‘เจฟฟรีย์ ไวแกนด์’ นักวิจัยที่แฉว่าบุหรี่อันตรายต่อสุขภาพ สะเทือนอุตสาหกรรมยาสูบ

‘เจฟฟรีย์ ไวแกนด์’ นักวิจัยที่แฉว่าบุหรี่อันตรายต่อสุขภาพ สะเทือนอุตสาหกรรมยาสูบ

‘เจฟฟรีย์ ไวแกนด์’ นักวิจัยที่ออกมาเปิดโปงความลับในการผลิตบุหรี่ เขาต้องต่อสู้กับอิทธิพลของอดีตนายจ้าง ท่ามกลางจุดตกต่ำของวงการสื่ออเมริกา ก่อนจะพลิกชีวิตได้อีกครั้งจากภาพยนตร์เรื่อง The Insider

  • ‘เจฟฟรีย์ ไวแกนด์’ ยอมละเมิดข้อตกลงรักษาความลับตลอดชีวิต เพื่อเปิดโปงว่าอดีตนายจ้างผลิตบุหรี่ที่เป็นอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพ 
  • การแฉบริษัทบุหรี่ชื่อดังมีราคาต้องจ่าย ไวแกนด์สูญเสียงานและครอบครัว ทั้งยังถูกข่มขู่และใส่ร้ายป้ายสี กระทั่งภาพยนตร์เรื่อง The Insider ออกฉาย

“เราคือธุรกิจจัดส่งนิโคติน”

นี่คือประโยคแฉความลับที่ดำมืดที่สุดของอุตสาหกรรมบุหรี่หรือยาสูบ จากปากของ ‘คนวงใน’ ที่เคยเป็นผู้บริหารระดับสูงของ ‘Brown & Williamson’ บริษัทบุหรี่ที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของสหรัฐอเมริกาในช่วงทศวรรษ 1990

คนวงในที่ว่าคือ ‘เจฟฟรีย์ ไวแกนด์’ (Jeffrey Wigand) อดีตรองประธานฝ่ายวิจัยและพัฒนาของ Brown & Williamson ผู้เปิดโปงการกระทำผิดของอดีตนายจ้าง ซึ่งเป็นองค์กรที่ร่ำรวยและทรงอิทธิพล 

การสัมภาษณ์ที่ถูกระงับออกอากาศ

ปลายปี 1995 ไวแกนด์เปิดใจกับรายการ ‘60 Minutes’ อย่างหมดเปลือก โดยมีนักข่าวรุ่นเก๋าอย่าง ‘ไมค์ วอลเลซ’ (Mike Wallace) ทำหน้าที่พิธีกรยิงคำถามเด็ด ๆ หวังให้ผู้ชมได้เห็นถึงอันตรายที่ Brown & Williamson หยิบยื่นให้ผู้คน ทั้งที่รู้อยู่แก่ใจว่าผลิตภัณฑ์ของบริษัทอาจทำให้คนถึงตายได้ 

ไวแกนด์เผยว่าอดีตต้นสังกัดของเขาไม่ยอมบอกความจริงเกี่ยวกับนิโคติน ทั้งยังยืนยันว่าการสูบบุหรี่ไม่ทำให้เกิดการเสพติด แถมยังเพิกเฉยต่องานวิจัยที่ระบุว่าสารบางชนิดที่ใช้ในการปรับปรุงรสชาติบุหรี่ทำให้เกิดมะเร็ง ตลอดจนใช้เล่ห์เหลี่ยมในการเปลี่ยนหรือปิดบังเอกสารซึ่งผู้สูบบุหรี่ที่กำลังป่วยหรือกำลังจะตายสามารถใช้เพื่อฟ้องร้องบริษัทได้

ระหว่างที่ให้สัมภาษณ์ ไวแกนด์ยังเล่าด้วยว่า ตัวเขาเองก็ถูกข่มขู่เอาชีวิตสารพัด โดยเฉพาะการส่งจดหมายพร้อมลูกกระสุนปืนมาให้ แต่พอเขาแจ้งเรื่องไปที่สำนักงานสืบสวนกลางแห่งสหรัฐ (FBI) เจ้าหน้าที่กลับยึดคอมพิวเตอร์ของเขาไป แทนที่จะตรวจสอบที่มาของกระสุน 

