นิว ศิวัจน์ : ทำไมซีรีส์วายไทยเป็น Soft Power ได้? คุยเบื้องหลังสื่อบันเทิงที่ใครๆ ก็อยากทำ

นิว ศิวัจน์ : ทำไมซีรีส์วายไทยเป็น Soft Power ได้? คุยเบื้องหลังสื่อบันเทิงที่ใครๆ ก็อยากทำ

คุยกับ ‘นิว’ ศิวัจน์ สวัสดิ์มณีกุล เจ้าของสตูดิโอวาบิซาบิ ผู้อยู่ในวงการซีรีส์วายไทยยุคแรกจนถึงวันที่ซีรีส์วายกำลังจะกลายเป็น Soft Power ของไทย

KEY

POINTS

  • ‘นิว’ ศิวัจน์ สวัสดิ์มณีกุล เป็นเจ้าของสตูดิโอวาบิซาบิ หนึ่งในทีมงานเบื้องหลังซีรีส์วายเรื่องแรก ๆ ของไทยอย่าง ‘Love Sick The Series’
  • ช่วงแรกของการทำงาน ซีรีส์วายถูกมองเป็นเรื่องใหม่ของสังคม ผู้ผลิตทำกันต่อเนื่องไปพร้อมกับสังคมที่เปิดรับความหลากหลายมากขึ้น มาถึงวันที่ซีรีส์วายส่งออกต่างประเทศ มีผู้ผลิตหลายคนกระโดดลงมาในอุตสาหกรรมนี้ 
  • แต่เบื้องหลังของอุตสาหกรรมซีรีส์วายยังต้องการแรงสนับสนุนจากทีมงาน รวมถึงหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้กลายเป็น Soft Power ไทยได้จริง 

ซีรีส์วาย คำว่า ‘วาย’ มาจาก ‘ยาโอย’ (Yaoi) หมายถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้ชายและผู้ชายที่ปรากฏในวัฒนธรรมนวนิยาย และการ์ตูนของประเทศญี่ปุ่น หรือที่หลายคนรู้จักกันในแนว Boys’ love มีเนื้อเรื่องจากจุดเริ่มต้น ปมปัญหา พัฒนาความสัมพันธ์ ดำเนินไปจนจบเหมือนกับซีรีส์ทั่วไป

เมื่อ 10 ปีก่อน ซีรีส์วายถือเป็นเรื่องใหม่ของสังคม ผู้ชมตั้งคำถาม แต่ปัจจุบันสังคมที่ดูเหมือนเปิดกว้าง ทำให้ซีรีส์วายไทยกลายเป็นสื่อบันเทิงยอดนิยมที่ส่งออกไปต่างประเทศ มีฐานแฟนคลับมากมาย โดยเฉพาะประเทศแถบเอเชีย ความนิยมที่มากขึ้นเห็นได้จากการติดแฮชแท็กในแพลตฟอร์มต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนนักแสดงที่พวกเขาชื่นชอบ จนนำไปสู่การจัดแฟนมีตติ้งในต่างประเทศ อย่างที่ ‘นิว’ ศิวัจน์ สวัสดิ์มณีกุล บอกว่า

“ซีรีส์วายดูเป็นเรื่องปกติมากขึ้น รวมถึงเป็นอุตสาหกรรมที่หลาย ๆ ภาคส่วนเริ่มให้ความสำคัญ และเริ่มจับตามอง เหมือนมีสปอตไลต์มาที่ซีรีส์วาย ยิ่งในปัจจุบันที่นิยมกับคำว่า ซอฟต์พาวเวอร์ ก็กลายเป็นว่า ทุกคนก็ชูว่า นี่ไง ซอฟต์พาวเวอร์ของไทยคือ ซีรีส์วาย” 

ครั้งนี้ The People ชวน ‘นิว’ ศิวัจน์ สวัสดิ์มณีกุล เจ้าของสตูดิโอวาบิซาบิ หนึ่งในคนที่ทำงานอยู่ในวงการซีรีส์วายช่วงแรก ๆ ที่คนไทยยังไม่รู้จัก และหลาย ๆ คนอาจไม่เข้าใจ จนมาถึงวันที่ซีรีส์วายกำลังจะกลายเป็น Soft Power ของไทย

