไป เช่น การจารพระธรรมลงใบลาน ท่องคำสวด คำเวนทาน หัดเทศนาพระสูตรต่าง ๆ เป็นต้น

ส่วนเจ้าอาวาสจะเรียกว่า ‘ตุ๊หลวง’ ในขณะเดียวกัน เจ้าอาวาส หรือตุ๊หลวงที่เก่ง มีความรู้ความสามารถด้านต่าง ๆ อย่างเชี่ยวชาญ เช่น วิชาคาถาอาคม วิชาโหราศาสตร์ การรักษาแพทย์แผนโบราณ การเทศน์มหาชาติกัณฑ์ต่าง ๆ เป็นต้น มักจะถูกเรียกว่า ‘ครูบา’ นำหน้าชื่อด้วยเช่นกัน

ส่วนคำว่า ‘ครูบาเจ้า’ นั้นจะเป็นคำยกย่องในฐานะนักบุญหรือตนบุญ เช่น ครูบาเจ้าศรีวิชัย หรือในอีกความหมายคือ ครูบาที่เป็นเจ้าที่มีเชื้อสายทางเจ้านายฝ่ายเหนือ เช่น ครูบาเจ้าเกษม เขมโก เป็นต้น

ส่วนเมืองเชียงตุง คำว่า ‘ครูบา’ ถูกจัดให้เป็นสมณศักดิ์ตามระบบพื้นเมืองของเชียงตุงซึ่งต่ำกว่าชั้นสมเด็จอาชญาธรรมและสูงกว่าชั้นสวามี โดยปกติการถวายสมณศักดิ์ระดับ ‘ครูบา’ จะถวายให้สำหรับพระเถระที่มีเกียรติคุณมีอายุตั้งแต่ 40 ปี พรรษา 20 ขึ้นไป เช่น ครูบาแสงหล้า วัดพระธาตุสายเมือง ครูบาวัดหัวข่วง เจ้าคณะเมืองยอง เป็นต้น

 

ประวัติ ‘ครูบาศรีวิชัย’ ในประวัติศาสตร์นิพนธ์ครูบาศรีวิชัย

ในห้วงบริบทแห่งการจัดการปฏิรูปการปกครองมณฑลพายัพ (พ.ศ. 2436-2476) นั้น หัวเมืองล้านนาได้ถูกยกเลิกและจัดระบบการปกครองแบบมณฑล สถานการณ์ทั้งหมดจึงเป็นสภาพการณ์ของหัวเมืองล้านนาในช่วงเวลาที่ครูบาศรีวิชัยเติบโตขึ้นมา งานเขียนที่เกี่ยวกับครูบาศรีวิชัยหลายฉบับกล่าวตรงกันว่า

“...ครูบาศรีวิชัยเกิดที่บ้านปาง ต.แม่ตืน อ.ลี้  จ.ลำพูน ในวันที่  11  มิถุนายน พ.ศ. 2421 หรือ จ.ศ. 1240 วันอังคาร เดือนเก้า (เหนือ)...”

ซึ่งบ้านปาง ตำบลแม่ตืนนั้นเป็นเขตชนกลุ่มน้อยอาศัยอยู่ เช่น ปกาเกอญอ (กระเหรี่ยง) ที่อยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก (ซึ่งภายหลังกลุ่มคนกระเหรี่ยงนี้ได้มีความสัมพันธ์กับครูบาศรีวิชัยในฐานะผู้ติดตามคอยช่วยเหลือเคารพนับถือโดยตลอด) จนมีเรื่องเล่าในประวัติของท่านว่า ท่านมีเชื้อสายเป็นพวกยาง (กระเหรี่ยง)

ตามประวัตินั้นกล่าวว่า บิดาของท่านชื่อนายควาย ได้ติดตามผู้เป็นตาเข้าไปตั้งถิ่นฐานที่บ้านปาง บุกเบิกจับจองที่นาเพื่อเป็นที่ทำกิน จนกระทั่งนายควาย ได้แต่งงานอยู่กินกับนางอุสา กำเนิดบุตรชาย-หญิง จำนวน 5 คน ซึ่งครูบาศรีวิชัยเป็นบุตรคนที่ 3 ตั้งแต่แรกเกิดมีชื่อว่า เฟือน หรืออินทร์เฟือน หรืออินต๊ะเฟือน

