เมื่อ ‘การนอน’ กลายเป็นกลยุทธ์องค์กร ความลับของ Productivity ที่ยั่งยืน

เมื่อ ‘การนอน’ กลายเป็นกลยุทธ์องค์กร ความลับของ Productivity ที่ยั่งยืน

ท่ามกลางวัฒนธรรมการทำงานที่เชิดชูการ “อดนอนเพื่อทำงานหนัก” มีบางองค์กรที่เลือกเดินสวนทาง ด้วยการสนับสนุนให้พนักงาน “พักผ่อนให้พอ” เพื่อเพิ่ม productivity และความคิดสร้างสรรค์แบบไร้ขีดจำกัด เพราะเล็งเห็นว่า ‘การนอน’ นำไปสู่ Productivity ที่ยั่งยืน

ในโลกของการทำงานที่หมุนเร็วไม่มีหยุด หลายคนยังคงยึดติดกับความคิดที่ว่า “ยิ่งทำงานดึกดื่น ยิ่งแสดงถึงความขยัน” แต่ข้อเท็จจริงที่งานวิจัยสมัยใหม่ยืนยันก็คือ การอดหลับอดนอนอาจทำให้ productivity (ผลิตภาพ) ดิ่งลงอย่างน่าใจหาย และในระยะยาวยังส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจอีกด้วย

‘แมทธิว วอล์คเกอร์’ (Matthew Walker) นักวิทยาศาสตร์การนอนหลับชื่อดัง ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการนอนที่มีคุณภาพว่า ไม่ใช่แค่สิ่งที่เราต้องการเพื่อ “เอาชีวิตรอด” แต่คือหัวใจสำคัญที่ขับเคลื่อนความคิดสร้างสรรค์ การตัดสินใจที่เฉียบคม และการทำงานร่วมกันในทีมได้อย่างไร้รอยต่อ 

การนอนจึงไม่ใช่เพียงเรื่องส่วนตัว แต่เป็น ‘กลยุทธ์องค์กร’ ที่หลายบริษัทระดับโลกเริ่มให้ความสำคัญ เพราะพลังแห่งการพักผ่อนที่เพียงพอ สามารถเพิ่ม productivity ได้แบบก้าวกระโดด และยังช่วยสร้างบรรยากาศการทำงานที่เอื้อต่อความสำเร็จในระยะยาว

การนอน-รากฐานของประสิทธิภาพ 

เคยสังเกตไหมว่า บางวันคุณสามารถคิดงานได้อย่างลื่นไหล สร้างสรรค์ไอเดียใหม่ ๆ ได้ไม่หยุดหย่อน ในขณะที่บางวันดูเหมือนสมองจะไม่พร้อมทำงาน แม้แต่เรื่องง่าย ๆ? 

คำตอบไม่ได้อยู่ที่ชั่วโมงการทำงาน หรือจำนวนกาแฟที่ดื่ม แต่ซ่อนอยู่ใน ‘ชั่วโมงการนอน’ ของคืนก่อนหน้า 

ในหนังสือ ‘Why We Sleep’ วอล์คเกอร์ อธิบายว่า การนอนหลับคือ ‘ระบบฟื้นฟูอัจฉริยะ’ ของร่างกายและสมองที่ช่วยเสริมสร้างกระบวนการคิด ความจำ และการตัดสินใจที่เฉียบคม 

ผลวิจัยพบว่าเพียงคืนเดียวที่นอนหลับไม่เพียงพอ กลีบสมองส่วนหน้า (prefrontal cortex) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญต่อการวางแผนและการแก้ปัญหาจะทำงานลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ระบบลิมบิก (Limbic System) ซึ่งควบคุมอารมณ์กลับทำงานเกินขีด ทำให้เกิดภาวะ “ตื่นแต่ไร้ประสิทธิภาพ” ซึ่งอาจนำไปสู่ข้อผิดพลาดในการทำงาน หรือแม้แต่การตัดสินใจที่ผิดพลาดในระดับผู้นำองค์กร

