07 มี.ค. 2568 | 16:18 น.
KEY
POINTS
‘โซวเฮงไถ่’ เป็นบ้านจีนที่ตั้งอยู่ในย่านตลาดน้อย กรุงเทพมหานคร และมีอายุยาวนานกว่า 250 ปี
“เราเกิดที่นี่ เติบโตที่นี่ และวางแผนว่าจะตายที่นี่ ไม่ย้ายไปไหน”
แผนการใช้ชีวิตที่เหลือของ ‘ภู่ศักดิ์ โปษยะจินดา’ ทายาทรุ่นที่ 8 ของโซวเฮงไถ่ที่เข้ามาสืบทอดการดูแลบ้านต่อตั้งแต่วัยหนุ่ม มีแรงกดดันมากมาย และความคาดหวังมากมายที่ผลักให้เขาต้องแข็งแกร่งและต้องดูบ้านหลังนี้ให้ดี
เพราะเป็นคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับพ่อ และเป็นภาระผูกพันของลูกชายคนโตของครอบครัวคนจีนที่ต้องดูแล ‘บ้านถึงน้อง’
ต่อจากนี้ คือ เรื่องราวหลังบ้านโซวเฮงไถ่ที่แฝงไปด้วยชีวิต ความคาดหวัง การสืบทอด สายเลือด และความตั้งใจที่อยากให้บ้านนี้คงอยู่ต่อไปโดยไม่เป็นภาระลูกหลาน
จุดเริ่มต้นของบ้านโซวเฮงไถ่ไม่ได้มีเขียนไว้ชัดเจนว่าสร้างขึ้นและเสร็จเมื่อไหร่ แต่เท่าที่รู้ คือ เจ้าของบ้านเป็นนักธุรกิจที่กำลังมองหาพื้นที่การค้าใหม่ ๆ จึงเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทย
การเข้ามาประเทศไทยช่วงแรก ๆ ภูศักดิ์เล่าว่า บรรพบุรุษของเขาได้รับเลือกเป็นนายอากรรังนก เป็นเจ้าของสัมปทานส่งรังนก รวบรวมและส่งออก เมื่อทำมาสักพักหนึ่งถึงได้สร้างบ้านหลังนี้ขึ้นให้เป็นโฮมออฟฟิศ โดยใช้ชื่อว่า ‘โซวเฮงไถ่’ ซึ่งมีความหมายว่า คนแซ่โซวอยู่เมืองไทยแล้วโชคดี
ต่อมามีชาวจีนอพยพมาประเทศไทยมากขึ้น บ้านหลังนี้จึงเริ่มทำธุรกิจปล่อยเงินกู้ให้กับชาวจีนอพยพที่เพิ่งเข้ามาในประเทศไทยจนหลายๆ คนเรียกบ้านนี้ว่าเป็น ‘เศรษฐีใจบุญ’
“ในตํานานเขาเรียกบ้านนี้ว่าเศรษฐีใจบุญ หลาย ๆ ตระกูลพูดถึงประวัติศาสตร์ตระกูลที่เกี่ยวข้องกับบ้านนี้หรือคุยกับผู้ใหญ่บางท่าน เขาก็บอกประมาณว่า กู้เงินกับบ้านนี้ บางครั้งเช่าบ้าน 6-7 เดือน ไม่มีเงินจ่าย ใรช่วงตั้งต้นชีวิต เขาก็ไม่ได้ว่าอะไร ไม่ได้คิดเพิ่ม ไม่ได้ไล่เราออก ก็เหมือนช่วยเหลือเกื้อกูลกันมาตลอด”
บ้านโซวเฮงไถ่ดำเนินธุรกิจเรื่อยมา จนถึงยุคของ ‘อุ่น โปษยะจินดา’ ย่าของภู่ศักดิ์ เธอไม่มีทายาท พ่อของภูศักดิ์จึงกลายเป็นทายาทคนเดียวที่ต้องมาดูแลบ้านหลังนี้