งานเขียนหลายฉบับกล่าวว่า “เมื่อแรกเกิดนั้นมีเหตุการณ์ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า แผ่นดินไหวเกิดขึ้น” จึงมีความเห็นตรงกันว่า “ทารกผู้นี้จะต้องเป็นผู้มีวาสนา บุญญาบารมีมากมาถือกำเนิด”

เมื่อเติบโตได้ 18 ปี ในพ.ศ. 2438 จึงบวชเป็นสามเณร มีพระอุปัชฌาย์คือ ครูบาขัตติยะ หรือครูบาแค่งแคระ เป็นพระธุดงค์ที่เดินทางมาถึงบ้านปางได้ทำการบวชให้

หลังการบวชสามเณรแล้วจึงทำให้ท่านได้มีโอกาสได้รับการศึกษาจากวัด ในการหัดอ่านเขียนอักษรธรรมล้านนา จนกระทั่งครบอายุที่จะอุปสมบทจึงทำการอุปสมบทโดยครูบาสมณะ วัดบ้านโฮ่งหลวง อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน เป็นพระอุปัชฌาย์ และได้รับฉายาว่า ‘สิริวิชโยภิกขุ’ หรือ ‘พระสีวิไชย’ ทำการศึกษาเล่าเรียนกับครูบาขัตติยะตามจารีตประเพณี ซึ่งท่านมีความสนใจในทางวิชาไสยศาสตร์ คาถาอาคมซึ่งถือกันว่าเป็นทางโลก ดังที่งานเขียนประวัติหลายเล่มกล่าวว่า

“...พระศรีวิชัยศึกษาไสยศาสตร์เวทมนต์คาถาจากครูบาแค่งแคระ...เป็นของดีของวิเศษที่จะนำความสุขความเจริญมาให้ อันวิชาประเภทนี้เป็นวิชาที่จะนำตัวออกไปสู่โลก...”

ขณะเดียวกัน ท่านได้รับการสักหมึกดำที่ขาทั้ง 2 ข้างตามลักษณะความเชื่อของชายชาวล้านนาที่จะช่วยให้อยู่ยงคงกระพันและมีเสน่ห์เมตตามหานิยม

การเล่าเรียนของพระศรีวิชัยที่มุ่งเน้นความสนใจในวิชาทางโลกแสดงให้เห็นว่า ท่านมีความต้องการไปใช้ชีวิตอย่างฆราวาส จุดหักเหที่เปลี่ยนแปลงสำคัญคือ ครูบาสมณะไม่ต้องการให้ลาสิกขาแต่ได้แนะนำให้พระศรีวิชัยเดินทางไปศึกษาวิชากับครูบาอุปละ วัดดอยแต อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูนซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ของครูบาสมณะ ด้วยเหตุผลว่าสำนักสงฆ์วัดดอยแตในขณะนั้นเป็นสถานที่ที่มีชื่อเสียงด้านวิปัสสนาธุระ 

การได้รับการศึกษาจากสำนักวัดดอยแตครั้งนั้นจึงทำให้ท่านได้เพิ่มเติมความรู้โดยการมุ่งเน้นการปฏิบัติธรรมโดยการบำเพ็ญสมาธิภาวนา จนทำให้พระศรีวิชัยเลิกสนใจในวิชาไสยศาสตร์และหันมาปฏิบัติสมาธิบำเพ็ญภาวนาแต่อย่างเดียว

พระศรีวิชัยได้เดินทางกลับบ้านปางด้วยความสมถะและเริ่มบำเพ็ญเพียรภาวนาตามแนวทางที่ได้ร่ำเรียนมา ทำให้เกิดบุคลิกที่น่าเลื่อมใสขึ้นแก่ท่านซึ่งบางครั้งได้มีการออกเดินธุดงค์แสวงหาความวิเวกตามป่าเขาตามลักษณะจารีตแบบพระสงฆ์สายอรัญญวาสี 

สิ่งที่ช่วยเสริมให้ท่านโดดเด่นขึ้นมาเหนือกว่าพระสงฆ์รูปอื่น ๆ ในขณะนั้นคือ

ประการแรก จริยวัตรที่เคร่งครัดในการรักษาศีลวินัยละเว้นจากการฉันเนื้อสัตว์  

ประการที่สอง การคาดหวังในการบรรลุธรรมอันวิเศษดังที่ปรากฏในคำอธิษฐานบารมีที่ได้อธิษฐานไว้ที่มีนัยถึงการสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าด้วย

