08 พ.ค. 2566 | 08:30 น.
- อังรี ดูนังต์ ผู้ให้กำเนิดวันกาชาดสากล และเป็นผู้ริเริ่มหน่วยปฐมพยาบาลทำหน้าที่ดูแลผู้ได้รับบาดเจ็บท่ามกลางสมรภูมิรบโดยไม่แบ่งฝ่าย และพร้อมดูแลทุกคนอย่างเท่าเทียม
- หนึ่งในเหตุการณ์สำคัญในช่วงชีวิตเขาคือ ศึกโซลเฟริโน ภาพทหารล้มตายเป็นจำนวนมากโดยไม่มีคนช่วยเหลือทำให้เขาอยากจัดตั้งองค์กรที่มีความเป็นกลางขึ้นมา เพื่อไม่ให้ชีวิตที่อยู่ในศึกสงครามสูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์
- นับจากวันนั้น องค์กรกาชาดก่อตั้งขึ้นมาเป็นเวลา 160 ปีแล้ว และยังคงทำหน้าที่รักษาความเป็นกลางในเวทีโลกมาจนถึงปัจจุบัน
วันที่ 8 พฤษภาคมของทุกปี คือ วันคล้ายวันเกิดของ ‘อังรี ดูนังต์’ (Henry Dunant) ชายผู้ให้กำเนิดวันกาชาดสากล องค์กรที่เข้ามาให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมมาตลอด 160 ปี และยังเป็นองค์กรที่ฉายแสงแห่งความหวังท่ามกลางสมรภูมินองเลือดให้โลกรู้ว่า ‘ความเป็นกลาง’ มีอยู่จริง
เพราะหากปราศจากองค์กรกาชาด (ปัจจุบันคือองค์กรกาชาดและเสี้ยววงเดือนแดง) เราคงสูญเสียเพื่อนร่วมโลกเป็นจำนวนมหาศาล เพียงเพราะความไม่ลงรอยของผู้นำประเทศ
สงคราม... จึงเป็นเหมือนทุ่งสังหารที่เหล่าทหารกล้ามักจากไปโดยไม่มีโอกาสร่ำลาคนที่เขารัก แต่การเข้ามามีบทบาทขององค์กรกาชาด นำโดย อังรี ดูนังต์ ทำให้โลกของเราพบกับสันติสุข แม้จะเป็นความสงบในระยะสั้น แต่อย่างน้อยเขาก็พิสูจน์ให้โลกเห็นแล้วว่า ทุกคนคือเพื่อนร่วมโลกที่มีสิทธิจะมีชีวิตต่อ แม้จะถูกตีตราว่าเป็นศัตรูของกันและกันก็ตาม
และนี่คือเรื่องราวของ อังรี ดูนังต์ บิดาผู้ให้กำเนิดกาชาดสากล ชายผู้รักเพื่อนมนุษย์อย่างสุดใจจนยอมสละความมั่งคั่ง เพื่อดูแลศัตรูต่างชาติโดยไม่หวั่นเกรงต่อผู้มีอำนาจ
ชายผู้รักเพื่อนมนุษย์สุดหัวใจ
อังรี ดูนังต์ (Henri Dunant) เกิดเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 1828 ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในครอบครัวใจบุญที่มีฐานะมั่งคั่ง และมักแบ่งปันความสุขเหล่านี้ไปยังคนรอบข้างอยู่เสมอ ดูนังต์ในวัยเด็กจึงเห็นภาพพ่อแม่ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์จนชินตา เขาค่อย ๆ ซึมซับภาพอันดีงามเหล่านี้เอาไว้ในใจ
จากแรงศรัทธาอันเต็มเปี่ยม ทำให้เขาและเพื่อนร่วมกันก่อตั้ง สมาคมเยาวชนชาวคริสต์แห่งเจนีวา (Young Men’s Christian Association, YMCA) ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยทำหน้าที่เพื่อช่วยเหลือสังคมในด้านต่าง ๆ ตั้งแต่การศึกษา การกีฬา ไปจนถึงการช่วยให้คุณภาพชีวิตของคนในสังคมมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยไม่ต้องร้องขอความช่วยเหลือจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว
ก่อนหน้านั้น ดูนังต์ยังได้เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมวันพฤหัสบดี (Thursday Readings Association) เพื่อให้คนหนุ่มสาวในเจนีวามารวมตัวกันอ่านและเผยแผ่คำสอนของพระผู้เป็นเจ้า เขารับหน้าที่เป็นเลขาฯ ของสมาคมนานถึง 8 ปี ก่อนจะผันตัวมาสู่เส้นทางนักธุรกิจอย่างเต็มตัว
ดูนังต์ในวัย 26 ปีได้เดินทางไปทำธุรกิจที่แอฟริกาเหนือและซิซิลี และในปี 1858 เขาตีพิมพ์หนังสือเล่มแรกออกมาโดยใช้ชื่อว่า Notice sur la Régence de Tunis (An Account of the Regency in Tunis) บันทึกการเดินทางระหว่างเข้าไปทำธุรกิจในต่างแดน จากนั้นหนังสืออีกเล่มก็ตามมาในชื่อ L’Esclavage chez les musulmans et aux États-Unis d’Amérique (Slavery among the Mohammedans and in the United States of America)
นักธุรกิจชาวสวิสกำลังไปได้สวย เขาเริ่มมองการณ์ไกลและเล็งเห็นโอกาสสำคัญอยู่ไม่ไกล ดูนังต์เปิดบริษัทเพื่อส่งออกข้าวโพดไปยังประเทศแอลจีเรีย (ในเวลานั้น แอลจีเรียตกอยู่ใต้อาณานิคมของฝรั่งเศส) โดยทุ่มทุนไปกว่า 100 ล้านฟรังก์ เพื่อเปลี่ยนผืนดินแห้งแล้งให้เต็มไปด้วยต้นข้าวโพดคุณภาพดี
แต่ความฝันของเขากลับหยุดชะงัก เมื่อเจ้าหน้าที่ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ไม่ยอมปล่อยน้ำเข้าสู่พื้นที่ทำการเกษตรของดูนังต์ เนื่องจากติดพันการสู้รบในสมรภูมิโซลเฟริโน เขาจึงตัดสินใจเดินทางไปหาพระองค์ เพื่อร้องขอให้ปล่อยน้ำมายังไร่ข้าวโพดของตัวเอง
ทันทีที่เดินทางไปถึงโซลเฟริโน ดูนังต์กลับพบภาพที่น่าสลด ผู้คนล้มตายจำนวนมาก เสียงร้องด้วยความเจ็บปวดดังระงมเต็มพื้นที่ เขาไม่คาดคิดว่าการเดินทางมาครั้งนี้ จะทำให้ผิดหวังต่อเพื่อนมนุษย์มากถึงเพียงนี้ โชคดีที่ใจเขาแกร่งเกินพอ ดูนังต์ไม่ปล่อยให้ความเศร้าครอบงำนานนัก เขาเดินตรงดิ่งเข้าไปยังสมรภูมิรบ และลงมือปฐมพยาบาลทหารที่ได้รับบาดเจ็บโดยไม่เลือกฝ่ายทันที
แม้การกระทำของเขาจะสร้างความฉงนให้แก่คนที่พบเห็น แต่ดูนังต์ไม่ได้สนใจ เขาทำไปเพียงเพราะไม่อาจทนเห็นเพื่อนตรงหน้าจากโลกนี้ไปเพียงเพราะต้องการเรียกร้องอิสรภาพ
เขาใช้เวลา 8 วันในสมรภูมิรบ พันแผล ทำอาหาร และเขียนจดหมายให้ทหารที่ใกล้ตาย โดยการทำงานทั้งหมดได้รับความช่วยเหลือจากชาวบ้านท้องถิ่นที่ไม่ได้ออกรบ (ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง) เขาส่งรถม้าไปซื้ออาหารมาให้ผู้ได้รับบาดเจ็บไม่ขาด โดยใช้เงินส่วนตัวจากการทำธุรกิจล้วน ๆ และยังโน้มน้าวให้อาสาสมัครทุกคนปฏิบัติต่อทหารที่ได้รับบาดเจ็บอย่างเท่าเทียม
ถึงจะมีอคติในช่วงแรกเริ่ม แต่เมื่ออาสาสมัครเริ่มเห็นว่าดูนังต์เองก็ปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าคนคนนั้นจะมีเชื้อชาติหรือสัญชาติใด พวกเขาจึงเปิดใจและช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บโดยทันที