“ตอนนั้นคุณพ่อเป็นคนรับช่วงต่อในการดูแลบ้านโซวเฮงไถ่จากคุณย่าอุ่น โปษยะจินดา แต่จริง ๆ แล้ว คุณพ่อเริ่มจากการเป็นมาสเตอร์ที่โรงเรียนอัสสัมชัญ สมัยนั้นก็เทียบเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย แต่ก็ให้ถูกออก มาดูแลบ้าน ดูแลคุณย่าอุ่น เป็นคนดูแลเรื่องระบบบัญชีของบ้าน”
ระหว่างนั้นก็เป็นช่วงที่ภู่ศักดิ์เกิดและเติบโตมาพร้อมกับคำพูดของพ่อที่บอกให้เขาในฐานะพี่ชายคนโตให้ดูแลบ้านหลังนี้
ถึงหลายคนมองว่าดูเป็นภาระ แต่สำหรับภู่ศักดิ์ นี่คือเกียรติและเป็นหน้าที่ของเขาที่ต้องจะดูแลบ้านหลังนี้ให้ดีที่สุด
“ความเป็นจริงเนี่ยการเกิดของพี่ ก็คือการคาดหวัง”
ความคาดหวังว่าจะต้องเป็นหัวหน้าครอบครัว ต้องดูแลบ้าน ดูแลแม่ และดูแลน้องไปพร้อม ๆ กัน ถึง ณ วันนั้น ภู่ศักดิ์จะเด็กมาก แต่เขาก็ต้องยอมรับและทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด
เพราะวันนั้น พ่อเขาก็ไม่อยู่ แม่ก็มีภาระงานสังคมที่ต้องดูแล และน้อง ๆ ก็ยังเด็กเกินกว่าจะมาบริหารทุกอย่างที่คุณพ่อมอบหมายให้เขาไว้
“คุณพ่อแต่งงานสองรอบ รอบแรกแต่งกับคุณแม่ใหญ่ ไม่มีทายาท หลังจากนั้นคุณแม่ใหญ่ป่วยแล้วก็เสีย มาเจอคุณแม่ก็เลยแต่งอีกครั้ง ทุกคนก็มองว่า แก่แล้ว จะแต่งทำไม เพราะคุณพ่อก็อายุ 50 ปีแล้ว แต่จริง ๆ มันเป็นสภาพแวดล้อมของตระกูล ที่เมื่อคุณจะต้องเป็นคนดูแลโซวเฮงไถ่ ก็ต้องมีทายาทก็คือพี่กับน้องอีกสองคน
“แล้วคุณพ่อมาเสียตอนพี่อายุ 12-13 ปี มีน้องสองคน คนหนึ่งห่างกันปีครั้ง อีกคนห่างประมาณ 7 ปี แต่ด้วยความที่พี่สนิทกับคุณพ่อ เขาไม่ได้คาดหวังหรอก แต่ด้วยความที่มันเป็นภาระผูกพันของลูกคนโตในครอบครัวจีน นั่นคือพี่คนโตต้องดูแลทุกอย่าง ตั้งแต่บ้านจนถึงน้อง
“เป็นเรื่องที่พ่อเล่าสู่ลูก ลูกต้องเป็นคนดูแลนะต่อจากพ่อแล้วนะ เราถามว่าดูแลอะไรครับ พ่อบอกว่าน้องและบ้าน แล้วเราก็ไม่ได้รู้สึกว่าโยนภาระมาให้ แต่รู้สึกว่าได้เกียรติในการที่ดูแลบ้านนี้ ก็เลยกลายเป็นว่าเราได้ถูกแปะมือได้ถูกส่งทอดโดยที่เราไม่ได้ตั้งใจ”
แล้วถึงแม้ว่าน้องสาวของเขาจะดูเก่งกว่า แต่เพราะเขาเป็น ‘น้อง’ ไม่ใช่ลูกชายคนโต เธอจึงต้องเป็นช้างเท้าหลัง และคอยสนับสนุนบ้านอยู่เบื้องหลังแทน
