26 ต.ค. 2567 | 12:14 น.
ชื่อเก่าของจังหวัดเกิดเป็นประเด็นขึ้นมาเมื่อมีบางเพจเฟซบุ๊กนำเสนอแผนที่พร้อมกับแคปชั่นว่า “ถ้าจังหวัดในประเทศไทยไม่เคยถูกเปลี่ยนชื่อ เราจะเห็นแผนที่เป็นแบบนี้” (ดูใน https://www.facebook.com/photo/?fbid=4780912325276047&set=gm.2683295018483599) แล้วได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะผู้นำเสนอได้นำเอาชื่อที่คิดว่าเป็นชื่อเก่าของจังหวัดนั้น ๆ มาใส่ลงในแผนที่แทนที่ชื่อจังหวัดในปัจจุบัน และชื่อเก่าที่นำเอามาแทนที่ชื่อจังหวัดปัจจุบันที่ว่านั้นคือชื่อเมืองโบราณสำคัญในย่านจังหวัดนั้น ๆ
จากแผนที่ดังกล่าว สามารถจำแนกชื่อเก่ากับชื่อปัจจุบันได้ตามลำดับดังนี้:
ภาคเหนือตอนบน: เวียงชัยนารายณ์ (เชียงราย), ภูกามยาว (พะเยา), แม่ร่องสอน (แม่ฮ่องสอน), เวียงพิงค์ (เชียงใหม่), หริภุญไชย (ลำพูน), เขลางค์นคร (ลำปาง), นันทบุรี (น่าน), เวียงโกศัย (แพร่)
ภาคเหนือตอนล่าง: โพธิ์ท่าอิฐ (อุตรดิตถ์), ศรีสัชนาลัย (สุโขทัย), ตาก, สองแคว (พิษณุโลก), เพชบุระ (เพชรบูรณ์), สระหลวง (พิจิตร), พระบาง (นครสวรรค์)
ภาคกลาง: อู่ไทย (อุทัยธานี, แพรก (ชัยนาท), สิงหราชา (สิงห์บุรี), ละโว้ (ลพบุรี), วิเศษชัยชาญ (อ่างทอง), อู่ทอง (สุพรรณบุรี), อโยธยาศรีรามเทพนคร (พระนครศรีอยุธยา), สามโคก (ปทุมธานี), ตลาดขวัญ (นนทบุรี), บางมะกอก (บางกอก/กรุงเทพมหานคร), พระประแดง (สมุทรปราการ)
ภาคอีสานตอนใต้: โคราช (นครราชสีมา), บ้านพลวง (บุรีรัมย์), ขุขันธ์ (ศรีสะเกษ), ประทายสมันต์ (สุรินทร์), ดอนมดแดง (อุบลราชธานี)
ภาคอีสานตอนกลาง: ขามแก่น (ขอนแก่น), ลาดกุดยางใหญ่ (มหาสารคาม), ร้อยเอ็จประตู (ร้อยเอ็ด), สิงห์ท่า (ยโสธร), เมืองค้อ (อำนาจเจริญ), แก่งสำเริง (กาฬสินธุ์), มุกดาหาร
ภาคอีสานตอนบน: กมุทธาสัย (หนองบัวลำภู), บ้านแฮ่ (เลย), บ้านหมากแข้ง (อุดรธานี), บ้านไผ่ (หนองคาย), ชัยบุรี (บึงกาฬ), ศรีโคตรบูรณ์ (นครพนม)
ภาคตะวันออก: นายก (นครนายก), เมืองปราจีน (ปราจีนบุรี), สระแก้ว, แปดริ้ว (ฉะเชิงเทรา), ชลบุรีศรีมหาสมุทร (ชลบุรี), ราย็อง (ระยอง), จันทบูร (จันทบุรี), กราด (ตราด)
ภาคตะวันตก: นครไชยศรี (นครปฐม), ปากแพรก (กาญจนบุรี), ราชบุรี, สาครบุรี (สมุทรสาคร), แม่กลอง (สมุทรสงคราม)
ภาคใต้ตอนบน: พริบพรี (เพชรบุรี), บางนางรม (ประจวบคีรีขันธ์), ชุมนุมพล (ชุมพร), แร่นอง (ระนอง)
ภาคใต้ตอนล่าง: กาญจนดิษฐ์ (สุราษฏร์ธานี), ตามพรลิงค์ (นครศรีธรรมราช), ภูงา (พังงา), ปกาสัย (กระบี่), จังซีลอน (ภูเก็ต), คูหาสวรรค์ (พัทลุง), ทับเที่ยง (ตรัง), สังขร (สงขลา), ตานี (ปัตตานี), บางนรา (นราธิวาส), มำบังนังคะรา (สตูล), ยาลอ (ยะลา)
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากผู้นำเสนอไม่ได้เป็นผู้ศึกษาประวัติศาสตร์พัฒนาการของชื่อบ้านนามเมืองมาเพียงพอแก่การออกความคิดเห็น แผนที่ดังกล่าวนี้จึงสะท้อนความเข้าใจคลาดเคลื่อนต่อชื่อบ้านนามเมืองในดินแดนสยามประเทศอยู่หลายประการ ดังตัวอย่างที่ผู้เขียนจะหยิบยกมาอภิปรายให้เห็นโดยย่อดังลำดับต่อไป
สิ่งที่ทำให้ผู้เขียนยังคงต้องให้อภัยผู้นำเสนอก็เพราะความเข้าใจคลาดเคลื่อนดังกล่าวนี้สะท้อนปัญหาการเรียนการสอนรายวิชาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นกันมาอย่างปวกเปียก เน้นแต่มิติที่สัมพันธ์กับส่วนกลางหรือรัฐชาติ จนดูเหมือนประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในไทยเป็นเพียงส่วนขยายของประวัติศาสตร์ชาติ ซึ่งเน้นฟังก์ชั่นทางการเมืองการปกครองดังที่กระทรวงมหาดไทยเคยทำไว้เมื่อทศวรรษ 2500 ที่รู้จักกันในชื่อชุด ‘ประวัติมหาดไทย’ เป็นงานเขียนที่สืบย้อนกลับไปได้ถึงต้นธารคืองานอย่าง ‘นิทานโบราณคดี’ พระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งเป็นการเรียบเรียงความทรงจำเกี่ยวกับท้องถิ่นเมื่อครั้งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพยังทรงดำรงตำแหน่งเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเมื่อแรกเริ่มก่อตั้งกระทรวงนี้ในสมัยรัชกาลที่ 5
ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่เป็นส่วนขยายของประวัติศาสตร์ชาติ ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นตามที่ควรจะเป็นจริง ๆ เพราะประวัติศาสตร์ท้องถิ่นแบบนี้ท้องถิ่นไม่มีอิสระภายในของตนเอง (Autonomous) ทำให้เมื่อประวัติศาสตร์แบบนั้นแพร่หลายออกไป ความรับรู้ของสาธารณชนที่มีต่อเรื่องราวของท้องถิ่นถูกบดบัง บ้างก็บิดเบือนไปจากที่เป็นจริง ต้องเป็นผู้ที่ศึกษาค้นคว้าหลักฐานของประวัติศาสตร์ท้องถิ่นมาเป็นอย่างดี จึงจะเข้าใจพัฒนาการชื่อบ้านนามเมืองของท้องถิ่น ซึ่งที่จริงสลับกลับกัน เพราะแทนที่จะได้เรียนประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเป็นพื้นฐานก่อน
แม้แต่นักศึกษาประวัติศาสตร์ก็ได้เรียนมาอย่างตรงกันข้าม คือเรียนประวัติศาสตร์ชาติกันเป็นหมุดหมายแรก แล้วจึงเริ่มต้นสถานีต่อไปกันที่ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น แล้วพอไม่ได้เรียนต่อในสาขาวิชาประวัติศาสตร์ในระดับอุดมศึกษาหรือสูงกว่านั้น สิ่งที่เกิดตามมา ประวัติศาสตร์ในความรับรู้ของคนโดยมากจึงหยุดอยู่แค่เพียงประวัติศาสตร์ของรัฐชาติ และก็ด้วยเหตุที่ประวัติศาสตร์ชาติในแบบที่เรียน ๆ กันมาตั้งแต่ระดับประถม - มัธยมนั้น เรียนกันมาแต่ในเชิงเนื้อหา ไม่ได้เรียนวิธีการ ประวัติศาสตร์เลยถูกเข้าใจผิดไปอีกว่าเป็นเรื่องของการท่องจำเนื้อเรื่องในอดีตว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร หลักฐานที่ท่องกันมาก็รู้เพียงว่าเรื่องนั้นมาจากหลักฐานชิ้นไหน ไม่ได้เรียนรู้เรื่องของการวิพากษ์ตีความหลักฐาน