 

แต่กลายเป็นว่าบทสัมภาษณ์ที่มีคุณูปการใหญ่หลวงต่อสังคม และต้องอาศัยความกล้าหาญอย่างใหญ่หลวงของคนวงในอย่างไวแกนด์ กลับถูกผู้บริหารช่อง CBS สั่งระงับการออกอากาศ เนื่องจากฝ่ายกฎหมายของ CBS กังวลว่าเทปสัมภาษณ์ของไวแกนด์จะทำให้บริษัทถูกฟ้องร้องจนหมดตัว เพราะไวแกนด์ได้ทำข้อตกลงรักษาความลับกับ Brown & Williamson ไว้ 

อีกเหตุผลคือ CBS กำลังจะถูกขายให้บริษัท Westinghouse Corporation ทางช่องจึงพยายามจะป้องกันความเสี่ยงต่าง ๆ เพื่อให้การขายเป็นไปอย่างราบรื่นที่สุด 

“มันเป็นจุดตกต่ำในประวัติศาสตร์ของเรา ผมคิดว่าไม่ใช่ความผิดของใครเลยถ้าจะออกอากาศบทสัมภาษณ์นั้น แต่ 60 Minutes ตกอยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างเหลือเชื่อจากบริษัท”


‘เจฟฟ์ เฟเกอร์’ (Jeff Fager) อดีตประธาน CBS News และอดีตผู้อำนวยการสร้าง 60 Minutes กล่าวถึงตราบาปที่เกิดขึ้นในขณะนั้น เขายืนยันด้วยว่าการจัดการของ CBS ในเวลานั้น ‘ไม่ถูกต้อง’ ทั้งยังกล่าวอีกว่า “นี่เป็นจุดพลิกผันที่ทำให้คนรู้ว่าบุหรี่ทำให้เกิดอะไรได้บ้าง และทำให้เห็นถึงการกระทำผิดของบริษัทที่พยายามทำให้ผู้คนเสพติดบุหรี่”

 

เรื่องราวของ ‘เจฟฟรีย์ ไวแกนด์’ 

สำหรับไวแกนด์เอง เขาไม่ยอมจำนนต่อเรื่องนี้ง่าย ๆ นั่นอาจเป็นเพราะว่าเขาถูกต้อนจนหลังชนฝา และ ‘ความกล้าหาญ’ เป็นสิ่งเดียวที่เขาเหลืออยู่ 

ไวแกนด์เป็นลูกชายของวิศวกรเครื่องกล เขาเติบโตมาในครอบครัวชาวคาทอลิกที่เคร่งครัดในย่านบรองซ์ของนครนิวยอร์ก เป็นลูกชายคนโตจากพี่น้องทั้งหมด 5 คน 

เขาเป็นนักเรียนเคมีและชีววิทยาที่มีพรสวรรค์ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยบัฟฟาโล คณะแพทยศาสตร์และวิทยาศาสตร์ชีวการแพทย์ แต่วันดีคืนดีเจ้าตัวก็ประกาศกับที่บ้านว่าจะไปเป็นทหารอากาศ ซึ่งทำให้แม่หัวเสียมาก 

ปี 1961 เขาถูกส่งไปยังฐานทัพอากาศมิซาวะในญี่ปุ่น แล้วเกิดไปติดใจในภาษาและศิลปะการต่อสู้ของญี่ปุ่น ฝึกฝนจนได้เป็นนักกีฬายูโดสายดำ หรือถ้ามีเวลาเขาก็จะไปเป็นครูสอนภาษาอังกฤษให้เด็กกำพร้าที่นั่น 

นอกจากญี่ปุ่นแล้ว เขายังถูกส่งไปรบที่เวียดนามเป็นเวลาสั้น ๆ แต่เขาไม่ค่อยอยากเปิดเผยเรื่องราวที่เกิดขึ้นที่นั่นสักเท่าไร