“จริง ๆ พี่กับน้องสาวห่างกันปีครึ่ง แล้วน้องสาวเป็นคนเก่งมาก เรียนเก่ง กีฬาก็ได้ ถ่ายรูปก็เก่ง จบบัญชี จริง ๆ เขาเหมาะมากกับการที่จะเป็นคนดูแลบ้านนี้ แต่เขามาทีหลัง (หัวเราะ) เขาก็เลยไม่ได้ถูกรับมอบหมายให้เป็นปู่โสมเฝ้าทรัพย์เหมือนพี่
“จริง ๆ เขาก็ช่วยดูแลเวลาเราเดือดร้อนจริง ๆ แต่คงไม่ได้อยู่ในบ้านด้วยปัจจัย ส่วนน้องคนเล็กก็เด็กเกินไป มีครอบครัวที่ต้องดูแล”
ไม่เพียงแค่ต้องเป็นคนดูแลบ้าน แต่จะต้องเป็นคนดี และดูแลบริวารทุกคนให้ดี เก็บความฝันของตัวเองไว้ และเข้ามาสานต่อหน้าที่ของพ่อได้อย่างสมบูรณ์
“อย่าเรียกว่าความฝันเลยเหมือนถูกกดดัน อย่างที่ถามทุกคนปักหมุดไว้เลยว่าคนนี้ ต้องเรียนหนังสือเก่งต้องเป็นคนดี ต้องเป็นที่พึ่งของบริวารเขาเรียกว่าบริวารเลย”
แรงกดดันต่าง ๆ จากสภาพแวดล้อมและคนที่เขารักจึงทำให้เขาต้องแข็งแกร่งขึ้น เป็นผู้นำที่ดี เป็นหัวหน้าครอบครัว เพื่อให้บ้านคงอยู่และให้ครอบครัวอยู่รอด แม้กาลเวลาจะเปลี่ยนไปนานแค่ไหนก็ตาม
ต้องเป็นคนดี ต้องเป็นที่พึ่ง ต้องดูแลบ้าน ต้องดูแลแม่ ต้องดูแลน้อง - นี่คือคำที่ภู่ศักดิ์พร่ำบอกตัวเองและเป็นคนที่คนอื่น ๆ รอบตัวคาดหวังจากเขาในฐานะลูกชายคนโต
ดังนั้น หลังจากไปเรียนไฮสคูลที่สหรัฐอเมริกา กลับมาสิ่งที่เขาเห็น คือ ที่ดินเริ่มถูกขายทิ้งเพื่อกลายเป็นค่าเล่าเรียนให้กับลูก ๆ
ในบทบาทของที่พึ่งของบ้าน เขาจึงพับความฝันที่อยากจะใช้ชีวิตตามประสาเด็กวัยรุ่นเอาไว้ แล้วลองทำธุรกิจหลาย ๆ อย่าง เพื่อให้ทุกคนในบ้านมีชีวิตที่ดี
“บ้านโซวเฮงไถ่ที่อยู่ในมือพี่ มันไม่มีทรัพย์แล้วนะ มันมีหนี้นะครับ มันมีที่ดินมหึมาที่เราต้องดูแล เป็นภาระที่โคตรใหญ่โตเลย จังหวะแรกอายุ 18 กลับมาถึงบ้าน เห็นว่าที่ดินถูกทยอยขายเพื่อลูก ลูกต้องเรียนหนังสือ คนโตไปแล้ว คนที่สองกําลังจะเรียน คนที่ 3 กําลังเรียนอยู่ คือถ้าไม่เริ่มทําอะไรสักอย่าง บ้านต้องเละกว่านี้แน่ ๆ”
“สิ่งแรกที่คิด เขาทำอะไรอยู่ทำแบบนั้น มีบริวารเท่าไหร่ต้องเลี้ยงไว้ คนงานที่บ้านมี 15-16 คน เด็กอายุ 19 ต้องหาเงินมาเลี้ยง ตอนนั้นก็เปิดร้านอาหาร ทำโต๊ะสนุก ขายรถนำเข้ามือสอง ไม่ได้เอาเงินที่บ้าน เพราะที่บ้านก็ร่อยหรอไปเยอะ กำไรทั้งหมดที่หาได้ก็ลงที่บ้านทั้งหมด”