ประการที่สาม คำทำนายเรื่องของการปรากฏขึ้นของ ‘ตนบุญ’ ในคติความเชื่อของชาวล้านนาได้ถูกนำมาใช้กับพระศรีวิชัยและกลุ่มลูกศิษย์ 

ประการสุดท้าย ความคิดเรื่องการเดินทางไปบูรณปฏิสังขรณ์ศาสนสถานต่าง ๆ ของท่านทำให้เกิดศรัทธาการยอมรับในตัวของท่านที่เป็นสัญลักษณ์ของการแสดงออกของ ‘ตนบุญ’ และจากการที่พระศรีวิชัยได้ศึกษาในสำนักสงฆ์ที่มีชื่อเสียงหลายสำนัก โดยเฉพาะสำนักสงฆ์สายอรัญวาสี ซึ่งมีส่วนทำให้ท่านมีบุคลิกลักษณะเป็นที่น่าเลื่อมใสศรัทธาของพระสงฆ์และฆราวาส จนทำให้ท่านมีฐานะเป็นพระอุปัชฌาย์สามารถบวชบุตรชาวบ้านได้ตามจารีตเดิม และได้ถูกเรียกขานว่า ‘ครูบาศรีวิชัย’ หรือ ‘ครูบาศีลธรรม’ ตั้งแต่นั้นมา

จากงานเขียนประวัติหลายเล่มได้กล่าวถึงกิจกรรมสำคัญที่ครูบาศรีวิชัยได้ปฏิบัติคือ การไปบูรณปฏิสังขรณ์ศาสนสถานไว้หลาย ๆ แห่ง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2447-2478 เป็นช่วงระยะเวลานานถึง 30 ปี และก็ถือว่าเป็นห้วงเวลาที่ท่านเกิดกรณีขัดแย้งกับคณะผู้ปกครองสงฆ์มาโดยตลอด แต่การขัดแย้งแต่ละครั้งก็ยิ่งทำให้ชื่อเสียงของครูบาศรีวิชัยเป็นที่รู้จักในวงกว้างเพิ่มขึ้นอีก

ขณะเดียวกัน การทำนายเรื่องการสร้างวัดของท่านไว้ล่วงหน้าก็ทำให้ชาวบ้านต่างต้องการให้ลูกหลานของตนมาบวชเรียนกับท่านเป็นจำนวนมาก แต่สิ่งที่ท่านปฏิบัติก็เริ่มถูกเพ่งเล็งและถูกกล่าวหาว่าฝ่าฝืนบัญญัติในข้อกฎหมายสงฆ์อยู่หลายกรณี

แม้ว่าท่านเองจะเกิดกรณีขัดแย้งกับส่วนกลางและถูกมองว่าต่อต้านก็ตาม แต่ท่านก็ยังพยายามที่จะประนีประนอมกับรัฐบาลกรุงเทพฯ โดยการเลือกใช้รูปแบบศิลปกรรมอย่างกรุงเทพฯ แทนแบบดั้งเดิมในการบูรณปฏิสังขรณ์ศาสนสถานแต่ละครั้ง เพื่อลดการเผชิญหน้ากับการขยายอำนาจทางการเมืองการปกครองและการครอบงำทางวัฒนธรรมอื่น ๆ ที่ต่างไปจากเดิม

การดำเนินกิจกรรมของครูบาศรีวิชัยได้เปลี่ยนแปลงไปในช่วงท้ายชีวิตของท่าน จากเดิมที่เคยมุ่งมั่นบูรณะวัดวาอาราม ก็ได้ปรับเปลี่ยนมาดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับทางโลกมากขึ้น เช่น การสร้างถนน การสร้างสะพาน ซึ่งถือว่าเป็นการปรับเปลี่ยนไปตามสภาพภาวะของเศรษฐกิจและสังคมในยุคนั้น แต่ในขณะเดียวกันก็ยังถือว่าเป็นภารกิจของ ‘ตนบุญ’ อยู่ที่จะต้องช่วยเหลือผู้คนมุ่งสะสมบุญเอาไว้ภายหน้า ช่วยเหลือให้ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านให้ดีขึ้น 

