24 มี.ค. 2566 | 23:11 น.
- คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ แม้จะไม่ค่อยได้ออกงานสังคม และไม่ได้ให้สัมภาษณ์สื่อ แต่ว่ากันว่า เป็นผู้หญิงที่มีความเป็นผู้นำ เปี่ยมด้วยอำนาจบารมี
- จากภาพเรื่องนายหญิงเหนือนายใหญ่ คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ จึงมักถูกจับตาว่าจะมีบทบาทที่ส่งผลให้สองอดีตนายกฯ นามสกุลชินวัตรกลับบ้านได้ด้วยหรือไม่ อย่างไร
ภาพข่าวคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ มาปรากฏตัวให้กำลังใจลูกสาวคนเล็ก แพทองธาร ชินวัตร ในกิจกรรมครอบครัวเพื่อไทย ‘สะบัดชัย เพื่อไทยมาเหนือ’ ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 10 กันยาน พ.ศ.2565 กลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมือง
เนื่องจากคุณหญิงอ้อ หรือคุณหญิงพจมาน ไม่ชอบออกงานสังคม ไม่ให้สัมภาษณ์สื่อ เก็บตัวใช้ชีวิตเรียบง่าย ยกเว้น สมัยที่ทักษิณ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คุณหญิงอ้อจะปรากฏตัวในฐานะภริยานายกรัฐมนตรี ในวาระทางการหรืองานราชสำนักเท่านั้น
การไปให้กำลังใจลูกสาวที่เชียงใหม่ ถือว่าเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 17 ปี ที่คุณหญิงพจมานได้เข้าร่วมกับกิจกรรมทางการเมืองโดยเปิดเผยต่อสาธารณชน ครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2548 คุณหญิงพจมานปรากฏตัวเคียงข้างทักษิณ ชินวัตร ในการปราศรัยหาเสียงของพรรคไทยรักไทย ที่ท้องสนามหลวง ในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2548
สำหรับ ส.ส.ไทยรักไทยหรือเพื่อไทย ที่เคยได้สัมผัสคุณหญิงอ้อ ต่างรับรู้ได้ถึงความเป็นผู้นำ อำนาจ บารมีเต็มเปี่ยม
ที่สำคัญ คุณหญิงพจมาน คือบุคคลที่ทักษิณ ชินวัตร มักเอ่ยอ้างถึงเสมอ ไม่ว่าจะเป็นบทบาทแม่ ที่ดูแลลูก ๆ ทั้ง 3 คน บทบาทการเป็นนักธุรกิจหญิงที่เกี่ยวข้องกับการวางรากฐานธุรกิจกลุ่มชินวัตร
ดังที่ทักษิณพูดถึงคู่ชีวิตไว้ในหนังสือ ‘ตาดูดาว เท้าติดดิน’ ปี 2542 ว่า
“ถ้าไม่มีผู้หญิงชื่อพจมานคนนี้มาเคียงข้าง ความเจริญก้าวหน้าใด ๆ ในทุกด้านของผม คงมาไม่ถึงครึ่งทางของวันนี้”
ผู้อยู่เบื้องหลัง
รักแรกพบกับผู้หญิงที่ชื่อ พจมาน ดามาพงศ์ ในวันที่ 3 พ.ค.2513 ซึ่งทักษิณจำวันนั้นได้แม่น ในความมีบุคลิกพิเศษอันน่าประทับใจมากกว่าความสวย และในมุมของทักษิณ คุณหญิงอ้อเป็นคู่ชีวิตร่วมทุกข์ร่วมสุขมายาวนาน เป็นคู่คิดและผู้สนับสนุนในทุกย่างก้าว
ในขณะที่ยังรับราชการตำรวจอยู่ ทักษิณเริ่มทำธุรกิจแรกคือ ร้านไหม ‘พ.ชินวัตร’ (พ ย่อมาจาก พจมาน) ย่านสุรวงศ์ เมื่อเห็นแนวโน้มธุรกิจผ้าไหมจะไปไม่รอดก็หันไปลุยธุรกิจภาพยนตร์ โดยลงทุนสร้างหนังเรื่องแรกคือ บ้านทรายทองที่มีนางเอกชื่อ พจมาน
ทุกจังหวะก้าวในชีวิตทักษิณ ขาดคุณหญิงพจมานไม่ได้ เพราะฝ่ายหญิงมีความสุขุมรอบคอบ เอาใจใส่คนรอบข้าง มาเสริมจุดอ่อนฝ่ายชายที่คิดเร็ว และพุ่งทะยานไปข้างหน้าอย่างเดียว
