วิเคราะห์ MUT 2024 พร้อมทำความรู้จัก ‘โอปอล’ สุชาตา ช่วงศรี ผู้ชนะที่พูดได้ 3 ภาษา

วิเคราะห์ MUT 2024 พร้อมทำความรู้จัก ‘โอปอล’ สุชาตา ช่วงศรี ผู้ชนะที่พูดได้ 3 ภาษา

วิเคราะห์ MUT 2024 พร้อมทำความรู้จัก ‘สุชาตา ช่วงศรี’ หรือ ‘โอปอล’ ผู้คว้ามงที่พูดได้ 3 ภาษา

KEY

POINTS

  • วิเคราะห์ภาพรวมของการประกวด MUT 2024
  • ‘โอปอล สาวงามจาก มธ. และพูดได้ 3 ภาษา’
     

การประกวดสาวงามที่หลายคนรอคอย... Miss Universe Thailand 2024 ปิดฉากลงแล้วอย่างเป็นทางการในค่ำคืนวันที่ 14 กรกฎาคม ที่ผ่านมา สาวงามผู้คว้ามงกุฎไปครอง คือ ‘สุชาตา ช่วงศรี’ หรือ ‘โอปอล’ ตัวแทนจากจังหวัดกรุงเทพมหานคร หนึ่งในตัวเต็งที่หลายคนจับตามองและให้ความสนใจ 

บทความนี้จะชวนมาทำความรู้จักกับเธอ พูดคุยถึงประเด็นเรื่องการ ‘ล็อกมง’ ตลอดจนวิเคราะห์ภาพรวมการประกวดปีนี้ที่หลายคนอาจมองว่าไม่ชวนตื่นเต้นเร้าใจเหมือนปีที่ผ่าน ๆ มา 

วิเคราะห์ภาพรวมของการประกวด MUT 2024

ในแง่ของโปรดักชัน อาจมีแค่เรื่องเพลงประกอบในรอบต่าง ๆ ที่แฟน ๆ ท้วงติงว่าไม่ส่งเสริมการเดินของนางงามสักเท่าไหร่ แต่นอกเหนือจากนั้น แสง สี เสียง ถือว่าจัดเต็มไม่น้อยหน้าเวที MU ในประเทศอื่น ๆ หรือเทียบชั้นกับเวทีแม่ได้เลยทีเดียว โดยเฉพาะโชว์ประกอบรอบพรีลิมฯ ที่ได้ ‘มิกซ์ เฉลิมศรี’ มาเป็นศิลปินรับเชิญพิเศษ

แน่นอนว่าเหตุผลหลักที่กองประกวดดึง ‘มิกซ์ เฉลิมศรี’ มาร่วมโชว์ในปีนี้ คงไม่ใช่เพียงเพราะความโด่งดังจากผลงานเพลง ‘ฟ้ารักพ่อ’ ที่โด่งดังมากในช่วงที่ผ่านมา แต่การดึงเอาศิลปิน LGBT+ ที่แจ้งเกิดมาจากสื่อกระแสรอง (Social Media) มาทำการแสดง ในบริบททางสังคมที่ประเทศไทยเพิ่งผ่านร่างกฎหมายสมรมเท่าเทียม แสดงออกอย่างมีนัยยะสำคัญว่า “นี่คืออีกก้าวของวิวัฒนาการทางด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นแล้วกับสังคมไทย”

สิ่งที่น่าสนใจต่อมา คือ โฉมหน้าของผู้เข้าประกวด จากเดิมที่การประกวดนางงามคือการคัดเลือกสาวงามที่มีรูปลักษณ์ตามอุดมคติ การศึกษาดี เป็นนางแบบ สู่ยุคที่คนเป็นนางงามต้องฉลาดหลักแหลม ทำโครงการอุทิศตัวเพื่อสังคม แต่ในการประกวดปีหลัง ๆ มานี้ โดยเฉพาะภายหลังจากที่กองประกวดเปลี่ยนกติกาไม่จำกัดอายุผู้เข้าประกวด ผู้ชมได้มีโอกาสเห็นสาวงามที่ดูมีเรื่องราวในชีวิตหลากหลายขึ้น ดูเป็นมนุษย์ เป็นคนจริง ๆ มากขึ้น เช่น แม่ค้า คุณครู สาวพลัสไซส์ ผู้หญิงผู้มีผิวพรรณที่ไม่ ‘สมบูรณ์แบบ’ แม่ของลูกชาย LGBT+ ที่เป็นติ่งนางงาม ฯลฯ 