ความเข้าใจต่อหลักฐานก็จึงเป็นแบบแบนราบ มีความจริงเพียงหนึ่งเดียว ประวัติศาสตร์ก็เลยกลายไปเป็นวิชาง่าย ๆ ว่าด้วยเรื่องของการนำเอาข้อมูลจากหลักฐานมาเผยแพร่อีกต่อหนึ่งเท่านั้น นักประวัติศาสตร์เลยดูมีบทบาทไม่ต่างจากพิธีกรในรายการอ่านหนังสือพิมพ์รายงานข่าวยามเช้า ผู้คนจึงรู้สึกสบายใจที่ได้ฟังเรื่องเล่าอดีตจากในมุมที่พวกเขารู้ ๆ กันอยู่แล้ว แต่เล่าให้สนุกขึ้นกว่าครูอาจารย์หรือตำราเรียนที่เคยเรียนมาเท่านั้น แต่พวกเขาจะรู้สึกไม่สบายใจ บ้างก็รับไม่ได้ทันที เมื่อพบกับนักประวัติศาสตร์ตัวจริงเป็น ๆ ที่ทุกท่านจะไม่มีมาบอกเล่าเรื่องที่ทุกคนรู้ ๆ กันดีอยู่แล้ว ส่วนใหญ่จะมาตั้งคำถามกับสิ่งที่ผู้คนรับรู้ หรือพูดเสนออะไรที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังไม่เคยรู้กันมาก่อน นักประวัติศาสตร์ตัวจริงเป็น ๆ จึงมักสร้างความหงุดหงิดและชวนโมโหให้กับชนชั้นกลางและชนชั้นนำที่มักจะยึดมั่นถือมั่นว่าสิ่งที่ตนเองรู้มานั้นถูกต้องสมบูรณ์แล้วร้อยเปอร์เซนต์ บ้างก็พาลไปมองว่านักประวัติศาสตร์ตัวจริงเป็น ๆ ท่านนั้นไม่ใช่นักประวัติศาสตร์ นักประวัติศาสตร์จริงต้องคนที่พูดให้ตนฟังแล้วรู้สึกสบายใจและหัวเราะฮาสนุกรื่นเริงไปได้ ไม่ใช่คนที่มาเคาะกะโหลกกะลาอะไรให้แก่ตน
แต่ละยุคสมัยนั้นมีอะไรต่าง ๆ เยอะแยะมากมายที่ไม่เหมือนยุคอื่น ๆ เนื่องจากแต่ละยุคจะมีสิ่งที่เรียกว่า ‘บริบทแวดล้อม’ (Context) แตกต่างกัน ส่งผลทำให้พฤติกรรม ความคิดอ่าน ความหมายของสิ่งต่าง ๆ ของคนแต่ละยุคสมัยไม่เหมือนกัน ในที่นี้สิ่งที่ควรต้องเข้าใจเป็นพื้นฐานก่อนเป็นลำดับแรก ก็คือคำว่า ‘เมือง’ ในยุคก่อน ไม่เหมือนและไม่ใช่อันเดียวกับที่เราเรียกกันในปัจจุบันนี้ว่า ‘จังหวัด’ แม้ว่าจะเป็นการกล่าวถึงบริเวณย่านหรืออาณาบริเวณเดียวกันก็ตาม
จากที่สังเกตดูแผนที่ดังกล่าว สิ่งแรกที่สะท้อนความเข้าใจคลาดเคลื่อนก็คือ มีบางชื่อที่ไม่ใช่ชื่อเก่าจริง หรือเป็นชื่อเก่าก็ไม่ได้หมายถึงที่เดียวกัน เช่น ‘ศรีสัชนาลัย’ เป็นอีกเมืองที่อยู่คู่กับ ‘สุโขทัย’ ศรีสัชนาลัยไม่ใช่ชื่อเก่าในพื้นที่จังหวัดเดียวกับที่เป็น ‘จังหวัดสุโขทัย’ อย่าว่าแต่บริเวณเมืองเก่าสุโขทัยเลย บริเวณที่เป็นตัวจังหวัดสุโขทัยในรุ่นปัจจุบันก็เป็นคนละแห่งกับสุโขทัยเมืองเก่า สุโขทัยเมืองเก่าคือบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ส่วนตัวจังหวัดหรืออำเภอเมืองสุโขทัยอยู่ร่นมาทางทิศตะวันออกก่อนถึงพิษณุโลกโน่น
คำว่า ‘แพรก’ หรือ ‘เมืองแพรก’ ที่ถูกระบุไว้แทนที่จังหวัดชัยนาทก็เช่นกัน เมืองแพรกชื่อเต็มคือ ‘แพรกศรีราชา’ หรือ ‘สรรคบุรี’ เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดชัยนาท ไม่ใช่เมืองเก่าของพื้นที่จังหวัดชัยนาท และตัวเมืองชัยนาทเดิมก็มีเมืองเก่าอยู่ที่สันเขื่อนเจ้าพระยา บริเวณวัดพระบรมธาตุชัยนาท ส่วนเมืองแพรกศรีราชา เดิมเป็นอีกเมืองไม่ได้ขึ้นกับชัยนาท แต่อยู่ภายใต้แคว้นสุพรรณภูมิด้วยกัน เมื่อราชวงศ์สุพรรณภูมิขยายอำนาจไปครองกรุงศรีอยุธยา เมืองแพรกศรีราชากับเมืองชัยนาท (ที่เขื่อนเจ้าพระยา) ก็เขยิบไปเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอยุธยา
‘โคราช’ เป็นเพียงชื่อเรียกลำลองของนครราชสีมา สันนิษฐานกันว่ามาจาก ‘โฆราฆปุระ’ (โค-รา-คะ-ปุ-ระ) ซึ่งเป็นชื่อเมืองโบราณตั้งอยู่ที่อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา แต่นครราชสีมาเป็นหัวเมืองใหญ่ เมื่อมาเป็นจังหวัด จึงมีพื้นที่ครอบคลุมกว้างขวาง ครอบรวมเอาเมืองโบราณหลายแห่งไว้ในตัวจังหวัดเป็นอันมาก
ตามที่กรมศิลปากรเคยสำรวจและจัดทำข้อมูลเอาไว้ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมามีเมืองโบราณอยู่กว่า 90 เมือง และบริเวณตัวอำเภอเมืองนครราชสีมาก็เป็นเมืองใหม่ที่ทับซ้อนอยู่กับเมืองเก่า ดังเราจะเห็นมีประตูเมืองเก่า เช่น ประตูชุมพล (ด้านหลังอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี) มีคูน้ำล้อมรอบ มีวัดเก่าเช่น วัดกลาง (วัดพระนารายณ์), เทวสถานโบสถ์พระนารายณ์, วัดศาลาลอย, วัดบึง, วัดสะแก, วัดโคกตลาด, วัดบ้านกล้วย เป็นต้น
ในขณะที่อำเภออื่น ๆ ก็เป็นที่ตั้งเมืองอื่น เช่น อำเภอพิมายมีเมืองพิมายหรือวิมายปุระ, อำเภอสูงเนินมีเมืองเสมาหรือ ‘โฆราฆปุระ’, อำเภอปักธงชัยมีเมืองปักและเมืองตะคุ, อำเภอโชคชัยมีเมืองพะโค๊ะ, อำเภอสีคิ้วมีเมืองจันทึก เป็นต้น
คำว่า ‘ขามแก่น’ ก็ไม่ใช่ชื่อเดิมของ ‘ขอนแก่น’ ท่านเจ้าอาวาสวัดพระธาตุขามแก่น ก็ได้ให้มีป้ายบอกเล่าไว้ที่หน้าพระเจดีย์ธาตุขามแก่นแล้วว่า ‘ขามแก่น’ เป็นชื่อใหม่ เพิ่งตั้ง ไม่เกี่ยวกับเมืองขอนแก่นเก่า ชื่อเก่าของบริเวณที่เป็นตัวอำเภอเมืองขอนแก่นนั้นคือ ‘บึงบร’ หรือ ‘แก่นนคร’ เป็นชื่อที่อิงกับแหล่งน้ำสำคัญประจำเมือง
ถัดมาชื่อที่ระบุเป็นชื่อเก่าของบ้านเมืองในภาคตะวันออกก็ ‘บ้ง’ พอกัน เช่นที่ระบุว่า ‘นายก’ เป็นชื่อเก่าของนครนายก ‘เมืองปราจีน’ เป็นชื่อเก่าของปราจีนบุรี ‘ชลบุรีศรีมหาสมุทร’ เป็นชื่อเก่าของชลบุรี เป็นต้น
ผู้รู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นนครนายก จะทราบดีว่าเดิมตัวเมืองนครนายกไม่ได้อยู่ที่บริเวณอำเภอเมืองในปัจจุบัน เมืองนครนายกในบริเวณปัจจุบันนี้เริ่มในสมัยรัชกาลที่ 4 ที่ตั้งเดิมของเมืองนครนายกอยู่ที่บริเวณตำบลอาษา ในเขตอำเภอบ้านนา และคลองบ้านนาก็คือแม่น้ำนครนายกสายเก่า
ปราจีนบุรีเดิมก็เช่นกัน เดิมถึงแม้เมืองใหม่กับเมืองเก่าไม่ได้ห่างกันแบบคนละสายน้ำ คนละอำเภอ เหมือนอย่างกรณีนครนายก แต่เมืองเก่าก็ร่นไปอยู่บริเวณทิศตะวันตกของเมืองปัจจุบัน ตามลำแม่น้ำปราจีนบุรี (ลำน้ำสาขาหนึ่งของแม่น้ำบางปะกง) บริเวณดังกล่าวนั้นคือย่านบางคาง และชื่อเก่าของเมืองก็คือ ‘บางคาง’ สลับกับคำว่า ‘ประจิณ’ (ที่แปลว่าตะวันออก) และ ‘ประจิม’ (ที่แปลว่า ตะวันตก) ขึ้นกับว่าใครเป็นผู้เรียก ถ้ากัมพูชาก็จะเรียก ‘ประจิม’ แต่ถ้าสยามจะเรียก ‘ประจิณ’ เนื่องจากภายหลังเข้ามาขึ้นกับสยาม ก็เลยเรียก ‘ประจิณ’ กันจนเพี้ยนมาเป็น ‘ปราจีน’