คนใกล้ชิดครอบครัวชินวัตร บอกว่า คุณหญิงพจมานได้ความเป็นระเบียบ การจัดระบบของชีวิตจากพ่อ-พล.ต.ท.เสมอ ดามาพงศ์ และได้ความเป็นคนใจกว้าง โอบอ้อมอารีจากแม่-พจนีย์ ณ ป้อมเพ็ชร
ปลายปี 2543 ทีมงานนิตยสารสกุลไทยได้สัมภาษณ์ทักษิณ พร้อมครอบครัว ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า อันเป็นส่วนหนึ่งของการตลาดการเมืองของพรรคไทยรักไทย คุณหญิงพจมานจึงยอมมานั่งพูดคุยด้วย โดยทักษิณพูดเป็นหลัก มีคู่ชีวิตกล่าวเสริมบ้าง ดังเช่นประโยคนี้
“อ้อเป็นคนไม่ขัดใจ ในเมื่อพี่ทักษิณบอกว่าอยากเล่นการเมืองเพื่อตอบแทนแผ่นดิน จากเดิมที่เราสองคนไม่มีอะไรเลย จนเวลานี้เราสบายมากแล้ว ก็อยากตอบแทนแผ่นดิน”
จะว่าไปแล้ว คุณหญิงพจมานยืนเคียงข้างสามีบนเส้นทางการเมืองมาตั้งแต่สมัยที่ทักษิณนั่งหัวหน้าพรรคพลังธรรม ปี 2538 ก่อนจะมาเริ่มต้นใหม่กับพรรคไทยรักไทย ปี 2541
นายหญิงเหนือนายใหญ่
ยุคสมัยของนายกฯ ทักษิณ และพรรคไทยรักไทย คอลัมนิสต์การเมืองของหนังสือพิมพ์หลายสำนัก มักเอ่ยถึง ‘นายหญิง’ นางพญาหลังม่านอยู่เป็นประจำ แม้ไม่มีช่างภาพสำนักข่าวไหน ได้ถ่ายภาพคุณหญิงพจมานเข้าร่วมประชุมกับแกนนำพรรคไทยรักไทย แต่ก็มีเรื่องเล่าวงในออกมาสู่สาธารณะเป็นระยะ
รวมถึงเรื่องเล่าในห้องประชุมพรรคที่จัดวางเก้าอี้หัวหน้าพรรค และเก้าอี้อีกตัวหนึ่งไว้ที่หัวโต๊ะ เก้าอี้ตัวนั้นไม่ใช่ของรองหัวหน้าพรรค แต่เป็นของคุณหญิงอ้อ
ปลายปี 2548 เอแบคโพลประกาศผลสำรวจเรื่องบุคคลผู้มีนัยสำคัญ (มีบารมี) ต่อการเมืองไทยมากที่สุดแห่งปี ในสายตาประชาชนคอการเมือง พบว่า ผู้หญิงที่มีบารมีต่อการเมืองไทยมากที่สุดแห่งปีคือ คุณหญิงพจมาน
ในปีเดียวกัน นสพ.ไทยรัฐ ยกให้คุณหญิงพจมาน คือบุคคลการเมืองแห่งปี 2548 โดยทีมข่าวการเมืองยังเขียนบทวิเคราะห์ประกอบเรื่อง ‘คุณหญิงพจมาน ชินวัตร นายหญิงเหนือนายใหญ่’
หลังรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 ทักษิณ ชินวัตร ต้องระหกระเหินอยู่ในต่างประเทศ ส่วนคุณหญิงพจมาน และลูก ๆ ยังอยู่ในเมืองไทย ดูแลธุรกิจของตระกูลชินวัตร
15 ปีที่ทักษิณใช้ชีวิตอยู่ต่างแดน คุณหญิงพจมานได้เจรจากับบุคคลสำคัญในหลากหลายวงการ ยกตัวอย่างวันที่ 26 ต.ค.2549 คุณหญิงอ้อ ผ่านรั้วบ้านสี่เสาเทเวศร์ เข้าพบ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีในขณะนั้น โดยการประสานงานผ่าน พล.อ.อู้ด เบื้องบน อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
ทักษิณก็รู้เรื่องดีลลับ ดีลไม่ลับ สำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง ซึ่งในคลิปวิดีโอ ‘Long distance call’ ที่ลูก ๆ ร่วมกันจัดทำให้ทักษิณเนื่องในวันคล้ายวันเกิด 73 ปี เมื่อวันที่ 26 ก.ค.2565 ทีมงานถามว่า คุณทักษิณยืนมองกระจกกำลังเห็นใคร ทักษิณตอบว่า
“เห็นคุณหญิง (พจมาน) ผมสงสารคุณหญิง คือผมตัดสินใจจะกลับเมืองไทย เพราะว่าคุณหญิงรับภาระไว้เยอะ รับภาระแทนผมไว้เยอะ สงสาร”
แม้ในทางนิตินัย ทักษิณจะเป็นอดีตสามีคุณหญิงพจมาน แต่พฤตินัยทั้งคู่ยังมีความห่วงหาอาทร และบั้นปลายชีวิต ทักษิณอยากกลับเมืองไทยมาเลี้ยงหลาน
