วิกฤต ‘โลกรวน’ ทำลายธรรมชาติจนป่วย นอกจากคนที่เสี่ยง ‘สัตว์และทะเล’ ก็กำลังจะตาย

วิกฤต ‘โลกรวน’ ทำลายธรรมชาติจนป่วย นอกจากคนที่เสี่ยง ‘สัตว์และทะเล’ ก็กำลังจะตาย

โลกรวน ไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่เป็นเรื่องที่ใกล้กว่าที่คิด และวันนี้มันลุกลามเป็นวิกฤตใต้ทะเล สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปรากฎการณ์ทัเลเดือด, ปะการังฟอกขาว, พะยูนอพยพ และเต่าทะเลเกิดน้อยลง และนี่คือข้อสรุปที่ ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้แชร์ในงาน Innovation Keeping the World ที่ SCBX NEXT STAGE โดย SPRINGNEWS

KEY

POINTS

  • โลกรวน วิกฤตที่มากกว่าภาวะโลกร้อน และกำลังลุกลามไปถึง 'ทะเล'
  • ปรากฎการณ์ปะการังฟอกขาว ไม่ใช่ความสวยงามแต่มันคือ วิกฤตธรรมชาติป่วย
  • โลกเดือดกำลังทำลายมนุษยชาติ และสัตว์โลก รวมไปถึงผืนน้ำใต้ท้องทะเลที่กำลังตายไปช้า ๆ หากยังไม่ฟื้นฟู

วิกฤตโลกเดือด หรือโลกรวนที่เราพูด ๆ กัน มันไม่ได้เกิดขึ้นแค่ ‘บนบก’ อย่างที่หลายคนคิด แต่พื้นที่เกือบทุกแห่งใน ‘ทะเล’ กำลังเผชิญหน้ากับภาวะที่เรียกว่า ‘ทะเลป่วย’ เพราะอุณหภูมิโลกที่มันร้อนขึ้นเรื่อย ๆ

ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้มาแชร์เกี่ยวกับ “วิกฤตทะเลเดือด โลกจะอยู่อย่างไร?” ภายในงานเสวนา Innovation Keeping the World ที่ SCBX NEXT STAGE ที่จัดโดย SPRINGNEWS ว่าปัญหาโลกเดือดที่เกิดขึ้น มันลุกลามไปถึง ‘ทะเล’ ได้อย่างไร?

ระหว่างที่นั่งฟังหัวข้อนี้มีหลายคำถามผุดขึ้นในหัวว่า แล้วสัตว์ทะเลใต้น้ำจะอยู่ยังไง น้ำทะเลตอนนี้ร้อนแค่ไหน แล้วความร้อนในทะเลมันแผ่ขยายไปไกลถึงระดับน้ำที่ลึกมากแค่ไหน

วิกฤต ‘โลกรวน’ ทำลายธรรมชาติจนป่วย นอกจากคนที่เสี่ยง ‘สัตว์และทะเล’ ก็กำลังจะตาย

และนี่คือสิ่งที่เราอยากสรุปให้ชาว The People ได้อ่านกันค่ะ เพราะผลกระทบของปัญหานี้มันไม่เล็กเลย หนำซ้ำยังเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมากด้วย

ดร.ปิ่นสักก์ ได้พูดไว้ว่า “ทุกวันนี้คนชินกับคำว่าโลกร้อน และจินตนาการไม่ออกว่าแล้วมันจะยังไงต่อ รู้แค่ว่าโลกร้อนขึ้น น้ำแข็งก็จะละลายเร็วขึ้น พอละลายเยอะ ระดับน้ำก็จะสูงขึ้น แต่มันมีมากกว่านั้นเพราะหลังจากที่ระดับน้ำมันสูงขึ้นกว่าเดิม มันจะกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งพอน้ำร้อนขึ้น สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นตอนนี้เลยก็คือ ปรากฎการณ์ปะการังฟอกขาว”