นิว ศิวัจน์ : ทำไมซีรีส์วายไทยเป็น Soft Power ได้? คุยเบื้องหลังสื่อบันเทิงที่ใครๆ ก็อยากทำ

จุดเริ่มต้น และเบื้องหลังที่ไม่ได้งดงาม

นิวก้าวเข้าวงการซีรีส์วายครั้งแรก ในฐานะทีมงานเรื่อง ‘Love Sick The Series’ ซีรีส์วายที่ออกอากาศผ่านฟรีทีวี และได้รับความนิยมมากเรื่องหนึ่งในปี 2557 

“สมัยนั้น จริง ๆ มันถูกจับตามอง หนึ่ง, เป็นซีรีส์วัยรุ่น สอง, คือเป็นซีรีส์ชาย-ชาย สมัยนั้นยังไม่เรียกว่าซีรีส์วายด้วยมั้ง แค่เป็นพระเอกกับนายเอก ครั้งแรกที่ได้ยินประโยคนี้ ตัวเองก็ว้าว 

“ตอนออนแอร์ไปแล้วก็ว้าวกว่า ตรงที่แฟนคลับเยอะขนาดนี้เลยเหรอ คือยุคนั้น ถ้าเทียบมันเหมือน 4 หัวใจแห่งขุนเขาที่เวลาไปอีเวนต์แล้วคนแน่น หรือเดอะสตาร์ 6 เลย รู้สึกว่ามันใหม่สำหรับเรา ณ ตอนนั้น”

นิว ศิวัจน์ : ทำไมซีรีส์วายไทยเป็น Soft Power ได้? คุยเบื้องหลังสื่อบันเทิงที่ใครๆ ก็อยากทำ

แม้ผู้ชมจะชอบจนห้างแตก แต่ในมุมมองของเงินทุนและสปอนเซอร์กลับมีมุมมองที่สวนทางกัน คนทำซีรีส์วายถูกมองเป็นชาวสีม่วงหรือ ‘LGBTQ’  และไม่อยากให้แบรนด์ของตัวเองติดภาพแบบนั้น 

“เหมือนภาพสวย แต่ว่าพอมองไปลึก ๆ ผู้ใหญ่ ฝั่งสปอนเซอร์เอง หรือช่องที่เขาแบบบิ๊ก ๆ แล้ว เขาจะมองว่านี่คือซีรีส์เกย์ มันคือชาวสีม่วง ฉันไม่อยากให้แบรนด์ฉันติดภาพชาวสีม่วง”

ดังนั้น วิธีแก้เกมของนิวคือการพาซีรีส์วายเรื่องต่อไปของเขาอย่าง ‘Make It Right’  เข้าแพลตฟอร์มออนไลน์ และเดินหน้าทำซีรีส์ ‘ด้ายแดง’ ต่อ โดยตั้งต้นจากหาเงินทุน และสปอนเซอร์ด้วยตัวเอง ก่อนจะมาเปิดบริษัทวาบิซาบิ สตูดิโอที่ผลิตซีรีส์แนวใหม่ให้กับวงการ

แรงกดดันของนักแสดงซีรีส์วาย

นอกจากเนื้อเรื่องที่น่าติดตาม บุคคลที่สำคัญไม่แพ้กับผู้กำกับ คือ ‘นักแสดง’ ที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึก และความตั้งใจของคนเบื้องหลังสู่ใจคนดู

บนเวที iCreator 2023 ‘เอิร์ธ’ กัษมนณัฏฐ์ นามวิโรจน์ หนึ่งในนักแสดงของค่ายสตูดิโอวาบิซาบิเล่าประสบการณ์ของตัวเองในบทบาทนักแสดงไว้ว่า เขาเป็นนักแสดงที่เป็น LGBTQ แต่เคยถูกสั่งห้ามให้เป็นตัวเอง

“ยุคแรก ๆ สังคมอาจจะ open แต่ว่าในมุมการทำงาน หรือหลายอย่างที่จะมีผลกระทบกับงาน เขาจะค่อนข้าง strict เขาจะพูดเลยว่า มีแฟนห้ามเปิดตัว เราเข้าใจได้ว่ามันจะกระทบกับงาน แต่ว่าเรื่องห้ามออกสาว ซึ่งมันเป็นอัตลักษณ์ตัวตนของเรา มันค่อนข้างโหดร้าย