ย่านปราจีนบุรี มีเมืองเก่าเก๋ากึกอยู่ที่ศรีมโหสถ แต่ก็อย่าได้เข้าใจไปว่า ศรีมโหสถเป็นชื่อเก่าของปราจีนบุรีไปอีก เพราะไม่ใช่อย่างนั้น ปราจีนบุรีก็ส่วนปราจีนบุรี ศรีมโหสถก็ส่วนศรีมโหสถ คนละเมืองกัน แน่นอนว่าเมื่อเมืองโบราณสมัยทวารวดีที่ศรีมโหสถเสื่อมสลายไป ก็เป็นไปได้ที่จะมีผู้คนอพยพย้ายถิ่นฐานไปสร้างบ้านแปงเมืองอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำปราจีนบุรี
ส่วนที่ชื่อพ้องกัน อย่างที่เรียกว่า ‘ชลบุรีศรีมหาสมุทร’ อันนี้เข้าใจผิดเพี้ยนไปไกลขึ้นอีก เพราะคำนี้ไม่ใช่ชื่อเดิมของชลบุรีหรอกหนา เป็นแต่เพียงชื่อที่สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ทรงแต่งตั้งนายทองอยู่นกเล็กเป็นเจ้าเมือง พระราชทานนามว่า ‘พระยาชลบุรีศรีมหาสมุทร’ ซึ่งเป็นชื่อที่ไปพ้องกับ ‘ธนบุรีศรีมหาสมุทร’ ในภายหลัง แต่ชื่อเดิมของย่านที่พัฒนามาเป็นเมืองชลบุรีนั้นมี 2 ชื่อ คือ ‘ศรีพโล’ กับ ‘บางปลาสร้อย’
ชื่อ ‘ศรีพโล’ มาจากตำนานเศรษฐีพาโล สัมพันธ์กับเมืองโบราณที่มีศูนย์กลางอยู่ที่เขาบางทราย ในขณะที่ ‘บางปลาสร้อย’ เป็นชื่อเรียกบริเวณตลาดการค้าตรงปากคลองบางปลาสร้อย ซึ่งเป็นชุมทางการค้าแหล่งบรรจบกันระหว่างทางเกวียนกับเรือเดินทะเล ‘ศรีพโล’ กับ ‘บางปลาสร้อย’ อนุโลมใช้เป็นชื่อเก่าของชลบุรีได้ เพราะอยู่ในบริเวณย่านเดียวกับที่พัฒนามาเป็นตัวจังหวัดในปัจจุบัน ‘บางปลาสร้อย’ เป็นชื่อในทางสามัญ ชาวบ้านนิยมเรียก ส่วน ‘ชลบุรี’ เป็นคำบวชบาลีสำหรับใช้เป็นทางการ เหมือนที่ ‘บางกอก’ ถูกบวชบาลีไปเล่นลิเกว่า “กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์...”
ชื่อประเภทนี้ที่ปรากฏในแผนที่ฉบับดังกล่าว มีอยู่เยอะ จนผู้เขียนนับไม่หวาดไม่ไหว และถ้าให้อธิบายความก็คงยืดยาว ตัวอย่างที่ให้ไว้ก็เช่น:
กรณีภาคเหนือ ได้แก่ เวียงชัยนารายณ์ (เชียงราย), ภูกามยาว (พะเยา), เวียงพิงค์ (เชียงใหม่), หริภุญไชย (ลำพูน), เขลางค์นคร (ลำปาง), นันทบุรี (น่าน), เวียงโกศัย (แพร่)
กรณีภาคเหนือตอนล่าง ได้แก่ สองแคว (พิษณุโลก), เพชบุระ (เพชรบูรณ์), สระหลวง (พิจิตร), พระบาง (นครสวรรค์)
กรณีภาคกลาง ได้แก่ ละโว้ (ลพบุรี)
กรณีภาคอีสาน ได้แก่ บ้านพลวง (บุรีรัมย์), ประทายสมันต์ (สุรินทร์)
กรณีภาคตะวันตก ได้แก่ นครไชยศรี (นครปฐม), ปากแพรก (กาญจนบุรี), แม่กลอง (สมุทรสงคราม)
กรณีภาคใต้ตอนบน ได้แก่ พริบพรี (เพชรบุรี), ชุมนุมพล (ชุมพร), แร่นอง (ระนอง)
กรณีภาคใต้ตอนล่าง ได้แก่ ตามพรลิงค์ (นครศรีธรรมราช), ภูงา (พังงา), ปกาสัย (กระบี่), จังซีลอน (ภูเก็ต)
ให้เขียนอภิปรายทั้งหมดคงไม่ไหว (ท่านผู้อ่านได้โปรดให้อภัยในความเกียจคร้านของผู้เขียนด้วยเถิดครับ) ในที่นี้จะยกตัวอย่าง 4 ชื่อ 4 กรณีดังนี้:
(1) ‘ละโว้’ ไม่ใช่ชื่อเก่า เป็นชื่อเรียกลำลอง พ้องกับ ‘ลว’ (ละ-วะ) ชื่อเต็มคือ ‘ลวปุระ’ ตัว ว. กับ ตัว พ. เป็นคนละตัวแต่ใช้แทนที่กันได้ คำว่า ‘สุวรรณ’ ก็คำเดียวกับ ‘สุพรรณ’ หมายถึง ‘ทอง’ เหมือนกัน คำว่า ‘จักรพรรดิ’ กับ ‘จักรวรรดิ’ ก็เหมือนกัน คำเดียวกัน ความหมายเดียวกัน ดังนั้น ละโว้ กับ ลว และ ลพ ก็คำเดียวกัน ความหมายเดียวกัน
(2) ‘นครไชยศรี’ มีพัฒนาการชื่อบ้านนามเมืองที่เฉพาะแตกต่างไปจากที่อื่น ตรงที่เดิมหมายถึงอาณาบริเวณที่ครอบคลุมพื้นที่ตัวเมืองนครปฐมปัจจุบันนั่นแหล่ะ เมืองโบราณที่เป็นที่ตั้งของพระธมเจดีย์ พระประโทณเจดีย์ จุลประโทน ฯลฯ ก็คือเมืองชื่อ นครไชยศรี สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงรับสั่งให้รื้อกำแพงเมืองนครไชยศรี ก็คือรื้อกำแพงเมืองที่บริเวณอำเภอเมืองนครปฐมปัจจุบันนั่นแหล่ะ ส่วนชื่อ ‘นครปฐม’ เป็นชื่อที่เพิ่งเริ่มใช้ในสมัยรัชกาลที่ 4
สืบเนื่องจากพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 มีพระราชดำริที่ทรงเชื่อว่าพระธมเจดีย์คือเจดีย์แรกในสยามประเทศ จึงทรงพระราชทานนามว่า ‘พระปฐมเจดีย์’ และเลยเรียกเมืองนี้ว่า ‘นครปฐม’ ขณะที่คำว่า นครไชยศรี ร่นไปกลายเป็นเพียงชื่ออำเภอหนึ่งในบริเวณริมฝั่งแม่น้ำทางทิศตะวันออกของนครปฐม ภายหลังแยกออกเป็นดอนตูมกับบางปลา (บางเลน) และมีย่านเศรษฐกิจใหม่เกิดขึ้นที่ศาลายา
(3) ‘ปากแพรก’ เป็นชื่อเดิมของบริเวณที่เป็นตัวจังหวัดกาญจนบุรีก็จริง แต่ก็เก่าไปไม่เกินสมัยรัชกาลที่ 3 ก่อนหน้านั้นร่นขึ้นไปจนถึงสมัยอยุธยา เมืองกาญจนบุรีอยู่ที่ตำบลลาดหญ้า เชิงเขาชนไก่ บริเวณนั้นมีชุมชนเก่าและโบราณสถานเก่าสมัยอยุธยา ได้แก่ เจดีย์ร้างบนเขาชนไก่, วัดขุนแผน, วัดป่าเลย์ไลยก์, วัดแม่หม้ายเหนือ, วัดแม่หม้ายใต้, วัดนางพิม, ซากป้อมและกำแพงเมืองเก่า เป็นต้น เหตุที่ต้องย้ายเมืองมาที่บริเวณปากแพรก ก็เพราะความเสียหายที่เกิดจากสงครามคราวพระเจ้าปดุง 9 ทัพ เมืองกาญจนบุรีเก่าถูกใช้เป็นสมรภูมิรบกับพม่ามอญ
อีกทั้งบริเวณปากแพรกอันเป็นจุดบรรจบกันของแม่น้ำแควน้อยกับแม่น้ำแควใหญ่ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของแม่น้ำแม่กลองที่จะไหลลงใต้ไปยังเมืองราชบุรีแล้วไปออกทะเลที่แม่กลอง บริเวณนี้มีการค้าที่รุ่งเรืองเนื่องจากเป็นชุมทางคมนาคมทางน้ำที่สำคัญ รัชกาลที่ 3 จึงโปรดให้ย้ายเมืองกาญจนบุรีมาตั้งขึ้นใหม่ที่บริเวณดังกล่าวนี้