กิจกรรมที่ทำให้ท่านมีชื่อเสียงเป็นที่กล่าวขานกันโดยทั่วไปและเพิ่มกำลังศรัทธาให้แก่ท่านมากที่สุด คือ การรับเป็นประธานในการก่อสร้างทางขึ้นวัดพระธาตุดอยสุเทพ ในปี พ.ศ. 2477 ซึ่งเมื่อประชาชนทราบข่าวจึงเดินทางมาร่วมกิจกรรมดังกล่าวอย่างมากมาย มีทั้งพระสงฆ์ เจ้านายฝ่ายเหนือ คหบดี ชาวบ้าน และกลุ่มชาติพันธุ์(กะเหรี่ยง) ดังนั้น จึงทำให้ชื่อเสียงของครูบาศรีวิชัยได้เป็นที่รู้จักแพร่หลายกว้างขวางมากขึ้นไปอีกกว่าเดิม

ครูบาศรีวิชัย ไฟล์ public domain/wikimedia commons

ครูบาศรีวิชัยกับความขัดแย้ง

ดังที่กล่าวแล้วว่าห้วงเวลาแห่งความขัดแย้งของครูบาศรีวิชัยนั้นตั้งอยู่บนช่วงเวลาแห่งความรุ่งเรืองของท่าน หากว่าในปี พ.ศ. 2446 มีการตราพระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. 121 ขึ้นและนับตั้งแต่ พ.ศ. 2450 เป็นต้นมาสถาบันสงฆ์ล้านนาได้ถูกปรับเปลี่ยนโครงสร้าง สงฆ์บางกลุ่มถูกดึงเข้าไปอยู่ภายใต้การอุปถัมภ์จากองค์กรปกครองสงฆ์ส่วนกลาง โดยการได้รับตำแหน่งและสมณศักดิ์ในฐานะผู้ปกครองสงฆ์ท้องถิ่นมีหน้าที่คอยดูแลควบคุมคณะสงฆ์ท้องถิ่น ซึ่งผลจากการปฏิรูปครั้งนั้นทำให้องค์กรสงฆ์ล้านนาเริ่มถูกสลายตัวลงเรื่อย ๆ

จากการจัดระเบียบการปกครองสงฆ์ใหม่นี้ พบว่ามีผลการตอบสนองจากคณะสงฆ์ล้านนาซึ่งแบ่งออกได้ 3 กลุ่มคือ

กลุ่มแรก คือกลุ่มที่ยอมรับอำนาจของคณะสงฆ์กรุงเทพฯ อย่างเต็มรูปแบบส่วนใหญ่คือ พระสงฆ์ที่ได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่เป็นผู้ปกครองสงฆ์ท้องถิ่น เช่น เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะแขวง เป็นต้น

กลุ่มที่สอง คือกลุ่มที่มีลักษณะประนีประนอมกับกรุงเทพฯ กลุ่มนี้จะมีจำนวนมากทั้งที่ได้รับแต่งตั้งจากส่วนกลางและไม่ได้รับแต่งตั้งแต่ไม่ได้มีปฏิกิริยาต่อต้านหรือคัดค้านแต่อย่างใด เช่น ครูบาวัดฝายหินที่รับตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ แต่ก็ยังร่วมปฏิบัติกิจกรรมบูรณปฏิสังขรณ์กับครูบาศรีวิชัย 

กลุ่มที่สาม คือกลุ่มต่อต้านกรุงเทพฯ สงฆ์กลุ่มนี้ไม่ยินยอมปฏิบัติตามระเบียบกฎเกณฑ์ของส่วนกลาง เช่น ครูบาต๋า (พระธนันชัย) ถูกอธิกรณ์ข้อหากระด้างกระเดื่องไม่ยอมอยู่ในระเบียบปกครองสงฆ์ ทำให้สงฆ์วัดต่าง ๆ พลอยเห็นชอบไปด้วยยากต่อการจัดระเบียบ เป็นต้น