ย้อนไปปลายปี 2551 ทักษิณกับคุณหญิงอ้อ จดทะเบียนหย่าที่สถานกงสุลใหญ่ไทยประจำฮ่องกง และคุณหญิงอ้อ ถอดนามสกุลของสามีออกจากบัตรประชาชน และใช้นามสกุล ‘ณ ป้อมเพชร’ นามสกุลของฝ่ายมารดา หลายปีต่อมา ฝ่ายสื่อสารของพรรคเพื่อไทย แจ้งกับนักข่าวว่า ให้ใช้นามสกุลของคุณหญิงพจมานคือ ‘ดามาพงศ์’ นามสกุลฝ่ายบิดา
ทักษิณเล่าไว้ในหนังสือ Conversations with THAKSIN เรื่องการหย่าครั้งนั้นว่า “…เพราะคุณหญิงพจมานไม่ชอบการเมือง หลังจากที่ประสบความสำเร็จในการสร้างทางธุรกิจจนร่ำรวย คุณหญิงบอกว่าเราควรจะพักผ่อน และใช้ชีวิตอย่างมีความสุขด้วยกัน”
ลมใต้ปีกลูกสาว
แหล่งข่าวระดับสูงในพรรคเพื่อไทยระบุว่า ในวันที่ 25 ก.ย.2563 คุณหญิงพจมาน ได้ร่วมหารือกับแกนนำระดับอาวุโสของพรรค อันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงใหญ่ในพรรค
วันที่ 30 พ.ย.2563 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ได้ยื่นหนังสือลาออกจากสมาชิกพรรคเพื่อไทยแบบตลอดชีพ และทุกตำแหน่งในเพื่อไทย เนื่องจากคุณหญิงหน่อย ไม่ได้เข้าร่วมวงหารือที่มีคุณหญิงอ้อ นั่งหัวโต๊ะในวันนั้น
ปลายปี 2564 สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เปิดทางให้มีการปรับโครงสร้างใหม่ โดยดันคนรุ่นใหม่ขึ้นมาอยู่แถวหน้า
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ก้าวขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ตามด้วยการเปิดตัว แพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม พรรคเพื่อไทย
ทุกจังหวะก้าวในการเปลี่ยนแปลงของพรรคเพื่อไทย ดำเนินไปตามกรอบเวลาที่คุณหญิงบ้านจันทร์ส่องหล้า กำหนดไว้ในแผนรีเซ็ตเพื่อไทยเมื่อปลายปี 2563
การปรากฏตัวของคุณหญิงพจมาน ในกิจกรรมทางการเมืองเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 17 ปี จึงถูกถอดรหัส จับสัญญาณการเมืองอย่างกว้างขวาง
ประการแรก คุณหญิงอ้อได้ประกาศบนแผ่นดินเกิดของตระกูลชินวัตร อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร คือทายาทรุ่นที่ 3 บนถนนการเมืองไทย สืบต่อจากรุ่นที่ 1 เลิศ ชินวัตร อดีต ส.ส.เชียงใหม่ และรุ่นที่ 2 ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
ประการที่สอง คุณหญิงอ้อ ส่งสัญญาณการรบในสงครามครั้งสุดท้าย พรรคเพื่อไทยต้องชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย เหมือนแคมเปญเพื่อไทยแลนด์สไลด์ เพื่อให้ได้เสียง ส.ส.เกิน 251 เสียง
จึงน่าติดตามว่า คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ ผู้หญิงที่ทรงอิทธิพลคนนี้ จะช่วยให้ 2 อดีตนายกฯ กลับบ้านตามที่ทักษิณลั่นวาจาไว้จากนครดูไบได้หรือไม่
และกลับอย่างไร บ้านเมืองจะไม่เกิดวิกฤตการเมืองรอบสอง
เรียบเรียง: ชน บทจร
ภาพ: ทักษิณ ชินวัตร และคุณหญิง พจมาน ชมเกมฟุตบอลพรีเมียร์ลีก อังกฤษ แมนเชสเตอร์ ดาร์บี้ แมตช์ เมื่อปี 2007 (พ.ศ. 2550) ภาพจาก PA Images via Getty Images