ภาพลักษณ์ของเวทีผ่านเบื้องหลังชีวิตที่แตกต่างหลากหลายของผู้เข้าประกวดแสดงออกถึงการโอบรับความแตกต่างหลากหลาย ความพยายามบ่อนเสาะความงามในอุดมคติ และกำลังส่งสารกับสังคมว่าโลกเปลี่ยนไปแล้ว คนทุกคนควรมั่นใจในตัวเอง หยุดให้คุณค่ากับความสวยแบบเดียว หรือเพียงตัดสินคนจากรูปลักษณ์ อายุ การศึกษา ฐานะทางสังคม

แต่บางคนกลับมองว่าการให้พื้นที่แก่ผู้เข้าประกวดที่ไม่ได้ ‘สวย’ หรือมีคุณสมบัติตรงกับความงามตามอุดมคติเหล่านี้ หรือที่หลายคนอาจเรียกมันแบบหลวม ๆ ว่าเป็น ‘โควต้า’ มีจุดประสงค์เพียงแค่ให้คนเหล่านี้มาเป็นไม้ประดับ ทำให้เวทีการประกวดนางงามดูดีขึ้นมา เพราะถึงที่สุดแล้ว โอกาสของพวกเธอจะไปถึงมงฯ ได้จริงหรือ หรือบางคนตั้งคำถามว่าการมีโควต้า (อย่างไม่เป็นทางการ) นี้ คือ การตอกย้ำด้วยตัวมันเองหรือไม่ว่าสังคมไม่ได้มองความสวยแบบเท่าเทียมกันโดยพื้นฐาน จึงต้องมีการจัดสรรพื้นที่พิเศษ ซึ่งก็เป็นตรรกะเดียวกับที่นักคิดหลายคนมองเรื่องการมีโควต้าผู้หญิงหรือคนชายขอบในสภา

ในส่วนของความเข้มข้นในการแข่งขัน หลายคนแสดงความคิดเห็นว่าการประกวดในปีนี้บีบหัวใจคนดูน้อยกว่าปีก่อน ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับมาตรฐานที่ปีที่แล้ว ปัจจัยหลักน่าจะแบ่งออกเป็น 3 เรื่อง 

เรื่องแรก คือ ผู้เข้าประกวด จริงอยู่ที่นางงามหลายคนมีประสบการณ์การประกวดนางงามจากปีก่อน ๆ หรือจากเวทีอื่น แต่เดิมพันของแต่ละสาวงามแต่ละคนไม่ได้สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเทียบกับปีที่แล้วที่มี ‘แอนโทเนีย โพซิ้ว’ ผู้เคยคว้ารางวัลระดับโลกอย่าง Miss Supranational 2019 ‘วีณา ปวีณา ซิงค์’ ที่มาประกวดเวทีนี้เป็นครั้งที่สาม พ่วงรางวัลรองชนะเลิศในปีก่อน ๆ มาด้วย และ ‘เจสซี่ เดอะเฟซ’ ดารานักแสดงชื่อดัง มันเลยทำให้การขับเคี้ยวของเหล่าผู้เข้าประกวดดูเบาลงไป 

เรื่องที่สอง คือ เกมการแข่งขันในปีนี้มันค่อนข้าง ‘แน่นอน’ ในความหมายที่ว่า ‘คาดเดาได้’ ซึ่งโดยปกติในปีก่อน ๆ เราจะยังพอเห็นอยู่บ้างว่ากองประกวดจะเซทกิจกรรมบางอย่างเพื่อเปิดเกมให้แสงแก่ผู้เข้าประกวดคนอื่น ๆ ที่เป็นเต็งรอง ๆ ลงมา หรือไม่ได้อยู่ในกระแส จนทำให้แฟน ๆ ไม่อาจวางใจกับผลการตัดสินได้ขนาดนั้น แต่ปีนี้ ทุกอย่างเป็นไปแบบเดาทางออก เลยทำให้การเชียร์ของกองเชียร์ในปีนี้อาจไม่ ‘เล่นกับใจ’ เท่าที่ผ่านมา 