ในกรณีของครูบาศรีวิชัย เรื่องแรกที่มีผลกระทบกับครูบาศรีวิชัยคือเรื่องการเป็นพระอุปัชฌาย์ของท่าน เพราะว่าคณะสงฆ์ส่วนกลางได้กล่าวถึงระเบียบประกาศการตั้งอุปัชฌาย์ว่า เป็นหน้าที่ของเจ้าคณะจะเป็นผู้เลือกแล้วจึงมีการเสนอชื่อไปที่คณะสงฆ์ผู้ใหญ่ฝ่ายกรุงเทพฯ จึงทำให้ครูบาศรีวิชัยถูกเรียกสอบสวนในกรณีที่ท่านเป็นอุปัชฌาย์บวชบุตรหลานชาวบ้านโดยไม่ได้รับการแต่งตั้ง เป็นสาเหตุทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ แก่ท่านในเวลาต่อมา

การถูกอธิกรณ์ของครูบาศรีวิชัย ช่วงแรกเกิดขึ้นใน พ.ศ. 2453 เนื่องจากบทบาทของท่านในกลุ่มชาวบ้านและชาวเขา(กะเหรี่ยง) มีความโดดเด่นมากกว่าตำแหน่งผู้ปกครองสงฆ์ในขณะนั้น จึงมีกลุ่มชาวบ้านนำบุตรหลานมาบวชกับท่านอยู่เสมอ ๆ เหตุดังกล่าวทำให้ท่านถูกจับกุมตัวไปกักขังไว้ที่วัดเจ้าคณะแขวงลี้เป็นเวลา 4 คืน และส่งไปรับการไต่สวนจากพระครูบ้านยู้ เจ้าคณะจังหวัดลำพูน ซึ่งผลของการไต่สวนก็ไม่ปรากฏความผิดแต่อย่างใด

หลังจากนั้น ท่านถูกเรียกตัวสอบสวนอีกครั้งโดยเจ้าคณะแขวงลี้ สาเหตุเพราะมีหมายเรียกให้ท่านมารับระเบียบกฎหมายใหม่จากนายอำเภอและเจ้าคณะแขวงลี้ แต่ท่านไม่ได้ไป จึงถูกจับกุมให้พระครูญาณมงคล เจ้าคณะจังหวัดลำพูนไต่สวนและถูกกักขังอยู่ที่วัดชัย เมืองลำพูนเป็นเวลา 23 วัน ก็ได้รับการปล่อยตัว

จนกระทั่งครั้งที่สามในปีเดียวกันนั้น สาเหตุเกิดจากเจ้าคณะแขวงลี้ได้มีคำสั่งให้ท่านนำลูกวัด เจ้าอธิการหัววัด ตำบลบ้านปาง ซึ่งอยู่ในหมวดเดียวกันไปประชุมตามพระราชบัญญัติปรากฏว่า ท่านไม่ได้เข้าประชุมอีกทำให้บรรดาหัววัดก็ไม่ไปเช่นกัน จึงถูกร้องเรียนไปที่เจ้าคณะจังหวัดลำพูน ทำให้ท่านต้องถูกจับคุมขังที่วัดพระธาตุหริภุญชัย

เจ้าคณะจังหวัดประชุมกับพระสงฆ์ผู้ใหญ่ในจังหวัดจึงได้ตัดสินให้ครูบาศรีวิชัยพ้นจากตำแหน่งหัวหมวดวัด ไม่ให้เป็นพระอุปัชฌาย์และถูกคุมขังต่ออีกเป็นเวลา 1 ปี จึงได้รับการปล่อยตัว การถูกอธิกรณ์ของท่านในช่วงแรกตั้งแต่ พ.ศ. 2453 เป็นต้นมานั้นสาเหตุหลัก ๆ เกิดขึ้นเพราะความไม่พอใจของคณะผู้ปกครองสงฆ์ท้องถิ่นที่เห็นว่า ครูบาศรีวิชัยมีความกระด้างกระเดื่องแข็งข้อไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าคณะแขวง อีกทั้งไม่ได้สนใจต่อพระราชบัญญัติกฎหมายปกครองสงฆ์ฉบับใหม่

การถูกอธิกรณ์ของครูบาศรีวิชัยที่ผ่านมาหลายครั้งยิ่งทำให้ท่านได้รับความเลื่อมใสศรัทธาจากประชาชนมากขึ้นตามลำดับ มีการกล่าวถึงเรื่องราวของท่านต่อ ๆ ไปแพร่ขยายในวงกว้างขึ้น อีกทั้งการกล่าวขานถึงในเรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ก็เกิดขึ้นในกลุ่มผู้คนและชาวบ้านต่อกันไป เช่น ท่านเป็นผู้วิเศษเดินตากฝนไม่เปียก ท่านได้รับดาบสะหรีกัญไชยจากพระอินทร์ เป็นต้น ยิ่งทำให้ชาวบ้านรอบนอกที่ห่างไกลออกไปต้องการพบและศรัทธาในตัวครูบาศรีวิชัยเพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง 