เมื่อกลับมายังสหรัฐฯ เขามุ่งมั่นเรียนปริญญาโทสาขามัธยมศึกษา (MAT) ในมหาวิทยาลัยหลุยส์วิลล์ และได้เขียนวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับวิตามินบี 12 ต่อมาก็เรียนจบปริญญาเอกสาขาชีวเคมีที่ State University of New York และได้รับการเสนอให้ทำงานที่บริษัทด้านการดูแลสุขภาพของเยอรมัน ‘Boehringer Mannheim Corporation’ ด้วยค่าจ้าง 2 หมื่นดอลลาร์ต่อปี 

ปี 1970 ที่ชั้นเรียนยูโด ไวแกนด์ได้พบกับ ‘ลินดา’ (Linda) ซึ่งเป็นเลขานุการด้านกฎหมายในนิวยอร์ก ทั้งคู่คบหาและแต่งงานกัน หลังจากนั้นไวแกนด์ซึ่งมีอายุ 34 ปี ก็ได้ย้ายไปทำงานที่ ‘Union Carbide’ ในญี่ปุ่น พร้อมกับภรรยา

ในขณะที่งานกำลังไปได้สวย ลินดาก็เริ่มอ่อนแอลงเรื่อย ๆ เธอป่วยเป็นโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งตั้งแต่ปี 1971 แม้ทั้งคู่จะมีลูกคนแรกด้วยกันในปี 1973 แต่ความสัมพันธ์ก็เริ่มจืดจาง จนลินดาต้องพาลูกสาวย้ายกลับอเมริกา หลายปีต่อมาทั้งคู่จึงหย่าขาดกัน 

ไวแกนด์พบกับภรรยาคนที่สอง ‘ลูเครเซีย’ (Lucretia) ระหว่างร่วมงานประชุมด้านการขายเมื่อปี 1981 ทั้งคู่แต่งงานกันในปี 1986

ไวแกนด์พยายามอย่างหนักเพื่อสร้างครอบครัวอีกครั้ง ในปี 1989 เขาได้รับเลือกจาก headhunter ให้เข้าทำงานที่ Brown & Williamson ซึ่งมอบหมายให้เขาพัฒนาบุหรี่ที่ปลอดภัยมากกว่าเดิมเพื่อให้สามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้ 

เขารับทำงานนี้เพราะจะได้ไปทำงานที่เมืองหลุยส์วิลล์ บ้านเกิดของลูเครเซีย ซึ่งกำลังจะมีลูกให้เขา ประกอบกับค่าตอบแทนที่สูงถึง 3 แสนดอลลาร์สหรัฐต่อปี ที่ทำให้เขาตาลุกวาว

แต่เมื่อไวแกนด์เล่าให้น้องชายฟังว่าจะไปทำงานที่บริษัทบุหรี่ น้องของเขาแทบไม่เชื่อ เพราะไวแกนด์ไม่ใช่คนสูบบุหรี่ ทั้งยังขัดกับอุดมการณ์ทางการแพทย์ของไวแกนด์อีกด้วย แต่เจ้าตัวก็ยืนยันว่าจะทำงานที่นี่เพื่อสร้างความแตกต่างและพัฒนาบุหรี่ที่ปลอดภัยกว่าเดิม 

เมื่อไปทำงานจริง ๆ เขาพบว่าเพื่อนร่วมงานไม่ค่อยชอบนิสัยของเขาสักเท่าไร และ 3 เดือนหลังจากที่เขาได้รับการว่าจ้าง ผลิตภัณฑ์ของคู่แข่งก็ถอนตัวออกจากตลาด เพราะรสชาติที่ไม่อร่อยและฉุน โดยที่เขาไม่ต้องทำอะไรเลย

หากในตอนนั้นเขาฉุกใจสักนิดและลดความทะเยอทะยานลงสักหน่อย เขาจะรู้ทันทีว่าไม่มีเหตุผลเลยที่คนอย่างเขาจะอยู่ที่บริษัทแห่งนี้ต่อไป แต่เขายังคงพยายามเข้าสังคมด้วยการไปปาร์ตี้ของบริษัท ส่วนภรรยาก็ขันอาสาไปช่วยงานการกุศล 