“แต่พอหลัง ๆ โลกมัน open ขึ้นมันก็ดี แต่เราก็รู้สึกว่า ถ้าหลายคนพูดถึง ผลักดันสมรสเท่าเทียม อะไรที่เป็นรูปธรรม เป็นกฎหมาย การยอมรับมันจะชัดเจน ทุกคนจะเข้าใจในมาตรฐานเดียวกัน เพราะมันมีกฎหมายมารองรับ”

นอกจากนี้กลุ่มแฟนคลับ หรือกลุ่มคนดูอื่นที่มองเข้ามาในซีรีส์วายมองว่า ข้อห้ามเรื่องการเปิดตัวแฟน ไม่ได้ห้ามเพียงแค่นักแสดง LGBTQ เท่านั้น แต่ยังรวมถึงนักแสดงสเตรท (คำเรียกกลุ่มคนที่มีเพศตรง ชายคือชาย หญิงคือหญิง) เช่นกัน เพราะในมุมการตลาด ผู้ผลิตหลายคน ต้องการให้คนดูและแฟนคลับเชื่อว่านักแสดงทั้งสองคนเป็นแฟนกันจริง รักกันจริง เพื่อใช้ความอินนั้นสร้างรายได้และกระแส

จากนักแสดงนำกลายเป็น ‘คู่จิ้น’ มีการวางบทบาทให้ก่อนจะเห็นคาแรกเตอร์เสียอีก หน้าที่ของคู่จิ้นคือการสร้าง ‘แฟนเซอร์วิส’ อาจจะทำเหมือนรักกันนอกจอ เพื่อทำให้แฟนคลับรู้สึกดี สบายใจ ชื่นชอบ และอยากติดตามผลงานของทั้งสองคนต่อไปเรื่อย ๆ จนบางครั้งก็นำมาซึ่งคำถามเมื่อนักแสดงนำทั้งสองคนเปลี่ยนไปเล่นคู่กับนักแสดงคนอื่น ในเรื่องถัดไป 

เรื่องนี้เอิร์ธบอกบนเวที iCreator ว่า อยากให้วงการนักแสดงซีรีส์วายพัฒนาไปถึงจุดที่เราแสดงกับใครก็ได้ โดยไม่ติดภาพคู่ ขณะเดียวกันก็ผลิตผลงานดี ๆ ออกมาให้สังคม และคนดูมีความสุข

แต่อีกมุมหนึ่ง นักแสดงซีรีส์วายก็ติดกับดัก คู่จิ้น การเล่นคู่กับนักแสดงคนอื่นแล้วไม่รุ่ง รวมถึงถูกแบ่งแยกออกจากนักแสดงปกติ นักแสดงซีรีส์วายบางคนถูกด้อยค่าว่าเล่นซีรีส์วายเพราะดังง่าย ไม่ต้องใช้ฝีมือมากนัก

เอิร์ธเลยบอกว่า ปัจจุบันสังคมมักมีการแบ่งแยกกลุ่มนักแสดงซีรีส์วายออกจากนักแสดงซีรีส์ทั่วไป ซึ่งเอิร์ธไม่อยากให้จำกัดคำว่านักแสดงวายหรือไม่วาย เพราะสุดท้ายแล้วพวกเขาก็คือ ‘นักแสดง’ เหมือนกัน

นิว ศิวัจน์ : ทำไมซีรีส์วายไทยเป็น Soft Power ได้? คุยเบื้องหลังสื่อบันเทิงที่ใครๆ ก็อยากทำ ในฐานะผู้กำกับ นิวเลือกที่จะปล่อยให้นักแสดงที่ร่วมงานกับเขา ใช้อิสระของตัวเองให้เต็มที่ทั้งหน้ากล้องและหลังกล้อง 

“บางเรื่องถูกทรีตว่าต้องคบกันนะ ต้องดูให้เป็นแฟนกันนะ ต้องทำให้คนเชื่อนะว่ารักกัน ซึ่งพอวันหนึ่งที่น้องมันเหนื่อย มันทำต่อไม่ไหว ทั้งหมดที่ทำมาก็คือ อ้าวที่ผ่านมาโกหกนี่ ก็เลยเกิดเป็นดรามา” 

นอกจากดูแลงานแสดง งานยากของนิวคือการรักษาความหวัง ความฝัน และความรักในการแสดงของนักแสดงให้คงอยู่ตลอดไป  