กรณีดังกล่าวนี้จึงกลายเป็นสาเหตุให้เจ้าคณะแขวงลี้และนายอำเภอแขวงลี้แจ้งต่อพระครูญาณมงคล เจ้าคณะจังหวัดลำพูน ในข้อกล่าวหาว่า ‘ท่านส้องสุมผู้คนชาวบ้านนักบวชเป็นก๊กเป็นเหล่ามีการใช้เวทมนต์’ จึงทำให้เจ้าคณะจังหวัดมีหนังสือถึงครูบาศรีวิชัยให้ท่านออกไปให้พ้นจากเขตเมืองลำพูนภายในระยะเวลา 15 วันในเดือนมกราคม พ.ศ. 2462 และมีหนังสืออีกฉบับแจ้งไปยังหัววัดเจ้าอธิการหัวหมวดอุปัชฌาย์ที่อยู่ในเขตลำพูนว่า “ครูบาศรีวิชัยมีความผิดแล้วได้ถูกขับออกไปจากจังหวัดลำพูน หากมีการไปขอความช่วยเหลือจากวัดใดขออย่าให้ความช่วยเหลือเป็นอันขาด”

แต่กรณีนี้ ท่านได้อ้างพระวินัยพุทธบัญญัติว่าได้กระทำผิดพุทธวินัยข้อใดบ้าง ทำให้เจ้าคณะแขวงไม่อาจเอาผิดกับท่านได้เรื่องนี้จึงได้เลิกรากันไป จนกระทั่งเมื่อครั้งเจ้าผู้ครองนครลำพูนได้เรียกให้ครูบาศรีวิชัยเข้าไปในเมืองลำพูนได้มีการจัดขบวนแห่ท่านอย่างใหญ่โตมีผู้คนติดตามเป็นจำนวนมาก จนทำให้คณะสงฆ์ผู้ปกครองลำพูนต้องขอให้อุปราชมณฑลพายัพสั่งย้ายท่านไปยังเมืองเชียงใหม่ ให้อยู่ในความดูแลของพระครูสุคันธศีล รองเจ้าคณะเมืองเชียงใหม่ วัดป่ากล้วย

ในครั้งนั้นทำให้ท่านมีโยมมาขออุปัฏฐาก 2 ท่านคือ หลวงอนุสารสุนทร และพญาดำบ้านประตูท่าแพ แต่ในครั้งนี้ก็ทำให้ผู้คนในเชียงใหม่และใกล้เคียงต่างพากันมานมัสการท่านเป็นจำนวนมากแทบทุกวัน จึงทำให้เจ้าคณะเมืองเชียงใหม่และเจ้าคณะมณฑลพายัพดำเนินการส่งท่านไปรับการไต่สวนพิจารณาคดีที่กรุงเทพฯ ซึ่งได้ตั้งข้อหาไว้ 8 ข้อหา คือ

1. ตั้งตัวเป็นอุปัชฌายะไม่มีใบอนุญาต 

2. ไม่อยู่ในความบังคับบัญชาของเจ้าคณะแขวงลี้ 

3. ไม่ไปประชุมสงฆ์ท้องที่อำเภอลี้เรื่องระเบียบการสงฆ์ 

4. ไม่ปฏิบัติตามประกาศราชการเรื่องตีฆ้องกลองในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 

5. วัดทั้งหลายมีการประพฤติขัดขืนต่อการปกครองสงฆ์ เอาอย่างครูบาศรีวิชัยแต่เจ้าคณะจังหวัดได้ว่ากล่าวตักเตือนท่านแล้วแต่ยังประพฤติเช่นเดิมอีก

6. ไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายอาณาจักรสำรวจสำมะโนครัว 

7. เจ้าคณะแขวงลี้นัดประชุมอธิการวัดในแขวงตน แต่เจ้าอธิการทั้งหลายไม่ได้มาประชุมเพราะเอาแบบอย่างครูบาศรีวิชัย 