เรื่องสุดท้าย ความสัมพันธ์ระหว่างการประกวดเวทีนางงามกับบริบทการเมืองเบาบางลง ซึ่งอาจมองได้ 2 ปัจจัย ปัจจัยแรก คือ เวทีการประกวดเลี่ยงไปพูดในหัวข้อที่เป็นสากล เช่น AI โลกร้อน ปัญหาเรื่องวัย LGBT+ ฯลฯ มากกว่าประเด็นที่เป็นการเมืองรัฐสภา (แบบที่เคยทำ) มันเลยทำให้คนดูพอเดาทางได้ว่า นางงามจะแสดงความคิดเห็นประมาณไหน ซึ่งก็ซ้ำเดิมจนยากเหลือเกินที่สร้างแรงกระเพื่อมทางสังคมที่จะนำไปสู่การถกเถียงในวงกว้างได้ ปัจจัยที่สอง คือ อาจเป็นเพราะการเมืองด้วยตัวมันเองเริ่มนิ่ง (ในระดับของความรู้สึกของคนทั่วไป) เวทีเองจึงอาจจะวกกลับเข้ามาหาพื้นที่ที่ปลอดภัยที่ยังให้นางงามได้แสดงความคิดเห็นแบบไม่ต้อง ‘เสี่ยง’ เกิน 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าภาพรวมของการประกวดอาจจะตื่นเต้นเร้าใจน้อยลง โดยเฉพาะ ด้วยหลาย ๆ ปัจจัยที่ทางกองประกวดเองก็ควบคุมไม่ได้ แต่ก็ยังถือว่าเป็นการประกวดที่ดูสนุก เป็นสื่อบันเทิงที่เชื่อมโยงคนไทยกับความเป็นพลเมืองโลก และยังคงรักษามาตรฐานในหลาย ๆ ด้านได้ดี 

‘โอปอล สาวงามจาก มธ. และพูดได้ 3 ภาษา’

‘โอปอล’ หรือ ‘สุชาตา ช่วงศรี’ สาวงามภูมิลำเนาภูเก็ตวัย 20 ปี ศึกษาอยู่ระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เธอสามารถพูดได้สามภาษา คือ ไทย อังกฤษ และจีน เธอเป็นเจ้าของโครงการ Opal for Her เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงโรคมะเร็งเต้านม 

โอปอล ไม่ใช่สาวงามหน้าใหม่ ก่อนหน้านี้เธอเคยมาประกวดเวทีนี้แล้วในปี 2022 และคว้าตำแหน่งรองอันดับ 3 มาได้ ก่อนที่จะปรับตำแหน่งมาเป็นรองอันดับ 2 เนื่องจากผู้ที่ได้รับตำแหน่งรองอันดับ 1 ในปีนั้นสละตำแหน่งไป 

สำหรับการประกวดในปีนั้น โอปอลคือนางงามดาวรุ่งพุ่งแรง เธอสามารถสร้างความประทับใจให้แก่คณะกรรมการได้ตั้งแต่รอบออดิชัน จนเป็นที่จับตาของแฟน ๆ นางงาม

ในช่วงกลางการประกวด กระแสของเธออาจมีขาด ๆ หาย ๆ ไปบ้าง แต่พอรอบพรีลิมหรือวันประกวดจริง เธอฟื้นคืนชีพ ทำเอาหลายคนกรี๊ดกร๊าดและยังคงจดจำภาพเธอกับการเดินแบบเครื่องเพชรสุดแพง แต่นั่นก็ไม่อาจทำให้เธอทำคะแนนตีตื้นขึ้นมาได้จนคว้ามงได้สำเร็จ อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญที่สุดที่โอปอลได้จากการประกวดในครั้งนั้น คือคนจำชื่อเธอได้ และหลายคนพอจะเห็นภาพเธอเป็นมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ในวันข้างหน้าได้

