‘กชเบล’ มิสแกรนด์ไทยแลนด์ 2025 กับประเด็นร้อนว่าด้วย ‘ธุรกิจกับนางงามฯ’

‘กชเบล’ มิสแกรนด์ไทยแลนด์ 2025 กับประเด็นร้อนว่าด้วย ‘ธุรกิจกับนางงามฯ’

‘กชเบล’ หรือ ‘ศรัณย์รัชต์ เผือกพิพัฒน์’ มิสแกรนด์ไทยแลนด์ 2025 กับความขัดแย้งระหว่างธุรกิจและอุดมคติความงามในวงการประกวดนางงามยุคใหม่

KEY

POINTS

  • กชเบลชนะการประกวดด้วยความสามารถทางธุรกิจ โดยเฉพาะด้านยอดขายสินค้าให้กับองค์กร แม้อาจไม่โดดเด่นที่สุดในด้านอื่น
  • มิสแกรนด์ฯ เป็นเวทีที่เปิดเผยว่าให้ความสำคัญกับ 4B โดยเฉพาะ Business เป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสิน
  • การใช้ธุรกิจเป็นเกณฑ์ตัดสินสร้างคำถามว่าจะเป็นมาตรฐานใหม่ที่ช่วยให้วงการประกวดนางงามอยู่รอดหรือไม่

การประกวดมิสแกรนด์ไทยแลนด์ปี 2025 จบลงท่ามกลางข้อครหาและเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมายถึงความเหมาะสม สาวงามผู้คว้ามงกุฎไปครอบครองคือ ‘กชเบล’ หรือ ‘ศรัณย์รัชต์ เผือกพิพัฒน์’ ตัวแทนจากจังหวัดภูเก็ต หนึ่งในตัวเต็งของการประกวดผู้ได้รับความสนใจเสมอมา 

บทความนี้จะพาผู้อ่านไปรู้จักกับเธอ ชวนพูดคุยถึงความเป็นไปได้ของชัยชนะของกชเบลในครั้งนี้ รวมถึงประเด็นร้อนสุดคลาสสิคที่ว่า ‘ธุรกิจ’ กับ ‘ความยุติธรรม’ อะไรสำคัญกว่ากันในบริบทของ ‘การประกวดนางงาม’

จากนักแสดงละครคุณธรรมสู่มิสแกรนด์ไทยแลนด์ 2025

‘กชเบล’ หรือ ‘ศรัณย์รัชต์ เผือกพิพัฒน์’ สาวงามวัย 28 ปี จบการศึกษาจาก มหาวิทยาลัยศรีปทุม คณะนิเทศศาสตร์ เธอสานต่อจากความรู้ที่เธอร่ำเรียนมาด้วยการเป็นนักแสดงหลักของ ‘ละครคุณธรรม’ เผยแพร่ผ่านทางช่องทางออนไลน์ เธอได้รับความนิยมเป็นอย่างมากโดยมีผู้ติดตามมากมายทุกช่องทางสื่อโซเชียลฯ (ผู้ติดตาม Instagram 4 แสนกว่า ๆ และผู้ติดตาม ใน Tiktok ประมาณ 1.6 ล้าน) 

กชเบลเริ่มเส้นทางนางงามของเธอด้วยการตัดสินใจเข้าร่วมประกวดมิสแกรนด์ภูเก็ต 2025 เธอทำผลงานได้อย่างน่าประทับใจจนได้รับรางวัลชนะเลิศไปได้ และมีสิทธิ์จะเข้าร่วมประกวดมิสแกรนด์ไทยแลนด์ 2025

กชเบลถูกจับตามองว่าเป็นตัวเต็งตั้งแต่ก่อนเริ่มประกวดอย่างเป็นทางการ จุดแข็งของกชเบลที่นอกจากความงามแล้ว คือฐานแฟนคลับที่ไม่เพียงแค่คอยติดตามชื่นชม แต่ยังสนับสนุนเธอ ซื้อสินค้าของมิสแกรนด์ฯ ที่เธอขายผ่านช่องทางออนไลน์ได้มหาศาล สร้างรายได้ให้แก่องค์กรมิสแกรนด์ฯ เป็นกอบเป็นกำ