โชคร้ายที่ทหารจากออสเตรีย ฝรั่งเศส และอิตาลี ไม่อาจทนต่อความเจ็บปวดจากการต่อสู้ยาวนาน 14 ชั่วโมง มีผู้เสียชีวิตกว่าสามหมื่นคน และบาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก นับจากนั้น ดูนังต์จึงเสนอให้จัดตั้งคณะกรรมการนานาชาติเพื่อบรรเทาทุกข์ผู้ได้รับบาดเจ็บ (International Committee for the Relief of the Wounded) ซึ่งปัจจุบันคือ คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (International Committee of the Red Cross) โดยไม่แบ่งแยกว่าคนผู้นั้นมีเชื้อชาติหรือศาสดาใด
ความทรงจำแห่งโซลเฟริโน
ภาพผืนดินที่นองไปด้วยเลือดทำให้ดูนังต์รู้สึกราวกับถูกพรากสิ่งสำคัญไปจากชีวิต เขาเขียนหนังสือ ‘ความทรงจำแห่งโซลเฟริโน’ เพื่อบอกเล่าความโหดร้ายในสมรภูมิรบ อีกทั้งยังได้เรียกร้องข้อเสนอ 3 ประการ
1. การยอมรับสถานะผู้บาดเจ็บของทหารที่ไม่อาจทำการสู้รบต่อ
2. การก่อตั้งหน่วยงานภายในประเทศในการช่วยเหลือบุคคลเหล่านี้ โดยมีการสนับสนุนจากนานาชาติ
3. อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองผู้บาดเจ็บและเคารพความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม
โดยทั้งหมดนี้ได้รับการตอบรับหลังจากเวลาผ่านไปเพียงแค่ 3 ปี
ส่วนหนึ่งจากหนังสือได้บรรยายความเจ็บปวดและทุกข์ทรมานของผู้ได้รับบาดเจ็บในสนามรบเอาไว้ว่า เมื่อครั้งที่เขาเดินทางมาถึงโซลเฟริโนในปี 1859 เขาต้องพบเห็นภาพที่ไม่น่าจดจำ ใบหน้าของผู้ได้รับบาดเจ็บตรงหน้า ตั้งแต่ จมูก ริมฝีปาก ไปจนถึงปลายคาง ถูกคมดาบเฉือนจนเห็นกระดูก
ชายตรงหน้าข้าพเจ้า - เขาพูดไม่ได้ มีเพียงนิ้วมือที่ขยับส่งสัญญาณออกมาว่า ‘ข้ายังมีชีวิตอยู่’ ดูนังต์ได้ยินเสียงพึมพำ เขาฟังไม่ออกว่าชายคนนั้นต้องการสื่ออะไร
เพราะเขากำลังจะตาย
ชายที่นอนอยู่บนพื้นคนนี้กำลังจะตาย
ดูนังต์ทำได้เพียงยื่นน้ำให้เขาดื่ม ล้างคราบเลือด และปล่อยให้เขาจากไปอย่างทุกข์ทรมานน้อยที่สุด
“ทหารบางคนพูดด้วยความขมขื่นกับข้าพเจ้าว่า ‘หากข้าได้รับความช่วยเหลือเร็วกว่านี้ ข้าก็คงไม่ตาย’ และเย็นวันนั้นเขาก็จากไปโดยที่ไม่มีโอกาสแม้แต่จะกล่าวคำร่ำลาครอบครัวของเขาเอง”
จากองค์กรกาชาด ถึงถนนอังรี ดูนังต์
หลังจากก่อตั้งคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (The International Committee of the Red Cross) ในปลายปี 1863 มี 16 ประเทศที่ได้กำหนดแผนการจัดตั้งองค์กรบรรเทาทุกข์แห่งชาติ และในปีต่อมาได้มีการลงนามอนุสัญญาเจนีวา (Geneva Convention) ฉบับแรก ซึ่งกำหนดไว้ว่ากองทัพต้องดูแลรักษาทหารที่ได้รับบาดเจ็บ ไม่ว่าจะเป็นทหารของฝ่ายใดก็ตาม นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นการใช้เครื่องหมายกากบาทสีแดงบนพื้นขาว (สลับสีกับธงชาติสวิตเซอร์แลนด์) อันเป็นสัญลักษณ์สากลสำหรับหน่วยแพทย์
และมีการใช้สัญลักษณ์เสี้ยววงเดือนแดง หรือ red cresent สำหรับประเทศที่นับถือศาสนาอิสลาม ในศึกสงครามระหว่างรัสเซีย กับจักรวรรดิออตโตมัน ในปี 1876 และมีอีกหนึ่งสัญลักษณ์ที่เกิดขึ้นตามมาในปี 2005 คือ สัญลักษณ์คริสตัลแดง (red crystal) ใช้ในประเทศที่ไม่ต้องการใช้สัญลักษณ์ทั้งสองที่กล่าวมา