“ความฝันของนักแสดงคือมันต้อง keep ให้ได้ ความฝันเป็นแรงทุกอย่างในการทำงาน ในการใช้ชีวิต มันยากตรงแบกรับความฝันของพวกเขา มากกว่าเรื่องปากท้องอีกนะ คือปากท้องบางคนยังหาลู่ทางหาเงินได้ แต่ความฝันคือถ้ามันพังชีวิตมันพัง”

 

ปัญหาที่ซุกอยู่ใต้พรม

แม้ซีรีส์วายจะประสบความสำเร็จจากวันแรกหลายเท่าตัว แต่ซีรีส์วายก็ยังถูกคนจดจำว่าต้องมีเลิฟซีนหนัก ๆ มีฉาก NC  

“สมมติว่าปีนี้มี 20 เรื่อง ผู้ผลิตหน้าใหม่สัก 10 เรื่อง 10 เรื่องนี้จะถูก NC หนักมาก ทำให้อีก 10 เรื่องของผู้จัดเก่ารู้สึกว่า บริบทมันเปลี่ยนแล้ว ในเมื่อเราอยู่ในแวดล้อม 10 เรื่องนี้ แล้วเรื่องเรามันไม่มีเลย จะขายได้ไหม

“ฉันต้องเพิ่มให้มันมีแล้ว แล้วพอมันถูกบอกว่าต้องเป็นแบบนี้ ย้อนกันไปย้อนกันมาเรื่อย ๆ กลายเป็นว่าซีรีส์วายจะถูกผูกติดกับ NC ไปเรื่อย ๆ”

แต่จริง ๆ แล้วซีรีส์วายก็เป็นแค่ซีรีส์เรื่องหนึ่งที่เล่าเรื่องความสัมพันธ์ และพาคนดูบางคนหลบหนีออกจากโลกความเป็นจริง และเมื่อถามนิวในฐานะคนทำซีรีส์วายว่า ความเป็น NC ในซีรีส์ทำงานกับคนดูอย่างไร นิวตอบว่า “นั่นสิ ถ้างานตัวเองหรือค่ายวาบิเอง จะไม่ได้เน้น NC แต่ว่าในส่วนของคนดูคงเร้าใจ กระชุ่มกระชวย ดูแล้วรู้สึกเขิน ฟิน อะไรแบบนี้

“เหมือนไปเติมเต็มจินตนาการมากกว่า เพราะว่าปัจจุบันมันเครียด คนก็อยากจะหาอะไรอีกโลกหนึ่งที่ดูแล้วรู้สึกเหมือนว่า ฉันลืมความเครียดในวันนั้น ๆ ได้”

นิว ศิวัจน์ : ทำไมซีรีส์วายไทยเป็น Soft Power ได้? คุยเบื้องหลังสื่อบันเทิงที่ใครๆ ก็อยากทำ

กระบอกเสียงเรื่องความหลากหลายทางเพศผ่านซีรีส์วาย

อย่างที่รู้ ซีรีส์วาย คือ ซีรีส์ที่มีนักแสดงนำเป็นผู้ชายสองคน ดังนั้นหลายคนจึงคาดหวังว่า เมื่อทำซีรีส์วายแล้ว จะต้องเป็นกระบอกเสียงให้กับกลุ่ม LGBTQ

ประเด็นนี้ นิวมองว่า ซีรีส์วายไม่จำเป็นต้องกระบอกเสียง แต่ต้องไม่เล่าเรื่องที่ไปลดทอนคุณค่าของกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ

“ ไม่จำเป็นต้องเป็นกระบอกเสียง แต่ไม่ไปทำลาย ไม่ลดทอนคุณค่า ไม่ผลิตคอนเทนต์ที่ลดทอนคุณค่า LGBTQ หรือเพศทางเลือก ถ้าไม่ซัพพอร์ตก็ต้องไม่ไปทำลาย นำเสนอในมุมมองที่ถูกต้อง ไม่บิดเบือน ไม่สร้างภาพจำแย่ ๆ ให้กับพวกเขาก็พอ”

 

ไม่ใช่แค่คนดูเยอะ แต่คนผลิตก็มากขึ้น

สังคมและยุคสมัยที่เปิดรับมากขึ้น ทำให้ตลาดซีรีส์วายเติบโตขึ้นจากวันแรก นิวบอกว่า “เรื่องแรกตลาดโต เรื่องที่สองสามารถไปได้ สามไปได้ ผู้ผลิตหลายคนจึงเห็นช่องทางแล้วว่าสามารถทำตรงนี้ได้