 

ตลอดช่วงการเก็บตัว กชเบลรักษามาตรฐานและความนิยมได้อย่างค่อนข้างมั่นคง แต่ก็ยังไม่ได้ถือว่าจะชนะแบบขาดลอย เพราะในบางกิจกรรมการแข่งขัน สาวคนอื่นก็ดันตัวเองขึ้นมาเบียด ทั้งตัวเต็งคนอื่น ๆ และม้ามืด ทำให้เดาได้ค่อนข้างยากว่าใครกันแน่จะคว้ามงฯ จนโค้งสุดท้าย กชเบลเร่งทำคะแนนแซงด้วยคว้ารางวัล ‘Best Seller’ (นางงามยอดขายสูงสุด) ไปได้ ดึงกระแสความสนใจกลับมาที่เธอ

ในรอบพรีลิมฯ จนถึงคืนวันประกวดจริง กชเบลยังคงแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจจริงผ่านการปรากฏตัวบนเวที สายตา การเดินแบบ ทำให้เธอผ่านเข้ารอบต่าง ๆ ไปได้แบบฉลุย แต่เมื่อถึงรอบตอบคำถามแล้ว มีบางจังหวะที่กชเบลพูดติดขัด บวกกับเนื้อความของคำตอบไม่ตรงประเด็นของคำถาม ทำให้กชเบลไม่ใช่ผู้เข้าประกวดที่ทำผลงานได้ดีที่สุดในรอบนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับ ‘เฌอเอม’ ชญาธนุส ศรทัตต์ ตัวแทนจากขอนแก่น (รองชนะเลิศอันดับ 1) ที่ตอบคำถามได้ดีกว่า คมกว่า ตรงประเด็นกว่า แต่สุดท้ายพิธีกรก็ประกาศชื่อกชเบลในฐานะของมิสแกรนด์ไทยแลนด์ 2025

อย่างไรก็ตาม ผลการประกวดครั้งนี้อาจเป็นเรื่องที่เกินคิด แต่ไม่ใช่เรื่องเกินคาด เพราะหากเราติดตามการประกวดมิสแกรนด์ไทยแลนด์มาสักระยะ แฟน ๆ จะรู้ว่าเจ้าของเวทีเน้นย้ำเสมอว่ามิสแกรนด์ฯ ตามหาสาวงามที่มีคุณสมบัติ ‘4B’ คือ Body Beauty Brain Business (หุ่นสวย หน้าสวย สมองดี ขายของเก่ง) และเป็นที่รู้กันดีว่า B สุดท้ายคือ Business เป็นสิ่งที่ช่วงหลังมานี้เจ้าของเวทีดูเหมือนจะให้ความสำคัญมากที่สุด 

นี่จึงอาจเป็นเหตุให้กชเบลคือผู้ที่ถูกเลือกให้คว้ามงฯ ไป แต่มันจะเป็นเหตุผลหรือคำอธิบายที่ซื้อใจหรือเคลียร์จบข้อกังขาของแฟน ๆ นางงาม ได้จริงหรือ? 

ธุรกิจกับนางงาม 

การประกวดนางงามเผชิญกับสภาวะเสื่อมความนิยมในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศพัฒนา นางงามไม่ได้ทำหน้าที่เป็นหนึ่งในตัวช่วยสร้างสำนึกรู้แห่งรัฐชาติของพลเมืองและส่งเสริมคุณค่าแห่งชาตินิยมอีกต่อไปแล้ว มันจึงไม่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานหรือองค์กรที่ใหญ่ในระดับรัฐชาติหรือการเมือง ‘ธุรกิจ’ จึงเป็นกลไกเดียวที่ขับเคลื่อนวงการการประกวดนางงามให้เดินต่อไปได้