ถึงจะได้รับการแซ่ซ้องจากทั่วสากลโลก แต่ดูนังต์กลับพบชะตากรรมอันน่าเศร้า ธุรกิจที่ทำล้มละลาย เขากลายเป็นคนไร้บ้าน สิ้นเนื้อประดาตัวอย่างแท้จริง เขาหายหน้าหายตาไปจากสังคมนับตั้งแต่ปี 1867 จนกระทั่งมีนักข่าวมาเจอเขาโดยบังเอิญในปี 1895 และเริ่มตีแผ่เรื่องราวของดูนังต์อีกครั้ง เมื่อโลกรับรู้ว่าชายผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชนยังมีชีวิตอยู่ แสงไฟจึงสาดส่องมาที่ชายคนนี้อีกครั้ง
ในปี 1901 อังรี ดูนังต์ ได้รับการประกาศชื่อเป็นผู้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพสมัยแรกร่วมกับ ‘เฟเดอริก ปาส์ซี’ (Frédéric Passy) ผู้รณรงค์ให้มีการจัดตั้งองค์กรอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ
ดูนังต์ใช้ชีวิตที่เหลือในสถานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ไฮเด็น (Heiden) ในห้องหมายเลข 12 ณ หมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งหนึ่งของสวิตเซอร์แลนด์ เขาจากโลกนี้ไปในวันที่ 30 ตุลาคม 1910 ในวัย 82 ปี โดยไม่มีพิธีศพ ไม่มีการจัดงานไว้อาลัย มีเพียงป้ายหน้าหลุมศพที่ระบุชื่อของเขาเอาไว้ ไม่ต่างจากสุนัขตัวหนึ่ง...
ใช่, ไม่ต่างจากหมาตัวหนึ่ง คือปรารถนาของดูนังต์ ที่จะทำให้การจากไปกลายเป็นสิ่งเรียบง่ายที่สุด การฝังศพ และมีป้ายระบุร่างของเขาก็เพียงพอแล้ว
เงินรางวัลที่ได้รับจากรางวัลมากมายของดูนังต์ ถูกบริจาคให้กับสถานพยาบาลประจำหมู่บ้าน และองค์กรการกุศลในประเทศสวิตเซอร์แลนด์
แต่การจากไปของเขายังได้รับการจดจำอยู่ ณ มุมหนึ่งของโลก และใกล้ตัวกว่าที่เราคิด หากพอจะคุ้นชื่อ ‘ถนนอังรี ดูนังต์’ ที่ตั้งอยู่ในท้องที่แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ก็มีที่มาจากบิดาผู้ให้กำเนิดวันกาชาดสากล ถนนสายนี้มีชื่อเดิมว่า ‘ถนนสนามม้า’ เพราะตัดผ่านสนามม้าแห่งแรกของกรุงเทพฯ (ปัจจุบันก็คือราชกรีฑาสโมสร)
และในปี 1963 ซึ่งตรงกับวันครบรอบ 100 ปี กาชาดสากล สภากาชาดแห่งประเทศไทยพิจารณาเห็นว่า ถนนสนามม้า ซึ่งตั้งอยู่ชิดกับสภากาชาดไทยด้านถนนพระราม 4 ถ้าเปลี่ยนชื่อเป็น ถนนอังรี ดูนังต์ ก็คงจะทำให้ชื่อของบิดากาชาดไม่จางหายไปจากความทรงจำ
ถนนสนามม้า จึงเปลี่ยนมาใช้ชื่อ ถนนอังรี ดูนังต์ ในวันที่ 8 พฤษภาคม 1965 จนถึงปัจจุบัน
ภาพ : Getty Images และ ICRC
อ้างอิง :
https://blogs.icrc.org/th/2016/07/22/1106-international-committee-of-the-red-cross/
https://blogs.icrc.org/th/2022/04/20/the-committee-of-five-5-icrc/
https://digitalcommons.wku.edu/ijlc/vol5/iss1/5/
https://m.mgronline.com/onlinesection/detail/9600000083590
https://www.britannica.com/biography/Henri-Dunant
https://www.nobelprize.org/prizes/peace/1901/dunant/biographical/