20 มี.ค. 2568 | 11:17 น.
KEY
POINTS
ขณะนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่ากระแสของซีรีส์ Girls' Love (GL) สื่อบันเทิงที่เน้นความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างตัวละครหญิงด้วยกันหรือที่เรียกว่า ‘ยูริ’ (Yuri) โดยสื่อบันเทิงรูปแบบนี้กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ในประเทศไทย กลายเป็นภาพสะท้อนการเปิดรับเรื่องความหลากหลายทางเพศที่กว้างขึ้น
‘ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์’ ผู้กำกับซีรีส์และและอดีต ส.ส. พรรคก้าวไกล เริ่มต้นให้ความเห็นว่า แม้เรื่องราวของหญิงรักหญิงจะมีมานานแล้ว แต่เพิ่งได้รับความนิยมขึ้นมาจริง ๆ เพราะกระแสโลกที่เปลี่ยนไปและสังคมที่เริ่มตระหนักถึงความหลากหลายทางเพศมากขึ้น
“คนที่มีความหลากหลายทางเพศก็เป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันไม่แตกต่างกับทุกคนในสังคม เพียงแต่ถูกกดทับไว้มาอย่างยาวนาน พอเริ่มมีกระแสของบอยเลิฟ (Boys’ Love: BL หรือชาย-ชาย) ทำให้สังคมเริ่มตื่นตัวเรื่องสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศเยอะขึ้น และมองทุกคนเป็นมนุษย์”
ขณะเดียวกัน การจะผลักดันซีรีส์ GL ให้เติบโตได้ต้องอาศัยความเข้าใจในเรื่องความหลากหลายทางเพศอย่างลึกซึ้ง ตั้งแต่กระบวนการคิด การเขียนบท ไปจนถึงการผลิต
ผู้สร้างต้องเข้าใจบริบททางสังคม เมื่อเป็นเช่นนั้น ผู้ชมจะค่อย ๆ ซึมซับและรับรู้ได้เองว่าซีรีส์เหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความเป็นปกติในสังคม โดยไม่จำเป็นต้องมีคำนิยามพิเศษใด ๆ อีกต่อไป เพราะสุดท้ายแล้ว ทุกคนล้วนเป็นเพียงคน ‘ปกติ’ คนหนึ่งเท่านั้น
“เราอยากเห็นการนำเสนอความหลากหลายของมนุษย์มากกว่าที่เป็นอยู่ แต่ก่อนทำเนื้อหาที่มุ่งประเด็นการเปิดเผยตัวตน แต่ปัจจุบันมีเนื้อหาเรื่องการใช้ชีวิตในสังคม การเคารพตนเองเพิ่มขึ้น แต่คำว่า LGBTQ+ ยังคงถูกจัดอยู่ในกรอบที่แยกออกเป็นประเภทต่าง ๆ จึงอยากเห็นพื้นที่ที่หลากหลายมากขึ้น และสื่อสารด้วยความเข้าใจอย่างแท้จริง เพื่อนำไปสู่สังคมที่ไม่แบ่งแยกเพศ (Genderless) ที่เคารพสิทธิซึ่งกันและกัน และไม่นำเพศมาใช้ตัดสินผู้อื่น” ธัญญ์วารินกล่าว
ด้าน ‘เกียรติญา สายสนั่น’ อาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายว่าการผลิตซีรีส์ ภาพยนตร์ หรือละครเป็นการดำเนินธุรกิจรูปแบบหนึ่ง ซึ่งหากการลงทุนไม่ประสบความสำเร็จ ผู้ผลิตมักไม่กล้าเสี่ยงลงทุนอีกเพราะกลัวความล้มเหลว
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ปัจจุบันได้แสดงให้เห็นว่าตลาดซีรีส์ GL มีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูงและมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยติดอันดับ Top 10 ประเด็นออนไลน์ที่ได้รับความสนใจมากที่สุดในช่วงกลางปี 2567 ทำให้ผู้ผลิตต่างหันมาจับตลาดนี้