ในหลุยส์วิลล์ ครอบครัวของไวแกนด์ซื้อบ้านสองชั้นที่น่าอยู่และร่มรื่น แต่ในที่ทำงานเขากลับพบว่าห้องทดลองนั้นโบราณมาก แทบไม่ต่างจากห้องทดลองในโรงเรียนมัธยมที่ไม่มีการทดลองอะไรจริงจัง ส่วนในทีมก็ยังไม่มีทั้งนักพิษวิทยาและนักฟิสิกส์ 

ซ้ำร้ายเขายังไปรู้ด้วยว่าบริษัทใช้สารปรุงแต่งที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพอย่างร้ายแรง แต่บริษัทกลับปฏิเสธเรื่องเหล่านี้ ซึ่งนับเป็นการตีสองหน้าขององค์กรใหญ่ที่เขาไม่เคยเห็นมาก่อน 

สุดท้ายโครงการที่จะพัฒนาบุหรี่ให้ปลอดภัยกว่าเดิมของ Brown & Williamson ก็ล้มเลิกในปีต่อมา 

ไวแกนด์ตัดสินใจเขียนระบายความฉุนเฉียวและท้อแท้เป็นบันทึกสั้น ๆ ส่งถึง ‘โทมัส อี. แซนเดอเฟอร์’ (Thomas E. Sandefur) ซีอีโอของบริษัท แต่ก็ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น แถมยังแย่ลงกว่าเดิม เพราะในเดือนมีนาคม 1993 แซนเดอร์เฟอร์ได้ไล่เขาออก โดยให้เหตุผลว่าเขามีปัญหาด้านการสื่อสาร 

หลายเดือนต่อมา Brown & Williamson เล่นงานไวแกนด์เรื่องที่เขาละเมิดสัญญาด้วยการเปิดเผยรายละเอียดข้อตกลงการแยกทางกับบริษัทให้เพื่อนร่วมงานคนหนึ่งได้รับรู้ ทาง Brown & Williamson ขู่จะระงับสิทธิ์ด้านการรักษาพยาบาลของเขา ทำให้ไวแกนด์ต้องยอมลงนามในข้อตกลงที่จะรักษาความลับบริษัทไปตลอดชีวิต 

การลงนามในข้อตกลงรักษาความลับนี้ปิดปากไวแกนด์ได้จริง ๆ เขาเก็บงำการกระทำของบริษัทโดยไม่ยอมแพร่งพรายกับสื่อหรือรัฐบาล เพราะไม่อยากโดนฟ้อง และอยากให้ลูกสาวคนหนึ่งที่ป่วยด้วยโรคกระดูกสันหลังคดได้สิทธิ์ในการรักษาต่อไป 

กระทั่งบริษัทเริ่มไม่รักษาสัญญาเรื่องสิทธิ์การรักษา เขาจึงตัดสินใจออกมาเปิดโปง 

มาถึงตรงนี้ ไวแกนด์ถอยหลังไม่ได้อีกแล้ว เขาร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐค้นหาหลักฐานว่าบริษัทบุหรี่กำลังทำอะไรเพื่อทำให้บุหรี่แรงขึ้นและกลายเป็นสิ่งเสพติดมากขึ้น 

ปลายฤดูร้อนปี 1994 ไวแกนด์ช่วยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐ (FDA) จนค้นพบหลักฐานหลายพันหน้าที่แสดงให้เห็นว่าบุหรี่เป็นอุปกรณ์นำส่งสารเสพติด ซึ่งนับเป็นหลักฐานที่สร้างความสั่นสะเทือนครั้งใหญ่ให้บริษัทบุหรี่ ต่อมาในปี 1995 เขาจึงไปให้สัมภาษณ์ในรายการ 60 Minutes 

ราคาที่ต้องจ่ายในฐานะผู้แจ้งเบาะแส

นอกจากถูกสกัดในรายการ 60 Minutes ตามที่เล่าไปแล้ว ไวแกนด์ยังมีราคาต้องจ่ายอีกมหาศาล เพราะทาง Brown & Williamson ได้ยื่นฟ้องเขา จากการออกมาเปิดเผยความลับบริษัท และผู้พิพากษารัฐเคนทักกีได้สั่งห้ามไม่ให้เขาพูดถึงเรื่องที่ Brown & Williamson ด้วย