แล้วด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป บ้านที่เคยแข็งแรง ก็เริ่มเสื่อมลง ปูนร่วง รั้วพัง แล้วด้วยความที่เป็นบ้านโบราณต้องอาศัยช่างฝีมือ จึงทำให้ค่าซ่อมบ้านราคาสูง เงินทั้งหมดจึงหมดไปกับการซ่อมบ้านอย่างเลี่ยงไม่ได้
“พี่นั่งคิดดู ตลอดชีวิต พี่ทําเงินมาเยอะมากเลยนะแต่ไม่มีเงินเก็บ เดี๋ยวปูนร่วง รั้วพังก็ซ่อม ทําแบบนี้เรื่อย ๆ จนสุดท้ายมันไม่มีเงินซ่อม”
การซ่อมเลยค่อยเป็นค่อยไป แต่ชีวิตมนุษย์ ความสุขของคนเราก็คือการได้ทำตามความฝันของตัวเองอีกครั้งเท่าที่ปัจจัยรอบตัวจะเอื้อให้เขาทำไหว
ถ้าถอดหมวกการเป็นลูกชายคนโตและผู้ดูแลบ้าน ภู่ศักดิ์ก็เป็นผู้ชายคนหนึ่งที่รักกีฬาแนวเอ็กซตรีมและชอบออกผจญภัย
เขาชอบแข่งรถ ยิงปืน ขี่ม้า และค้นพบความรู้สึกของตัวเองผ่านการดำน้ำ แต่ด้วยภาระหน้าที่ทำให้ความฝันเหล่านั้นดูเป็นไปได้ยาก
แต่สุดท้ายเขาก็แบ่งสรรปันส่วนเงินต่าง ๆ จนทำให้ความฝันของเขาผลิบานอีกครั้ง หนึ่งในกิจกรรมที่เขารักที่สุด ก็คือ การดำน้ำ
“ตอนดำน้ำ รู้สึกหลุดโลกเลย ทิ้งทุกอย่างได้เลย ไม่มีการแข่งขัน ไม่มีการดูถูกเหยียดหยาม ไม่มีการอวย ไม่มีการคาดหวัง เราอยู่กับตัวเอง ไม่มีเสียงเสียง เสียงที่ได้ยินคือลมหายใจเรา เราลงไปแล้วได้สมาธิ เพราะดําน้ํามันก็คือการหายใจที่ถูกต้อง”
ทำให้ทุกสัปดาห์เขาเลือกจะขับรถจากกกรุงเทพฯ ไปพัทยาไปดำน้ำแล้วฝึกฝนตัวเองจนได้รับใบอนุญาตสอนดำน้ำได้สำเร็จ
ตอนนั้นเขาขายธุรกิจจนได้เงินมาตั้งทุนไม่นาน มีรายได้เป็นครูสอนดำน้ำอยู่บ้าง แต่ตารางเรียนที่แน่นมาก ๆ ก็ทำให้ภู่ศักดิ์ต้องตัดสินใจครั้งใหญ่ นั่นคือ การตั้งสระว่ายน้ำแล้วเปิดเป็นโรงเรียนสอนดำน้ำกลางบ้าน
สระว่ายน้ำในบรรยากาศบ้านจีนที่กลายเป็นเอกลักษณ์ของตลาดน้อย และเป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์กที่นักท่องเที่ยวต้องมาเยือนสักครั้ง
ด้วยความเป็นครูที่สอนสนุก นักเรียนหลาย ๆ คนจึงอยากจะเรียนดำน้ำกับคุณครูภู่ศักดิ์ สระที่เคยจองไว้ก็ขอความร่วมมือให้เปิดพื้นที่สอน ภู่ศักดิ์เลยต้องหาทำเลใหม่
หลังจากหลงทางอยู่พักหนึ่ง เขาก็กลับมามองบ้านตัวเอง ความเครียดเริ่มก่อตัวในใจ เพราะเขาจำเป็นต้องทำงานนี้เพื่อให้บ้านนี้ยังคงอยู่ต่อไป