เมื่อก่อน การตัดสินการประกวดนางงามจะค่อนข้างมุ่งเน้นไปที่ความโปรงใส่และยุติธรรมอย่างชัดเจน โดยใช้ความงามทางกายภาพและสติปัญญาเป็นเกณฑ์หลัก ซึ่งหากการตัดสินการประกวดงามครั้งใดมีแนวโน้มมุ่งเน้นไปในเชิงธุรกิจหรือแสวงหาผลกำไรแบบชัดเจน เวทีนั้นก็จะต้องเผชิญกับแรงวิพากษ์วิจารณ์ ตามด้วยความเสื่อมศรัทธาของแฟนนางงาม ความน่าเชื่อ และหมดกระแสนิยมไปในที่สุด 

มิสแกรนด์ไทยแลนด์และมิสแกรนด์อินเตอร์เนชั่นแนลน่าจะเป็นเวทีแรก ๆ ที่กล้าออกมายอมรับตรง ๆ ว่า ‘ธุรกิจ’ เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทางเวทีจะใช้นำมาร่วมในการตัดสินผู้เข้าประกวด โดยอธิบายอย่างจริงใจ ตรงไปตรงมาว่าการประกวดนางงามด้วยตัวมันเองค่อนข้างไปต่อได้ยากในโลกสมัยใหม่ หากตัวนางงามที่เลือกมานั้นไม่สามารถสร้างรายได้ให้กับองค์กรได้ ก็จะทำให้เวทีการประกวดไปต่อได้ยาก 

นางงามในอุดมคติที่มิสแกรนด์ฯ มองหาจึงถูกกำกับด้วยคอนเซปท์ 4B ดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น ซึ่งถือว่าเป็นการขมวดเอาธุรกิจเข้ามาเป็นเกณฑ์การตัดสินร่วมกับความงาม รูปร่างและสติปัญญา

แต่สิ่งที่เป็นความท้าทาย หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นความหนักใจของเวทีการประกวดเองก็ตาม คือ ในการประกวดหลาย ๆ ครั้ง นางงามที่สมบูรณ์แบบตามขนบสมัยใหม่ของการเป็นนางงาม กลับไม่สามารถสร้างรายได้ให้กับองค์กรได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ หรือบางครั้ง นางงามที่มีแนวโน้มที่จะสร้างรายได้ให้แก่องค์กรได้มหาศาล กลับยังไม่พร้อมสมบูรณ์แบบตามอุดมคติว่าด้วยการเป็นนางงามตามขนบสมัยใหม่ จุดนี้เองที่บีบให้เวทีต้องเลือกระหว่าง ‘ธุรกิจ’ กับ ‘ความงาม’ (ตามขนบของความเป็นนางงามสมัยใหม่) 

และผลการตัดสินในปีนี้ก็เป็นอีกครั้งที่ย้ำชัดเจนว่ามิสแกรนด์ฯ มองเห็นอะไรสำคัญกว่าอะไร

ท้ายที่สุด ไม่มีใครรู้หรอกว่าแนวทางที่มิสแกรนด์ฯ เลือกนี้จะผิดหรือถูก จะรุ่งหรือร่วง มีเพียงแต่อนาคตเท่านั้นที่จะเฉลย  

และต่อไปนี้ สิ่งที่ดูเหมือนว่าน่าลุ้นหรือน่าติดตามมากกว่าผลการประกวดอีกเสียด้วยซ้ำ คือการตัดสินนางงามบนผลประโยชน์ทางธุรกิจจะกลายเป็นมาตรฐานของการจัดการประกวดนางงามแบบใหม่ที่พาวงการนางงามให้อยู่รอดได้จริงหรือไม่? 

 

เรื่อง: ณัฐ วิไลลักษณ์
ภาพ: เพจเฟซบุ๊ก Miss Grand Thailand