ระหว่างนี้มีความพยายามดิสเครดิตเขาต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการแจกจ่ายเอกสารที่เต็มไปด้วยข้อกล่าวหาต่าง ๆ นานา ให้กับนักข่าว แต่เมื่อนักข่าวตรวจสอบแล้วพบว่า ข้อกล่าวหาเหล่านั้นไม่มีมูลความจริงหรือไม่ก็เป็นเพียงเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ รวมถึงการถูกนักสืบสะกดรอย และถูกข่มขู่เอาชีวิต

หลังจากสูญเสียงานที่ทำรายได้ 3 แสนดอลลาร์สหรัฐต่อปี และหมดโอกาสที่จะได้ทำงานเป็นนักวิจัย เขาหันไปประกอบอาชีพครูสอนวิชาวิทยาศาสตร์และภาษาญี่ปุ่นที่โรงเรียนมัธยมในเมืองหลุยส์วิลล์ ได้ค่าจ้างปีละ 3 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ 

แต่ถึงแม้รายได้จะน้อยลงมาก ความโดดเด่นในด้านวิชาการก็ทำให้เขาได้รับรางวัล Sallie Mae FIRST CLASS TEACHER of the YEAR ในปี 1996 ติดทำเนียบหนึ่งในครู 51 คนที่ได้รับการยอมรับทั่วประเทศ

The Insider หนังที่พลิกชีวิต ‘เจฟฟรีย์ ไวแกนด์’ 

ปี 1996 สื่อให้ความสนใจเรื่องราวของไวแกนด์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Vanity Fair ที่ได้เขียนบทความเรื่อง ‘The Man Who Knew Too Much’ ถ่ายทอดความรู้สึกและการต่อสู้ของไวแกนด์

รวมถึง The Wall Street Journal ที่เล่นข่าวไวแกนด์บนหน้าหนึ่งด้วยความยาว 3.3 พันคำ เนื้อหาส่วนหนึ่งบอกเล่าสิ่งที่ไวแกนด์ให้สัมภาษณ์ในรายการ 60 Minutes เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 1995 และคำให้การของเขาในคดีใหญ่ที่ ‘ไมเคิล มัวร์’ (Michael Moore) อัยการสูงสุดรัฐมิสซิสซิปปีและอีก 49 รัฐยื่นฟ้องต่อบริษัทบุหรี่ ซึ่งนำมาสู่การชดใช้เป็นเงิน 2.46 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

คืนเดียวกันนั้นเอง รายการ CBS Evening News ได้ออกอากาศบทสัมภาษณ์บางส่วนของรายการ 60 Minutes และท้ายที่สุด ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 1996 รายการ 60 Minutes จึงได้ออกอากาศบทสัมภาษณ์ทั้ง 2 ตอนของไวแกนด์ หลังจากที่ดองเอาไว้ตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายน 1995

แต่การตีข่าวของสื่อก็ดูจะไม่ทันการณ์เสียแล้ว ด้วยความตึงเครียดทั้งในทางการเงินและการถูกใส่ร้ายป้ายสีต่าง ๆ นานา จากอดีตนายจ้าง ทำให้ชีวิตครอบครัวของเขามาถึงจุดจบ 

ในเดือนมิถุนายน 1997 ภรรยาได้ขอหย่าขาดจากไวแกนด์พร้อมนำลูกสาวสองคนไปอยู่ด้วย เธอกล่าวกับเขาด้วยความเจ็บปวดว่า “คุณกำลังทำให้ครอบครัวตกอยู่ในอันตราย ฉันต้องการให้คุณออกจากบ้านไปซะ”

ในเวลานั้นไวแกนด์กลับรู้สึกว่า เขาไม่ได้ต้องการให้สื่อมายกย่องว่าเป็น ‘บุคคลสำคัญของชาติ’ แต่เขาอยากจะเป็นคนธรรมดาที่ได้อยู่กับครอบครัวมากกว่า