อธิบายเพิ่มเติมก็คือ ภาวะที่ปะการังมีสีซีดจางจนมองเห็นเป็นสีขาว เพราะสูญเสียสาหร่าย Symbiodinium ซึ่งเป็นสาหร่ายขนาดเล็กมาก ๆ โดยปกติจะอาศัยอยู่กับเนื้อเยื่อของปะการัง ทั้ง 2 สิ่งนี้จะพึ่งพาอาศัยกันอยู่ในการสังเคราะห์แสงและแบ่งอาหารรวมถึงให้คาร์บอนเพื่อช่วยกันเติบโตอย่างปลอดภัย

ทั้งนี้ การสูญเสียสาหร่ายนอกจากจะทำให้ปะการังไร้สีสันสวยงามอย่างที่เราเห็น การฟอกขาวเป็นระยะเวลานาน จะทำให้ปะการังขาดอาหาร และมีโอกาสตายสูงมาก (ข้อมูลสวทช.)

‘โลกรวน’ ที่ว่ากันนี้มันรวนขนาดไหน?

ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล เคยเตือนหลายครั้งมากผ่านโซเชียลว่า

“โลกเดือดแล้วนะ ทะเลอยู่ไม่ได้แล้วนะ ทะเลกำลังจะตายแล้ว”

แล้วทะเลเดือด ทะเลป่วย ทะเลกำลังจะตาย ล้วนเกิดจากอะไร? ก็เพราะว่าอุณหภูมิโลกที่มันสูงขึ้นนั่น มันสูงผิดปกติเกินวัฎจักรที่ควรจะเป็น ซึ่งวิทยาศาสตร์ชี้จุดเกิดเหตุหล่ายครั้งว่า ‘มนุษย์มีส่วนกับโลกเดือด’ มาตลอด

สรุปสถานการณ์ที่ ‘โลกเดือด/โลกรวน’ อย่างเข้าใจง่ายจากสิ่งที่ ดร.ปิ่นสักก์ แชร์บนเวที

  • ปะการังฟอกขาว หรือ ปะการังป่วย เพราะระดับน้ำสูงเกินกว่าที่ปะการังรับได้ อยู่ที่ประมาณ 29.5 นาน 1-2 สัปดาห์
  • ปีนี้เป็นปีแรกที่ ‘หญ้าทะเล’ ตาย ในพื้นที่กว้างกว่าที่คิดในหลักหมื่นไร่
  • หญ้าทะเลใน 2 เกาะใหญ่ที่เป็นแหล่งอาศัยของ ‘พะยูน’ ตาย นั่นก็คือ เกาะลิบง และเกาะมุกในจ.ตรัง ทำให้พะยูนต้องอพยพ เพราะไม่มีอาหาร
  • การอพยพของพะยูน ทำให้เกิดความไม่คุ้นเคย ภายในหนึ่งสัปดาห์มีพะยูนตาย 4 ตัว สาเหตุตั้งแต่ติดอวนตาย, โดนเรือสปีดโบ๊ทชนตาย และโดนสัตว์เจ้าถิ่นฆ่าตาย
  • ทั้ง 2 เกาะเป็นเมืองหลวงของพะยูน จากทั้งหมดในประเทศไทย 280 ตัว อยู่ที่นั่น 220 ตัว
  • ‘เต่าทะเล’ ได้รับผลกระทบ อุณหภูมิที่สูงขึ้น ทำให้ปริมาณทรายเยอะขึ้น เต่าทะเลกลายเป็น ‘เพศเมีย’ มากกว่า ‘เพศผู้’ เพราะเพศของลูกเต่าที่จะฟักออกจากไข่นั้น ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของหลุมทรายที่ไข่เต่าถูกฝังไว้ ดังนั้น เมื่อเพศเมียมากกว่าก็มีการผสมพันธุ์น้อยลง
  • ไม่ใช่แค่ทะเลที่กำลังจะตาย เพราะหากสัตว์ทะเลน้อยลง ปะการังป่วยเพราะฟอกขาวมากขึ้น การใช้เวล่าฟื้นฟูก็จะนาน กระทบกับการท่องเที่ยวของเมืองไทย และเศรษฐกิจไทยในระยะยาว