ตอนนั้นรถไฟฟ้าสถานีหัวลำโพงกำลังจะเปิด บ้านของเขาที่อยู่ตรงตลาดน้อยซึ่งอยู่ไม่ไกลจึงเป็นทำเลที่ดี เขาจึงชวนเพื่อนที่เป็นสถาปนิกมาร่วมออกแบบ
พื้นที่ตรงกลางบ้านโซวเฮงไถ่ ณ วันนี้ จึงมีสระน้ำที่ถูกไล่ระดับตามความลึก มีห้องเล็ก ๆ ที่เอาไว้เก็บอุปกรณ์และชุดดำน้ำสำหรับนักเรียนที่อยากจะมาเรียน
นักเรียนเป็นตั้งแต่คนทำงานที่อยากหากิจกรรมพักผ่อน ชาวต่างชาติที่ตั้งใจมาเรียนดำน้ำที่ประเทศไทย การสอนดำน้ำที่บ้านโซวเฮงไถ่จึงไม่ใช่การประชาสัมพันธ์อย่างจริงจัง แต่เป็นการบอกแบบปากต่อปาก
วันนี้โรงเรียนแห่งนี้เปิดรับนักเรียนมาแล้วเกือบหมื่นคน เงินลงทุนที่เสียไป แม้ตอนแรกจะเสียดาย แต่ภู่ศักดิ์บอกเองว่า “คุ้มค่า”
เพราะสระขนาดเล็กกลางบ้านนี้ทำให้คนในบ้านมีความเป็นอยู่ที่ดี และมีงบประมาณพอที่จะคอยซ่อมแซมบ้านที่เริ่มสึกและผุพังในทุก ๆ วัน
“คนอื่นจะมองว่า บ้า! เอาสระมาไว้ในบ้านจีนได้ไงวะ คิดยังไง แต่ไม่มีสระก็ไม่มีบ้านแล้ว ตอนทำสระบอกว่า ไม่น่าเสียไปตั้ง 7.5 ล้าน แต่พอมีถึงรู้ว่า มันเก็บเงินมาซ่อมบ้านให้เรา”
“มีอาจารย์ฮวงจุ้ย ซินแสมาดู บอกว่าเราไปเปลี่ยนฮวงจุ้ยบ้าน ปรึกษาไหมเนี่ย ไปเปลี่ยนฮวงจุ้ยบ้าน บ้าน ระดับนี้เขาอยู่ฮวงจุ้ยพีเรียดที่ 7 ฉิบหายแล้ว กูไปเปลี่ยนฮวงจุ้ย แต่ดีอยู่อย่างหนึ่งพี่ไม่เชื่อดวง กูจะทำ คือถ้าไม่มีสระกูก็ไม่มีบ้าน แล้วมันเป็นบทพิสูจน์จริง ๆ นะ”
นอกจากจะเป็นเจ้าของบ้าน ครูสอนดำน้ำ ภู่ศักดิ์ยังเป็นสามีและพ่อของลูกชาย
ในวัยที่เพื่อนวัยเดียวกันกำลังจะเริ่มต้นชีวิตวัยเกษียณ ภู่ศักดิ์กลับมองว่า งานของเขาไม่มีวันเกษียณ ทำให้เริ่มท้อและคิดว่าจะดูแลบ้านนี้อย่างไรไม่ให้เป็นภาระลูกหลาน
“ปีนี้พี่ใกล้เกษียณ เพื่อนรุ่นเดียวกันเริ่มลั้ลลากันแล้ว เริ่มท้อตรงนี้ แล้วเมื่อไหร่กูจะได้เกษียณเงินเก็บก็ไม่มี หาได้เท่าไหร่ ปูนหลังคาก็ร่วง การเกษียณคืออะไรรู้ป่ะคือทุกอย่างจบ ใครจะมาต่อล่ะ ใช่ไหม
“มันเริ่มท้อแล้วไงก็ยังไงว่ะเนี่ยรุ่นต่อไปยังไง ลูกพี่เพิ่งอายุ 16 แต่นอนว่า พี่จะไม่โยนอันนี้ให้ไปให้เขาแน่ ๆ ขนาดผมทำแทบตายยังไม่รอด แต่ถ้าส่งทอดไป ลูกชายพี่ก็ต้องดูแล ยังมีลูกของน้องอีก 4 คน ถ้าเด็ก ๆ มาสุมหัวกันยังไงก็ไม่รอด”