ตำแหน่งรองชนะเลิศที่โอปอลเคยได้รับทำให้เธอได้มีโอกาสทำงานกับกองประกวดมาโดยตลอด และเป็นที่ทราบกันดีว่าโอปอลเป็นหนึ่งในนางงาม ‘แม่ปุ้ย’ เจ้าของ TPN ผู้ถือลิขสิทธิ์การประกวดเอ็นดูมาก ถึงขั้นเคยออกปากเองว่าวันนี้ (ในปี 2022) โอปอลอาจจะยังไม่พร้อม ขอให้โอปอลกลับมาประกวดใหม่อีกครั้ง 

เริ่มต้นฤดูกาลการประกวดปี 2024 ท่ามกลางกระแสว่านางงามคนไหนจะลงหรือไม่ลงประกวดบ้าง โอปอลเป็นผู้เข้าประกวดคนแรก ๆ ที่ประกาศชัดเจนว่าจะลงประกวดในปีนี้ เธอสร้างไวรัลด้วยการทำคลิป ‘อโยธยา make up’ ทาง TikTok จนกลายเป็นไวรัลและเลี้ยงกระแสความนิยมของเธอได้ดีเสมอมา 

จนกระทั่งถึงรอบที่เธอต้องพูดเพื่อแสดงความคิดเห็น เธออาจถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ท่องมาพูดบ้าง พูดไม่น่าฟังบ้าง พูดแล้วเนือยบ้าง แต่ภาพโดยรวมก็ยังถือว่าน่าจะอยู่ในห้าคนได้อย่างสบาย ๆ และหลายสำนักกูรูนางงามทั้งไทยและต่างประเทศวางเธอให้เป็นผู้เข้าประกวดที่มีโอกาสคว้ามงฯ มากที่สุด 

วันประกวดจริง โอปอลแสดงศักยภาพออกมาได้อย่างเต็มที่ในทุก ๆ รอบ โดยเฉพาะการเดินในรอบชุดว่ายน้ำและชุดราตรี แต่พอมาถึงในรอบตอบคำถาม เราก็ยังคงเห็นร่องรอยความตื่นเต้น บวกกับคำตอบของเธอที่หลายคนอาจมองว่าเธอไม่ได้ตรงประเด็นเสียทีเดียว กับคำถามที่อธิบายให้ง่ายที่สุดคือ Woman Empowering คืออะไร และจะดึงคุณสมบัติของคำ ๆ นั้นไปใช้อย่างไรในอนาคต 

อย่างไรก็ตาม หากเราเทียบคำตอบของโอปอลกับผู้เข้าประกวดคนอื่น ๆ แล้ว ก็ถือแต่ละคำตอบมีจุดแข็งและจุดอ่อนที่ไม่ได้ทิ้งห่างกันมาก หรือพูดอีกอย่างคือ ไม่มีใครตอบคำถามดีกว่าใครแบบขาดลอย ชัยชนะของโอปอลจึงน่าจะมาจากการที่กองประกวดมองภาพรวม หรืออาจจะรวมถึง ‘ทุน’ ที่ตัวโอปอลเองสั่งสมมากับกองประกวดด้วย 

แน่นอน ผลงานของโอปอลอาจมีทั้งคนที่ถูกใจหลายคน และไม่ถูกใจบางคน คงต้องร่วมลุ้นกันต่อว่าเธอจะผลักดันตัวเองไปได้อีกไกลแค่ไหน โอปอลและสายสะพายไทยแลนด์จะไปได้ไกลแค่ไหนในการประกวด MU เธอจะคว้ามงสามมาให้คนไทยได้สำเร็จหรือไม่ ร่วมลุ้นกันในการประกวด MU ที่จะจัดขึ้นช่วงที่ประเทศเม็กซิโกปลายปีนี้ 


เรื่อง: ณัฐ วิไลลักษณ์
ภาพ: เพจเฟซบุ๊ก Miss Universe Thailand