วิกฤต ‘โลกรวน’ ทำลายธรรมชาติจนป่วย นอกจากคนที่เสี่ยง ‘สัตว์และทะเล’ ก็กำลังจะตาย (ภาพจาก: https://www.nstda.or.th/home/news_post/sci-update-20190522/)

 

ทั้งนี้ วิกฤตโลกเดือดจะยังไม่จบง่าย ๆ เพราะ ดร.ปิ่นสักก์ ชี้ว่า มีข้อมูลประเมินแล้วว่า ในอีก 5-10 ปีข้างหน้า วิกฤตทะเลเดือดจะยังดำเนินต่อไป ไม่มีเบาลง

แผนการแก้ไขและฟื้นฟูของกระทรวงทรัพย์ฯ ที่วางแผนคร่าว ๆ อย่างเช่น การแก้ปัญหาเรื่องปะการังฟอกขาว โดยช่วงเดือนมกราคมจะเริ่มสร้างเครือข่าย, กุมภาพันธ์-มีนาคมเริ่มระบบการติดตามตัวอุณหภูมิน้ำอย่างใกล้ชิด และถ้าสถานการณ์รุนแรง ต้องมีมาตรการช่วยอย่างเหมาะสม หลังจากนั้นต้องมีการฟื้นฟูต่อไปอย่างต่อเนื่อง เพราะแผนการเหล่านี้จะไม่มีวันสำเร็จได้เลย หากไม่มีการเตรียมความพร้อมล่วงหน้า

“มนุษย์ฉลาดพอที่จะพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ ๆ ขึ้นมาแก้ปัญหาได้เสมอ อยากให้ใช้ความฉลาดของเราในการช่วยแก้ปัญหาให้โลกได้ ทุกคนต้องตระหนักว่า โลกร้อนเป็นปัญหาของทุกคน และต้องร่วมใจช่วยกันโดยไม่รอการช่วยเหลือจากใคร”

“ตอนนี้หลายฝ่ายพยายามช่วยกัน อย่าง ดร.ธรณ์ ก็พยายามคิดและหารือกับหลายฝ่ายว่า การฟื้นฟูจาก 5 ปี ให้เหลือปีเดียว สามารถทำได้ไหม?”

ยิ่งฟังแบบนี้ยิ่งตระหนักว่า เราหรือมนุษย์ทุกคนไม่ใช่คนที่ได้รับผลกระทบ แต่มันรวมไปถึงสัตว์ทั้งบนบก ในน้ำ ใต้ทะเล หรือแม้แต่ธรรมชาติในทะเลก็ป่วยได้ อ่อนแอได้เหมือนกัน ดังนั้น คนที่ยังคิดว่าเรื่องโลกเดือด โลกรวน เป็นเรื่องที่ไกลตัวไม่จริงสักนิด หากเราไม่ช่วยกันคนละนิดละหน่อยเราจะไม่มีทางฟื้นฟูโลกใบนี้ได้เลย

ในงานนี้ยังมีหัวข้อที่น่าสนใจอีกหลายเรื่อง ทั้งจากภาครัฐและเอกชน หรือแม้แต่จาก Influencers ที่มีชื่อเสียงหลายคน ผู้เขียนมองว่า ความตระหนักรู้และกระตือรือร้นที่จะปรับของหลายฝ่ายทำให้โลกดูมีความหวัง ภาคผู้บริโภคอย่างเราซึ่งเป็นเพียงคนตัวเล็ก ๆ ตระหนักว่า แค่เราลองปรับลองทำ เช่น การคัดแยกขยะ หรือการลดใช้พลาสติก เพียงเท่านี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีแล้ว

ประโยคสั้น ๆ ที่เราอยากจะย้ำทิ้งทวนกับบทความนี้คงเป็น ณ ตอนนี้ ไม่ว่าจะโลกร้อน โลกเดือด หรือ โลกรวน มันไม่ใช่เทรนด์แล้ว แต่มันเป็นเรื่องที่ ‘ต้องทำ’ ถ้าเราไม่เริ่มเปลี่ยนตั้งแต่วันนี้ เราจะรอให้ถึงวันที่ประเทศไทยหายไปจากแผนที่โลกหรือ?