“เรามีต้นทุนที่ไม่เท่ากัน เกาหลีเริ่มต้นซีรีส์ที่ 60 ล้านบาท ขณะที่ไทยอาจเริ่มต้นที่ 1 ล้านบาท แต่เราถูกคาดหวังและเกิดการเปรียบเทียบกัน มันเหมือนการชกมวยคนละรุ่น แต่ด้วยความคิดสร้างสรรค์ ผู้ผลิตไทยก็สามารถผลิตผลงานที่น่าชื่นชมออกมาได้” เกียรติญากล่าว
เกียรติญายังย้ำว่า แม้บทละครจะเป็นหัวใจสำคัญของการผลิตซีรีส์และละคร แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเงินทุนก็เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจนี้เติบโตได้อย่างยั่งยืน ปัจจุบันค่าลิขสิทธิ์สำหรับนักเขียนบทยังอยู่ในระดับต่ำ เพียงหลักหมื่นบาท แสดงให้เห็นว่าต้นทุนด้านความคิดสร้างสรรค์ยังไม่ได้รับการประเมินคุณค่าอย่างเหมาะสม
“หากการผลิตมุ่งเน้นที่ผลกำไรเป็นหลักโดยไม่คำนึงถึงคุณภาพ ผลงานที่ออกมาก็จะไม่มีคุณค่า ทั้งที่ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมละครและซีรีส์ได้”
ด้าน ‘นรมน กัลยาณมิตร’ นักเขียนนวนิยาย GL/Yuri นามปากกา Ma-Bung มองว่า สื่อบันเทิงเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสร้างการยอมรับในสังคมไทย อย่างในละครเรื่อง ‘ใจซ่อนรัก’ ที่มีฉากจดทะเบียนสมรสของผู้หญิงกับผู้หญิง ซึ่งถือว่าเป็นข้อมูลหนึ่งในการสื่อสารที่จะทำให้บุคคลรับรู้ และช่วยย้ำว่าการแต่งงานเป็นเรื่องปกติเหมือนคนทั่วไป
นอกจากนี้เธอยกตัวอย่างภาพยนตร์ ‘Yes or No อยากรัก ก็รักเลย’ ที่เป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นของวงการ GL ไทยเมื่อ 15 ปีที่แล้ว และตอนนี้กระแสกำลังมาแรงขึ้นอีกครั้ง
“ในฐานะคนในคอมมู (Community) เราดีใจมากที่มันมาถึงจุดนี้ เพราะเรารอมานานมากเป็นสิบกว่าปี หลังจากที่ BL ครองตลาดมานาน ตอนนี้ถึงเวลาของ GL แล้ว”
ปัจจุบัน สังคมไทยมีการเปิดกว้างต่อ LGBTQ+ มากขึ้น การเห็นโฆษณาที่มีคู่รักเพศเดียวกัน หรือซีรีส์ที่มีตัวละครหญิงรักหญิง ไม่ได้เป็นเรื่องแปลกใหม่อีกต่อไป และนี่คือโอกาสที่ไทยสามารถใช้ Soft Power นี้เพื่อก้าวสู่ตลาดสากลได้
นรมนเชื่อว่า ประเทศไทยมีความพร้อมและสามารถผลิตผลงานที่มีคุณภาพได้แม้จะมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับทัศนคติของผู้ผลิต หากมุ่งเน้นการสร้างงานที่มีคุณภาพเพื่อส่งต่อให้ผู้บริโภค ผลกำไรจะตามมาเอง
“หนังเรื่อง ‘วิมานหนาม’ เป็นตัวอย่างที่ดีของงานที่สวยงามและน่าสนใจ ที่แม้แต่คนที่ไม่เคยดู GL หรือ BL มาก่อนก็ยังหันมาสนใจ เพราะคุณภาพของงานเป็นตัวเล่าเรื่อง ไม่ใช่แค่ความสัมพันธ์ของตัวละคร”
จากการเติบโตของซีรีส์ Girls’ Love สะท้อนให้เห็นว่าเมืองไทยก้าวหน้าในเรื่องของการยอมรับความหลากหลายทางเพศ และจะนำไปสู่การยอมรับว่าไม่ใช่แค่ 'คอนเทนต์' แต่คือส่วนหนึ่งของสังคมได้ หากมีเงินทุนพอที่จะผลิตผลงานที่มีคุณภาพ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับภาครัฐว่าจะสามารถมองเห็นความสำคัญและยื่นมือเข้ามาสนับสนุนได้หรือไม่
ภาพ : Netflix, ทฤษฎีสีชมพู, Yes or No อยากรักก็รักเลย