(4) ‘ตามพรลิงค์’ เป็นกรณีที่เด่นชัด ถึงแม้ว่าคำนี้จะเป็นชื่อเก่าคู่เคียงกับคำว่า ‘นครศรีธรรมราช’ หรือ ‘ลิกอร์’ หรือ ‘ละคร’ แต่มีลักษณะเหมือนคำว่า ‘บางกอก’ กับ ‘กรุงเทพฯ’ เพราะเป็นคำสื่อคนละขนบ หมายถึงที่เดียวกัน ‘ตามพรลิงค์’ นั้นเข้าใจว่าเป็นชื่อที่สัมพันธ์กับยุคบ้านเมืองนี้ยังนับถือศาสนาพราหมณ์ไศวนิกายเป็นหลัก ยุคตามพรลิงค์เกี่ยวข้องกับเมืองโบราณที่ตุมปัง เขาคา ฐานพระสยม เขาหรั่ง เป็นต้น ส่วน ‘นครศรีธรรมราช’ เป็นชื่อที่สัมพันธ์กับความเป็นบ้านเมืองพุทธศาสนา มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองพระเวียง ต่อมาคือบริเวณกำแพงเมืองที่มีวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เป็นศูนย์กลาง
อย่างไรก็ตาม ทั้ง ‘ตามพรลิงค์ และ นครศรีธรรมราช ในอดีตยุครุ่งเรืองนั้น ต่างก็ยิ่งใหญ่เกินกว่า จังหวัดนครศรีธรรมราช เพราะเป็นชื่ออาณาจักรแว่นแคว้นที่มีอำนาจปกครองคาบสมุทรมลายู ที่เรียกว่า เมืองสิบสองนักษัตร ดังที่ปรากฏในวรรณกรรมตำนานสำคัญของเมือง เช่น ตำนานพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช และตำนานพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราช และในส่วนของพระมหาธาตุเจดีย์อันเป็นศูนย์กลางของเมือง ก็ไม่ใช่ศูนย์กลางเฉพาะของเมือง หากแต่เป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนาทั่วทั้งในคาบสมุทรมลายู เมื่อชาวมุสลิมแผ่อิทธิพลเข้ามามาก
ถึงจะใช้ชื่อเก่า (นครศรีธรรมราช) แต่ทว่าก็เป็นคนละเรื่องกับอำนาจ ในเมื่อเจ้าผู้ครองเมืองในชั้นหลังนับแต่พุทธศตวรรษที่ 22 เป็นต้นมา (หลังช่วงเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1 พ.ศ.2112) เจ้านคร (ศรีธรรมราช) เป็นขุนนางที่ได้รับการแต่งตั้งมาจากอยุธยา ส่วนเชื้อสายเจ้านายท้องถิ่นสืบมาจากพระเจ้าศรีธรรมโศกราชนั้นสูญหายไปนานแล้ว อย่างไรก็ตาม การที่อยุธยาอนุญาตให้นครศรีธรรมราชยังสามารถใช้ชื่อบ้านนามเมืองดังเก่า ก็เป็นสิ่งสะท้อนอยู่โดยนัยว่าความเป็นเมืองศูนย์กลางของหัวเมืองสิบสองนักษัตรได้เสื่อมถอยลงไปมากแล้ว ถึงบางช่วงจะมีเจ้าเมืองที่ก่อขบถต่ออยุธยาประปรายอยู่ก็ตาม
บางชื่อไม่ใช่ชื่อเก่า เป็น ชื่อคู่ เช่น บางกอก หรือ บางเกาะ หรือ บางมะกอก เป็นคำเรียกในพื้นบ้าน หรือคำชาวบ้านเรียก (พูดง่ายๆ) เดิมสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ทรงสถาปนากรุงธนบุรีนั้น กรุงธนบุรีคือสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในบริเวณเดียวกัน ต่อมาเมื่อรัชกาลที่ 1 ทรงย้ายพระราชวังหลวงมาตั้งที่ฝั่งตะวันออก ฝั่งธนบุรีเดิมก็กลายเป็น ‘วังเดิม’ เป็นตำหนักที่ประทับของเจ้านายและขุนนางวังหน้า โดยที่ชื่อเมืองที่เป็นทางการ ยังคงนิยมใช้ ‘อยุธยา’ อยู่จนถึงรัชกาลที่ 4 ทรงให้เปลี่ยนไปใช้เรียก ‘กรุงเทพ’ แทน ซึ่งถ้าเป็นคนที่ไม่เคยรู้บริบทประวัติศาสตร์ ก็อาจสับสนได้ง่าย เพราะสมัยอยุธยา เมืองหลวงก็นิยมเรียกว่า ‘กรุงเทพ’ ชื่อเต็มว่า ‘กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา’
เหตุที่รัชกาลที่ 4 ทรงให้เรียก ‘กรุงเทพ’ ก็เพื่อแยกความแตกต่างระหว่างเมืองหลวงใหม่กับเมืองหลวงเก่า เพราะในสมัยรัชกาลที่ 4 มีชาวต่างชาติเข้ามามากหลังทำสนธิสัญญาเบาริง เกรงว่าจะทำให้เกิดความสับสนว่าเมืองไหนเป็นเมืองไหน หลังจากนั้นก็เกิดขนบเรียกเมืองหลวงเก่าว่า ‘กรุงเก่า’ สื่อนัยเป็นคนละเมืองกับ ‘กรุงใหม่’ ที่หมายถึงกรุงเทพมหานคร
กรุงเทพ เป็นชื่อบวชบาลี ส่วน บางกอก เป็นสำนวนปากชาวบ้าน เรียกกันมานานตั้งแต่ก่อนที่บริเวณนี้จะได้รับการสถาปนาเป็นเมืองหลวง เช่นเดียวกันที่อื่นก็มีเมืองที่มีชื่อเก่าเป็นมาแบบนี้แล้วภายหลังก็บวชเป็นบาลีสำหรับใช้ในทางราชการ ยิ่งเป็นชื่อท้องถิ่น เมื่อต้องติดต่อกับส่วนกลาง (กรุงเทพฯ) ก็เกิดมีธรรมเนียมตั้งชื่อเมืองเป็นภาษาบาลี เช่น ลาดกุดยางใหญ่ บวชบาลีเป็น มหาสารคาม, ดอนมดแดง บวชบาลีเป็น อุบลราชธานี, แปดริ้ว บวชบาลีเป็น ฉะเชิงเทรา, ท่าหลวง บวชบาลีเป็น จันทบุรี เป็นต้น
ในจำนวนนี้มีบางชื่อที่ยังคงรักษาคำเดิมเอาไว้ได้ ไม่ได้บวชบาลีไปแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เช่น ร้อยเอ็จ ซึ่งเดิมก็มีคำบาลีของตนอยู่แล้วคือ สาเกตนคร แต่ส่วนกล
างไม่รับมุข เลยเป็น ร้อยเอ็ด กรณี ระยอง น่าสนใจ เพราะเป็นคำที่ยังคงรักษาคำของชาติพันธุ์ดั้งเดิมคือ คนชอง เอาไว้ได้ ระยอง มาจาก ราย็อง หรืออย่างกรณี ตานี หรือ ปตานี ที่เป็นคำมลายู กลายมาเป็น ปัตตานี กรณีหลังนี้อาจจะเรียกว่าบวชเป็นไทย มากกว่าจะบวชเป็นบาลี เป็นต้น
บางเมืองที่มาของชื่อจังหวัดไม่ได้สัมพันธ์กับชื่อเก่า เพราะเป็นคนละที่ จังหวัดที่เกิดใหม่ภายหลังตั้งอยู่คนละที่กับตัวเมืองที่เป็นศูนย์กลางในรุ่นที่เป็นจังหวัด เช่น ในภาคกลาง ได้แก่ วิเศษชัยชาญ (อ่างทอง), อู่ทอง (สุพรรณบุรี), อโยธยาศรีรามเทพนคร (พระนครศรีอยุธยา), สามโคก (ปทุมธานี), ตลาดขวัญ (นนทบุรี), พระประแดง (สมุทรปราการ) ในภาคอีสาน ได้แก่ พิมาย (นครราชสีมา), นางรอง (บุรีรัมย์), ขุขันธ์ (ศรีสะเกษ) เป็นต้น
ชื่อจังหวัดประเภทนี้ไม่ได้เกิดจากการเปลี่ยนชื่อจังหวัด หากแต่เพราะมีการย้ายศูนย์กลางไปตั้งยังที่ใหม่ อย่าง วิเศษไชยชาญ นั้นเป็นเมืองเก่าในสมัยอยุธยา ครั้นพอถึงสมัยธนบุรีได้เกิดศูนย์กลางแห่งใหม่ขึ้นที่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำประคำทอง ซึ่งเป็นชุมชนทางคมนาคมติดต่อกับเมืองหลวงใหม่คือกรุงธนบุรีและกรุงเทพฯ ได้สะดวกกว่าเมืองเดิมที่วิเศษไชยชาญ ก็เกิดเป็น เมืองอ่างทอง ขึ้นใหม่แทนที่ เมืองวิเศษไชยชาญ และบริเวณเมืองวิเศษไชยชาญเดิมก็ร่นความสำคัญไปเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดใหม่คือ อ่างทอง นั่นเอง
อู่ทอง เป็นเมืองเก่าแห่งหนึ่งในเขตจังหวัดสุพรรณบุรี แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นชื่อเก่าของสุพรรณบุรี เพราะสุพรรณบุรีที่บริเวณตัวเมืองเองก็เป็นเมืองเก่าอีกแห่งหนึ่งเหมือนกัน คำว่า อู่ทอง เป็นคำที่เพิ่งเกิดเพราะอิทธิพลของประวัติศาสตร์นิพนธ์ฉบับสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เนื่องจากทรงเชื่อมั่นว่า เมืองเก่าในตำนานท้าวอู่ทองแห่งนี้คือบ้านเมืองเดิมของกษัตริย์ผู้สถาปนากรุงศรีอยุธยาเมื่อพ.ศ.1893