“เพราะฉะนั้น พี่อยากจะสร้างโซวเฮงไถ่ให้มันกลับไปแข็งแรงที่สุด ให้มันดีเท่าที่จะทําได้ ไม่ให้มันพังลงไปในอีก 30- 40 ปีข้างหน้า แน่นอนคําว่า เกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไปมันคือความเป็นจริงแท้แน่นอน แต่มันไม่มีอะไรที่จะตั้งอยู่ แล้วอยู่ตลอดไปหรอก”
เราเองก็เชื่อว่า ตราบใดที่ยังมีลมหายใจ ภู่ศักดิ์ก็จะคอยโปะปูน ซ่อมรั้ว และบำรุงบ้านหลังนี้ให้คงอยู่เท่าที่เขาจะทำได้อย่างดีที่สุด
เพื่อไม่ให้เป็นความคาดหวัง ไม่เป็นภาระ แต่เต็มไปด้วยเรื่องราวดี ๆ และประวัติศาสตร์ที่ฝังรากลึกอยู่ในตัวเขาและทุก ๆ คนในย่านตลาดน้อย
ภู่ศักดิ์เกิดที่บ้านโซวเฮงไถ่และเติบโตที่บ้านโซวเฮงไถ่
ถึงตลอกเวลาการสัมภาษณ์เขาจะบอกว่า สิ่งที่เขาทำอยู่ไม่ต่างจากการเป็นปู่โสมเฝ้าทรัพย์ แต่เราสัมผัสถึงความรักในบ้านหลังนี้ แม้ที่ผ่านมาเส้นทางจะไม่ได้สวยงามหรือสบายอย่างที่คิด
“ถามว่าสบายไหมก็สบาย ทุกวันนี้ก็มีบ้านคุ้มกะลาหัวใหญ่โต แต่ถามว่ามันควรจะสบายอย่างควรจะเป็นหรือเป็นแบบที่คนนอกมองเข้ามา มันไม่ใช่”
ทุกวันนี้บ้านโซวเฮงไถ่มีอายุเกิน 250 ปี บางส่วนของบ้านเป็นโรงเรียนสอนดำน้ำ บางมุมเป็นจุดถ่ายรูปยอดฮิต และบางส่วนก็ถูกจัดเป็นนิทรรศการ
คนที่มาเยี่ยมเยือนก็มีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ภู่ศักดิ์ก็พร้อมที่จะตอบทุกคำถาม คลายทุกข้อสงสัยของทุกคน พร้อมกับเผยหมดเปลือกถึงความรู้สึกของตัวเองให้กับคนที่แวะเข้ามาได้รับรู้
“เหมือนฝรั่งมาถามว่าเรารู้สึกยังไง บ้านโตใหญ่โต เราบอกว่าเหมือนจะเป็น The Knights of the holy grail เป็นอัศวินเฝ้าสุสาน ถ้าไม่มีคนมาแทนก็ไปไม่ได้ ถ้าไปก็คือต้องละทิ้งสิ่งที่สําคัญที่สุดไป”
อย่างที่ภู่ศักดิ์บอก ไม่มีสิ่งใดคงอยู่ตลอดไป แต่สำหรับภู่ศักดิ์ที่อยู่กับบ้านหลังนี้มาหลายสิบปี เขารักบ้านนี้มากกว่าใคร อนาคตของเขาจึงมีแค่บ้านที่ต้องดูแลจนกว่าเขาจะหมดลมหายใจ
ไม่มีบ้านหลังอื่น มีแค่บ้านที่ชื่อ ‘โซวเฮงไถ่’ เท่านั้นที่ติดอยู่ในทุกช่วงชีวิตและทุกความทรงจำของเขา
“บ้านหลังนี้ความทรงจําก็มันก็ต้องอยู่ในทุกอณูของความทรงจําเพราะเราก็เกิดที่นี่ โตที่นี่ แล้วก็มีวางแผนไว้แล้วว่าเราคงจะตายที่นี่ คงไม่ได้จะย้ายไปไหน”