ไวแกนด์ย้ายไปอยู่เมืองชาร์ลสตัน รัฐเซาท์แคโรไลนา โดยหวังจะเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่นั่น เขาต้องอยู่คนเดียวเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี ในขณะที่มีนักสืบคอยป้วนเปี้ยนอยู่รอบตัว และยังมีคดีความคาราคาซังกับ Brown & Williamson 

กระทั่งในปี 1999 ไวแกนด์จึงได้สัมผัสความรู้สึกของการเป็นฮีโร่จริง ๆ หลังจากภาพยนตร์เรื่อง ‘The Insider’ ออกฉาย

ภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นจากเหตุการณ์จริงนี้ ได้ ‘รัสเซลล์ โครว์’ (Russell Crowe) มารับบทเป็นไวแกนด์ และนักแสดงเบอร์ใหญ่อย่าง ‘อัล ปาชิโน’  (Al Pacino) มารับบทเป็น ‘โลเวลล์ เบิร์กแมน’ โปรดิวเซอร์รายการ 60 Minutes 

‘เจฟฟรีย์ ไวแกนด์’ นักวิจัยที่แฉว่าบุหรี่อันตรายต่อสุขภาพ สะเทือนอุตสาหกรรมยาสูบ

เนื้อหาหลักของภาพยนตร์เป็นเรื่องเกี่ยวกับเสรีภาพสื่อ และบริษัทบุหรี่ที่ต้องการปิดปากอดีตพนักงาน 

โดยเบิร์กแมนพยายามโน้มน้าวให้ไวแกนด์เปิดโปงอดีตนายจ้างคือ Brown & Williamson ที่ระงับการวิจัยเกี่ยวกับฤทธิ์เสพติดของนิโคติน ซึ่งการจะออกมาแฉนั้น ไวแกนด์ต้องละเมิดข้อตกลงรักษาความลับที่เขาได้ลงนามกับบริษัทไปแล้ว

เบิร์กแมน ซึ่งเป็นนักข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน และโปรดิวเซอร์รายการ 60 Minutes ได้ช่วยฟอร์มทีมกฎหมายเพื่อช่วยไวแกนด์ และคว้าตัวไวแกนด์มาให้สัมภาษณ์ในรายการ 60 Minutes ได้สำเร็จ โดยมีนักข่าวระดับตำนานอย่าง ‘ไมค์ วอลเลซ’ รับบทโดย ‘คริสโตเฟอร์ พลัมเมอร์’ (Christopher Plummer) เป็นพิธีกร 

แต่แล้วเบิร์กแมนก็ยังต้องต่อสู้อย่างหนักเพื่อให้เทปนี้ได้ออกอากาศ เนื่องจากเพื่อนร่วมงานของเขาบางคน ซึ่งรวมถึงวอลเลซเอง ไม่เห็นด้วยกับการออกอากาศเทปนี้ เพราะเกรงว่าจะเกิดการฟ้องร้อง ซึ่งจะส่งผลต่อการขายบริษัทให้ Westinghouse Corporation

CBS ตัดสินใจตัดบทสัมภาษณ์บางส่วนของไวแกนด์ออก และเผยแพร่แบบรวบรัดตัดความไม่มีการฟันธงใด ๆ เบิร์กแมนจึงเดินหน้าสู้ด้วยการใช้คอนเนกชั่นในวงการสื่อเพื่อบีบให้ CBS ออกอากาศการสัมภาษณ์ไวแกนด์ครบทั้งตอน

‘ไมเคิล แมนน์’ (Michael Mann) ผู้กำกับ และ ‘อีริค รอธ’ (Eric Roth) นักเขียนบทมือฉมัง ใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างสูงในการเขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้ และไม่ได้แต่งเสริมเติมแต่งอะไรขึ้นมาเลย เนื่องจาก The Insider นั้น ผลิตโดย ‘Touchstone Pictures’ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือดิสนีย์ และเป็นการจำลองเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทใหญ่ที่กำลังเป็นคดีความ ที่สำคัญช่อง CBS ก็เป็นคู่แข่งของ ABC ซึ่งมีดิสนีย์เป็นเจ้าของด้วย 