ไม่เพียงแต่สมองเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ การนอนยังส่งผลต่อพลังงานร่างกายและระบบภูมิคุ้มกันอีกด้วย งานวิจัยพบว่าผู้ที่นอนหลับน้อยกว่า 6 ชั่วโมงต่อคืน มีโอกาสป่วยเป็นไข้หวัดเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่าเมื่อเทียบกับผู้ที่นอนหลับ 7 - 8 ชั่วโมง 

กรณีศึกษา - บริษัทที่เปลี่ยนวิธีคิดเรื่องการนอน 

ท่ามกลางวัฒนธรรมการทำงานที่เชิดชูการ “อดนอนเพื่อทำงานหนัก” มีบางองค์กรที่เลือกเดินสวนทาง ด้วยการสนับสนุนให้พนักงาน “พักผ่อนให้พอ” เพื่อเพิ่ม productivity และความคิดสร้างสรรค์แบบไร้ขีดจำกัด 

Google เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่โดดเด่น พวกเขาเข้าใจว่าความเหนื่อยล้าไม่ได้มีคุณค่าเท่ากับประสิทธิภาพการทำงาน Google ลงทุนสร้าง ‘nap pods’ หรือห้องงีบที่พนักงานสามารถหลบไปพักผ่อนสั้น ๆ ระหว่างวันได้ ผลปรากฏว่าพนักงานกลับมาทำงานด้วยความสดชื่น พร้อมไอเดียใหม่ ๆ ที่ช่วยแก้ปัญหาที่ค้างคาได้อย่างรวดเร็ว 

เช่นเดียวกับ Nike ที่ให้พนักงานเลือกเวลาการทำงานที่สอดคล้องกับจังหวะชีวภาพ (circadian rhythm) ของแต่ละคน บางคนที่ทำงานได้ดีที่สุดในช่วงเช้าก็สามารถเริ่มงานเร็ว ในขณะที่พนักงานสาย ‘นกฮูกกลางคืน’ สามารถเข้าทำงานช่วงสายได้ โดยผลลัพธ์ที่ได้คือ productivity รวมขององค์กรที่เพิ่มขึ้น พร้อมกับความพึงพอใจในการทำงานที่สูงขึ้นอย่างชัดเจน 

การปรับตัวของบริษัทเหล่านี้ ไม่ได้เป็นเพียง ‘เทรนด์’ แต่เป็นการลงทุนที่วัดผลได้จริง โดยงานวิจัยชี้ว่าองค์กรที่ส่งเสริมสุขภาพการนอนสามารถลดต้นทุนที่เกี่ยวกับความเหนื่อยล้าของพนักงานได้มหาศาล นอกจากนี้ ตัวเลขจากสหรัฐฯ ชี้ว่า องค์กรสูญเสียมากถึง 411,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี เพราะ productivity ที่ลดลงจากการนอนหลับไม่พอ 

ในยุคที่องค์กรต่างแข่งขันกันสร้างวัฒนธรรมการทำงานที่ดึงดูดและรักษาคนเก่ง การใส่ใจใน ‘คุณภาพการนอน’ กำลังกลายเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่ล้ำหน้า จากประเด็นสุขภาพส่วนบุคคล สู่การเป็น ‘หัวใจสำคัญ’ ของการบริหารทรัพยากรมนุษย์

คุณภาพการนอนส่งผลต่อหัวใจขององค์กร

เรื่องการนอนหลับไม่ได้ส่งผลแค่พนักงาน แต่ยังส่งผลถึงผู้นำองค์กรที่ต้องตัดสินใจในเรื่องสำคัญ ๆ แมทธิว วอล์คเกอร์ อธิบายว่า การอดนอนทำให้ผู้นำขาดความสามารถในการคิดเชิงกลยุทธ์และการสร้างแรงบันดาลใจ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่สำคัญในการนำพาทีมงานให้เดินหน้าต่อไปได้ 