“คิดว่ามันจะเปิดรับมากขึ้นเรื่อย ๆ แบบนี้แหละ แต่ไม่คิดว่าผู้ผลิตจะเกิดขึ้นเยอะขนาดนี้มากกว่า เป็น niche market ที่ใหญ่มาก ๆ มันไม่ใช่ตลาดแมสแน่ ๆ อยู่แล้ว แต่ว่าสิ่งที่ไม่คิดคืออย่างที่บอกว่าจำนวนผู้ผลิตจะโตขึ้นเยอะขนาดแบบกี่สิบเท่าก็ไม่รู้จากในยุคก่อน”

นิวบอกว่า หนึ่งในเหตุผลที่ผู้ผลิตหลายคนหันมาทำซีรีส์วายกันเยอะ เพราะเขาเห็นว่ามันสามารถทำได้ง่าย แค่เซอร์วิสแฟนก็สามารถสร้างฐานแฟนคลับได้

จากวันที่ซีรีส์วายเจอปัญหาผู้ผลิตไม่กล้าลงทุนเพราะกลัวติดภาพจำชาวสีม่วง แต่ปัจจุบันซีรีส์วายเกิดขึ้นมากมายจนผู้ผลิตไม่รู้จะลงทุนกับใคร

“ถ้าเรื่องของความง่ายมันเปลี่ยนกันเลยมากกว่า ในสมัยนั้นมันยาก หาคนลงทุนยาก เดี๋ยวนี้ใคร ๆ ก็อยากทำซีรีส์วาย แต่อีกด้านหนึ่งคือ พอผู้ผลิตเยอะขึ้น ซีรีส์วายเยอะขึ้น แล้วฉันควรจะเอาเงินไปลงกับใครดี มันจะกลับกันแบบนี้มากกว่า”

นอกจากนี้ความสำเร็จของซีรีส์วายไม่ได้อยู่ที่หน้าจออย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังถูกต่อยอดไปให้ไกลกว่าเดิม เช่น แฟนมีตติ้ง คอนเสิร์ต ทั้งในไทยและต่างประเทศ ที่ประกาศขายบัตรครั้งใดก็หมดภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว

นิว ศิวัจน์ : ทำไมซีรีส์วายไทยเป็น Soft Power ได้? คุยเบื้องหลังสื่อบันเทิงที่ใครๆ ก็อยากทำ เมื่อถามว่าอะไรที่ทำให้ซีรีส์วายสามารถเรียกกระแสความนิยมได้ขนาดนี้ นิวบอกว่า 

“ ในยุคแรก ๆ คนอาจจะอยากดูอะไรที่มันเบา ๆ ง่าย ๆ สบาย ๆ แล้วเป็นวัยรุ่น เพราะว่าซีรีส์วัยรุ่นมันมีน้อย ถ้านับทั่วโลกเลย ยุคนั้นซีรีส์วัยรุ่นมันมีน้อยมาก แล้วซีรีส์วายไทย ณ ยุคนั้นมันเหมือนอยู่ในฝัน เหมือนอยู่ในอีกโลกหนึ่งที่ใหม่และแปลก”

 

ซีรีส์วายในวันที่กลายเป็น Soft Power

เราจะเห็นกระแสที่ว่า ซีรีส์วายกำลังไปตลาดโลก เพราะนอกจากกระแสความนิยมจากคนไทยแล้ว ยังได้รับความนิยมจากคนต่างชาติมากมาย หนึ่งในเหตุการณ์ยืนยันคือ แฟนคลับประเทศจีน ส่งดอกกุหลาบจำนวนกว่า 999 ดอก ให้กับนักแสดงหนุ่ม ‘วิน’ เมธวิน โอภาสเอี่ยมขจร แสดงให้เห็นถึงพลังความรักความนิยม ของนักแสดงซีรีส์วาย