8. ครูบาศรีวิชัยเป็นต้นเหตุให้เกิดมีข่าวลือว่า ท่านมีบุญ เช่น มีดาบฝักทองคำตกลงมาจากอากาศแล้วท่านเก็บรักษาไว้ 

จากข้อกล่าวหาทั้งหมดนี้ ผลการตัดสินรับพิจารณาเฉพาะเรื่องฝ่ายพุทธจักรอย่างเดียวและมีข้อวินิจฉัยจากสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสว่า “ท่านมีความรู้ทางพระศาสนาน้อย ทางวินัยก็รู้เพียงปาราชิก อีกทั้งการแจ้งข้อหาและจับกุมท่านนั้นทำให้คนทั้งหลายเห็นว่าเป็นการข่มเหงครูบาศรีวิชัย” จึงทำให้ท่านถูกปล่อยตัวกลับภูมิลำเนาเดิมซึ่งทำให้เป็นการลดทอนความไม่พอใจของประชาชนได้เป็นอันมาก 

ซึ่งการถูกอธิกรณ์ในครั้งที่ 2 นี้ยิ่งทำให้บทบาทของท่านโดดเด่นยิ่งขึ้นเป็นที่รู้จักแพร่หลายของผู้คนในกลุ่มสังคมเมือง และขบวนการฟื้นฟูทางศาสนาของท่านได้เริ่มดำเนินการเกิดขึ้นไปทั่วในเขตล้านนาทำให้ครูบาศรีวิชัยกลายเป็นสัญลักษณ์ของความยิ่งใหญ่ อำนาจรัฐก็ไม่สามารถทำอะไรได้ทำให้ท่านสามารถดำเนินกิจกรรมด้านศาสนาได้อย่างเต็มที่จนกระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 

ในช่วงปลายชีวิตของครูบาศรีวิชัยหลัง พ.ศ. 2475 พบว่าได้เกิดเหตุความไม่พอใจของกลุ่มคณะสงฆ์ผู้ปกครองเชียงใหม่ขณะนั้นอีกครั้ง ต่อกรณีที่ท่านดำเนินการสร้างถนนขึ้นพระธาตุดอยสุเทพเพียงลำพังไม่ได้ปรึกษาพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ในฝ่ายปกครองแต่อย่างใด

และในเวลานั้นปรากฏว่ามีคณะสงฆ์ในเชียงใหม่กว่า 50 วัด ลาออกจากการปกครองของคณะสงฆ์ไปขึ้นกับครูบาศรีวิชัยแทนจึงทำให้เกิดความไม่พอใจต่อพฤติกรรมของครูบาศรีวิชัยรุนแรงมากขึ้น

คณะสงฆ์ฝ่ายปกครองมีความเห็นว่าอิทธิพลของท่านมีความแข็งกล้า กระทำการดื้อดึงต่อเจ้าคณะหลายประการ เช่น การไม่ร่วมอุโบสถสังฆกรรมกับคณะสงฆ์หมู่เดิม เหตุการณ์ต่าง ๆ เริ่มบานปลายเมื่อวัดต่าง ๆ มีการเคลื่อนไหวที่จะขอแยกตัวในขณะนั้นมีวัดต่าง ๆ ขอแยกตัวออกไปเป็นจำนวนถึง 90 วัด

กรณีนี้ทำให้ครูบาศรีวิชัยต้องถูกส่งตัวไปที่กรุงเทพฯ อีกครั้ง เพื่อเป็นการระงับเหตุที่จะบานปลายออกไป ส่วนพระสงฆ์ที่ขอแยกตัวก็ถูกสั่งให้มอบตัว พระที่ถูกบวชโดยครูบาศรีวิชัยก็ถูกสั่งให้สึก และข้อกล่าวหาที่แจ้งต่อครูบาศรีวิชัยอีกประการหนึ่งคือ ข้อหาการตัดไม้ทำลายป่าที่เกิดจากการสร้างถนนขึ้นพระธาตุดอยสุเทพโดยไม่ได้รับอนุญาตจากทางการเสียก่อน จากการที่ท่านถูกควบคุมอยู่ที่กรุงเทพฯ ทำให้เกิดความไม่พอใจแก่พระสงฆ์และฆราวาสเป็นอย่างมาก จนทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ขณะนั้นคือหลวงศรีประกาศ ทำเรื่องเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้มีการปล่อยตัวครูบาศรีวิชัยกลับ จึงทำให้เรื่องดังกล่าวถูกโยงเข้าไปเป็นประเด็นทางการเมือง