ยิ่งไปกว่านั้น ผู้นำที่นอนน้อยยังส่งผลกระทบเชิงลบต่อพนักงานในทีมโดยตรง งานวิจัยพบว่าพนักงานที่ทำงานกับหัวหน้าที่พักผ่อนเพียงพอ จะรู้สึกได้รับแรงกระตุ้นมากขึ้น พร้อมทุ่มเทกับงานได้มากขึ้น ในทางกลับกัน หัวหน้าที่เหนื่อยล้าจะส่งต่อความเหนื่อยล้าให้กับทีม ทำให้ productivity ลดลงอย่างเห็นได้ชัด  

‘เอริค แพรทเธอร์’ (Aric Prather) ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับ และผู้เขียนหนังสือ ‘The Sleep Prescription’ เสนอแนวทางที่องค์กรสามารถช่วยพนักงานนอนหลับดีขึ้นอย่างได้ผล หนึ่งในนั้นคือการแนะนำ ‘Cognitive Behavioral Therapy for Insomnia’ (CBT-I) ซึ่งเป็นกระบวนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและความคิดที่รบกวนการนอนผ่านการให้คำปรึกษา นอกจากช่วยพนักงานแก้ไขปัญหาเรื่องการนอนแล้ว ยังลดความเครียดสะสมที่อาจกระทบต่อการทำงานในระยะยาวอีกด้วย 

บางองค์กรยังเพิ่มโปรแกรมเสริมที่น่าสนใจ เช่น Sleep Tracking Programs— มอบอุปกรณ์ติดตามการนอนให้พนักงานเพื่อวิเคราะห์และปรับปรุงรูปแบบการนอน, Flex-Time Policies— ให้พนักงานมีอิสระในการกำหนดชั่วโมงการทำงานที่เหมาะกับจังหวะชีวิตตัวเอง หรือ พื้นที่พักผ่อนในออฟฟิศ— เช่น ‘ห้องเงียบ’ หรือ ‘ห้องงีบ’ ที่ออกแบบมาเพื่อลดความตึงเครียดระหว่างวัน

การลงทุนในคุณภาพการนอนของพนักงาน ไม่ได้เป็นเพียงการดูแลสุขภาพ แต่เป็นกลยุทธ์ที่สร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน การสนับสนุนให้พนักงานนอนหลับดี คือการช่วยให้พวกเขาทำงานอย่างเต็มศักยภาพ และพร้อมทุ่มเทความคิดสร้างสรรค์ให้กับองค์กร

การอดนอน - ความเสี่ยงที่มองไม่เห็น

การอดนอนอาจดูเหมือนไม่ใช่ปัญหาใหญ่ในชีวิตประจำวันของหลายคน แต่ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย เช่น การบิน การแพทย์ หรืออุตสาหกรรมพลังงาน ความเหนื่อยล้าจากการอดนอนสามารถเปลี่ยนเป็นภัยคุกคามร้ายแรงได้ในพริบตา 

วอล์คเกอร์ ชี้ให้เห็นว่า การอดนอนส่งผลในเรื่องการตัดสินใจและการตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉิน ความสามารถในการตัดสินใจอย่างมีเหตุผลจะลดลงเมื่อคนเหนื่อยล้า ในขณะเดียวกัน ยังลดความสามารถในการควบคุมอารมณ์ เกิดความหุนหันพลันแล่น สิ่งนี้ทำให้เกิดความผิดพลาดที่ไม่ควรเกิดขึ้น โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ต้องการความแม่นยำและความรวดเร็ว

ในอุตสาหกรรมการบิน การศึกษาพบว่า การอดนอนของนักบินส่งผลโดยตรงต่อความปลอดภัยในการบิน นักบินที่อดนอน มีแนวโน้มทำผิดพลาดสูงขึ้นถึง 50% และมีโอกาสเกิด ‘microsleep’ หรือภาวะหลับในชั่วครู่ ซึ่งอาจนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาดระหว่างการบิน