นอกจากนี้ยังมีกระแส Soft Power ที่ถ้าหากทำได้จริง จะสร้างเม็ดเงินให้กับผู้ผลิตซีรีส์วาย และเกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ทั้งการท่องเที่ยว อาหาร วัฒนธรรม และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กระแสตามรอยซีรีส์ ‘แปลรักฉันด้วยใจเธอ’ ที่จังหวัดภูเก็ต หรือภาพยนตร์ ‘แมนสรวง’ ที่ปลุกกระแสย่านทรงวาดให้ครึกครื้น และซีรีส์ ‘ด้ายแดง’ ที่ทำให้ผู้ชมหลายคนรู้จักขนมไทยมากขึ้น และเกิดกระแสตามรอยชิมขนมไทย

สำหรับนิวเขามองว่า ซีรีส์วายไทยสามารถเป็นไปได้สูงที่จะเป็น Soft Power

“จริง ๆ Soft Power ไปได้หลายทางมาก มันไม่ใช่แค่สื่ออย่างเดียว มันคือการแค่สอดแทรกให้ต่างชาติเขาซึมซับความเป็นไทย ไม่ว่าจะเป็นด้านไหนก็ได้ จะเป็นบริบท ไลฟ์สไตล์ การใช้ชีวิต อาหาร สถานที่ท่องเที่ยว หรืออะไรก็แล้วแต่ที่คนไทยเป็น คือค่อย ๆ สอดแทรกไปต่างประเทศ” 

“หมายความว่า ทำไมคนถึงบอกว่าซีรีส์วายไทยเป็น Soft Power ได้ เพราะว่าคนต่างประเทศดูซีรีส์วายไทยเยอะ และก็จะมีแบบมาตามสถานที่ท่องเที่ยวบ้าง รู้จักอาหารบ้าง รู้จักคนไทยมากขึ้นบ้าง รู้จักประเทศไทยมากขึ้นบ้าง”

แต่กว่าจะเป็น Soft Power ที่มั่นคงได้ แน่นอนว่าต้องได้รับการช่วยเหลือและสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างจริงจัง นิวพูดถึงแนวทางการสนับสนุนว่า “จริง ๆ การสนับสนุนจากรัฐทำได้หลากหลายทางมาก เงินทุนก็สำคัญ เพราะการหาเงินทุนมันยาก แต่เราจะมาลงธุรกิจเพื่อหวังเงินจากรัฐมันก็ผิด รัฐสามารถสนับสนุนเรื่องของการโปรโมตเอง การจัดงานโรดโชว์ หรือการซัพพอร์ตไปต่างประเทศ หรือการจัดงานต่าง ๆ ที่มันทำให้ซีรีส์วายสามารถมีพื้นที่สื่อ หรือพื้นที่ให้คนรู้จักมากขึ้นได้

นิว ศิวัจน์ : ทำไมซีรีส์วายไทยเป็น Soft Power ได้? คุยเบื้องหลังสื่อบันเทิงที่ใครๆ ก็อยากทำ

“มีพื้นที่ให้คนไทยสามารถเข้าไปขายตรงนั้นได้ แค่นั้นก็พอ จริง ๆ อย่างที่บอกว่ามีหลากหลายทางมากที่รัฐช่วยซัพพอร์ต ตอนนี้ก็เห็นเขาพยายามอยู่นะ รัฐก็พยายามเข้ามาลงมือ มาช่วย ลงมาแชร์ ก็เห็นมากขึ้น”

และเมื่อถามถึงอนาคตของซีรีส์วายในวันข้างหน้า นิวเล่าว่า “อนาคตของซีรีส์วายจากนี้จะมีผู้ผลิตเกิดขึ้นใหม่แล้วก็หายไป หรือผู้ผลิตเก่าที่ยื้อไม่ไหวแล้วก็ล้มหายตายจาก แต่อย่างไรก็ตามตอนนี้แนวโน้มทิศทางการสนับสนุนจากรัฐบาลที่มากขึ้น อาจจะช่วยต่อลมหายใจให้กับผู้ผลิตทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ได้ดีมากขึ้น”

วันนี้ซีรีส์วายถูกจับตาว่าจะเป็น Soft Power ของไทย ส่งออกไปต่างประเทศได้ แต่ก่อนจะไปถึงขั้นนั้น ซีรีส์วายไทยจำเป็นต้องก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเองให้ได้ เพื่อให้สื่อบันเทิงไทยรูปแบบนี้เฉิดฉายและโลดแล่นในระดับสากลได้  

 

เรื่อง : นิภาภรณ์ แพงจำปา (The People Junior)

ภาพ : ดำรงฤทธิ์ สถิตดำรงธรรม