เพื่อหลีกเลี่ยงการฟ้องร้องที่อาจเกิดขึ้น ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงต้องมีความแม่นยำเป็นมาตรฐานเดียวกับงานข่าว ที่ต้องได้รับการยืนยันอย่างน้อย 2 - 3 ครั้ง จึงจะเผยแพร่ได้ คำอธิบายทุกบรรทัดในสคริปต์ต้องผ่านการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเข้มงวดที่สุด

รอธเล่าว่าเขาเคยถูกวอลเลซโทร. มาตะคอกใส่ว่า “คุณเชื่อคนอย่างเบิร์กแมนเนี่ยนะ?” แต่เขาก็ปล่อยให้วอลเลซพูดไป แล้วจัดการเขียนมันลงไปในบท

แมนน์เองก็ได้รับโทรศัพท์หลายสายจากวอลเลซ เขาบันทึกเสียงไว้ครั้งหนึ่ง แล้วใส่มันลงไปในบทเช่นกัน

แน่นอนว่า วอลเลซได้กลายเป็นตัวละครที่ซับซ้อนและมีข้อบกพร่องมากที่สุดในภาพยนตร์เรื่องนี้ 

“ไมค์ วอลเลซ เป็นฮีโร่ในบางมุม แต่ไม่ใช่ในกรณีนี้” รอธกล่าวและว่า “ถึงกระนั้นผมก็ยังหวังว่าจะมีนักข่าวโทรทัศน์ที่ถามเก่งอย่างเขามากขึ้นเรื่อย ๆ เขาเป็นผู้ที่ทำให้เกิดการสัมภาษณ์ที่เข้มข้น และเขาทำได้ดีมาก”

สำหรับแมนน์ ความน่าสนใจของ The Insider ไม่ได้อยู่ที่รายละเอียดเรื่องคดีไวแกนด์ หรือแม้แต่ตัวละครเบื้องหลังของ CBS ทว่าอยู่ที่แรงผลักดันของสองตัวละคร ได้แก่ ไวแกนด์ นักวิทยาศาสตร์ผู้ทรยศต่ออุดมการณ์ของตัวเองกระทั่งยอมทำงานให้กับบริษัทบุหรี่ และเบิร์กแมน ผู้ยึดมั่นในอุดมคติสุดโต่ง และแสดงออกผ่านการทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน

นอกจากนี้ยังมีการถ่ายทอดให้เห็นถึงช่วงเวลาเสื่อมโทรมของวงการสื่ออเมริกัน จุดที่ประโยชน์ขององค์กรอยู่เหนือการเปิดโปงที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ 

เบิร์กแมนเล่าว่า สื่อเซ็นเซอร์ตัวเองมานานแล้ว การที่ CBS ระงับการออกอากาศเนื้อหาบางส่วนของ 60 Minutes ก็ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรกในเคสไวแกนด์ 

สำหรับไวแกนด์ เขาเดินทางไปที่กองถ่ายภาพยนตร์เรื่องนี้ 2 ครั้ง เขาขอให้ทีมงานเปลี่ยนชื่อลูกสาวคนเล็กในภาพยนตร์ และขอให้ปิดบังอาการโรคของลูกสาวไว้ ที่สำคัญขอให้ไม่ปรากฏภาพการสูบบุหรี่ในเรื่อง คำขอทุกข้อของเขาเป็นไปตามนั้น

The Insider ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิง 7 รางวัลออสการ์ เช่น ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม นักแสดงและผู้กำกับยอดเยี่ยม และได้รับการเสนอชื่อให้เข้าชิง 5 รางวัลลูกโลกทองคำ แต่ก็ไม่ได้สักรางวัลจาก 2 เวทีนี้ 

อย่างไรก็ตาม The Insider ได้คว้ารางวัลจากเวทีอื่น ๆ มากมาย เช่น Boston Society of Film Critics, Broadcast Film Critics Association, the Italian National Syndicate of Film Journalists, London Critics Circle Film Awards ฯลฯ

ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้ชีวิตที่ต้องหลบอยู่ตามเงามืดของไวแกนด์เปลี่ยนไป The Insider ได้สร้างเครดิตให้เขาอย่างล้นหลาม เขาไม่จำเป็นต้องจ้างบอดี้การ์ดมาดูแลตลอด 24 ชั่วโมงอีกต่อไป ทั้งยังได้คืนดีกับลูกอีกด้วย