เดิมบริเวณดังกล่าวนี้มี 2 ชื่อ คือ บ้านเขาพระ กับ บ้านจระเข้สามพัน เมื่อแรกตั้งเป็นอำเภอตามระบบการจัดการปกครองแบบใหม่ ก็ยังเคยใช้ชื่อ อำเภอจระเข้สามพัน เพิ่งเปลี่ยนเป็น อำเภออู่ทอง และเรียกเมืองโบราณในอำเภอนี้ว่า เมืองอู่ทอง ภายหลัง จึงเป็นตลกที่บอกว่า อู่ทอง เป็นชื่อเก่าของสุพรรณบุรี เพราะจริง ๆ สุพรรณบุรีต่างหากล่ะ ที่เป็นคำเก่า ส่วนอู่ทองเป็นคำใหม่ที่เพิ่งใช้เมื่อไม่กี่สิบปีมานี้
ที่ถูกจริง ๆ ก็คือที่บอกว่า อโยธยาศรีรามเทพนคร คือชื่อเดิมของ พระนครศรีอยุธยา เพราะเป็นคำที่ปรากฏในจารึก มีร่องรอยเมืองเก่าก่อน พ.ศ.1893 อยู่ที่บริเวณรอบเกาะเมือง ไม่ได้มีเฉพาะบริเวณฝั่งตะวันออกของแม่น้ำป่าสัก เพราะคูน้ำคันดินหรือของอย่างกำแพงเมืองป้อมปราการนั้นไม่ได้เป็นเขตเมือง เขตเมืองต้องดูที่เส้นคมนาคมและการกระจายตัวของชุมชน คูน้ำคันดินและกำแพงเมืองป้อมปราการเป็นแต่เพียงที่ทำการของหน่วยราชการปกครอง แต่ไหนแต่ไรมาไม่มีสักเมืองเลยที่ขอบเขตเมืองจะเป็นแค่ในบริเวณคูน้ำคันดินหรือกำแพงเมืองป้อมปราการ
ที่เหลือไม่ว่าจะเป็น เมืองสามโคก ในเขตปทุมธานี, ตลาดขวัญ ในนนทบุรี, พระประแดง ในสมุทรปราการ ล้วนแต่อยู่ในเกณฑ์เดียวกัน คือเมืองเก่าร่นไปเป็นอำเภอ ก่อตั้งขึ้นเมื่อต้นรัตนโกสินทร์ ขณะที่อ่างทองมีพัฒนาการแรกเริ่มในสมัยธนบุรี คือหลังจากเกิดเหตุการณ์เสียกรุงศรีอยุธยา ราชอาณาจักรสยามสลายตัวลงชั่วขณะเมื่อพ.ศ.2310 การย้ายเมืองหลวงจากอยุธยามาเป็นธนบุรีและกรุงเทพฯ ก็เป็นปัจจัยสำคัญต่อการเกิดศูนย์กลางใหม่ในแต่ละท้องถิ่น เพราะลักษณะการคมนาคมและเศรษฐกิจการค้าเปลี่ยนไปจากเมื่อครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา
นอกนั้น เช่น พิมาย ในนครราชสีมา, นางรอง ในบุรีรัมย์, ขุขันธ์ ในศรีสะเกษ บริเวณที่เป็นศูนย์กลางจังหวัดเดิมก็เป็นเมืองเก่า เพียงแต่เป็นเมืองที่มีอำนาจน้อยกว่าเมืองที่ต้องสงสัยว่าเป็นชื่อเก่าที่ว่านั้น
พิมาย หรือ วิมายปุระ เป็นชื่อที่ปรากฏในจารึกขอบประตูปราสาทหินพิมายและเป็นแคปชั่นหนึ่งที่ระเบียงปราสาทนครวัด (ตรงบริเวณก่อนถึง เสียมกุก) อดีตเคยเป็นศูนย์กลาง ไม่ใช่แค่ในย่านนครราชสีมาหรือแม้แต่ในเขตอีสานใต้ หากแต่มีความสำคัญจนถึงกับเคยเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรกัมพูชาในสมัยราชวงศ์มหินธรปุระ และในรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 พิมายก็เป็นปลายทางของเส้นทางถนนโบราณที่เรียกว่า ราชมรรคา (Royal road) เชื่อมต่อระหว่างเมืองพระนครกับพิมาย
ส่วนนครราชสีมาเริ่มจะมีความสำคัญขึ้นในสมัยอยุธยารัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ มีการสร้างกำแพงเมืองและป้อมปราการ สร้างวัดสำคัญ ทั้งนี้ชนชั้นนำอยุธยาต้องการที่จะสลายอำนาจกลุ่มเดิมในโคราชลง จึงสนับสนุนการสร้างศูนย์กลางแห่งใหม่แข่งขันกับกลุ่มเดิมที่พิมาย ภายหลังจากเกิดการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 พ.ศ.2310 กรมหมื่นเทพพิพิธได้ก่อตั้งพิมายขึ้นเป็นศูนย์กลางอีกครั้ง แต่ก็ในช่วงเวลาอันสั้น เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ได้รับชัยชนะในการปราบปรามก๊กพิมาย ก็ได้สนับสนุนนโยบายเดิมที่เคยใช้ในสมัยอยุธยาอย่างการสร้างศูนย์กลางขึ้นที่นครราชสีมา
บุรีรัมย์ก็เช่นเดียวกับนครราชสีมา ในแง่ที่เดิมเมืองที่เป็นศูนย์กลางในย่านคือนางรอง เจ้าเมืองมีอำนาจคุมเมืองตะลุง (ประโคนชัย) พนมรุ้ง (เมืองสูง) และเมืองต่ำ ส่วนบริเวณที่เป็นบุรีรัมย์นั้นเดิมมีชื่อเรียกกันในท้องถิ่นว่า เมืองแปะ เป็นเมืองที่ชนชั้นนำอยุธยารุ่นสมเด็จพระนารายณ์ได้สนับสนุนให้เป็นศูนย์กลางใหม่เช่นเดียวกับนครราชสีมา
ในสมัยธนบุรี พระยานางรองได้เข้าร่วมก๊กพิมาย ภายหลังจากก๊กพิมายพ่ายแพ้ให้แก่สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ไปแล้ว พระยานางรองก็หันไปเข้ากับเจ้าโอเจ้าอินที่จำปาสักอีก เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ส่งกองทัพมีเจ้าพระยาจักรีกับเจ้าพระยาสุรสีห์ไปตีเมืองจำปาสักและเวียงจันได้รับชัยชนะแล้ว ก็ทรงหวนกลับไปใช้นโยบายเช่นเดียวกับอยุธยา คือการสนับสนุนเมืองใหม่ให้เป็นศูนย์กลางแทนที่ จึงเป็นที่มาของบทบาทและความสำคัญของเมืองบุรีรัมย์แทนที่เมืองนางรอง
พิมายและนางรองต่างถูกลดสถานะและบทบาทลงไปเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดที่เกิดจากการสร้างศูนย์กลางใหม่ในสมัยธนบุรี ด้วยเหตุผลทางการเมืองการปกครอง และความเปลี่ยนแปลงหลังกรุงแตก ราชอาณาจักรอยุธยาสลายตัวไปเมื่อพ.ศ.2310 จึงไม่ใช่ว่าพิมายหรือนางรองเป็นชื่อเก่าของจังหวัด เป็นเมืองเก่าที่เคยเป็นศูนย์กลางก่อนที่จะเกิดศูนย์กลางรุ่นที่ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันต่างหาก
กรณีเมืองขุขันธ์กับศรีสะเกษ เพิ่งเกิดพัฒนาการที่คล้ายคลึงกับพิมายและนางรองในช่วงหลังจากเกิดเหตุการณ์ศึกเจ้าอะนุวงในสมัยรัชกาลที่ 3 ขุขันธ์หรือ คูขันธสีมา เคยเป็นศูนย์กลางในย่าน แต่ในสมัยรัชกาลที่ 3 ชนชั้นนำท้องถิ่นเกิดแตกแยกออกเป็น 2 ฝ่าย ถึงขั้นเปิดฉากสู้รบกันเป็นสงครามกลางเมืองแย่งชิงกันว่าใครจะเป็นเจ้าเมือง ซึ่งในอีสานสมัยนั้นสามารถทำได้ หากฝ่ายใดชนะแล้วส่งส่วยบรรณาการมาถวายกษัตริย์กรุงเทพฯ ก็จะได้รับการรับรองเป็นเจ้าเมืองอย่างเป็นทางการจากกรุงเทพฯ