การวิเคราะห์อุบัติเหตุครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ เช่น เหตุการณ์ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล และภัยพิบัติน้ำมันที่ Exxon Valdez เผยให้เห็นว่า ความเหนื่อยล้าของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ในช่วงเวลากะดึก เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่นำไปสู่โศกนาฏกรรม

ในอุตสาหกรรมการแพทย์ แพทย์และพยาบาลที่ทำงานในกะดึกหรือต้องทำงานต่อเนื่องมากกว่า 16 ชั่วโมง มีโอกาสทำผิดพลาดในการรักษาผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่า ความผิดพลาดเล็ก ๆ เหล่านี้ อาจกลายเป็นความสูญเสียที่ใหญ่หลวงได้ทั้งต่อธุรกิจและชีวิตมนุษย์ 

บทสรุป

ในโลกธุรกิจที่แข่งขันกันอย่างเข้มข้น องค์กรต่างมองหากลยุทธ์ใหม่ ๆ เพื่อเพิ่ม productivity และสร้างความแตกต่าง แต่สิ่งที่พวกเขามองข้าม คือพลังที่ซ่อนอยู่ใน ‘การนอนหลับที่มีคุณภาพ’

จากงานวิจัยของ แมทธิว วอล์คเกอร์ และ เอริค แพรทเธอร์ ทำให้เราได้เรียนรู้ว่า การนอนหลับไม่ใช่เพียงกิจวัตรประจำวันที่ช่วยฟื้นฟูร่างกาย แต่ยังเป็น ‘เครื่องมือสำคัญ’ ที่ช่วยขับเคลื่อนความคิดสร้างสรรค์ ความสามารถในการตัดสินใจ และความร่วมมือในทีม 

การสนับสนุนให้พนักงานนอนหลับดีขึ้นไม่ใช่แค่การดูแลสุขภาพของบุคคล แต่ยังเป็นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับองค์กรโดยรวม เป็นการสร้างความตระหนักรู้เรื่องคุณภาพการนอนในที่ทำงาน, การปรับวัฒนธรรมองค์กรให้เอื้อต่อการพักผ่อน รวมถึงการลงทุนในโปรแกรมสุขภาพและนโยบายที่ส่งเสริมการนอนหลับอย่างยั่งยืน 

สุดท้ายแล้ว productivity ที่แท้จริง ไม่ได้มาจากการทำงานหนักเกินไป แต่เกิดจากสมดุลที่เหมาะสมระหว่างการทำงานและการพักผ่อน ลองคิดดูว่า องค์กรจะก้าวไปได้ไกลแค่ไหน หากทุกคนในทีมตื่นขึ้นมาในแต่ละวัน ด้วยความสดชื่น พร้อมเติมเต็มพลังและความคิดสร้างสรรค์ให้กับงาน 

การนอนหลับไม่ใช่แค่ ‘สิทธิพื้นฐาน’ ของพนักงาน แต่คือ ‘การลงทุน’ ที่จะผลิดอกออกผลในระยะยาว ถึงเวลาแล้วที่เราจะเปลี่ยนวิธีคิด และให้คุณภาพการนอนเป็นหัวใจสำคัญขององค์กรในศตวรรษที่ 21 

 

เรื่อง: อนันต์ ลือประดิษฐ์
ภาพ: Pexels 

ที่มา:
Prather, Aric. The Sleep Prescription. Penguin Books. 2022.
Walker, Matthew. Why We Sleep. Scribner. 2017.

 

[สำหรับผู้สนใจเรื่องการนอน โปรดติดตามกิจกรรม Shall We Sleep ที่จะจัดให้มีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบโจทย์ผู้ที่มีปัญหาด้านการนอน และเพื่อส่งเสริมการนอนหลับที่มีคุณภาพ ติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวได้ทุกช่องทางของ The People]