และนับตั้งแต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉายก็ไม่มีการฟ้องร้องใด ๆ เกิดขึ้นกับไวแกนด์อีก รวมถึงมีการยกเลิกคำสั่งปิดปากเขาด้วย 

ไวแกนด์มีโอกาสเดินสายไปบรรยายตามโรงเรียนหลายสิบแห่งต่อปี ตั้งแต่โรงเรียนประถมไปจนถึงโรงเรียนด้านธุรกิจ เขายังได้ไปพูดตามองค์กรด้านสุขภาพทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ

เขานำเงินจากการเป็นวิทยากรไปมอบให้กับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่เขาริเริ่ม นั่นคือ ‘Smoke-Free Kids’ ทั้งยังเรียกร้องให้แพทย์ให้ความรู้เรื่องการสูบบุหรี่ และเคลื่อนไหวให้ฮอลลีวูดนำฉากสูบบุหรี่ออกจากภาพยนตร์ 

อิทธิพลจาก The Insider ยังทำให้ไวแกนด์ได้รับอีเมลวันละหลายสิบฉบับที่ส่งเข้ามาเพื่อขอบคุณแรงบันดาลใจจากเขา บ้างก็ขอคำปรึกษาในเรื่องความกล้าหาญที่จะทำสิ่งต่าง ๆ ซึ่งไวแกนด์ตอบไปว่า 

“คุณจะเลือกทำหรือไม่ทำก็ได้ แต่คุณต้องทำในสิ่งที่เข็มทิศศีลธรรมบอกให้คุณทำ จงเข้าใจด้วยว่ายิ่งคุณใช้น็อตตัวใหญ่เท่าไร แรงต้านทานก็จะยิ่งมากขึ้นเท่านั้น”  

‘เจฟฟรีย์ ไวแกนด์’ ให้สัมภาษณ์ 60 Minutes อีกครั้ง

10 ปีหลังจากไวแกนด์ให้สัมภาษณ์ครั้งแรก วอลเลซก็ได้สัมภาษณ์เขาในรายการ 60 Minutes อีกครั้ง 

ไวแกนด์ ซึ่งกลายเป็นแม่ทัพในสงครามต่อต้านการสูบบุหรี่ และเป็นหัวหอกในการออกกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ ยอมรับกับวอลเลซว่า เขารู้สึกผิดหวังที่ 60 Minutes ลังเลที่จะออกอากาศเทปสัมภาษณ์ของเขา

“ผมรู้สึกผิดหวังที่ธุรกิจคุกคามเราได้สำเร็จอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องเสรีภาพของสื่อ”

เฟเกอร์เผยว่า สำหรับ CBS แล้ว วันนี้แตกต่างจากเดิมมาก บริษัทถูกขายหลังเกิดประเด็นบุหรี่ไม่นาน และคนที่ดูแล CBS ในเวลานี้ ไม่ได้พยายามเข้ามามีอิทธิพลเหนือรายการ 60 Minutes 

“มีเรื่องให้เรียนรู้มากมายจากสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต เช่น การทำข่าวหน่วยงานที่มีอิทธิพลเป็นส่วนที่ยากที่สุดและมักจะสำคัญที่สุด แต่การรายงานเรื่องต่าง ๆ ที่บางคนไม่อยากให้รายงานนั้นเอง ที่เป็นความหมายของสื่อสารมวลชน”

หลังจากผ่านเรื่องราวที่ยากลำบากในชีวิตมาได้ ไวแกนด์กล่าวว่า

“ไม่ว่าคุณจะเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา หรือส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา ถ้าคุณคิดว่าตัวเองเป็นคนมีศีลธรรม แต่บริษัทของคุณไม่มีศีลธรรม ความจริงแล้วคุณเองก็ไม่มีศีลธรรมเหมือนกันนั่นแหละ”
 

ภาพ: Getty Images

อ้างอิง: 

jeffreywigand

cbsnews

pbs

fastcompany

vulture

vanityfair