แต่พระนั่งเกล้าฯ รัชกาลที่ 3 เวลานั้นไม่ทรงให้รอว่าฝ่ายใดเป็นผู้ชนะก่อนแล้วถึงค่อยรับรองอำนาจให้ตามประเพณีเก่า ทรงต้องการให้สยามเป็นผู้กำหนดเลยว่าใครเหมาะสมคู่ควรเป็นเจ้าเมือง ดังนั้นจึงทรงมีพระราชบัญชาสั่งให้เจ้าเมืองนครราชสีมายกทัพไปเคลียร์ให้เมืองขุขันธ์อยู่ในความสงบ โดยจะกำราบทั้งสองฝ่าย ทั้งนี้ราชสำนักสยามเวลานั้นก็เกรงว่าสงครามกลางเมืองที่ขุขันธ์จะส่งผลทำให้เกิดความเสียหายจนยากแก่การบูรณปฏิสังขรณ์ อีกทั้งยังกลัวว่าจะมีชนชั้นนำท้องถิ่นในอีสานเอาเป็นเยี่ยงอย่างก่อความไม่สงบขึ้นไม่หยุดหย่อน
เหตุการณ์กรณีขุขันธ์ กลายเป็นชนวนเหตุหนึ่งของศึกเจ้าอะนุวง เมื่อพระยานครราชสีมาไม่อยู่เมือง ต้องไปปราบเมืองขุขันธ์ เจ้าอะนุวงก็ส่งกองทัพลงมายึดเมืองนครราชสีมาได้อย่างง่ายดาย ขณะที่การที่สยามส่งกองทัพโคราชไปปราบขุขันธ์ ก็ทำให้ชาวขุขันธ์ส่วนหนึ่งที่ไม่พอใจสยามและโคราชอยู่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว พากันหันไปเข้ากับเจ้าอะนุวง
ปัญหาภายในของขุขันธ์ที่ส่งผลถึงสงครามใหญ่ระหว่างสยามกับล้านช้าง ทำให้ราชสำนักสยามสมัยพระนั่งเกล้าฯ หันกลับไปใช้กุศโลบายอย่างเดียวกับที่สมเด็จพระนารายณ์และสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ เคยใช้ในกรณีพิมายและนางรอง คือการสนับสนุนอีกเมืองขึ้นมาเป็นศูนย์กลางใหม่ให้มีบทบาทและความสำคัญแทนที่เมืองเดิมอย่างขุขันธ์ และศูนย์กลางใหม่ที่ว่านี้ก็คือเมืองศรีสะเกษนั่นเอง ต่อมาภายหลังขุขันธ์ก็ร่นบทบาทความสำคัญไปเป็นอำเภอหนึ่งที่อยู่ภายใต้การควบคุมของศรีสะเกษ
จะเห็นได้ว่า วิเศษไชยชาญ ก็ดี, พิมาย ก็ดี, นางรอง ก็ดี, ขุขันธ์ ก็ดี ล้วนแต่ไม่ใช่ชื่อจังหวัด เพราะจังหวัดเกิดมีภายหลังจากที่มีการเปลี่ยนย้ายศูนย์กลางของย่านไปเป็นเมืองที่จะพัฒนามาเป็นจังหวัดในภายหลัง เมืองเก่าที่กลายเป็นอำเภอหนึ่งนั้นถือเป็นส่วนหนึ่งแต่ไม่ใช่ทั้งหมดของพื้นที่ที่เป็นจังหวัด จังหวัดมีอาณาเขตกว้างใหญ่กว่าเมืองโบราณแห่งใดแห่งหนึ่งในอดีต ยกเว้นบางเมืองที่เคยเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรใหญ่อย่างเช่น สุโขทัย, พิษณุโลก, สุพรรณบุรี, ลพบุรี, นครศรีธรรมราช เป็นต้น
บางจังหวัดมีการใช้ชื่อที่อิงความเก่าแก่จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์โดยตรง เช่น ในอีสาน ตำนานอุรังคธาตุ มีความสำคัญในแง่ที่ให้กำเนิดชื่อบ้านนามเมืองเป็นอย่างมาก ที่โดดเด่นมี 2 กรณี คือเมืองนครพนมที่อิงพระธาตุพนม แต่ก่อนนี้มีการหวนกลับไปใช้ ศรีโคตรบูรณ์ ที่ปรากฏในตำนานอุรังคธาตุ เช่นเดียวกับเมืองชื่อ ร้อยเอ็จประตู ก็กร่อนลงเป็น ร้อยเอ็ด โดยอาศัยอ้างอิงจากตำนานอุรังคธาตุ เพราะในตำนานฉบับดังกล่าวนี้ เมืองสาเกตนคร ซึ่งเชื่อกันว่าตั้งอยู่ที่ร้อยเอ็ดนั้นเป็นเมืองที่มั่งคั่งรุ่งเรืองและมีการค้าขายติดต่อกับภายนอกมาก จึงได้สมญาว่าเป็น เมืองร้อยเอ็จประตู
เมืองร้อยเอ็จประตู ไม่ได้หมายความว่ามีประตูเมืองจำนวน 101 ประตู หากแต่เป็นความเปรียบหมายถึงเมืองที่มั่งคั่งรุ่งเรืองและเปิดกับโลกภายนอกมาก มีการติดต่อค้าขายแลกเปลี่ยนทุกสารทิศ (ร้อยเอ็ดประตู) ตามนัยของตำนาน ชื่อ ร้อยเอ็ด เลยเป็นชื่อมงคลที่เหมาะแก่การนำเอามาเป็นชื่อจังหวัดอย่างไม่ต้องสงสัย
เช่นเดียวกับชื่อ ศรีโคตรบูรณ์ ก็เป็นนามมงคล ไม่แปลกที่ชาวนครพนมจะเคยคิดนำเอามาเป็นชื่อบ้านนามเมืองของตนอีกครั้ง เพราะหมายถึงเมืองที่อุดมสมบูรณ์มาก (อย่างโคตร ๆ) รุ่งเรืองและมีอำนาจมาก จนถึงกับสร้างพระธาตุพนมไว้ประดิษฐานพระธาตุส่วนพระอุระ (อก) ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้ว่าจะมีอีกความหมายที่สื่อถึงการเป็นเมืองของพระยาโคตรบอง
แต่เพราะนัยยะความหมายของชื่อ (ศรีโคตรบูรณ์) นี้เหมือนจะ “แรง” เสียจนก่อความรู้สึกที่ไม่พอใจแก่ชนชั้นนำสยาม ต่างจากนครศรีธรรมราชที่ก็มีพระบรมธาตุเจดีย์เป็นศูนย์กลางระดับภูมิภาค ที่มีท่าทีชัดเจนว่ายอมรับอำนาจของส่วนกลาง มีปฏิสัมพันธ์กับส่วนกลางมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ขณะที่อีสานตอนบนสมัยนั้นยังขึ้นกับล้านช้าง
ชื่อเก่า (ศรีโคตรบูรณ์) ที่ถูกนำกลับมาใช้ใหม่จึงใช้ได้ไม่นาน ภายหลังจากที่นครพนมเข้ามาปฏิสัมพันธ์กับกรุงเทพฯ มากขึ้น คำว่า ศรีโคตรบูรณ์ จึงกลับไปเป็นชื่อในตำนานและความทรงจำของคนในแถบริมฝั่งโขงต่อไป นอกจากนี้ชนชั้นนำของนครพนมในรุ่นหลังก็มีปัญหาภายในเช่นเดียวกับขุขันธ์ ผู้นำส่วนหนึ่งได้อพยพผู้คนลงไปอยู่ที่ปากน้ำริมคลองมหาวงศ์ (ในเขตสมุทรปราการ) ภายหลังย้ายไปเมืองพระรถ (ในอ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี ปัจจุบัน) ขณะที่ คนนคร (พนม) อีกส่วนหนึ่งที่ยังอยู่ริมฝั่งโขงได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรอย่างเหนียวแน่นกับเวียงจันสมัยเจ้าอะนุวงทำสงครามต่อต้านสยามในช่วงระหว่าง พ.ศ.2369 - 2371
อย่างไรก็ตาม การหวนกลับไปใช้ ศรีโคตรบูรณ์ ก็มีปัญหาอยู่ในตัวเอง ตรงที่ในตำนานจริง ศรีโคตรบูรณ์ ไม่ใช่แค่ชื่อเมืองใดเมืองหนึ่ง เป็นชื่อของอาณาจักรใหญ่แห่งหนึ่งของลุ่มแม่น้ำโขง ร่วมยุคกับทวารวดีในภาคกลาง ศรีโคตรบูรณ์ก็เป็นเช่นเดียวกับทวารวดี ซึ่งไม่สามารถจะมีจังหวัดทวารวดีได้ ในแง่ที่ไม่มีเมืองใดสามารถจะอ้างความเป็นเจ้าของชื่อแต่เพียงเมืองใดเมืองหนึ่ง อยุธยาเองถึงจะมีจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก็ไม่ได้หมายความว่าจังหวัดนี้จะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับกรุงศรีอยุธยา และยิ่งเป็นคนละเรื่องกับราชอาณาจักรอยุธยา
เมืองศูนย์กลางที่ตั้งใหม่ภายหลังในพุทธศตวรรษที่ 25 ลงมา ไม่ค่อยเป็นปัญหาในการสืบสาวราวเรื่องมากนักว่าชื่อเก่าก่อนตั้งเมืองนั้นคืออะไร เพราะเป็นยุคที่มีการใช้เอกสารใบบอกกันมากแล้ว ชื่อเก่าก่อนที่จะตั้งเป็นเมืองใหญ่จึงปรากฏในหลักฐานประเภทจดหมายเหตุ ไม่ยากแก่การค้น หลายชิ้นมีการตีพิมพ์อยู่ในรูปหนังสือก็มาก ตัวอย่างเมืองใหม่ในแง่นี้ก็เช่น:
(1) อุดรธานี เดิมชื่อ บ้านหมากแข้ง หรือ โนนหมากแข้ง ก่อตั้งในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมได้ย้ายที่ว่าการมณฑลมาจากหนองคาย เพราะหนองคายอยู่ใกล้ชายแดนล้านช้างซึ่งตกเป็นอาณานิคมฝรั่งเศสไปในสมัยนั้น แน่นอนว่าในพื้นที่อุดรธานีมีเมืองเก่าหลายแห่งย้อนไปจนถึงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ รวมทั้งอย่างภูพระบาทและบ้านเชียง ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกด้วย
(2) สมุทรสาคร ที่เดิมชื่อ สาครบุรี หรือ บ้านท่าจีน เป็นเมืองเก่าย้อนไปจนถึงสมัยอยุธยา สมุทรสาครเป็นนามที่พระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 ทรงพระราชทานในคราวเดียวกับที่ทรงพระราชทานนามเมืองอีก 2 แห่ง คือ สมุทรสงคราม กับ สมุทรปราการ รวมกัน 3 เมือง เรียกว่า เมืองสามสมุทร หรือ เมืองสามลุ่มปากแม่น้ำ (สมุทรสาครในลุ่มแม่น้ำท่าจีน สมุทรสงครามในลุ่มแม่น้ำแม่กลอง และสมุทรปราการในลุ่มแม่นำเจ้าพระยา)
สมุทรสาคร ต่างจากอีก 2 เมืองสมุทร อยู่ตรงที่บริเวณที่ตั้งเมืองกับที่ตั้งจังหวัดยังคงเป็นที่เดียวกัน คำว่า สาครบุรี กับ บ้านท่าจีน หรือเมืองท่าจีน จึงสามารถอนุโลมใช้กล่าวอ้างได้ว่าเป็นชื่อเดิมของสมุทรสาครได้ แต่ก็ไม่ใช่ชื่อจังหวัด เป็นชื่อเมือง และทั้ง สาครบุรี ก็ไม่ได้ร่นไปเป็นอีกอำเภอหนึ่งแยกไปต่างหากด้วย ขณะที่พระประแดงกับ แม่กลองไม่สามารถจะกล่าวอ้างได้เช่นนั้น เพราะเป็นอีกเมืองหนึ่งแยกต่างหากจากบริเวณที่พัฒนามาเป็นศูนย์กลางของจังหวัด และก็ได้ร่นความสำคัญลงไปเป็นอำเภอหนึ่งเมื่อจัดรูปแบบการปกครองภูมิภาคในรูปจังหวัดอย่างปัจจุบัน
(3) บางนางรม ของประจวบคีรีขันธ์ เป็นกรณีที่คล้ายคลึงกับสาครบุรีของสมุทรสาคร และก็เป็นเมืองใหม่ได้รับพระราชทานชื่อจากพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 เช่นเดียวกัน เมืองเก่าเดิมในย่านประจวบคีรีขันธ์อยู่ที่กุยบุรี แต่กุยบุรีในช่วงหลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 พ.ศ.2310 ดรอปลงไปกว่าแต่ก่อนมาก แหล่งความเจริญไปเกิดที่บริเวณสามอ่าว (อ่าวประจวบ อ่าวมะนาว และอ่าวน้อย) เพราะตั้งอยู่ในบริเวณเส้นทางเดินเรือตัดข้ามมหาสมุทรจากภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยไปยังชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก
พระจอมเกล้าฯ จึงทรงพระราชทานนามประจวบคีรีขันธ์ให้เป็นเมืองคู่กับประจันตคีรีเขตต์คือเกาะกง (สมัยนั้นเกาะกงยังขึ้นกับสยาม) กรณีบางนางรมจึงถูกต้องที่จะกล่าวอ้างว่าเป็นชื่อเก่าของประจวบคีรีขันธ์ แต่ก็เป็นเมืองประจวบฯ เช่นเดียวกับ สาครบุรี ที่เป็นชื่อเก่าของสมุทรสาคร
(4) ในภาคใต้มีอยู่เมืองหนึ่งที่พระจอมเกล้าฯ ทรงพระราชทานนามเมืองเช่นกันคือ กาญจนดิษฐ์ในเขตสุราษฏร์ธานี เขตนี้มีเมืองเก่าที่เคยเป็นศูนย์กลางอยู่ที่ไชยา แต่ช่วงหลังทั้งไชยาและกาญจนดิษฐ์ต่างต้องถอยฉากให้แก่สุราษฎร์ธานี เพราะเป็นเมืองที่ได้รับพระราชทานนามรุ่นหลังสุดในย่าน
โดยผู้พระราชทานนามนี้คือพระมงกุฎเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 ในคราวเดียวกับที่ทรงพระราชทานนามแม่น้ำในย่านให้เปลี่ยนจากแม่น้ำหลวง (เพราะไหลมาจากเขาหลวง) ให้เป็นแม่น้ำตาปี ชื่อซึ่งทรงได้แรงบันดาลใจมาจากแม่น้ำชื่อ แม่น้ำตาปติ หรือ แม่น้ำทัปติ (Tapti river) ที่เมืองสุรัต (Surat) ของบริติชราช (อินเดียภายใต้การปกครองของอาณานิคมอังกฤษ)
ชื่อ สุราษฎร์ธานี ก็เป็นชื่อที่ทรงได้แรงบันดาลใจมาจากเมืองสุรัต ด้วยเช่นกัน แต่มีความหมายที่เป็นที่ประทับใจชาวสุราษฎร์ในรุ่นหลัง เพราะหมายถึงเมืองคนดี หรือ เมืองของราษฎรที่ดี (สุ แปลว่า ดี, ราษฎร์ คือ ราษฎร, ธานี แปลว่า เมือง)
กล่าวโดยสรุป กาญจนดิษฐ์ไม่ใช่ชื่อเก่าของสุราษฎร์ธานี หากแต่เป็นชื่ออีกเมืองหนึ่งต่างหาก และก็เป็นชื่อที่ตั้งใหม่ แต่ไม่ป๊อป ตอนหลังมีเมืองใหม่ที่ได้รับพระราชทานนามแล้วเกิดป๊อปกว่าคือ สุราษฎร์ธานี ที่พระมงกุฎเกล้าฯ ทรงพระราชทานนาม ซึ่งที่จริงการนำเอาชื่อบ้านนามเมืองมาตั้งเป็นชื่อเมืองในสยามและตลอดทั่วอุษาคเนย์ ก็เป็นขนบเก่าแก่ดั้งเดิมของชนชั้นนำ จึงมี เมืองอโยธยา ที่กลายมาเป็น อยุธยา ซึ่งก็เป็นชื่อนำมาจากอินเดีย เป็นต้น
(5) สระแก้ว เป็นจังหวัดใหม่ที่เพิ่งตั้งเมื่อพ.ศ.2536 เคยเป็นเมืองเก่าโบราณ แต่ก็นานนมมาก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยาเสียอีก คือที่ ปทายเขษมในตำบลท่าเกษม อำเภอเมือง จังหวัดสระแก้วปัจจุบัน ซึ่งเป็นเมืองที่สร้างสระแก้วสระขวัญ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณตัวจังหวัดสระแก้ว เป็นจังหวัดใหม่ที่แยกตัวออกจากจังหวัดปราจีนบุรี การแยกตัวออกมาตั้งเป็นจังหวัดใหม่ของสระแก้ว เป็นเรื่องสร้างความยินดีและไม่เป็นปัญหามากนัก ไม่เหมือนอย่างกรณี บัวใหญ่ ที่ไม่อยากแยกจากนครราชสีมา เพราะกลัวจะไม่ได้เป็นลูกหลานย่าโม ไม่เหมือนกรณีทุ่งสง ที่มีคนกลัวจะไม่เชื่อมโยงกับพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช
ทั้งนี้เพราะสระแก้วตลอดช่วงก่อนหน้านั้นได้มีการสร้างอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมผ่าน วีรบุรุษแห่งชาติ ที่สำคัญและยิ่งใหญ่ไปกว่าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน) ที่เป็นสัญลักษณ์ของเมืองปราจีนบุรี สระแก้วมีทั้งสมเด็จพระนเรศวร สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ เจ้าพระยาบดินทรเดชา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไหนจะมีพระสยามเทวาธิราชจำลองอยู่ที่อรัญประเทศอีก การได้เป็นเอกราชจากปราจีนบุรีจึงเป็นเรื่องที่ยังความปิติยินดีแก่ชาวสระแก้ว
บางครั้งประวัติศาสตร์ก็เป็นเรื่องตลกที่ขำไม่ออกแบบนี้แลขอรับ...