ซึ่งเหตุการณ์ที่ต้องอธิกรณ์ครั้งที่สามนี้ได้ดำเนินระยะเวลามาจนถึงปี พ.ศ. 2479 ท่านจึงยอมรับต่อคณะสงฆ์ฝ่ายปกครองว่าจะปฏิบัติตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองสงฆ์ทุกประการในวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2479 และได้เดินทางกลับเมืองลำพูนในวันที่ 13  พฤษภาคม พ.ศ. 2479

เป็นที่ทราบกันว่า ครูบาศรีวิชัยแม้จะยินยอมปฏิบัติตามคณะสงฆ์ฝ่ายปกครองแล้ว แต่ความขัดแย้งนั้นก็ยังไม่ยุติเพราะท่านมีความประสงค์ที่จะทำการอุปสมบทครั้งใหญ่อีกครั้งในป่าวัดบ้านปาง แต่ปรากฏว่ากิจกรรมครั้งนั้นไม่บรรลุตามความประสงค์เพราะท่านได้มรณภาพลงในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2481 สิริรวมอายุ 60  ปี ศพของครูบาศรีวิชัยได้รับพระราชทานโกฏิ ราชรถ และได้รับพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่  21 มีนาคม พ.ศ. 2489

หากศึกษากรณี ‘ครูบา’ อย่างถ่องแท้แล้ววัตรปฏิบัติแบบอย่าง ‘ครูบาเจ้าศรีวิชัย’ ที่แท้จริงแล้วล้วนมีความสลับซับซ้อนยิ่ง จำเป็นต้องศึกษาอย่างระมัดระวังและทำการศึกษาอย่างละเอียดในเชิงลึกต่อไป

อย่างไรก็ตาม การเกิดคตินิยมอย่าง ‘ครูบา’(ใหม่) ของพระสงฆ์ในช่วงเวลาที่เกิดขึ้นปัจจุบันนี้ ถือได้ว่าก่อเกิดมาจากบริบทของความศรัทธาเฉพาะเพียงแค่คำนำหน้าพระสงฆ์นั้นว่า ‘ครูบา’ หาใช่เกิดจากศรัทธาของพรรษาที่สูงวัยและวัตรปฏิบัติดีปฏิบัติชอบของ ‘ครูบา’ ในแบบอย่างที่แท้จริงไม่

 

เรื่อง: จิรัฏฐิตติ สันต๊ะยศ คณะอุตสาหกรรมบริการ มหาวิทยาลัยรัตนบัณฑิต

ภาพ: ครูบาศรีวิชัย ไฟล์ public domain

อ้างอิง:

จิรชาติ สันต๊ะยศ. ‘ครูบาศรีวิชัย’ กับคตินิยมแบบ ‘ครูบา’ (ใหม่) ช่วงทศวรรษ 2530-2550 วารสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 31 ฉบับที่ 4  เดือนกุมภาพันธ์ 2553.

ตำนานครูบาศรีวิชัยแบบพิสดารและตำนานวัดสวนดอก. เชียงใหม่: สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2537.

วิลักษณ์ ศรีป่าซาง. ตนบุญล้านนา ประวัติครูบาฉบับอ่านม่วน. เชียงใหม่: นพบุรีการพิมพ์, 2545.

สงวน โชติสุขรัตน์. คนดีเมืองเหนือ. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์, 2515.

สมหมาย เปรมจิตต์. ครูบาศรีวิชัยนักบุญแห่งล้านนา. เชียงใหม่: มิ่งขวัญ, 2545.

สิงฆะ วรรณสัย. สารประวัติครูบาศรีวิชัยนักบุญแห่งลานนาไทย. เชียงใหม่: ศูนย์หนังสือเชียงใหม่, 2522.

เสมอชัย พูลสุวรรณ. รัฐฉาน(เมืองไต): พลวัตของชาติพันธุ์ในบริบทประวัติศาสตร์และสังคมการเมืองร่วมสมัย. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2552.

โสภา ชานะมูล. ครูบาศรีวิชัย ‘ตนบุญ’ แห่งล้านนา. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2534.