นอกจากความอ่อนปลวกเปียกของประวัติศาสตร์ท้องถิ่น จึงไม่เข้าใจพัฒนาการทางสังคมการเมืองของท้องถิ่นมากพอ ดังที่ผู้เขียนได้อภิปรายไว้ในตอนต้นของบทความแล้ว ยังน่าสังเกตด้วยว่า ความพยายามของฝ่ายปกครองภูมิภาคที่ได้พยายามสร้างอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของจังหวัด โดยการอ้างอิงย้อนหลังกลับไปหาความเก่าแก่โบราณ ทั้งที่พวกเขาไม่แม่นประวัติศาสตร์ท้องถิ่นมากพอ ยังส่งผลทำให้เกิดความเข้าใจที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนอย่างสำคัญ เมื่อ จังหวัด เป็นรูปแบบการจัดการบริหารส่วนราชการภูมิภาคแบบใหม่ที่เพิ่งเกิดหลังจากการยกเลิกการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลไปภายหลังการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475
อย่างไรก็ตาม ช่วงหลังอภิวัฒน์ใหม่ ๆ หมาด ๆ ได้มีการจัดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดแรกเริ่มซึ่งมาจากการเลือกตั้งครั้งแรกเมื่อพ.ศ.2477 ได้มาพูดออกวิทยุกรมโฆษณาการเกี่ยวกับสภาพของจังหวัด ที่ตนได้รับเลือกเป็นสภาผู้แทนราษฎร ท่านสส.แรกของสยามรุ่นนั้นก็ได้แสดงสติปัญญาและความรอบรู้เกี่ยวกับท้องถิ่นที่พวกเขาได้รับการเลือกตั้งเข้ามา เป็นที่น่าสนใจว่า สส.แต่ละท่าน แต่ละจังหวัด ยังคงมีความรอบรู้อันเกิดจากการค้นคว้าประวัติศาสตร์ท้องถิ่นมานำเสนอได้ครบถ้วนบริบูรณ์ภายใต้พื้นที่และระยะเวลาการนำเสนอที่มีอยู่อย่างจำกัดในสมัยนั้น
แต่ภายหลังจากเกิดการรัฐประหารโค่นล้มจอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้นำคณะราษฎร แล้วแทนที่ด้วยอีกกลุ่มที่มีอุดมการณ์เป็นฝ่ายปฏิปักษ์ตรงกันข้ามภายใต้การนำของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อกึ่งพุทธกาล พ.ศ.2500 กระทรวงมหาดไทยได้มีการจัดทำหนังสือชุด ประวัติมหาดไทย โดยให้มีจังหวัดละ 1 เล่มจบ ซึ่งเป็นพื้นที่และระยะเวลาการนำเสนอที่มากกว่าเมื่อครั้งสส.สมัยแรกได้นำเสนอไปเมื่อพ.ศ.2477 เป็นอันมาก
แต่แนวคิดเบื้องหลังของหนังสือชุด ประวัติมหาดไทย กลับแสดงให้เห็นแนวคิดที่ทำให้ท้องถิ่นเริ่มถูกผนวกรวมเข้ากับขนบประวัติศาสตร์ของรัฐชาติอย่างเต็มสูบ ที่สำคัญหนังสือชุดดังกล่าวนี้ยังเป็นที่มาของแนวคิดที่ทึกทักเอาว่า เมือง ในอดีตนั้นเท่ากับ จังหวัด ในปัจจุบัน คล้ายคลึงกับที่ประวัติศาสตร์ชาติอ้างเป็นเจ้าของอาณาจักรโบราณเก่าแก่ภายในรัฐชาติของตน
ขนบอย่างหนึ่งของประวัติศาสตร์นิพนธ์ในแนวนี้คือการนำเอาชื่อจังหวัดต่าง ๆ หรือเมืองโบราณในเขตจังหวัดต่าง ๆ ไปอยู่ในลำดับไทม์ไลน์ประวัติศาสตร์แบบสุโขทัย – อยุธยา – ธนบุรี - รัตนโกสินทร์ ซึ่งทำให้ประวัติศาสตร์บางถิ่นที่ขัดฝืนต่อหลักฐานและข้อเท็จจริง เพราะอาณาจักรสุโขทัย รวมถึงอยุธยาเองด้วย ยังไม่ได้มีอำนาจปกครองหัวเมืองชายขอบ เช่น ล้านนา, อีสานตอนบน, ภาคใต้ตอนล่าง เป็นต้น
ประวัติมหาดไทย หรือก็คือ “ประวัติศาสตร์จังหวัดต่าง ๆ ฉบับนักปกครอง” เป็นประวัติศาสตร์นิพนธ์ที่ไม่เคยได้มาตรฐานงานเขียนทางวิชาการของประวัติศาสตร์ ก็นั่นแหล่ะนักรัฐศาสตร์รุ่น 2500 ก่อนสอบผ่านไปเป็นปลัด นายอำเภอ หรือเลื่อนเป็นผู้ว่าฯ ต่างก็ไม่เคยผ่านการเรียนวิชาประวัติศาสตร์ที่ได้มาตรฐานวิชาการ ประวัติศาสตร์ในมุมของพวกเขายังคงเป็นแค่เรื่องของการนำเสนอข้อมูลหลักฐานเช่นเดียวกับที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ผู้ซึ่งเป็นนักประวัติศาสตร์และนักปกครองรุ่นบุกเบิก
แนวคิดประวัติศาสตร์แบบ ประวัติมหาดไทย นี้ ภายหลังในอีก 4 ทศวรรษต่อมา ได้รับสืบทอดและผลิตซ้ำกันภายใต้หนังสือเล่มชุด “วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาของจังหวัด...” ผลงานอันเกิดจากความร่วมมือกันระหว่างกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงศึกษาธิการ ในรูปคณะกรรมการประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ ทศวรรษ 2540 ซึ่งเป็นงาน ประวัติศาสตร์จังหวัด ที่ค่อนข้างละเอียดและสมบูรณ์ที่สุดในรอบหลายทศวรรษเท่าที่เคยมีมา แต่แนวคิดและวิธีการบรรยาย (Concept and Description) ยังคงเป็นแบบเดียวกับที่เคยปรากฏในชุด ประวัติมหาดไทย เมื่อทศวรรษ 2500
รูปแบบการปกครองที่เปลี่ยนแต่ละยุคก็มีผลต่อความเปลี่ยนแปลงของขนาดตัวเมือง รวมทั้งอำนาจบารมีที่ไม่เท่ากันและไม่สืบทอดต่อเนื่องกันของชนชั้นนำแต่ละยุค เช่นความแตกต่างกันของจังหวัด ในยุคปฏิรูปมณฑลเทศาภิบาล กับ ยุคหลัง 2475 ไม่ได้รับการพิจารณามากเท่าที่ควร จังหวัด เป็นรูปแบบการจัดการปกครองแบบใหม่ คนละอย่างกับเมืองในอดีต
ถ้าพูดให้อินเทรนด์เข้ากับกระแสปัจจุบัน ก็คงต้องบอกว่า เมืองเก่าถูกทำให้เป็น ‘พรีเซนเตอร์’ ของจังหวัด ไม่ใช่ ‘บอส’ ทั้งที่ในอดีตจริง ๆ แล้ว เมืองเก่าทั้งหลายนั้นล้วนแต่เป็นระดับ ‘บอส’ ในตัวเอง ยังไม่มี ‘จังหวัด’ มาจับเอาไปเป็น ‘พรีเซนเตอร์’ อีกต่อหนึ่ง วิธีที่จะฟื้นประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจริงจึงเป็นการที่ต้องทำให้เมืองเก่ากลับเป็น ‘บอส’ ในตัวเองอีกครั้ง และต้องรู้จักใช้งานนักประวัติศาสตร์ตัวจริงเป็น ๆ ไม่ใช่นักปกครองหรือผู้มีอำนาจที่รู้ทุกเรื่อง ประมาณนั้น นั่นแหล่ะครับ!!!
เรื่อง: กำพล จำปาพันธ์
อ้างอิง
“ถ้าจังหวัดในประเทศไทยไม่เคยถูกเปลี่ยนชื่อ เราจะเห็นแผนที่เป็นแบบนี้” https://www.facebook.com/photo/?fbid=4780912325276047&set=gm.2683295018483599 (เผยแพร่เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2021).
ก.ศ.ร. กุหลาบ. อายะติวัฒน์: หนังสือบำรุงปัญญาประชาชน. กรุงเทพฯ: สมาคมมิตรภาพไทย-ญี่ปุ่น, 2538.
กำพล จำปาพันธ์. “วินิจฉัยนาม “พระนครศรีอยุธยา” มาจากไหน อย่างไร และทำไม?” วารสารวิชาการอยุธยาศึกษา. ปีที่ 4 ฉบับที่ 4 (2555), หน้า 48-55.
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. นิทานโบราณคดี. กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการเอกลักษณ์วัฒนธรรมแห่งชาติ, 2534.
ตรี อมาตยกุล. ประวัติเมืองสำคัญ. กรุงเทพฯ: แพร่พิทยา, 2513.
ปาฐกถาของผู้แทนราษฎร เรื่องสภาพของจังหวัดต่างๆ. กรุงเทพฯ: สมาคมมิตรภาพไทย-ญี่ปุ่น, 2539.
รวมประวัติและสัญลักษณ์ต่างๆ ของจังหวัดในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: เจริญรัตน์การพิมพ์, 2519.
รวมเรื่องเมืองนครศรีธรรมราช. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2505.
เรื่องจังหวัดต่างๆ ของประเทศไทย. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์โสภณ, 2491.
ศรีศักร วัลลิโภดม. สร้างบ้านแปงเมือง. กรุงเทพฯ: มติชน, 2560.
ส. พลายน้อย. 108 ที่กรุงเทพฯ. กรุงเทพฯ: สถาพรบุ๊ค, 2562.
อุรังคนิทาน (ตำนานพระธาตุพนม). กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2537.